WEB_cover.jpg

5 ภาพหยุดเวลาของ Henri Cartier-Bresson

Post on 22 August

ถ้าพูดถึง Henri Cartier-Bresson ช่างภาพชาวฝรั่งเศสผู้วางรากฐานการถ่ายภาพสตรีทให้แก่โลกใบนี้ หลายคนคงนึกถึงภาพ Place de l'Europe ภาพถ่ายของชายคนหนึ่งที่กำลังกระโดดบนผืนน้ำบริเวณนอกสถานีรถไฟ Paris Saint Lazare อันพลุกพล่าน 

แต่นอกจากภาพที่ว่า Cartier-Bresson ยังเป็นเจ้าของภาพถ่ายสะเทือนโลกอีกมาก ที่ว่าสะเทือนนั้นหมายรวมไว้หลายระดับ เพราะภาพของเขาเก็บความเป็นมนุษย์ได้หมดจด ทั้งหยุดสรรพสิ่งกระทั่งห้วงเวลาไปตลอดกาล 

วันเกิดครบ 114 ปีของเขาในวันนี้ เราจึงขอพาทุกคนไปหยุดหายใจกับ 5 ภาพสตรีทขาวดำของ Cartier-Bresson กัน

Hyéres, France

Hyéres, France ถูกถ่ายขึ้นในปี 1932 ซึ่งเป็นช่วงต้นของอาชีพช่างภาพและนักข่าวของ Cartier-Bresson ช่วงนี้เองที่เขาเริ่มใช้กล้อง Leica ขนาด 35 ม.ม. และแบกมันไปกับเขาในทุกๆ ที่ ทั้งอิตาลี สเปน โมร็อกโก และเม็กซิโก คราวนี้เขาไปที่ทางตอนใต้ของฝรั่งเศส Cote d'Azure โดยเริ่มจากเดินไปรอบๆ เมือง Hyéres อย่างไม่ได้ตั้งใจเพื่อค้นหาจุดสปาร์กที่เขาอยากจับภาพ 

แน่นอนว่าความปังของภาพนี้คือการจัดองค์ประกอบภาพแบบเรขาคณิตออกมาได้งดงามในเฟรม 2:3  ได้ในเสี้ยววินาที ผ่านบันไดเหล็กที่โค้งไปพร้อมกับแนวเส้นถนน และที่สำคัญคือชายที่กำลังปั่นจักรยานไปตามโค้งนั้น สิ่งเหล่านี้เป็นองค์ความรู้ที่เขาได้รับมาจากครูสอนศิลปะของเขา Lhote ซึ่งเป็นจิตรกร คิวบิสม์

"การถ่ายภาพคือการรับรู้ถึงความสำคัญของเหตุการณ์ไปพร้อมๆ กันในเสี้ยววินาที เช่นเดียวกับการจัดรูปแบบที่แม่นยำซึ่งทำให้เหตุการณ์นั้นถูกนำเสนอได้อย่างเหมาะสม' "

Seville, Spain

Seville, Spain ภาพนี้ถ่ายขึ้นเมื่อปี 1933 อันเป็นช่วงเวลาที่เขาเดินทางในเมืองเซบียา ประเทศสเปน จนได้พบกับกลุ่มเด็กที่กำลังเล่นบริเวณซากปรักหักพังเพราะถูกระเบิดนั้นซึ่งไม่ควรเป็นพื้นที่ที่เด็กคนหนึ่งควรจะได้เติบโตขึ้นมา

Cartier-Bresson รู้ว่าถ้าเด็กๆ รู้ว่าเขากำลังถูกถ่ายภาพอยู่ หน้าตาท่าทางของพวกเขาก็จะไม่เป็นธรรมชาติอย่างที่ Cartier-Bresson ต้องการ เขาจึงเพนต์ส่วนประกอบของกล้อง Leica ที่วาวและเล่นแสงด้วยสีดำด้านเพื่อตัดความสนใจ จนได้เป็นภาพเด็กๆ ทั้งในและนอกกรอบกำแพงที่ดูเหนือจริงและคลุมเครือ ราวกับว่เด็กๆ เหล่านี้กำลังเป็นนักแสดงบนเวที

Sifnos, Greece

Sifnos, Greece ถ่ายขึ้นเมื่อปี 1961 ขณะที่เขาเดินทางไปยังเมือง Siphnos เขาได้พบกับทางเดินระหว่างอาคารที่มีเงามืดตัดกับอาคารสีสว่างจนเกิดแง่มุมอันน่าสนใจ ในภาพนี้ เขากดชัตเตอร์ขณะที่เด็กคนหนึ่งกำลังวิ่งไปตามทางเดินนั้น 

Alberto Giacometti, Maeght Gallery, Paris

นอกจากความอดทนในการรอและสายตาที่เฉียบแหลมเพื่อให้ได้จังหวะดีดีแล้ว ปฏิภาณไหวพริบก็เป็นอีกคุณสมบัติของ Cartier-Bresson ที่น่าสนใจ เช่นภาพ Cartier-Bresson เมื่อปี 1961 ภาพนี้

Cartier-Bresson ถ่ายภาพเพื่อนศิลปินชาวสวิสของเขาอย่าง Alberto Giacometti ที่กำลังจัดตั้งผลงานในนิทรรศการของตนเองที่ Maeght Gallery โดยที่ Cartier-Bresson จับภาพขณะ Giacometti อยู่ท่ามกลางผลงานเลื่องชื่อ 2 ชิ้นอย่าง Grande Femme Debout (Large Standing Woman) และ L'Homme Qui Marche (Walking Man) สะท้อนความเหมือนและความพร่าเลือนของศิลปินและผลงานของศิลปินเอง 

Birla House, India

Birla House ในปี 1948 ภาพนี้เป็นภาพที่ Cartier-Bresson เก็บภาพประวัติศาสตร์ในห้วงขณะที่นายกรัฐมนตรีอินเดีย Jawaharlal Nehru ประกาศการเสียชีวิตของมหาตมะ คานธีให้ประชาชนได้รับรู้ นี่คือความท้าทายหนึ่งของเขา เพราะ  Cartier-Bresson ไม่เคยใช้แฟลชมาก่อน 

แต่เพราะความสามารถและมุมมองที่สั่งสม จึงได้เป็นภาพเหนือจริงอันน่าทึ่ง เพราะแสงไฟที่ตัดกันไปมาหลายที่ในภาพช่วยสะท้อนความว้าวุ่นและความโกลาหลของเหตุการณ์ตอนนั้นได้เป็นอย่างดี ทั้งยังเป็นบันทึกทางประวัติศาสตร์ของการประกาศอิสรภาพของอิเดียจากการปกครองอาณานิคมของอังกฤษด้วย

ที่จริงแล้ว ก่อนจะได้ถ่ายภาพนี้ Cartier-Bresson นั้นทราบข่าวการเสียชีวิตของมหาตมะ คานธีอยู่แล้ว เพราะเขาได้รับสิทธิ์ในการเข้าไปถ่ายภาพคานธีในบ้าน เรียกได้ว่าภาพของคานธีในห้วงเวลาสุดท้ายเป็นภาพที่ถ่ายโดยช่างภาพคนนี้ ทั้งหลังจากที่เขาออกจากบ้านคานธีได้เพียง 15 นาที เขาก้ได้ยินเสียงตะโกนว่าคานธีถูกลอบสังหาร Cartier-Bresson จึงวิ่งกลับไปถ่ายรูปครอบครัวและคานธีที่เตียงของเขา

อ้างอิง : 
https://www.tate.org.uk/art/artworks/cartier-bresson-hyeres-france-p13112
https://www.theartstory.org/artist/cartier-bresson-henri/