Body Horror สุนทรียะแห่งความสยองขวัญบนกายเรา

Art
Post on 30 October

หากสำรวจลึกลงไปในห้วงอารมณ์ของ ‘ความกลัว’ เราจะพบว่ามันซับซ้อนและมีอิทธิพลอันแรงกล้าบางอย่างต่อมนุษย์เป็นอย่างมาก ทั้งในแง่ของวิวัฒนาการ การใช้ชีวิต หรือกระทั่งในสื่อต่าง ๆ ที่มักจะถูกใช้ในการบอกเล่าความกลัวของสังคมในช่วงขณะนั้น ไม่ว่าจะเป็นความกลัวในความรุนแรง ในสงคราม หรือหนึ่งในความกลัวที่มักจะเกิดขึ้นกับมนุษย์อยู่บ่อย ๆ คือความกลัวต่อสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับร่างกายของตนเอง

‘ความกลัวต่อสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับร่างกายของตนเอง’ นั้นได้ฝังรากลึกอยู่ในตัวตนของมนุษย์เสมอ ไม่ว่าจะเป็นการถูกทำให้เสียโฉม การผุพังเพราะความเปราะบางของร่างกาย และความตาย หรือแม้กระทั่งต่อร่างที่ไร้วิญญาณแล้ว เช่นในบางวัฒนธรรมมีความเชื่อว่าหากร่างกายนั้นถูกทำลายจนหมด จะไม่สามารถไปสู่ชีวิตหลังความตายได้

ความหวาดกลัวนี้ได้ถูกพัฒนาและเปลี่ยนแปลงตามบริบทของสังคมที่เปลี่ยนไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงศตวรรษที่ 20 ที่วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมีการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด รวมไปถึงการที่ลัทธิทุนนิยมและบริโภคนิยมเริ่มมีบทบาทมากขึ้นในสังคม สิ่งเหล่านี้ได้ทำให้ความหวาดกลัวที่จะเกิดขึ้นต่อร่างกายของมนุษย์ถูกเน้นย้ำในสื่อที่หลากหลายมากขึ้น จนเกิดเป็นความสยองขวัญแนวใหม่ที่เรียกว่า ‘Body Horror’

Body Horror ปรากฏขึ้นครั้งแรกในบทความ Horrality: The Textuality of the Contemporary Horror Film โดย Phillip Brophy ในปี 1983 เพื่อใช้อธิบายหนึ่งในประเภทของความสยองประเภทใหม่ที่กำลังได้รับความนิยม เนื่องจากเป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่ภาพยนตร์แนวสยองขวัญสมัยใหม่กำลังกลายเป็นสิ่งที่น่าสนใจในอุตสาหกรรมภาพยนตร์

แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังมีผู้กำกับและศิลปินอีกหลาย ๆ คนได้ตั้งข้อสังเกตว่าจริง ๆ แล้ว Body Horror มีอยู่ก่อนที่จะถูกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์เสียอีก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในงานวรรณกรรมและผลงานศิลปะ ซึ่งแปรเปลี่ยนไปตามแต่ละช่วงเวลาประวัติศาสตร์ที่ต่างกัน แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าสิ่งนี้ได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งที่สื่อสมัยใหม่มักนิยมนำมาใช้อยู่เสมอ โดยเฉพาะในสื่ออย่างภาพยนตร์ที่ Body Horror ได้กลายมาเป็นอีกหนึ่งประเภทสำคัญที่ได้รับความนิยมอย่างมาก

GroundControl จึงขอพาทุกคนไปสำรวจความน่าเกลียดน่ากลัวของร่างกายมนุษย์ ผ่านปรัชญาแห่งความสยองขวัญที่ถูกเรียกว่า Body Horror ที่ถูกสะท้อนผ่านงานศิลปะและภาพยนตร์

ต้นกำเนิด Body Horror ความสยองในวรรณกรรม

ในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ถือเป็นยุคแรกเริ่มที่ผู้คนได้เกิดการตั้งคำถามถึงความเปราะบางบางอย่างของร่างกายและการเปลี่ยนแปลงของตัวตน ซึ่งส่งผลมาจากการพัฒนาเรื่องของการผ่าตัดและการแพทย์ต่าง ๆ สิ่งเหล่านี้ได้กลายเป็นรากฐานสำคัญของความสยองที่เรียกว่า Body Horror

_วรรณกรรมเรื่อง Frankenstein โดย Mary Shelley_

วรรณกรรมเรื่อง Frankenstein โดย Mary Shelley

หนึ่งในนั้นคือวรรณกรรมที่ชื่อว่า Frankenstein (1818) ของ Mary Shelley ที่นำเรื่องของความกลัวและความรู้สึกถึงการผิดธรรมชาติผ่านร่างกายมนุษย์ที่ถูกเปลี่ยนแปลง มาบอกเล่าผ่านเรื่องราวของการทดลองทางวิทยาศาสตร์ที่ผิดพลาด จนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายที่แปลกประหลาดและน่าขยะแขยง ซึ่งถือเป็นผลงานเรื่องแรก ๆ ที่นำประเด็นของการแปรเปลี่ยนของร่างกายอันส่งผลกระทบต่อจิตใจและตัวตนของมนุษย์มานำเสนอในรูปแบบที่สยองขวัญ

หรือวรรณกรรมของ Franz Kafka อย่าง The Metamorphosis (1915) เรื่องราวของพนักงานขายผู้มีบุคลิกอ่อนโยนชื่อ Gregor Samsa ที่ตื่นขึ้นมาในเช้าวันหนึ่งแล้วพบว่าตนเองได้แปลงร่างเป็นแมลงขนาดใหญ่โดยหาคำอธิบายไม่ได้ ซึ่งคล้ายคลึงกับวรรณกรรมเรื่อง The Strange Case of Dr.Jekyll and Mr.Hyde (1886) ของ Robert Louis Stevenson ที่บอกเล่าเรื่องราวของ Dr.Jekyll ผู้มีสองตัวตนในคนเดียวกัน สะท้อนให้เห็นว่าร่างกายของมนุษย์สามารถเปลี่ยนแปลงได้จากภายใน และสะท้อนถึงธรรมชาติของจิตใจที่ถูกแบ่งเป็นด้านดีและด้านชั่วซึ่งเข้าครอบงำร่างกายไว้

_Edgar Allan Poe (1809-1849)_

Edgar Allan Poe (1809-1849)

หรืออย่างวรรณกรรมของนักเขียนอย่าง Edgar Allan Poe เองก็มีการเน้นความสยองขวัญทางจิตวิทยาที่มีอิทธิพลต่อการสร้างภาพลักษณ์ของร่างกายที่แปรเปลี่ยนไปในทางที่ผิดธรรมชาติเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่นในเรื่อง The Tell-Tale Heart (1843) และ The Black Cat (1843) ที่นำเสนอเรื่องราวของตัวละครที่ถูกครอบงำโดยความวิปลาสจนลงมือกระทำความรุนแรงจนเกิดเป็นอาชญากรรม นำไปสู่การทำลายร่างกายและกลายเป็นความหวาดกลัวที่เชื่อมโยงกับสิ่งที่ซ่อนอยู่ในจิตใจของมนุษย์

นอกจากนั้นในงานเขียนของ Poe ยังเลือกใช้บรรยากาศที่เต็มไปด้วยความรู้สึกไม่สบายใจและความอึดอัดผ่านความเจ็บปวดและความตายของมนุษย์ เพื่อส่งต่อความรู้สึกของความสยองขวัญให้กับผู้คน เช่น ร่างกายเน่าเปื่อยในหลุมศพอันรกร้างจากเรื่อง The Fall of the House of Usher (1839) หรืออาการป่วยไข้ที่นำไปสู่ความตายจากเรื่อง The Masque of the Red Death (1842) เพื่อให้เกิดภาพที่น่าหวาดเสียวและความรู้สึกถึงความเจ็บป่วยและความตายที่อยู่เหนือการควบคุมของมนุษย์ ซึ่งถือเป็นผลงานแรก ๆ ที่ส่งต่อความเป็น Body Horror มาจนถึงผลงานของผู้คนรุ่นหลัง

ศิลปะที่สะท้อนถึงความสยองของมนุษย์

ในงานศิลปะเอง Body Horror ยังส่งอิทธิพลไปยังงานศิลปะอย่างกว้างขวาง ผลงานเหล่านั้นมักจะพาไปสำรวจร่างกายที่ถูกเปลี่ยนแปลงไปอย่างผิดธรรมชาติ รวมไปถึงความเป็นและความตายของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นภาพของร่างกายที่บิดเบี้ยว แปรสภาพไป หรือหลอมรวมเข้ากับสิ่งอื่น ๆ

Francis Bacon ถือเป็นหนึ่งในศิลปินที่โดดเด่นในการนำเสนอความสยองของร่างกายมนุษย์ ภาพวาดของร่างกายมนุษย์ที่ดูบิดเบี้ยวและเต็มไปด้วยความทุกข์ ที่แสดงออกถึงความเปราะบางและความเจ็บปวดในร่างกายมนุษย์ ด้วยการวาดเส้นที่มีลักษณะผิดรูป บิดเบี้ยว และร่างกายที่แทบจะไม่เป็นรูปร่าง ซึ่งแฝงไปด้วยความรู้สึกกดดัน ความโดดเดี่ยว และความสิ้นหวัง เป็นการสะท้อนถึงความหวาดกลัวที่มนุษย์มีต่อร่างกายตนเอง และการที่เราต้องเผชิญหน้ากับการเปลี่ยนแปลงและความเสื่อมสลาย

_Three Studies for Figures at the Base of a Crucifixion (1944) โดย Francis Bacon_

Three Studies for Figures at the Base of a Crucifixion (1944) โดย Francis Bacon

ดังเช่นภาพวาด Three Studies for Figures at the Base of a Crucifixion (1944) ที่แสดงความล้มเหลวของร่างกายมนุษย์ ผ่านลักษณะอันเป็นเหมือนอวัยวะเพศชายและผิวพรรณอันหยาบกร้านที่ดูดุร้ายวิปริตบิดเบี้ยว ทำให้รู้สึกถึงความโกรธ ความทุกข์ทรมาน และความหวาดระแวง อีกทั้งยังกระตุ้นให้เกิดความคิดและความรู้สึกที่มืดมนที่น่าตื่นเต้นบางอย่าง คล้ายกับการกำลังนั่งชมภาพยนตร์สยองขวัญภายในห้องที่ถูกละเลงไปด้วยสีส้ม

_Necronom IV (1976) โดย H.R. Giger_

Necronom IV (1976) โดย H.R. Giger

นอกจากนั้นยังมีศิลปินอย่าง H.R. Giger ผู้สร้างประติมากรรมที่หลอมรวมร่างกายมนุษย์เข้ากับเครื่องจักร จนกลายเป็นสิ่งที่ผิดธรรมชาติและก่อให้เกิดความรู้สึกกลัวจากการสูญเสียความเป็นตัวเอง จนกลายเป็นงานศิลปะที่เรียกว่า ‘Biomechanical’ ที่เป็นดั่งการสะท้อนถึงการที่เทคโนโลยีค่อย ๆ หลอมรวมเข้ากับชีวิตประจำวันของมนุษย์จนทำให้เกิดความรู้สึกว่าเทคโนโลยีอาจกลายเป็นส่วนหนึ่งของร่างกายเราเองในอนาคต

_Untitled (1975) โดย Zdzisław Beksiński_

Untitled (1975) โดย Zdzisław Beksiński

หรือผลงานของ Zdzisław Beksiński ศิลปินชาวโปแลนด์ ที่มักจะใช้ผลงานภาพวาดเพื่อแสดงถึงโลกแห่งฝันร้ายและความเสื่อมสลายของร่างกาย รวมไปถึงร่างกายที่ผุกร่อน ความบ้าคลั่งและความสิ้นหวังของมนุษย์ที่ต้องติดอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มืดมนและลึกลับ เป็นภาพที่สะท้อนถึงความกลัวที่ฝังลึกเกี่ยวกับการสูญเสียตัวตน การสูญเสียรูปลักษณ์ที่เป็นธรรมชาติ ซึ่งเป็นองค์ประกอบที่ทำให้ผู้ชมรู้สึกถึงความอ้างว้างและหวาดกลัวในอัตลักษณ์ที่ไม่อาจควบคุมได้

David Cronenberg ผู้เปิดประตูความสยองทางร่างกายสู่ภาพยนตร์

แม้ Body Horror จะถูกบอกเล่าและผสมผสานอยู่ในงานวรรณกรรมและงานศิลปะมาอย่างยาวนาน แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าภาพยนตร์ของ David Cronenberg ถือเป็นประตูสำคัญที่ทำให้ผู้คนรู้จักกับความสยองขวัญอันบิดเบี้ยวที่เกิดขึ้นกับร่างกายมนุษย์ กลายเป็นความสยองขวัญแนวใหม่ที่ไม่ได้สร้างแค่ความหวาดกลัวเพียงเท่านั้น แต่ยังทำให้ผู้ชมได้ใกล้ชิดกับความสยองเหล่านี้ที่ไม่ได้จำกัดความเพียงแค่ภูติผีปีศาจหรือการฆาตกรรม

_Shiver (1975)_

Shiver (1975)

Shivers (1975) ถือเป็นภาพยนตร์เรื่องแรก ๆ ของ Cronenberg ที่ทำให้ผู้คนได้เริ่มรู้จักกับแนวภาพยนตร์ที่เรียกว่า Body Horror อีกทั้งยังผลักดันให้ภาพยนตร์แนวนี้ก้าวไปสู่อีกระดับ โดยบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับปรสิตที่ทำให้ผู้คนเกิดความปรารถนาอันรุนแรงจนสูญเสียการควบคุมตัวเอง เป็นการสำรวจถึงความกลัวที่มีต่อร่างกายที่กลายเป็นภัยคุกคามและสูญเสียอำนาจในการควบคุม

นอกจากนั้นตัวภาพยนตร์ยังสะท้อนให้เห็นถึงความกังวลของสังคมในยุคนั้น เช่น การแพร่กระจายของโรคทางเพศ การเสื่อมสลายทางศีลธรรม และการสูญเสียตัวตนเมื่อร่างกายถูกควบคุมจากภายนอก รวมถึงความกลัวต่อเทคโนโลยีทางการแพทย์และการทดลองทางชีววิทยา ผ่านการนำเสนอภาพของร่างกายมนุษย์ที่เปลี่ยนไปอย่างน่าสยดสยอง ทั้งในเชิงกายภาพและจิตใจ การที่ตัวละครสูญเสียการควบคุมตัวเองและกลายเป็นสิ่งมีชีวิตที่ถูกควบคุมโดยปรสิต ทำให้ผู้ชมรู้สึกถึงความสยองขวัญที่ไม่ใช่แค่จากอาการเจ็บป่วยหรือการบาดเจ็บ แต่ยังมาจากการสูญเสียตัวตนและศักยภาพที่จะเป็นมนุษย์อีกต่อไป

_The Fly (1986)_

The Fly (1986)

แต่หากจะพูดถึงหนึ่งในผลงานที่โด่งดังที่สุดของ David Cronenberg และถือเป็นภาพยนตร์แนว Body Horror ที่มีชื่อเสียงมากที่สุดเรื่องหนึ่งในประวัติศาสตร์ของวงการภาพยนตร์ ก็คงจะหนีไม่พ้นเรื่อง The Fly (1986) ที่บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับการทดลองทางวิทยาศาสตร์ที่ผิดพลาดและการเปลี่ยนแปลงร่างกายมนุษย์ที่นำไปสู่การสูญเสียตัวตน ซึ่งเป็นสิ่งที่ Cronenberg มักจะหยิบยกมาใช้ในภาพยนตร์ของเขาอยู่เสมอ

The Fly ถือเป็นภาพยนตร์ที่สะท้อนถึงความกลัวของมนุษย์ต่อโรคภัยไข้เจ็บ ความแก่ชรา และความเปราะบางของร่างกายมนุษย์ รวมถึงการตั้งคำถามถึงขีดจำกัดของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่กำลังพัฒนามากขึ้นในสังคมขณะนั้น เช่นเดียวกันกับความพยายามของเหล่าตัวละครที่สะท้อนถึงความสิ้นหวังของมนุษย์ในการต่อต้านกระบวนการทางธรรมชาติและความเสื่อมสลายที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ผ่านการนำเสนอภาพของการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพจากมนุษย์กลายเป็นแมลงวัน และเริ่มเสื่อมสลายลง

_Crimes of the Future (2022)_

Crimes of the Future (2022)

นอกจาก Cronenberg จะใช้ภาพยนตร์ในการสะท้อนสังคมและความหวาดกลัวของผู้คนในยุคสมัยนั้นแล้ว เขายังเลือกพาผู้ชมไปสำรวจความสยองขวัญที่มีพื้นฐานมาจากการวิวัฒนาการของมนุษย์อีกด้วย เช่น Crimes of the Future (2022) ผลงานเรื่องล่าสุดของเขาที่บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับโลกอนาคตที่มนุษย์เริ่มพัฒนาร่างกายของตนเองให้สามารถผลิตอวัยวะใหม่ ๆ ได้ตามต้องการจนร่างกายไม่รู้สึกถึงความเจ็บปวดอีกต่อไป

Crimes of the Future ถือเป็นการกลับมาสู่รากฐานของ Body Horror ที่สร้างชื่อเสียงให้กับ Cronenberg ในอดีต ภาพยนตร์เรื่องนี้ขยายขอบเขตของการสำรวจร่างกายในแง่ของศิลปะ การเมือง และจริยธรรม รวมถึงยังมีการนำเสนอคำถามใหม่ ๆ ที่เกี่ยวกับการวิวัฒนาการของมนุษย์ในอนาคตที่กำลังถูกแทรกแซงโดยเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ รวมถึงการตั้งคำถามถึงขอบเขตของความเป็นมนุษย์ ความเจ็บปวด และศีลธรรมในยุคที่ร่างกายสามารถเปลี่ยนแปลงได้ไม่รู้จบ

สิ่งที่เรามักจะได้เห็นในผลงานของ Cronenberg เสมอมาไม่ใช่เพียงแค่การพาผู้ชมไปสำรวจถึงความสยองขวัญที่เกิดขึ้นกับร่างกายมนุษย์ แต่ยังชวนให้ผู้ชมได้เกิดการตั้งคำถามถึงความเปราะบางของร่างกายมนุษย์และขอบเขตของความเป็นมนุษย์ เช่น การหลอมรวมร่างกายมนุษย์กับเทคโนโลยี การแทรกแซงทางพันธุกรรม และความแปลกแยกทางจิตใจ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความกังวลที่มนุษย์มีต่ออนาคต และการเปลี่ยนแปลงที่ร่างกายอาจถูกควบคุมหรือเปลี่ยนแปลงจนสูญเสียตัวตน แสดงให้เห็นว่า Body Horror ไม่ใช่เพียงแค่การสร้างความสยองขวัญทางกายภาพ แต่เป็นการสะท้อนถึงจิตวิญญาณและความเปราะบางที่ซ่อนอยู่ในความเป็นมนุษย์

Body Horror ในสังคมและวัฒนธรรมเอเชีย

นอกจาก Body Horror จะได้รับความนิยมอย่างมากในสื่อตะวันตกแล้ว ในเอเชียเองก็ได้รับอิทธิพลจากการนำเสนอความสยดสยองทางร่างกายด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะในสื่อภาพยนตร์ที่จะมีลักษณะเฉพาะบางอย่างที่สะท้อนถึงวัฒนธรรม ประเพณี และประเด็นทางสังคมที่แตกต่างจากโลกตะวันตก โดยผสมผสานระหว่างการวิพากษ์วิจารณ์สังคม จิตวิญญาณ และความเปราะบางของร่างกายมนุษย์

_Tetsuo: The Iron Man (1989)_

Tetsuo: The Iron Man (1989)

ดังเช่นภาพยนตร์เรื่อง Tetsuo: The Iron Man (1989) ของ Shinya Tsukamoto ที่เป็นเหมือนการเปิดประเด็นความสยองขวัญของ Body Horror มาสู่เอเชีย โดยบอกเล่าเรื่องราวของชายคนหนึ่งที่ร่างกายค่อย ๆ ถูกเปลี่ยนให้กลายเป็นโลหะ ก่อนที่เขาจะกลายเป็นมนุษย์เหล็กโดยสมบูรณ์ เป็นการสะท้อนสังคมของมนุษย์ที่ถูกวัฒนธรรมบริโภคนิยมกลืนกินจนแทบสิ้นสูญความเป็นมนุษย์

นอกจากนั้น Tetsuo: The Iron Man ยังพาเราไปสำรวจความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และเทคโนโลยี และตั้งคำถามถึงการกลืนกินตัวตนของมนุษย์ในสังคมที่เทคโนโลยีเริ่มครอบงำ ซึ่งเป็นแนวคิดที่คล้ายกับภาพยนตร์ของ David Cronenberg แต่มีสไตล์และสัญลักษณ์ที่เน้นถึงการยึดติดกับเทคโนโลยีในวัฒนธรรมญี่ปุ่นในขณะนั้น

_Audition (1999)_

Audition (1999)

เช่นเดียวกันกับภาพยนตร์เรื่อง Audition (1999) ของ Takashi Miike ที่แม้จะไม่ได้มีการนำเสนอร่างกายอันบิดเบี้ยวและแปลกประหลาดของมนุษย์ แต่ในตัวภาพยนตร์เองก็ยังมีการสะท้อนถึงประเด็นความรุนแรงต่อสตรีและความเปราะบางของร่างกายที่ถูกใช้ในการแก้แค้นอย่างทรมานแต่แฝงประเด็นเชิงสังคมและจิตวิทยา ผ่านเรื่องราวของพ่อหม้ายที่พยายามหาคู่รักผ่านการสัมภาษณ์ แต่กลับพบว่าหญิงสาวที่เขาสนใจนั้นกลับมีด้านมืดบางอย่างที่น่าสยดสยอง

_Dumplings (2004)_

Dumplings (2004)

หรือจะเป็นภาพยนตร์จากประเทศฮ่องกงอย่าง Dumplings (2004) โดย Fruit Chan ที่บอกเล่าเรื่องราวของหญิงวัยกลางคนที่บังเอิญไปกินเกี๊ยวที่ทำจากวัตถุดิบที่สยองขวัญ ซึ่งมีสรรพคุณที่ช่วยชะลอความแก่ชราได้ กลายเป็นการสะท้อนถึงแรงกดดันทางสังคมและความหลงใหลในความเยาว์วัยที่ถึงขั้นสามารถทำลายศีลธรรมและจิตใต้สำนึกของมนุษย์ได้อย่างหมดจด อีกทั้งยังชวนตั้งคำถามถึงมาตรฐานของความงามและความเปราะบางของร่างกายในวัฒนธรรมเอเชียว่าความกลัวในการสูญเสียความงามและความเยาว์วัยสามารถนำไปสู่การทำลายทั้งกายและใจได้มากแค่ไหน

นอกจาก Body Horror จะมีอิทธิพลสำคัญต่อสื่อภาพยนตร์ในสังคมและวัฒนธรรมของชาวเอเชียแล้ว ยังมีอีกหนึ่งผลงานสำคัญที่สะท้อนถึงอิทธิพลของความกลัวและความสยองที่มีต่อร่างกายของมนุษย์ นั่นก็คือผลงานมังงะของ Junji Ito ที่มีชื่อเสียงในเรื่องการนำเสนอเรื่องราวสยองขวัญแบบ Body Horror ผ่านภาพวาดที่ละเอียดและน่าขนลุก โดยมักจะเล่นกับความกลัวทางจิตใจและกายภาพ ทำให้เกิดบรรยากาศที่แปลกประหลาดและน่าอึดอัดต่อสิ่งที่เกิดขึ้นในร่างกายของมนุษย์

_Uzumaki (1998–1999)_

Uzumaki (1998–1999)

Uzumaki (1998–1999) หนึ่งในผลงานชื่อดังของ Ito ที่บอกเล่าเรื่องราวของเมืองเล็ก ๆ ที่ถูกสาปให้ทุกอย่างเริ่มมีลักษณะของก้นหอย คนในเมืองเริ่มประสบกับเหตุการณ์อันแปลกประหลาด ไม่ว่าจะเป็นผิวหนังที่เริ่มหมุนเป็นก้นหอย โครงกระดูกที่บิดเบี้ยว หรืออาคารที่ถูกสร้างขึ้นในกลายเป็นรูปแบบของก้นหอย สะท้อนให้เห็นถึงแนวคิดของการสูญเสียการควบคุมร่างกาย การยึดติดกับความกลัวที่ไม่สามารถหลีกหนีได้ โดยมีภาพลักษณ์ของก้นหอยที่เป็นตัวแทนถึงการหลุดเข้าไปในความบ้าคลั่งของมนุษย์

_Tomie (1987–2000)_

Tomie (1987–2000)

เฉกเช่นเดียวกันกับ Tomie (1987–2000) อีกหนึ่งผลงานที่นำเสนอเรื่องราวความสยองขวัญของการตายที่ไม่มีที่สิ้นสุด ความอาฆาตที่ไม่จบสิ้น และความผิดธรรมชาติที่ไม่สามารถควบคุมได้ ผ่านเรื่องราวของโทมิเอะ หญิงสาวผู้มีเสน่ห์ลึกลับที่สามารถดึงดูดผู้ชายให้หลงรักได้ แม้ว่าเธอจะถูกฆ่าตายหลายครั้ง ร่างกายของเธอก็จะฟื้นขึ้นมาเสมอ ซึ่งแต่ละครั้งเธอจะเกิดการกลายพันธุ์เป็นสิ่งมีชีวิตใหม่ที่น่ากลัวขึ้นเรื่อย ๆ ที่ถึงแม้เธอจะเป็นอมตะ แต่ก็ทำให้เกิดความรู้สึกของความอมตะที่หลอนและทรมาน

โดยจะเห็นได้ว่าผลงานอย่าง Tomie และ Uzumaki นั้นได้แสดงถึงความกดดันและการควบคุมในสังคมที่เต็มไปด้วยค่านิยมและมาตรฐานสูง โดยเฉพาะในเรื่องของภาพลักษณ์และบทบาททางสังคม เช่นตัวละครใน Tomie ถึงแม้เธอจะเป็นหญิงสาวที่มีรูปลักษณ์ที่สวยงามจนคนรอบตัวต่างหลงใหล แต่เธอกลับเต็มไปด้วยความโหดเหี้ยมและไร้มนุษยธรรม ซึ่งอาจสะท้อนถึงแรงกดดันในเรื่องของความงามที่ผู้หญิงญี่ปุ่นต้องเผชิญ รวมถึงการตั้งคำถามว่าภายใต้ภาพลักษณ์สวยงามนั้นอาจมีความเป็นไปได้ที่จะมีความรุนแรงซ่อนอยู่

หรืออย่างเรื่อง Uzumaki เองก็ได้สะท้อนถึงการที่คนในเมืองหนึ่งตกอยู่ภายใต้ความหลงใหลต่อก้นหอยจนสูญเสียสติ ความเชื่อมั่นในการใช้ชีวิตอย่างมีระเบียบและการควบคุมตนเองในสังคมญี่ปุ่นถูกทำลายลงเมื่อพวกเขาไม่สามารถห้ามตัวเองจากการติดตามและจมอยู่ในวงก้นหอยได้ นี่อาจเป็นการสะท้อนถึงความล้มเหลวของค่านิยมที่เคร่งครัดในสังคม

Body Horror ของ Junji Ito จึงไม่ใช่แค่การนำเสนอความสยองขวัญอันวิปราศของร่างกายเท่านั้น แต่ยังสะท้อนให้เห็นถึงความเปราะบางและแรงกดดันที่ซ่อนอยู่ภายใต้สังคมที่ดูมีระเบียบเรียบร้อยและสงบสุข ผ่านภาพวาดที่มักจะเต็มไปด้วยรายละเอียดที่ทำให้ผู้อ่านรู้สึกขนลุกอยู่เสมอ

อ้างอิง

Dockery D. A Beginner’s Guide to Junji Ito: 14 Horror Manga to Read. Vulture. Published October 9, 2024. Accessed October 24, 2024. https://www.vulture.com/article/junji-ito-beginners-guide-uzumaki-read-next.html

Howe BE. Francis Bacon: The Horrors of Humanity. The Big Ship. Published January 16, 2020. Accessed October 24, 2024. https://www.thebigship.org/post/francis-bacon-horrors-of-humanity

Irpino L. The Nightmare Artist: Zdzisław Beksiński. ArtRKL. Published November 23, 2023. Accessed October 26, 2024. https://artrkl.com/blogs/news/the-nightmare-artist-zdzisaw-beksiski

Maclay WC. Body is reality: tracing David Cronenberg’s history with body horror. Polygon. Published June 7, 2022. Accessed October 25, 2024. https://www.polygon.com/what-to-watch/23139794/david-cronenberg-best-body-horror-movies-history-analysis-crimes-of-the-future

View. A Quick History of Body Horror in Cinema. Gehenna & Hinnom Books. Published April 7, 2017. Accessed October 25, 2024. https://gehennaandhinnom.wordpress.com/2017/04/07/a-quick-history-of-body-horror-in-cinema

What Is A Body Horror Film? - Development & Famous Examples. CinemaWaves. Published October 23, 2024. Accessed October 25, 2024. https://cinemawavesblog.com/film-blog/what-is-body-horror-film-examples/