หากใครติดตามข่าววงการศิลปะในช่วงนี้ ก็น่าจะได้ผ่านตาประเด็นร้อนที่เกิดจากความเข้าใจผิด นั่นก็คือการรื้อถอนงานศิลปะ ‘ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว’ ของศิลปินชื่อดังชาวเยอรมัน ‘โทเบียส เรห์แบร์เกอร์’ ในงานมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ Thailand Biennale, Chiang Rai 2023 ซึ่งภาพของรถแบคโฮที่กำลังขุดรื้อผลงานจากทุ่งนา กลับทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่าผลงานศิลปะได้ถูกทำลายหลังจากจบการแสดง
หากแต่ในความจริงแล้ว การรื้อถอนงานศิลปะในครั้งนี้เป็นไปตามข้อตกลงระหว่าง สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย กระทรวงวัฒนธรรม และศิลปินที่จะจัดแสดงผลงานชิ้นนี้เป็นเวลาห้าเดือน อีกทั้งการรื้อถอนหลังจากจบการแสดง ก็เป็นธรรมชาติของงานศิลปะที่เรียกว่า ‘ศิลปะจัดวาง’ หรือ ‘Installation Art’ รูปแบบงานศิลปะที่ (ในบางครั้ง) ไม่ได้อยู่คงทนถาวร แต่ถูกนำมาจัดวางในพื้นที่นั้น ๆ ในช่วงเวลาหนึ่ง หรือบางทีก็อาจสูญสลายหายไปตามสภาพแวดล้อมที่งานชิ้นนั้นถูกนำไปวาง ซึ่งสภาวะความไม่คงทนถาวรของงานศิลปะรูปแบบนี้ก็มักถูกศิลปินหยิบมา ‘เล่น’ เพื่อนำเสนอแมสเสจเรื่องความไม่คงทน ความเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะศิลปิน Eco Art ที่มักสร้างสรรค์ผลงานศิลปะจัดวางในธรรมชาติ เพื่อนำเสนอความเปลี่ยนแปลงด้านสภาวะแวดล้อมทางธรรมชาติ
‘ศิลปะจัดวาง’ หรือ ‘Installation Art’ มีกี่แบบ และมีอะไรบ้าง วันนี้เราจะพาทุกคนไปทำความรู้จักคร่าว ๆ ร่วมกัน
📌Installation Art คืออะไร?
‘ศิลปะจัดวาง’ หรือ ‘Installation Art’ คือคำเรียกผลงานศิลปะที่มีลักษณะแบบสามมิติที่สร้างขึ้นมาจากวัสดุหลากหลายชนิด โดยอาจจะมีความเกี่ยวข้องหรือไม่เกี่ยวกับพื้นที่ที่ถูกนำไปจัดวางก็ได้ ศิลปะรูปแบบนี้ แพร่หลายขึ้นในยุค 70 (ก่อนหน้านี้อาจเป็นที่รู้จักมาบ้างแล้วเพียงแต่ยังไม่มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการจนกระทั่งยุค 70) จุดมุ่งหมายของงานสไตล์นี้คือการเล่นกับการรับรู้ของผู้ชมที่มีต่อพื้นที่และสภาพแวดล้อมที่ผลงานถูกนำมาจัดแสดง และยังเป็นรูปแบบงานศิลปะที่อยู่ใต้ร่มแนวคิดแบบ ‘คอนเซปชวลอาร์ต’ ที่ให้ความสำคัญกับสิ่งที่เรียกว่า ‘ความคิด’ มากกว่าตัว ‘วัตถุ’ ส่วนสิ่งอื่น ๆ อย่างความสวยงามหรือฝีมือของศิลปินนั้นไม่ถือว่าเป็นสิ่งจำเป็น ดังนั้นจึงไม่ต้องแปลกใจที่เราจะพบเห็นงานศิลปะแบบ Installation Art ในศาสตร์การสร้างศิลปะหลายแขนง เพราะทั้งหมดล้วนอยู่ใต้ร่มคำอธิบายเดียวกันนั่นเอง
📌Installation Art มีกี่แบบ?
ศิลปะแบบ ‘Installation Art’ สามารถแบ่งออกได้เป็นสองประเภทใหญ่ ๆ โดยอิงตามรูปแบบการจัดแสดงผลงานร่วมกับพื้นที่ แบบแรกคือแบบ ‘Site-specific installations’ ศิลปะจัดวางประเภทนี้จะถูกออกแบบมาให้มีความสัมพันธ์กับสถานที่ติดตั้งโดยเฉพาะ โดยมีการศึกษาบริบทประวัติศาสตร์หรือสภาพแวดล้อมของพื้นที่ร่วมด้วยก่อนที่จะมีการสร้างงานศิลปะเพื่อนำมาติดตั้ง ดังนั้นงานประเภทนี้จึงไม่สามารถเคลื่อนย้ายได้ เพราะถ้าย้ายออกจากพื้นที่เดิมความหมายของชิ้นงานก็จะเปลี่ยนทันที
ยกตัวอย่างศิลปะจัดวางแบบ ‘Site-specific installations’ เช่น ผลงาน ‘Tilted Arc (1981)’ ของ ‘ริชาร์ด ซิร์รา’ ศิลปินนามธรรมผู้โด่งดังที่สร้างประติมากรรมจากเหล็กกล้าขนาดใหญ่ โดยเขาได้สร้างประติมากรรมจากโครงเหล็กสนิมเขรอะ ขนาด 120 ฟุต ขึ้นที่ Foley Federal Plaza ณ เมืองแมนฮัตตัน เพื่อติดตั้งเป็นศิลปะสาธารณะ ด้วยเหตุนี้เขาจึงตั้งใจออกแบบให้ชิ้นงานสามารถมีประติสัมพันธ์กับคนในพลาซ่าได้ และติดตั้งในจุดที่คนเดินพลุกผ่าน เพื่อที่เวลาคนเดินผ่านไปผ่านมาจะมองเห็นชิ้นงานหดและขยายตามการเดินของผู้คน ผลงานชิ้นนี้จึงเป็นงานแบบ Site-specific แบบติดตั้งถาวรเพื่อพื้นที่แห่งนี้โดยเฉพาะ
อย่างไรก็ตามผู้คนในยุคนั้นกลับไม่ชอบงานชิ้นนี้เอามาก ๆ จึงฟ้องร้องให้นำออกไป ซึ่งในท้ายที่สุดผลงานชิ้นนี้ก็ถูกถอดถอนออกไปใน ส่งผลให้ซิร์รารู้สึกเสียใจมาก เพราะการย้ายสถานที่ติดตั้งของ Site-specific installations ก็เท่ากับงานชิ้นนี้ถูกทำลายลงแล้ว เนื่องจากลักษณะเฉพาะของสถานที่เป็นส่วนสำคัญของความหมายของงานนั่นเอง ปัจจุบันผลงานชิ้นนี้ถูกตัดออกเป็นสามท่อนและเก็บรักษาไว้ในโกดังแห่งหนึ่งในบรูคลิน
ศิลปะจัดวางแบบต่อมาคือ ‘Temporal Installations’ คือผลงานที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อจัดแสดงหรือติดตั้งในระยะเวลาสั้น ๆ เท่านั้น อาจเป็นเพียงไม่กี่วัน สัปดาห์ หรือหลักเดือน จากนั้นผลงานจะถูกรื้อถอนหรือทำลายไป และไม่สามารถชมได้อีกต่อไป จนกว่าจะมีการติดตั้งใหม่ ดังนั้นผลงานประเภทนี้จึงไม่ได้ออกแบบเฉพาะเจาะจงมาเพื่อพื้นที่นั้นโดยเฉพาะจึงสามารถถอนหรือย้ายที่ติดตั้งได้ อย่างไรก็ตามพื้นที่ที่จัดวางก็ยังต้องมีการสอดคล้องกับความหมายของตัวชิ้นงานในด้านใดด้านหนึ่งอยู่บ้าง เพื่อสะท้อนความคิดของชิ้นงานออกมาได้
ยกตัวอย่างศิลปะจัดวางแบบ ‘Temporal Installations’ เช่น ผลงานของ ‘คริสโตและฌอง-โคลด’ คู่รักศิลปินสไตล์ Land Art ที่มักใช้การ ‘ห่อหุ้ม’ มาสร้างเป็นงานศิลปะอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นการห่อต้นไม้ ห่อสะพานข้ามแม่น้ำแซน ห่อพื้นที่ชายฝั่งทะเล และที่โด่งดังสุด ๆ ก็คือผลงาน ‘Wrapped Reichstag’ ที่ทำการห่ออาคารไรชส์ทาค (Reichstag) หรือ อาคารรัฐสภาเยอรมัน ด้วยผ้าสีเงินกันไฟที่ครอบคลุมทั้งรัฐสภากว่า 100,000 ตารางเมตร และใช้เวลานานถึง 24 ปี (1971 - 1995) กว่าจะสำเร็จ เพราะต้องรอการอนุมัติจากทางการก่อน พร้อมตกลงว่าจะออกทุนเองและไม่ทำงานที่สื่อถึงการเมือง ซึ่งหลังจากตกลงกันเรียบร้อยแล้วพวกเขาก็เริ่มห่ออาคารกันในวันที่ 17 มิถุนายน 1995 และเสร็จสิ้นในวันที่ 24 มิถุนายน 1995 และจัดแสดงอยู่แบบนั้นเพียงสองอาทิตย์ก่อนจะถอนการติดตั้งทั้งหมด
สำหรับประวัติความเป็นมาของอาคารแห่งนี้สามารถสืบย้อนไปได้ถึงปี 1894 ก่อนที่จะถูกวางเพลิงในปี 1933 และปล่อยร้างมานานกว่า 40 ปี สถานที่ตั้งของอาคารแห่งนี้จะตั้งอยู่ระหว่างเบอร์ลินตะวันออกและเบอร์ลินตะวันตก ซึ่งในฐานะผู้ลี้ภัยทางการเมือง อาคารที่ตั้งอยู่ระหว่างสองขั้วการเมืองจึงน่าจะมีความสำคัญบางอย่างกับเขาและอยากเข้ามาทำงานศิลปะร่วมด้วย และถึงแม้ว่าศิลปินจะย้ำเสมอว่างานของเขาไม่เคยสื่อถึงการเมือง แต่การเลือกสถานที่แต่ละแห่ง และการเลือกวัสดุห่อหุ้มแต่ละครั้งก็สามารถตีความหมายได้หลายอย่างเช่นกัน
📌กระบวนการทำงานของ Installation Art กับการรับรู้ของผู้ชม
ในส่วนของการทำงานของ Installation Art ที่มีต่อการรับรู้ของผู้ชม เราจะสังเกตเห็นได้เลยว่านอกเหนือจากการทำงานกับพื้นที่โดยตรงแล้ว ศิลปินยังมุ่งเน้นไปที่ความรู้สึกของผู้ชมที่มองมาเป็นหลัก รวมถึงหลาย ๆ งานในปัจจุบันก็จะมีการใส่ความอินเทอร์แอคทีฟให้ผู้ชมเข้ามาีส่วนร่วมกับงาน มีปฏิสัมพันธ์กับงานด้วย เพื่อสร้างความหมายและแง่มุมใหม่ ๆ จากผลงาน นอกจากนี้ยังมีเป้าหมายเพื่อท้าทายขอบเขตระหว่างศิลปินและผู้ชม โดยให้ผู้ชมเป็นส่วนหนึ่งของผลงาน และใช้ประสบการณ์ตรงเป็นสื่อในการถ่ายทอดแนวคิดและเรื่องราวจากศิลปินด้วย
อ้างอิง
https://www.theartstory.org/movement/installation-art/
https://www.studiobinder.com/blog/what-is-installation-art-definition/
https://www.thepeople.co/read/32032
https://themomentum.co/christo-and-jeanne-claude/