cover_web.jpg

ซองอิล โน แห่ง sojanggak ดีไซเนอร์ชาวเกาหลีผู้หลงไหลในวัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

Post on 5 November

นอกจากจะมีเหล่าศิลปินและนักออกแบบสายเลือดไทยเข้าร่วมหลายสิบชีวิตแล้ว งาน Bangkok Art Book Fair 2022 ที่จะเกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 25 - 27 พฤศจิกายนนี้ ที่ BANGKOK CITYCITY GALLERY ยังมีคนสร้างสรรค์จากหลากหลายประเทศเข้าร่วมด้วยไม่น้อยเช่นกัน

หนึ่งในนั้นคือ ซองอิล โน กราฟิกดีไซเนอร์ชาวเกาหลีใต้ที่ทำงานด้านการออกแบบหนังสือและอัตลักษณ์มายาวนานมากว่า 10 ปี (รวมไปถึงเคยทำงานให้กับบริษัทออกแบบชื่อดังอย่าง ahn graphics มาแล้วด้วย) แต่ก็เป็นหลังจากที่เข้าศึกษาจบปริญญาโทนี่เองที่เขาเริ่มหันมาสนใจในศิลปวัฒนธรรมของชนชาติข้างเคียงอย่างภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และก่อตั้งสตูดิโอกราฟิกดีไซน์ที่ควบรวมสำนักพิมพ์อิสระเล็ก ๆ ของตัวเอง ในนาม sojanggak (소장각) ที่หมายถึง ‘house of small books’ หรือ ‘บ้านของหนังสือเล่มน้อย’ 

แม้ว่าจนถึงตอนนี้ sojanggak จะเพิ่งเปิดตัวมาได้ไม่กี่ปี แต่ก็มีผลงานที่โดดเด่นและน่าจับตามองไม่แพ้ใคร โดยเฉพาะในหมู่ผู้สนใจในวัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ยากแม้จะหาอ่านหาชมได้ง่าย ๆ ในบ้านเรา แต่ก็ยังถือเป็นเรื่องใหม่มาก ๆ สำหรับสังคมวัฒนธรรมเดียวอย่างประเทศเกาหลีใต้

จุดเริ่มต้นของ sojanggak และความหลงใหลในวัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

“ผมเริ่มทำ sojanggak มาตั้งแต่ช่วงเดือนเมษายน 2020 หรือประมาณ 2 ปีครึ่งได้แล้ว ตั้งแต่ตอนนั้นจนถึงตอนนี้ก็มีผลงานที่ถูกตีพิมพ์ออกมา 4 เล่มแล้ว ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะโฟกัสไปที่การนำเสนอภาพของวัฒนธรรมที่อยู่นอกสายตาของศูนย์กลางกระแสหลัก โดยเฉพาะความดั้งเดิมของวัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

“สาเหตุหลัก ๆ เลยก็เพราะว่า ในประเทศเกาหลีใต้ มีหนังสือเกี่ยวกับวัฒนธรรมเกาหลีและเอเชียตะวันออกอยู่มาก แม้แต่หนังสือเกี่ยวกับวัฒนธรรมตะวันตกเองก็ยังมีเยอะ แต่หนังสือที่เกี่ยวกับวัฒนธรรมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังมีให้อ่านไม่มากนัก แต่ที่สำคัญมากไปกว่านั้นคือการที่ตัวผมเองก็ชื่นชอบในวัฒนธรรมของประเทศแถบนี้เป็นพิเศษด้วย 

“สมัยที่ผมยังเรียนปริญญาโทและต้องทำงานธีสิสจบ ตอนนั้นมันยาก ๆ มากที่จะคิดหัวข้อในการทำงาน แต่พอผมได้มาลองคิดทบทวนกับตัวเองดี ๆ แล้วเลยนึกถึงไปสิ่งที่ตัวเองชอบ ซึ่งก็คือการเดินทาง ผมเดินทางเยอะมาก ๆ ตอนที่ผมได้มาเที่ยวในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มันเป็นประสบการณ์ที่ดีมาก ๆ สำหรับผม โดยเฉพาะประเทศไทย และประเทศกัมพูชา ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะผมโตขึ้นมากับพื้นที่ชนบทของเกาหลี ดังนั้น การเดินทางท่องเที่ยวในประเทศเหล่านี้เลยเป็นเหมือนการปลุกความทรงจำในวัยเด็กของผม นี่น่าจะเป็นสาเหตุที่ผมหลงใหลในวัฒนธรรมแถบนี้เป็นพิเศษ”

หนังสือเล่มโปรดจากบ้าน sojanggak โดยผู้ก่อตั้ง sojanggak 

“จากหนังสือทั้งหมดที่ผมจะนำมาเข้าร่วมงาน Bangkok Art Book Fair 2022 ในครั้งนี้ เล่มที่ผมชอบที่สุดคือ Thailand Stationery โดยนักเขียน ฮยอนคยอง อี (Hann) ที่ว่าด้วยผลิตภัณฑ์เครื่องเขียนและร้านเครื่องเขียนในประเทศไทย นี่คือหนังสือเล่มแรกของ sojanggak ที่เขียนโดยนักเขียนคนอื่นที่ไม่ใช่ผม ดังนั้น มันจึงมีความหมายกับผมมากเป็นพิเศษ มีคนเคยบอกผมเหมือนกันว่า เขาชอบหนังสือเล่มนี้มาก เพราะถึงแม้หลาย ๆ คนจะคุ้นเคยกับหัวข้อเรื่องเครื่องเขียน แต่ในขณะเดียวกันก็รู้สึกว่ามันใหม่มาก ๆ ด้วยเช่นกันสำหรับคนเกาหลี เพราะแม้พวกเขาจะคุ้นชินกับผลิตภัณฑ์เครื่องเขียนและร้านเครื่องเขียนในประเทศเป็นอย่างดี แต่พวกเขายังไม่รู้จักอะไรเกี่ยวกับวัฒนธรรมการใช้งานเครื่องเขียนในประเทศไทยมากนัก

“ซึ่งตอนที่ sojanggak เปิดตัวหนังสือ Thailand Stationery ในเดือนกรกฎาคม เราก็ไม่ได้ปล่อยหนังสือออกมาเฉย ๆ แต่ยังเปิดร้านป็อป-อัพที่ทาง sojanggak และนักเขียนหนังสือได้รวบรวมเครื่องเขียนจากประเทศไทยมาขายควบคู่กับหนังสือเป็นเวลา 1 เดือนด้วย ซึ่งก็มีคนให้ความสนใจมาเยี่ยมชมไม่น้อยเหมือนกัน ประมาณ 800  คนได้ ส่วนใหญ่ก็ตื่นเต้นกันมาก เพราะบรรจุภัณฑ์ของเครื่องเขียนพวกนี้มีความแปลกแตกต่างจากที่คนเกาหลีส่วนใหญ่คุ้นชินมาก แล้วยิ่งในปัจจุบัน คนเกาหลีหลาย ๆ คนกำลังให้ความสนใจกับการออกแบบสไตล์เรโทรย้อนยุคด้วย”

โปรเจกต์ส่วนตัวสนุก ๆ ที่ลงมือเขียนด้วยตัวเอง

“ในทุก ๆ ปีผมจะลงมือทำโปรเจกต์ส่วนตัวของตัวเองที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมของประเทศ ๆ หนึ่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เมื่อ 2 ปีที่แล้ว ผมได้เขียนหนังสือเล่มแรกเกี่ยวตัวอักษรเขมร ชื่อ ​​Khmer Character Travels และเมื่อปีที่แล้ว ผมได้เขียนหนังสือเล่มที่สองเกี่ยวกับระบบปฏิทินของประเทศพม่า ชื่อ Myanmar 8 Days”

“ดังนั้น ปีนี้ผมจึงตัดสินใจเขียนหนังสือเกี่ยวกับประเทศไทยดูบ้าง โดยเรื่องที่ผมหยิบขึ้นมาศึกษาในครั้งนี้คือการเก็บรวบรวมบรรจุภัณฑ์ยาแผนโบราณของไทย ซึ่งสาเหตุที่ผมสนใจเรื่องนี้เป็นพิเศษ เพราะผมรู้สึกว่า ยาแผนโบราณเหล่านี้มีการออกแบบบรรจุภัณฑ์ที่แปลกตาและน่าสนใจมาก ไม่ใช่แค่ในแง่ของสไตล์ แต่ผมยังสนใจไปถึงบริบทในการใช้งานภาพ สี ตัวอักษร และสัญลักษณ์ต่าง ๆ ผมเริ่มศึกษาไปถึงความหมายขององค์ประกอบต่าง ๆ เหล่านี้ และค้นพบว่า ต้นกำเนิดของการแพทย์แผนโบราณในประเทศไทยโดยมากมีรากทางวัฒนธรรมมาจากตำราการแพทย์แบบอินเดีย โดยเฉพาะกับการกายบริหารด้วยท่าโยคะ ซึ่งมีอิทธิพลกับวัฒนธรรมการนวดไทยที่เน้นทั้งความผ่อนคลายและการรักษา เพื่อสร้างสมดุลย์ให้ร่างกาย

“หลังจากค้นคว้ามาได้สักระยะ ผมจึงเริ่มลงมือเขียนหนังสือเล่มนี้ในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา จนถึงตอนนี้ผมก็มีบรรจุภัณฑ์ยาแผนโบราณของไทยที่สะสมไว้มากกว่า 300 ชิ้นแล้ว และยังมี Instagram ไว้เก็บรวบรวมภาพของพวกมันไว้ด้วย (https://www.instagram.com/thainy.pharmacy/)”

เสน่ห์ของศิลปะและการออกแบบแบบ ‘ไทย ๆ’ ในสายตานักออกแบบชาวเกาหลี

“ก่อนอื่นเลย สีสันในงานศิลปะและการออกแบบของประเทศไทยมีความสดใสและโดดเด่นมาก ต้องเรียกว่า มากกว่าชุดสีในงานของเกาหลีและประเทศอื่น ๆ ในแถบตะวันตกสุด ๆ อย่างที่สองคือประวัติศาสตร์ของประเทศไทยเองก็มีความน่าสนใจในตัวมันเช่นกัน ผมคิดว่าส่วนหนึ่งอาจจะมาจากการที่ประเทศไทยไม่เคยอยู่ภายใต้อาณานิคมของชาติตะวันตกมาก่อน ทำให้มันมีความต่อเนื่องทั้งทางประวัติศาสตร์และทางวัฒนธรรมที่เข้มแข็ง นี่เป็นสาเหตุที่งานออกแบบของไทยมีส่วนผสมของทั้งความดั้งเดิมและความทันสมัยอย่างลงตัว

ความเหมือนและแตกต่างของวัฒนธรรมเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

“ในอดีตเราอาจจะเคยรู้สึกว่า วัฒนธรรมในแถบภูมิภาคเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีความแตกต่างกันสูงมาก แต่ในปัจจุบัน ผมคิดว่า พวกเรามีความเหมือนในหลายด้านด้วยกัน โดยเฉพาะในสถานการณ์ปัจจุบันที่โลกไร้พรมแดนและมีการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมอยู่ตลอดเวลา ทั้งอาหาร ศิลปะ ป็อปคัลเจอร์”

สถานการณ์วงการสิ่งพิมพ์ในประเทศเกาหลี

“ผมมองว่า สังคมเกาหลีเป็นสังคมแห่งการแสดงออกถึงตัวตนของตัวเอง ทุกคนอยากจะนำเสนอความเป็นตัวเองออกมากันแทบทุกคน นี่อาจจะเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้นักเขียน ดีไซเนอร์ รวมไปถึงสำนักพิมพ์ยังอยู่ได้ แต่ถึงอย่างนั้น ถ้าจะให้พูดตามจริง ในวงการสิ่งพิมพ์ในประเทศเกาหลีก็อยู่ในสถานการณ์ที่ไม่ดีนัก แทบจะไม่ต่างจากประเทศอื่น ๆ เลย ตั้งแต่การเข้ามาของโทรศัพท์มือถือ และแพลตฟอร์มอย่าง YouTube แต่ในขณะเดียวกัน การมาถึงของโซเชียลมีเดียเหล่านี้ก็เป็นช่องทางที่ดีให้กับร้านหนังสือและสำนักพิมพ์เล็ก ๆ ได้เข้าถึงคนอ่าน และนำเสนอโปรโมชั่นสนุก ๆ ได้มากขึ้นเช่นกัน จนกลายเป็นว่า สำนักพิมพ์ใหญ่ ๆ ต่างก็อยากหันมาทำการตลาดแบบนี้กันหมด เรียกได้ว่า สถานการณ์มันกลับขั้วกันไปหมด 

“นอกจากนั้น คนเกาหลีบางคนยังซื้อหนังสือไม่ใช่เพราะเนื้อหาข้างใน แต่เพียงเพื่อใช้ในการเป็นพรอพตกแต่งบ้านด้วย ดังนั้น การออกแบบปกหนังสือถึงเป็นเรื่องสำคัญมาก ๆ ในเกาหลี ต้องตามเทรนด์ให้ทัน เพราะทุกคนต่างก็อยากอยู่ในเทรนด์ ในวงการสิ่งพิมพ์เองก็เช่นกัน เป็นโจทย์ใหญ่ที่ดีไซเนอร์และนักการตลาดต้องตีให้แตก”

“แต่ถึงอย่างนั้น ผมคิดว่า วงการสิ่งพิมพ์ในเอเชียก็ยังมีความหวัง จำนวนประชากรในทวีปเอเชียมีมากถึง 1 (หรือเกือบ 2) ใน 3 ของโลก และสภาพเศรษฐกิจของภูมิภาคนี้ยังมีการเติบโตอย่างรวดเร็วด้วย ดังนั้น วัฒนธรรมของเราจึงทรงพลังขึ้นมากเมื่อเปรียบเทียบกับสมัยก่อน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ก็จะเชื่อมโยงมาถึงวงการสิ่งพิมพ์ด้วยเช่นกัน ความแตกต่าง และความดั้งเดิมคือจุดแข็งของเรา”

ติดตาม sojanggak เพิ่มเติมได้ที่:
https://sojanggak.kr/
https://www.facebook.com/sojanggak
https://www.instagram.com/sojanggak/