ตีท้ายครัว ‘บาร์บี้แลนด์’ ส่องเบื้องหลังงานดีไซน์สุดโหดที่พลิกดินแดนของเล่นให้เป็นดินแดนพลังหญิง

Post on 31 July

สำหรับคนที่เข้าไปดูภาพยนตร์เรื่อง ‘Barbie’ แล้ว ก็คงจะทราบกันดีว่า นอกเหนือจากเนื้อเรื่องสุดน่ารักน่าหยิก กับมุกจิกกัดชายจริงหญิงแท้ที่เผ็ดเสียจนอย่างร้องออกมาว่า ‘I Am Kenough!’ ในเรื่องยังมีของดีของเด่นอีกอย่างที่ต้องพูดถึงให้ได้ นั่นก็คือเหล่าสถาปัตยกรรม สิ่งของ และฉากต่าง ๆ ภายในเรื่อง ที่โดดเด่นสะดุดตา และมีเอกลักษณ์สุด ๆ สมกับเป็นดินแดนที่ใช้จินตนาการเป็นกุญแจนำทางของทุกอย่างจริง ๆ

วันนี้เราเลยอยากจะพาทุกคนไปตีท้ายครัวบ้านบาร์บี้ สำรวจเบื้องหลังดีไซน์สุดเปรี้ยวเยี่ยวราดเหล่านี้ว่ามีที่มาจากอะไร แล้วคนคิดเขาวางคอนเซ็ปต์แบบไหนถึงออกมาเป็นฉากแบบนี้

Dreamhouse บ้านหลังแรกของบาร์บี้ กับดีไซน์แบบยุค 60

หนึ่งในสถานที่ที่โดดเด่นที่สุดในบาร์บี้แลนด์ ก็คือเหล่า ‘Dreamhouse’ ของสาว ๆ หรือ ‘Mojo Dojo Casa House’ สำหรับเคนนั่นเอง ซึ่งถ้ามองด้วยสายตาของคนยุค 2023 ผู้เติบโตมากับอาคารทึบ ๆ ทรงสี่เหลี่ยมเสียเป็นส่วนใหญ่ ก็คงต้องบอกว่าบ้านเหล่านี้มีดีไซน์ไม่สมกับเป็นบ้านเลย ไม่ว่าจะเป็นสระว่ายน้ำที่ไม่มีน้ำ บ้านที่ไร้บันได และไม่มีกำแพงจนมองเห็นห้องต่าง ๆ ได้แบบทะลุปรุโปร่ง

ซึ่งเจ้าความแปลกที่ว่านี้ ก็มีที่มาจาก Dreamhouse ของตุ๊กบาร์บี้จริง ๆ โดย Dreamhouse นั้น ได้ถูกเปิดตัวครั้งแรกในปี 1962 ในฐานะบ้านหลังแรกของบาร์บี้ เนื่องจากในยุคนั้น ผู้หญิงนั้นถูกกำหนดบทบาทให้เป็นช้างเท้าหลัง การจะทำงานหาเลี้ยงตัวเองจนซื้อบ้านได้ เลยเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้เพียงในฝันเท่านั้น ดังนั้นในฐานะที่บาร์บี้คือตัวแทนของความฝันที่ไร้ขีดจำกัดของเด็กผู้หญิง บริษัท Mattel ก็เลยผลิตบ้านสำหรับบาร์บี้ขึ้นมา เพื่อเป็นแรงบันดาลใจให้กับเด็กผู้หญิงทุกคนว่า ผู้หญิงก็สามารถซื้อบ้านเป็นของตัวเองได้เหมือนกัน และหลังจากนั้นก็มีการพัฒนารูปแบบมาเรื่อย ๆ

แน่นอนว่าพอเป็นบ้านตุ๊กตา ก็ต้องมีรูปทรงที่เหมาะกับการเล่นของเด็ก ๆ จึงมีการสร้างห้องให้ไร้กำแพงเพื่อที่จะได้มองเห็นได้ง่าย ๆ และไม่จำเป็นต้องมีบันได เพราะเวลาเราเล่นเราก็ยกตัวบาร์บี้กันเองอยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม นั่นไม่ใช่คอนเซ็ปต์เดียวที่ทางบริษัท Mattel คิดเพื่อออกแบบ Dreamhouse เพราะพวกเขายังนำแรงบันดาลใจจากสถาปัตยกรรมที่มีอยู่จริงในยุค 60 อย่าง ‘Kaufmann House’ ที่ออกแบบโดย ริชาร์ด นิวตร้า (Richard Neutra) สามารถพบเห็นได้ในเมืองปาล์มสปริงส์ (เมืองตากอากาศแถบทะเลทราย) รัฐแคลิฟอร์เนีย มาใช้ด้วย

รูปแบบของสถาปัตยกรรมแบบ Kaufmann House จะมีความโมเดิร์นมาก ๆ และมีลักษณะเป็นเหมือนกล่องเรียบ ๆ แบบเปิดโล่ง นิยมหลังคาแบน กับผนังสีซีด เน้นใช้กระจกใสมาทำเป็นกำแพงแทนกำแพงจริง ๆ จึงสามารถมองเห็นวิวได้ชัดเจน ซึ่งถ้าเรามองบ้าน Dreamhouse ของบาร์บี้ก็จะเห็นเลยว่ามีองค์ประกอบเหล่านี้รวมอยู่ด้วย ทั้งบ้านทรงกล่องสี่เหลี่ยม หลังคาแบนราวกับพื้นทั่วไป และส่วนที่ควรจะเป็นกระจกใสก็มีการปรับให้เป็นไร้ผนังไปเลยแทน

บาร์บี้แลนด์กับโลกที่แสนจะเล็กจิ๋ว (และบางทีก็ใหญ่โต)

สัดส่วนที่แปลกประหลาดน่าจะเป็นอีกดีไซน์หนึ่งที่เตะตาผู้ชมอย่างแน่นอน เพราะถึงแม้ว่าเหล่าบาร์บี้และเคนจะใช้ชีวิตกันอย่างปกติสุขในบาร์บี้แลนด์ แต่ก็มีหลายอย่างที่ไม่เข้ากันกับร่างกายของพวกเขาอยู่ ไม่ว่าจะเป็น สระน้ำที่เล็กจิ๊ว ห้องที่เตี้ยมาก ๆ จนหัวบาร์บี้เกือบแตะเพดาน

เหตุผลที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะว่า ซาราห์ กรีนวูด (Sarah Greenwood) และ เคธี่ สเปนเซอร์ (Katie Spencer) ผู้ออกแบบฉากต่าง ๆ ภายในเรื่องเขาตั้งใจสร้างให้สิ่งต่าง ๆ ในโลกนี้เล็กกว่าบาร์บี้และเคนประมาณ 23 เปอร์เช็นต์ เพราะพวกเขาต้องการจำลองโลกที่เหล่าของเล่นอาศัยอยู่จริง ๆ ออกมา เพราะในโลกความเป็นจริง เวลาเราเล่นกับตุ๊กตาบาร์บี้ พวกบ้านต่าง ๆ สถานที่ที่บาร์บี้ไปเยือน รวมถึงรถที่บาร์บี้ใช้ ก็มักจะมีขนาดเล็กกว่าบาร์บี้มากอยู่แล้ว แต่ที่เราสนุกสนานกันก็เพราะว่าเราใช้จินตนาการในการสร้างเรื่องราวขึ้นมานั่นเอง

อย่างไรก็ตาม ยังมีของบางอย่างที่ทั้งสองคนตั้งใจสร้างออกมาให้ใหญ่เกินจริงด้วย เช่น แปรงสีฟัน หวี กระจก หรือสิ่งของต่าง ๆ ที่บาร์บี้ถือได้ นั่นก็เพราะว่าเวลาเราเล่นตุ๊กตาบาร์บี้ สิ่งของเหล่านี้ที่ติดมาด้วยในกล่องมักจะมีขนาดใหญ่กว่ามือบาร์บี้เสมอ เนื่องจากพวกมันถูกออกแบบมาให้มือของเราเป็นคนใช้เพื่อดูแลตัวบาร์บี้ ดังนั้นถ้าทำมาเล็กเกินไปเท่ากับสัดส่วนของบาร์บี้ เด็ก ๆ จะต้องทำหาย หรือไม่ก็อาจเผลอกลืนเข้าไปได้ นี่ก็เลยเป็นเหตุผลว่าทำไมบ้านและสถานที่ต่าง ๆ ถึงเล็ก แต่ของที่ควรจะเล็กถึงใหญ่ในบาร์บี้แลนด์

ฉาก 2 มิติที่วาดจริงด้วยมือ
.
ฉากทุกอย่างในเมืองบาร์บี้แลนด์ทั้งหมดที่เราเห็น ล้วนเป็นฉาก 2 มิติ ที่วาดขึ้นด้วยมือล้วน ๆ ไม่ว่าจะเป็นชายหาด เกลียวคลื่น ต้นปาล์ม สีท้องฟ้าของบาร์บี้แลนด์ ภูเขารัชมอร์ ไปจนถึงฉากเดินทางออกจากเมืองบาร์บี้สู่โลกความเป็นจริง ที่ต้องขี่ยานอวกาศ ปั่นจักรยานข้ามทุ่งดอกไม้ ตั้งแคมป์ และขับเรือ

ซึ่งไอเดียการดีไซน์ทั้งหมดนี้ ก็มาจากคอนเซ็ปต์ของการสร้างบาร์บี้แลนด์ให้เป็นดินแดนของเล่นจริง ๆ โดยการนำต้นแบบมาจากลวดลายต่าง ๆ ที่มักวาดไว้ในกล่องตุ๊กตาบาร์บี้ และนำมาสร้างเป็นฉากในบาร์บี้แลนด์ เราเลยได้เห็นโลกที่มีความ 2 มิติ ไม่สมจริง ที่ผู้ชมอย่างเรา ๆ ต้องใช้จินตนาการส่วนตัวของตัวเองในการมองฉากเหล่านั้น เพื่อทำให้ตัวเองรู้สึกเชื่อในการกระทำของตัวละครจริง ๆ ที่เมื่อนั่งคิดตามดูแล้ว เราก็เหมือนได้กลับไปเป็นเด็กที่กำลังเล่นตุ๊กตาบาร์บี้อีกครั้งหนึ่งเลย

พอเห็นแบบนี้แล้วก็ชวนให้คิดตามว่า บางทีแม้ภาพยนตร์และองค์ประกอบทุกอย่างในหนังเรื่องบาร์บี้ จะตะโกนคำว่าของเล่น และย้ำกับเราเสมอว่าพวกเขาเป็นของเล่น แต่เหตุผลที่เรายังเชื่อในเรื่องราวของพวกเขา และซึมซับทุกอย่างได้แบบไม่มีติดขัด ก็อาจจะเป็นเพราะว่าความเป็นเด็กในตัวของเราทุกคนยังไม่ลืมวันวานที่เคยใช้จินตนาการในการเล่นของเล่น และสนุกที่จะใช้จินตนาการเหล่านั้นอีกครั้ง ในทุกฉากของบาร์บี้แลนด์

**Barbie Land**

Barbie Land

**Dreamhouse**

Dreamhouse

**Barbie Wardrobe**

Barbie Wardrobe

อ้างอิง

Jane Englefield. 2023. “Sarah Greenwood and Katie Spencer design "absurd" set for Barbie film”. dezeen. 27 July, 2023. https://www.dezeen.com/2023/07/20/sarah-greenwood-katie-spencer-absurd-set-barbie/?fbclid=IwAR3m-udvrlihgU_rc8S9pufy1bUKKZc9am7U-o6WEKInni5RF0tvDR-TbHM