historyof_bigbang.jpg

History of The Big Bang Theory : ย้อนรอยความเป็นมาซีรีส์กลุ่มเพื่อนเนิร์ดที่ทำให้ผู้ชมทั่วโลกหลงรัก

Post on 11 April

‘BAZINGA!’

แม้จะจบไป 3 ปีแล้ว แต่ปัจจุบัน The Big Bang Theroy ยังคงเป็นซีรีส์ที่อยู่ในสตรีมมิ่งและหลายคนพูดถึง ตั้งแต่ประเด็นวัฒนธรรมชาวเนิร์ด เรื่องราวในแวดวงวิทยาศาตร์ ไปจนถึงความรักของหนุ่มเนิร์ดกับสาวสุดฮอต นี่เป็นหนึ่งในซีรีส์ที่ประสบความสำเร็จที่สุดในวงการโทรทัศน์ และยังเป็นความทรงจำดีๆ ให้กับหลายคนจนถึงตอนนี้

ด้วยความยอดเยี่ยม และคุณภาพที่ยังไม่เสื่อมคลายนี้เอง GroundControl จึงอยากย้อนความถึงต้นกำเนิดซีรีส์ของ The Big Bang Theory อีกครั้ง ว่ากว่าจะเป็นเพื่อนชาวเนิร์ดทั่วโลก  พวกเขาเดินทางมายังไงและอะไรคือเคล็ดลับความสำเร็จดังกล่าว

ถ้าพร้อมแล้ว ..  That all started with the Big Bang, BANG!

When We have a Theory 

 

ก่อนจะเกิดทฤษฎีบิ๊กแบงบนหน้าจอโทรทัศน์ ย้อนกลับไปช่วงต้นปี 2000s โปรดิวเซอร์ฝีมือดีนาม Chuck Lorre ได้มีโอกาสสนทนากับอีกหนึ่งโปรดิวเซอร์เพื่อนเก่า Bill Prady การพูดคุยในวันนั้นทำให้ทั้งคู่อยากลองทำโปรเจ็กต์ร่วมกัน แต่หลังจากขบคิดกันอยู่นาน ทั้ง Chuck และ Bill ก็ยังไม่ได้ไอเดียที่ถูกใจสักที 

จนกระทั่งวันหนึ่งด้วยความเบื่อหน่าย Bill จึงเริ่มเล่าถึงชีวิตตัวเองก่อนหน้าว่าด้วยการประกอบอาชีพคอมพิวเตอร์โปรแกรมเมอร์ที่บริษัทยักษ์ใหญ่แห่งหนึ่ง

“Bill เล่าให้ผมฟังว่าเขาถูกรายล้อมไปด้วยอัจฉริยะที่สามารถท่องค่า Pi ได้มากกว่า 280 ตำแหน่ง แต่ในขณะเดียวกันกลับไม่สามารถทิปส์เด็กเสิร์ฟในร้านอาหารได้ เพราะมีตัวแปรมากเกินไปในการคำนวนว่าต้องให้เท่าไหร่” Chuck เล่าถึงจุดเริ่มต้น 

“จำได้ว่าผมฟังเรื่องเหล่านั้นแล้วขำก๊ากเลย แต่นอกจากเสียงหัวเราะ กลายเป็นว่าเราทั้งคู่เริ่มสังเกตุเห็นองค์ประกอบสำคัญบางอย่าง คือความย้อนแยงที่พวกเขาเหล่านี้เป็น มันตรงกับหลักการของความเป็นคอเมดี้พอดี จากตรงนั้นพวกเราจึงเริ่มร่างพล็อตขึ้นมา ว่าด้วยเรื่องราวของนักวิทยาศาสตร์หนุ่มเนิร์ดที่ต้องมาเจอกับหญิงสาวธรรมดา  โดยพวกเขาต้องเรียนรู้โลกของกันและกันจนเกิดเป็นความต่างที่ตามมาด้วยเสียงหัวเราะ”

หลังจากได้ไอเดียที่คิดว่าเหมาะสม ทั้ง Chuck และ Bill จึงเริ่มเขียนบทคร่าวๆ จนพร้อมสร้างตอน ‘Pilot’ เพื่อนำเสนอกับสตูดิโอก่อนผลิตฉายจริง เรื่องราวว่าด้วยเรื่องของสองเพื่อนรักนักฟิสิกส์ที่ไปบังเอิญเจอหญิงสาวที่ถูกแฟนทิ้งและไม่มีที่อยู่ สุดท้ายพวกเขาจึงต้องมาแชร์ห้องพักร่วมกันจนเกิดเป็นความวายป่วงชวนหัว

เล่ามาถึงตรงนี้หลายคนอาจคิดว่าทุกอย่างเป็นไปอย่างราบรื่น แต่เปล่าเลย ในความเป็นจริงคือหลังจากถ่ายทำตอน Pilot และฉายรอบทดลองเสร็จ ฟีดแบ็กจากผู้ชมนั้นเข้าขั้นเลวร้าย หลายเสียงลงความเห็นว่าไอเดียของซีรีส์ไม่ดีพอ จน Chuck และ Bill ต้องพับเก็บโปรเจ็กต์ไปทั้งที่เสียเวลาไปกว่าสองปีครึ่ง

แต่ท่ามกลางความผิดหวังและเสียงตำหนิ กลับมีหนึ่งคำชมที่หลายคนต่างพูดเหมือนกัน ว่าสิ่งดีงามสิ่งเดียวในตอน Pilot นี้คือเคมีระหว่างสองเพื่อนรักนักฟิสิกส์นาม Leonard และ Sheldon

ตรงนี้เองที่เป็นตะกอนในใจของ Chuck และ Bill จนพวกเขาต้องหยิบเอาสองตัวละครนี้มาปัดฝุ่น พร้อมเข็นเขียนเรื่องราวทั้งหมดขึ้นมาใหม่อีกรอบ ก่อนจะตั้งชื่อมันว่า ‘The Big Bang Theory’


 

Nerdy Friends 

 

ตั้งแต่ตอน Pilot แรกที่ไม่ได้ใช้ บท Leonard และ Sheldon นั้นนำแสดงโดย Johnny Galecki และ Jim Parsons มาก่อนแล้ว

แท้จริงในแรกเริ่ม Johnny ได้รับการติดต่อจาก Chuck โปรดิวเซอร์ประจำซีรีส์ให้มาลองแคสต์บท Sheldon ก่อน แต่เป็นตัวของ Johhny เองที่หลังจากได้อ่านบท เขาเสนอตัวว่าเหมาะกับ Leonard มากกว่าด้วยแง่มุมความรักและการถูกบูลลี่ ทำให้บท Sheldon จึงยังคงเปิดกว้างสำหรับคนที่มาแคสต์ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือนักแสดงหนุ่มนามว่า Jim Parsons

“ตั้งแต่ Jim เดินเข้ามาในห้องแคสต์บท ผมรู้ทันทีว่าเขาคือ Sheldon ของเรา” Bill Prady เล่าให้ฟังถึงความหลัง “แต่เป็น Chuck นั่นเองที่แย้งกับผม เขาไม่มั่นใจเท่าไหร่ว่า Jim จะเป็น Sheldon ได้ตลอดรอดฝั่ง ซึ่งเชื่อไหม ตามปกติแล้วสิ่งที่ Chuck คิดมักถูกเสมอนะ แต่เฉพาะครั้งนี้เลยที่ผมถูก เพราะ Jim เป็น Sheldon ได้อย่างไร้ที่ติแม้เราจะเรียกเขามาแคสต์อีกกี่ครั้งก็ตาม”

เอาเข้าจริงมีการสัมภาษณ์ Johnny และ Jim หลังจากนั้นอยู่เหมือนกัน ว่าทำไมพวกเขาถึงคิดว่าบท Leonard และ Sheldon เหมาะกับตน ซึ่งทั้งสองให้ความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่าถึงแม้จะไม่ได้มีพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์ แต่ในแง่ของการไม่เป็นส่วนหนึ่งกับคนหมู่มาก พวกเขาต่างสามารถเชื่อมโยงถึงมันได้ ซึ่งอาจเป็นเพราะเหตุนี้ด้วยที่พวกเขาเชื่อมถึงกันจนเกิดเป็นเคมีที่ยากจะหาใครเหมือน

ทำให้จากจุดนี้เอง หลังจากตอน Pilot แรกที่ไม่ประสบความสำเร็จ Chuck และ Bill จึงค่อยๆ ต่อขยายผ่านการใช้จุดเด่นของเรื่องราวเดิมเป็นแกนหลัก พวกเขาเลือกเพิ่มเพื่อนเนิร์ดให้กับ Leonard และ Sheldon จึงเป็นที่มาของตัวละคร Howard และ Raj ที่รับบทโดย Simon Helberg และ Kunal Nayyar จนเกิดเป็นกลุ่มเพื่อนสุด Geek ผู้เข้าสังคมไม่ได้ แต่ทรงเสน่ห์เหลือล้นและทำให้คนหลงรักตั้งแต่แรกเห็น

แต่ถ้านี่คือจุดเด่น แล้วจุดด้อยในตอน Pilot ล่ะ พวกเขาเลือกทำอะไรกับมันหรือเปล่า

ย้อนกลับไปที่รอบฉายทดลองแรก มีการเปิดเผยว่าผู้ชมในครั้งนั้นต่างลงความเห็นว่าปัจจัยหลักๆ ที่ทำให้สิ่งที่ปรากฏบนหน้าจอไม่เวิร์กคือตัวละครหญิง สิ่งนี้เป็นหนึ่งจุดที่ Chuck และ Bill เลือกปรับเปลี่ยนแก้ไข พวกเขาเปลี่ยนบทจากหญิงสาวผู้เลิกกับแฟน มาเป็นบทหญิงสาวแสนทรงเสน่ห์จากแดนไกลที่บังเอิญมาอยู่ห้องตรงข้ามกับ Leonard และ Sheldon กลายเป็น ‘The Cute Girl Next Door to The Nerds’ แทน

นั่นเองคือที่มาของจิ๊กซอว์สำคัญในบท ‘Penny’ ที่ถูกคว้าไปโดย Kaley Cuoco นักแสดงสาวชาวอเมริกัน วัย 21 ปี ผู้ซึ่งเคยมาแคสต์บทตัวละครเอกหญิงในตอน Pilot แรกแล้วแต่ถูกปฏิเสธ แต่พอบทเกิดเปลี่ยนแปลง คราวนี้เธอคว้ามันมาได้จนกลายเป็นส่วนผสมสุดท้ายที่ทำให้ตอน Pilot ครั้งที่สองเกิดขึ้น

และคราวนี้เองที่ช่อง CBS อนุมัติการสร้าง The Big Bang Theory ออกอากาศฉายตอนแรกวันที่ 24 กันยายน ปี 2007 ในที่สุด


 

Proof The Theory

 

คล้ายกับซีรีส์ซิตคอมที่เป็นตำนานทั่วไป ช่วงซีซั่นแรกๆ ของ The Big Bang Theory นั้นยังไม่อาจใช้คำว่าประสบความสำเร็จ Viewers Rank ประจำปีใน 2 ซีซั่นแรกอยู่แค่ลำดับที่ 68 และ 40 แต่หนึ่งอย่างที่เป็นที่พูดถึงและส่งผลให้ซีรีส์มีที่ยืน นั่นคือการทำให้ ‘Nerd Culture’ และวิทยาศาสตร์มีตัวตนขึ้นมาบนจอโทรทัศน์

สำหรับในประเด็นหลัง ทั้ง Chuck Lorre และ Bill Prady ต่างให้เครดิต David Saltzberg อาจารย์ประจำภาคฟิสิกส์และดาราศาสตร์ มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เขาคือผู้อยู่เบื้องหลังความรู้ต่างๆ ในซีรีส์ และทำหน้าที่ตั้งแต่การเช็กความถูกต้องของบท ออกแบบคาแรกเตอร์ ไปจนถึงการให้ความเห็นเกี่ยวกับการออกแบบฉากและอุปกรณ์ในเรื่อง (ผู้ออกแบบฉากถึงกับเคยบอกว่าห้องของ Leonard และ Sheldon มีตัวอย่างจากห้องของ David ในช่วงเรียนด้วยซ้ำ) ส่งผลให้กลุ่มเพื่อนสุดเนิร์ดในซีรีส์ดูมีตัวตนจริงขึ้นมาจนคนดูสัมผัสได้

และนอกจากการสนทนากันเชิงความรู้ ใน The Big Bang Theory ยังมีวัฒนธรรมเนิร์ดที่เป็นจุดเด่นส่งผลให้ซีรีส์ทรงเสน่ห์ ตั้งแต่การกล่าวถึงซูเปอร์ฮีโร่ คอมิก สตาร์ วอรส์ สตาร์ เทร็ก ไปจนถึงเกมต่างๆ ทั้งหมดนี้เป็นดั่งการเคลือบให้ The Big Bang Theory เข้าถึงกลุ่มคน ‘ที่เป็นเหมือนๆ กัน’ ได้อย่างง่ายดาย ส่งผลให้ซีรีส์ค่อยๆ เริ่มเป็นที่พูดถึงในหมู่แวดวงชาวเนิร์ด ก่อนค่อยๆ ไต่ระดับความนิยมขึ้นด้วยเส้นเรื่องหลัก นั่นคือความรักที่ถูกปูมาตั้งแต่ตอนแรกของ Leonard และ Penny

ลองดูจาก Viewers Rank ตั้งแต่ซีซั่นที่สามเป็นต้นไปก็ได้ พวกเขาได้อันดับที่ 12 และกลายเป็นเลขหลักเดียวคือลำดับ 8 ในซีซั่นที่ 5 ก่อนขึ้นไปติด Top3 ในซีซั่นที่ 6 และไม่เคยลงมาต่ำกว่านั้นอีกเลย จนถึงซีซั่นสุดท้าย

ซึ่งแน่นอนล่ะ ว่าเมื่อซีรีส์โด่งดัง นักแสดงหลักทั้ง 5 ต่างค่อยๆ ได้รับการพูดถึง เสียงชื่นชมเกิดขึ้นหนาหู รวมถึงรางวัลต่างๆ ที่ถาโถมเข้ามา แต่นอกเหนือจากนั้น คงต้องยกเครดิตให้กับอีกหลายตัวละครที่เข้ามาเสริมเรื่องราวระหว่างทางด้วย ไม่ว่าจะเป็นบท Bernadette ที่รับโดย Melissa Rauch และบท Amy Farrah Fowler ที่รับโดย Mayim Bialik ทั้งหมดล้วนนำเสนออีกด้านของวัฒนธรรมเนิร์ดและความเป็นมนุษย์ จนหลายคนหลงรักและต่อยอดให้ซีรีส์สามารถใช้คำว่าประสบความสำเร็จได้ในที่สุด

“ผมคิดว่าซีรีส์เรื่องนี้คงทำหน้าที่คล้ายกับสิ่งที่วัฒนธรรมเนิร์ดสนใจ” Chuck เคยให้สัมภาษณ์ไว้เมื่อหลายปีก่อน “ไม่ว่าจะคอมิกหรือ Sci-Fiction หลายๆ คนมักหลงไหลสิ่งเหล่านี้เพราะพวกเขาอยากหลีกหนีโลกแห่งความจริงไปอยู่ในพื้นที่แห่งจินตนาการ ผมมองว่าในแง่หนึ่ง The Big Bang Theroy คงทำหน้าที่คล้ายๆ แบบนั้น และผมยินดีมากที่งานของเราเป็นพื้นที่แบบนั้นให้พวกเขาได้”


 

Geeks ASSEMBLE!

 

อย่างที่บอกไปว่า The Big Bang Theory มีฉากหลังที่พูดเรื่องวัฒนธรรมเนิร์ดและวิทยาศาสตร์เป็นหลัก ซึ่งนอกจากจะทำให้หลายคนถูกอกถูกใจแล้ว อีกหนึ่งอย่างที่ไม่พูดถึงไม่ได้ นั่นคือการเชิญ ‘คนดัง’ ในเรื่องราวเหล่านั้นในมาปรากฏตัวในทุกซีซั่น

ตั้งแต่ขาประจำที่เป็นเหมือนนักแสดงสมทบหลัก (ปรากฏตัวทั้งหมด 17 ตอน) อย่าง Wil Wheaton จากซีรีส์สตาร์ เทร็กที่มารับบทเป็นตัวเอง ไปจนถึงอีกมากมายจากภาพยนตร์สตาร์ วอร์ส ตั้งแต่ James Earl Jones (Darth Vader), Carrie Fisher (Princess Leia) และ Mark Hamill (Luke Skywalker) เรียกได้ว่าในตอนไหนที่มีแขกรับเชิญ ตอนนั้นยิ่งถูกพูดถึงเป็นพิเศษ และยิ่งซีรีส์ได้รับความนิยม ผู้โด่งดังในวัฒนธรรมเหล่านี้ก็มีแต่ปรากฏตัวให้แฟนถูกใจมากขึ้น

และนอกจากในแง่ของวัฒนธรรมเนิร์ดแล้ว ผู้คร่ำหวอดในแวดวงวิทยาศาตร์ก็เป็นอีกหนึ่งกลุ่มคนที่ปรากฏตัวในซีรีส์บ่อยเช่นกัน ไล่เรียงไปตั้งแต่ Geroge Smoot นักฟิสิกส์ดาราศาสตร์เจ้าของรางวัลโนเบล, Mike Massimino วิศวกรและนักบินอวกาศประจำนาซ่า, Elon Musk แห่ง Tesla ผู้โด่งดัง ไปจนถึงระดับตำนานอย่าง Stephen Hawking นักฟิสิกส์และนักจักรวาลวิทยา ผู้มาปรากฏตัวพร้อมบทพูดที่ทำให้หลายคนหัวเราะท้องแข็ง 

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น แต่นั่นก็สะท้อนะถึงสิ่งที่ The Big Bang Theory ได้สร้างไว้เป็นอย่างดี เพราะคนดังที่มาปรากฏตัว แทบทุกคนบอกตรงกันว่าพวกเขายินดีเนื่องจากเป็นแฟนตัวยงของซีรีส์อยู่แล้ว ซีรีส์ทำให้พวกเขารู้สึกเหมือนเห็นตัวเอง ดังนั้นพวกเขาไม่เกี่ยงเลยที่จะมาเพื่อร่วมสนุกและทำให้ซีรีส์เป็นที่พูดถึงมากขึ้น

อ้อ แต่อย่างหนึ่งที่หลายคนอาจสังเกตุได้ เนื่องจากซีรีส์เรื่องนี้ถูกผลิตโดยบริษัทในเครือ Warners Bro. ที่เกี่ยวพันกับคอมิกค่าย DC องค์ประกอบเกี่ยวกับคอมิกและซูเปอร์ฮีโร่ในซีรีส์กว่า 80 เปอร์เซนต์จึงมาจาก DC เป็นหลัก (สังเกตุได้จากเสื้อของ Sheldon) ต่างกับฮีโร่จากค่าย Marvel ที่โผล่มาน้อยกว่ามากยังไงล่ะ


 

Step 5 of Scientific Method - Conclusion

 

แม้ประสบคงามสำเร็จอย่างงดงาม แต่อย่างที่รู้กันว่าในท้ายที่สุดซีซั่นที่ 12 ของ The Big Bang Theory ที่ออกฉายเมื่อปี 2019 กลับเป็นซีซั่นสุดท้าย ซึ่งรู้หรือไม่ว่าในความเป็นจริง The Big Bang Theory ไม่ได้วางแผนว่าจะจบแบบนี้ตั้งแต่แรก เพราะถ้าดูจากความนิยมและเส้นเรื่อง พวกเขายังสามารถต่อยอดเรื่องราวกลุ่มเพื่อนเนิร์ดนี้ได้อีกยาว

แต่สำหรับสาเหตุหลัก เราคงต้องย้อนไปช่วงระหว่างซีซั่น 11 และ 12 ตอนนั้นเป็นจังหวะที่นักแสดงต้องพูดคุยสัญญาฉบับใหม่กับทางผู้จัดพอดี จังหวะนั้นเองที่ Jim Parsons ผู้รับบท Sheldon ตัดสินใจปฏิเสธต่อสัญญา ทำให้ในขั้นตอนการอ่านบทก่อนเข้าสู่ซีซั่น 12 Chuck Lorre จึงขอพูดคุยกับ Jim เป็นการส่วนตัว ก่อนที่หลังการพูดคุย Chuck จะบอกกับนักแสดงที่เหลือว่าเขาจะจบซีรีส์ที่ตัวเองเป็นคนต้นคิดในปีที่ 12 นี้เลย

“เพราะ The Big Bang Theory ที่ไม่มี Shledon มันก็ไม่ใช่ The Big Bang Theory” Chuck ว่าไว้อย่างงั้น

ส่วนเหตุผลของ Jim เขาได้ให้สัมภาษณ์ไว้หลังจากซีรีส์จบไม่นาน

“หลังจากสุนัขสุดที่รักของผมตาย ณ จุดหนึ่งมันก็ทำให้ผมฉุกคิดถึงพ่อ พ่อผมเสียตอนอายุ 52 ปี ซึ่งตอนนั้นผมอายุ 46 ปีแล้ว ระยะห่าง 6 ปีนี้มันทำให้ผมตั้งคำถามถึงชีวิตที่เหลือ ซึ่งผมพบว่าถ้าตัวเองยังคงเป็น Sheldon ต่อไปเรื่อยๆ ในวันที่ชีวิตจบลง ผมคงเสียดายในอีกหลายอย่างที่ตัวเองยังไม่ได้ทำเป็นแน่ ผมจึงคิดว่าควรหยุดในวันที่เหมาะสมดีกว่า”

แน่นอนว่าพอเรื่องเป็นแบบนี้ นักแสดงที่เหลือจึงช็อกไปตามๆ กันเพราะไม่มีสัญญานใดๆ มาก่อน แต่เมื่อเวลาผ่านไป นักแสดงหลักแทบทุกคนต่างเห็นตรงกันว่า 12 ปีคือเวลาอันเป็นสมควรแล้ว โดยเฉพาะคู่หูของ Jim อย่าง Johnny Galecki ที่ให้สัมภาษณ์ถึงเรื่องนี้ไว้เช่นกัน 

"แน่นอนอยู่แล้วว่าเมื่อตอนจบมาถึง บรรยากาศล้วนเต็มไปด้วยความเศร้า แต่โดยส่วนตัวผมคิดว่าทุกคนต่างสบายใจกับตัวเลข 12 ซีซั่นนะ มันเป็นช่วงเวลาที่ดีและถูกต้องแล้วจริงๆ ที่จะกลับไปสู่ชีวิตก่อนหน้า”

เอาเข้าจริงเท่าที่มีการเปิดเผย มีเพียง Kaley Cuoco เพียงคนเดียวเท่านั้นที่มีการรายงานว่าเสียใจกับการจบของซีรีส์นี้เป็นอย่างมาก เพราะ Kaley เองเคยให้สัมภาษณ์ไว้ก่อนหน้าว่ายินดีรับบท Penny ไปอีกยี่สิบปี แต่สุดท้ายหลังจากทุกอย่างจบไปไม่นาน เธอเองได้มาให้สัมภาษณ์ว่าสุดท้ายการจบในเวลานี้อาจเป็นจุดที่เหมาะสมที่สุดแล้วจริงๆ

สรุปแล้วซีรีส์ The Big Bang Theory จึงจบลงที่จำนวน 12 ซีซั่น 279 ตอน พร้อมกับหนึ่งความทรงจำดีๆ ให้กับผู้ชมทั่วโลก และได้รับการขนานนามว่าเป็นหนึ่งในซีรีส์โทรทัศน์ที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดตลอดกาล

 


 

That all started with the Big Bang (BANG!) 

 

หลังจากตอนสุดท้ายของ The Big Bang Theory ปัจจุบันเวลาผ่านมา 3 ปีแล้ว แต่การเดินทางของซีรีส์ รวมถึงบุคลากรที่เกี่ยวข้องดูเหมือนจะไม่ได้จบลงแต่อย่างใด

อาจเป็นเพราะแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งต่างๆ ที่มีมากมายในปัจจุบันด้วย ทำให้แฟนของ The Big Bang Theory มีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ทั่วโลก ยิ่งด้วยความที่เป็นซีรีส์คอเมดี้ที่เสพง่าย ดูได้ก่อนนอน บวกกับความยาวระดับ 12 ซีซั่น นี่จึงเป็นหนึ่งในตัวเลือกชั้นดีสำหรับคอซีรีส์ที่อยากหาอะไรดูแก้เครียดยาวๆ จนในหลายๆ เดือน The Big Bang Theory ก้าวขึ้นไปติดอันดับ Trending ประจำแอพลิเคชั่นได้ด้วยซ้ำ

รวมถึงสิ่งที่ทำหน้าที่คล้ายภาคต่อสำหรับคนที่คิดถึงบรรยากาศแบบ The Big Bang Theory ช่อง CBS ก็คลอดซีรีส์ Sheldon มาเพื่อเล่าเหตุการณ์ช่วงที่ Sheldon เป็นเด็ก ซึ่งปัจจุบันเรื่องราวภาคแยกนี้กำลังดำเนินมาถึงซีซั่นที่ 5 แล้ว นี่จึงเป็นอีกหนึ่งเครื่องการันตีความนิยมของ ‘จักรวาล Big Bang’ ได้เป็นอย่างดีอีกครั้ง

และนอกจากซีรีส์ที่ยังคงมีชีวิต นักแสดงหลักทุกคนในซีรีส์ก็ไม่ได้หายหน้าหายตาไปไหน พวกเขาล้วนยังอยู่ในแวดวงการแสดง หรือบางคนเลื่อนขั้นไปเป็นผู้จัดแล้วก็มี อย่าง Jim Parsons กับ Mayim Balik ที่มิตรภาพในจอส่งผลมาถึงนอกจอ ทำให้พวกเขายังคงร่วมงานกันต่อจนถึงปัจจุบันนี้

แต่เหนืออื่นใด สิ่งที่หลายคนลงความเห็นตรงกันคือสิ่งที่ The Big Bang Theory สร้างไว้นั้นแม้เวลาจะผ่านไปกี่ปีก็ไม่เลือนหายไปไหน นั่นคือการเป็นพื้นที่สบายใจให้กับผู้ที่รู้สึกไม่เป็นหนึ่งกับสังคม รวมถึงมุขตลกในวัฒนธรรมเนิร์ดที่ต่อให้จะมีใครทำซ้ำ ก็ไม่มีใครทำได้ดี เหมาะสม และเรียกเสียงหัวเราะเคล้าน้ำตาได้เท่ากับ The Big Bang Theory อีกแล้ว

ใช่แล้ว That all started with the Big Bang ยังไงล่ะ

BANG!