251858161_452150786428301_5096325231085795741_n.jpeg

เมื่อภาพวาดของ Raphael จับคู่กับโฆษณาวิสกี้ในปกอัลบั้ม The Smashing Pumpkins

Post on 30 June

นี่คือ The Wall ของคน Gen X

Billy Corgan

ในปี 1995 ช่วงที่วงการอัลเทอร์เนทีฟร็อก คึกครื้นด้วยการทดลองทางดนตรีอันแปลกใหม่ The Smashing Pumpkins วงดนตรีจากชิคาโก ได้เปิดตัวอัลบั้มชุดที่ 2 ของพวกเขาอย่างยิ่งใหญ่ในชื่อ ‘Mellon Collie and the Infinite Sadness’ พร้อมกับเพลงมากกว่า 28 เพลง ซึ่งนับเป็นสองเท่าของอัลบั้มปกติ เพื่อสำรวจธีม ‘กลางวัน และ กลางคืน’ เพลงของพวกเขาเทียบเท่ากับผลงานศิลปะที่กำลังพูดถึงชีวิตและความตาย ด้านมืดและด้านสว่าง รวมถึงจิตวิญญาณของคนสมัยใหม่ ที่เปี่ยมไปด้วยพลังและความทะเยอทะยาน

หาก ‘The Wall’ (1979) อัลบั้มดังของศิลปินระดับท็อปอย่าง Pink Floyd คือการที่เหล่าเบบี้บูมเมอร์ต้องเผชิญหน้ากับความวิตกกังวลของตัวเอง ‘Mellon Collie and the Infinite Sadness’ ก็คงเป็นเหมือนจดหมายรักสุดจริงใจ แด่สหายคนรุ่นใหม่ (สมัยนั้น) ที่ถูกสังคมลืมเลือน 

<p>ปกอัลบั้ม Mellon Collie and the Infinite Sadness (2012 deluxe edition) ของ The Smashing Pumpkins ที่ยังคงธีมของช่วงเวลา แต่เพิ่มมาด้วยการผสานเอาความเชื่อของหลายวัฒนธรรมเข้าด้วยกัน</p>

ปกอัลบั้ม Mellon Collie and the Infinite Sadness (2012 deluxe edition) ของ The Smashing Pumpkins ที่ยังคงธีมของช่วงเวลา แต่เพิ่มมาด้วยการผสานเอาความเชื่อของหลายวัฒนธรรมเข้าด้วยกัน

นอกจากที่เพลงจะเป็นตัวแทนในการสื่อสารข้อความถึงแฟน ๆ แล้ว ภาพปกอัลบั้มก็เป็นอีกส่วนสำคัญที่ช่วยแปลธีมหลักของเพลงสู่สายตาผู้คนได้ด้วยเช่นกัน ดังนั้น การออกแบบปกอัลบั้ม จึงเป็นความพยายามครั้งที่สองที่ศิลปินตั้งใจมอบให้แก่แฟน ๆ ผู้เป็นที่รัก และแน่นอนว่าสิ่งที่พวกเขาคัดสรรมานั้น ออกดอกออกผลในอดีต และยังงอกงามมาถึงปัจจุบัน จนเมื่อพูดถึง The Smashing Pumpkins คงมีน้อยคนที่จะไม่เคยเห็นภาพปกคอลลาจเด็กสาวปริศนาเอามือทาบอก โผล่ออกมาจากดวงดาว โดดเด่นกลางฉากหลังสีฟ้า 

ภาพงานตัดแปะเด็กหญิงที่ไม่เคยมีตัวตนอยู่จริง แตกต่างจากฝาแฝดบนปก Mainstream breakout and Siamese Dream (1994) อัลบั้มชุดแรกของ The Smashing Pumpkins โดยสิ้นเชิง เพราะเธอคือนางฟ้ากลางดาวฝันในเวลากลางวัน ที่แปลกแยกจากดาวดวงอื่น ๆ อย่างชัดเจน

จากไอเดียภาพสเกตช์เริ่มแรกของ Billy Corgan นักร้องนำและมือกีต้าของวง เขาต้องการให้หน้าปกอัลบั้มใหม่นี้ เป็นส่วนหนึ่งของ ‘ยุควิคตอเรีย’ ที่เต็มไปด้วยความหรูหรา เจริญรุ่งเรืองตามสไตล์ผู้ดีอังกฤษ แต่การจะสร้างฉากสุดอลังการเกือบเหมือนละครเวที และออกแบบชุดเสื้อผ้าที่ต้องสง่าผ่าเผยไม่แพ้กัน กลับพ่วงมาด้วยเม็ดเงินมากถึง 50,000 ดอลลาร์ เขาจึงเปลี่ยนแผนใหม่ที่ต่างไปจากเดิมโดยสิ้นเชิง

ไม่รู้ว่าเป็นความบังเอิญหรือตั้งใจ แต่หลังจากที่ภาพร่างของศิลปินท่านอื่นถูกปัดตกไป Frank Olinsky ผู้กำกับศิลป์ของอัลบั้ม ได้แนะนำผลงานของ John Craig ศิลปินและนักวาดภาพประกอบจากวิสคอนซิน ที่โลดแล่นในวงการนิตยสารและโฆษณามาอย่างยาวนาน ให้กับ Billy Corgan ทันทีที่ Craig ได้คุยกับ Corgan เขาก็เสนอให้ทางวงบรีฟรูปแบบงานมาคร่าว ๆ ก่อนจะเริ่มลงมือสร้างภาพตัดแปะอย่างมีชั้นเชิงด้วยคลังวัตถุดิบส่วนตัวที่เขาสะสมมา

ตลอดช่วงเวลาในโรงเรียนศิลปะ Craig ได้รับแรงบันดาลใจมากมายจากศิลปิน Surrealism ที่มักจะพาตัวเองด่ำดิ่งลึกลงไปในจินตนาการ และลัทธิ Dadaism ซึ่งต่อต้านค่านิยมสังคมเก่า ด้วยรูปแบบผลงานศิลปะจากของราคาถูก เขาเริ่มเก็บสะสม ฉลาก โปสเตอร์ แผ่นกระดาษ ภาพวาดเก่า ภาพถ่าย รวมถึงโปสการ์ดจากช่วงเปลี่ยนผ่านระหว่างศตวรรษ แล้วจึงลงแรงสร้างจินตนาการให้เป็นจริง ด้วยของสะสมในมือ แต่แทนที่ Craig จะลองเลือกชิ้นส่วนหลาย ๆ แบบมาไว้ในกระดาษแผ่นเดียว เขากลับนำเสนอภาพที่เรียบง่ายกว่านั้นมาก Craig เริ่มต้นด้วยการมองหาชิ้นส่วนแตกต่างกัน และเชื่อมโยงเรื่องราวเหล่านั้นผ่านธีม รูปแบบ ขนาด และสีสันของภาพ ทันทีที่ John Craig ดีลกับ Billy Corgan ผ่านการส่งแฟกซ์ เขาก็เริ่มต้นสร้างสรรค์ผลงานสุดคลาสสิคชิ้นใหม่ ที่เล่นกับรูปแบบภาพประกอบหนังสือนิทานสำหรับเด็ก ด้วยการลองจัดวางภาพตัดแปะ เกิดเป็นรูปแบบที่น่าสนใจมากมาย หนึ่งในนั้นก็คือภาพเด็กสาวสองคนที่ยืนเด่นอยู่กลางทุ่งดอกไม้สีเหลืองทองอร่ามในตอนกลางคืน ผลงานของเขาเข้าตา Billy Corgan อย่างจัง หลังจากนั้นไอเดียของภาพทั้งหมด จึงต่อยอดมาเป็นภาพเด็กสาวเพ้อฝัน ที่โผล่ขึ้นมาจากไทม์แมชชีนดวงดาวโดด ๆ กลางฉากหลังของจักรวาลอันกว้างไกลที่เราเห็นกัน

<p>ภาพซ้าย : ภาพสเกตช์แบบง่าย ๆ สไตล์ Billy Corgan<br>ภาพขวา : เด็กสาวสองคนที่ยืนเด่นอยู่กลางทุ่งดอกไม้สีเหลืองทองอร่ามในตอนกลางคืน ภาพคอลลาจหลังรับบรีฟงาน ที่ออกแบบโดย John Craig</p>

ภาพซ้าย : ภาพสเกตช์แบบง่าย ๆ สไตล์ Billy Corgan
ภาพขวา : เด็กสาวสองคนที่ยืนเด่นอยู่กลางทุ่งดอกไม้สีเหลืองทองอร่ามในตอนกลางคืน ภาพคอลลาจหลังรับบรีฟงาน ที่ออกแบบโดย John Craig

แต่รู้หรือไม่.. เด็กสาวในปกอัลบั้มสุดไอคอนิคของ The Smashing Pumpkins ไม่ได้มาจากภาพวาดของศิลปินเพียงท่านเดียว !

เมื่อได้รับโจทย์มาว่าให้ออกแบบภาพที่มีท้องฟ้าเป็นส่วนประกอบ ในหัวของ Craig ก็นึกถึงภาพของเด็กสาวและดวงดาว เขาเริ่มจากการหาพื้นหลังจากหนังสือสำหรับเด็กเก่า ๆ  จากนั้นจึงมองหาภาพของเด็กสาววัยแรกรุ่นที่เหมาะสมกับฉากหลัง ด้วยความที่ Craig สนใจในภาพวาดช่วงแรกเร่ิมของ Raphael จิตรกรคนสำคัญแห่งยุคเรอเนซองส์ เขาจึงเลือกเอา Saint Catherine of Alexandria (1507) มาเป็นส่วนหนึ่งในปกอัลบั้ม แต่แทนที่ภาพวาดของศิลปินชื่อดัง จะถูกยกขึ้นให้โดดเด่น Craig กลับหยิบเอาใบหน้าของเด็กสาวจากภาพวาด The Souvenir (1789) ของ Jean-Baptiste Greuze ศิลปินลัทธิ Neoclassicism ซึ่งไม่ได้มีผลงานอันโดดเด่นจนเป็นตำนาน มาประกอบใหม่จนเป็นภาพจำให้แก่คนรุ่นหลัง และเพื่อให้ภาพตัดแปะสุดคลาสสิคของเขามีกลิ่นอายสมัยใหม่ Craig จึงนำดวงดาวที่อยู่บนปกโฆษณาวิสกี้ มาวางไว้กลางอวกาศอันไร้น้ำหนัก ราวกับภาพปก Mellon Collie and the Infinite Sadness กำลังพาผู้พบเห็น นั่งแคปซูลเวลาไปค้นหาปริศนาที่ซ่อนอยู่พร้อม ๆ กับผลงานเพลง

คงมีเพียงศิลปินผู้วาดภาพเท่านั้น ที่รู้ว่าเด็กสาวในภาพกำลังคิดอะไรอยู่ แต่สีหน้าพร่ำเพ้อถึงบางสิ่งตลอดเวลา และมือที่ทาบบนอก ก็ทำให้หลาย ๆ คนคิดกันไปว่า เธออาจจะกำลังฝันถึงฉากรักอีโรติกอยู่ เพราะงานศิลปะสูงส่งในสมัยนั้น ไม่สามารถแสดงออกถึงอารมณ์พิศวาสออกมาตรง ๆ ได้ ซึ่งก็เป็นเรื่องน่าทึ่งไม่น้อย ที่ภาพต่างยุคสมัย จะสามารถอยู่รวมกันได้อย่างลงตัว ราวกับทั้งหมดนี้ถูกสร้างมาเพื่อกันและกัน และนั่นคือเสน่ห์อันเหลือล้นที่ John Craig และ The Smashing Pumpkins ได้ฝากไว้ให้กับแฟน ๆ ของพวกเขา ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานแค่ไหนก็ตาม

<p>ภาพซ้าย : The Souvenir (1789) เด็กสาวเพ้อรักโดย Jean-Baptiste Greuze ศิลปินจากลัทธิ Neoclassicism<br>ภาพขวา : Saint Catherine of Alexandria (1507) ภาพวาดช่วงพรีเดบิวต์ของ Raphael จิตรกรคนสำคัญแห่งยุคเรอเนซองส์</p>

ภาพซ้าย : The Souvenir (1789) เด็กสาวเพ้อรักโดย Jean-Baptiste Greuze ศิลปินจากลัทธิ Neoclassicism
ภาพขวา : Saint Catherine of Alexandria (1507) ภาพวาดช่วงพรีเดบิวต์ของ Raphael จิตรกรคนสำคัญแห่งยุคเรอเนซองส์

<p>หนึ่งในภาพประกอบจาก Mellon Collie and the Infinite Sadness โดย John Craig</p>

หนึ่งในภาพประกอบจาก Mellon Collie and the Infinite Sadness โดย John Craig

<p>ปาร์ตี้ Hookah ของเหล่าหนู ๆ คูล ๆ หนึ่งในภาพประกอบจาก Mellon Collie and the Infinite Sadness โดย John Craig</p>

ปาร์ตี้ Hookah ของเหล่าหนู ๆ คูล ๆ หนึ่งในภาพประกอบจาก Mellon Collie and the Infinite Sadness โดย John Craig

<p>กัปตันนกกับเหยี่ยวเหล็กเวหา หนึ่งในภาพประกอบจาก Mellon Collie and the Infinite Sadness โดย John Craig</p>

กัปตันนกกับเหยี่ยวเหล็กเวหา หนึ่งในภาพประกอบจาก Mellon Collie and the Infinite Sadness โดย John Craig

อ้างอิง : 
npr
diffuser
illustrationchronicles