ความกราดเกรี้ยวของเทพธิดา ณ วันสิ้นโลก ว่าด้วยตำนานกรีกที่ซ่อนอยู่ใน Furiosa: A Mad Max Saga

Art
Post on 4 June

(บทความนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาสำคัญของเรื่อง)

“หนังของผมล้วนเกี่ยวกับนิทานหรือตำนานไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง” คือคำอธิบายของผู้กำกับวัยย่าง 80 ที่เพิ่งพาตัวเองกลับไปตะลุยระห่ำบนถนนโลกันตร์ใน Furiosa: A Mad Max Saga ภาคพรีเควลของหนัง ‘ไอ้แม็กซ์คลั่ง’ หรือ Mad Max: Fury Road ที่มิลเลอร์เคยอธิบายว่าเป็น ‘Epic Visual Poem’หรือ ‘มหากาพย์กวีภาพ’ และเรื่องราวการผจญภับบนเส้นทางอันตรายของแม็กซ์ ก็มีเค้าโครงมาจากการผจญภัยบนเส้นทางการกลับบ้านของ ‘โอดิสซิอุส’ ในมหากาพย์ Odessey ของ โฮเมอร์

จอร์จ มิลเลอร์ เติบโตขึ้นมาในครอบครัวอพยพชาวกรีกในหมู่บ้านอันห่างไกลในออสเตรเลีย โดยมีคอมิกซูเปอร์ฮีโร่ดีซีเป็นเพื่อนคลายเหงา และยังมีตำนานเทพเจ้ากรีก-โรมันที่พ่อชาวกรีกของเขาคอยเล่าให้ฟัง ด้วยเหตุนี้ โครงสร้างเรื่องเล่าแบบปกรณัมและตำนานจึงส่งอิทธิพลในการ ‘เล่าหนัง’ ของมิลเลอร์อย่างมาก และแน่นอน ตำนานกรีกที่เขาโปรดปรานมากที่สุดก็คือ Odessey นั่นเอง

ใน Furiosa: A Mad Max Saga ที่เล่าเรื่องราวการหาทาง ‘กลับบ้าน’ ของ ‘ฟูริโอซา’ จึงเป็นอีกครั้งที่ผู้ชมจะได้รับชมมหากาพย์กรีกและเรื่องเล่าตำนานเก่าแก่ที่ถูกนำมาดัดแปลงผ่านวิสัยทัศน์และจินตนาการของจอร์จ มิลเลอร์ ซึ่งที่เห็นได้ชัด ๆ เลยก็คือเรื่องราวของเทพธิดาแห่งความกราดเ

มีปกรณัมตำนานเรื่องใดบ้างที่ซ่อนอยู่ในหนังสาวนักขับทวงแค้นในดินแดนวันสิ้นโลกเรื่องนี้ สตาร์ตเครื่องแล้วไปสำรวจร่วมกันได้เลย

Furies - Furiosa เทพธิดาแห่งความเกรี้ยวกราดในปกรณัมกรีก

‘Furiosa’ ในภาษาละติน มีความหมายตรงตัวว่า ‘Full of Rage’ หรือ ‘เต็มไปด้วยความเกรี้ยวกราด’ ซึ่งเพียงแค่ชื่ออย่างเดียวก็สามารถอธิบายตัวตนของตัวละครนำหญิงคนใหม่ของโลก Mad Max ผู้ถูกพรากจากบ้านเกิดและต้องถูกพรากทั้งแม่และคนรักไปด้วยน้ำมือของเพศชายคนเดียวกันอย่าง ‘ดีเมนตัส’ ซึ่งในเวลาต่อมา จะเป็นเป้าหมายการทวงแค้นของฟูริโอซา

อย่างไรก็ตาม ชื่อเล่นของฟูริโอซายังเป็น ‘ฟิวรี’ (Fury) ดังที่ ‘แพทอเรียนแจ็ค’ คนรักของเธอ เรียกเธอในโมเมนต์ก่อนที่ทั้งคู่จะแยกจากกันตลอดกาล ซึ่งนั่นก็ยิ่งทำให้เราค่อนข้างมั่นใจว่าผู้กำกับจอร์จ มิลเลอร์ ตั้งใจจะตอกย้ำหน้าที่สำคัญของคาแรกเตอร์ฟูริโอซาในเรื่องราวนี้ นั่นก็คือการเป็นตัวแทนของ ‘Female Rage’ หรือ ‘ความกราดเกรี้ยวของเพศหญิง’ ด้วยการเชื่อมโยงตัวละครฟูริโอซากับสามเทพธิดาแห่งความเกรี้ยวกราดในปกรณัมกรีกอย่าง ‘ฟิวรี’ (Furies)

The Remorse of Orestes. William-Adolphe Bouguereau. 1862

The Remorse of Orestes. William-Adolphe Bouguereau. 1862

ฟิวรี หรือในอีกชื่อคือ ‘เอรินีเยส’ (Erinyes) เป็นเทพธิดาสาวสามพี่น้องแห่งการแก้แค้นและลงทัณฑ์ พวกเธอมักปรากฏตัวเพื่อพิพากษาเหล่าผู้ก่ออาชญากรรมที่เป็นการรบกวน ‘ระเบียบธรรมชาติ’ หรือวัฏจักรของสิ่งที่ควรเป็นไปตามธรรมชาติ เช่น การฆาตกรรม การทรยศหักหลัง การโกหก เป็นต้น โดยเทพธิดาแห่งการลงทัณฑ์ทั้งยังเป็นเทพธิดาผู้อยู่ข้างเหยื่อของความอยุติธรรม โดยเฉพาะเหยื่อสูญเสียผู้ให้กำเนิด นั่นก็เพราะชาติกำเนิดของพวกเธอนั้นก็มีสาเหตุมาจากอาชญากรรมที่ร้ายแรงที่กระทำกับผู้ให้กำเนิด ในเหตุการณ์ที่ ‘ซุส’ กระทำการโค่นบัลลังก์ราชันย์แห่งเทพจากราชาไททัน ‘โครนอส’ ผู้เป็นบิดาของตน โดยใช้เคียวตัดอวัยวะเพศของโครนอสจนขาด ซึ่งเมื่อเลือดจากอวัยวะเพศของโครนอสหยดลงบนแผ่นดินหรือแม่พระธรณี ‘ไกอา’ เทพธิดาฟิวรีทั้งสามก็ถือกำเนิดขึ้นมานั่นเอง

การลงโทษของฟิวรีมีหลายรูปแบบ แต่การลงทัณฑ์ที่รุนแรงที่สุดคือการทรมานฆาตกรผู้ที่ฆ่าพ่อแม่ของตัวเองจนเสียสติ หรือหากเมืองใดแอบซ่อนอาชญากรเหล่านี้ไว้ พวกเธอก็จะสาปให้ทั้งเมืองตกอยู่ในภาวะแร้นแค้น โดยพวกเธอยังเป็นผู้รับใช้เทพเจ้าแห่งยมโลกอย่าง ‘ฮาเดส’ ด้วย

พี่น้องเทพธิดาทั้งสามยังเป็นตัวแทนของความกราดเกรี้ยวที่แตกต่างกัน ทั้งสามพี่น้องประกอบด้วย ‘อะเลคโต’ ตัวแทนของความโกรธ (Anger) และเป็นผู้ลงทัณฑ์อาชญากรผู้ลงมือด้วยความโกรธและความรุนแรง, ‘มาเจรา’ เป็นตัวแทนของความอิจฉาริษยา (Jealousy) และเป็นผู้ลงโทษในอาชญากรรมที่เกิดจากความอิจฉาริษยา โดยเฉพาะความริษยาในครอบครัวหรือ ในขณะที่ ‘ทิซิโฟนี’ (Avenger) คือเทพีแห่งการแก้แค้น โดยเธอมักเป็นผู้ล้างแค้นให้กับเหยื่อในอาชญากรรมที่เป็นการคร่าชีวิตหรือลบหลู่เกียรติความเป็นมนุษย์อย่างถึงที่สุด พูดง่าย ๆ ว่าเธอคือผู้ทวงคืนความยุติธรรมให้กับเหยื่อผู้ถูกกระทำนั่นเอง

Trojan Wars — องค์ประกอบแห่งสงครามในโลกของ Mad Max

Achilles slays Hector. Peter Paul Rubens. 1630 - 1635

Achilles slays Hector. Peter Paul Rubens. 1630 - 1635

นักประวัติศาสตร์ในโลกของ Mad Max ถูกเรียกว่า ‘History Men and Women’ หรือ ‘ผู้เล่าประวัติศาสตร์’ ซึ่งในจักรวาลของ Mad Max คำว่า ‘World Burger’ ถูกใช้แทนคำว่า ‘ประวัติศาสตร์’ นั่นก็เพราะในยุคโลกล่มสลาย เมนูที่อุดมด้วยโปรตีนและไขมัน แต่ราคาถูกแสนถูก และหาง่ายได้ทุกมุมถนนเมนูนี้ ดูเป็นสิ่งที่อยู่ห่างไกลออกไปจากความรับรู้ของคนในยุคโลกล่มสลาย เป็นสิ่งที่คนในยุคแดนกันดารจินตนาการไม่ออก เช่นเดียวกับประวัติศาสตร์ของโลกก่อนหน้า ที่ดูห่างไกลออกไปไม่ต่างจากเบอร์เกอร์

หน้าที่ของผู้เล่าประวัติศาสตร์ในแดนกันดารคือการจดจำเรื่องราวในโลกเก่าก่อน บันทึกเรื่องราวในวันนี้ และบอกเล่าเรื่องราวเมื่อวันวานให้คนในแดนกันดารได้รับรู้ ซึ่งเรื่องราวทั้งหมดใน Mad Max: Fury Road และ Furiosa: A Mad Max Saga ก็ถูกบอกเล่าผ่านปากคำของเหล่าผู้เล่าประวัติศาสตร์นั่นเอง

หน้าที่ของ History Men and Women ใน Mad Max มีลักษณะคล้ายกับ ‘กวี’ ในยุคกรีก ผู้จดจารเรื่องราวความเป็นไปโดยได้รับ ‘แรงบันดาลใจ’ จากเหล่าเทพีแห่งการสร้างสรรค์ (Muse) ซึ่งหนึ่งในกวียุคกรีกที่เป็นที่พูดถึงมากที่สุดก็คือ โฮเมอร์ ผู้สร้างสรรค์สองมหากาพย์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในวรรณกรรมคลาสสิก นั่นก็คือ Odyssey ที่ว่าด้วยเส้นทางการกลับบ้านของโอดิสซิอุส และ Illiad ที่บอกเล่ามหาสงครามที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของโลกมนุษย์และสวรรค์อย่าง Trojan War หรือ สงครามกรุงทรอย

History Men ใน Furiosa

History Men ใน Furiosa

ในตอนท้ายของ Furiosa เสียงของนักประวัติศาสตร์ได้กล่าวถึงมหาสงครามที่ยืดเยื้อยาวนานกว่าสิบวันระหว่างสองผู้ครองเมืองอย่าง ดีเมนตัส และ อิมมอร์ทัลโจ และยังเป็นสงครามที่ยิ่งใหญ่ที่สุดเท่าที่ ‘แดนกันดาร’ (Wasteland) เคยมีมา ซึ่งสงครามนี้ก็ทำให้เราอดนึกถึงสงครามกรุงทรอยไม่ได้ และมีหลายฉากในเรื่องที่ผู้กำกับมิลเลอร์น่าจะได้แรงบันดาลใจจากมหากาพย์สงครามกรุงทรอยเช่นกัน

สงครามกรุงมีจุดเริ่มต้นจากความริษยาของ ‘เอรีส’ เทพีแห่งความบาดหมาง ซึ่งสถานะดังกล่าวก็ทำให้นางไม่เป็นที่โปรดปรานของเหล่าทวยเทพ และมักไม่ได้รับเชิญไปร่วมงานเลี้ยงต่าง ๆ โดยเฉพาะงานเลี้ยงฉลองสมรส ด้วยความโมโห นางจึงมอบความวิบัติร้ายแรงแก่ทวยเทพและโลกมนุษย์ด้วยการโยนผลแอปเปิลทองคำที่สลักไว้ว่า “สำหรับผู้งดงามที่สุด” ลงไปในงานเลี้ยงสมรสระหว่างเทพเพลีอัสและเธทิส แน่นอนว่าเหล่าเทพีทั่วโอลิมปัสต่างต้องการมันทั้งสิ้น ที่สุดแล้วจึงเหลือเพียงสามนางที่ไม่ยอมใคร คือ อะโฟรไดที เฮรา และอธีนา

The Judgement of Paris. Peter Paul Rubens. 1636

The Judgement of Paris. Peter Paul Rubens. 1636

ซุสในฐานะผู้ทรงอำนาจที่สุดก็ยังไม่อยากเป็นผู้ตัดสินในศึกความบาดหมางระหว่างเมียและลูกสาว จึงโยนภาระการตัดสินสาวงามให้กับ เจ้าชายปารีสแห่งทรอย เทพีทั้งสามจึงไปพบปารีสและเสนอรางวัลต่าง ๆ ให้เขาเพื่อให้เลือกตนเป็นเทพีผู้งามที่สุด แต่ในขณะที่เฮราและอธีนาเสนอตำแหน่งราชาแห่งทั่วทวีป และความสามารถในการรบที่ไม่มีใครสู้ได้ ปารีสกลับเลือกข้อเสนอของอะโฟรไดทีที่จะมอบสาวงามที่สุดในโลกให้แก่เขา หากแต่สาวงามที่สุดในโลกกลับเป็น เฮเลน ซึ่งได้แต่งงานเป็นภรรยาของ เมเนเลอัส น้องชายของกษัตริย์อะกาเมมนอนไปแล้ว เมื่อปารีสไปลักพาตัวเฮเลน โดยความช่วยเหลือของอะโฟรไดที สงครามระหว่างกรีกและทรอยจึงอุบัติขึ้น

ฝ่ายกรีกรวบรวมขุนพลผู้เกรียงไกรทั้ง อะกาเมมนอนแห่งอาร์กอส โอดิซีอุสแห่งอิธาคา และวีรบุรุษอะคริลิส กองทัพฝ่ายกรีกรวบรวมกำลังพลได้ถึง 1000 ลำเรือ มุ่งเดินทางไปยังกรุงทรอย ณ ที่นั้น กษัตริย์ไพรอัมแห่งทรอยก็มีโอรสที่กล้างหาญหลายองค์ที่คอยพิทักษ์กำแพงเมืองไว้ โดยมีเฮคเทอร์ที่โด่ดเด่นกว่าใคร เขามีชื่อว่าแข็งแกร่งเป็นรองเพียงแค่วีรบุรุษอะคริลิสเท่านั้น ทั้งสองฝ่ายทำสงครามกันอยู่ 9 ปีก็ยังไม่รู้ผล จนฝ่ายกรีกเกิดความบาดหมางในกองทัพระหว่างอะคริลิสและอะกาเมมนอน ทำให้ฝ่ายทรอยได้เปรียบอยู่พักหนึ่ง

ไม่เพียงมนุษย์เท่านั้นที่แบ่งเป็นสองฝ่าย หากแต่ทวยเทพแห่งโอลิมปัสเองก็แบ่งฝักแบ่งฝ่ายเช่นเดียวกัน แน่นอนว่าอะโฟรไดทีเข้าข้างปารีสแห่งทรอย และเทพีเฮราและอธีนาก็เข้ากับฝ่ายกรีก แต่ในสงครามนี้ยังมีตัวละครสำคัญอย่าง แอรีส เทพเจ้าแห่งสงครามผู้เป็นชู้รักของอะโฟรไดทีเข้ามาร่วมวงด้วย ซึ่งแม้ว่าแอรีสจะเป็นเทพเจ้าแห่งสงครามเช่นเดียวกับเทพีอธีนา แต่เขากลัยเป็นเทพเจ้าแห่งความโกลาหล การใช้เล่ห์กล และการใช้ความรุนแรง ต่างจากเทพีอธีนาผู้แม้จะโปรดปรานสงคราม แต่นางเป็นตัวแทนของการใช้สติปัญญาและการกลยุทธการวางแผนการรบ

ความวุ่นวายไม่รู้จบนี้จึงไม่ได้เกิดแต่เพียงการแย่งชิงเฮเลนเท่านั้นแต่เกิดจากเหล่าทวยเทพที่ริษยาต่อกัน เมื่อฝ่ายกรีกและทรอยมีทีท่าว่าจะสงบศึกกันได้แล้ว เหล่าเทพก็จะบันดาลให้เกิดความบาดหมางขึ้นอีกครั้ง ทั้งซุสที่พยายามให้อะกาเมมนอนกับอะคริลิสแตกคอกัน หรือเฮราและอธีนาที่บันดาลให้ทหารทรอยยิงธนูใส่อะกาเมมนอนระหว่างการเจรจาสงบศึก สุดท้ายแล้วสงครามนี้จึงยืดเยื้อต่อไปจึงถึงฉากอันโด่งดังที่สุดในมหากาพย์นี้

The Procession of the Trojan Horse in Troy. Giovanni Domenico Tiepolo. 1760

The Procession of the Trojan Horse in Troy. Giovanni Domenico Tiepolo. 1760

ฝ่ายกรีกระดมสมองคิดกันว่าจะเอาชัยต่อกรุงทรอยอย่างไร เพราะทรอยนั้นมีกำแพงที่แข็งแกร่งมาจนยากที่ทัพกรีกจะตีแตกได้ อุบายม้าไม้แห่งทรอยจึงเกิดขึ้น โดยทัพกรีกได้สร้างม้าไม้ขนาดใหญ่ส่งไปเป็นบรรณาการแก่ทรอย หลอกว่าพวกตนนั้นยอมแพ้และเดินทัพกลับ เมื่อพวกทรอยตายใจและขนม้าไม้เข้าเมือง ทหารที่ซ่อนอยู่ภายในก็ออกมาในยามค่ำคืนและเข้าสังหารทุกคนในกรุงทรอย นี่จึงเป็นฉากสุดท้ายของกรุงทรอยที่เกรียงไกร

ใน Furiosa: A Mad Max Saga มีหลายฉากที่อ้างอิงมาจากมหากาพย์สงครามกรุงทรอย ไม่ว่าจะเป็นฉากที่ดีเมนตัสบุกยึดแก๊สทาวน์ด้วยการส่งรถที่มีทหารของตนแอบซ่อนอยู่เข้าไปหลังกำแพงแก๊สทาวน์ สงครามอันยืดเยื้อระหว่างดีเมนตัสและอิมมอร์ทัลโจที่ถูกบันทึกว่าเป็นสงครามที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของแดนกันดาร หรือแม้กระทั่งตัวดีเมนตัสเองที่มักปรากฏตัวพร้อมกับรถ (มอเตอร์ไซค์) ลากที่ทำให้นึกถึงรถม้าศึกในยุคกรีกโรมัน

Triumph of Achilles in Corfu Achilleion.  Franz von Matsch. 1894

Triumph of Achilles in Corfu Achilleion. Franz von Matsch. 1894

รวมไปถึงการตายของ แพรโทเรียนแจ็ค คู่รักและเมนเทอร์ของฟูริโอซา ผู้ถูกลากด้วยรถจนตาย และถูกสุนัขของดีเมนตัสกัดกินศพ เหมือนกับที่ เฮคเตอร์ แม่ทัพผู้ยิ่งใหญ่ของฝ่ายทรอยซึ่งถูกสังหารโดยแม่ทัพกรีกอย่างอะคริลิส ซึ่งแม้ว่าก่อนสิ้นชีวิต เฮคเตอร์จะขอให้อะคริลิสปฏิบัติต่อศพของเขาอย่างสมเกียรติ แต่อะคริลิสกลับปฏิเสธโดยตอบกลับไปว่า เขาจะผูกร่างไร้ชีวิตของเฮคเตอร์ไว้กับรถศึกของตน แล้วปล่อยให้สุนัขของตนกินร่างของเฮคเตอร์เสีย ซึ่งหลังจากที่ศพของเฮคเตอร์ถูกลากอยู่ 12 วัน เหล่าทวยเทพที่ไม่อาจทนเห็นภาพสะเทือนใจได้อีกต่อไปจึงส่งแม่ของอะคริลิสมาพูดให้อะคริลิสยอมมอบศพคืนให้กับครอบครัวของเฮคเตอร์

World Tree — ต้นไม้แห่งโลกและการทรมานคนชั่ว

ในฉากสุดท้ายของ Furiosa: A Mad Max Saga นักเล่าประวัติศาสตร์ได้เผยถึงการพิพากษาโทษของคนชั่วดีเมนตัส โดยเทพีแห่งการลงทัณฑ์อย่าง ‘ฟิวรี’ หรือฟูริโอซา โดยดีเมนตัสไม่ได้ถูกสังหารในทันที แต่ถูกนำกลับไปยังซิทาเดลแบบลับ ๆ และถูกจองจำบนยอดผาของเมือง แล้วถูกพันธนาการไว้กับพื้น เพื่อให้เป็นอาหารของต้นไม้ที่เติบโตขึ้นจากเมล็ดพันธุ์ที่ฟูริโอซานำติดตัวมาจากบ้านเกิด ซึ่งเธอเก็บรักษาไว้กับตัว เป็นเหมือนเมล็ดพันธุ์แห่งความหวังถึงบ้านที่เธอจากมา

การใช้ร่างของดีเมนตัสผู้พรากบ้านของเธอ ให้เป็นที่ฟูมฟักของเมล็ดพันธุ์แห่งบ้านเกิดของตัวเอง จึงเป็นโทษที่สาสม และสะท้อนถึงคาแรกเตอร์ความเป็นเทพีแห่งการพิพากษาของฟูริโอซา ผู้ไม่เพียงใช้การลงโทษคนชั่วเพื่อเรียกร้องความยุติธรรมให้เหยื่อ แต่ยังใช้การลงทัณฑ์นั้นเป็นสัญลักษณ์ของความหวังถึงอนาคตหรือสังคมที่ดีกว่า

ในตำนานกรีกเองก็มีเรื่องราวการลงทัณฑ์ที่คล้าย ๆ กับโทษทัณฑ์ของดีเมนตัส เรียกกันว่า ‘ความทรมานของทันทาลัส’ ผู้ถูกลงโทษจากอาชญากรรมที่รุนแรงที่สุด นั่นคือ การฆ่าลูกชายของตัวเอง และดารลบหลู่พระเจ้า

Tantalus. Gioacchino Assereto. 1630s-1640s

Tantalus. Gioacchino Assereto. 1630s-1640s

ตามตำนานกรีกโบราณ ทันทาลัส (Tantalus) เป็นกษัตริย์แห่งเมืองซิพีลุส เขาเป็นบุตรของซุสที่เกิดกับพี่น้องไททันร่วมท้องอย่าง พลูโต ซึ่งแม้ว่าจะเป็นเทพ แต่ทันทาลัสกลับได้ชื่อว่าเป็นเทพที่โง่เขลาและหยิ่งยโส แม้ว่าจะได้รับเชิญจากซุสให้มาร่วมโต๊ะอาหารบนยอดเขาโอลิมปัส แต่ก็ไม่มีเทพองค์ใดสะดวกใจที่จะต้อนรับเขา

วันหนึ่ง ทันทาลัสได้รับเชิญให้ไปร่วมงานเลี้ยงบนยอดเขาโอลิมปัสอีกครั้ง แต่คราวนี้ ทันทาลัสมีแผนการเจ้าเล่ห์ เขาต้องการที่จะทดสอบว่าเทพโอลิมปัสหยั่งรู้แจ้งทุกอย่างจริงหรือไม่ เขาจึงทำการสังหารลูกชายชื่อ เพลอปส์ และนำเนื้อของเพลอปส์มาเสิร์ฟบนโต๊ะอาหาร ในขณะที่เทพองค์อื่นรู้ได้ทันทีว่านี่คือเนื้อมนุษย์ และไม่ยอมแตะต้องอาหารตรงหน้า แต่เทพีแห่งความอุดมสมบูรณ์อย่าง ดีมีเทอร์ กลับใจลอยคิดถึงลูกสาว เพอร์เซโฟนี ที่ถูกเทพแห่งโลกหลังความตาย ฮาเดส ขโมยตัวไปอยู่ในยมโลก ด้วยเหตุนี้ เธอจึงเผลอกินอาหารตรงหน้าเข้าไป ซึ่งส่วนที่เธอกินคือหัวไหล่ของเพลอปส์น้อย

ซุสได้ชุบชีวิตเพลอปส์ขึ้นมา (แต่เนื่องจากหัวไหล่ของเด็กชายถูกกินไปแล้ว ไหล่ของเขาจึงแหว่งไป) และด้วยความโกรธแค้น เขาจึงทำการลงโทษทันทาลัส ด้วยการส่งเขาไปยืนอยู่ในสระน้ำกลางป่า โดยสิ่งที่อยู่เหนือศีรษะของเขาขึ้นไปก็คือกิ่งไม้ที่มีผลไม้สุกงอมโน้มลงมา หากแต่เมื่อใดที่เขาพยายามเอื้อมตัวไปชิมผลไม้ กิ่งไม้ก็จะยกสูงขึ้นจนเกินเอื้อม และเมื่อใดที่เขาพยายามก้มจิบน้ำจากสระน้ำ ระดับน้ำก็จะลดลงจนจิบไม่ถึง ด้วยเหตุนี้ ทันทาลัสจึงถูกสาปให้ทรมานด้วยความหิวโหยไปตลอดกาล

อย่างไรก็ตาม ในตอนจบของ Furiosa: A Mad Max Saga ต้นไม้ที่เติบโตจากร่างของดีเมนตัสก็หาใช่สัญลักษณ์แห่งการลงโทษเพียงอย่างเดียว แต่ยังเป็นสัญลักษณ์ของความหวังด้วย เพราะเมื่อต้นไม้ออกผลสุกงอม ฟูริโอซาก็ถือเอาการออกผลของต้นไม้นั้นเป็นสัญญาณให้เธอเริ่มต้นแผนเดินทางกลับบ้าน และยังช่วยลักลอบพาสาวงามของอิมมอร์ทัลโจหนีไปด้วย ซึ่งการกระทำทั้งหมดนี้ก็สะท้อนถึงความหวังของเธอต่อโลกใหม่หรือชีวิตที่ดีกว่า

ต้นไม้ที่เป็นแก่นกลางแห่งความหวังถึงโลกใหม่ ทำให้เรานึกถึงตำนานเรื่อง ‘World Tree’ หรือต้นไม้ที่เป็นแกนของโลก ซึ่งที่จริงแล้ว ‘ต้นไม้แห่งโลก’ เป็นสัญลักษณ์ที่ปรากฏในหลายศาสนา และหลายตำนานที่ว่าด้วยการกำเนิดจักรวาล โดยเฉพาะศาสนาและตำนานของชนพื้นเมืองอินโด-ยุโรป ไซบีเรีย และชนเผ่าพื้นเมืองอเมริกัน

ต้นไม้แห่งโลกมักถูกพรรณาว่าเป็นต้นไม้ขนาดใหญ่ที่แผ่กิ่งก้านรองรับท้องฟ้า และเชื่อมโยงโลกมนุษย์ สวรรค์ และยมโลก (underworld) ไว้ด้วยกัน ต้นไม้แห่งโลกยังเป็นสัญลักษณ์ของแหล่งภูมิปัญญาความรู้ของมนุษยชาติด้วย

ในบรรดาตำนานต้นไม้แห่งโลกทั้งหมด ที่เป็นที่รู้จักกันมากที่สุดน่าจะเป็นตำนานต้นไม้ อิกดราซิล (Yggdrasil) ในนิทานปรัมปราของสแกนดิเนเวียนโบราณ ที่เล่าว่าเป็นต้นสนสูงใหญ่ ลำต้นและกิ่งก้านสาขาของมันรองรับท้องฟ้า โลกมนุษย์ และยมโลกเอาไว้ เชื่อมโยงโลกทั้งเก้าตามความเชื่อนอร์สโบราณเข้าด้วยกัน บนยอดของอิกดราซิลมีนกอินทรีย์ตัวหนึ่งอาศัยอยู่ เป็นนกที่จดจำและรับรู้เรื่องราวของโลก และที่โคนต้นไม้มีงูยักษ์ขนาดใหญ่กำลังกัดกินรากของต้นไม้อยู่ตลอดเวลา

อ้างอิง

escapistmagazine

hollywoodreporter

แฮมิลตัน เอดิธ, และ นพมาส แววหงส์. (2549). ปกรณัมปรัมปรา :ตำนานเทพและวีรบุรุษ กรีก-โรมัน-นอร์ส . กรุงเทพฯ :อมรินทร์