cover web.jpg

Mulu Office กลุ่มศิลปินสิ่งพิมพ์จากไต้หวันผู้เชี่ยวชาญในการ ‘สร้างภาพ’

Art
Post on 24 November

ในภาษาจีน Mulu (目彔) แปลตรงตัวว่า สารบัญหรือแคตตาล็อก แต่ในแวดวงสิ่งพิมพ์อิสระของไต้หวัน Mulu Office คือชื่อของสำนักพิมพ์เล็ก ๆ และกลุ่มศิลปินสิ่งพิมพ์อันประกอบด้วยสามี-ภรรยาอย่าง โจว จวินเซิง และ หลิว เจ้าฉื่อ

หลิวเกิดและเติบโตในไทเป ก่อนจะย้ายไปเรียนต่อด้านวิจิตรศิลป์ในระดับปริญญาโทที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ส่วนโจวมาจากปักกิ่ง แต่เลือกไปเรียนต่อด้านภาพยนตร์ที่กรุงปราก สาธารณะรัฐเช็ก ก่อนจะย้ายไปทำงานศิลปะในโครงการศิลปินในพำนักที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ และก็เป็นที่นั่นเองที่พวกเขาได้เริ่มก่อตั้ง Mulu Office ขึ้นเป็นครั้งแรก ก่อนจะตัดสินใจกลับมาลงหลักปักฐานทำงานที่ไทเปเป็นการถาวร พร้อม ๆ กับผลิตหนังสือศิลปะของตัวเอง (และยังไปคอลแลบกับศิลปินอื่น) ออกมาอีกมากมายหลายเล่ม

และเพื่อต้อนรับงาน งาน Bangkok Art Book Fair 2022 ที่จะเกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 25 - 27 พฤศจิกายนนี้ ที่ BANGKOK CITYCITY GALLERY เราเลยขอทำหน้าที่ชวนศิลปินทั้งสองมาร่วมพูดคุยถึงแนวคิดและผลงานของ Mulu Office รวมไปถึง Fotobook DUMMIES Day โปรเจกต์โฟโตบุค (ที่ควบรวมการเป็นงานอีเวนต์ขายหนังสือศิลปะในไทเปที่จัดมาถึง 3 ครั้งแล้วด้วย) ที่หลิวทำร่วมกับเพื่อนอย่าง หลิน จวินเย ด้วย

📍 จุดเริ่มต้นของการทำงานร่วมกัน ไม่ใช่ในฐานะสามี-ภรรยา แต่ในฐานะศิลปิน

หลิว: “ฉันเริ่มทำโฟโตบุคก็เพราะเขาเลย ย้อนไปสมัยก่อน ฉันเห็นเขาทำโฟโตบุคด้วยตัวเองในห้องสมุดเยอะมาก ๆ แล้วเครื่องพิมพ์ในห้องสมุดมันก็ไม่ค่อยจะดี เขาต้องพยายามหาวิธีแฮคมันให้พิมพ์ออกมาได้แบบที่ตั้งใจ ไม่ว่าจะด้วยซอฟต์แวร์หรือการกดปุ่มบนตัวเครื่องเองก็ตาม ฉันเห็นเขาทำแบบนั้นเรื่อย ๆ ก็รู้สึกทึ่งและสนใจในสื่อสิ่งพิมพ์ขึ้นมาบ้าง เลยเริ่มต้นทำหนังสือศิลปะของตัวเองขึ้นมาด้วยเช่นกัน”

โจว: “ปัจจุบันพวกเราแบ่งปันความสนใจในเรื่องการทำหนังสือด้วยกันตลอด รวมทั้งในผลงานของเราเองก็ด้วย ซึ่งความจริงแล้ว ตั้งแต่ก่อนเราจะทำ Mulu Office เราก็มักจะคอยช่วยเหลือกันในเรื่องการทำงานอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของวิถีการทำงาน หรือแม้แต่บทสนทนาเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่สร้างแรงบันดาลใจให้กันและกัน พวกเรามักจะไปพิพิธภัณฑ์ด้วยกันบ่อย ๆ และที่นั่นแหละที่ทำให้เราได้มีบทสนทนาดี ๆ ร่วมกันจากการพบเจอสิ่งต่าง ๆ ผมคิดว่า นั่นแหละคือสิ่งสำคัญ ผมคงไม่สามารถอธิบายมันออกมาได้ถ้าไม่ได้บทสนทนาพวกนี้ และนั่นแหละคือรากฐานที่นำไปสู่การทำ Mulu Office ด้วยกัน แม้แต่ในปัจจุบันเอง สิ่งที่เราทำก็มักจะมีความรู้สึกของความเป็นพิพิธภัณฑ์อยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นในแง่ของวัตถุหรือตัวอาคารเองก็ตาม”

📍 หัวใจของ Mulu Office 

โจว: “สิ่งพวกเราสนใจคือศาสตร์แห่งการทำหนังสือหรือการ ‘สร้างภาพ’ ซึ่งไม่ได้เฉพาะเจาะจงไปที่รูปถ่ายอย่างเดียว ผมคิดว่า บางครั้งรูปถ่ายก็เป็นโจทย์ในการทำงาน แต่ในบางครั้งมันก็เป็นเหมือนผี เพราะมันยังมีสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่าครอบไว้อยู่ ส่วนใหญ่แล้วเทคโนโลยีการพิมพ์มักจะถูกพัฒนาโดยเชื่อมโยงกับการสร้างรูปถ่าย ตอนที่ผมต้องทำงานของตัวเองก็มีคำถามกับตัวเองเยอะเหมือนกัน ‘ฉันจะสร้างความแตกต่างให้กับงานตัวเองได้ยังไง?’ ผมหลงทางและสับสนอยู่นาน แต่สุดท้ายแล้วผมก็พบว่า สิ่งที่ผม รวมทั้ง Mulu Office ให้ความสำคัญก็คือการสร้างหนังสือนั่นแหละ ไม่ว่าจะเป็นรูปถ่าย ภาพ หรืออะไรก็ตาม

“เราไม่อยากนิยามมันแบบเฉพาะเจาะจง บางครั้ง เวลาที่เราบอกว่าเราทำงานกับรูปถ่าย คนส่วนใหญ่ก็จะตั้งความหวัง และทำให้ความความเป็นไปได้ใหม่ ๆ มันลดน้อยลง ถ้าผมไปบอกเขาว่า ผมเป็นช่างภาพ เขาก็จะถามว่า ‘พอร์ตเทรตหรือแลนด์สเคป?’ ซึ่งเอาเข้าจริง ๆ แล้วผมก็ไม่ได้คิดมากอะไรหรอก แค่ในความคิดของผม ถ้าเราอยากจะมีบทสนทนาที่ดี ผมอยากเปิดกว้างกับสิ่งเหล่านี้มากกว่า นั่นคือธรรมชาติของเรา”

หลิว: “นอกจากนั้น เรายังอยากทำงานร่วมกับศิลปินคนอื่น ๆ ด้วย Mulu Office เริ่มต้นมาจากการคอลแลบกับเพื่อน ๆ กันเองนี่แหละ เราออกแบบหนังสือให้พวกเขา ซึ่งเอาเข้าจริง ๆ แล้ว เราก็ไม่ใช่กราฟิกดีไซเนอร์หรอก แต่เราก็ใช้ความรู้ความสามารถเท่าที่มีอยู่ออกแบบหนังสือให้พวกเขาจนได้ เราอยากจะหลุดไปจากกรอบของการทำหนังสือที่ภายนอกต้องดูดี แปลกตา แต่อยากทดลองทำงานศิลปะในรูปแบบของหนังสือมากกว่า”

📍 หนังสือเล่มเด็ดที่อยากนำเสนอในงาน Bangkok Art Book Fair 2022 

โจว: “จากหนังสือทั้งหมดที่เราจะเอามาจัดแสดงที่งาน Bangkok Art Book Fair 2022 มันมีอยู่เล่มหนึ่งที่เราอยากจะนำเสนอเป็นพิเศษ นั่นคือหนังสือที่มีชื่อว่า ‘The Branches’ ซึ่งเป็นการคอลแลบกันระหว่าง Mulu Office และเพื่อนของเราจากสวีเดนชื่อ Lena Bergengahl เธอเป็นคนทำหนังที่ยอดเยี่ยมที่มีผลงานอยู่กึ่งกลางระหว่างภาพยนตร์และศิลปะจัดวาง โดยที่หนังสือเล่มนี้จะถูกอ้างอิงมาจากงานของเธอที่มีชื่อว่า ‘The Human Orchid’

“และก็ตรงตามชื่อหนังสือ มันเป็นเหมือนการแตกกิ่งก้านสาขาไปเรื่อย ๆ จากผลงานตั้งต้นของเธอ เราทดลองกับมันเยอะมาก ๆ มีดัมมี่อยู่เต็มไปหมด ในทุกเดือนหรือทุกสัปดาห์เราจะพูดคุยกันผ่านอีเมลอันยาวเหยียด คอยแบ่งปันและให้ไอเดียกันและกัน ในทุก ๆ บทสนทนาจะนำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงเสมอ ดังนั้น หนังสือเล่มนี้ถึงมีหลายเวอร์ชั่นมาก ๆ กระบวนการการทำงานของมันก็เหมือนกับการเติบโตของกิ่งก้าน โดยที่ถูกออกแบบให้อยู่ในรูปแบบของสมุดเล่มเล็ก ๆ ที่ทำเสร็จไปเพียงครึ่งเดียว ส่วนอีกครึ่งเป็นเพียงหน้ากระดาษเปล่า ๆ ที่ยังเปิดกว้างสำหรับทุกความเป็นไปได้ ซึ่งมันจะทำหน้าที่เป็นกิ่งใหญ่ให้กิ่งเล็ก ๆ ได้แตกสาขาย่อย ๆ ออกไปอีกไม่รู้จบ เราเองก็ไม่รู้เหมือนกันว่าในที่สุดแล้วหนังสือเล่มนี้จะจบลงยังไง ในตอนนี้เรามีอยู่ประมาณ 200 กว่าหน้า นั่นแปลว่า เรามีถึง 200 ความเป็นไปได้เลยทีเดียว”

โจว: “เวอร์ชั่นปัจจุบันคืออันที่เราหยุดทำต่อและปล่อยให้มันจบแบบนี้ แล้วก็ตีพิมพ์ออกมาราว 200 ก็อปปี้ โดยจะมีเพียงเล่มเดียวเท่านั้นที่จะไปอยู่กับตัวศิลปิน เธอจะยังคงพัฒนางานในนั้นต่อไป แต่เล่มอื่น ๆ ที่เหลือจะหยุดอยู่เพียงเท่านั้น มันจะถูกแช่แข็งอยู่ในปัจจุบันขณะนั้น ๆ ในท้ายที่สุด กิ่งก้านสาขาทุกอันจะเกิดขึ้นและมีอยู่พร้อม ๆ กัน สร้างความเป็นไปได้ของอนาคตให้กับหนังสือทุกเล่ม แต่จะมีเพียงเล่มเดียวเท่านั้นที่ไปถึงอนาคตจริง ๆ เราเลยคิดกันว่า เราอยากจะทำสร้างพื้นที่ที่ทำให้คนที่เป็นเจ้าของหนังสือทุกคนได้เห็นเวอร์ชั่นอนาคตของหนังสือที่ตัวเองเป็นเจ้าของ โปรแกรมนี้มีชื่อว่า ‘Cloudeck’ พวกเรากำลังพัฒนาสิ่งนี้กันอยู่ โดยจะมีทั้งออนไลน์และออฟไลน์ ไม่แน่ว่า เราอาจจะเริ่มจากโปรเจกต์สิ่งพิมพ์ก่อน แล้วเวอร์ชั่นออนไลน์จะค่อย ๆ ตามมาในภายหลัง”

📍 Fotobook DUMMIES Day และหนังสือ Reading Reading SEA

หลิว: “นอกจาก Mulu Office แล้ว ฉันยังมีอีกหนึ่งโปรเจกต์อย่าง Fotobook DUMMIES Day ที่ทำร่วมกับเพื่อน (หลิน จวินเย) ในงานครั้งนี้เรามีหนังสือ ‘Reading Southeast Asia (Reading SEA)’ มาเปิดตัวด้วยเช่นกัน จุดเริ่มต้นของมันคือการที่เราไม่เห็นหนังสือเกี่ยวภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากนักในไต้หวัน ทั้ง ๆ ที่เราอยู่ไม่ห่างกันมากนัก แต่กลับไม่คุ้นชินกับแวดวงสิ่งพิมพ์ของแถบนี้มากนัก เราเลยคิดว่า เราน่าจะลองลงพื้นที่ไปพูดคุยศิลปินในแต่ละพื้นที่ และสำรวจแนวคิดและผลงานที่พวกเจขากำลังทำอยู่ โดยเราเริ่มจากกรุงเทพฯ ไปมะนิลา ไปจาการ์ตา และจบที่โฮจิมินห์

“ในกรุงเทพฯ เราเริ่มจาก มิติ เรืองกฤตยา ก่อน เพราะเขาทำโฟโตบุคของตัวเองมาอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอมาตลอด 10 ปี ออกเล่มใหม่ ๆ มาทุกปี จากนั้น เราได้สัมภาษณ์ กรกฤช เจียรพินิจนันท์, วิรดา บรรเจิดรุ่งขจร รวมถึง นภิษา ลีละศุภพงษ์ และ รวิรุจ สุรดินทร์ ผู้ก่อตั้ง Waterproof Exhibitions นอกจากนั้น เรายังได้คุยกับทาง Speedy Grandma และ ศุภมาศ พะหุโล จาก​​ BANGKOK CITYCITY GALLERY ด้วย เพราะนอกจากส่วนหอศิลป์แล้ว พวกเขายังมีส่วนของร้านหนังสือและสำนักพิมพ์เล็ก ๆ ของตัวเองด้วย”

หลิว: “ทริปนั้นของเรายาวนานเพียงแค่ 10 วัน แต่เราได้เราเจอคนเยอะมาก ๆ เพราะคนไทยเป็นคนน่ารักและเป็นกันเองมาก ๆ ถ้าฉันถามขึ้นมาว่า ‘คุณพอจะแนะนำฉันให้เพื่อนของคุณได้ไหม?’ พวกเขาก็จะแบบว่า ‘ได้เลย! ตามฉันมาสิ’ แล้วต่อจากนั้น เพื่อนที่เรารู้จักก็ค่อย ๆ เพิ่มจาก 1 คนไป 10 คนไป 20 คน เราสนุกกับทริปที่กรุงเทพฯ กันสุด ๆ เลย

“สำหรับ ‘Tropical Reading’ มันต้องใช้เวลาถึง 2 ปีในการเขียนบทความในนั้น เพราะในช่วงโรคระบาด หลายสิ่งหลายอย่างก็เปลี่ยนแปลงไป ร้านหนังสือหลาย ๆ ร้านปิดตัวลง ศิลปินหลาย ๆ คนก็เปลี่ยนวิถีการทำงาน หรือบางทีพวกเขาก็มีหนังสือใหม่ ๆ ผุดขึ้นมาในช่วงที่ต้องกักตัวอยู่ที่บ้าน เราอยากให้มันอัพเดตที่สุด ก็เลยเพิ่งจะได้ปล่อย  Tropical Reading ออกมาในช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา มันถูกเขียนในภาษาอังกฤษและจีน มีทั้งหมด 11 บทความเกี่ยวศิลปิน กลุ่มศิลปิน สำนักพิมพ์ องค์กร และพื้นที่ทางเลือกต่าง ๆ”

ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่:
https://muluoffice.online/
https://fotobookdummiesday.com/