ครบรอบ 232 ปี พิพิธภัณฑ์ลูฟว์ ย้อนรอย 5 เหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์ที่สะเทือนโลก

Post on 27 May 2025

10 พฤษภาคมของทุกปี คือวันครบรอบเปิดตัวพิพิธภัณฑ์ลูฟว์ หนึ่งในพิพิธภัณฑ์ระดับโลกที่รวมผลงานศิลปะระดับมาสเตอร์พีซเอาไว้หลายชิ้นครอบคลุมประวัติศาสตร์มนุษย์ยาวนานกว่า 11,000 ปี ไม่ว่าจะเป็น Mona Lisa ของเลโอนาร์โด ดา วินชี, The Wedding at Cana ของเปาโล เวโรเนเซ, หรือ The Raft of the Medusa ของเธโอดอร์ แชร์รีโก ทั้งยังเป็นที่จัดแสดงประติมากรรมโบราณชื่อดังอย่าง Venus de Milo และ Winged Victory of Samothrace ซึ่งดึงดูดนักท่องเที่ยวหลายล้านคนต่อปี

แต่ก่อนหน้าที่ลูฟว์จะกลายเป็นพื้นที่จัดแสดงงานศิลปะระดับโลก สถานที่แห่งนี้เคยทำหน้าที่เป็น ‘พระรางวัง’ ให้เหล่ากษัตริย์ของฝรั่งเศสพำนักอาศัยอยู่นานกว่า 200 ปี จนกระทั่งเกิดการปฏิวัติฝรั่งเศส 1789 ที่ทำให้พื้นที่แห่งนี้ถูกเปลี่ยนบทบาทหน้าที่ใหม่ จากสัญลักษณ์ของราชวงศ์สู่พิพิธภัณฑ์ของประชาชน โดยเปิดทำการขึ้นเป็นครั้งแรกในปี 1793 และเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคมที่ผ่านมา พิพิธภัณฑ์ลูฟว์ก็ได้เปิดทำการครบรอบ 232 ปี พอดี

ก่อนจะหมดเดือนพฤษภาคมนี้ไป GroundControl เลยอยากชวนทุกคนมาย้อนรอยประวัติศาสตร์พิพิธภัณฑ์ลูฟว์ ผ่านห้าเหตุการณ์สำคัญระดับโลกที่เคยเกิดขึ้นบนพื้นที่แห่งนี้ ตั้งแต่การเปลี่ยนวังหลวงเป็นพิพิธภัณฑ์ของประชาชน ศึกแย่งชิงศิลปะยุคนาซี คดีขโมยโมนาลิซาที่พลิกชื่อเสียงภาพระดับโลก การสร้างพีระมิดแก้วกลางเสียงวิจารณ์ ไปจนถึงการถ่ายทำ MV สุดไอคอนิกของ Beyoncé และ Jay-Z ที่ปลุกบทสนทนาใหม่ระหว่างศิลปะคลาสสิกกับวัฒนธรรมป๊อป เพื่อสะท้อนให้เห็นว่า ลูฟว์ไม่ใช่แค่พิพิธภัณฑ์เก็บงานศิลปะ แต่คือพื้นที่ที่ประวัติศาสตร์โลก เวทีอำนาจ และความเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม ต่างมาบรรจบกันอย่างมีนัยสำคัญ

จากพระราชวังสู่พิพิธภัณฑ์เพื่อประชาชน

พระราชวังลูฟร์เริ่มสร้างในปี 1546 โดยพระเจ้าฟรองซัวส์ที่ 1 บนพื้นที่ของป้อมเก่าที่สร้างไว้ตั้งแต่สมัยศตวรรษที่ 12 โดยตั้งใจให้ที่นี่กลายเป็นที่ประทับใหม่ที่สะท้อนความเจริญของยุคฟื้นฟูศิลปวิทยา และเป็นสถานที่เก็บรวบรวมผลงานศิลปะ ทรัพย์สมบัติ และสิ่งของทรงคุณค่าหลายชิ้น จนกระทั่งถึงยุคหลุยส์ที่ 14 พระราชวังลูฟว์ก็ได้ถูกขยายใหญ่ขึ้นจนกลายเป็นสัญลักษณ์ของความรุ่งเรืองแห่งฝรั่งเศส

แต่เมื่อยุคแห่งเหตุผล (Age of Enlightenment) ที่เชื่อว่าทุกคนควรมีสิทธิ์เข้าถึงความรู้และใช้เหตุผลได้อย่างเสรีพัดผ่านฝรั่งเศสในช่วงศตวรรษที่ 18 นักคิดและนักปรัชญาก็เริ่มตั้งคำถามถึงการมีอยู่ของความรู้และศิลปะในพื้นที่เฉพาะ เช่น พระราชวังและหอศิลป์ส่วนตัว ว่าทำไมศิลปะหรือแหล่งความรู้ต่าง ๆ จึงไม่เป็นสิ่งที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ และทำไมมันจึงต้องจำกัดอยู่ในมือของชนชั้นสูงหรือกลุ่มชนชั้นปกครองเท่านั้น ก็ทำให้มีการเรียกให้เปิดงานศิลป์ของราชวงศ์ให้คนทั่วไปได้ชม ด้วยเหตุนี้ ในสมัยพระเจ้าหลุยส์ที่ 15 พระองค์เลยเปิดพระราชวังลูฟว์เพื่อจัดแสดงภาพชั่วคราวในปี 1750

พระราชวังลูฟว์ถูกเปลี่ยนแปลงบทบาทอย่างถาวรท่ามกลางพายุของการปฏิวัติในปี 1789 ที่ปะทุขึ้นมาจากปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม เศรษฐกิจ และความไม่เท่าเทียมระหว่างชนชั้นในฝรั่งเศส พระราชวังลูฟว์ซึ่งเคยเป็นสัญลักษณ์ของอำนาจและความมั่งคั่งของราชวงศ์ ก็ค่อย ๆ กลายเป็นเหมือนหนามแหลม อัญมณี ศิลปะ และสมบัติมหาศาลที่ถูกเก็บไว้ในวัง กลายเป็นภาพแทนของความฟุ่มเฟือยที่ประชาชนไม่อาจเข้าถึงได้ ที่ตอกย้ำถึงการผูกขาดวัฒนธรรมโดยชนชั้นสูง

ด้วยเหตุนี้ หลังจากที่ฝ่ายปฏิวัติได้รับชัยชนะ พระราชวังลูฟว์ในฐานะที่เป็นหนึ่งในที่เก็บสะสมศิลปะ สมบัติ และทรัพย์สินหรูหราที่สุดของราชวงศ์ จึงถูกเปลี่ยนบทบาทจากพื้นที่ส่วนพระองค์ มาเป็นสถานที่ที่ประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงได้ และเริ่มเปิดให้ทุกคนสามารถเข้าไปเยี่ยมชมได้อย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรกในวันที่ 10 สิงหาคม 1793 พิพิธภัณฑ์ Musée Central des Arts ก็ถูกจัดตั้งขึ้นในอดีตพระราชวังลูฟร์

การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้เลยไม่ใช่แค่การเปลี่ยนวังให้เป็นพิพิธภัณฑ์ แต่ยังสะท้อนถึงการเปลี่ยนผ่านแนวคิดของสังคมฝรั่งเศส เป็นสัญลักษณ์ของอุดมคติใหม่ ที่ทุกคนมีเสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ ดังนั้น ประชาชนทุกคนจึงมีสิทธิ์เข้าถึงวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ และความรู้ในฐานะเจ้าของร่วมกันอย่างแท้จริง

ยุคนาซีกับสงครามแย่งชิงงานศิลปะในลูฟว์

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ท่ามกลางการสู้รบในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วโลก ภายในพิพิธภัณฑ์ลูฟว์เองก็กำลังเกิดสงครามแย่งชิงผลงานศิลปะเหมือนกัน ซึ่งงานนี้ไม่ได้ใช้กำลังเข้าห้ำหั่นกัน แต่เป็นการสู้กันผ่านชั้นเชิงทางความคิดและการวางหมากล้วน ๆ

ในปี 1940 หลังฝรั่งเศสพ่ายแพ้ต่อกองทัพเยอรมัน ผลงานศิลปะทั้งหมดในพิพิธภัณฑ์ลูฟว์ก็ตกเป็นเป้าหมายของเหล่านาซีทันที โดยพวกเขามีหน่วยที่เรียกว่า Einsatzstab Reichsleiter Rosenberg (ERR) ที่ทำหน้าที่ปล้นสะดมทรัพย์สินทางวัฒนธรรม รวมถึงผลงานศิลปะจากพิพิธภัณฑ์และแหล่งสำคัญอื่น ๆ ในยุโรป ในฐานะ ‘สมบัติแห่งชัยชนะ’ เพราะในมุมมองของฮิตเลอร์ ศิลปะ เชื้อชาติ และการเมืองเป็นสิ่งที่เชื่อมโยงกัน เขาจึงปล้นสะสมผลงานศิลปะจากทั่วยุโรปไปถึงหนึ่งในห้าของสมบัติทางศิลปะทั้งหมด และตั้งใจจะทำลายพิพิธภัณฑ์ ห้องสมุด และสถานที่ศักดิ์สิทธิ์อีกนับร้อยแห่ง

ทว่าเมื่อพวกเขาเดินทางมาถึงลูฟว์ สิ่งที่หลงเหลืออยู่กลับเป็นเพียงกรอบรูปว่าง ๆ และประติมากรรมจำลอง รวมถึงงานศิลปะอีกนิดหน่อยที่ไม่ใช่ของระดับมาสเตอร์พีชที่หวังจะเจอ

เหตุการณ์นี้ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ หากแต่เป็นผลจากการเตรียมการอย่างรัดกุมของ Jacques Jaujard ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ในขณะนั้น ซึ่งเริ่มวางแผนอพยพผลงานตั้งแต่ปี 1938 ก่อนที่สงครามโลกครั้งที่สองจะปะทุขึ้นอย่างเป็นทางการเสียอีก เพราะด้วยประสบการณ์จากการอพยพผลงานของพิพิธภัณฑ์ปราโดในสเปน เขารู้ดีว่าหากสงครามเกิดขึ้น ผลงานศิลปะล้ำค่าจากพิพิธภัณฑ์ลูฟวร์จะเป็นเป้าหมายของการโจมตีจากเยอรมัน เลยเริ่มแผนการอพยพผลงานออกจากพิพิธภัณฑ์ไปยังสถานที่ปลอดภัย

ตามคำแนะนำของเขา ภัณฑารักษ์ พนักงาน และอาสาสมัครหลายร้อยคนเลยช่วยกันจัดการบรรจุผลงานศิลปะกว่า 3,600 ชิ้น รวมถึงงานสำคัญอย่าง Victory of Samothrace และ Mona Lisa ไปเก็บไว้ตามปราสาทต่าง ๆ ทั่วประเทศในฝรั่งเศส และเมื่อสงครามโลกครั้งที่สองเริ่มต้นขึ้นในเดือนกันยายน ปี 1939 ฌูฌาร์ด ก็ยังคงดำเนินการขนย้ายผลงานศิลปะจากลูฟวร์อย่างต่อเนื่อง โดยไม่หยุดพัก และในขณะเดียวกันเขาก็ต้องเผชิญกับแรงกดดันจากผู้นำประเทศที่ต้องการให้พิพิธภัณฑ์เปิดทำการอยู่เสมอ เพื่อไม่ให้ผู้คนตื่นตระหนก และสร้างภาพลักษณ์ว่าทุกอย่างยังคงปกติดี แม้จะรู้ว่าฝรั่งเศสกำลังเข้าสู่สงครามก็ตาม

ในที่สุด เดือนมิถุนายน ปี 1940 เยอรมนีก็สามารถบุกปารีสและยึดครองเมืองหลวงของฝรั่งเศสได้สำเร็จ และในขณะเดียวกันแผนการขนย้ายงานศิลปะชิ้นสำคัญ ๆ ที่ดำเนินการล่วงหน้ามานานกว่าสองปีของฌูฌาร์ดก็สำเร็จแล้วเช่นกัน ด้วยเหตุนี้ เมื่อเหล่านาซีมาถึงพิพิธภัณฑ์ลูฟว์ เลยเหลือเพียงกรอบรูปว่าง ๆ กับงานศิลปะที่สร้างจำลอง กับตัวฌูฌาร์ดที่ไม่ได้หนีไปไหน แต่ยังคงปักหลักอยู่ที่ลูฟวร์เพื่อเจรจากับเจ้าหน้าที่นาซีที่มีหน้าที่ดูแลงานศิลปะ

ท่ามกลางแรงกดดัน ฌูฌาร์ดกลับเจอโชคครั้งใหญ่จากการได้รับความช่วยเหลือจากพันธมิตรที่ไม่น่าเป็นไปได้อย่าง คานต์ ฟรานซ์ วอล์ฟ-เมทเทิร์นิตช์ (Count Franz Wolff-Metternich) ที่แม้ว่าจะอยู่คนละฝั่งทางการเมือง แต่ในทางศิลปะ พวกเขามีเป้าหมายเดียวกัน นั่นก็คือการไม่เห็นด้วยกับการปล้นงานศิลปะจากพิพิธภัณฑ์ ด้วยเหตุนี้เขาเลยตัดสินใจร่วมมือกับฌูฌาร์ด และช่วยป้องกันไม่ให้งานศิลปะที่ถูกซ่อนไว้ในสถานที่ต่าง ๆ ถูกยึดหรือสูญหายไป

ในอีกฝากฝั่งหนึ่งของปารีส ณ พิพิธภัณฑ์ Jeu de Paume มีการเคลื่อนไหวที่ซ่อนเร้นและสำคัญไม่แพ้กัน ภัณฑารักษ์สาวชื่อ โรส วัลแลนด์ (Rose Valland) ได้ทำหน้าที่เก็บบันทึกข้อมูลการปล้นสะดมผลงานศิลปะจากทั่วยุโรปที่ถูกนำมารวมไว้ที่พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ การกระทำของเธอไม่เพียงแค่บันทึกรายการผลงานที่ถูกยึด แต่ยังรวมถึงการติดตามเส้นทางของผลงานเหล่านั้นไปยังสถานที่ต่างๆ เพื่อให้สามารถตามคืนได้เมื่อสงครามสิ้นสุดลง แม้ในช่วงเวลาที่เธอต้องเผชิญกับความเสี่ยงจากการถูกจับกุมจากนาซี เธอก็ไม่หยุดยั้งในการทำภารกิจลับที่เธอได้มอบตัวให้แก่ความยุติธรรมและความเป็นธรรม

ด้วยการกระทำของทั้งสามคนและผู้ร่วมงานคนอื่น ๆ อีกเกินร้อยชีวิต ทั้งช่วยกันขนย้ายและจดบันทึกอย่างละเอียด ในที่สุด เมื่อสงครามจบลง ผลงานศิลปะที่เป็นหัวใจของลูฟวร์จึงได้กลับบ้านและรักษาความสำคัญทางประวัติศาสตร์เอาไว้ได้โดยไม่มีการสูญหายไปอย่างถาวร รวมถึงผลงานหลาย ๆ ชิ้นจากพิพิธภัณฑ์ทั่วยุโรปหลาย ๆ ชิ้น ก็สามารถถูกติดตามเส้นทางและทวงคืนกลับมาได้ด้วยเช่นกัน

เครดิตภาพ: ฉากจากในภาพยนตร์เรื่อง Francofonia

การขโมยภาพ Mona Lisa จุดเริ่มต้นความโด่งดังของภาพในตำนาน และความลับเบื้องหลังรอยยิ้มสุดฉงน

อีกหนึ่งเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในพิพิธภัณฑ์ลูฟว์ ก็คือเหตุการณ์ขโมยภาพโมนาลิซ่า ที่ใช้เวลานานถึงสามปีกว่าจะจับคนร้ายตัวจริงได้ โดยเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในวันที่ 21 สิงหาคม ค.ศ. 1911 ซึ่งเป็นวันหยุดของพิพิธภัณฑ์ ซึ่งสร้างความฉงนให้กับหลาย ๆ คนว่ามันหายไปได้อย่างไร

ต้องบอกก่อนว่า ในยุคนั้น ภาพ Mona Lisa ยังไม่เป็นที่รู้จักในวงกว้างเท่าปัจจุบัน และถึงแม้จะได้รับการยอมรับในวงการศิลปะ แต่ก็ยังไม่ได้รับความสนใจจากผู้คนในระดับมวลชนมากนัก แต่หลังจากที่ภาพนี้ถูกขโมยจนกลายเป็นข่าวดังทั่วโลก ก็ทำให้ผู้คนเริ่มตั้งคำถามถึงความสำคัญของมัน ยิ่งนานวัน ภาพนี้ก็ยิ่งดูน่าค้นหามากขึ้น ผู้คนเริ่มสงสัยว่า ทำไมภาพนี้ถึงมีค่าขนาดนั้น? ทำไมถึงมีคนอยากได้มันมาก? และที่สำคัญที่สุด ใครคือผู้ขโมย?

ในที่สุด หลังจากผ่านไปสามปี ชายชื่อ วินเซนโซ เปรูจา ช่างทำกระจกชาวอิตาเลียน ที่เคยทำงานในพิพิธภัณฑ์ลูฟว์ ก็ถูกจับกุมในปี 1913 หลังจากที่เขาพยายามนำภาพ Mona Lisa กลับไปยังอิตาลี โดยอ้างว่าเขาต้องการ “นำศิลปะของชาติกลับคืนบ้านเกิด” ซึ่งการจับกุมตัวเปรูจานั้นเกิดขึ้นจากการที่เขาพยายามขายภาพนี้ในอิตาลีและส่งภาพไปยังหลายสถานที่จนสุดท้ายถูกตำรวจตามจับได้

อย่างไรก็ตาม แม้หัวขโมยจะถูกจับ แต่ความโด่งดังของ Mona Lisa ก็ติดลมบนไปแล้ว รวมถึงความลึกลับของภาพนี้ก็ยิ่งดึงดูผู้คนให้สนใจมันอยู่เรื่อย ๆ จนเป็นที่มาของการตามหาเบื้องหลังรอยยิ้มของ Mona Lisa ที่หลายคนมองว่าเป็นรอยยิ้มที่บอกไม่ถูก จะยิ้มก็ไม่ใช่ จะบึ้งตึงก็ไม่เชิง นั่นเอง ซึ่งที่มาของรอยยิ้มอันเป็นเอกลักษณ์นี้ ก็มาจากการที่เลโอนาร์โด ดา วินชี เขาไม่ได้วาดรูปอย่างเดียวแต่ยังเป็นผู้มีความสามารถหลากหลายด้าน ทั้งวิทยาศาสตร์ วิศวกรรม และคณิตศาสตร์

และด้วยความเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่มีความรู้เกี่ยวกับร่างกายมนุษย์ ดา วินชีจึงใช้เวลาในการศึกษากล้ามเนื้อบนใบหน้าของมนุษย์อย่างลึกซึ้ง โดยเฉพาะการศึกษาการขยับกล้ามเนื้อเวลาที่คนเรายิ้ม ซึ่งเขาต้องไปขลุกตัวอยู่กับศพเพื่อชำแหละและศึกษาการทำงานของกล้ามเนื้อในร่างกายมนุษย์

ผลลัพธ์จากการศึกษาอย่างละเอียดทำให้รอยยิ้มของ Mona Lisa มีความพิเศษที่ไม่เหมือนใคร ไม่ใช่แค่ยิ้มอย่างธรรมดา แต่เป็นรอยยิ้มที่มีความลึกลับและซับซ้อนจนถึงทุกวันนี้ นักวิทยาศาสตร์ยังเถียงกันว่า รอยยิ้มของ Mona Lisa นั้นเป็นรอยยิ้มที่แสดงถึงความสุขหรือความเศร้า

ดา วินชียังศึกษาการทำงานของตาของมนุษย์จนเข้าใจว่า เมื่อเรามองภาพตรง ๆ ภาพจะชัดเจนที่สุด แต่เมื่อเราหันสายตาไปทางอื่น ภาพจะเริ่มเบลอ ด้วยความรู้นี้ เขาจึงสามารถสร้างแสงและเงาบนรอยยิ้มของ Mona Lisa ได้อย่างลงตัว เมื่อเรามองภาพตรง ๆ เราจะเห็นรอยยิ้มเล็กน้อย แต่เมื่อมองจากมุมอื่น แสงและเงาจะทำให้รอยยิ้มของเธอดูยิ้มกว้างขึ้น ซึ่งนี่คือหนึ่งในกลเม็ดทางศิลปะที่ดา วินชีใช้ในการสร้างผลงานที่ยากจะเข้าใจและเต็มไปด้วยความลึกลับชิ้นนี้

พีระมิดแก้ว ภาพจำลูฟว์แบบร่วมสมัย ที่สร้างขึ้นท่ามกลางเสียงคัดค้าน

พีระมิดแก้วที่ตั้งอยู่หน้าพิพิธภัณฑ์ลูฟว์ คือสถาปัตยกรรมใหม่ที่เพิ่งสร้างขึ้นเพิ่มเติมในปี 1987 และแล้วเสร็จในปี 1989 โดย I.M. Pei สถาปนิกชาวจีน-อเมริกัน ซึ่งได้รับมอบหมายจากประธานาธิบดีฟรองซัวส์ มิตเตอร์ร็อง ของฝรั่งเศส ที่ต้องการตกแต่งและปรับปรุงพิพิธภัณฑ์ลูฟว์ให้ทันสมัยขึ้น เพื่อพัฒนาลูฟว์ให้กลายเป็นพิพิธภัณฑ์ที่ทันสมัยและเปิดรับผู้ชมในยุคใหม่ ซึ่งในปัจจุบัน พีระมิดแก้วแห่งนี้ก็กลายเป็นภาพจำและแลนด์มาร์คสำคัญของลูฟว์ไปแล้ว แต่เชื่อหรือไม่ว่า กว่าพีระมิดแก้วอันนี้จะได้รับการยอมรับ ก็ต้องผ่านเสียงวิพากษ์วิจารณ์และเต็มไปด้วยข้อถกเถียงมากมาย

ตั้งแต่เริ่มสร้าง มีผู้ที่ไม่เห็นด้วยและวิพากษ์วิจารณ์การออกแบบนี้อย่างมาก โดยเฉพาะในแง่ของความเหมาะสมกับสถาปัตยกรรมเก่าของลูฟว์ ซึ่งเป็นอาคารที่มีอายุกว่า 700 ปี นักวิจารณ์บางคนยังชี้ว่ารูปทรงพีระมิดนั้นทำให้คิดถึงอียิปต์ และไม่เหมาะสมกับการเป็นสัญลักษณ์ของพิพิธภัณฑ์ที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานของฝรั่งเศส

อย่างไรก็ตาม การสร้างพีระมิดแก้วที่มีความสูง 35 เมตร ซึ่งประกอบด้วยกระจก 603 ชิ้นและเหล็ก 190,000 ปอนด์ จึงไม่ใช่แค่การเปลี่ยนแปลงทางสถาปัตยกรรม แต่ยังเป็นการเปลี่ยนแปลงวิธีการเข้าไปในพิพิธภัณฑ์ ที่ต้องการให้ลูฟว์กลายเป็นสถานที่ที่ไม่ใช่แค่พิพิธภัณฑ์เก่าแก่ที่ผู้คนต้องเดินทางเข้าไปผ่านทางประตูเล็ก ๆ และไม่สะดวก แต่ต้องเป็นศูนย์กลางของวัฒนธรรมและศิลปะที่เปิดรับผู้คนจากทุกมุมโลก

หลังจากการเปิดตัวในปี 1989 พีระมิดแก้วได้รับความนิยมในฐานะสัญลักษณ์ที่เป็นเอกลักษณ์ของพิพิธภัณฑ์ลูฟว์ ถึงแม้จะมีเสียงคัดค้านในตอนแรก แต่เมื่อเวลาผ่านไป คนส่วนใหญ่เริ่มเห็นถึงความสำคัญของมันในฐานะจุดเชื่อมโยงระหว่างอดีตและปัจจุบัน และกลายเป็นส่วนสำคัญของภาพลักษณ์ของพิพิธภัณฑ์ที่มีผู้เข้าชมจำนวนมาก

ดังนั้น แม้ว่าพีระมิดแก้วจะถูกสร้างขึ้นท่ามกลางการถกเถียง แต่ในที่สุดมันก็กลายเป็นสัญลักษณ์ที่ไม่เพียงแต่สะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงของพิพิธภัณฑ์ลูฟว์ แต่ยังสะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงของโลกศิลปะที่มีการปรับตัวเข้ากับสมัยใหม่ โดยไม่ทิ้งความสำคัญของประวัติศาสตร์ที่เคยยิ่งใหญ่ของมัน

Beyoncé และ Jay-Z กับการถ่ายทำ Mv. ในลูฟว์ ที่เชื่อมศิลปะคลาสสิกกับวัฒนธรรมป๊อปอย่างลงตัว

เมื่อ Beyoncé และ Jay-Z ปล่อยมิวสิกวิดีโอเพลง Apeshit ที่ถ่ายทำในพิพิธภัณฑ์ลูฟว์ในปี 2018 มันกลายเป็นหนึ่งในเหตุการณ์ที่ทอล์กออฟเดอะทาวน์ของวงการเพลงทันที การเลือกถ่ายทำในพิพิธภัณฑ์ลูฟว์ไม่เพียงแค่แสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของทั้งคู่ในวงการเพลง แต่ยังสะท้อนการเชื่อมโยงระหว่างศิลปะคลาสสิกกับวัฒนธรรมป๊อปอย่างลงตัว โดยเฉพาะในแง่ของการใช้ลูฟว์เป็นฉากหลังที่เต็มไปด้วยมูลค่าทางศิลปะและอำนาจ ซึ่งเหมือนกับการประกาศให้เห็นว่า “คนผิวดำก็สามารถสร้างประวัติศาสตร์ได้เช่นกัน”

สังเกตได้จากฉากต่าง ๆ ในมิวสิกวิดีโอ Apeshit ที่ Beyoncé และ Jay-Z แสดงภาพการยืนเต้นและโพสท่าต่าง ๆ ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากศิลปะคลาสสิก ต่อหน้าผลงานจริง เช่น The Coronation of Napoleon, Venus De Milo, และ Winged Victory of Samothrace ภาพที่เป็นพื้นที่ของคนผิวขาว ฉากเหล่านี้เลยสะท้อนให้เห็นถึงความท้าทายต่ออำนาจเดิม ๆ เหมือนกำลังนำตัวเองที่เป็นคนผิวดำเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ที่มีแต่คนขาว ส่วนคนดำนั้นถูกหลงลืมไป

James Smalls ศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์ศิลปะได้กล่าวว่า การกระทำของ Beyoncé เป็นการใช้ความเป็นผิวดำของเธอในฐานะเครื่องมือที่สร้างสรรค์และต่อต้านระบบวัฒนธรรมยุโรป ผ่านการนำภาพศิลปะมาสะท้อนความเป็นจริงใหม่ ๆ นอกจากนี้ ภาพวาด Portrait d’une négresse ของ Marie Benoist ซึ่งแสดงหญิงผิวดำในฐานะศูนย์กลางของภาพ ก็ทำให้เกิดการตีความใหม่ที่ท้าทายกรอบความคิดเดิม ๆ โดยเฉพาะในบริบทของลูฟว์ที่ศิลปะส่วนใหญ่ไม่ได้แสดงให้เห็นคนผิวดำในฐานะผู้มีอำนาจ

ดังนั้นมิวสิกวิดีโอ Apeshit เลยไม่เพียงแสดงออกถึงความสำเร็จของคู่รักซูเปอร์สตาร์เท่านั้น แต่ยังเป็นการยืนยันถึงความสำคัญและอิทธิพลของคนผิวดำในโลกศิลปะที่พวกเขาเคยถูกมองข้ามและถูกจำกัดบทบาทในอดีตอย่างชัดเจน