History of Gucci: ประวัติศาสตร์ฉบับย่อของแบรนด์อิตาเลียนสุดจี๊ดที่ต้องแลกมาด้วยความร้าวฉานในครอบครัว
ปฏิเสธไม่ได้ว่า มีแบรนด์แฟชั่นเพียงไม่มากเท่านั้นที่สามารถสร้างแรงสั่นสะเทือนจนเป็นที่พูดถึงในโลกอินเตอร์เน็ตแทบทุกคอลเลกชั่น เชื่อเหลือเกินว่า หนึ่งในนั้นต้องมีชื่อของ Gucci แบรนด์แฟชั่นจากอิตาลีที่เพิ่งจะมีอายุครบ 100 ปีไปเมื่อปีที่แล้วรวมอยู่ด้วยแน่ ๆ
ระหว่าง 100 ปีที่ผ่านมานี้ Gucci ต้องผ่านบทพิสูจน์มากมาย ตั้งแต่การเสี่ยงล้มลาย การผ่านสงครามโลกทั้ง 2 ครั้ง การขาดแคลนวัสดุผลิตสินค้า และอื่น ๆ อีกมากมาย อย่างไรก็ดี แบรนด์ใน.ตำนานนี้ก็สามารถก้าวข้ามอุปสรรคมาได้ทุกครั้ง
ปัจจุบัน Gucci กลายเป็นแบรนด์ที่มีอัตราการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว และสามารถสร้างรายได้ต่อปีได้ในจำนวนมหาศาล อีกทั้งยังมีไอเทมขึ้นแท่นคลาสสิกอีกมากมาย …แต่ใครจะรู้ว่า เบื้องหลังความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ในปัจจุบัน มันต้องแลกมาด้วยหยาดเหงื่อและคาวเลือดภายในตระกูล Gucci!
GroundControl สัปดาห์นี้อยากชวนทุกคนไปทำความรู้จักกับประวัติศาสตร์ฉบับย่อของแบรนด์อิตาเลียนชื่อดังนี้ว่าจะมีจุดขึ้นสูงสุดและจุดลงต่ำสุดอย่างไรบ้าง และใครคือบุคคลที่เข้ามากู้สถาณการณ์ให้ Gucci กลับมายิ่งใหญ่แบบในปัจจุบัน
จุดเริ่มต้นอันแสนกระท่อนกระแท่นของลูกไม้ที่หล่นไม่ไกลต้น
แม้จะเติบโตมาในครอบครัวช่างทำเครื่องหนังในเมืองฟลอเรนซ์ อิตาลี แต่ Guccio Gucci ก็ดูไม่ได้สนใจจะสานต่อธุรกิจของที่บ้านเท่าไรนัก ในปี 1897 เขาไปทำงานเป็นพนักงานยกกระเป๋าอยู่ที่โรงแรม Savoy Hotel ในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษอยู่ระยะหนึ่ง ที่นั่นเอง ทำให้เขาได้เห็นกับเหล่าประเป๋าเดินทางและกระเป๋าถืออันหรูหราสวยงามของแขกจากทั่วสารทิศที่มาเข้าพักในโรงแรม สิ่งเหล่านี้เองทำให้ Guccio ได้รับแรงบันดาลใจที่จะกลับบ้านเกิดในปี 1902 เพื่อกลับไปเรียนรู้ศาสตร์แห่งการทำกระเป๋าเดินทางหนังจาก Franzi บริษัทเครื่องหนังชื่อดัง
ในปี 1921 Guccio ออกจาก Franzi และด้วยแรงหนุนของภรรยา Aida Calvelli เขาตัดสินใจหันมาตั้งแบรนด์ของตัวเองในฟลอเรนซ์เป็นครั้งแรก นี่เองคือจุดเริ่มต้นของแบรนด์ Gucci ที่เรารู้จักกัน โดยในช่วงแรกของการก่อตั้งบริษัท Guccio เขาสามารถขายสินค้าเครื่องหนังให้แก่เหล่าผู้ดีมีเงินในอิตาลี โดยในช่วงแรกเน้นไปที่สินค้าอุปกรณ์เดินทาง เช่น ประเป๋าเดินทาง และกระเป๋าถือ รวมไปถึงอุปกรณ์เกี่ยวกับการเลี้ยงม้า (หลายคนกล่าวว่า ดีไซน์ยุคใหม่ของ Gucci ล้วนแล้วแต่ได้แรงบันดาลใจมาจากเครื่องมือเครื่องใช้ในในยุคเริ่มแรก) แต่เขากลับต้องทนทุกข์จากหนี้สินมากมาย เนื่องจากเขาถูกเหล่าผู้ร่วมสัญญาและลูกค้าเล่นตุกติกเรื่องการจ่ายเงินอยู่หลายครั้ง
Giovanni Vitali เห็น Guccio ประสบกับชะตากรรมดังกล่าวก็ไม่สบายใจ เขาเสนอจะให้เงินกู้แลกกับการให้เขาแต่งงานกับ Grimalda ลูกสาวของเขา Guccio ตกลงแต่โดยดี ภายในหนึ่งเดือนเขาสามารถจ่ายเงินกู้คืนให้แก่ Vitali ได้เต็มจำนวน แถมยังสามารถจ้างเหล่าช่างฝีมือคุณภาพสูงมาช่วยผลิตชิ้นงานได้อีกหลายคนด้วย
การปรับตัวของแบรนด์ในภาวะสงคราม
ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 ห้างร้านต่าง ๆ ล้วนได้รับผลกระทบจากพิษสงครามไปทั่วยุโรป Gucci เองก็เป็นหนึ่งในแบรนด์ที่ได้รับผลกระทบเข้าเต็ม ๆ แถมวัสดุหนังยังขนาดตลาดสุด ๆ แต่ Guccio ไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา คราวนี้เขาไม่ได้จำกัดการออกแบบสินค้าไว้แค่วัสดุหนัง แต่ยังมีการนำวัสดุท้องถิ่นในประเทศอย่างผ้ากัญชงทอลายแทนอีกด้วย
ในช่วงเวลาเดียวกันนี้ Gucci ได้ให้กำเนิดหนึ่งในลวดลายที่สร้างภาพจำให้กับแบรนด์มากที่สุดขึ้นมา มันเป็นลายเพชรเล็ก ๆ ที่เชื่อมต่อกัน ซึ่งในเวลาต่อมา มันก็ฮอตในหมู่นักช็อปกระเป๋าเดินทางสุด ๆ จนกลายเป็นสินค้ายอดฮิตประจำแบรนด์ไปโดยปริยาย นอกจากนี้ ยังมีสินค้าอย่างเข็มขัด กระเป๋าเงิน และรองเท้า เป็นสินค้าที่เรียกแขกได้ไม่น้อยเช่นกัน
ในปี 1938 ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 จะปะทุ ลูกชายทั้งสามคนของ Guccio อย่าง Aldo, Vasco และ Rodolfo เริ่มเข้ามาช่วยพ่อทำธุรกิจเต็มตัวมากขึ้น
หลังสงครามจบลงได้ 2 ปี Gucci ก็ยังคงสานต่อความสำเร็จแบบไม่มีพัก พวกเขาเริ่มนำหนังหมูมาใช้ทำกระเป๋าเป็นครั้งแรก อีกทั้งเจ้ากระเป๋าหูจับไม้ไผ่ญี่ปุ่นสุดไอคอนนิกก็ถือกำเนิดขึ้นในยุคนี้ ในช่วงเวลาใกล้ ๆ กัน เส้นพาดเขียว-แดงที่แสนโด่งดังและเป็นภาพจำของแบรนด์ก็ถูกคิดค้นขึ้นมาด้วยเช่นกัน และด้วยความสำเร็จเป็นอย่างดี ทำให้ Gucci เริ่มขยายสาขาออกไปในหลายที่ รวมถึงในมหานครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกาด้วย ถือเป็นครั้งแรกที่แบรนด์อิตาเลียนมาเปิดหน้าร้านในดินแดนแห่งนี้เลยก็ว่าได้ อย่างไรก็ดี หลังจากร้านใหม่เริ่มเปิดทำการได้เพียง 15 วัน Guccio ก็จากไปอย่างไม่มีวันกลับด้วยโรคหัวใจวายในวัย 72 ปี
หลังการจากไปของ Guccio เขามอบสิทธิ์ให้ลูกชายทั้ง 3 ของเขาก็เข้ามาดูแลธุรกิจเต็มตัว โดยพวกเขาแบ่งการบริหารเป็น Aldo ดูแลฝั่งสหรัฐอเมริกา, Vasco จัดการฝั่งฟลอเรนซ์ และ Rodolfo บริหารฝั่งมิลาน ส่วนลูกสาว Grimalda และสามีผู้ที่เคยกู้สถานการณ์ทางการเงินที่เคยล่อแล่ของ Guccio กลับไม่ได้อะไรเลย เธอพยายามจะต่อสู้ในชั้นศาลเพื่อสิทธิ์ในการร่วมบริหาร แต่สุดท้ายก็แพ้ไปอย่างน่าเสียดาย
ยุคทองของแบรนด์ในฝัน
ในปี 1953 Gucci ได้ผลิตรองโลฟเฟอร์หนังสำหรับการสวมใส่ที่สะดวกสบายสำหรับผู้หญิง ถึงแม้เทรนด์ในตอนนั้นแบรนด์ต่าง ๆ จะพากันผลิตรองเท้าส้นสูงกันเสียส่วนใหญ่ก็ตาม โดยความพิเศษของมันอยู่ที่ดีไซน์สายห่วงรัดปากม้าสีสองที่พาดอยู่ด้านบนรองเท้า ซึ่งจนแล้วจนรอดก็ไม่ใช่แค่ผู้หญิงเท่านั้นที่หลงรักดีไซน์นี้ แต่มันกลายเป็นไอเทมฮิตของผู้ชายด้วยเช่นกัน (Frank Sinatra คือหนึ่งในแฟนตัวยงของรองเท้าโลฟเฟอร์ของ Gucci ด้วยเช่นกัน) โดยในปัจจุบันมันก็ยังเป็นสินค้ายอดฮิตตลอดกาลของ Gucci ไม่เสื่อมคลาย
ในส่วนของโลโก้ แม้ในช่วงแรกมันจะถูกออกแบบอย่างเรียบง่าย และถูกปรับเปลี่ยนรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ ไปบ้าง แต่ก็เป็น Aldo ที่เป็นผู้ริเริ่มใช้โลโก้ Double-G ไขว้กันเป็นคนแรก ในเวลาต่อมาโลโก้ดังกล่าวจึงถูกนำไปจดทะเบียนสิทธิบัตรอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรก และด้วยความที่นิวยอร์กกำลังบูมจนถึงจุดสูงสุด หน้าร้าน Gucci ที่นั่นจึงมีเหล่านักช็อปคอยแวะเวียนกันไม่มีหยุด โดยเราอาจกล่าวได้ว่า ช่วงยุค 1950s ถือเป็นปีทองของ Gucci เลยก็ว่าได้
ในช่วงยุค 1960s-70s Gucci ยังคงเติบโตทั้งในแง่ยอดขายและความสนใจจากเซเลบคนดัง พวกเขาต้องต้อนรับลูกค้าอย่าง Queen Elizabeth II, Princess Diana, Grace Kelly (Princess of Monaco), Jackie Kennedy, Elizabeth Taylor และ Audrey Hepburn ซึ่งในเมื่อมันประสบความสำเร็จขนาดนี้ ทางแบรนด์ก็ไม่รอช้า รีบขยายสาขาออกไปทั้งในสหรัฐอเมริกา ยุโรป และเอเชีย
ดราม่าร้อน ๆ ในครอบครัว Gucci
แม้ในช่วง 1970s-80s ยอดขายจะยังคงสูงทะลุฟ้า แต่กิจการภายในครอบครับกลับร้อนเป็นไฟ โดยมันเริ่มตั้งแต่การตายด้วยโรคมะเร็งของ Vasco ในปี 1974 ตัว Vasco นั้นเป็นคนไม่มีลูก ดังนั้น หุ้นของบริษัทของเขาจึงตกเป็นของภรรยาทั้งหมด ต่อมา Aldo และ Rodolfo ของซื้อต่อหุ้นดังกล่าว และแบ่งเป็นจำนวนครึ่ง-ครึ่ง โดยต่อมา Aldo แบ่งหุ้นให้ลูกชายทั้ง 3 คน Giorgio, Paolo และ Roberto คนละ 10% เท่า ๆ กัน ในขณะที่ Rodolfo กลับไม่ได้แบ่งหุ้นแม้แต่หุ้นเดียวให้กับ Maurizio ลูกชายเพียงคนเดียวของเขา ซึ่งว่ากันว่า มีหุ้นในบริษัทในจำนวนที่เล็กน้อยมากเท่านั้น
ปัญหาเริ่มเกิดเมื่อ Giorgio ลูกชายของ Aldo ตัดสินใจสร้างบริษัท Gucci Boutique ขึ้นด้วยตัวเองโดยไม่ปรึกษาสมาชิกในครอบครัวคนอื่น ๆ สุดท้ายมันก็ถูกปัดตกไป แต่เรื่องยังไม่จบแค่นั้น เวลาต่อมา Paolo ลูกชายอีกคนของ Aldo แอบทำแบรนด์ Gucci ที่มีสินค้าราคาเบา ๆ มากขึ้นภายใต้ชื่อ Gucci Plus เพื่อเป็นการล่อตลาดกลุ่มหนุ่มสาวให้มาสนใจมากขึ้น คราวนี้ Aldo ไม่รอช้ารีบส่งหมายศาลฟ้องลูกชายตัวเองทันควัน และรีบกันท่าไม่ให้เขาเข้ามายุ่งเกี่ยวในธุรกิจอีก Paolo ไม่รอให้ตัวเองเป็นผู้ถูกกระทำเท่านั้น เขาฟ้องกลับในเงินสูงถึง 3.3 ล้านเหรียฐสหรัฐ แถมยังกล่าวหาว่า พ่อของของหลบหลีกภาษีจำนวนมาก ซึ่งนี่เองทำให้ Aldo ต้องเข้าคุกไปร่วมปี ภายหลังเขาจึงยอมรับผิดที่หลบหลีกภาษีกว่า 7 ล้านเหรียฐสหรัฐ
ต่อมาไม่นาน Rodolfo เสียชีวิต จึงทำให้สิทธิ์ในการถือหุ้นจำนวนมหาศาลของเขาตกเป็นของ Maurizio ลูกชายของตัวเอง หลังจากเขาได้รับหุ้นจำนวนมาก Maurizio ที่รู้สึกไม่สบายใจกับครอบครัวของตัวเองอยู่แล้ว จึงเริ่มพยายามวุ่นวายในกิจการของ Gucci มากขึ้น แม้ว่าสมาชิกในครอบครัวจะกล่าวหาว่าเขาปลอมแปลงลายเซ็นของพ่อก็ตาม อย่างไรก็ดีในปี 1988 Maurizio ขายหุ้นส่วนของตัวเองกว่า 47.8% ให้กับบริษัท Investcorp
โศกนาฏกรรมที่โด่งดังไปทั่วโลก
ว่ากันว่า หลังจากที่ Maurizio ได้รับส่วนแบ่งจำนวนมหาศาลจากพ่อของเขา เขาก็เริ่มไม่สนใจคำแนะนำของใครหน้าไหน ไม่เว้นแม้แต่ภรรยาสาว Patrizia Reggiani สาวผู้ดีจากเมืองมิลานที่เคยรักกันหวานชื่น และเป็นผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จหลาย ๆ อย่างของเขา จนในที่สุดมันก็นำมาสู่การหย่าร้างอันแสนเจ็บปวดในปี 1990
อย่างไรก็ดี Maurizio ไม่ได้มีความสามารถในการบริหารมากเพียงพอที่จะจัดการแบรนด์ระดับโลกอย่าง Gucci เขาทำให้แบรนด์ต้องขาดทุนเสียหายมากมาย จนในที่สุด บริษัท Investcorp ก็เข้าซื้อหุ้นอีก 50% ในปี 1993 ถือเป็นปิดตำนานของตระกูล Gucci ในการครอบครองบริษัทไปตลอดกาล
ในวันที่ 27 มีนาคม 1995 เกิดเหตุไม่คาดฝันเกิดขึ้น Maurizio ถูกยิงจนเสียชีวิตคาที่หน้าตึกออฟฟิซมิลาน โดยเขาจากไปในวัยเพียง 46 ปีเท่านั้น โดยแม้เวลาจะผ่านไปถึง 2 ปีแต่ก็ไม่มีทราบถึงตัวตนคนร้ายที่ฆ่า Maurizio จนวันหนึ่งมีสายรายงานว่า บุคคลที่จ้างวานฆ่าเขาไม่ใช่คนอื่นคนไกลที่ไหน แต่เป็น Patrizia อดีตภรรยาสุดที่รักนี่เอง
เหตุผลที่เธอตัดสินใจอุกอากในครั้งนี้เป็นเพราะเธอได้ยินมาว่า Maurizio กำลังจะแต่งงานใหม่กับ Paolo Franchi ซึ่งนั่นคือสิ่งที่เธอรับไม่ได้ เพรามันหมายความว่า เธอกำลังจะต้องสูญเสียสถานะ เงินทอง และอำนาจให้แก่ Franchi แถมค่าเลี้ยงดูของเธอจะถูกลดลงครึ่งหนึ่งเหลือเพียง 860,000 เหรียฐสหรัฐเท่านั้น
Patrizia ถูกตัดสินจำคุก 29 ปีสำหรับความผิดที่ก่อ อย่างไรก็ดี เธอถูกปล่อยตัวออกมาในปี 2016 โดยใช้ชีวิตในคุกเพียง 18 ปีเท่านั้น
การฟื้นคืนชีพโดย Tom Ford
ในช่วงเวลาก่อนเหตุโศกนาฏกรรมของ Maurizio แบรนด์ก็อยู่ในสถานะลูกผีลูกคน สภาวะทางการเงินย่ำแย่ไปหมด บริษัทอยู่ในสภาพใกล้ล้มละลาย แต่โชคยังดีที่ได้ดีไซเนอร์คนเก่งอย่าง Tom Ford มาเป็นครีเอทีฟไดเรกเตอร์ให้ในช่วงปี 1994 เขาเปลี่ยนภาพลักษณ์ของ Gucci ให้มีความน่าดึงดูดใจมากขึ้น ภายในปีเดียว เขาทำให้แบรนด์ใกล้โรยรานี้กลับมามาเป็นที่ยอมรับทั้งในแง่การออกแบบ ความนิยม และยอดขาย ใคร ๆ ต่างก็อยากตามหาชุดของ Gucci มาจับจอง แม้แต่เหล่าเซเลบคนดังก็ยังอยากนำมาใส่เดินพรมแดงกันทั้งนั้น
ในปี 1995 Domenico De Sole หัวหอกแห่ง Gucci America ได้ขึ้นแท่นเป็น CEO ของ Gucci โดยมีบริษัทเครือ LVMH คอยทยอยซื้อหุ้นกว่า 34% ในปี 1999 Ford และ Sole ไม่ต้องการถูกบริษัทเครือ LVMH เทคโอเวอร์ จึงตัดสินใจหันหน้าเข้าหาบริษัทเครือ Pinault Printemps Redoute (PPR) แทน โดยกลายมาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของแบรนด์ จำนวน 42% ซึ่งการซื้อหุ้นออกใหม่จำนวนดังกล่าวไว้เป็นมูลค่ากว่า 3,000 ล้านเหรียญสหรัฐ และเป็นการทำให้ Gucci รอดพ้นจากการถูกเทกโอเวอร์ ต่อมาในปี 2013 บริษัทเครือ Pinault Printemps Redoute (PPR) ก็ได้เปลี่ยนชื่อเป็น Kering ที่เราคุ้นเคยในปัจจุบันที่เอง
Ford และ Sole ทำให้แบรนด์กลับมาได้รับความถึงจุดสูงสุด ไอเทมในตำนานก็มาเป็นที่ต้องการอีกครั้ง อย่างไรก็ดี งานเลี้ยงย่อมมีเลิกรา คอลเลกชั่นสุดท้ายของ Ford ก็เกิดขึ้นในปี 2004 แต่ Sole ไม่ปล่อยให้ Gucci ต้องเหงานาน เขาไปเรียกตัว Frida Giannini จาก Fendi มาร่วมเสริมทัพให้ปังกว่าเดิม ซึ่งคราวนี้จะเห็นได้เลยว่า Giannini ต่อยอดผลิตภัณฑ์ของแบรนด์ให้มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้นเลยทีเดียว โดยเฉพาะกับลวดลายดอกไม้ที่ปรากฏอยู่ในคอลเลกชั่น
ภาพลักษณ์ในปัจจุบันที่แตกต่าง
หลังการย้ายออกไปของ Giannini ในปี 2014 Gucci ก็ได้ครีเอทีฟไดเรกเตอร์คนใหม่ ชื่อ Alessandro Michele ดีไซเนอร์หน้าใหม่ที่ไม่มีใครรู้จักชื่อเสียงเรียงนามมากนัก แต่แท้ที่จริงแล้ว Michele เป็นดีไซเนอร์ลูกหม้อที่ทำงานในบริษัทมาแล้วกว่า 12 ปี!
ใครจะจะไปคาดคิดล่ะว่า จากดีไซเนอร์หน้าใหม่ที่ชื่อไม่คุ้นหู จะเข้ามาเปลี่ยนวิธีคิดและภาพลักษณ์ของ Gucci ไปแบบ 180 องศา เขาทำให้แบรนด์ให้ที่เคยดูหรูหรา เป็นผู้ใหญ่ กลับดูสนุกสนาน จัดเต็มไปสีสันสุดจัดจ้าน และดู ‘เล่นใหญ่’ มากขึ้น เขานำองค์ประกอบเก่า ๆ ของความเป็นโอต์ กูตูร์ที่เป็นมนต์เสน่ห์เก่า ๆ ของแบรนด์มาผสามผสานกับความเยาว์วัยแบบสตรีทสไตล์ และแอบซ่อนรายละเอียกจากศิลปะคลาสสิกบางอย่างเข้าไปในคอลเลกชั่นด้วย โดยในแต่ละโชว์เขาก็มักจะจะมีกิมมิกแปลก ๆ มาทำให้เราอึ้งทึ่งเสียวอยู่เสมอ
อย่างในโชว์ Gucci Fall 2018 เขาก็ทำให้คนดูแทบตกเก้าอี้ หลังจากได้เห็นเหล่านายแบบและนางแบบถือมังกรที่แสนสมจริง และหัวมนุษย์ที่หน้าตาเหมือนตัวนายแบบนางแบบเป๊ะ ๆ
หรือแม้แต่ในโชว์ครบรอบ 100 ปีของแบรนด์ Michele ยังไม่ได้มาเล่น ๆ หันไปร่วมจับมือคอลแลบกับอีกหนึ่งแบรนด์ดังอย่าง BALENCIAGA เพื่อนร่วมเครือ Kering ในชื่อคอลเลกชั่น Aria ที่ได้รับการกล่าวขวัญถึงสุด ๆ
หลังจากผ่านเรื่องราวดราม่าของของตระกูล Gucci มามากมาย เราอาจกล่าวได้ว่า จุดเริ่มต้นของของแบรนด์พัฒนามาจากความเป็นช่างฝีมือที่มีอที่มีความถนัดในงานเครื่องหนัง อย่างไรก็ดีเมื่อเวลาผ่านไป มันก็ค่อย ๆ พัฒนาเข้าสู่ความเป็นแบรนด์แฟชั่นลำตับต้น ๆ ของโลก ที่ไม่ว่าใคร เพศไหน อายุเท่าไหร่ก็อยากตามหามาจับจองกันทั้งนั้น
อ้างอิง:
https://www.lifestyleasia.com/kl/style/fashion/history-of-gucci/
https://www.instyle.com/fashion/history-of-gucci
https://en.wikipedia.org/wiki/Gucci
https://historydaily.org/guccio-gucci-facts-stories-trivia