ย้อนกลับไปในปี 2017 วงการฮิปฮอปโลกต้องร้อนเป็นไฟ เมื่อ เคนดริก ลามาร์ (Kendrick Lamar) แรปเปอร์และนักแต่งเพลงมากความสามารถชาวอเมริกันปล่อยอัลบั้ม DAMN. และสามารถเข้ามายึดครองพื้นที่ในชาร์ตเพลงทั่วโลกอยู่นานหลายเดือน ซึ่งนอกจากบีทเท่ ๆ และเนื้อเพลงที่ลุ่มลึกราวบทกวีแล้ว อีกหนึ่งสิ่งที่ได้รับการพูดถึงในวงกว้างคืองานภาพสวย ๆ ในมิวสิกวิดีโอที่สามารถถ่ายทอดและเติมเต็มเนื้อหาในบทเพลงได้อย่างสมบูรณ์แบบ โดยเฉพาะในเพลง ELEMENT. ที่ตัวลามาร์และเพื่อนซี้ของเขาอย่าง เดฟ ฟรี (Dave Free - อดีตประธานค่าย Top Dawg Entertainment (TDE) นั่นแหละ) ในนาม The Little Homies ไปจับมือกับช่างภาพและคนทำหนังชาวเยอรมัน โยนาส ลินด์สเตริม (Jonas Lindstroem) ร่วมกันกำกับมิวสิกวิดีโอตัวนี้จนออกมาสวยงาม และเต็มไปด้วยจิตวิญญาณของชาวแอฟริกันอเมริกันที่มีทั้งความงดงาม ความเจ็บปวด และความรุนแรง
แต่เครดิตในการสร้างสรรค์ครั้งนี้ก็ไม่ใช่ของพวกเขาทั้งสามคนเพียงเท่านั้น เพราะเราคงจะต้องยกความดีความชอบส่วนหนึ่งให้กับปรมาจารย์ด้านภาพถ่ายสารคดีข่าวอย่าง กอร์ดอน พาร์คส์ (Gordon Parks) ด้วยเช่นกัน
พาร์คส์คือช่างภาพ คนทำหนัง นักเขียน และนักแต่งเพลงชาวอเมริกันที่มีชื่อเสียงเป็นรู้จักอย่างแพร่หลายมาตั้งแต่ช่วงยุค 1940s จากการเป็นช่างภาพผิวดำคนแรกที่ได้ทำงานร่วมกับนิตยสาร LIFE และ VOGUE นอกจากนั้น เขายังเป็นหนึ่งผู้ผลักดันการเรียกร้องเรื่องสิทธิพลเมือง และมีผลงานที่บอกเล่าถึงชีวิตของคนดำชนชั้นแรงงานในสหรัฐอเมริกาในหลายแง่มุม ทั้งความยากจน ความรุนแรง การเมือง และความเป็นธรรมในสังคม ซึ่งแนวคิดเหล่านี้เองก็คงจะไปโดนใจลามาร์เข้าอย่างจัง เพราะผลงานเพลงของเขาก็มีพื้นฐานมาจากวิธีคิดคล้าย ๆ กัน นี่เองคือเหตุผลที่เขาตัดสินใจชุบชีวิตผลงานภาพถ่ายในตำนานหลายสิบภาพของพาร์คส์ และนำมาใช้เป็นแรงบันดาลใจในการถ่ายทำมิวสิกวิดีโอ ELEMENT. แบบเต็ม ๆ ถือเป็นการรำลึกถึงช่างภาพผู้ล่วงลับที่เคยมีบทบาทสำคัญต่อขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อคนชายขอบมาตลอดหลายทศวรรษ
โดยหลังจากที่มิวสิกวิดีโอตัวนี้ถูกเผยแพร่ออกไปไม่นาน มูลนิธิ Gordon Parks Foundation ก็ได้จัดนิทรรศการ ELEMENT: Gordon Parks and Kendrick Lamar เพื่อรวบรวมผลงานภาพถ่ายของพาร์คส์ และภาพนิ่งจากมิวสิกวิดีโอ ELEMENT. นำมาเทียบกันแบบช็อตต่อช็อตให้บุคคลทั่วไปได้เข้าไปซึมซับการเดินทางอันแสนบอบช้ำของชาวแอฟริกันอเมริกันที่มีทั้งหยาดเหงื่อและคาวเลือดปะปนกันจนแยกไม่ออก
พาร์คส์เคยกล่าวไว้ว่า “ผมเห็นว่า กล้องถ่ายรูปสามารถเป็นอาวุธที่ใช้ต่อต้านความยากจน การเหยียดเชื้อชาติ และความไม่ถูกต้องในสังคม” คำพูดเหล่านี้คงจะไม่ไกลเกินจริงนัก เพราะแม้ว่าร่างกายของเขาจะร่วงโรย และจากโลกใบนี้ไปสิบกว่าปีแล้ว แต่ผลงานของเขาก็ยังทรงอิทธิพลต่อคนรุ่นใหม่อย่างลามาร์ให้ได้สานต่อเจตนารมณ์ และเผยแพร่แนวคิดเพื่อความเท่าเทียมของคนดำออกไปให้ไกลยิ่งขึ้น
ชมมิวสิกวิดีโอ ELEMENT. ได้ที่: