เรื่อง: จิรัฏฐ์ ประเสริฐทรัพย์
ภาพ: จิรัฏฐ์ ประเสริฐทรัพย์ และ Gallery Seescape
แม้จะจบการศึกษาที่เชียงใหม่ และมีสตูดิโอปั้นเซรามิกอยู่ในจังหวัดเพื่อนบ้านอย่างเชียงราย กระนั้นอาจารย์สมลักษณ์ ปันติบุญ เองก็ยังแปลกใจว่าตลอดสี่สิบกว่าปีที่เขาเริ่มทำงานศิลปะ นิทรรศการ Fragments of Time ที่กำลังจัดอยู่ที่ Gallery Seescape นี้กลับเป็นนิทรรศการเดี่ยวครั้งแรกของเขาที่เชียงใหม่
“ผมเคยมีงานนิทรรศการกลุ่มที่เชียงใหม่อยู่หลายครั้ง แต่นั่นสิ อาจเพราะเชียงใหม่มันอยู่ใกล้มั้ง เลยไม่เคยได้จัดนิทรรศการเดี่ยวที่นี่สักครั้ง” เขาเล่า
สมลักษณ์ ปันติบุญ คือศิลปินชาวเชียงราย จบการศึกษาด้านเซรามิกที่เชียงใหม่ (สถาบันเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา วิทยาเขตภาคพายัพ) ช่วงวัยหนุ่มเขามีโอกาสเข้าร่วมโครงการเครื่องปั้นดินเผาของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) และได้เรียนรู้กระบวนการทำเซรามิกจากพระนิกายเซนของญี่ปุ่น ก่อนจะไปร่ำเรียนกับ นากาซาโตะ ทารุเอมอน (Nakagato Tarouemon) ปรมาจารย์ด้านเครื่องปั้นดินเผาคาราทซึ (Karatsu Klin) ที่เมืองคาราทซึ ประเทศญี่ปุ่น เขาได้ฝึกฝนงานปั้นหลายปี ก่อนที่ผลงานจะได้รับการยอมรับรวมถึงได้จัดแสดงในนิทรรศการระดับชาติของที่นั่น สมลักษณ์กลับมาเปิดสตูดิโอ “เครื่องปั้นดินเผาดอยดินแดง” (Doi Din Dang Pottery) ที่เชียงรายเมื่อปี 1991 ซึ่งเป็นทั้งสตูดิโอผลิตงานเซรามิกเพื่อการใช้สอยควบคู่ไปกับการทำงานศิลปะจากเครื่องปั้นดินเผา รวมถึงจิตรกรรมและสถาปัตยกรรมโครงสร้างไม้ในเวลาต่อมา ผลงานของเขาได้รับรางวัลระดับชาติและได้รับการยอมรับระดับนานาชาติมากมาย ทั้งยังได้รับเชิญไปจัดนิทรรศการเดี่ยวและกลุ่มในญี่ปุ่นและหลายประเทศทั่วโลก
ด้วยเหตุนี้ Fragments of Time จึงไม่ใช่แค่นิทรรศการเดี่ยวครั้งแรกของศิลปินที่ถูกขนานนามว่าเป็น “มือหนึ่ง” ในงานเซรามิกของประเทศผู้นี้ หากนี่ยังเป็นนิทรรศการแรกที่นำเสนอผลงานของอาจารย์ในรูปแบบที่แตกต่างและไม่เคยปรากฏมาก่อน กล่าวอย่างรวบรัด มันคือนิทรรศการที่นำเสนอผลงานที่แตกพัง หรือไม่สมบูรณ์อย่างตั้งใจ ซึ่งไม่ใช่แค่การนำเสนอความงามจากตำหนิและร่องรอยของกาลเวลาตามปรัชญา “วะบิ ซะบิ” เท่านั้น แต่หมายถึงผลงานที่เกิดจากกระบวนการอบเครื่องปั้นดินเผาที่ล้มเหลวจริง ๆ ตั้งแต่ต้น ทว่าอาจารย์ก็นำชิ้นงานเหล่านั้นมาพัฒนาต่อเพื่อสร้างชีวิตและจิตวิญญาณใหม่ให้กับพวกมัน
“ในกระบวนการอบเซรามิก ย่อมมีชิ้นงานบางส่วนที่แตกร้าวหรือกระทั่งแตกพัง อันไหนใช้ไม่ได้จริง ๆ ก็ต้องทุบทำลาย แต่บางส่วนที่ผมเห็นแง่มุมความงามจากพวกมัน ผมก็เอาลวดมารัดบ้าง ใช้ทองมาเชื่อมแบบคินสึงิ (Kintsugi) บ้าง รวมถึงใส่ส่วนผสมอื่นเข้าไปแล้วมาอบใหม่” อาจารย์สมลักษณ์เล่า
“แต่ผมไม่เคยเอางานพวกนี้มาแสดงเลยนะ ทำเสร็จก็เก็บไว้ที่บ้านนั่นแหละ กระทั่งคุณเหิรและอาจารย์เซมาเจอนี่แหละ”
คุณเหิรและอาจารย์เซที่ว่า คือ เหิร – ต่อลาภ ลาภเจริญสุข เจ้าของ Gallery Seescape และ เซบาสเตียน ตายาค (Sebastian Tayac) ภัณฑารักษ์ของนิทรรศการชุดนี้ ผู้ที่คัดสรรผลงานแตกพังของอาจารย์สมลักษณ์ออกมาจัดแสดงให้ผู้ชมอย่างเราได้ไปตามรอยเส้นทางการเป็นศิลปินเซรามิกของอาจารย์ ซึ่งหลายชิ้นนั้น หากคุณไม่เคยได้ไปเยือนบ้านดอยดินแดง ที่จังหวัดเชียงราย ก็แทบเป็นไปไม่ได้เลยที่จะเคยผ่านตาของคุณมาก่อน
“ซึ่งผมก็ว่าเป็นแง่มุมที่น่าสนใจดีเหมือนกัน เอาจริง ๆ นี่มันคือชิ้นงานที่คนทำเซรามิกทุกคนต้องพบ ไม่สิ มันคือแง่มุมของชีวิตที่ทุกคนต้องเจออย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ด้วยซ้ำ เพราะต่อให้คุณจะร่ำรวยหรือสุขสบายแค่ไหน แต่ขึ้นชื่อว่าเป็นมนุษย์ คุณก็ต้องพบกับความไม่สมหวัง ชีวิตไม่เคยสมบูรณ์แบบ”
นิทรรศการประกอบด้วยประติมากรรมเซรามิก 9 ชิ้น และจิตรกรรมอีก 7 ชิ้น ซึ่งถูกสร้างขึ้นตลอด 10 ปีหลังมานี้ ทั้งหมดบอกเล่าถึงชีวิตและประสบการณ์ส่วนตัวของศิลปินผู้ใช้ชีวิตโดยมีธรรมชาติของผืนผ้าป่าและภูเขาอยู่รายล้อม เช่นเดียวกับวงล้อมของการสร้างสรรค์และการสูญเสีย
ในห้องจัดแสดงสีขาว บนแท่นเหล็กวางประติมากรรมที่ถูกพ่นด้วยสีดินแดงให้สอดรับกับชิ้นงาน นิทรรศการเริ่มเล่าด้วย Untitled (ไม่ระบุปี) งานประติมากรรมเมล็ดข้าวที่เรียงซ้อนกัน 14 เมล็ดความยาวหนึ่งเมตร ชิ้นที่ทั้งเหิรและเซบาสเตียนมองว่ามันเป็นจุดเริ่มต้นของโชว์นี้ ภาพแทนของเมล็ดพันธุ์ที่รอการแตกออกเป็นดอกผล การแตกพังของบางสิ่งที่นำไปสู่อีกสิ่งที่มีคุณค่า หาได้สะท้อนร่องรอยของความผิดพลาดแง่มุมเดียว
Plates in Line (2024) คืองานเซรามิกของจานจากดอยดินแดงที่แตกเป็นชิ้น ๆ และถูกเชื่อมให้ซ้อนต่อกันกว่า 60 ใบ ถือเป็นผลงานที่สะท้อนกิจวัตรอีกแง่มุมในการเป็นผู้ผลิตเซรามิกเชิงพาณิชย์ได้อย่างดี จานเหล่านี้คือผลงานที่เกิดจากกระบวนการอบที่ไม่สมบูรณ์ แต่แทนที่จะทำลายทิ้ง ศิลปินกลับควบรวมชิ้นส่วนที่แตกร้าวต่าง ๆ รวมร่างเป็นงานชิ้นเดียว
เช่นเดียวกับงานซีรีส์ Pot (2024) งานโอ่งขนาดใหญ่ 3 ชิ้น ที่บางอันฝาของมันเผยอออก บางอันถูกฉีกออกเป็นชิ้น ๆ ในกระบวนการอบ และบางชิ้นก็บิดเบี้ยวคล้ายอุกาบาต ศิลปินชุบชีวิตพวกมันด้วยการนำลวดมารัดให้เข้ารูป นำวัสดุธรรมชาติที่เขาพบรอบบ้านอย่าง ก้อนหิน เศษเปลือกไม้ กระทั่งเปลือกหอยมาเคลือบผิวและเข้าเตาอบใหม่ กลายเป็นประติมากรรมรูปร่างบิดเบี้ยวที่มีพื้นผิวตะปุ่มตะป่ำเหมือนแฟรงเกนสไตน์ ทว่ามีความเฉียบเนี้ยบหมดจด
ไม่เพียงเครื่องปั้น รอยแตกร้าวและวัสดุธรรมชาติยังปรากฏอยู่ในงานจิตรกรรมในนิทรรศการชุดนี้อย่างมีนัยสำคัญ Untiled (2019) คือจิตรกรรมชิ้นใหญ่ที่สุดในนิทรรศการ (490 x 200 ซม.) สร้างขึ้นจากดินและสีอะคริลิก ผลงานแบ่งออกเป็นสองส่วนอย่างชัดเจน ด้านซ้ายคือจิตรกรรมที่ศิลปินใช้ดินจากดอยดินแดงมาเคี่ยวกับกาวหนังสัตว์ ปาดทับซ้อนชั้นจนดูคล้ายแผ่นเหล็กที่ขึ้นสนิม ขณะที่ด้านขวาเป็นการใช้ดินจากภูมิภาคอื่น ๆ มาผสมกับสีอะคริลิก และใช้เกรียงขูดพื้นผิวจนเกิดเส้นสายนามธรรมคล้ายกับงานของ แอนโทนี ทาเปียส ศิลปินชาวสเปน แตกต่างก็ตรงที่ผลงานชุดนี้สะท้อนเฉดสีอันแตกต่างและเป็นธรรมชาติของเนื้อดินอันเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตของอาจารย์สมลักษณ์ได้อย่างมีชีวิตชีวา
Kam Ngo (2021) คือจิตรกรรมที่เปี่ยมสีสันที่สุดในโชว์ ผลงานที่ศิลปินสกัดสีชมพูสดจากดอกคำเงาะมาผสมกาวหนังสัตว์ใช้แทนสีอะคริลิก รวมถึงสีจากดินในพื้นที่รอบสตูดิโอ อาจารย์สมลักษณ์นำแนวคิดเรื่องการใช้สีมาจากแม่แสงดา ปันสิทธิ์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (การทอผ้า) แม่แสงดาคือช่างทอที่ริเริ่มนำสีชมพูจากดอกคำเงาะมาย้อมผ้า ซึ่งต่อมาเธอได้มอบเมล็ดพันธุ์ของต้นคำเงาะให้กับอาจารย์สมลักษณ์มาปลูกไว้ที่ดอยดินแดง
“ผมสนใจวิธีการที่ศิลปินท้องถิ่นนำวัสดุธรรมชาติที่มีรอบตัวในถิ่นกำเนิดของพวกเขามาใช้ มันเป็นพื้นฐานที่เป็นธรรมชาติที่สุดแล้วของช่างหัตถกรรมทุกภูมิภาค ขณะเดียวกันมันก็สะท้อนลักษณะต้นกำเนิดของชิ้นงานที่ผสานไปกับประสบการณ์ของผู้สร้างสรรค์แต่ละคน จิตรกรรมชิ้นนี้มันจึงบรรจุพื้นฐานในชีวิตประจำวันผมอย่างดิน และความทรงจำร่วมที่ผมมีกับแม่แสงดา” เขากล่าว
ในขณะที่นิทรรศการชุดนี้พูดถึงชิ้นส่วนที่แตกร้าวของกาลเวลา (Fragments of Time) เช่นเดียวกับที่ศิลปินออกตัวว่ามันเป็นงานที่สะท้อนความไม่สมบูรณ์อันเป็นเรื่องปกติของมนุษย์ เราจึงถามอาจารย์สมลักษณ์ถึงแง่มุมส่วนตัวเมื่อได้เห็นงานทั้งหมดถูกจัดเรียงไว้ด้วยกัน มีช่วงเวลาไหนที่อาจารย์รู้สึกถึงความผิดหวังหรือผิดพลาดมากที่สุดในชีวิต?
“ผมสนใจวิธีการที่ศิลปินท้องถิ่นนำวัสดุธรรมชาติที่มีรอบตัวในถิ่นกำเนิดของพวกเขามาใช้ มันเป็นพื้นฐานที่เป็นธรรมชาติที่สุดแล้วของช่างหัตถกรรมทุกภูมิภาค ขณะเดียวกันมันก็สะท้อนลักษณะต้นกำเนิดของชิ้นงานที่ผสานไปกับประสบการณ์ของผู้สร้างสรรค์แต่ละคน จิตรกรรมชิ้นนี้มันจึงบรรจุพื้นฐานในชีวิตประจำวันผมอย่างดิน และความทรงจำร่วมที่ผมมีกับแม่แสงดา” เขากล่าว
ในขณะที่นิทรรศการชุดนี้พูดถึงชิ้นส่วนที่แตกร้าวของกาลเวลา (Fragments of Time) เช่นเดียวกับที่ศิลปินออกตัวว่ามันเป็นงานที่สะท้อนความไม่สมบูรณ์อันเป็นเรื่องปกติของมนุษย์ เราจึงถามอาจารย์สมลักษณ์ถึงแง่มุมส่วนตัวเมื่อได้เห็นงานทั้งหมดถูกจัดเรียงไว้ด้วยกัน มีช่วงเวลาไหนที่อาจารย์รู้สึกถึงความผิดหวังหรือผิดพลาดมากที่สุดในชีวิต?
“ไม่มี” อาจารย์ตอบทันที “ไม่ใช่ว่าชีวิตผมไม่เคยผิดหวังหรือผิดพลาดอะไร แต่ไม่มีครั้งไหนที่รู้สึกถึงความเป็นที่สุด พออยู่มานานขนาดนี้ ผมมองว่าทั้งความเศร้าหรือความผิดหวัง มันเป็นเรื่องธรรมดาที่เราต้องเผชิญ รับมือ และผ่านมันไปให้ได้ ผมไม่ได้มองด้วยซ้ำว่าสิ่งที่ผมทำมันคืองานนามธรรมที่จะต้องให้คนดูตีความ ผมแค่ต้องการเผยตัวตนของวัตถุที่ไม่จีรังเหล่านี้ออกมา ไม่รู้ว่าตอบคำถามของคุณได้หรือเปล่านะ แต่ชีวิตก็แบบนี้” อาจารย์สมลักษณ์กล่าว
นิทรรศการ Fragments of Time โดยสมลักษณ์ ปันติบุญ จัดแสดงที่ Gallery Seescape นิมมานเหมินท์ ซอย 17 ถึงวันที่ 23 มิถุยายน 2024 (เปิดทุกวัน ยกเว้นวันจันทร์ 11.00 – 16.00 น.) Gallery Seescape/