cover history of Magenta .jpg

History of Magenta ประวัติศาสตร์ฉบับย่อของ ‘สีม่วงแดง - แดงม่วง’ แห่งปี 2023

Post on 12 December

ในปี 1899 นักพืชสวนชาวอังกฤษ เกอร์ทรูด เจคิลล์ (Gertrude Jekyll) เคยประกาศว่า ในบรรดาสีสันของพืชพันธุ์ดอกไม้ทั้งหมด มีเพียงสีเดียวเท่านั้นที่ ‘อัปลักษณ์อย่างร้ายกาจ’ จนไม่ควรมีที่หยัดยืนอยู่ในสวนใด ๆ ของอังกฤษ

สีแดงเข้ม (Crimson) เป็นสีที่ต้องใช้อย่างระมัดระวัง เพราะเป็นสียอดนิยมที่คนมักเลือกใช้เป็นพืชคลุมดิน  และเรามักเห็นสีนี้ถูกนำมาโชว์ในแคตตาล็อกพืชสวนจนชินตา กระทั่งเราแยกกันไม่ออกแล้วว่า มันเป็นสีแดงเลือดนกสดสวย หรือสีม่วงแดงมาร์เจนตาที่อัปลักษณ์อย่างร้ายกาจ (Malignant Magenta) กันแน่

เจคิลล์หาได้เป็นแอนตี้สีม่วงมาเจนตาหรือสีม่วงแดงออกชมพูเฉดนี้เพียงคนเดียว เพราะในปี 1914 ก็ปรากฏบันทึกคำพูดของนักพืชสวนศาสตร์ร่วมชาติอย่าง เอ็ดเวิร์ด ออกัสตัส โบว์เลส ที่กล่าวว่า เอกเจอเรเนียมที่มีสีม่วงออกชมพูนั้น “น่าเกลียดอย่างกับดอกไม้แห่งความชั่วร้าย”

ความรังเกียจสีม่วงมาเจนตาในหมู่คนรักพืชพรรณนี้หาได้เป็นความ ‘ไบแอส’ แบบไร้ที่มาที่ไป แต่กลับมีรากลึกมาจากกระแสต่อต้านเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมที่กำลังเบ่งบานในยุโรปช่วงศตวรรษที่ 19 โดยสีม่วงมาเจนตาซึ่งเป็นสีย้อมที่ไม่มีอยู่ในธรรมชาติ แต่เป็นผลผลิตของการคิดทดลองทางวิทยาศาสตร์ ได้กลายเป็นสีที่เป็นตัวแทนของเทคโนโลยีและการปฏิวัติอุตสาหกรรม และแน่นอนว่าเป็นสีที่ไม่พึงประสงค์สำหรับเหล่านักธรรมชาตินิยม โดยเฉพาะคนรักต้นไม้ใบหญ้าอย่างบรรดานักพืชสวน และเหล่าคนที่ต่อต้านผลผลิตจากระบบอุตสาหกรรมต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นอาหารกระป๋อง ยา หรือสีเคมี

หากเจคิลล์และผองเพื่อนยังมีชีวิตอยู่จนถึงปัจจุบัน ปี 2023 คงเป็นปีที่พวกเขาขมขื่นใจเป็นที่สุด เพราะสีม่วงโทนแดงที่พวกเขาเกลียดชัง ไม่เพียงถูกขจัดหายไป แต่ยังถูกหยิบขึ้นมาเชิดชูให้เป็น ‘สีแห่งปี 2023’ ที่ไม่ว่าจะหันไปทางไหน ก็จะเห็นแต่สีสุดแสบตานี้ปรากฏอยู่ในแทบทุกที่

จากการเป็นสีที่ถูกรังเกียจเดียดฉันท์ สู่การเป็นสีแห่งความหวังและอิสระแห่งการทดลองความสร้างสรรค์ ‘สีม่วงโทรแดง’ ‘แดงโทนม่วง’ ‘แดงม่วงเฉดชมพู’ นี้มีเรื่องราวหรือความหมายอันใดในประวัติศาสตร์อีกบ้าง? GroundControl ขอชวนทุกคนไปสำรวจร่วมกัน

Magenta สีที่ไม่มีอยู่จริง 

แม้ว่าในถ้อยแถลงที่ประกาศให้ ‘Viva Magenta’ เป็นสีแห่งปี สถาบันผู้กำหนดมาตรฐานสีอย่าง Pantone จะระบุไว้ชัดเจนว่า สีม่วง-แดง แดง-ม่วงนี้เป็นสีที่ได้จากแมลงอย่าง ‘ครั่ง’ ที่ถูกนำมาสกัดเป็นสีย้อมแดงมาช้านาน แต่ในความเป็นจริงแล้ว สีที่เรียกว่า ‘มาเจนตา’ นั้นไม่สามารถสกัดจากธรรมชาติได้ และเหนือสิ่งอื่นใด ตามหลักทางวิทยาศาสตร์แล้ว มาเจนตาคือสีที่ไม่มีอยู่จริง! เพราะไม่ปรากฏอยู่ในตำแหน่งของคลื่นแสงใด ๆ ที่ตาของมนุษย์จะมองเห็นได้ แต่การที่เรามองเห็นสีมาเจนตานั้นเป็นผลมาจากการประมวลของสมองที่พยายามจำแนกช่วงสีที่สีน้ำเงินกลายเป็นสีแดงนั่นเอง

แล้วถ้าไม่มีอยู่ในธรรมชาติ สีมาเจนตาเกิดขึ้นได้อย่างไร? มาเจนตาคือหนึ่งในเฉดสีที่เกิดขึ้นในยุคแห่งการปฏิวัติอุตสาหกรรม และในอีกแง่หนึ่ง การมาถึงของมาเจนตาและสีย้อมทางวิทยาศาสตร์ต่าง ๆ ก็เป็นดังสัญลักษณ์ของความเปลี่ยนแปลงทางสังคมและชนชั้น เพราะก่อนที่จะมีการคิดค้นสีย้อมด้วยวิธีทางวิทยาศาสตร์นั้น มีแต่คนรวยและชนชั้นนำเท่านั้นที่มีสิทธิ์ครอบครองสีสันต่าง ๆ

ตั้งแต่สมัยโบราณมา สีที่นำมาใช้ย้อมเสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย เครื่องสำอาง ไปจนถึงแต่งแต้มในงานศิลปะ ล้วนถูกสกัดมาจากธรรมชาติเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นสัตว์ แมลง แร่หิน หรือพืช ด้วยกรรมวิธีการสกัดสีอันแสนยากเข็ญ แถมทำออกมาก็ได้ในปริมาณน้อย สีสันต่าง ๆ จึงถูกสงวนไว้สำหรับชนชั้นสูง หรือใช้ในงานศิลปะอันสูงส่งที่ถูกสร้างสรรค์ขึ้นเพื่อรับใช้ศาสนา 

<p>(ภาพ จักรโมเสกพรรดิไบแซนไทน์ Justinian I ในฉลองพระองค์สีม่วง จากศตวรรษที่ 6)</p>

(ภาพ จักรโมเสกพรรดิไบแซนไทน์ Justinian I ในฉลองพระองค์สีม่วง จากศตวรรษที่ 6)

ตัวอย่างเช่น ‘สีม่วง’ ที่กลายมาเป็นสีสัญลักษณ์แห่ง ‘อำนาจ’ ของจักรพรรดิโรมันโบราณ เนื่องจากสิ่งที่ใช้สกัดสีม่วงในยุคนั้นได้มีแต่เปลือกของหอยที่มีถิ่นอาศัยอยู่ในเมืองติดทะเลของเลบานอนอันห่างไกล สีม่วงอันแสนล้ำค่านี้จึงสะท้อนถึงความมั่งคั่งและยิ่งใหญ่ของอาณาจักรโรมันโบราณที่แผ่ขยายอำนาจออกไปอย่างไพศาล

อีกหนึ่งสีที่ได้ชื่อว่าล้ำค่ามหาศาลในสมัยโบราณก็คือ ‘สีน้ำเงิน’ โดยเฉพาะสีน้ำเงินสดอัลตรามารีนที่สกัดได้จากแร่อัญมณีในแถบประเทศอัฟกานิสถานเท่านั้น ทำให้สีน้ำเงินมักถูกสงวนไว้สำหรับภาพจิตรกรรมในโบสถ์อันสูงส่ง โดยเฉพาะการถ่ายทอดภาพของพระแม่มารีด้วยสีน้ำเงิน เพื่อสะท้อนถึงความสูงส่งและความสง่างามของพระองค์

สถานการณ์เป็นผู้ครอบครองสีสันของชนชั้นสูงถูกสั่นคลอนในปี 1856 เมื่อ วิลเลียม เฮนรี เพอร์กิน นักศึกษาเคมีชาวอเมริกันที่มีอายุเพียง 18 ปี ค้นพบสีเคมีโดยบังเอิญ จากความตั้งใจแรกที่จะใช้น้ำมันดินที่เหลือจากตะเกียงไฟมาผลิตเป็นยาควินินเพื่อรักษาโรคมาลาเรีย แต่สิ่งที่เขาได้กลับเป็นสารสีม่วงติดก้นหลอดแก้ว ที่ไม่ว่าจะใช้ผ้าฝ้ายเช็ดอย่างไรก็ไม่ออก แถมยังทิ้งคราบติดทนบนผ้าฝ้ายแบบซักอย่างไรก็ซักไม่ออกด้วย

ในวินาทีนั้น เพอร์กินก็ตระหนักว่า ความล้มเหลวในการทดลองครั้งนี้กลับนำมาซึ่งความสำเร็จอย่างมหาศาล ถึงขนาดที่ทำให้เขากล้าลาออกจากโรงเรียน แล้วผันตัวมาเป็นนักธุรกิจผู้ขาย ‘สีม่วงอมน้ำเงิน’ (Mauve) ที่ตามมาด้วยสีสังเคราะห์อื่น ๆ อีกมากมาย 

<p>การค้นพบของเพอกินไม่เพียงเป็นการปฏิวัติวงการวิทยาศาสตร์ แต่ยังเป็นการปฏิวัติชนชั้นทางสังคม เพราะนับตั้งแต่นั้นมา หาใช่แค่คนในราชวงศ์และชนชั้นนำเท่านั้นที่สามารถเป็นเจ้าของสีสันต่าง ๆ แต่สีสังเคราะห์เหล่านี้ได้นำสีสันมาสู่ชีวิตประจำวันของคนทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้าหรือของใช้ในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะสีม่วงสังเคราะห์ของเพอร์กินที่กลายเป็นสียอดนิยมจนสวมใส่กันตั้งแต่คนธรรมดายันพระราชินีวิกตอเรีย</p>

การค้นพบของเพอกินไม่เพียงเป็นการปฏิวัติวงการวิทยาศาสตร์ แต่ยังเป็นการปฏิวัติชนชั้นทางสังคม เพราะนับตั้งแต่นั้นมา หาใช่แค่คนในราชวงศ์และชนชั้นนำเท่านั้นที่สามารถเป็นเจ้าของสีสันต่าง ๆ แต่สีสังเคราะห์เหล่านี้ได้นำสีสันมาสู่ชีวิตประจำวันของคนทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้าหรือของใช้ในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะสีม่วงสังเคราะห์ของเพอร์กินที่กลายเป็นสียอดนิยมจนสวมใส่กันตั้งแต่คนธรรมดายันพระราชินีวิกตอเรีย

จาก Fuchsia สู่ Magenta สีม่วงแดงที่มีที่มาจากสงครามนองเลือด
 

<p>(ดอกฟิวเชีย)</p>

(ดอกฟิวเชีย)

<p>(ภาพพิมพ์ดอกฟิวเชียโดย G. Severeyns)</p>

(ภาพพิมพ์ดอกฟิวเชียโดย G. Severeyns)

เพียงสามปีหลังจากเพอร์กินประดิษฐ์สีสังเคราะห์ได้สำเร็จ ในประเทศฝรั่งเศส นักเคมีชาวลียง ฟรังซัวส์-เอมมานูเอล แวร์แก็ง ก็ได้ประดิษฐ์สีม่วงสังเคราะห์เฉดใหม่ที่แตกต่างจากสีม่วงอมน้ำเงินของเพอร์กินด้วยการเป็นสีม่วงอมแดง และตั้งชื่อสีนี้ว่า ‘สีม่วงฟิวเชีย’ (Fuchsia) ตามชื่อดอกฟิวเชียที่มีสีม่วงอมแดงใกล้เคียงกัน

แต่สีม่วงสังเคราะห์เฉดใหม่ล่าสุดนี้ก็ได้ใช้ชื่อฟิวเชียได้ไม่ถึงปีเท่านั้น เพราะในปีเดียวกันนั้นเอง กองทัพฝรั่งเศสที่ร่วมกับกองทัพอิตาลีได้ชัยชนะเหนือกองทัพจักรวรรดิออสเตรียนในศึกที่ ‘เมืองมาเจนตา’ ประเทศอิตาลี ซึ่งนำความภาคภูมิใจและความยินดีมาสู่ชาวฝรั่งเศสในช่วงเวลานั้นเป็นอย่างมาก และเพื่อเป็นการโหนกระแส บริษัทผู้ขายสีม่วงฟิวเชียของแวร์แก็งจึงได้เปลี่ยนชื่อสีม่วงฟิวเชียที่ถูกค้นพบในปีเดียวกันให้กลายเป็น ‘สีม่วงมาเจนตา’ ซึ่งก็ถือว่าเป็นการตัดสินใจที่ถูกที่ถูกเวลา เพราะไม่นานหลังจากเปลี่ยนชื่อ สีม่วงมาเจนตาก็กลายเป็นสียอดฮิตที่เหล่าสาวปาริเซียงพากันไปตัดชุดและหมวกเป็นสีม่วงออกชมพูโทนนี้แบบทั่วบ้านทั่วเมือง 

<p>(ภาพ ชุดสตรีอังกฤษในช่วง 1869-1870 จาก พิพิธภัณฑ์วิคตอเรียแอนด์อัลเบิร์ต ลอนดอน)</p>

(ภาพ ชุดสตรีอังกฤษในช่วง 1869-1870 จาก พิพิธภัณฑ์วิคตอเรียแอนด์อัลเบิร์ต ลอนดอน)

และเมื่อสาวปาริเซียงฮิตอะไร สาว ๆ ทั่วยุโรปก็พากันฮิตตามด้วย ในปี 1860 หนังสือ English Women's Clothing in the Nineteenth Century: A Comprehensive Guide ที่เป็นดังคัมภีร์สรุปแฟชั่นของสาว ๆ ในยุคนั้นก็ได้ประกาศว่า สีม่วงมาเจนตาคือ ‘ราชินีแห่งสีทั้งปวง’ (Queen of Colours)

สีม่วงแดงของโกแก็ง และความสดใสจากโลกนอกยุโรป

<p>(ภาพ Paul Gauguin, Fatata te Miti (By the Sea), 1892)</p>

(ภาพ Paul Gauguin, Fatata te Miti (By the Sea), 1892)

ใน By the Sea (1892) ที่ ปอล โกแก็ง วาดขึ้นหนึ่งปีหลังจากเดินทางมาถึงเกาะตาฮิติ ภาพของหญิงสาวพื้นเมืองที่กำลังเปลือยอกอาบน้ำท่ามกลางพงไพรที่เปี่ยมด้วยมนต์ขลัง และปราศจากความละอายตามค่านิยมในสังคมตะวันตก หาใช่สิ่งเดียวที่สร้างความตื่นตะลึงให้กับผู้คนในแวดวงศิลปะฝรั่งเศส แต่การนำเสนอสีสันแสนสดใสของป่าเขตร้อน ไม่ว่าจะเป็นสีม่วง ชมพู และเหลือง ซึ่งล้วนเป็นสีที่ศิลปินตะวันตกในยุคนั้นหลีกเลี่ยง ก็เป็นการสร้างหมุดหมายใหม่ให้กับแวดวงศิลปะ

เช่นเดียวกับเพื่อนศิลปินร่วมลัทธิหลังประทับใจอย่าง วินเซนต์ แวนโกหะ์ ตลอดชีวิตการเป็นศิลปินของโกแก็งแทบไม่เคยพบกับความสำเร็จทางการเงิน แม้ว่าการเลือกโบกมือลาเพื่อนร่วมบ้านอย่างแวนโกะห์ (แบบจบไม่สวย) แล้วมุ่งหน้าสู่อาณานิคมฝรั่งเศสอันห่างไกล จะมาจากความตั้งใจเพื่อนำเสนอความ ‘เอ็กโซติก’ เพื่อเอาใจผู้ชมชาวฝรั่งเศส แต่อีกหนึ่งเหตุผลที่ทำให้โกแก็งเลือกที่จะมุ่งหน้าสู่อ้อมกอดของธรรมชาติและวิถีชีวิตอันดิบเถื่อน ก็มาจากความตั้งใจที่จะหลีกหนีระเบียบอันเคร่งครัดและคับแคบของแวดวงศิลปะอันศิวิไลซ์

และ ณ กลางป่าดงพงพีนั่นเองที่โกแก็งได้พบกับ ‘จิตวิญญาณ’ ของธรรมชาติที่สะท้อนผ่านสีสันสดใสแสนแปลกใหม่ที่เขาไม่เคยพบมาก่อนในชีวิต ซึ่งในภายหลัง นักวิจารณ์ศิลปะจะมองว่า การเลือกนำเสนอสีสันแสนสะดุดตาที่ไม่เคยปรากฏในงานศิลปะตะวันตกนี้คือการสะท้อนนัยการละทิ้งระเบียบและมาตรฐานของโลกศิลปะตะวันตกด้วย

“ทุกสิ่งที่ปรากฏอยู่ในทัศนียภาพที่นี่ทำให้ดวงตาของฉันพร่างพราย ราวกับต้องมนตร์ ในยุโรปที่ฉันจากมา ฉันมักไม่มั่นใจที่จะใช้สีสันจัดจ้าน และเอาแต่วนกลับไปใช้สีเดิม ๆ แต่ ณ ที่แห่งนี้ ฉันกลับสามารถป้ายสีแดงและน้ำเงินสดได้อย่างไม่ตะขิดตะขวงใจ ฉันจับใจกับภาพของลำธารที่สะท้อนแสงแดดเป็นประกายสีทอง ทำไมฉันถึงเคยลังเลที่จะสาดสีทองและสีสันของแสงตะวันลงไปบนผืนผ้าใบของฉันกันนะ?”

และในบรรดาสีสันที่โกแก็งอนุญาตให้ตัวเองปลดปล่อยให้เป็นอิสระบนผืนผ้าใบ เมื่ออยู่ท่ามกลางความงดงามของธรรมชาติ ‘สีม่วง’ หนึ่งในสีที่โลกศิวิไลซ์มองว่าเป็นสีสังเคราะห์ที่อยู่ตรงข้ามกับความเป็นธรรมชาติ กลับเป็นสีที่โกแก็งค้นพบในพืชพรรณและดอกไม้ในแดนสวรรค์บนเกาะกลางแปซิฟิกอันห่างไกล และเป็นสีที่เขาระเบิดพร่างพรายบนผืนผ้าใบ และส่งต่อเป็นแรงบันดาลใจให้แก่หนึ่งในขบวนการเคลื่อนไหวทางศิลปะที่ทรงอิทธิพลที่สุดของโลกศิลปะสมัยใหม่ นั่นก็คือ ‘Fauvism’

Fauvism — เมื่อสีม่วงลุกขึ้นปฏิวัติ

‘Wild Beast’ หรือ ‘สัตว์ร้าย’ คือความหมายของคำในภาษาฝรั่งเศส ‘fauves’ ซึ่งเป็นคำนิยามที่นักวิจารณ์ศิลปะ หลุยส์ โวฟ์แซล มอบให้กับผลงานศิลปะสีสันแสนจัดจ้านและไม่ประนีประนอมของ อองรี มาทิสต์ และ อังเดร เดอแร็ง สองศิลปินผู้ร่วมกันก่อตั้งลัทธิศิลปะที่ชื่อว่า ‘Fauvism’

โฟวิสม์ (Fauvism) คือขบวนการเคลื่อนไหวทางศิลปะที่เบ่งบานในฝรั่งเศสช่วงต้นศตวรรษที่ 20 แม้ว่าชีวิตของมันจะแสนสั้น เพราะศิลปินร่วมอุดมการณ์ล้วนแยกทางกันไปพัฒนารูปแบบศิลปะของตัวเอง แต่โฟวิสม์คือขบวนการความคิดทางศิลปะแรก ๆ ที่แยกตัวออกจากแนวทางของศิลปะลัทธิประทับใจ และเป็นขบวนการทางศิลปะที่เป็นภาพแทนของการตัดขาดจากรูปแบบศิลปะตามขนบคลาสสิกอย่างชัดเจน ด้วยการใช้ทั้งฝีแปรงที่ป้ายลงไปบนผืนผ้าใบแบบดุดัน ไม่เกรงใจกฎเกณฑ์เรื่องการสะท้อนความจริง และยังใช้สีแสนฉูดฉาดที่ศิลปินยุคก่อนหน้าไม่เคยกล้าใช้

<p>(ภาพ Henri Matisse, Les toits de Collioure, 1905)</p>

(ภาพ Henri Matisse, Les toits de Collioure, 1905)

การขบถทางศิลปะของมาร์ทิสต์และเดอแร็งหาได้เกิดขึ้นอย่างไร้ที่มาที่ไป พวกเขาได้รับอิทธิพลความขบถมาจากศิลปินลัทธิหลังประทับใจอย่างแวนโกะห์, ปอล เซซาน, ฌอร์ฌ-ปีแยร์ เซอรา และ ปอล ซีญัก แต่ศิลปินที่ส่งแรงบันดาลใจในเรื่องสุนทรียะทางสีสันมากที่สุดก็หนีไม่พ้น ปอล โกแก็ง ผู้เปิดให้ศิลปินแห่งลัทธิสัตว์ร้ายของโลกศิลปินเหล่านี้เห็นว่า ยังมีวิธีการมากมายในการใช้สีสันเพื่อนำเสนอโลกในทัศนะของพวกเขา

หนึ่งในสีที่ศิลปินโฟวิสม์หยิบขึ้นมาใช้ประกาศตัดขาดจากขนบศิลปะอันสูงส่งก็คือ สีม่วงมาเจนตา ที่พวกเขาเคยเห็นศิลปินรุ่นพี่อย่างโกแก็งใช้มาแล้ว และด้วยความตั้งใจที่จะเรียกร้องความสนใจจากผู้ชมในยุคนั้นที่ยังคงยึดติดกับสีสันและรูปแบบงานศิลปะเดิม ๆ มาเจนตาได้กลายมาเป็นสีหลักที่พวกเขาเลือกหยิบมาใช้ เพื่อสะท้อนการมาถึงของศิลปะรูปแบบใหม่ รวมไปถึงความคิดใหม่ ๆ ที่มาพร้อมกับการระเบิดของการปฏิวัติทางอุตสาหกรรมที่กำลังเบ่งบานในยุโรป

Pantone color of the year 2023

“เรากำลังมีชีวิตอยู่ในช่วงเวลาที่ผู้คนต่างลุกขึ้นมาแข็งกร้าวใส่กัน และนั่นคือสิ่งที่เราควรก้าวข้ามให้ได้ สิ่งที่เราต้องการคือความกล้าหาญ แต่เป็นความกล้าหาญในเชิงสุขสันต์และสนุกสนาน”

นั่นคือคำอธิบายจากปากของ ลอรี เพรสแมน รองประธานสถาบันมาตรฐานสี Pantone ผู้เลือกให้สีโทนแดงอมม่วงอย่าง ‘Viva Magenta’ เป็นสีแห่งปี 2023

เพรสแมนยังเสริมว่า Viva Magenta 18-1750 สีแดงอมม่วงที่มีเฉดออกไปทางสีชมพูร้อนแรงนี้ ยังสะท้อนถึงจิตวิญญาณความ ‘ขบถ’ ของคนทำงานสร้างสรรค์ในยุคหลัง Covid-19 ที่พร้อมทดลองทำสิ่งใหม่ ๆ ซึ่งในปี 2022 ที่ผ่านมา เราก็เริ่มเห็นสีโทนร้อนแรงนี้ในงานออกแบบต่าง ๆ หนึ่งในนั้นคือเสื้อผ้าในคอลเลกชันฤดูใบไม้ร่วงของแบรนด์แฟชั่นชื่อดัง Valentino ที่ชูความสดใสของสีชมพูในเฉดสีใกล้กันมาแล้ว

และหากย้อนกลับไปก่อนหน้านี้สักนิด สีมาเจนตาก็เป็นสีที่ถูกใช้อย่างมากในหมู่ศิลปินจากขบวนการเคลื่อนไหวทางศิลปะยุคใหม่ที่สะท้อนความขบถ ฉีกกรอบ และอารมณ์ขันอันร้ายกาจ นั่นก็คือ ป็อปอาร์ต (Pop Art) ที่มีผลงานภาพพิมพ์ของ แอนดี วอร์ฮอล เป็นตัวอย่างของการใช้สีสุดจัดจ้านนี้ในการถ่ายทอดแง่มุมของโลกทุนนิยมและบริโภคนิยม อันเป็นมรดกจากยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมที่สีมาเจนตาได้ถือกำเนิดขึ้นมา 
และไม่ว่าจะอยู่ฝ่ายชังหรือเชียร์ แต่นับตั้งแต่วันนี้ไปจนถึงสิ้นปีหน้า คงไม่มีใครหลบสีม่วงแดง แดงม่วงที่เกิดจากการปฏิวัติอุตสาหกรรม และเป็นตัวแทนของความกล้าขบถในทุกยุคสมัยได้อีกต่อไป

อ้างอิง

Meier, A. (2018, September 7). Why Victorian Gardeners Loathed Magenta - JSTOR Daily. Retrieved December 12, 2022, from JSTOR Daily website: https://daily.jstor.org/why-victorian-gardeners-loathed-magenta/ 

Feldman, E. (2022, December 2). What Is Viva Magenta, Pantone’s “Brave” and “Fearless” Color of the Year?. Retrieved December 12, 2022, from Smithsonian Magazine website: https://www.smithsonianmag.com/smart-news/viva-magenta-pantone-color-of-the-year-2023-180981230/ 

Miller, A. (2021, March 17). Plant of the Month: Fuchsia - JSTOR Daily. Retrieved December 12, 2022, from JSTOR Daily website: https://daily.jstor.org/plant-of-the-month-fuchsia/ 

Scott, C. (2019, February 13). Paul Gauguin Receiving Fresh Spotlight In Two Widely Varying Exhibits. Forbes. Retrieved from https://www.forbes.com/sites/chaddscott/2019/02/13/paul-gauguin-receiving-fresh-spotlight-in-two-widely-varying-exhibits/?sh=662f2ed42707 

wikipedia.org/