หากเอ่ยชื่อ ‘Farmgroup’ ขึ้นมาในเวลานี้ ใคร ๆ ก็ต้องรู้สึกคุ้นหูคุ้นใจกันขึ้นมาเหมือนกัน เพราะผลงานล่าสุดของพวกเขาคือการรับหน้าที่ออกแบบ CI ให้กับกรุงเทพมหานคร ที่สร้างปรากฏการณ์ไวรัลให้คนหันมาสนใจกับการเปลี่ยนแปลงเมืองครั้งใหม่ผ่านดีไซน์ พร้อมกระตุ้นให้เกิดบทสนทนาและการแสดงความคิดเห็นกันมากมายบนโซเชียลมีเดียอยู่พักใหญ่
แต่นอกเหนือจากความสามารถด้านธุรกิจดีไซน์ เมื่อ 10 กว่าปีก่อน ทาง ‘Farm Group’ เขาก็ยังสร้างหมุดหมายใหม่อีกหมุดหมายหนึ่งไว้ในโลกศิลปะ ด้วยการกระโดดเข้ามาจัดงาน ‘Hotel Art Fair’ ที่เชื่อมโยงวงการศิลปะเข้ากับธุรกิจ Hospitality ขึ้นเป็นครั้งแรกในเมืองไทย พร้อมแหวกขนบการจัดงานศิลปะแบบใหม่ ๆ ที่เน้นเรื่องความสนุก เข้าถึงง่าย และศิลปินต้องขายงานได้ไว้เป็นหัวใจหลัก เพื่อสร้างระบบนิเวศศิลปะที่เอื้อต่อการดำรงชีพของทุกคนให้พัฒนาไปข้างหน้าต่อไปด้วยกัน
ซึ่งตอนนี้ Hotel Art Fair 2024 ก็ได้เปิดฉากขึ้นแล้ว GroundControl เลยขอเปิดตัวคอลัมน์ใหม่อย่าง ‘ฺBrand That Art’ คอลัมน์ที่อยากจะชวนคนรักศิลปะมาสำรวจแนวทางการทำธุรกิจหรือแบรนด์ที่มีศิลปะเป็นหัวใจ ด้วยการพาทุกคนไปสนทนากับสองผู้บริหารและนักออกแบบแห่งฟาร์มกรุ๊ปอย่างคุณ ‘ตั๊ก - วรินดา เธียรอัจฉริยะ’ และ 'ต๊อบ - วรารินทร์ สินไชย' เพื่อค้นลึกถึงเบื้องหลังแนวคิด การทำงาน และวิสัยทัศน์ในการบริหารธุรกิจ ที่นอกจากจะหล่อเลี้ยงความเป็นแบรนด์ดีไซน์ระดับแนวหน้าแล้ว ก็ยังต้องการหล่อเลี้ยงวงการศิลปะไทยให้ไปข้างหน้าได้ไกลกว่าที่เคย ผ่านการจัดเทศกาลศิลปะ ‘Hotel Art Fair’ ครั้งแรกขึ้นในเมืองไทย
‘Farmgroup’ ในโลกของธุรกิจดีไซน์ กับสิ่งที่เลือกได้และไม่ได้ แต่ก็ยังเต็มที่กับทุกอย่าง
พวกเราเริ่มต้นบทสนทนาแรกด้วยการชวนคุณตั๊กและคุณต๊อบพูดคุยถึงภาพรวมการทำงานของ Farmgroup ในฐานะบริษัทสายดีไซน์ระดับแนวหน้าของประเทศไทย ที่นอกจากจะหยิบจับงานดีไซน์อะไรก็ดังและเป็นไวรัลแล้ว ก็ยังเคยทำงานกับทั้งภาครัฐและเอกชนมาหลายรูปแบบ แต่ท่ามกลางงานอันหลากหลาย ก็มีสิ่งหนึ่งที่ทั้งสองคนต้องรักษาไว้ให้ได้ นั่นคือการสร้างสมดุลระหว่างการทำธุรกิจและจิตวิญญาณของดีไซเนอร์ที่อยู่ในตัวเอง
คุณตั๊ก: “ปกติแล้ว Farmgroup จะเลือกทำงานที่ลูกค้าเปิดพื้นที่ให้เราได้ใส่ความคิดสร้างสรรค์ของตัวเองลงไปได้ แต่ว่ามันก็ไม่ได้เป็นอย่างนั้นเสมอไป เพราะยังไงเราก็ต้องโฟกัสที่เรื่องธุรกิจด้วย พอมันเป็นแบบนี้เราเลยต้องแบ่งสไตล์การทำงานออกเป็นสองแบบ คืองานที่เราอยากทำจริง ๆ กับงานที่เราทำเพื่อให้อยู่รอด (หัวเราะ) แต่ไม่ใช่ว่าเราเลือกลูกค้านะ จริง ๆ คือเรารับทำหมด เพราะทุกงานที่เราเลือกทำมักจะเป็นงานที่เปิดพื้นที่ให้กับเราอยู่แล้ว และในขณะเดียวกัน พี่คิดว่าลูกค้าเองก็เป็นฝ่ายเลือกเราเหมือนกัน เรียกว่าเรากับลูกค้าต่างก็เลือกกันและกัน”
คุณต๊อบ: “ใช่ อย่างโปรเจกต์ล่าสุดเราก็สนุกนะ ที่ทำ CI ให้กับกรุงเทพมหานคร มันท้าทายมาก ๆ เลยแหละ เพราะตอนแรกลังเลมาก ๆ ว่าจะทำดีไหม แบบตามปกติเราจะไม่รับทำงานกับทางราชการสักเท่าไร เพราะรู้สึกว่าต้องจัดการกับกระบวนการและปัจจัยต่าง ๆ เยอะ แต่สุดท้ายพอได้ลองทำจริง ๆ เราก็เปลี่ยนความคิดไปเลย เพราะทางกทม.เขาเปิดรับความคิดเรามาก ๆ เพราะเขาเองก็ไม่มีประสบการณ์เรื่องนี้เลย เลยพร้อมที่จะลุยไปด้วยกัน ซึ่งเราชอบลูกค้าแบบนี้มาก ๆ เราชอบลูกค้าที่เชื่อในสไตล์ของเรา”
“แต่นอกเหนือจากงานของลูกค้า มันจะมีงานอีกประเภทหนึ่งที่พวกเราชอบทำกันมาก ๆ แต่ดันทำยากกว่างานปกติเสียอีก นั่นก็คือโปรเจกต์ของเราเอง เพราะว่าใครจะมาตัดสินว่าอันนี้แหละ คือใช่แล้ว ดีแล้ว สวยแล้ว มันต่างจากตอนที่เราทำให้กับลูกค้าที่จะมีบรีฟ มีพวกเขาเป็นคนเคาะไฟนอล งานแนวนี้ก็เลยเป็นอะไรที่สนุกสุด ๆ แต่ก็ทำยากสุด เพราะมันต้องใช้ความรู้สึกของเราเอง”
จากธุรกิจดีไซน์ สู่จุดเริ่มต้นของ ‘Hotel Art Fair’ เมื่ออะไร ๆ มันดูยาก เราก็ขอออกแบบให้มันง่าย
นอกจากการทำธุรกิจดีไซน์ อีกหนึ่งธุรกิจที่ Farmgroup ได้ริเริ่มทำมาตั้งแต่เมื่อ 10 กว่าปีก่อน ก็คือการก่อตั้งเทศกาล ‘Hotel Art Fair’ เทศกาลศิลปะที่เชื่อมโยงวงการศิลปะเข้ากับธุรกิจ Hospitality ขึ้นเป็นครั้งแรกในเมืองไทย โดยมีจุดเริ่มต้นมาจากความคิดที่ว่า “อยากทำงานศิลปะเข้าถึงง่ายกว่านี้”
คุณตั๊ก: จริง ๆ ฟาร์มกรุ๊ปเริ่มบริษัทมา 18 ปีแล้ว ค่อนข้างอยู่ในวงการออกแบบนานอยู่พอสมควร แล้วตอนที่เริ่ม Hotel Art Fair มันเป็นการจับพลัดจับผลูเหมือนกัน เราเองเวลามีอีเวนต์อะไรที่ตอบแทนสังคมได้เราก็อยากจะทำ อย่างมีช่วงน้ำท่วมหรืองานอะไรเราก็พยายามจะไปช่วย หรือช่วยทาง TCDC เราก็พยายามจะเข้าไปช่วยเรื่องให้ความรู้กับน้อง ๆ นักออกแบบรุ่นใหม่”
“แต่ถ้าจะให้พูดถึงจุดเริ่มต้นของ Hotel Art Fair จริง ๆ ว่าเริ่มมาได้อย่างไร คงต้องบอกว่ามันเป็นการจับพลัดจับผลูมากกว่า คือเรามีเพื่อนที่เป็นเจ้าของโรงแรม แล้วเขาอยากจัดงานอะไรสักอย่างขึ้นมาในโรงแรม เลยขอให้เราช่วยคิดให้หน่อย เพราะก็เคยทำงานอีเวนต์มาบ้าง ก็เลยได้จังหวะมานั่งคิดว่าจะทำอะไรกันดี”
“ทีนี้พอคิดกันไปเรื่อย ๆ เราก็นึกได้ว่า จริง ๆ แล้วเราก็มีศิลปินที่เป็นนักออกแบบในบริษัทอยู่ เลยคิดว่างั้นลองทำอาร์ตแฟร์กันดูดีไหม เพราะที่เมืองนอกก็เคยมีคนทำอาร์ตแฟร์ในโรงแรมเหมือนกัน แบบทั่วโลกเลย ถ้าเราเอาการจัดงานอาร์ตแฟร์สไตล์นี้มาทำในสไตล์ของเราเอง มันน่าจะดีเหมือนกัน บวกกับเรามีความรู้สึกมาตลอดว่าศิลปะในบ้านเรามันเข้าถึงยากไปไหมนะ (เมื่อหลายสิบปีก่อน) เพราะเวลาเราไปทัวร์แกลเลอรีแล้วมันเกร็ง มันไกลตัว เราไม่รู้ว่าเราจะทำหน้าอย่างไรเวลาที่เห็นศิลปะบางชิ้น เราไม่รู้ว่าเราจะถามได้ไหม เราทำอะไรได้บ้าง พูดอะไรแล้วจะเป็นการดูหมิ่นเขาหรือเปล่า เลยกลับมานั่งคิดว่าน่าสนใจที่จะทำให้มันอยู่ในโรงแรมจริง ๆ แล้วให้มันอยู่ในบรรยากาศที่เสพง่าย ๆ ได้ไหม เลยมาคุยกันว่า ถ้าอย่างนั้น เรามาทำให้บรรยากาศมันสนุกดีไหม เราทำอะไรได้บ้าง มีเพื่อนที่เป็นดีเจและศิลปิน แกลเลอรีก็พอรู้จักอยู่แล้วชวนเขามาออกที่โรงแรมที่เราเพิ่งคุย เหมือนทุกอย่างมันลงล็อกพอดี งั้นเลยลองดู”
“จริง ๆ เมืองนอกเขาเริ่มกันมานานแล้ว แต่การจัดงานนี้ในปีแรกมันเป็นเรื่องใหม่สำหรับคนไทย เพราะเมืองไทยไม่เคยรวมตัวแกลเลอรีกันขนาดนี้มาก่อน แบบต่างคนต่างเปิดงานของตัวเอง เราเลยเชิญแกลเลอรีมาเปิดงานร่วมกัน ปีแรกมีอยู่ 12 ห้องเพราะทุกคนก็ยังไม่เข้าใจว่าเราจะทำอะไร แล้วเราเองก็ไม่ได้เป็นแกลเลอรี เราแค่เป็นตัวกลางเฉย ๆ แต่กลายเป็นว่าคนที่ตื่นเต้นกว่าคนไทยคือคนต่างชาติ มี magazine มีคนที่จัดงานอาร์ตแกลเลอรีที่สิงคโปร์บินมาคุยกับเราเลย เหมือนเขารอมานานแล้วว่าเมื่อไรเมืองไทยจะมีอะไรแบบนี้”
“ด้วยความที่เรามือใหม่ ก็เลยคิดว่างั้นต้องมีจุดดึงดูด จะมีแค่แกลเลอรีมาทำกันเองไม่ได้ สิ่งที่เราอยากได้คืออยากให้แกลเลอรีเขาขายงานได้ เพราะเราต้องมองว่าลูกค้าคือแกลเลอรี แกลเลอรีเราจะแฮปปี้เมื่อเขาขายงานได้ เพราะฉะนั้นเราต้องดึงคนมา เราก็เริ่มชวนเพื่อน ๆ และลูกค้าเรามา ซึ่งเรามีลูกค้าที่อยู่ในวงการอสังหาริมทรัพย์ค่อนข้างหลายเจ้า และมีเพื่อน ๆ ที่เป็นเจ้าของบริษัทกำลังจะสร้างบ้านเลยไปชวนมา คนยังไม่ได้เยอะมากนะคะเพราะว่าคนยังงง ๆ อยู่ว่ามันงานอะไร”
‘Hotel Art Fair’ เทศกาลศิลปะที่นำศิลปินและแกลเลอรี มาบรรจบกับธุรกิจ Hospitality เพื่อระบบนิเวศศิลปะที่ดีกว่าเดิม
นอกจากจุดเริ่มต้น ‘Hotel Art Fair’ คุณตั๊กยังเล่าต่อถึงการร่วมงานกับวงการธุรกิจ Hospitality อย่างโรงแรมต่าง ๆ เพราะหลังจากโรงแรมแรกที่เป็นจุดตั้งต้น นับจากนั้น Hotel Art Fair ก็มีการเปลี่ยนสถานที่จัดงานไปทุกปี
คุณตั๊ก: “ตั้งแต่แรกเราวางแผนไว้แล้วว่าจะเปลี่ยนสถานที่จัดงานไปตามโรงแรมต่าง ๆ ในแต่ละปี ซึ่งมันก็ทำให้มีข้อจำกัดบ้าง บางโรงแรมที่เราไปคุยอาจไม่เข้ากันได้เท่าไร รวมถึงบางปีเราก็หาโรงแรมที่ลงตัวไม่ได้เพราะงานยุ่ง แต่เมื่อไรที่เจอโรงแรมที่คลิกกันจริง ๆ โรงแรมนั้นต้องให้ความสำคัญกับศิลปะในระดับหนึ่ง และพร้อมจะสนับสนุนเราหลายด้าน เพราะพวกเขาต้องเข้าใจว่าเราไม่ได้ให้เปอร์เซ็นต์จากการขายผลงาน แต่พวกเขาจะได้ประโยชน์ในเชิง PR หรือด้านการสร้างแบรนด์แทน ซึ่งมันไม่ใช่ผลตอบแทนทางการเงินที่ชัดเจนมากนัก”
“แต่ในช่วงสองถึงสามปีมานี้ ไม่ได้มีแค่ธุรกิจโรงแรมแล้วที่ให้ความสนใจกับเรา แต่เรายังมีสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (TCEB) เข้ามาทำวิจัยเกี่ยวกับผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมที่มีต่อโรงแรมและชุมชนรอบ ๆ ซึ่งโรงแรมก็ต้องมองเห็นถึงคุณค่าตรงนี้ด้วยเช่นกัน แถมยังเป็นคนที่สนับสนุนเราทุกปี รวมถึง การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และสปอนเซอร์จากบริษัทเอกชนอีกมากมายที่ให้ความสำคัญกับระบบนิเวศศิลปะแบบเราด้วย
ดีไซเนอร์ VS ศิลปิน ความเหมือนและความต่างที่ควรได้รับการพูดถึงมากกว่านี้
ในฐานะที่ทั้งสองคนได้ลองเข้ามาสัมผัสทั้งโลกดีไซน์และศิลปะ และได้ทำงานร่วมกับดีไซเนอร์ แกลเลอรี และศิลปินอีกหลายคน จึงมีสิ่งหนึ่งที่พวกเขารู้สึกได้จากการทำงานตรงนี้ นั่นคือความเหมือนและความต่างของคนทำงานทั้งสองสาย ที่สุดท้ายแล้วในสายตาของคนส่วนใหญ่หรือรัฐบาล ก็ยังไม่มองว่าพวกเขาเป็นอาชีพหนึ่งอยู่ดี
คุณตั๊ก: "ถ้าถามว่าดีไซเนอร์กับศิลปินเหมือนกันไหม จริง ๆ แล้วมันคือเรื่องเดียวกันเลย นั่นเป็นเหตุผลที่เราทำ Art Fair เพราะการออกแบบก็คือศิลปะ ทีมงานของเราหลายคนเป็นศิลปิน เราอยากทำให้วงการศิลปะสนุกขึ้น สดใสมากขึ้น และอยากให้คนภายนอกได้เห็นสิ่งที่เราทำ เราอยากให้ 'ศิลปิน' เป็นอาชีพที่สามารถเลี้ยงตัวเองได้”
“สาเหตุหนึ่งที่คิดแบบนี้เพราะช่วงโควิดมีการลงทะเบียนรับเงินช่วยเหลือต่าง ๆ จากภาครัฐ ซึ่งในแบบฟอร์มเหล่านั้นไม่มีช่องระบุอาชีพสำหรับศิลปิน มันทำให้เราคิดว่าอยากให้ศิลปินสามารถอยู่ได้จากงานที่เขารัก เหมือนที่เราอยู่ได้จากงานของเรา นี่คือสิ่งที่เราพยายามส่งต่อ เราให้โอกาสศิลปินรุ่นใหม่ได้มีพื้นที่เริ่มต้น และแกลเลอรีหลายแห่งที่ร่วมงานกับเราก็เริ่มต้นจากการเป็นศิลปินที่เติบโตไปพร้อมกับเรา”
คุณต๊อบ: "ในส่วนของเรา เราก็มองว่าดีไซน์กับศิลปะมันเหมือนกันเลยนะ ตอนแรกเราก็ไม่ได้รู้เรื่องศิลปะมากนัก แต่พอเริ่มทำ Hotel Art Fair ทุกอย่างมันก็เริ่มผสมผสานกัน ตอนนั้นมีลูกค้าเข้ามาหาเราเพราะรู้ว่าเรามีคอนเนกชันกับศิลปินและแกลเลอรี ทำให้คนเริ่มเห็นว่า ศิลปะช่วยเสริมสร้างแบรนด์สินค้าได้ในระดับหนึ่ง เลยเกิดการ collaboration ขึ้น มีศิลปินมาร่วมงานกับงานดีไซน์ บางทีก็มีการคิวเรตงาน เราเลยรู้สึกว่าตอนนี้มันแยกกันไม่ออกแล้ว”
“แต่ถ้าถามว่าโจทย์งานดีไซน์ต่างจากศิลปะไหม มันก็ยังมีความต่างอยู่ งานดีไซน์มักเริ่มจากโจทย์ที่ลูกค้าให้มาแล้วเราก็ไปออกแบบตามนั้น แต่ศิลปะมักมาจากความคิดของศิลปินเองที่ทำในสิ่งที่เขาอยากทำ แล้วนำไปขายทีหลัง แต่ในปัจจุบันวงการทั้งสองมันเริ่มทับซ้อนกันมากขึ้น บางงานดีไซน์เราก็เสนอให้มีศิลปินมาร่วมงานด้วย มันเลยกลายเป็นว่าทั้งสองสิ่งนี้เริ่มแยกกันไม่ค่อยได้แล้ว"
คุณตั๊ก: จริง ๆ เราพยายามทำหลายอย่างนะ ก่อนหน้านี้เหมือนช่วยให้ความรู้คนให้เป็นศิลปินด้วยว่าทุกคนจะอยู่รอด มันต้องทำยังไง อยากให้เขาอยู่ได้ในการเป็นศิลปิน ถ้าเราเห็นคนที่มาเขาทำงานด้วยแพสชันแล้วเขาทำงานด้วยความรักในสิ่งที่เขาทำ แต่มันจะเป็นอาชีพเขาไม่ได้เลยเหรอ มันต้องอยู่ได้ในสิ่งที่เขารักไหม
คุณต๊อบ: "เรามองว่างานนี้คือโอกาสนั้นที่จะทำให้สิ่งที่เราหวังเกิดขึ้นได้ เพราะแต่ก่อนศิลปินส่วนใหญ่ทำงานอยู่ในสตูดิโอ แล้วฝากงานไว้ที่แกลเลอรีเท่านั้น แต่พอได้มาร่วมงานแบบนี้ พวกเขาก็ได้พบปะกับคนอื่น ๆ มากขึ้น พอศิลปินเข้าใจมากขึ้นว่าโลกภายนอกต้องการอะไร และพวกเขาต้องสร้างงานแบบไหนเพื่อให้ขายได้ ถ้าเป็นสมัยก่อน พวกเขาก็แค่นั่งทำงานอยู่ที่บ้าน ไม่ได้เจอใคร แค่นำงานไปแขวนไว้รอให้คนมาเห็น แต่ตอนนี้พวกเขาได้คุยและสื่อสารกับผู้คนมากขึ้น ทำให้รู้สึกว่าศิลปะและวิธีการทำงานของศิลปินเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย และศิลปินเองก็ต้องปรับตัวตามไปด้วย"
ลายเซ็นของ ‘Farmgroup’ กับความต่างของรสชาติที่ปรุงเป็นอะไรก็อร่อยได้ในแบบของตัวเอง
แม้ว่า Farmgroup จะจับงานออกแบบมาแล้วในหลายอุตสาหกรรม แต่สิ่งที่ทำให้ Farmgroup ยังคงใส่ลายเซ็นความเป็นตัวเองลงไปในทุกผลงานได้เสมอ ก็เพราะว่าพวกเขาเข้าใจความเป็นตัวเองดีด้วย
คุณตั๊ก: “อย่างที่เคยบอกไปว่าเราเองก็เลือกลูกค้า ลูกค้าเองก็เลือกเรา เพราะเรามีสไตล์ของเรา งานที่เราถนัดและเป็นเอกลักษณ์ของเรา สตูดิโอแต่ละแห่งมีสไตล์เฉพาะตัว ซึ่งเป็นจุดเด่นของฟาร์มกรุ๊ปเช่นกัน ลูกค้าเลยเลือกเราจากสิ่งนี้ ไม่ใช่แค่การออกแบบ เพราะเอาจริง ๆ ตั๊กไม่ได้จบออกแบบเลย เป็นคนจบ marketing จบปริญญาตรีมา เป็น commercial ล้วน ๆ บวกกับเราเป็นคนที่ชอบปาร์ตี้ มันเลยกลายมาเป็นคาแรกเตอร์ของเรา”
“คงจะเป็นเพราะแบบนี้ ทำให้ Farmgroup เราเก่งเรื่องการสร้างบรรยากาศ และสิ่งนี้มันจะอยู่ในทุก ๆ งานของพวกเราเลย คือมันต้องมีความสนุก บ้าบอ และบ้าคลั่งนิดนึง อย่าง Hotel Art Fair เนี่ย เราเชื่อนะว่าจริง ๆ แล้วคนอื่น ๆ ก็ทำได้เหมือนกัน แต่ถ้าจะเอาความสนุกแบบนี้ บรรยากาศแบบนี้ ก็คงจะไม่เหมือนกัน และน่าจะเป็นความสนุกที่เหมือนกันแต่ให้อีกอารมณ์หนึ่งไปเลย แบบที่ไม่เหมือน Farmgroup”
คุณต๊อบ: "ทุกปี โดยเฉพาะในปีที่มีแกลเลอรีจากต่างประเทศมาเยอะ เราก็มักจะได้รับคอมเมนต์ต่าง ๆ เช่น 'ทำไมไม่ทำแบบนี้?' หรือ 'ไม่ควรมีเสียงเพลงนะ' ซึ่งเราก็รับฟังและปรับแก้ในบางจุด แต่สุดท้ายเรายังยึดความเป็นตัวของเรา เพราะเราอยากให้งานมีบรรยากาศแบบนี้ มีชีวิตชีวาแบบนี้ เราจึงต้องคงเอกลักษณ์ของเราไว้ แม้จะต้องปรับแก้บางอย่างก็ตาม"
อนาคตของ Hotel Art Fair กับการผจญภัยนอกขอบเขตที่คุ้นเคย
พอได้เห็นเบื้องหลังการทำงานแบบนี้แล้ว เราเลยชวนคุณตั๊กและคุณต๊อบพูดคุยกันต่อถึงความสำเร็จในปัจจุบัน ที่จะส่งต่อไปถึงความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ในอนาคตของ Hotel Art Fair ที่อาจไม่ได้อยู่แค่ในกรุงเทพฯ อีกต่อไป
คุณตั๊ก: "เหมือนที่เราพูดไว้ตั้งแต่แรกว่าเป้าหมายหลัก ๆ ของเราคือ แกลเลอรีต้องขายงานได้ ศิลปินต้องขายของได้ เพราะฉะนั้นเราจะดึงคนให้เข้ามาและสร้างบรรยากาศให้การขายเกิดขึ้น เราอยากให้พวกเขาอยู่ได้ด้วยงานของพวกเขาเอง แต่อีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้เรารู้สึกว่า สิ่งที่เราทำมันมีประโยชน์มากกว่านั้น คือมันเริ่มมีอิมแพคต่อสังคมและประเทศด้วย นี่คือสิ่งที่เราจะทำต่อไป”
คุณต๊อบ: "ความสนุกของงานมันเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ทุกปี ทั้งศิลปินหน้าใหม่ก็เข้าร่วมขึ้นเยอะมาก มีแกลเลอรีจากต่างประเทศมาเข้าร่วมด้วย และแกลเลอรีใหม่ ๆ ก็เกิดขึ้นมากมายในตอนนี้ เราอยากให้ทุกคนมาสนับสนุนศิลปินและแกลเลอรีเหล่านี้ เราได้ยินคำว่า 'soft power' กันบ่อย แต่บางทีเราก็ไม่แน่ใจว่ามันคืออะไรเป๊ะ ๆ แต่เราเชื่อว่างานนี้สามารถเป็นฟันเฟืองสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยได้จริง ๆ นี่คือเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่เรากำลังพูดถึง อยากให้ทุกคนมาร่วมสนับสนุนงานนี้ ให้มันช่วยสร้างอาชีพให้กับศิลปิน ให้ทุกคนมีรายได้และอยู่ได้ด้วยงานที่พวกเขารัก แล้วก็อยากเชิญมาร่วมสนุกกันเหมือนทุกปี มีอะไรใหม่ ๆ ให้ตื่นเต้นแน่นอนเหมือนเดิม"
คุณตั๊ก: “เอาจริง ๆ นะ เราเชื่ออย่างหนึ่งว่า 'Art is a new wealth' เราเชื่อว่าธุรกิจศิลปะเริ่มมองเห็นในสิ่งเดียวกับที่เราเห็น เราโชคดีที่มี TCEB เป็นพาร์ทเนอร์ที่ช่วยพัฒนาระบบการจัดการให้ดีขึ้น และที่สำคัญคือ เขามาช่วยเราทำรีเสิร์ชทุกครั้งที่เราจัดงาน เขาจะส่งทีมนักวิจัยเข้ามาสัมภาษณ์และทำการศึกษาด้านเศรษฐกิจให้เรา เราก็เลยได้รู้ว่างานของเรามีผลดีต่อเศรษฐกิจและสังคมมากน้อยแค่ไหน”
“คือมันไม่ใช่แค่ขายงานศิลปะในเทศกาลเพียงอย่างเดียว เพราะคนที่มางานเราไม่ได้มาวันเดียวแล้วกลับ เขามากิน มาเที่ยวต่อ ไปทะเล ไปเยาวราชต่อ ซึ่งมันก็ส่งผลต่อสังคมในแบบที่เรารู้สึกว่ามันช่วยขับเคลื่อนให้เราทำงานต่อไป เพราะงานเราไม่ได้มีอิมแพคแค่ในวงการศิลปะ แต่กระจายไปถึงคนทั้งประเทศ เรามีเคสจาก TCEB ที่ช่วยให้เราเอาไปโชว์ต่อโรงแรม ททท. หรือผู้สนับสนุนได้ว่าที่เราทำมันไปได้ไกลกว่าที่คิด ไม่ใช่แค่คนในงานเท่านั้นที่ได้รับผล ผู้สนับสนุนบางรายอาจจะไม่เห็นผลลัพธ์เหมือนคอนเสิร์ตใหญ่ที่มีคนเยอะ ๆ เป็นหมื่นคน แต่งานเรามีอิมแพคในแบบที่ต่างออกไป”
“พูดได้เลยว่างานอาร์ตแฟร์ของเราช่วยสร้างนักสะสมหน้าใหม่ขึ้นมาเยอะ และยังเป็นเวทีให้กับน้อง ๆ รุ่นใหม่ได้แสดงผลงานด้วย”
“สำหรับสิ่งที่เราอยากทำเพิ่มในอนาคต เราคิดไปไกลเลยว่าอยากทำแบบ Motel Art Fair แบบอยากไปทำในม่านรูด เพราะมันน่าจะได้บรรยากาศแบบสนุก ๆ ด้วย แบบเปิดม่านออกมาเป็นประติมากรรมชิ้นใหญ่รออยู่ หรือไม่ก็ไปจัดที่โรงแรมติดชายหาด หรือไม่ก็พาศิลปินไทยไปต่างประเทศบ้าง เพราะจริง ๆ แล้วก็มีหลายประเทศติดต่อมาเหมือนกัน”
‘Farmgroup’ กับธุรกิจที่เดินทางมาถึงจุดอิ่มใจ แต่ไม่เคยอิ่มตัว
หลังจากได้เห็นการทำงานในโปรเจกต์ขนาดใหญ่มากมาย รวมถึงการกระโจนเข้าไปในหลายวงการ แต่เมื่อเราถามถึงทีมงานเบื้องหลัง รวมถึงเป้าหมายสูงสุดของ Farmgroup ทั้งสองคนกลับบอกว่าจริง ๆ พวกเขาไม่ได้มองหาจุดสูงสุดแล้ว แต่มองหาจุดที่สบายใจ แต่การมองแบบนี้ก็ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาอิ่มตัวแต่อย่างใด แค่ไม่กดดันตัวเองแล้วเท่านั้น
คุณตั๊ก: "จริง ๆ เป้าหมายของเรามันเปลี่ยนไปตลอดเวลาตามสถานการณ์และตามวัยด้วย ตอนแรกเราก็อยากขยายงานไปต่างประเทศ แต่พอทำไปเรื่อย ๆ ก็กลับมาถามตัวเองว่า เราทำไปเพื่ออะไร เคยคุยกันว่าจะเข้าตลาดหุ้นไหม แต่สุดท้ายมันก็ไม่ใช่ทางเรา เราเลยค่อย ๆ ลดเป้าหมายลง เราแค่ต้องการให้งานมันอยู่ได้ไปเรื่อย ๆ แบบที่เรามีความสุขกับมัน
“โควิดก็สอนเราเยอะมาก ทำให้รู้ว่าไม่จำเป็นต้องไปให้ไกลขนาดนั้น เราต้องมีความสุขกับปัจจุบันก่อน เราเลยเลือกตัดสิ่งที่ทำแล้วไม่สนุกหรือไม่จำเป็นออกไป เลือกทำเฉพาะงานที่ทำแล้วแฮปปี้และยังสามารถเลี้ยงตัวเองได้ ต้องหาจุดที่มันสมดุล”
คุณต๊อบ: “ใช่ ตอนนั้นเราสร้างออฟฟิศใหม่ วางแผนขยายบริษัทให้ใหญ่ขึ้น พอทำการตกแต่งเสร็จก็ยังไม่ได้ย้ายเข้าไปเลย เพราะโควิดมา เราเริ่มเข้าไปทำงานเดือนละครั้งสองครั้ง เป็นแบบนั้นอยู่สองเดือนเอง แล้วก็มานั่งคุยกัน พี่ตั๊กก็บอกว่า ‘ตัดเลยดีกว่า’ เพราะเราไม่รู้ว่าโควิดจะลากไปอีกนานแค่ไหน สุดท้ายก็ตัดสินใจทุบพื้นที่แล้วคืนเขาไปเลย ซึ่งย้อนกลับไปคิดแล้วก็ดีใจที่ตัดสินใจแบบนั้น เพราะถ้าไม่ทำก็คงต้องลากปัญหานี้ไปเรื่อย ๆ
“อย่างทีมที่อยู่กับเราตอนนี้ก็ผ่านโควิดมาด้วยกัน พวกเขาผ่านการปรับตัวและฝ่าฟันเหมือนกับทุกบริษัทที่ต้องลดเงินเดือนหรือปรับแผนงาน ซึ่งมันทำให้เรารู้สึกว่าทีมนี้เป็นทีมที่ดีที่สุดเท่าที่เคยมีมา ทุกคนมีความเป็นฟาร์มกรุ๊ปอยู่ในตัว เหมือนมี DNA เดียวกัน คุยกันแป๊บเดียวก็รู้เลยว่าต้องทำอะไรต่อ"
คุณตั๊ก: “ในส่วนของวัฒนธรรมการทำงาน บริษัทเราไม่เคยมีการตอกบัตรตั้งแต่แรกอยู่แล้ว ถ้างานไม่จบ เราก็ทำต่อไป พยายามจะมีระบบบ้าง แต่เราไม่ใช่บริษัทที่เคร่งเรื่องแบบนั้น เพราะเราทำงานแบบเน้นความยืดหยุ่นและเทคโนโลยีสมัยนี้ก็ช่วยให้เราทำงานฉลาดขึ้น ประสบการณ์ที่ผ่านมาก็ทำให้เราเก่งขึ้นด้วย งานก็จบได้ดีขึ้น”
“ตอนนี้เรารู้สึกแฮปปี้นะ เราไม่อยากทำงานหนักกว่านี้แล้ว อยากมีเวลาให้ครอบครัวและสุขภาพที่ดีขึ้น อยากเลือกงานที่มีความสร้างสรรค์ สนุก และยังเลี้ยงตัวเองได้ดี ช่วงก่อนเราอาจจะรับงานเยอะเกินไป แม้บางงานจะไม่ใช่ทางเรา แต่ตอนนี้เรารู้แล้วว่าไม่จำเป็นต้องรับทุกงาน อะไรที่ทำแล้วทีมเหนื่อยหรือเราไม่แฮปปี้ เราก็จะไม่ทำ”
"อย่างเรื่องการเกษียณนี่ เราก็นึกไม่ออกเหมือนกันว่าจะเกษียณยังไง ตั๊กว่าตอนนี้เราต้องปล่อยวางมากขึ้นแล้วนะ ตรง ๆ ก็คือคนในฟาร์มกรุ๊ปตอนนี้ทำงานเหมือนเกษียณก่อนวัยนิดหน่อยแล้ว ทุกคนเติบโตมาพร้อมกัน พวกเราก็ไม่เด็กเหมือนเมื่อก่อนแล้ว ที่พูดว่าเราไม่ได้มองว่าบริษัทต้องเข้าตลาดหุ้น เพราะเราไม่ได้มองไปไกลขนาดนั้น แค่รู้สึกว่าเราพอแล้ว ไม่ได้ตั้งเป้าหมายว่าปีหน้าต้องเติบโตเท่าไร แม้ว่าบริษัทจะเติบโตอยู่ แต่ไม่ได้คิดถึงการเข้าตลาดหุ้น งานอาร์ตแฟร์ที่ทำอยู่ก็เป็นอีกงานหนึ่งที่เราได้ปล่อยของและสนุกไปกับมัน"
Hotel Art Fair 2024 จัดแสดงตั้งแต่วันนี้ - 8 กันยายน 2567 ที่ โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล กรุงเทพฯ สุขุมวิท เวลา 11.00 น. – 22.00 น.
เรื่อง: บงกชกร คำปุ๊ก และ อมต โชติพันธุ์
ภาพ: ฐิตพัฒน์ ฉิมประเสริฐ, Hotel Art Fair และ Farmgroup
กราฟิก: กุลสตรี เชื้อวิเศษ