Creatures of Triloga_web.jpg

Creatures of Triloga : สำรวจไตรโลกา จักรวาลใหม่บนรากเดิมที่ชวนตั้งคำถามถึงความเป็นไปได้สนุกๆ ของไตรภูมิ

Post on 21 September

น้ำที่เน่า คือน้ำที่ขังอยู่ในที่ๆ หนึ่ง ไร้การระบาย วัฒนธรรมก็เช่นกัน จะวัฒนะได้อย่างไรหากถูกเก็บไว้เฉยๆ ในขณะที่โลกเปลี่ยนแปลงไปทุกวินาที

นี่คงเป็นทั้งคำกล่าวต้อนรับและข้อสรุปของ Creatures of Triloga นิทรรศการที่เรามาเยือนในวันนี้ได้เป็นอย่างดี เพราะถ้าให้คิดดีๆ ถ้าไม่ใช่นักเรียน นักศึกษา หรือนักวิชาการที่หลงใหลในวรรณคดีเก่า คนทั่วไปอย่างเราๆ ก็คงไม่ได้สนใจและอยากทำความรู้จัก ‘ไตรภูมิ’ วรรณคดีและคติความเชื่อ ที่ฝังอยู่ในวัฒนธรรมของไทยมานานแสนนานได้ ทั้งที่จริงแล้ว ภาพเขียนในวัด ความเชื่อเรื่องนรกสวรรค์ กระทั่งหนังละครที่หยิบเอาสัตว์ป่าหิมพานต์มาเป็นตัวเอกก็อยู่ล้อมรอบเรามาโดยตลอด

Creatures of Triloga จากทีม Art of Triloga อันประกอบด้วยตัวตั้งตัวตีหลักอย่าง ‘ฮ่องเต้–กนต์ธร เตโชฬาร’ และทีมงานผู้สนใจในศิลปะและวัฒนธรรมอีก 18 คน คือนิทรรศการว่าด้วยจักรวาลไตรโลกาซึ่งกำเนิดขึ้นก่อนยุคประวัติศาสตร์ ณ จักรวาลแห่งนี้ มนุษย์เป็นเพียงสิ่งมีชีวิตเล็กๆ ที่นำเอาเรื่องราวของจักรวาลมาบอกเล่า แต่ไม่ใช่เจ้าแห่งจักรวาลเช่นครุฑ ยักษ์ และราชสีห์ 4 เหล่า ที่ตั้งตระหง่านให้เราได้เชยชม

ความตั้งใจของฮ่องเต้และทีมงานคือการแสวงหาความสนุกและความเป็นไปได้ใหม่ๆ ของวรรณคดีเก่าที่หลายคนไม่คิดจะอยากอ่านอย่าง ‘ไตรภูมิ’ เพื่อให้สมบัติเก็บกรุที่คล้ายถูกปิดตายเป็นร้อยปีได้กลับมามีชีวิตและวัฒนะอยู่คู่กับสังคมได้ในทุกยุคทุกสมัย แต่จักรวาลแห่งนี้จะเป็นยังไง Creatures of Triloga พร้อมแล้วที่จะพาทุกคนเปิดประตูสู่จักรวาลอันยากจะลืม

นิทรรศการแห่งนี้ตั้งในห้องมืดสีดำคล้ายกับเอกภพที่เราคุ้นเคย ในห้องแห่งนี้เต็มไปด้วยงานศิลปะหลากหลายรูปแบบที่เล่าเรื่องราวของสิ่งมีชีวิตอันยิ่งใหญ่ของไตรโลกาที่ Art of Triloga หยิบเอาข้อมูลต่างๆ จากไตรภูมิมาผสมผสานกับองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ โบราณคดี และอีกหลายศาสตร์สาขา

ความน่าสนใจของนิทรรศการครั้งนี้คือทีมงานตั้งใจออกแบบให้สัตว์ทุกชนิดเป็นสิ่งมีชีวิตที่เคยเกิดขึ้นจริงในยุคโบราณ หาใช่ตัวละครที่ปั้นแต่งขึ้นเท่านั้น ซึ่งที่จริงแล้ว จักรวาลไตรโลกานั้นเคยเกิดขึ้นเมื่อ 6 ปีที่แล้ว แต่แฟนตาซีกว่านี้มาก การเกิดขึ้นอีกครั้งของไตรโลกาในปีนี้จึงถือเป็นการเติบโตทางประสบการณ์และความรู้ของทีมงานเพื่อสร้างให้จักรวาลแห่งนี้เต็มไปด้วยความเป็นไปได้ ความจับต้องได้ และความเป็นมนุษย์

เช่นว่าทีมงานหยิบเอาราชสีห์ 4 ตระกูลในไตรภูมิมาสร้างให้เห็นเป็นรูปเป็นร่างได้ก็จริง แต่ราชสีห์เหล่านั้นก็ไม่ได้สร้างขึ้นจากไตรภูมิล้วนๆ แต่มันถูกสร้างขึ้นโดยอ้างอิงสัตว์โบราณที่มีอยู่จริงในโลกของเรา เพราะจากลักษณะที่ไตรภูมิอธิบายไว้ ‘ราชสีห์’ ของไทยหาได้เป็น ‘สิงโต’ ไม่ แต่คือราชาสัตว์ร้ายที่มีเขี้ยวพร้อมเขมือบ

ตัวอย่างที่น่าสนใจคือในไตรภูมิกล่าวว่า ‘ติณราชสีห์นั้นมีขนาดเท่าแม่โค นิ้วเท้าเป็นกีบ’ ซึ่งไม่ใช่ลักษณะของแมวใหญ่อย่างสิงโตแม้แต่น้อย ทีมงาน Art of Triloga จึงสร้างติณราชสีห์ขึ้นโดยอิงจากสัตว์โบราณอย่าง ‘แดโอดอน’ ซึ่งมีรูปร่างคล้ายหมูป่ายักษ์อันเป็นบรรพบุรุษของฮิปโป ก่อนจะนำมาผสมผสานกับสัตว์ในปัจจุบันอย่างหมูป่า ควายไบซัน และฮิปโป

หรืออย่างครุฑก็ไม่ได้มีรูปร่างหน้าตาแบบที่เราคุ้นเคยตามวัดวา กลับทำให้เรานึกถึงนกยักษ์จากยุคไดโนเสาร์มากกว่า หรือกระทั่งยักษ์ก็ไม่ได้วิเศษวิโสกว่ามนุษย์ในด้านใด เพียงแต่ตัวใหญ่ผิดแผกจากคนจริงๆ ไปมาก

เราอาจจะคิดว่ายักษ์ต้นสายของทศกัณฐ์ควรจะมี 10 หน้า 10 มือแบบที่เราคุ้นเคยและเรียนรู้กันมา แต่สำหรับ Art of Triloga ทศกัณฐ์ไม่ได้เก่งกาจเหนือมนุษย์ในลักษณะนั้น ทีมงานตีความให้ทศกัณฐ์ยังมีความเป็นมนุษย์อยู่มาก แต่เปลี่ยนลักษณะ 10 หน้า 10 มือให้เป็นเครื่องแต่งกายและอาวุธนั้นมีหลากหลายสะท้อนให้เห็นถึงว่ายักษ์ต้นสายตนนี้เก่งกาจในหลากหลายมิตินั่นเอง

ไฮไลต์ที่ใครมาก็น่าจะต้องแชะภาพและให้ความสนใจคือส่วนหน้าของนิทรรศการที่นำเสนอความตั้งใจของทีมงานพร้อมๆ กับห้องทำงานขนาดย่อมของฮ่องเต้ที่เต็มไปด้วยข้าวของเครื่องใช้ส่วนตัว และส่วนท้ายของนิทรรศการที่ชวนเราตั้งคำถามกับการมีอยู่ของวัฒนธรรมเก่าและความจำเป็นที่จะต้องให้ความเก่าเหล่านั้นเปลี่ยนแปลงไปตามพลวัตรของสังคม ข้อความเหล่านี้ไม่ได้มีเพื่อตั้งคำถามกับเพียงไตรภูมิเท่านั้น แต่ยังใช้ได้กับวัฒนธรรมต่างๆ ของสังคมไทยที่ถูกแช่แข็ง ห้ามแตะต้อง และห้ามตั้งคำถาม ทั้งที่จริงแล้ว ไม่มีสิ่งใดในโลกที่อยู่ได้โดยไม่เปลี่ยนแปลงไปตามเวลา

สำหรับเรา จักรวาลไตรโลกาจึงเหมาะนักกับทั้งคนที่หลงใหลในไตรภูมิอยู่แล้วและผู้ที่ไม่คุ้นเคยกับวรรณคดีเก่าเรื่องนี้เลย เพราะนี่คือจักรวาลแห่งความเป็นไปได้ที่ชวนให้ผู้หลงใหลในไตรภูมิได้มาสำรวจไตรภูมิในมุมใหม่และเห็นมุมมองในการนำเสนอวรรณคดีเก่าให้กลับมามีชีวิต ส่วนผู้ที่ไม่มีองค์ความรู้ดั้งเดิมเกี่ยวกับคติความเชื่อเหล่านี้เลยก็สนุกกับเรื่องราวและการตีความได้เช่นกัน

Creatures of Triloga
ห้อง Gallery ชั้น 1 อาคารส่วนหลัง TCDC กรุงเทพฯ
16 กันยายน-20 พฤศจิกายน (ปิดวันจันทร์)
เวลา 10.30 - 19.00 น.