Cover-web_BP.jpg

‘ผู้หญิงมีพิษ’ สำรวจเรื่องราวของสตรีมีพิษจากตำนานทั่วโลก ก่อนมาเป็น Pink Venom

Art
Post on 19 August

ค่ำคืนนี้ฉันคือดอกไม้มีพิษ 
ดูไว้ คุณนั่นแหละที่ทำให้เราต้องทำแบบนี้ 
หลังจากที่พรากวิญญาณของคุณมาแล้ว
มันคือพิษร้ายที่จะทำให้คุณหลับใหล
มันงดงาม แต่ก็ทรมานไม่แพ้กัน

ตอนนี้บลิงคึทั้งหลายคงยังไม่ฟื้นชีวิตจากพิษร้ายของ Pink Venom ที่ยิ่งใหญ่ เกรียงไกร สมกับการกลับมาในรอบสองปีของวงเกิร์ลกรุ๊ปแห่งชาติ Blackpink ยิ่งนัก ซึ่งหลังจากปล่อยให้เราเดาทางกันไม่ถูกว่า ‘พิษชมพู’ ที่ว่านี้จะเป็นพิษจากงูหรือแมงมุมกันแน่? สุดท้ายแล้วแม่ก็เฉลยว่า ไม่ต้องงูหรือแมงมุม หรอกค่ะ เพราะพิษของสาว ๆ น่ะร้ายแรงถึงตายที่สุดแล้ว!

แม้จะไม่ได้บอกชัดเจนว่าเขี้ยวที่ปรากฏในทีเซอร์นั้นเป็นเขี้ยวงูหรือแมงมุมมีพิษ แต่อย่างที่บอกว่าพิษของสี่สาวนั้นร้ายแรงต่อใจเรากว่ามาก  และดังที่บลิงค์รู้กันดีว่า คอนเซปต์หลักของ Blackpink ในยุคหลังมักจะเกาะกับเรื่องตำนานและปกรณัมโบราณ ซึ่งแม้ว่า Pink Venom จะไม่ได้เห็นสาว ๆ ติดปีกหรือแสดงเรฟจากปกรณัมชัดเจน แต่เรื่องราวของผู้หญิงมีพิษก็เป็นหนึ่งในตำนานที่ปรากฏอยู่ในเรื่องเล่าของวัฒนธรรมทั่วโลก โดยที่ภาพของผู้หญิงร้ายมากจะถูกผูกติดกับสัตว์มีพิษต่าง ๆ เช่น งู แมงมุม เป็นต้น

ในโอกาสที่ Pink Venom กำลังปล่อยพิษเผาผลาญใจ เราจึงขอใช้โอกาสนี้ชวนทุกคนไปทำความรู้จักกับตำนานผู้หญิงมีพิษจากทั่วโลกด้วยกัน!

Medusa

“เพื่อลงทัณฑ์ในอาชญากรรมอันใหญ่หลวงนี้ มิเนอร์วาได้สาปให้เส้นผมอันงดงามของกอร์กอนกลายเป็นงูที่น่ากลัว และบัดนี้เธอได้โจมตีศัตรูของเธอด้วยความกลัว เธอประดับไว้ซึ่งงูพิษอันเกรี้ยวกราดบนหน้าอกของเธอ” (Ovid, Metamorphosis, 4.706)

ตำนานที่เก่าแก่ในยุคกรีก เมดูซาเป็นผู้น่าสะพรึงกลัวอยู่แล้ว ฮีเเสียดได้เล่าถึงการกำเนิดของพี่น้องกอร์กอนไง้ในหนังสือ Theogony ว่า คีโตได้ให้กำเนิดบุตรีร่วมกันเพอร์ซีส คือไกรอาย สามพี่น้องสีเทา และกอร์กอนทั้งสามพี่น้องได้แก่ สเธโน ยูริอาลี และเมดูซา มีเพียงเมดูซ่าเท่านั้นที่ตายได้ ส่วนพี่สาวทั้งสองของเธอเป็นอมตะ และเธอก็ถูกตัดศรีษะโดยเพอร์ซีอุส นอกจากฮีเซียดแล้วยังมีโฮเมอร์ที่กล่าวถึงศีรษะอันน่าสะพรึงกลัวของกอร์กอนไว้ในมหากาพย์ทั้งสองของเขา ในยุคกรีกนี้ เมดูซ่าดูจะเกิดมาเป็นปีศาจที่น่ากลัวเฉกเช่นเดียวกับพี่น้องทั้งหลายของเธอ แล้วความงามของเธอปรากฎขึ้นเมื่อใด?

เมดูซ่ามีหน้าตางดงามในยุคโรมัน โดยกวีโอวิดเป็นผู้รังสรรค์เรื่องราวของเธอและสร้างเหตุผลในการกลายเป็นสัตว์ประหลานของเธอไว้ในหนังสือ Metamorphosis เป็นที่ทราบกันว่าเมดูซ่านั้นก่อนที่เธอจะกลายเป็นสัตว์ประหลาดอันน่าสะพรึงกลัว เธอนั้นเป็นสาวงามมาก่อน โอวิด กวีโรมันได้บรรยายว่าเธอเป็นบุตรของเพอร์ซีส เทพเจ้าไททันแห่งทะเลองค์หนึ่ง เธอจึงไม่ใช่หญิงสาวชาวบ้านธรรมดา โอวิดยังเล่าถึงที่มาที่นางได้กลายร่างเป็นปีศาจไว้ว่า เมดูซ่าเดิมเป็นหญิงที่ขึ้นชื่อในเรื่องของความงามจนเป็นที่อิจฉาของใครหลายคนและเส้มผมของนางนั้นถือได้ว่างามมากที่สุด วันหนึ่งนางได้ร่วมรักกับเทพเจ้าเนปจูนในวิหารแห่งเทพีมิเนอร์วา นั่นทำให้เทพีโกรธมากจึงสาปให้เส้มผมอันงดงามของนางเป็นงูจึงกลายมาเป็นเมดูซาที่น่าสะพรึงกลัว

แม้ว่าเมดูซ่าหรือกอร์กอน หญิงสาวผู้มีผมเป็นงูจะเป็นสัตว์ประหลาดอันน่าเกลียดน่ากลัว แต่ในยุคกรีก-โรมัน เธอถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ในการป้องกันอันตรายด้วย ภาพใบหน้าของเธอมักถูกประดับไว้ตามวิหาร บนชุดเกราะ บนโล่  งูซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของพลังอำนาจและความน่ากลัวจึงกลายเป็นสัญลักษณ์ในการปกป้องคุ้มครองไปด้วย

มานสา นาคเทวี

ในอินเดีย ความเชื่อในการบูชางูมีอยู่โดยทั่วไป โดยเฉพาะพญานาค เป็นหนึ่งในงูใหญ่ที่มีความศักดิ์สิทธิ์มากอย่างหนึ่ง มานสาเทวีก็เป็นหนึ่งในนาคผู้ทรงอิทธิฤทธิ์ในตำนานฮินดู

ตามประวัติของพระแม่มานสา เธอเป็นน้องสาวของวาสุกินาคราช ผู้เป็นราชาแห่งนาคทั้งหลาย ในปุราณะเล่าว่าเธอเป็นบุตรีของพระกัสยปะ เมื่อครั้งที่เหล่างูและสัตว์เลื้อยคลานสร้างความปั่นปวนแก้โลก พระพรหมจึงตั้งเธอเป็นเทวีแห่งงูและสัตว์เลื้อยคลานทั้งหลาย ครั้งหนึ่งเธอได้เดินทางสู่เขาไกลาสเพื่อบำเพ็ญตบะตาอพระศิวะ ทำให้เธอได้รับความรู้จากพระศิวะ และเธอได้รับคำแนะนำให้บูชาพระกฤษณะ เธอจึงได้รับพรจากพระกฤษณะด้วย ต่อมาพระกัสยปะผู้เป็นบิดาก็ในเธอแต่งงานกับชรัตการุมุนี

ตำนานในชั้นหลังกล่าวว่าเธอเป็นบุตรีของพระศิวะ และเกิดความขัดแย้งกับพระปารวตี จึงตัดสินใจลงมาอยู่บนโลกมนุษย์ เธอเป็นที่เคารพบูชามากในอินเดียใต้ โดยเฉพสะในแคว้นเบงกาลี เธอถูกบูชาในฐานะเทวีผู้รักษาพิษงู มีตำนานหนึ่งที่เธอรักษาพระศิวะจากการดื่มยาพิษ นอกจากนี้ยังเชื่อว่ามานสาเทวีเป็นผู้ประทานความอุดมสมบูรณ์อีกด้วย

จากตำนานจะเห็นได้ว่าเธอเป็นที่นิยมในกลุ่มผู้ศรัทธาในอินเดียใต้ การที่เธอมีตำนานอันเกี่ยวของกับพระศิวะและพระกฤษณะอาจเป็นไปได้ว่าเธอเป็นเทวีที่ได้รับการบูชาในท้องถิ่นมาก่อนทำให้ภายหลังศาสนาฮินดูทั้งไศวนิกายและไวษณพนิกายต่างก็ผนวกเธอเข้ามาในลัทธิของตนนั่นเอง

เรเนนูเท็ต

<p>เทพีวัดเจ็ต</p>

เทพีวัดเจ็ต

ย้อนกลับในอารยธรรมที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลกคือ อารยธรรมอียิปต์ ในความเชื่อของชาวอียิปต์มีเทพเจ้าที่มาจากสัตว์ต่างๆ มากมาย และงูก็เป็นหนึ่งในนั้น

เรเนนูเท็ต เป็นเทพีผู้มีรูปเป็นงูเห่าหรือสตรีที่มีหัวเป็นงูเห่า เชื่อกันว่าเป็นเทพีแห่งการบำรุงรักษาและการเก็บเกี่ยว ทำให้เธอมีความสำคัญอย่างยิ่งในฤดูเก็บเกี่ยวและมีความเกี่ยวข้องกับเทพีไอซิสด้วย ด้วยความเกี่ยวของกับการรักษาพยาบาล เธอจึงนับเป็นเทพีผู้รักษาพยาบาลฟาร์โรห์ตั้งแต่เกิดจนตาย ภาพของเธอถูกประดับไว้ในวิหารใน Faiyum เมื่อราว 2040-1640 B.C.E.

เรเนนูเท็ตมีบุตรคนหนึ่งกับเทพธรณีเกป ชื่อว่า เนเบฮู คาอู เทพผู้มีร่างเป็นงูเช่นเดียวกันมารดา เทพองค์นี้มีบทบาทอยู่ในโลกหลังความตาย เป็นผู้คอยต้อนรับวิญญาณของเหล่ากษัตริย์ที่เดินทางมาถึงโลกหลังความตาย

เทพีอีกองค์หนึ่งซึ่งมีรูปเป็นงูเห่าเช่นกันคือเทพีวัดเจ็ต เธอเป็นเทพีงูเห่าองค์สำคัญของอียิปต์ล่าง เชื่อกันว่าเป็นเทพีผู้พิทักษ์องค์ฟาโรห์ ซึ่งพระนางคืองูเห่าที่อยู่บนมงกุฎฟาโรห์นั่นเอง เมื่อความเชื่อของเทพีเรเนนูเท็ตแพร่มาถึงอียิปต์ล่าง เทพีองค์นี้ถูกนับถือร่วมกับเทพีวัดเจ็ต และถูกควบรวมกันในที่สุด
จะเห็นได้ว่าชาวอียิปต์มองว่างูมีความเกี่ยวข้องกับการพยาบาลรักษา คล้ายกับความเชื่อของชาวกรีก อีกทั้งงูยังเกี่ยวของกับการเก็บเกี่ยว อาจเป็นเพราะงูช่วยกำจัดศัตรูในนาข้าวอย่างหนูก็เป็นได้ และด้วยพลังอำนาจของงู มันจึงได้กลายเป็นสัตว์ผู้พิทักษ์ด้วยในอีกสถานะหนึ่ง

งูแห่งสวนอีเดน

“งู​นั้นเป็นสัตว์​ที่​ฉลาดกว่าบรรดาสัตว์ในท้องทุ่งซึ่งพระเยโฮวาห์พระเจ้าได้ทรงสร้างไว้” (ปฐมกาล 3.1)

หากพูดถึงบทบาทของงูและผู้หญิงแล้ว คงหนีไม่พ้นเรื่องบาปกำเนิดที่เอวาถูกงูล่อลวงให้กินแอปเปิ้ลในสวนอีเดน ในพระคัมภีร์กล่าวไว้ว่างูเป็นสัตว์ที่ฉลาดซึ่งพระเจ้าได้สร้างไว้ ความฉลาดหรือความรูปเป็นหนึ่งในคุณสมบัติของงูมาตั้งแต่สมัยกรีก ดังนั้นงูจึงถูกเลือกให้มาทดลองมนุษย์คู่แรกของพระเจ้า เอวาหลงในคำยุยงของงูจึงกินผลไม้ต้องห้าม และนำมันไปให้อาดัม เมื่อพระเจ้ารู้เข้าจึงสาปงูให้เป็นศัตรูกับผู้หญิงและลูกหลานของนาง

“เราจะทำให้เจ้าและหญิงเป็นศัตรูกันให้ลูกหลานของเจ้า และลูกหลานของนางเป็นศัตรูกันด้วย เขาจะเหยียบหัวของเจ้า และเจ้าจะกัดส้นเท้าของเขา” (ปฐมกาล 3.15)

ด้วยข้อความนี้ทำให้เกิดความนิยมวาดภาพพระแม่มารีย์เหยียบหัวงูไว้ อย่างเช่นภาพThe Madonna and Child with St. Anne (Dei Palafrenieri)ของคาราวัจโจ ฯลฯ

ด้วยเหตุที่งูเป็นสัตว์ที่ล่อลวงอาดัมและเอวา งูจึงกลายเป็นสัญลักษณ์ของความชั่วร้าย ซาตาน และผู้ทำให้มนุษย์หลงในบาป ความสัมพันธ์ของงูกับผู้หญิงในคริสตศาสนาจึงแตกต่างจากศาสนาอื่นๆ อยู่มาก จากงูที่ถูกเคารพบูชากลายมาเป็นสัตว์ที่ชั่วร้าย

อารัคเน่
 

สาวแมงมุมในเทพปกรณัมโรมันคนนี้ถูกกล่าวถึงในหนังสือ Metamorphosis ของกวีโอวิด เล่าถึงเรื่องราวของสาวทอผ้าผู้มีชื่อเสียงโด่งดังจนแม้แต่ทวยเทพยังอยากชมฝีมือนาง

กล่าวกันว่าอารัคเน่มีพ่อเป็นพ่อค้าจน ๆ อยู่ในเมืองโคโลโฟน แม่เธอได้ตายไปแล้ว เธอนั้นมีฝีมือในการทอผ้าจนโด่งดังในแคว้นลิเดีย ใคร ๆ ต่างก็ชื่นชมเธอและกล่าวว่าพรสวรรค์นี้เธอได้รับมาจากเทพีมิเนอร์วา แต่เธอกลับไม่พอใจที่มีคนกล่าวเช่นนั้นและขอท้าประลองกับองค์เทพี

เทพีมิเนอร์วาได้ยินคำท้าทายนั้น เธอจึงแปลงกายเป็นหญิงชราและกล่าวกับอารัคเน่ว่า เธอไม่สมควรกล่าวเช่นนั้นและควรจะขอโทษต่อองค์เทพีเสีย อารัคเน่ทำหน้าไม่พอใจและกล่าวเสียสีองค์เทพีทำให้มิเนอร์วากลับร่างจากหญิงชราเป็นตัวเอง จากนั้นทั้งคู่จึงเริ่มประลองทอผ้ากัน

ด้านมิเนอร์วาทอผ้าออกมาเป็นลายเล่าเรื่องราวชัยชนะในการประลองของเธอกับเทพเนปจูน เธอทอภาพเทพเจ้าเนปจูนถือตรีศูลกำลังเสกม้าให้กับชาวเมืองเอเธนส์ ส่วนอีกด้านเป็นตัวเธอเองที่ปักโล่ลงพื้นดินเพื่อเสกต้นมะกอกให้กับชาวเมือง ฝ่ายอารัคเน่เธอทอผ้าออกมาเป็นภาพเล่าเรื่องอันฉาวโฉ่ทั้งสี่ระหว่างเทพบดีจูปิเตอร์ชู้รักของพระองค์ คือ นางยูโรปา นางลีดา นางเอนทิโอเป้ และนางดานาเอ นอกจากนี้เธอยังทอเรื่องราวฉาว ๆ ของเทพสมุทรเนปจูน เทพอพอลโล เบคคัส และแซทเทิร์น

เมื่อมิเนอร์วาเห็นผ้าทอของอารัคเน่แล้ว เธอไม่อาจตำหนิฝีมืออันยอดเยียมนี้ได้เลย แต่พระองค์กลับโกรธเคื่องและฉีกผ้าทอผืนนี้ด้วยเพราะมันเล่าเรื่องราวอันเลวร้ายของเหล่าทวยเทพไว้ และเทพีได้ใช้กระสวยไม้ทุบไปที่ศีรษะอารัคเน่ ส่วนอารัคเน่ไม่ยอมตายด้วยน้ำมือของเทพีเธอจึงใช้เชือกผูกคอตายในที่สุด แต่แล้วเทพีก็ได้บันดาลให้เธอกลับมามีชีวิตอีกครั้งในร่างของแมงมุม และสาปให้เธอและลูกหลานของเธอต้องมีชีวิตด้วยการห้อยหัวเช่นนี้ตลอดไป

โจโรกุโมะ

แมงมุมสาวแห่งญี่ปุ่นรายนี้ เป็นหนึ่งในเรื่องเล่าสยองขวัญในยุคเอโดะ ไม่มีการกล่าวถึงที่มาที่ไปของเธอ มีเพียงเรื่องราวสั้น ๆ ที่เธอคอยล่อลวงมนุษย์ไปกินเท่านั้น

เรื่องราวมีอยู่ว่า ซามูไรคนหนึ่งได้พบกับหญิงสาวที่อุ้มลูกน้อยมาแล้วพูดขึ้นว่า “นั่นต้องเป็นพ่อของเจ้าอย่างแน่นอน ออกไปกอดพ่อเขาสิ” ซามูไรผู้นั้นรู้ทันว่าเธอคือผีมาหลอก จึงใช้ดาบฟันเธอจนหญิงผู้นั้นวิ่งหนีไป รุ่งขึ้น เขาตามไปดูที่ที่หญิงคนนั้นหนีหายไป แต่กลับได้พบศพของโจโรกุโมะและร่างของเหยื่ออื่น ๆ ที่เธอพามากิน

อีกเรื่องเล่าหนึ่งของโจโรกุโมะเกี่ยวข้องกับน้ำตกโจเรนที่เมืองอิซุ ว่ากันว่าโจโรกุโมะอาศัยอยู่ที่น้ำตกแห่งนี้ และมีเรื่องเล่าถึงชายคนหนึ่งอาศัยอยู่ริมน้ำตกโจเรน เมื่อโจโรกุโมะพยายามจะลากเข้าลงไปในน้ำตกด้วยการใช้ใยดักขาของเขา ชายคนนั้นกลับนำใยไปพันรอบท่อนไม้ แล้วโยนมันตกลงไปในน้ำตกแทนตัวเขา หลังจากเหตุการณ์นี้ ผู้คนในหมู่บ้านก็ไม่มีใครกล้าเข้าใกล้น้ำตกนี้อีกเลย จนกระทั่งวันหนึ่งคนตัดไม้ได้ทำขวานตกลงไป และมีหญิงงามปรากฎต่อหน้าเขา เธอห้ามไม่ให้เขาบอกเรื่องนี้แก่ใคร หลังจากนั้นคนตัดไม้เมาเหล้าแล้วเผลอบอกเรื่องนี้ออกไป เขาจึงถูกเชือกที่มองไม่เห็นลากไป สุดท้ายก็มีคนพบศพของเขาอยู่ริมน้ำตกโจเรน

เรื่องเล่าอีกแบบหนึ่งเล่าว่าคนตัดไม้หลงรักหญิงสาวที่พบบริเวณน้ำตก หลังจากนั้นเขาไปหาเธอทุกวันแต่ร่างกายเขากลับอ่อนแอลงไปทุกครั้ง พระจากวัดใกล้ ๆ สังเกตเห็นจึงพาตัวเขามาและให้ท่องพระสูตร เมื่อใยแมงมุมพยายามเข้าใกล้ชายคนนั้น พระก็ตะโกนเสียงดังจนใยหายไป แม้จะแน่ใจแล้วว่าผู้หญิงคนนั้นคือปีศาจโจโรกุโมะ ชายตัดไม้ก็ยังคงรักเธอ เขาได้ไปขออนุญาตจากเทนกุบนภูเขาเพื่อให้เขาแต่งงานกับเธอ แต่เทนกุปฏิเสธ ชายคนตัดไม้จึงตัดสินใจกระโดดลงไปในน้ำตกพร้อมใยที่พันตัวเขาและไม่มีใครได้พบเขาอีกเลย