History of Twin Peaks ประวัติศาสตร์ฉบับย่อของตัวพ่อซีรีส์อเมริกัน บรรพบุรุษแห่ง The X-Files, Dark และ Stranger Things

Art
Post on 11 April

ย้อนกลับไปในวันที่ 8 เมษายน ค.ศ. 1990 ผู้ชมโทรทัศน์ชาวอเมริกันกว่า 35 ล้านคนพร้อมใจกันกดรีโมตไปที่ช่องเอบีซี เพื่อรับชมตอนไพลอตความยาวสองชั่วโมงของซีรีส์ที่ในภายหลัง… มันจะเปลี่ยนโฉมหน้าของซีรีส์โทรทัศน์ไปตลอดกาล

Twin Peaks คือซีรีส์ที่เป็นลูกรักจากมันสมองของสองผู้กำกับหนังและผู้สร้างซีรีส์ตัวพ่อแห่งยุค 1990s อย่าง เดวิด ลินช์ และ มาร์ค ฟรอสต์ โดยคนแรกคือศิลปินและผู้กำกับสุดเฮี้ยนผู้มีลายเซ็นเป็นหนังจิตวิทยาสไตล์เซอร์เรียลอย่าง Blue Velvet (1986) ที่พาผู้ชมไปสำรวจฆาตกรรมฝันร้ายภายใต้ฉากหน้าอันสงบสุขของชุมชนชานเมืองอเมริกา ส่วนอีกคนคือนักเขียนและเล่าเรื่องจอแก้วมือฉมังที่มีผลงานเด่นเป็นซีรีส์เจาะลึกชีวิตตำรวจสุดคลาสสิกอย่าง Hill Street Blues (1981)

แม้เวลากว่า 30 ปีผ่านไป แต่ผู้สร้างซีรีส์แทบทุกรายยังคงย้อนกลับไปสดุดีและให้เครดิตซีรีส์เรื่องนี้ในฐานะผลงานที่กรุยทางให้ซีรีส์เรื่องอื่น ๆ ได้เดินตาม ไม่ว่าจะเป็น The X-Files ที่คงไม่ได้เกิดหากไม่มี Twin Peaks กรุยทางชิมลางเล่าเรื่องทฤษฎีสมคบคิดและปรากฏการณ์เหนือธรรมชาติบนจอแก้วมาก่อน, Breaking Bad จะไม่ถูกถ่ายทอดด้วยวิธีการเล่าและถ่ายภาพแบบภาพยนตร์ อันเป็นจุดแข็งของซีรีส์ หรือแม้กระทั่ง Stranger Things ที่ผู้สร้างยอมรับว่า พล็อตตั้งต้นของเรื่องที่ว่าปริศนาการตายและปรากฏการณ์เหนือธรรมชาติในเมืองเล็กก็ได้รับอิทธิพลมาจากปู่ที่ชื่อ Twin Peaks

เนื่องในโอกาสที่วันที่ 24 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา คือวันที่แฟน ๆ ซีรีส์ Twin Peaks ร่วมกันเฉลิมฉลอง #TwinPeaksDay ตามที่ซีรีส์ระบุว่า วันดังกล่าววันแรกที่เจ้าหน้าที่เอฟบีไอ เดล คูเปอร์ เดินทางมาถึงเมือง Twin Peaks นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 8 เมษายนที่ผ่านมา ยังเป็นวันครบรอบ 33 ปีที่ตอนแรกของ Twin Peaks ออกอากาศ อีกทั้งเพื่อเป็นการกลับมาของหนังพรีเควลของซีรีส์อย่าง Twin Peaks: Fire Walk With Me ที่ House RCA และ Documentary Club กำลังจะนำมาฉายให้แฟน ๆ Twin Peaks ชาวไทยได้รับขมกันในโรงภาพยนตร์ เราจึงอยากใช้โอกาสนี้บอกเล่าชวนทุกคนไปสำรวจเรื่องราวของซีรีส์ที่เป็นดังบรรพบุรุษของบรรดาซีรีส์แห่งศตวรรษที่ 21 และยังเป็นหนึ่งในซีรีส์ที่สร้าง ‘subculture’ ที่เก่าแก่และใหญ่ที่สุดในโลกซีรีส์และภาพยนตร์อเมริกัน

Welcome to Twin Peaks

อะไรทำให้ Twin Peaks กลายเป็นซีรีส์ที่มียอดผู้ชมสูงสุดในฤดูกาลนั้น? ย้อนกลับไปในยุคที่เน็ตฟลิกซ์ยังเป็นแค่ฝันแห่งโลกอนาคตที่ยังไม่ปฏิสนธิ ภาพยนตร์กับซีรีส์โทรทัศน์เป็นสิ่งที่อยู่คนละโลกเดียวกัน พูดจากันคนละภาษา และถูกให้ค่าต่างกันหลายชนชั้น ในขณะที่รูปแบบของซีรีส์ยังคงจำกัดอยู่แค่ซิตคอมกับละครดราม่าน้ำที่ใช้มุมกล้องแบน ๆ เล่าเรื่องด้วย กระบวนท่าเดิม ๆ เพื่อให้ผู้ชมเอนหลังดูที่บ้านได้แบบสบาย ๆ ไม่คิดมาก ในทางตรงกันข้าม ภาพยนตร์กลับกลายเป็นความหรูหราที่คนดูต้องแต่งตัวออกจากบ้านและตั้งใจเดินทางไปรับชมในโรงเท่านั้น ภาพยนตร์มีเงินลงทุนสูงกว่า อีกทั้งยังถูกให้คุณค่าในแง่ของศิลปะมากกว่าซีรีส์โทรทัศน์ ผู้กำกับและมือเขียนบทภาพยนตร์สามารถ ‘แสดงของ’ และทดลองความสร้างสรรค์กันได้อย่างเต็มที่ ต่างจากซีรีส์โทรทัศน์ที่ถูกมองว่าเป็นสื่อบันเทิงที่ตอบสนองเหล่าพ่อบ้านแม่บ้านผู้ไม่มีเงินและเวลามากพอที่จะตีตั๋วเข้าโรงภาพยนตร์

พรมแดนระหว่างซีรีส์กับภาพยนตร์ถูกทำให้พร่าเลือนด้วยการมาถึงของ Twin Peaks ซีรีส์ที่มีพล็อตตั้งต้นแสนเรียบง่าย ว่าด้วยเรื่องราวของเอฟบีไอหนุ่ม เดล คูเปอร์ (รับบทโดย ไคล์ แม็คลัคแลน พระเอกคู่บุญของเดวิด ลินช์ ที่เคยร่วมงานกันทั้งใน Dune และ Blue Velvet) ที่ได้รับมอบหมายให้เดินทางไปไขคดีการตายปริศนาของวัยรุ่นสาวในเมืองเล็กแสนสงบ แต่สิ่งที่ปรากฏต่อสายตาผู้ชมชาวอเมริกันในวันนั้นกลับพลิกความคุ้นเคยที่พวกเขามีต่อซีรีส์จอแก้วไปตลอดกาล Twin Peaks ถูกเล่าด้วยภาษาและมุมกล้องของภาพยนตร์ ทั้งการแบ่งเส้นเรื่องออกเป็นเส้นขนานมากมายที่ดำเนินไปพร้อมกัน การเล่าเรื่องปริศนาลึกลับที่ทำให้คนดูต้องตั้งใจดูและคิดตามไปด้วย

และที่สำคัญเหนือสิ่งอื่นใด การอัดความเซอร์เรียลเข้ามาในแทบทุกฉากอย่างไม่ประนีประนอมกับสมองของคนดู ทั้งการที่เอฟบีไอไขปริศนาด้วยการ ‘ฝัน’, คุณป้าที่พูดคุยและเห็นนิมิตจากท่อนไม้, การใช้สัญลักษณ์ทางจิตวิทยาที่หากคุณไม่เข้าใจ ก็ไม่ต้องเข้าใจ ไปจนถึงการใส่เรื่องราวของมิติมืดสุดหลอนที่เหวี่ยงผู้ชมให้ไปเผชิญหน้ากับความคลุมเครือ ทำให้คนดูอาจบอกได้ว่าพวกเขากำลังดูซีรีส์สืบสวนสอบสวน ซีรีส์ผีวิญญาณเฮี้ยน หรือซีรีส์ตลกกันแน่!

จุดเริ่มต้นของ Twin Peaks ย้อนกลับไปในปี 1985 ณ คาเฟ่ไร้ชื่อแห่งหนึ่งในลอสแอนเจลิส เมื่อสองมันสมองแห่งจอแก้วและจอเงินได้มาพบกัน เพื่อพูดคุยถึงไอเดียการดัดแปลงหนังสือชีวประวัติของ มาริลีน มอนโร ให้กลายเป็นหนัง แต่ผลลัพธ์ของการพบกันในวันนั้น และเรื่องราวการตายปริศนาของหญิงสาวผู้เป็นขวัญใจมหาชน กลับนำมาสู่ไอเดียตั้งต้นของซีรีส์ที่มีจุดศูนย์กลางอยู่ที่การตายปริศนาของราชินีงานพรอมขวัญใจชาวเมืองเล็ก ๆ ในอเมริกา

ในตอนนั้น เดวิด ลินช์ ได้ชื่อว่าเป็นคนทำหนังสุดแหวกที่มีจังหวะและสไตล์การเล่าเรื่องเหมือนพาผู้ชมดำดิ่งไปสำรวจภาพฝันร้ายอันแสนแปลกประหลาด โดยมีหนังสยองขวัญสุดเซอร์เรียลอย่าง Eraserhead (1977) และ The Elephant Man (1980) เป็นหนังเบิกโลกในสไตล์ ‘Lynchian’ และมี Blue Velvet (1986) เป็นหนังระทึกขวัญรสชาติใหม่ที่กำลังถูกปากทั้งนักวิจารณ์และคนดู

แต่โลกแห่งฝันร้ายของลินช์ก็ไม่ได้ถูกที่ถูกทางและถูกในคนดูไปทั้งหมด เพราะหนังมหากาพย์ไซไฟฟอร์มใหญ่อย่าง Dune (1984) ที่เขามารับหน้าที่ถ่ายทอดแทนผู้กำกับเซอร์เรียลรุ่นใหญ่อย่าง อเลฮานโดร โจโรโดว์สกี (The Holy Mountain) กลับ ‘คัลต์’ เกินกว่าที่ผู้ชมยุคนั้นจะรับไหว (แม้ว่าในภายหลัง มันจะกลายเป็นหนังคัลต์ยุค 80s ที่คนดูหนังยุคหลังชื่นชมก็ตาม) ผลลัพธ์ที่ไม่เป็นไปตามคาด และความเบื่อหน่ายในระบบการทำงานของค่ายหนัง ก็ทำให้ลินช์เกิดอาการเซ็งกับโลกภาพยนตร์ และกำลังอยู่บนทางแยกว่าจะไปต่อ หรือกลับไปเป็นจิตรกรตามที่ใจปรารถนามาโดยตลอดดี

เดวิด ลินช์ และ มาร์ค ฟรอสต์

เดวิด ลินช์ และ มาร์ค ฟรอสต์

โอกาสของลินช์มาถึงเมื่อเขาได้พบกับฟรอสต์ที่เปิดโลกของเขาสู่เส้นทางซีรีส์จอแก้ว บวกกับที่ตอนนั้น สถานีโทรทัศน์เอบีซีได้ผุดแผนการปฏิวัติช่องใหม่ ที่มาพร้อมกับรายการใหม่ ๆ และภาพลักษณ์องค์กรใหม่ในฐานะผู้ผลิตซีรีส์ทางเลือกรสชาติแหวกแนวสำหรับผู้ชมที่เบื่อซีรีส์ซิตคอมและละครแบบเดิม ๆ เมื่อผู้บริหารเอบีซีได้ยินว่าคนทำหนังลายเซ็นจัดอย่างลินช์กำลังอยากทดลองแนวทางการเล่าเรื่องใหม่ ๆ ที่ไม่ใช่ภาพยนตร์ พวกเขาจึงรีบยื่นข้อเสนอให้ลินช์และฟรอสต์ทันที

และ ณ จุดนั้นเองที่ลินช์เริ่มปะติดปะต่อเรื่องราวของเอฟบีไอหนุ่มที่พาตัวเองไปอยู่กลางฝันร้ายแปลกประหลาดและขุมนรกสุดดำมืดที่ฉาบหน้าด้วยภาพความสงบและรอยยิ้มของผู้คนในเมืองไกลปืนเที่ยง

“ในหัวของผมเริ่มปรากฏภาพ ‘ห้องสีแดง’ (Red Room) ที่อยู่ในความฝันของคูเปอร์” ลินช์เล่าถึงฉากห้องม่านสีแดงในตำนานซึ่งทำหน้าที่เป็นจุดตัดระหว่างมิติแห่งความจริงและความฝันในเรื่อง ซึ่งกลายเป็นภาพจำของซีรีส์ที่แม้กระทั่งหนังออสการ์ 2023 อย่าง Everything Everywhere All At Once ก็ยังแอบแทรกฉากทริบิวต์ให้

“และจากจุดนั้น มันก็เปิดประตูสู่โลกของ Twin Peaks”

Who Killed Laura Palmer?

“อยู่ ๆ ไอเดียมันก็พรั่งพรูออกมา และหากคุณลองหยุดและใคร่ครวญถึงมัน คุณจะได้ยินเสียงของมัน เห็นภาพของมัน บรรยากาศของมัน เห็นแม้กระทั่งว่าตัวละครใส่เสื้อผ้าอย่างไร มีนิสัยอย่างไร พูดจาแบบไหน และพูดอะไร ทั้งหมดนี้สามารถระเบิดออกมาได้ในพริบตาเดียว” ลินช์ย้อนเล่าถึงการมาถึงของเรื่องราวในซีรีส์ที่จะเปลี่ยนโฉมหน้าซีรีส์โทรทัศน์ไปตลอดกาล

“ไอเดียของซีรีส์เกิดขึ้นในระหว่างที่ พวกเราหมกตัวอยู่ในห้อง พยายามเค้นมันออกมาให้ได้” ฟรอสต์เล่าต่อ “แล้วเรื่องราวของเด็กสาวที่ถูกฆ่าตายในเมืองหนึ่งก็พรั่งพรูออกมา เราคิดถึงมันก่อนที่เราจะรู้ด้วยซ้ำว่าเธอเป็นใคร หรือเมืองนั้นอยู่ที่ไหน แต่เราคิดว่ามันน่าสนใจดี ถ้าเราจะค่อย ๆ ลอกเปลือกนอกออก จนเข้าไปถึงแก่นกลางที่ซ่อนอยู่ข้างใน เราได้ประตูที่เปิดสู่เรื่องราวนั้นแล้ว”

สรุปแล้ว ไอเดียที่ลินช์และฟรอสต์นำไปขายให้เอบีซีก็คือมู้ดบอร์ดที่นำเสนอบรรยากาศของเรื่องราวที่เกิดขึ้นในเมืองเล็ก ๆ อันแสนเงียบสงบและสวยงามในแถบตะวันตกเฉียงใต้ของอเมริกา แต่แฝงด้วยบรรยากาศความพิลึกพิลั่น น่าพิศวง และชวนหัวในคราวเดียวกัน โดยพวกเขาถึงขนาดให้ คิมมี โรเบิร์ตสัน ผู้รับบทเสมียนหน้าห้องนายอำเภอสุดติงต๊อง โผล่พรวดเข้ามาเสิร์ฟโดนัทในห้องประชุม ระหว่างที่ฟรอสต์และลินช์กำลังเสนอมู้ดบอร์ดให้เหล่าผู้บริหาร เพื่อให้เห็นภาพบรรยากาศเซอร์เรียบและสุดแอ็บเสิร์ด (absurd) ที่พวกเขาอยากขาย

อีกหนึ่งมู้ดที่สองผู้สร้างพยายาทขาย และยืนยันว่าจะเป็นไฮไลต์ที่ทำให้ผู้ชมตั้งตารอ ก็คือความน่ากลัวขนหัวลุกของผู้คนที่อาศัยอยู่ในเมืองนั้น ซึ่งขัดกับภาพภายนอกของเมืองราวนรกกับสวรรค์ และหมัดฮุคที่ลินช์และฟรอสต์ปล่อยใส่ผู้บริหาร ก็คือการขายว่า ผู้ชมจะได้พบกับโลกซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นตรงหน้า ไม่ได้เป็นอย่างที่ตาเห็น และซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นหลัง และเมื่อผู้ชมได้ ‘แหวกม่าน’ เข้าไปเห็นสิ่งที่เกิดขึ้นหลังฉากลวงตา โลกของผู้ชมทุกคนจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

แต่ก่อนที่ผู้ชมโทรทัศน์ชาวอเมริกันจะได้เห็นร่างไร้วิญญาณของลอรา พาล์มเมอร์ ในตอนไพลอท ซึ่งถูกห่อด้วยพลาสติกและลอยมาติดริมน้ำให้เป็นปริศนาที่ทำให้คนอเมริกันครุ่นคิด จนกลายเป็นกระแสไวรัล “ใครฆ่าลอรา พาล์มเมอร์” ที่ชวนคนดูตั้งสมมติฐานมากมาย โปรเจกต์ Twin Peaks เกือบเป็นแค่ฝันที่ถูกคุมกำเนิด เมื่อสถานีเอบีซีมีการเปลี่ยนทีมผู้บริหาร จนทำให้การไฟเขียวให้ซีรีส์ถูกเลื่อนออกไป เพราะทีมชุดใหม่ยังไม่มั่นใจกับซีรีส์แหวกขนบที่ตั้งใจเล่าเรื่องด้วยภาษาภาพยนตร์ที่อเมริกันชนติดจอแก้วยังไม่คุ้นเคย (นึกภาพว่ามีคนมาเสนอให้ทำซีรีส์เส้นเรื่องชวนปวดหัวอย่าง Dark เพื่อลงจอฉายในช่องทีวีบ้านเรา)

เพื่อดันให้โปรเจกต์เกิด สองผู้สร้างอย่างลินช์และฟรอสต์ ได้จัดทำแคมเปญชวนคนดูโทรทัศน์ออกมาช่วยกดดันให้สถานีเดินหน้าไฟเขียวซีรีส์คุณภาพเรื่องนี้ โดยเริ่มด้วยการนำตอนไพลอตไปฉายที่ Museum of Television Arts ให้สาธารณชนกว่าพันคนได้รับชม ซึ่งก็กวาดเสียงปรบมือกระหึ่มจนทำให้ผู้บริหารสถานีที่ได้ไปรับชมในวันนั้นเกิดอาการกดดัน และเมื่อลองนำไปฉายที่ Directors Guild of America เพื่อให้คนในวงการได้รับชม เสียงตอบรับก็ดีเกินคาดจนฟรอสต์ต้องหันมาบอกลินช์ว่า “แม่มเอ๊ย เหมือนมันจะปังเลยว่ะ”

และหลังจากการทำแคมเปญและมาร์เก็ตติงด้วยการหย่อนเบ็ดล่อเผยรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ เกี่ยวกับซีรีส์ผ่านหน้าหนังสือพิมพ์เป็นเวลาหกเดือนเต็ม ๆ จนอเมริกันชนเริ่มตั้งตารอการมาถึงของซีรีส์สืบสวนสอบสวนที่จะพาพวกเขาไปไขปริศนาการตายของวัยรุ่นสาวเรื่อง ในวันที่ 8 เมษายน 1990 ตอนแรกของ Twin Peaks ก็ได้ฉายต่อสายตาผู้ชมชาวอเมริกันกว่า 34 ล้านคน นับเป็นหนึ่งในสามของคนดูโทรทัศน์ทั้งหมดในยุคนั้น นอกจากความแปลกใหม่ของมุมกล้องและการดำเนินเรื่องแล้ว ลิ้นยังทำสิ่งที่ซีรีส์อเมริกันไม่เคยทำมาก่อน นั่นก็คือการฉายตอนไพลอตยาว 2 ชั่วโมงรวดแบบไม่มีโฆษณาคั่น ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อแต่ละตอนจบลง คนดูพบว่า ปริศนายังไม่ถูกคลี่คลาย พวกเขาต้องรอติดตามตอนต่อไป ซึ่งเป็นสิ่งที่ผิดแปลกไปจากซีรีส์สืบสวนสอบสวนที่พวกเขาคุ้นเคย ที่ซึ่งปริศนาทั้งหมดมักถูกเฉลยในตอนจบของแต่ละตอน

สิ่งที่ผู้ชมไม่เคยรู้ก็คือ ผู้สร้างอย่างลินช์ ไม่เคยตั้งใจที่จะเฉลยปริศนา “ใครฆ่า ลอรา พาล์มเมอร์” เพราะลินช์ก็คือลินช์ เขาไม่เคยอธิบายความหมายที่เขาทิ้งไว้ในผลงานของตัวเอง แม้กระทั่งกับซีรีส์สืบสวนสอบสวนท่าใหม่ที่เปิดเรื่องด้วยร่างไร้ชีวิตของเด็กสาวในห่อพลาสติกเรื่องนี้ ที่ลินช์เคยให้เหตุผลถึงการไม่อยากเผยปริศนาว่า คนดูทุกคนสามารถเป็นนักสืบได้ และทุกคนล้วนมีความจริงในแบบของตัวเอง ดังนั้นแล้ว การไขปริศนาจึงไม่ใช่เป้าหมายสำคัญของซีรีส์เรื่องนี้ ที่ตัวลินช์เองอยากชวนผู้ชมไปสำรวจโลกที่ความดีกับความชั่วร้ายดำรงอยู่ร่วมกัน มากกว่าจะเฉลยว่าใครฆ่าเด็กสาวขวัญใจชาวเมือง หรือตีความให้คนดูฟังว่าคุณป้าที่ถือท่อนไม้เดินไปทั่วเมืองนั้นมีความหมายว่าอะไรกันแน่?

และนั่นนำมาสู่จุดเริ่มต้นของหล่มปัญหาในปีถัดมา เมื่อซีรีส์ที่อเมริกันชนหลงรักมากที่สุดในปีที่แล้ว กลายเป็นซีรีส์ที่คนดูบ่น ‘ผิดหวัง’ มากที่สุดในซีซันถัดมา

I will see you again in 25 years

หลังจากดำเนินมา 8 ตอน Twin Peaks ซีซันแรกก็จบลงที่เจ้าหน้าที่เดล คูเปอร์ ถูกยิงในห้องที่โรงแรม ทิ้งเป็นการทิ้งปริศนาใหม่ให้คนดูต้องไปตามดูต่อว่าคูเปอร์จะรอดหรือไม่ ในขณะเดียวกันก็ไม่ได้แก้ปริศนาสำคัญของซีรีส์ที่คนดูเฝ้ารอ …ใครฆ่าลอรา พาล์มเมอร์

ด้วยกระแสความฮิตและเสียงเรียกร้องจากคนดู สถานีเอบีซีไฟเขียวต่อสัญญาให้ซีรีส์ได้ไปต่อในซีซัน 2 แบบด่วน ๆ ถึง 22 ตอน โดยหวังว่าผู้สร้างอย่างลินช์และฟรอสต์จะตอบสนองความต้องการของคนดูด้วยการเฉลยปริศนาสำคัญที่ทุกคนตั้งตารอ แต่กลายเป็นว่า ทั้งลินช์และฟรอสต์กลับสนุกกับการขยายจินตนาการและใส่ความสร้างสรรค์ ตั้งแต่ตอนแรกของซีซันที่แนะนำตัวละครใหม่อย่างยักษ์สูงโย่งจากมิติอื่น หรือการใส่ฉากที่บริกรเลกเชอร์คูเปอร์เกี่ยวกับอุณหภูมิของนมแบบยาวยืด

สุดท้ายแล้วเอบีซีก็ทนไม่ไหว กดดันให้ผู้สร้างทั้งสองรีบเฉลยปริศนาเสียที จนลินช์ขอไม่ทน เดินออกจากโปรเจกต์ซีรีส์ที่เขารักไปแบบกลางคัน

“ผมพูดมาตลอดว่า ถ้าคุณมีห่านที่ออกไข่เป็นทองคำ แล้วคุณจะฆ่าห่านตัวนั้นไปทำไม” ลินช์เปรียบเปรยความใจร้อนของสถานีที่อยากเอาใจคนดูจนรีบเฉลยปริศนาอันเป็นหัวใจหลักของเรื่อง

“ผู้บริหารบางคนไม่เก็ตกับจังหวะของซีรีส์ การดำเนินเรื่องของเราทำให้ผู้บริหารบางคนไม่พอใจ” ฟรอสต์ย้อนเล่าถึงการที่ผู้บริหารสั่งเร่งความเร็วของซีรีส์ จนทำลายผลงานชิ้นโบว์แดง

สุดท้ายแล้ว ผู้ร้ายที่สังหารลอรา พาล์มเมอร์ ก็ถูกเฉลยในตอนที่ 7 ของซีซัน 2 (ลินช์ยืนยันว่าเขาไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการตัดสินใจเผยปริศนาตั้งแต่ตอนกลางของซีซัน) และหลังจากที่ลินช์โบกมือลา ฟรอสต์ก็ต้องดูแลอีก 15 ตอนที่เหลือเพียงลำพัง ซึ่งเมื่อปริศนาถูกคลี่คลายแล้ว ทิศทางการเล่าเรื่องของ Twin Peaks ก็เป๋จนคนดูงงว่าเกิดอะไรขึ้นกับซีรีส์ฮิตเรื่องนี้ ตั้งแต่การใส่เส้นเรื่องของผู้หญิงอายุ 35 ปี ที่ความจำเสื่อมและคิดว่าตัวเองเป็นดาวมวยปล้ำของโรงเรียนมัธยม หรือการที่นายหน้าอสังหาของเมืองเกิดสติแตกแล้วกินแคร์รอตไม่หยุด จนสุดท้าย เรทติงของซีรีส์ที่เคยมีคนดูกว่า 30 ล้านคน ก็ตกไปอยู่ลำดับที่ 85 จากซีรีส์ทั้งหมด 89 เรื่องที่ฉายในช่วงเวลานั้น

แม้กระทั่งลินช์ผู้ให้กำเนิดซีรีส์ที่เคยใส่ความเซอร์เรียลอย่างไม่ยั้งมือก็เคยเล่าว่า ซีซัน 2 นั้นเละเทะมาก จนสุดท้ายเขาก็เลิกดูไป และจนถึงทุกวันนี้ ลินช์ก็ไม่เคยย้อนกลับไปดู Twin Peaks ซีซัน 2 ที่เขาไม่ได้มีส่วนร่วม ในขณะที่ฟรอสต์ก็ยังยอมรับว่า การจะสร้างปมใหม่ให้คนดูสนใจติดตาม หลังจากเฉลยปมปริศนาของลอรา พาล์มเมอร์ เป็นเรื่องที่แทบเป็นไปไม่ได้

คนที่กลับมาแก้วิกฤติก็ไม่ใช่ใครอื่น นอกจากลินช์ที่ขอกลับมากำกับตอนสุดท้ายของซีซัน 2 โดยให้เหตุผลว่า “ผมอยากเป็นคนที่จบมัน”

สิ่งที่ลินช์ทำก็คือการแก้สคริปต์ของตอนสุดท้ายเกือบทั้งหมด ซึ่งผลลัพธ์ก็คือเสียงแซ่ซ้องยกย่องจากนักวิจารณ์แทบทุกสำนัก และการกู้ชีพให้ซีรีส์ในตำนานเรื่องนี้ได้ไว้ลายก่อนปิดฉาก ด้วยการโกยจำนวนผู้ชมกว่า 10 ล้านคน ซึ่งนับเป็น 12 เปอร์เซ็นต์ของผู้ชมโทรทัศน์ทั้งหมดในช่วงเวลานั้น

เมื่อผู้ชมติดตามเจ้าหน้าที่คูเปอร์เข้าไปใน ‘Black Lodge’ ห้องสีแดงและพื้นลายซิกแซ็กสีขาวดำ ที่เป็นดังพื้นที่เชื่อมต่อระหว่างโลกของ Twin Peaks กับมิติที่เต็มไปด้วยสิ่งพิสดารและน่าขนหัวลุก โลกของซีรีส์ โทรทัศน์ก็ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป สิ่งที่ผู้ชมได้เห็นมีทั้งฝันร้าย คนตาย และสารจากมิติอื่น ผู้ชมที่ได้ชมตอนสุดท้ายของ Twin Peaks ซีซัน 2 ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า นั่นคือโมงยามที่แปลกที่สุดที่พวกเขาเคยประสบพบเจอบนจอโทรทัศน์ โดยมีเรื่องเล่าว่าเมื่อฝ่ายสถานที่ถือสคริปต์ไปคุยกับลินช์หน้ากอง ลินช์กลับตอบมาว่า “ไม่ต้องไปสนใจสคริปต์มากหรอก”

ฟิลิปส์ ซีกัล หนึ่งในผู้บริหารฝ่ายรายการโทรทัศน์ของเอบีซีในช่วงเวลานั้น เล่าถึงผลลัพธ์การกลับมาของลินช์เพื่อปิดฉากซีรีส์ที่เขาตัดสายสะดือด้วยตัวเองว่า “หลังจากที่ผมได้ดูตอนสุดท้าย ผมได้แต่หัวเราะออกมา เพราะสิ่งที่อยู่ในตอนสุดท้ายนี้คือการที่เดวิดหัวเราะเยาะเรา ถ้ามาย้อนดูให้ดี เราจะพบว่า ตอนสุดท้ายนี้คือการล้อเลียนเราและผู้ชมทั้งหมด (ที่อยากให้ซีรีส์ดำเนินตามท่ามาตรฐานเหมือนซีรีส์อื่น ๆ ด้วยการรีบเฉลยปริศนาเสียที) มันโคตรขำขื่น ส่วนนึงของผมบอกตัวเองว่านี่มันสุดยอดและแปลกแหวกแนวมาก มันแหกทุกกฎของการเป็นซีรีส์ และอาวองการ์ดแบบสุด ๆ แต่อีกส่วนหนึ่งของผมที่เป็นผู้บริหารก็รู้สึกว่า นี่คือการหักหลังและการฆ่าโอกาสใด ๆ ที่เราอาจจะได้ทำซีรีส์นี้ต่อ ซึ่งคนที่ฆ่ามันก็คือผู้สร้างมันนี่เอง”

แต่ดังที่ลอรา พาล์มเมอร์ ในมิติมืด ได้ทิ้งท้ายไว้ว่า “เราจะพบกันอีกครั้งในอีก 25 ปีข้างหน้า” สุดท้ายแล้วก็เป็นผู้สร้างอย่างลินช์และฟรอสต์นี่เองที่ปลุกชีพให้ Twin Peaks อีกครั้งในอีก 25 ปีต่อมา เมื่อซีซันที่ 3 ของ Twin Peaks ที่ใช้ชื่อว่า Twin Peaks the Return ได้กลับมาคืนจอ สานต่อเรื่องราวจากปมสุดช็อกที่ลินช์ทิ้งไว้ในตอนสุดท้ายของซีซัน 2 โดยการกลับมาของซีรีส์ในตำนานเมื่อวันที่ 21 เมษายน ปี 2017 ที่ผ่านมา ก็ประสบความสำเร็จอย่างสูงในแง่ของคำวิจารณ์ ซึ่งเป็นผลลัพธ์จากการที่ลินช์และฟรอสต์ได้ระเบิดไอเดียออกมาอย่างอิสระแบบไม่ปราณีคนดู โดยเฉพาะการตั้งใจทำซีรีส์ 18 ตอนด้วยการเล่าเรื่องราวทั้งหมดให้เป็นหนังความยาว 18 ชั่วโมง แทนที่จะไปทีละตอน ๆ

โดยเฉพาะในตอนที่ 8 ของซีซันที่ย้อนกลับไปเล่าเหตุการณ์การทดลองระเบิดนิวเคลียร์ลูกแรกของสหรัฐอเมริกาในปี 1945 ในฐานะเหตุการณ์ที่เปิดประตูมิติมืดพิศวงซึ่งกลายเป็นที่มาของเรื่องราวใน Twin Peaks โดยจุดเด่นของตอนนี้ก็คือการดำเนินเรื่องแบบแทบไร้โครงเรื่องและบทพูด ถ่ายทั้งหมดเป็นภาพขาวดำ และเป็นเพียงภาพซีเควนต์ต่าง ๆ เรียงต่อกัน!

และเมื่อถูกผู้ชมในยุคอินเทอร์เน็ตที่หนังและซีรีส์ทุกเรื่องถูกนำมาชำแหละเพื่อหาความหมาย ตั้งคำถามถึงความนัยที่อาจซ่อนไว้ในแต่ละฉากอันสุดแสนเซอร์เรียลของ Twin Peaks the Return เดวิด ลินช์ ผู้ปฏิเสธการตีความหนังของตัวเองมาเสมอก็ตอบว่า
.
“ไม่ ๆ ๆ มันเป็นเรื่องราวของเมืองธรรมดา ๆ ที่มาพร้อมกับปริศนาและปริศนาที่ซ่อนอยู่ในปริศนา มันเป็นสถานที่จริงที่ดำรงอยู่จริง ๆ ในจิตใจของเรา แต่มันไม่ใช่สถานที่จริงหรอกครับ”

อ้างอิง

Frost M. The Secret History of Twin Peaks. First ed. New York: Flatiron Books; 2016.

Dukes B. Reflections : An Oral History of Twin Peaks. Nashville TN: Short/Tall Press; 2014.

https://variety.com/2017/tv/features/twin-peaks-revival-david-lynch-showtime-1202419020/

https://variety.com/2017/film/global/david-lynch-twin-peaks-camerimage-1202615377/

https://cinephiliabeyond.org/twin-peaks-fire-walk-lynch-walking-back-burning-process/

https://film-cred.com/the-overlooked-importance-of-twin-peaks-fire-walk-with-me/

https://ew.com/tv/2017/10/19/twin-peaks-fire-walk-with-me-sheryl-lee-laura-palmer/

https://www.theguardian.com/film/2014/jul/24/-sp-david-lynch-laura-palmer-twin-peaks-unseen-fire-walk-with-me