ศิลปะควรเป็นดังบ่อน้ำกลางทะเลทราย เป็นพื้นที่หลบหนีจากความทุกข์ทนของชีวิต
‘ศิลปินชาวละตินผู้เป็นที่รู้จักมากที่สุดที่ยังมีชีวิตอยู่’ เคยเป็นคำอธิบายต่อท้ายชื่อของ เฟอร์นันโด โบเตโร ศิลปินชาวโคลอมเบียผู้มาจากเมืองเมเดยิน แต่เมื่อวันที่ 15 กันยายนที่ผ่านมา คำอธิบายดังกล่าวไม่สามารถใช้ต่อท้ายชื่อของโบเตโรอีกต่อไป เพราะศิลปินผู้ใช้มีอารมณ์ขันเป็นอาวุธสำคัญในการสร้างงานศิลปะผู้นี้ได้จากโลกไปแล้วในวันดังกล่าว ด้วยวัย 92 ปี
ภาพผู้คนร่างอวบกลม ตั้งแต่หญิงสาวชาวนา นักสู้วัวกระทิง ไปจนถึงโมนาลิซา อาจเป็นประตูด่านแรกที่แง้มชวนผู้ชมให้เข้าไปสำรวจมุมมองเปี่ยมอารมณ์ขันที่โบเตโรใช้ในการมองโลกของเขา แต่เมื่อผ่านประตูบานนี้เข้าไป ผู้ชมก็จะได้เข้าไปสำรวจโลกอีกใบของโบเตโรที่เขาประกอบขึ้นมาด้วยการสร้างความหมายใหม่ให้สิ่งต่าง ๆ ที่อยู่ในชีวิตประจำวัน และการสำรวจประวัติศาสตร์การเมืองของอเมริกาใต้ด้วยมุมมองใหม่
ในวาระที่ศิลปินละตินที่เป็นที่รู้จักมากที่สุดที่ (เคย) มีชีวิตอยู่ได้จากไป GroundControl จึงขอชวนทุกคนไปย้อนสำรวจชีวิตและผลงานของเขาร่วมกัน
ว่าที่นักสู้วัวกระทิงที่สนใจแต่การวาดวัวกระทิง
เฟอร์นันโด โบเตโร เป็นลูกคนกลางในบรรดาพี่น้องสามคน พ่อของเบอร์นันโดเป็นพนักงานขายผู้สะสมหนังสือคลาสสิกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นหนังสือประวัติศาสตร์เกี่ยวกับการปฏิวัติฝรั่งเศส หรือชุดวรรณกรรมอิตาลีอย่าง Divine Comedy ของ ดันเต อาลีกีเอรี ซึ่งหนังสือเหล่านี้ก็เป็นต้นเค้าแรงบันดาลใจสู่การเป็นศิลปินของโบเตโร
เมื่อพ่อของโบเตโรจากไปในตอนที่เขามีอายุได้เพียงสี่ขวบ ลุงผู้เป็นนักสู้วัวกระทิงก็กลายมาเป็นตัวแทนของพ่อผู้จากไป และเมื่อโบเตโรอายุได้เพียง 12 ปี ลุงของเขาก็ส่งเขาเข้าเรียนในโรงเรียนสอนการสู้วัวกระทิง แต่โบเตโรที่เริ่มสนใจศิลปะกลับใช้เวลาในการเรียนไปกับการวาดกระทิงแทน
แม้ว่าจะเกิดและเติบโตในเมเดยินซึ่งเป็นเมืองที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับสองของประเทศโคลอมเบีย แต่เมืองที่มีประชากรกว่า 2.5 ล้านคนแห่งนี้กลับแร้งไร้ซึ่งแกลเลอรีและพื้นที่ชมงานศิลปะ อีกทั้งยังอุดมไปด้วยอาชญากรรมและความรุนแรง อันเนื่องมาจากเมืองแห่งนี้เป็นทั้งบ้านเกิดและฐานที่มั่นของเจ้าพ่อค้ายาเสพติดที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์อย่าง ปาโบล เอสโกบาร์ นั่นทำให้แหล่งเสพศิลปะแห่งเดียวของเด็กชายโบเตโรคือบรรดาโบสถ์เก่าที่ถูกสร้างขึ้นในช่วงการครอบครองอาณานิคมของสเปน รวมไปถึงบรรดาโบราณวัตถุก่อนยุคโคลอมเบียได้รับเอกราช ซึ่งถูกจัดแสดงไว้ในพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น เด็กชายโบเตโรจึงมักถือกระดานวาดรูปไปนั่งสเก็ตช์ภาพโบสถ์เก่ากลางแสงแดด หรือไม่ก็นั่งวาดภาพวิวเมืองตามท้องถนน
คนแรกที่เล็งเห็นพรสวรรค์ของโบเตโรหาใช่ใครอื่น นอกจากคนขายตั๋วสังเวียนนักสู้วัวกระทิงที่รับหน้าที่เป็นนายหน้าขายภาพวัวกระทิงและมาทาดอร์ให้กับผู้ชมที่มาซื้อตั๋ว ซึ่งโบเตโรก็นำเงินที่ได้จากการขายภาพเหล่านี้ส่งตัวเองเรียนมัธยมปลาย
ในขณะที่เรียนอยู่ในชั้นมัธยมปลาย โบเตโรยังมีอีกหนึ่งช่องทางหาเงินเป็นการเขียนบทความศิลปะส่งหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น จุดเปลี่ยนชีวิตของโบเตโรมาถึงเมื่อเขาเขียนบทความเกี่ยวกับผลงานของ ปาโบล ปิกัสโซ โดยตั้งข้อสังเกตว่า ‘การล่มสลายของรูปทรง’ (destruction of form) อันเป็นเอกลักษณ์ในผลงานของปิกัสโซนั้น คือภาพสะท้อนการล่มสลายของตัวตนของผู้คนในสังคมอเมริกาใต้ยุคใหม่ ในภายหลัง บทความดังกล่าวถูกตีความว่าเป็นการสะท้อนอุดมการณ์แบบมาร์กซิสต์ ส่งผลให้โบเตโรถูกไล่ออกจากโรงเรียน และในตอนนั้นเองที่โบเตโรตัดสินใจแน่วแน่และบอกกับแม่ของเขาว่า เขาจะเป็นจิตรกร ซึ่งแม่ของเขาตอบกลับมาเพียงว่า “แกอดตายแน่ ๆ”
Boterismo
ปรากฏว่าโบเตโรไม่เพียงไม่อดตายตามคำทำนายของผู้เป็นแม่ แต่เขาในวัย 20 ปี เขาเดินทางไปโบโกตา และได้จัดแสดงผลงานเดี่ยว รวมถึงได้รางวัลศิลปะระดับประเทศ ซึ่งโบเตโรก็ใช้เงินที่ได้จากการขายงานและเงินรางวัลจากการประกวดครั้งนั้นเป็นทุนพาตัวเองไปเรียนต่อด้านศิลปะในกรุงมาดริด ประเทศสเปน ที่ซึ่งเขาใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการวาดภาพเลียนแบบผลงานของศิลปินระดับตำนานอย่าง ฟรานซิสโก โกยา และ ดิเอโก เบลัซเกซ
โบเตโรยังเดินทางไปยังกรุงปารีสและฟลอเรนซ์ โดยในช่วงนี้เขายังคงฝึกฝนฝีมือด้วยการคัดลอกผลงานของจิตรกรดัง ๆ อีกทั้งยังศึกษาการวาดจิตรกรรมประดับเพดานของศิลปินมาสเตอร์ยุคเรเนซองส์ แต่เมื่อโบเตโรเดินทางกลับมายังโคลอมเบียในปี 1955 นั่นเอง ที่เขาได้ค้นพบสุนทรียะทางศิลปะในแบบของตัวเอง ที่จะกลายเป็นเอกลักษณ์สำคัญในผลงานของเขาเรื่อยมา
Still Life with Mandolin (1956) คืออีกหนึ่งผลงานที่สะท้อนอิทธิพลของศิลปะคลาสสิกที่โบเตโรรับมาจากการเดินทางไปศึกษาผลงานของมาสเตอร์จากยุคเก่าก่อน ด้วยการนำเสนอ ‘ภาพหุ่นนิ่ง’ (Still Life) หรือภาพข้าวของเครื่องใช้ที่ถูกนำมาจัดวางเป็นแบบ อันเป็นรูปแบบงานจิตรกรรมที่เป็นที่นิยมตั้งแต่ศตวรรษที่ 17 เรื่อยมา หากแต่ในภาพหุ่นนิ่งที่นำเสนอเครื่องดนตรีแมนโดลินชิ้นนี้ โบเตโรได้ค้นพบเอกลักษณ์ของตัวเองอย่างง่าย ๆ ด้วยการวาด ‘รู’ ตรงกลางแมนโดลินให้มีขนาดเล็กผิดไปจากของจริง ซึ่งส่งผลให้ภาพแมนโดลินของเขามีลักษณะอวบผิดรูปไปจากความเป็นจริง หากแต่สำหรับโบเตโรแล้ว การนำเสนอสัดส่วนที่ผิดไปจากของจริงนี้กลับเป็นหนทที่พาเขาหลบลี้ออกจาก ‘ความเป็นจริง’ ดังที่เขาเคยอธิบายว่า “ฉันไม่อยากเป็นนักโทษที่ถูกจองจำอยู่ในความเป็นจริง”
เอกลักษณ์ในงานของโบเตโรที่มุ่งนำเสนอภาพของวัตถุต่าง ๆ ในเวอร์ชันอวบอัดนี้จะถูกเรียกชื่อเฉพาะว่า ‘Boterismo’ ซึ่งมาจากชื่อของเขานั่นเอง แม้ว่าในภายหลัง โบเตโรจะถูกขนานนามว่าเป็นจิตรกรผู้วาดคนอ้วน แต่โบเตโรยืนยันว่าสุนทรียะของเขาหาได้เกี่ยวข้องกับการสำรวจค่านิยมเรื่องความงาม หากแต่เป็นการวิธีการสำรวจรูปทรงในอีกแบบหนึ่งที่เขาค้นพบ ดังที่ปิกัสโซค้นพบมุมมองใหม่ในการมองสิ่งต่าง ๆ ผ่านเหลี่ยมมุมในสุนทรียะบาศกนิยม (Cubism)
“การวาดภาพแบบนี้เปิดให้ฉันได้สำรวจอารมณ์ความรู้สึกของรูปทรง รวมถึงความเย้ายวนและความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติแห่งงานศิลปะ”
และแม้ว่าคนทั่วไปจะใข้คำว่า ‘อ้วน’ ในการอธิบายวัตถุและผู้คนที่อยู่ในภาพของเขา แต่โบเตโรยืนยันว่า คำที่เหมาะสมที่สุดควรเป็นคำว่า ‘ปริมาตร’ หรือ ‘volumetric’ มากกว่า ตามที่เขาเคยอธิบายว่า “ฉันเชื่อว่าภาพวาดต้องให้ความรู้สึกล้นพ้น กระตุ้นเร้า และอิ่มเอิบ และฉันก็ได้ค้นพบวิธีที่ในการถ่ายทอดความกระตุ้นเร้าที่เกิดจากรูปทรงและปริมาตรเหล่านี้ออกมา สรุปแล้ว ผลงานของฉันไม่ใช่การแสดงความเห็นเกี่ยวกับความอ้วนหรือความผอม หากแต่เป็นการสะท้อนวิถีทางหนึ่งในการชื่นชมความงดงามในงานศิลปะ”
ไม่ใช่ศิลปินโคลอมเบียที่ดังที่สุด แต่เป็นศิลปินที่มีความ ‘โคลอมเบีย’ ที่สุด
แม้ว่าหลังจากประสบความสำเร็จจากการค้นพบสไตล์ Boterismo ในแบบของตัวเองแล้ว เขาจะถูกขนานนามว่า ‘ศิลปินโคลอมเบียที่มีชื่อเสียงมากที่สุด’ แต่โบเตโรมักค้านว่า เขาคือ ‘ศิลปินโคลอมเบียที่มีความโคลอมเบียมากที่สุด’ มากกว่า โดยเขายืนยันว่า ไม่ว่าเขาจะวาดอะไรก็ตาม ธีมหลักในผลงานของเขายังคงเป็น ‘โคลอมเบีย’ เสมอ “รากของศิลปินคือแผ่นดินเกิดของพวกเขา ชีวิตของพวกเขา ชีวิตของฉันคือโคลอมเบีย และแผ่นดินของฉันคือโคลอมเบีย”
โบเตโรเริ่มสร้างผลงานที่สะท้อนสภาพการเมืองในโคลอมเบียชิ้นแรกระหว่างที่เขาอาศัยอยู่ในนิวยอร์ก ผลงานชิ้นนั้นคือ La familia presidencial (The Presidential Family) (1967) ที่เขานำเสนอภาพของประธานาธิบดีโคลอมเบียและครอบครัวที่ประกอบด้วย ภรรยา แม่ภรรยา และลูกสาว ยืนประกอบข้างโดยนายพลและบิชอป ที่อยู่เบื้องหลังของพวกเขาคือทิวทัศน์ของประเทศโคลอมเบียที่อยู่ไกลออกไป สะท้อนถึงความสัมพันธ์ของคนกลุ่มนี้กับแผ่นดินโคลอมเบียที่หาได้มีความเชื่อมโยงเกี่ยวพันกัน
“สถานการณ์ในโคลอมเบียมันบิดเบี้ยวผิดรูปร่างไปหมด คุณไม่สามารถทำเป็นมองไม่เห็นความรุนแรง คนนับพันที่ต้องไร้บ้าน และคนตายกับโลงศพไปได้ แม้ว่ามันจะขัดกับแนวทางศิลปะที่ฉันเคยทำมา แต่ฉันต้องวาดมัน วาดความรุนแรงในโคลอมเบีย”
ใน Dancing in Colombia (1980) โบเตโรนำเสนอภาพของคู่รักที่กำลังเต้นรำไปกับจังหวะดนตรีของวงพื้นบ้านโคลอมเบีย แต่รายละเอียดที่โบเตโรแอบแทรกเข้าไปในภาพนี้ก็คือก้นบุหรี่และเปลือกส้มที่เกลื่อนกลาดอยู่บนฟลอร์เต้นรำ ซึ่งไม่เพียงเติมองค์ประกอบของชีวิตจริงเข้าไปในภาพ แต่ยังช่วยทำให้ภาพรวมของผลงานชิ้นนี้เป็นการสะท้อนชีวิตชนชั้นกรรมาชีพในโคลอมเบียที่เกี่ยวพันกับดนตรีและวรรณกรรมพื้นบ้านอย่างลึกซึ้ง
Car Bomb (1999) คือผลงานเปิดซีรีส์ชุดภาพวาด ‘Violence’ ที่โบเตโรถ่ายทอดความรุนแรงในโคลอมเบียอันเป็นผลพวงจากแก๊งเครือข่ายยาเสพติด ในผลงานชิ้นนี้ โบเตโรนำเสนอภาพรถยนต์ที่ลุกเป็นไฟ โดยมีฉากหลังเป็นบ้านที่กำลังพังถล่ม ซึ่งการวางระเบิดในรถหรือคาร์บอมบ์นั้นเป็นสิ่งที่พบเห็นได้แทบเป็นปกติในโคลอมเบีย
และดังที่เล่าไปข้างต้นว่า โบเตโรเกิดที่เมืองเมเดยิน อันเป็นบ้านเกิดและฐานที่มั่นของเจ้าพ่อยาเสพติดอย่างปาโบล เอสโกบาร์ เช่นกัน โบเตโรผู้สร้างผลงานสะท้อนความรุนแรงจากแก๊งค้ายาในโคลอมเบีย จึงมีผลงานที่นำเสนอเรื่องราวของเอาโกบาร์ถึงสองชิ้นคือ Death of Pablo Escobar (1999) ที่นำเสนอฉากการตายของเจ้าพ่อผู้ทรงอิทธิพลเหนือหลังคาบ้านเรือน และอีกภาพหนึ่งคือ Pablo Escobar Dead (2006) ที่นำเสนอฉากเดียวกัน แต่เพิ่มแง่มุมทางสังคมมากขึ้น ด้วยการใส่ภาพตำรวจ และหญิงชาวบ้านที่เศร้าโศกต่อการจากไปของอาชญากรผู้ได้ชื่อว่าเป็นโรบินฮู้ดแห่งโคลอมเบีย
ครั้งหนึ่ง เมื่อเกิดระเบิดขึ้นในบ้านหลังหนึ่งของเอสโกบาร์ แล้วมีรายงานจากตำรวจที่เข้าไปตรวจสอบความเสียหายว่า ในจำนวนงานศิลปะที่ถูกค้นพบภายในบ้านของเอสโกบาร์ ยังพบงานของโบเตโรชิ้นหนึ่งด้วย การค้นพบว่าเจ้าพ่อค้ายาเบอร์ใหญ่ของโคลอมเบียครอบครองผลงานของตน สร้างความหัวเสียให้โบเตโรเป็นอย่างมาก จนเขาต้องขอให้เพื่อนบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ช่วยเขียนข้อแถลงตีพิมพ์ว่าเขา ‘ขยะแขยง’ กับการที่ผลงานของเขาตกไปอยู่ในมือเอสโกบาร์มาก ๆ
Abu Ghraib
นอกจากเรื่องราวความรุนแรงในบ้านเกิดแล้ว โบเตโรยังมุ่งมั่นวิพากษ์และสำรวจความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่อื่น ๆ ของโลก อันเป็นที่มาของซีรีส์ผลงานที่ชื่อว่า Abu Ghraib ที่ตั้งชื่อมาจากคุกแห่งหนึ่งในอิรัก ซึ่งมีรายงานข่าวการใช้ความรุนแรงของทหารอเมริกันในการรีดข้อมูลและลงโทษนักโทษชาวอิรัก
“คุณอ่านเรื่องราวเหล่านี้ในหน้าข่าว ความรุนแรงเหล่านี้ และมันก็ก่อเกิดแรงกระแทกรุนแรงต่อตัวคุณ” โบเตโรโรเคยอธิบายถึงจุดเริ่มต้นของชุดภาพวาดกว่า 80 ชิ้นชุดนี้ “ในฐานะศิลปิน คุณเกิดแรงขับดันที่จะถ่ายทอดชุดความจริงนี้”
Abu Ghraib 46 (2005) เป็นหนึ่งในภาพวาดที่โด่งดังที่สุดในชุดคุกนรกแห่งอิรัก การใช้สุนทรียะแบบ Boterismo ที่เน้นความอวบอิ่มของเรือนร่าง กลับขับเน้นความรุนแรงที่กระทำต่อผู้ถูกทารุณอย่างโหดร้ายและถึงเลือดถึงเนื้อ ซึ่งผลงานชุดนี้ก็ได้รับเสียงชื่นชมในแง่ของการหยิบเนื้อแท้ของความรุนแรงมาเปิดเผยต่อหน้าผู้ชมได้อย่างสะเทือนใจ และโบเตโรก็ปฏิเสธที่จะทำกำไรกับผลงานชุดนี้ แต่เลือกที่จะบริจาคผลงานชุดนี้ให้กับพิพิธภัณฑ์ใดก็ได้ที่สัญญาว่าจะจัดแสดงงานนี้ตลอดไป เพื่อตีแผ่ความโหดร้ายรุนแรงให้ประจักษ์ต่อสายตาผู้ชม
ผลตอบรับจากงานชุดนี้ยังทำให้โบเตโรได้รับอีเมลข่มขู่และถูกประณามว่าเป็นพวก ‘ต่อต้านอเมริกัน’ ซึ่งโบเตโรก็สวนกลับว่า “ต่อต้านอเมริกันมั้ย?… ไม่ ต่อต้านการทารุณกรรมและความไร้มนุษยธรรมมั้ย?… ใช่ ฉันเชื่อว่าคนอเมริกันส่วนใหญ่ก็ไม่ยอมรับความรุนแรงนี้เช่นกัน และสื่อที่ตีแผ่เรื่องราวเหล่านี้ก็เป็นสื่ออเมริกัน พวกคุณโชคดีมากที่มีเสรีภาพมากพอที่ทำให้คุณสามารถนำเสนอเรื่องเหล่านี้ได้”
“ศิลปะคือสิ่งสำคัญ”
ในปี 1994 โบเตโรตกเป็นเหยื่อการพยายามลักพาตัว แต่โชคดีที่ไม่สำเร็จ แต่ในปีถัดมา โบเตโรก็ตกเป็นเป้าโจมตีอีกครั้ง เมื่อกลุ่มผู้ก่อการร้ายติดอาวุธทำการระเบิดประติมากรรมรูปนกแห่งสันติภาพอย่าง Pájaro (Bird) ของโบเตโร ที่ตั้งอยู่ในเมืองเมเดยิน ผลพวงจากแรงระเบิดไดนาไมต์หนัก 22 ปอนด์นี้ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตถึง 30 คน บาดเจ็บกว่า 200 คน เนื่องจากบริเวณที่เกิดเหตุระเบิดในช่วงเวลานั้นกำลังมีเทศกาลดนตรี
ในภายหลัง กลุ่ม FARC (Revolutionary Armed Force of Colombia) ได้ออกมาประกาศว่าตนเป็นผู้ก่อเหตุ เนื่องจากความไม่พอใจในท่าทีของรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมในช่วงเวลานั้น ซึ่งเป็นลูกชายของโบเตโร ที่ได้ปฏิเสธการเจรจากับทางกลุ่ม
ในส่วนของโบเตโร เขาเศร้าเสียใจกับเหตุการณ์ดังกล่าวมาก ในภายหลัง เขาได้นำเศษซากของประติมากรรมนกที่ถูกระเบิดมาสร้างเป็นงานชิ้นใหม่ ชื่อว่า La Paloma de la Paz หรือ ‘พิราบแห่งสันติภาพ’ แล้วมอบให้กับเมืองเมเดยิน
นอกจากผลงานชุด Abu Ghraib แล้ว โบเตโรยังสร้างสรรค์ผลงานที่ตีแผ่ความรุนแรงในโคลอมเบียต่อมาอีกมากมาย โดยมุ่งไปที่ความรุนแรงที่เกิดจากแก๊งค้ายา ไม่ว่าจะเป็นการลักพาตัว สังหารหมูา หรือคาร์บอมบ์ ซึ่งเขาก็ยอมรับว่าผลงานช่วงหลังของเขานั้นเปลี่ยนไปจากช่วงแรกที่เขามุ่งวาดภาพที่ทำให้เกิดความเพลิดเพลินใจมาก ๆ “มันเปลี่ยนไปจากเดิมมาก …โคลอมเบียที่เคยใจดีกว่านี้ที่ฉันเคยได้รู้จักเมื่อตอนยังเป็นเด็ก โคลอมเบียในตอนนี้เต็มไปด้วยความรุนแรง ห่างไกลจากภาพฝัน แต่มันคือความเป็นจริงที่เราไม่อาจเมินหน้าหนีได้”
และเมื่อถูกถามว่าทำไมเขาถึงเลือกที่จะอุทิศผลงานของตนให้กับการตีแผ่ความรุนแรงและความไร้ซึ่งมนุษยธรรมในโลกใบนี้ โบเตโรก็ตอบว่า “ศิลปะคือสิ่งสำคัญ เมื่อผู้คนเริ่มจะลืมเลือน ศิลปะจะเป็นตัวช่วยเตือนให้เราระลึกถึงสิ่งที่เคยเกิดขึ้น”