GC_TomTom_bdw.jpg

ปักหมุดจุดห้ามพลาดใน Bangkok Design Week 2022 มหกรรมที่เนรมิต 5 ย่านในกรุงเทพฯ ด้วยงานออกแบบ

Post on 16 March

จากปีที่แล้วที่ต้องเก็บกระเป๋ากันไปจัดในช่องทางออนไลน์ ในปีนี้ “Bangkok Design Week” กลับมาจัดแบบ On-site กันอีกครั้ง พร้อมกับการเพิ่มย่านใหม่อย่าง “พระนคร“ และเพิ่มจำนวนชิ้นงานที่ทะลุถึง 200 โปรแกรมให้เราได้เลือกชมกันตลอดสัปดาห์แบบไม่ซ้ำวัน โดยจากสถานการณ์โรคระบาดที่ยังอยู่คู่สังคมไทยมามากกว่า 2 ปี จึงกลายเป็นที่มาของคอนเซปต์งานประจำปี 2022 กับ “Co With Creation คิด สร้าง ทางรอด” เพื่อให้เหล่าศิลปินและนักออกแบบควักกลเม็ดทุกอย่างที่มีมาสร้างสรรค์งานเพื่อระเบิดพลังบวกให้กระจายไปทั่วกรุง ซึ่งจะจำแนกออกเป็น 5 ประเด็น ตั้งแต่พื้นที่ สุขภาพจิต สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม และเทคโนโลยี เพื่อให้งานออกแบบได้ซัพพอร์ตสังคมไทยได้อย่างตรงจุด ด้วยความที่จำนานงานมีมากและกระจายอยู่หลายย่านในกรุงเทพฯ จนหลายคนไม่รู้จะเริ่มจากตรงไหนดี เราจึงขอปักหมุดจุดห้ามพลาดของงาน Bangkok Design Week ให้ทุกคนยัดใส่แพลนเดินเที่ยวในปีนี้กัน

อาคารไปรษณีย์กลางบางรัก

ป้อมปราการอันเป็นจุดเริ่มต้นของงาน โดยปีนี้ยังคงครึกครื้นไปด้วยงานออกแบบที่จัดแสดงตั้งแต่ชั้น 1 - ชั้น 5 ของพื้นที่ TCDC ในขณะที่ลานด้านหน้าก็เล่นใหญ่ใช่ย่อยด้วย “SIT/VID/ME” ผลงาน Installation สีแดงแรงฤทธิ์ที่ชวนให้ทุกคนขยับมานั่งใกล้ชิดเพื่อสร้างสัมพันธ์ในสังคม ตามมาด้วย “Co with garden” สวนที่ถูกดีไซน์มาเพื่อยุคโควิด ด้วยการปูพื้นกาบมะพร้าวนุ่มสบายเท้า ช่วยสร้างสัมผัสผ่อนคลาย และยังมี “Creative Market” ตลาดงานดีไซน์ที่ให้เหล่าดีไซน์เนอร์มาเปิดแผงขายโปรดักส์กันแบบจัดเต็ม ที่นอกจากจะระเบิดไอเดียนักออกแบบแล้ว ยังระเบิดกระเป๋าตังค์เราไปด้วย

River City Bangkok

จบจากอาคารไปรษณีย์กลางแล้ว ให้เราเดินเท้าเลียบถนนเจริญกรุง แล้วลัดเลาะเข้าซอยเจริญกรุง 30 จะพบกับโกดังบ้านเลขที่ 1 กับนิทรรศการ “ถอดรหัสหนังไทย” จากมหาวิทยาลัยศิลปากร ที่เขาจะนำเหล่าโปสเตอร์และคอสตูมหนังไทยมาจัดแสดงให้เราหายคิดถึง โดยจากจุดนี้ เราสามารถไปต่อที่ River City Bangkok พื้นที่ริมน้ำที่อัดแน่นไปด้วยงานนิทรรศการ

สิ่งที่ห้ามพลาดใน River City Bangkok เลยก็คือ “จักรวาลใจ Mental-Verse” จากกลุ่มนักออกแบบ Eyedropper Fill ที่ครั้งนี้มาจับประเด็นลงลึกโรคซึมเศร้า สะท้อนออกมาเป็นภาพยนตร์สารคดีให้เรานอนชมกัน 3 เรื่องจากผู้ป่วย 3 คน 3 ช่วงวัย โดยเขาได้ดีไซน์โรงหนังราวกับอยู่ในห้องนอนพร้อมแอร์ฉ่ำ ๆ ให้เราผ่อนคลายขณะซึมซัมโลกภายในใจจากผู้ป่วย ซึ่งการจะเข้าชมนั้น เราต้องพก ATK ที่ตรวจภายใน 24 ชม. มาด้วยแล้วทำการ Walk-in เข้าจองรอบชมได้เลย

โรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจ

มาต่อกันที่โรงพิมพ์เก่าแก่ที่สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 แต่ยังคงตั้งตระตร่านแผ่มนต์ขลังให้กับย่านเสาชิงช้า โดยพื้นที่ด้านในได้ถูกเปลี่ยนฟังก์ชันให้กลายเป็นพื้นที่จัดแสดงนิทรรศการ “Future Paradise” ที่ชวนให้เรามาลองจินตนาการดีไซน์แห่งโลกอนาคตใน 10 ปีข้างหน้า เทคโนโลยีสมัยใหม่และภูมิปัญญาดั้งเดิมได้กลายมาเป็นส่วนผสมหลักของงานดีไซน์ เกิดเป็นเทคนิคแบบ Hybrid-Craft เราจึงเห็นมิติใหม่ของเฟอร์นิเจอร์ โคมไฟ และของตกแต่งที่แปลกตาแต่ก็คุ้นเคยในเวลาเดียวกัน

ในขณะที่อีกฟากของอาคารก็เปิดเป็นป๊อปอัพคาเฟ่ Craftsman at Bamrungmueng ที่ดึงวันวานแห่งยุควิกตอเรียนสมัยรัชกาลที่ 5 กลับมาให้เราได้นั่งซึมซับบรรยากาศ พร้อมจิบเครื่องดื่มไปด้วย โดยพื้นที่ในคาเฟ่ยังมีการนำหนังสือที่เคยตีพิมพ์ในโรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจ กับภาพถ่ายตัวอาคารมาจัดแสดงให้ชมกัน ถือเป็นจุดแวะพักชั้นดี ก่อนไปลุยกันต่อ

New World x Old Town

แม้เราจะประกาศกร้าวแล้วว่า “New World x Old Town” จะเป็นจุดที่เราอยากมาเดินดูซ้ำอีก แต่ก็เป็นที่น่าเสียดายที่รอบเข้าชม New World x Old Town ในตอนนี้ได้เต็มยิงยาวไปจนถึงวันปิดงานแล้ว ได้แต่ภาวนาขอให้ผู้จัดเพิ่มรอบให้เราได้มีความหวังอีกครั้ง หรือไม่ก็เสี่ยงดวงลอง Walk-in เข้าไปดู แต่ถ้าใครพลาดก็ไม่ต้องเสียใจไป เพราะเราได้เก็บภาพภายในมาให้ชมกันแล้ว

ห้าง New World เป็นห้างเก่าแก่ที่เคยเปิดทำการอย่างยิ่งใหญ่ในปี 2526 และกลายเป็นจุดหมายของคนกรุงในสมัยนั้น จนอาจกล่าวได้ว่านี่คือสยามพารากอนแห่งบางลำพูเลยล่ะ โดยหลังจากถูกปิดตัวไปนานจากเหตุเพลิงใหม่ในปี 2542 ห้าง New World ก็ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของ Bangkok Design Week พร้อมกับการถูกชุบชีวิตอีกครั้งด้วยผลงาน Lighting Installation ที่สร้างแสงสีเสียงสะท้อนไปทุกมุมของห้างร้าง เพื่อดึงบรรยากาศเก่า ๆ ของย่านบางลำพูให้เราได้ระลึกถึงความหลัง บอกเลยว่าแม้ก้าวแรกจะชวนขนหัวลุก แต่ก้าวถัดไปจะเต็มไปด้วยความตื่นตาตื่นใจอย่างแน่นอน

อาคารชัยพัฒนศิลป์

ปิดท้ายทริปนี้ด้วยอีกหนึ่งตึกเก่าแห่งย่านตลาดน้อย “อาคารชัยพัฒนศิลป์” ที่แต่เดิมเคยเป็นบริษัทผู้ผลิตรองเท้านันยางมาก่อน โดยในตอนนี้ชั้น 1 ได้ถูกเปลี่ยนให้เป็นพื้นที่นิทรรศการ “Shadow Theatre” ที่ออกแบบด้วยคอนเซปต์โรงละครสัตว์สุดแฟนตาซี ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจมาจากการแสดงเก่าแก่ของภาคใต้อย่าง หนังตะลุง ในขณะที่ชั้น 3 ที่เป็นพื้นที่ของลานเสก็ต Jump Master Skate Haus ก็กระโดดมาร่วมแบ่งปันพื้นที่จัดแสดง "มือ-บอน" งานนิทรรศการจากกลุ่มนักออกแบบ ที่หยิบการเกษตรอันเป็นหัวใจหลักของไทย มาเพิ่มมูลค่าด้วยงานออกแบบและปรับให้เข้ากับไลฟ์สไตล์คนเมือง

Bangkok Design Week 2022

วันที่ 5-13 กุมภาพันธ์

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่

Website : www.bangkokdesignweek.com/bkkdw2022

Facebook : www.facebook.com/BangkokDesignWeek