เกศ ชวนะลิขิกร ศิลปินเชียงใหม่ที่พางานศิลปะออกจากกรอบการมองของมนุษย์

Art
Post on 27 November

ธรรมชาติมีสีเขียว แต่จิตใจภายในตัวเรามีสีอะไร? คำตอบอาจอยู่ในภาพวาดของ ‘เกศ ชวนะลิขิกร’ ศิลปินและอดีตรองศาสตราจารย์แห่งคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้ล่วงลับไปในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมานี้

คนที่ชื่นชอบศิลปะแบบนามธรรม (abstract art) คงจะคุ้นตาผลงานของเขาเป็นอย่างดี จากผลงานที่พัฒนาอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ยุค 90s และศิลปินจากเชียงใหม่จำนวนไม่น้อยคงยิ่งเข้าใจว่าแต้มสีในภาพของเขามาจากฝีแปรงของผู้ใหญ่ใจดีคนนี้ ที่มีวิถีของการวาดภาพนามธรรมกลืนกันไปเป็นเนื้อเดียวกับวิถีแห่งการใช้ชีวิต เพราะสิ่งรอบตัวอาจไม่ได้สัมผัสได้ด้วยตาเพียงเท่านั้น แต่บางอย่างเรารู้สึกได้ด้วยใจ เหมือนกับที่ภาพนามธรรมไม่ได้เก็บความเป็นจริงมาจำลองลงบนผืนผ้าใบ แต่เป็นการดึงสิ่งที่กระทบจิตใจออกมาแสดง

“ถ้าไม่ได้ปฏิบัติเองก็จะไม่รู้ว่ามันทำอย่างไร [...] ถ้าคุณไม่ได้วาดรูปนามธรรมคุณก็ไม่รู้หรอกว่ามันง่ายหรือยาก” ถ้อยคำสั้น ๆ ของเขา ในวิดีโอจาก Art4C ที่อธิบายตัวตนได้อย่างชัดเจน

GroundControl ชวนย้อนดูประวัติศาสตร์ภาพวาดนามธรรมไทยในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา ผ่านชีวิตของนักวาดยอดฝีมือคนหนึ่งจากเชียงใหม่ ที่ยิ่งคอยย้ำเตือนเราว่า สิ่งสำคัญบางอย่าง ก็ไม่อาจเห็นได้ด้วยตา

สีสันของธรรมชาติ

อาจารย์เกศเกิดที่กรุงเทพฯ ในปี 1961 แต่เส้นทางในวงการศิลปะของเขาไปเริ่มต้นไกลถึงที่สหรัฐอเมริกา ซึ่งเขาสำเร็จการศึกษาในหลักสูตรจิตรกรรมและภาพวาดเขียน จากมหาวิทยาลัยนอร์ธเท็กซัส (University of North Texas) ในปี 1985

แต่แทนที่จะใช้ชีวิตอยู่ในกรุงเทพฯ เขาเลือกเดินทางไปลงหลักปักฐานอยู่ที่เชียงใหม่ ทำงานศิลปะ และสอนศิลปะอยู่ที่นั่น บ้านและสตูดิโอของเขาอยู่ท่ามกลางธรรมชาติในอำเภอแม่แตง สถานที่แห่งอุดมคติที่แห่งความเป็นชุมชนท้องถิ่น ความห่างไกลจากโลกแห่งข้อมูลข่าวสาร และการเป็นตัวของตัวเองโดยไม่ไหลตามกระแสโลก ดังที่เขาถ่ายทอดไว้ในผลงาน ‘Amphur Mae Tang, Chiang Mai’

และธรรมชาติเอง ก็เป็นสิ่งที่ซับซ้อน คาดเดาไม่ได้ และเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา “การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศเป็นหนึ่งในสเน่ห์ของธรรมชาติ สภาพอากาศที่ดีสำหรับคนหนึ่ง อาจเป็นสภาพอากาศที่แย่สำหรับอีกคนก็ได้ สิ่งเหล่านี้ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติซับซ้อนยิ่งขึ้น” ส่วนหนึ่งของคำพูดของเขาที่โพสต์โดยศิลปินจากเชียงราย อังกฤษ อัจฉริยโสภณ

สภาพจริงของโลกที่กำลังเปลี่ยน กับภาพจินตนาการในงานศิลปะ

ตั้งแต่ปลาย 1980s และช่วง 1990s อาจารย์เกศแสดงผลงานจำนวนมากทั้งที่เชียงใหม่และกรุงเทพฯ ในงาน ‘Bown Air, Brown Trees, Brown Ocean an a DirLy Automobile’ เขานำชิ้นส่วนยานยนตร์มาประกอบเข้ากับภาพวาดบนผืนผ้าใบ เพื่อชี้ชวนให้เรามองไปยังอนาคต ของโลกที่มนุษย์ส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมไม่หยุด จนทำให้สิ่งรอบตัวเปลี่ยนไป สิ่งมีชีวิตอาจสูญสลาย หรือกลายพันธุ์มาใหม่ก็เป็นได้ และงานนี้ก็เป็นประกายความหวังที่เขามองไปข้างหน้าว่ามนุษย์จะยังคงรอด

ผลงานในช่วงนี้ของเขาไม่ได้จำกัดรูปแบบตัวเองอยู่ที่จิตรกรรมในความหมายดั้งเดิม แต่เขานำวัสดุในชีวิตประจำวันเก็บมาใช้ เหมือนกับที่เคยนำชิ้นส่วนยานยนตร์มาติดภาพด้วย ใน ‘Sad Dog’ และ ‘Back Against the Wall’ เขายังคงมองไปยังอนาคตข้างหน้าที่มนุษย์ใช้ชีวิตติดโยงอยู่กับเทคโนโลยีมากขึ้นเรื่อย ๆ

สู่การเดินทางในภาวะนามธรรม

ผลงานของเขาในช่วงแรก มักประกอบไปด้วยสองส่วนที่เข้ามาประกอบกัน คือภาพวาดบนผ้าใบสไตล์นามธรรม กับชิ้นส่วนสิ่งของที่พบเห็นได้ทั่วไป หรือที่เรียกกันว่าเทคนิกแบบสื่อผสมและงานจัดวาง แต่ช่วงปลาย 1990s - 2000s เป็นต้นมา ผลงานของเขายิ่งลงลึกเข้าไปในงานตระกูลนามธรรมมากยิ่งขึ้นอีก คือไม่ได้เป็นภาพแทนหรือภาพลดทอนของวัตถุสิ่งของหรือสิ่งที่เราเห็นใด ๆ เลย แต่เป็นภาวะนามธรรมล้วน ๆ

นิทรรศการอย่าง ‘No Valid Matters’, ‘Dimensions Variable’ หรือ ‘TRUE or FALSE /รูป – อรูป’ จัดแสดงงานนามธรรมที่แฝงไปด้วยนัยครุ่นคิดเชิงปรัชญา สะท้อนกลับมาอีกว่าสภาวะทางนามธรรมจริง ๆ แล้วมีแก่นแท้ของมันคืออะไร? เหมือนกับสภาวะทางธรรมชาติไหม? แล้วมนุษย์จะทำความเข้าใจสิ่งทั้งหมดนี้ได้อย่างไร? โดยที่ผลงานของเขาทำหน้าที่สร้างความหมายใหม่ ๆ และกระตุ้นความรู้สึกใหม่ ๆ ให้ผู้ชมเข้าไปสัมผัสภาวะตรงนั้น

ถ้าหากภาพวาดที่ดูสมจริง พยายามลวงตาเรา ทำให้สิ่งที่ไม่มีอยู่จริงมาปรากฏเทียม ๆ อยู่ในผ้าใบตรงหน้าเรา ภาพวาดเชิงนามธรรมของเขาก็คือการจูงมือคนดูเข้าไปในภาวะทางจิตใจ ให้เราลองรู้สึกกับอะไรที่เราอาจจะไม่เคยได้รู้สึกมาก่อน

ภาพของเขาไม่ใช่การอธิบายข้อมูลให้ผู้ชมประมวลผลตามความรู้ของศิลปิน แต่คือการเป็นจุดเริ่มต้นสู่การตีความของผู้ชม เป็นรูปแบบที่บริสุทธิ์ของแสง สี เส้น และองค์ประกอบทางศิลปะต่าง ๆ เป็นเสมือนการเดินทางของผู้ชม โดยมีศิลปินร่วมเดินไปด้วยกัน โดยไม่ได้มีใครถืออำนาจมากกว่าใคร

“อาจารย์เกศ”

เกศ ชวนะลิขิกรเสียชีวิตในปลายเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ท่ามกลางเสียงอาลัยจากลูกศิษย์จำนวนมากที่กระจายตัวอยู่ทั่ววงการศิลปะ และเหล่ามิตรสหายที่ ออกมาเล่าเรื่องราวในความทรงจำ ศิลปิน ไพศาล ธีรพงศ์วิษณุพร เล่าถึงครั้งแรกที่เจอกับเขา “ตอนนั้น เกศนำผลงานของเขาเข้ามาจัดแสดงเดี่ยวในกรุงเทพฯ ผลงานศิลปะชุดแรกของเกศที่ผมได้รับชมในปีนั้น เป็นงานจิตรกรรมนามธรรมแบบ "สื่อผสม" (MIXED MEDIA) ซึ่งมีชิ้นส่วนที่เรียกว่า "อะไหล่" ของรถยนต์ จำพวก โชคอัพ หรือยางรถ ติดปะผสมผสานอยู่บนชิ้นงานบางชิ้น ภายหลังต่อมา ก็ได้ขึ้นไปชมผลงานของเกศ ซึ่งติดตั้งจัดแสดงอยู่ภายในโรงละครของ "ห้างเซ็นทรัล กาดสวนแก้ว" ณ เชียงใหม่ ที่นำตู้เย็นเก่า มาติดประกอบผสมผสานเข้ากับกิ่งไม้ และวัสดุอื่นๆ ถ้าจำไม่ผิด งานชิ้นนั้น เกศตั้งชื่อประมาณว่า "พิน็อคคีโอ" หรือมีเรื่องราวอะไรบางอย่างบางแง่มุม ที่สัมพันธ์เกี่ยวข้องกับ "พิน็อคคีโอ" นั่นแหละ จากนั้น ก็ยังมีโอกาสได้ดูผลงานของเกศอีกหลายชิ้นหลายชุดด้วยกัน ก่อนจะมาได้รับทราบข่าวการจากไปอย่างไม่มีวันกลับ เป็นการจากไปก่อนเวลาอันควร เป็นสิ่งที่ไม่น่าเกิดขึ้นเลย ขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวของ เกศ ชวนะลิขิกร เป็นอย่างยิ่ง สำหรับความสูญเสียที่เกิดขึ้นครั้งนี้ ขอให้วิญญาณของเกศสู่สุคติอันสุขสงบ และเป็นนิรันดร์ ”

“กราบขอบพระคุณอาจารย์ที่มาตรวจงานผมเสมอครับ และขออนุญาตกราบลาอาจารย์ครับ” อุบัติสัตย์ ศิลปินเชียงใหม่ผู้จบการศึกษาจากคณะวิจิตรศิลป์ ร่วมแสดงความอาลัย “อ เป็นกัลยาณมิตรที่ดี ความสัมพันธ์ ระหว่าง ลูกศิษย์กับอาจารย์ เรียนจบมา 20 ปี ยังถาม ยังคุย เรื่องการสร้างสรรค์ผลงานตลอดครับ🙏🏻”

วรวุฒิ สัจจะปรเมษฐ หรือ ‘หนุ่มโรงงานน้ำตา’ ผู้ก่อตั้ง VS Gallery ก็โพสต์ในเฟสบุ๊กส่วนตัวว่า “RIP อาจารย์เกศ ได้คุยกับอาจารย์อยู่ 2-3 หน นอกจากแกจะเป็น painter และ printmaker แกยังเป็น conceptual artist ที่เราชอบมาก เราสะสมงานอาจารย์ชิ้นเล็กๆ อยู่ชิ้นหนึ่ง เป็นจดหมายใส่ในซองที่มีคนเขียนให้แก ถ้าจำที่เมนเทอร์อังกฤษเล่าไม่ผิดคือเป็นจดหมายที่พ่อเขียนถึงแก ซึ่งสุดท้ายแกไม่ทิ้งไปเปล่าๆ แต่นำมาแปลงเป็นงานศิลปะที่แกนำจดหมายใส่ซองมาติดทับกับผ้าใบ แล้วเพนต์ทับงาน abstract ทับลงไปก่อนใส่กรอบ สื่อแทนการปล่อยวางความทรงจำในอดีต ซึ่งเราประทับใจมาก ขอแสดงความเสียกับครอบครัวและมิตรสหายของอาจารย์ด้วยครับ”

อ้างอิง