ในบรรดาแม่สีทั้ง 3 สีน้ำเงินเป็นสีที่มนุษย์สร้างขึ้นเองไม่ได้ ส่วนสีแดงก็เป็นหนึ่งในสีที่เก่าแก่ที่สุดในประวัติศาสตร์ศิลปะของมนุษย์เช่นเดียวกับสีเหลือง
ดั้งเดิมแล้ว สีแดงมีความหมายถึงเลือดและไฟที่จะมีนัยยะในเชิงบวกหรือลบก็ได้ สีแดงจึงมีหลายความหมายตามแต่ละวัฒนธรรมและช่วงเวลา ทั้งการเป็นสัญลักษณ์ของความสุข ความโชคดี และความอุดมสมบูรณ์ที่เรามักจะเห็นกันในแถบเอเชียอย่างอินเดียและจีน แต่หากข้ามฝั่งฟ้าไปยังแถบตะวันตกของโลก สีแดงค่อนข้างสัมพันธ์กับขุนนาง คณะสงฆ์ คริสตจักร รวมถึงสงครามด้วย
นอกจากสีแดงแรงฤทธิ์จะดูเผ็ดจี๊ดถึงใจในฉบับไทย ๆ GroundControl อยากพาทุกคนติดเครื่องยนต์ มุ่งสู่จักรวาลแห่งสีในประวัติศาสตร์ศิลปะของมนุษย์เราไปพร้อม ๆ กัน
Red Ochre
ถ้าย้อนกลับไปอ่านประวัติศาสตร์ของสีเหลืองในงานศิลปะที่เราเคยเล่า สีเหลืองชนิดแรกที่เกิดขึ้นคือ Yellow Ochre ที่ทำจากดินเหนียวที่หาได้ตามธรรมชาติ เช่นเดียวกัน สีแดงก็เกิดขึ้นจากดินเหนียวก้อนนั้น แต่เป็นดินเหนียวที่ประกอบด้วยแร่เฮมาไทต์ (คล้าย ๆ ฮีโมโกลบินที่แปลว่าเม็ดเลือดแดงนั่นเอง)

Red Ochre

เรามักจะเห็นมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ใช้สีแดงเหล่านี้วาดภาพในถ้ำเคียงข้างกับสีเหลืองเก่าแก่ เช่น วัวกระทิงในผนังถ้ำของอัลตามิราในสเปนที่มีอายุระหว่าง 20,000 ถึง 14,000 ปีก่อนคริสตกาล ขณะที่ฟากฝั่งตะวันออกอย่างจีนโบราณ เครื่องปั้นดินเผาสีดำและสีแดงในยุคแรกที่มีอายุระหว่าง 5,000 ถึง 3,000 ปีก่อนคริสตกาลก็เป็นหลักฐานชิ้นสำคัญ

ส่วนอียิปต์เมืองพีระมิดนั้น สีแดงอาจมีความหมายได้ตั้งแต่สุขภาพ ความมีชีวิตชีวา ความโกรธ ความชนะ และความรุนแรง เพราะขณะที่สีแดงมักถูกใช้เป็นบรัชออนและลิปสติกของแม่หญิง เวลามีงานฉลองในพื้นที่ ผู้คนก็จะทาตัวด้วยสีแดง สีแดงก็ยังถูกใช้พรรณาเทพเจ้า Seth ผู้ได้รับชัยชนะเหนือ Apep แต่สังหาร Osiris น้องชายของเขา

Pierre-Auguste Renoir, Woman Tying Her Shoe, 1918

Edvard Munch, The Scream, 1893

Edgar Degas, Combing the Hair, 1896
แต่ถึงอย่างนั้น Red Ochre ก็ไม่ได้อยู่แค่ในยุคโบราณ เพราะจิตรกรรมฝาผนังในยุคกลางและเรอเนสซองส์ซึ่งวาดโดย Giorgio Vasari บนผนังห้องโถงในฟลอเรนซ์ก็ใช้สีแดงเฉดนี้ หรืออย่างในงานของศิลปินดังที่เราคุ้นเคยอย่าง Renoir หรือ Vermeer ก็ปรากฏสีเฉดโบราณนี้ด้วย
Madder Lake
นี่คือสีแดงจากรากต้นแมดเดอร์ซึ่งเป็นสีแดงจากธรรมชาติที่เสถียรที่สุดชนิดหนึ่ง แต่เดิมเริ่มใช้โดยชาวอียิปต์โบราณเพื่อระบายสีเสื้อผ้าและยังมีการใช้ต่อเนื่องจนถึงทุกวันนี้
ในช่วงศตวรรษที่ 13 ชาวยุโรปปลูกแมดเดอร์จำนวนมากแต่กลับไม่มีหลักฐานว่าศิลปินในยุคกลางหรือยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาใช้สีแดงชนิดนี้ กระทั่งศตวรรษที่ 18 และ 19 ศิลปินก็หันมาใช้แดงธรรมชาตินี้อย่างแพร่หลาย (ถึงจะไม่เท่าแดง Carmine ก็เถอะ)
ผลงานที่เห็นชัด ๆ คือผลงานภาพวาดของ Vermeer ที่มักใช้สีแดงเฉดนี้เคลือบทับสีอื่น ๆ อีกที หรือใช้สีแดงเฉดนี้แต่งแต้มหน้าตาของแบบ

Madder Lake

Johannes Vermeer, Christ in the House of Martha and Mary, 1654-55

Johannes Vermeer, Girl With the Red Hat, 1665–66
Carmine
สีแดงเลือดนกที่เห็นในภาพเหล่านี้เป็นสีที่ทำจากแมลงโคชินีลที่เกาะอยู่ตามเหล่าแคคตัสในแถบอเมริกาใต้และเม็กซิโก ตัวของพวกมันมีสีขาวแต่เมื่อแห้งและถูกบดละเอียด มันจะกลายเป็นสีแดงงดงาม ส่วนใหญ่ศิลปินจะเลือกใช้เพื่อสื่อความหมายถึงงความมั่งคั่ง

Carmine

Anthony van Dyck, Portrait of Agostino Pallavicini, 1621

Titian, La Schiavona, 1510-12
สีแดงเลือดนกเข้ามาในยุโรปช่วงต้นศตวรรษที่ 16 เป็นไปตามคาด ความงดงามของสีแดงเฉดนี้ทำให้จิตรกรหลายคนในศตวรรษที่ 15 และ 16 เกือบทั้งหมดเลือกใช้ ทั้ง Rembrandt, Vermeer และ Velázquez ที่ใช้สีแดงเลือดนกเพื่อให้ได้เฉดสีแดงที่เข้มข้น แถมศิลปินในยุคต่อมาอย่าง J.M.W. Turner และ Thomas Gainsborough ก็ยังนิยมผสมสีแดงเลือดนกในผลงานด้วย แต่เพราะความที่สีแดงจากแมลงชนิดนี้นั้นไวต่อแสงจนสามารถเปลี่ยนสีได้ ศิลปินจึงต้องใช้ด้วยความระวังสุด ๆ
Red Lead
สีแดงตะกั่วเป็นสีที่มีพิษสูง (อีกแล้ว) คาดว่าน่าจะผลิตขึ้นโดยชาวจีนในสมัยราชวงศ์ฮั่นโดยถือว่าเป็นหนึ่งในสีสังเคราะห์ชนิดแรกๆ เพราะทำขึ้นจากผงตะกั่วขาวคั่วที่ยิ่งคั่วนานเท่าไร ก็ยิ่งมีสีแดงอมส้มมากขึ้นเท่านั้น

Red Lead

Vincent van Gogh, The Night Cafe, 1888

Vincent van Gogh, Bedroom in Arles, 1888
ความที่เม็ดสีจากตะกั่วนี้ราคาถูกกว่าชาด ในภาพวาดสมัยยุคกลาง รวมถึงภาพวาดของชาวเปอร์เซียและอินเดียในศตวรรษที่ 17 และ 18 จึงปรากฏสีชนิดนี้จำนวนมาก แต่บุคคลที่ไม่พูดถึงไม่ได้เลยก็คือ Vincent van Gogh เพราะขุ่นพ่อสุดติสต์คนนี้รักแดงตะกั่วสุด ๆ แต่เพราะสีแดงประเภทนี้จะจางลงเมื่อโดนแสง จึงไม่แปลกใจที่สีแดงในภาพวาดสุดปังของ Van Gogh จะซีดจางไป
Vermilion
Vermilion เป็นชาดสังเคราะห์จากแร่ Cinnabar ซึ่งคาดว่าชาวจีนเป็นชาติแรกที่คิดทำขึ้นตั้งแต่ศตวรรษที่ 4 ก่อนคริสตกาลอีกนะ จนสี vermillion มีอีกชื่อหนึ่งว่าจีนแดงซึ่งมีความหมายถึงชีวิตและความโชคดี เราจึงมักเห็นสีแดงเฉดนี้ในวัดวาอารามของจีน สีแดงสำหรับแสตมป์ชื่อ และสีแดงที่สงวนไว้สำหรับจักรพรรดิ

Vermilion

Sandro Botticelli, Mystic Nativity, 1500

Peter Paul Rubens, Descent from the Cross, 1612-14
ชาดสังเคราะห์นี้เข้าสู่ยุโรปโดยนักเล่นแร่แปรธาตุชาวอาหรับ ในยุคกลาง สีสังเคราะห์นี้แพงพอ ๆ กับทองคำเปลว ศิลปินจึงมักใช้สีชั้สูงนี้ในส่วนที่สำคัญที่สุดของภาพเท่านั้น เช่น คนศักดิ์สิทธิ์และวัตถุศักดิ์สิทธิ์ ส่วนตะกั่วสีแดงที่ถูกกว่ามักใช้เขียนตัวอักษรแทน

Rembrandt, Belshazzar’s Feast, 1635-38

Claude Monet, Bathers at la Grenouillère, 1869
ในยุคฟื้นฟูศิลปวิทยา จิตรกรมักจะที่ใช้สีแดงนี้ในหลายผลงาน ในผลงานของศิลปินอิมเพรสชั่นนิสม์อย่างโมเนต์ก็ยังปรากฏการใช้สีแดงชนิดนี้ด้วย
แต่นอกจากข้อเสียเรื่องความเป็นพิษแล้ว เมื่อเวลาผ่านไป vermillion ก็มักจะเปลี่ยนสีจนกลายเป็นสีน้ำตาลอมม่วงเข้มด้วย กระทั่งเมื่อผู้คนเริ่มตระหนักถึงความเป็นพิษและราคาค่าตัวของสีแดงเฉดนี้มากขึ้น ศิลปินก็เริ่มหันไปใช้สีแดงแคดเมียมที่เพิ่งเกิดใหม่กัน
Cadmium Red
ถ้า Van Gogh เป็นแฟนตัวยงของสีแดงตะกั่ว สีแดงแคดเมียม สิ่งประดิษฐ์ในศตควรรษที่ 19 เพื่อศิลปินอิมเพรสชั่นนิสม์และเป็นที่นิยมในศควรรษที่ 20 ก็คงเป็นรักแท้ตลอดกาลของ Henri Matisse ด้วย
แรกเริ่มแคดเมียมถูกนำมาใช้ทำเป็นสีเหลือง ต่อมาเมื่อนำมาผสมกับซิลิกาและให้ความร้อนก็ได้เป็นแดงแคมเมียมที่มีเม็ดสีสดใสและคงทนมากกว่าแดงตะกั่วที่ Van Gogh หลงใหล ผลงานของ Matisse จึงยังคงเต็มไปด้วยความสดใสได้จนทุกวันนี้
ไม่แน่ใจว่าเพราะความปังของสีแดงแคดเมียมหรือเพราะอะไร Matisse ถึงขนาดพยายามโน้มน้าวให้ Renoir ใช้สีแดงแคดเมียมตามเขา แต่ Renoir ก็ไม่ได้เปลี่ยนไปใช้สีแดงเฉดนี้ตามเพื่อนสนิท เพราะการวาดภาพแบบ en plein air นั้นเน้นความเร็วเป็นพิเศษ การใช้สีแดงแบบดั้งเดิมจึงทำให้เห็นสีที่ผสมผสานกันได้รวดเร็วกว่า

Cadmium Red

Henri Matisse, Interior with Black Fern, 1948

Henri Matisse, The Red Studio, 1911
เราจะเห็นว่าตลอดเส้นทางของประวัติศาสตร์ สีแดงเป็นสีที่มีทั้งความหมายในแง่บวกและลบ ในทางหนึ่งสีแดงหมายถึงความรัก แต่ขณะเดียวกันก็หมายถึงสงคราม ในทางหนึ่งสีแดงคือสีแห่งสวรรค์และผู้สูงศักดิ์ แต่อีกแง่หนึ่งมันก็กลับเป็นสีของตัวร้าย ยังไม่นับรวมว่าแต่ละวัฒนธรรมตามแต่ละซีกโลกนั้นให้ความหมายกับสีแดงแตกต่างกันไปตามความเชื่ออีก
.
แต่ไม่ว่าจะในความหมายใด จุดร่วมเดียวกันคือสีแดงคือสีที่สื่อสารได้ถึงชีวิต
อ้างอิง :
mymodernmet
artsy
eclecticlight
colourlex