cover_web.jpg

5 งานดังของ Marcel Duchamp ที่ไม่ได้มีดีแค่โถฉี่

Art
Post on 27 July

ถ้าพูดถึงศิลปินคนสำคัญของศิลปะแบบคอนเซปชวลอย่าง Marcel Duchamp หลายคนน่าจะนึกถึงผลงานโถฉี่นาม Fountain (1917) อันเลื่องชื่อของเขาแน่ๆ เพราะมันเป็นโถฉี่สลักชื่อที่สะเทือนวงการศิลปะว่าคำว่า ‘ศิลปะ’ นั้น คืออะไรกัน แถมการหายไปอย่างไร้ร่องรอยของโถฉี่นี้ก็ยังทำให้มันยิ่งดังขึ้นไปใหญ่

นอกจากโถฉี่แสนเฉียบนี้แล้ว ที่จริง Duchamp ทำงานศิลปะในหลากหลายขบวนการมากแต่เขาปฏิเสธการนิยามตัวเองว่าเป็นศิลปินประเภทใด ซึ่งผลงานเหล่านี้ก็มักจะมีจุดร่วมที่ความตลกแบบเสียดสีอันเฉียบคม ชวนกระตุกจิตกระชากใจให้คนกลับมาคิด วิเคราะห์ แยกแยะ

ครบรอบ 135 ปี Marcel Duchamp ในวันนี้ เราจึงขอพาทุกคนไปทำความรู้จักกับ 5 งานศิลปะโดยพ่อของศิลปะแบบคอนเซปชวลที่ฝากไว้ให้โลกคิดอย่างคมคายว่าแต่บะชิ้นงานนั้นจึ้งแค่ไหน

Nude Descending a Staircase, No. 2 (1912)

 

ก่อนที่จะโด่งดังจากงาน Readymades เขย่าโลก ที่จริงแล้ว Duchamp เป็นจิตรกรชาวฝรั่งเศสที่ทำงานศิลปะมาก่อน ภาพ Nude Descending a Staircase, No. 2 (1912) ก็เป็นอีกงานคลาสสิกสมัยใหม่และที่มีชื่อเสียงที่สุดชิ้นหนึ่งในยุคนั้น ก่อนหน้าที่เขาจะเลิกวาดภาพไป

ภาพนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งของงานแบบคิวบิสม์ที่ขจัดความงามแบบดั้งเดิมของภาพในงานศิลปะ เพราะเขาทำให้ภาพนู้ดเหล่านี้ปราศจากความใคร่ ทั้งยังไม่สามารถระบุเพศได้ด้วยรูปแบบภาพแบบเหลี่ยม แต่ความตั้งใจของ Duchamp ก็คือการขยายการรับรู้ของมนุษย์เราเกี่ยวกับร่างกายที่กำลังเคลื่อนไหว ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของศิลปะแบบฟิวเจอริสม์ในอิตาลี ภาพวาดภาพนี้จึงเป็นศิลปะแบบที่เรียกว่าคิวโบ ฟิวเจอริสม์ที่พยายามประสานรวมศิลปะทั้งสองแบบ

การเคลื่อนไหวในภาพเหล่านี้ได้รับอิทธิพลจากภาพถ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลงานของ Eadweard J. Muybridge ผู้มีชื่อเสียงในการถ่ายภาพการเคลื่อนไหวที่ต่อเนื่องกัน หนึ่งในภาพที่ว่ากันว่าน่าจะเป็นต้นแบบให้ Duchamp คือ Women Walking Down Steps (1887)

ความปังปุริเย่ของภาพนี้อยู่ตรงที่บรรดาศิลปินคิวบิสม์ในนิทรรศการปารีสเมื่อปี 1912 โดยเฉพาะน้องชายของเขาเอง Jacques Villon ปฏิเสธการจัดแสดงผลงานชิ้นนี้เพราะไม่เห็นด้วยกับการวาดภาพการเคลื่อนไหวแบบไดนามิกซึ่งมันดูเป็นศิลปะแบบฟิวเจอร์ริสม์มากเกินไป

“ฉันไม่ได้พูดอะไรกับน้องของฉัน แต่ฉันไปที่นิทรรศการทันทีและนำภาพวาดของฉันกลับบ้านด้วยรถแท็กซี่ มันเป็นจุดเปลี่ยนในชีวิตของฉันจริงๆ จะเห็นว่าฉันไม่สนใจกลุ่มนี้มากนักหลังจากนั้น”

นอกจากนั้น เขาก็ยังนำภาพไปจัดแสดงที่ Armoury Show ในนิวยอร์กในปี 1913 ซึ่งทำให้ Duchamp มีชื่อเสียงในฐานะศิลปินผู้ยั่วยุวงการศิลปะเพราะถูกมองว่าการทำให้ภาพนู้ดดูแตกต่างออกไปจนแทบมองไม่ออกนั้นไม่เคารพภาพวาดนู้ดในประวัติศาสตร์ศิลปะซะเลย ทั้งการเขียนชื่อภาพ ‘NU DESCENDANT UN ESCALIER’ ว่าหญิงสาวเดินลงบันไดลงในภาพก็ดูน่าขัน แต่จริงๆ แล้ว NU นั้นเป็นศัพท์เพศชาย (ภาษาฝรั่งเศสมีเพศ) จึงเป็นที่ถกเถียงว่าแท้จริงแบบในภาพคือหญิงหรือชายกันแน่เพราะชื่อนั้นบ่งบอกว่าชาย แต่ภาพนู้ดในประวัติศาสตร์นั้นเป็นผู้หญิงมาตลอด

และนี่ก็เป็นจุดที่ทำให้เขาหันหลังให้กับการเป็นจิตรกร

Bicycle Wheel (1913)

หลังจากวาดภาพในปารีสมาอย่างยาวนาน เขาก็หยุดวาดภาพและหันมาสร้างงานแบบ Readymades หรือการหยิบเอาสิ่งของธรรมดาทั่วไปในชีวิตประจำวันที่มีการผลิตเป็นจำนวนมากมายกระดับให้เป็นงานศิลปะเพื่อท้าทายคุณค่าของศิลปะและศิลปิน สมกับที่เป็นพ่อแห่ง Dada ลัทธิศิลปะในช่วงเวลาสั้นๆ ที่ตั้งคำถามว่าศิลปะควรเป็นอย่างไร และควรสร้างอย่างไร

ผลงาน Readymades ที่รู้จักกันดีก็คือ Fountain (1917) หรือโถฉี่ที่เราเล่าไปคร่าวๆ นั่นแหละ แต่ที่จริงแล้ว Readymades ที่มาก่อนกาลคือ Bicycle Wheel (1913) ต่างหาก Duchamp จัดให้ Bicycle Wheel เป็น ‘Assisted Readymade’ ซึ่งสร้างขึ้นจากการรวมสิ่งของที่มีประโยชน์มากกว่าหนึ่งชิ้นเข้าด้วยกัน นั่นคือล้อและตะเกียบจักรยานที่วางคว่ำบนเก้าอี้ไม้สตูล

แรกเริ่ม เขากล่าวว่าเขาทำมันขึ้นเพียงเพราะสนุกที่จะดูล้อหมุน "เช่นเดียวกับที่ฉันชอบดูเปลวไฟที่เต้นรำอยู่ในเตาผิง" แต่เมื่อเขาเริ่มทำงาน Readymades ชิ้นอื่นที่นิวยอร์กในอีกไม่กี่ปีต่อมา เขาก็บอกกับโลกใหม่ว่าเจ้า Bicycle Wheel เป็น Readymades ก่อนจะสร้างงานชิ้นเดียวกันในเวอร์ชั่นที่ 2 ขึ้น เพราะเวอร์ชั่นแรกนั้นหายไปแล้ว ต่อมาในปี 1951 เขาก็สร้างเวอร์ชั่นที่ 3 ขึ้น ที่มีหลายเวอร์ชั่นขนาดนี้เพราะเขาถือว่างานแบบ Readymades นั้นจะถูกผลิตขึ้นเป็นจำนวนมากอยู่แล้ว มันจึงไม่มีงานศิลปะชิ้นใดของเขาที่เป็นต้นแบบเลย

L.H.O.O.Q. (1919)

L.H.O.O.Q. คือภาพ Mona Lisa ของ Leonardo da Vinci ที่ Duchamp ปรับเปลี่ยนโดยทำให้เธอกลายเป็นผู้ชายด้วยการวาดหนวดและเคราด้วยดินสอ ทั้งตั้งชื่อผลงานขึ้นใหม่ซึ่งเป็นการเล่นสำนวนซึ่งดูหยาบคาย

เมื่อออกเสียงเป็นภาษาฝรั่งเศส คำว่า L.H.O.O.Q จะพ้องกับคำว่า "Elle a chaud au cul" ซึ่งแปลว่า "She is hot in the arse" หรือ "She has a hot as" ทั้งยังพ้องกับคำว่า "avoir chaud au cul" ซึ่งเป็นการบอกกลายๆ ว่าหญิงงามคนนี้นั้นแซ่บขั้นสุด

เมื่อรวมความตั้งใจของ Duchamp ว่า Mona Lisa ของเขาเป็นผู้ชายจริงๆ ไม่ใช่ผู้หญิงที่ปลอมตัวเป็นชาย เข้ากับชื่อของผลงานที่เขาแฝงไว้ (เธอมีก้นอันเร่าร้อน) ก็อาจสื่อได้ว่า Da vinci นั้นเป็นศิลปินชายรักชายนั่นเอง หลายคนจึงกล่าวว่า Duchamp เปิดเผยเพศที่คลุมเครือของศิลปินในตำนาน ซึ่งสัมพันธ์กับประเด็นการกลับเพศที่ Duchamp สนใจ เพราะเขาเองก็ได้สร้าง Rrose Sélavy หรืออัลเทอร์อีโกเพศหญิงของเขาเองขึ้นมา ชื่อนี้ออกเสียงว่า “Eros, c'est la vie” หมายถึง “อีรอส นั่นคือชีวิต” ซึ่งอีรอสเป็นเทพเจ้าแห่งความรัก

อย่างไรก็ตาม การนำศิลปะในตำนานของเรเนอร์ซองส์มาเปลี่ยนซะเสียชื่อตรงนี้ก็เป็นการท้าทายความสูงส่งของศิลปะของลัทธิดาด้า ไม่ต่างจากงาน Readymades ชิ้นอื่นของเขา

16 Miles of String (1942)

16 Miles of String (1942) เป็นงานศิลปะของ Duchamp ที่จัดขึ้นในนิทรรศการ First Papers of Surrealism ประกอบด้วยภาพเขียนและประติมากรรมโดยศิลปินเซอร์เรียลิสม์หรือลัทธิเหนือจริงมากกว่า 30 คน งานครั้งนี้จัดขึ้นที่คฤหาสน์ Whitelaw Reid ใจกลางเมืองแมนฮัตตัน

Duchamp ได้เปลี่ยนคฤหาสน์อันโอ่อ่าให้เต็มไปด้วยเชือกที่พันโยงไปมาเพื่อสร้างบรรยากาศแปลกใหม่จนทำให้มองเห็นศิลปะชิ้นอื่นในงานยาก นอกจากนั้น Duchamp ยังจ้างเด็กๆ ให้แต่งตัวในชุดกีฬามาเล่นกีฬาท่ามกลางผู้เข้าร่วมนิทรรศการที่สวมชุดทักซิโด้

ไม่แปลกใจที่จิตรกรบางคนไม่พอใจกับงานของเขาที่ไปบดบังงานของจิตรกรคนอื่นๆ ที่ตั้งใจมาจัดแสดงเพราะกลัวว่าจะไม่มีใครเห็นงานของเขา แต่ Duchamp มองว่าเส้นสายที่โยงไปมานั้นก็ไม่ได้ไปบดบังอะไร ผู้คนยังสามารถมองทะลุผ่านไปได้ เหมือนกับที่เราสามารถมองเห็นบางสิ่งผ่านหน้าต่าง ผ่านผ้าม่านทั้งหนาและไม่หนา ถ้าเราสนใจที่จะมองมันจริงๆ

หลายคนจึงกล่าวว่าที่จริงแล้วเส้นสายที่โยงใยของเขาไม่ได้มีเพื่อปิดบังผลงานแต่เป็นการเล่นกับพื้นที่และเล่นกับประสบการณ์และไอเดียการชมผลงานอีกรูปแบบหนึ่ง หลายคนบอกว่างานของเขาแสดงถึงความซับซ้อนในการทำความเข้าใจศิลปะร่วมสมัย แต่บางคนบอกว่านี่คือการเบลอขอบเขตของแกลลอรี่

ส่วนการที่จ้างเด็กๆ มาเล่นในนิทรรศการนั้นก็อาจเป็นการสะท้อนแนวคิดของ Duchamp ว่าศิลปะที่แสดงอยู่รอบกำแพงไม่สามารถสื่อสารความเหนือจริงออกมาได้ดีเทียบเท่ากับความเป็นธรรมชาติและความสดใหม่ของวัยเด็ก

เรียกว่ามีคนตีความงานครั้งนี้ไว้หลากหลายรูปแบบจนไม่สามารถกำหนดได้ว่าความหมายที่แท้จริงของ Duchamp คืออะไร

Étant donnés (1966)

Etant donnes ประกอบด้วยภาพสามมิติที่จะเห็นได้ผ่านรูเล็กๆ ภาพที่ว่าคือภาพผู้หญิงเปลือยที่ตั้งข้อสังเกตว่าอาจเสียชีวิตไปแล้ว ขสของเธออ้าออก และมือหนึ่งถือตะเกียงแก๊สเรืองแสง ด้านหลังของเธอคือภูเขาที่ถ่ายในสวิตเซอร์แลนด์ 

เมื่อมองแวบแรก Etant donnes คล้ายกับภาพวาด Origine du Monde (1866) ของ Courbet แต่เมื่อพิจารณาดีๆ นี่อาจเป็นภาพสะท้อนขอบเขตระหว่างศิลปินและผู้ชม ในทางหนึ่ง มันน่าจะสัมพันธ์กับการที่ลัทธิเหนือจริงเกิดขึ้นในช่วงสงครามโลกที่มีการสังหารผู้คนจนศิลปินหลายคนหันไปเล่นกับประเด็นของความลึกลับ เช่น ไพ่ทาโร่ มนต์ดำ และประเด็นเหล่านั้นก็มักจะค่อยๆ ขยับเข้ามาสู่ในตัวบ้านมากกว่าโลกภายนอก 

บางคนจึงบอกว่าภาพทิวทัศน์ที่เห็นคือการชวนให้ผู้คนได้แยกออกจากความไม่คาดฝันและเหนือจินตนาการ บ้างก็ว่านี่คือเครื่องมือในการตั้งคำถามต่อการตระหนักรู้ในตนเอง หรืออาจเป็นการทำสมาธิทางจิตวิญญาณเพราะมีสัญลักษณ์ของโคมไฟในภาพ 

ความน่าสนใจคือ Duchamp สร้างภาพนี้ขึ้นอย่างลับๆ นานกว่า 20 ปี หรือตั้งแต่ปี 1946-1966 โดยมีแฟนคนแรกเป็นแบบหลักให้กับงานชิ้นนี้ก่อนที่แฟนคนที่สองจะเป็นแบบให้กับแขนของหญิงสาวในภาพ เขายังจัดทำคู่มือสำหรับการติดตั้งไว้ด้วยเพราะเขาตั้งใจให้งานชิ้นนี้ติดตั้งหลังจากเขาเสียชีวิตไปแล้วโดยมอบหมายให้ภรรยาและลูกเลี้ยงเป็นคนจัดการแทน  

เมื่องานนี้เปิดเผยออกสู่สายตาประชาชน ทั้งโลกจึงตกใจเพราะคิดว่าเขากันหลังให้งานศิลปะไปกว่า 25 ปีเพื่อไปเล่นหมากรุก

อ้างอิง :
theculturetrip
wikipedia
artincontext
theguardian
dailyartmagazine