COVER WEB_kavita copy.jpg

แพรว-กวิตา วัฒนะชยังกูร ศิลปินผู้ใช้ร่างกายถ่ายทอดเรื่องราวของแรงงานในสังคมบริโภคนิยม

Art
Post on 15 September

ตั้งแต่การจัดแสดงผลงานในเทศกาลศิลปะระดับนานาชาติอย่าง Bangkok Art Biennale, Venice Biennale และ Art Basel Switzerland ไปจนถึงแกลเลอรี่ชั้นนำของโลกอย่าง Saatchi Gallery ในลอนดอน, Hamburger Bahnhof - Museum für Gegenwart ในเบอร์ลิน, National Gallery of Victoria, Shepparton Art Museum (SAM) ในเมลเบิร์น, 4A Centre for Contemporary Art ในซิดนีย์, Campbelltown Arts Centre ในแคมป์เบลทาวน์, Art Gallery of Western Australia ในเพิร์ธ, Adelaide Festival Centre ในแอดิเลด และ Project Fulfill Art Space ในไต้หวัน 

เหล่านี้คือส่วนหนึ่งของเครื่องการันตีความสามารถอันโดดเด่นของ แพรว-กวิตา วัฒนะชยังกูร ศิลปินไทยร่วมสมัยที่กำลังได้รับการจับตามองมากที่สุดคนหนึ่งของประเทศ

ผลงานศิลปะของแพรว-กวิตามักถูกถ่ายทอดออกมาในรูปแบบภาพถ่าย วิดีโอ รวมไปถึงการแสดงสดในสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกัน อย่างไรก็ดี พวกมันล้วนแล้วแต่มีจุดร่วมอยู่ที่การใช้การเคลื่อนไหวของร่างกายที่มีเลือดเนื้อของเธอเองเป็นสื่อในการสร้างปฏิสัมพันธ์และถ่ายทอดเรื่องราวต่าง ๆ แทนที่วัตถุที่ไร้จิตวิญญาณ เพื่อท้าทายขีดจำกัดของตัวเองและสังคม โดยเฉพาะในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการโดนกดทับของเพศหญิงและแรงงานในอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่นอกจากจะมีการสื่อสารเชิงสัญลักษณ์ถึงเรื่องดังกล่าวแล้ว ยังสะท้อนกลับมาตั้งคำถามถึงชีวิตภายใต้ร่มของสังคมบริโภคนิยม รวมไปถึงความสัมพันธ์ของมนุษย์และเทคโนโลยีในยุคปัจจุบันด้วย

แต่ก่อนจะไปทำความรู้จักกับแนวคิดและผลงานของเธอแบบเจาะลึกในงาน Exclusive Talk ‘When Art Meets Technology’ GroundControl อยากชวนทุกคนมาทำความรู้จักกับผลงานศิลปะเด่น ๆ ทั้ง 5 ชุดของเธอ ว่าแต่ละชุดจะมีความน่าสนใจอย่างไรบ้าง

Tool (2012 - ปัจจุบัน)

Tool คือผลงานศิลปะชุดแรก ๆ ที่น่าจะทำให้หลาย ๆ คนได้เริ่มทำความรู้จักกับตัวตนและลายเซ็นเฉพาะตัวของแพรว-กวิตามากขึ้น ในผลงานชุดนี้ เธอใช้ร่างกายของตัวเองมาประกอบกิจกรรมงานบ้านแทนวัตถุต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการล้างจาน การกวาดพื้น การซักผ้า หรือแม้แต่การขัดส้วม เพื่อยั่วล้อขนบของภาพจิตรกรรมจากศตวรรษที่ 17 ที่มักปรากฏภาพของหญิงสาวในฐานะหุ่นนิ่งไร้จิตวิญญาณตามมุมต่าง ๆ ของบ้าน ที่แม้ว่าในปัจจุบัน เวลาจะล่วงเลยเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 แล้ว แต่บทบาทของผู้หญิงในสังคมก็ยังคงไม่เปลี่ยนแปลง ซึ่งนอกจาก Tool จะถูกถ่ายทอดผ่านรูปแบบภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหวแล้ว เธอยังได้ทำการแสดงสดในชื่อ Domesticated ณ MOCA Museum of Contemporary Art โดยในเวลาต่อมา ผลงานชุดนี้ยังได้ถูกต่อยอดเป็นอีกหนึ่งชุดผลงานในชื่อ Air (2012 - ปัจจุบัน) ด้วย

Work (2015 - 2017)

ยังคงรักษาเอกลักษณ์การใช้เรือนร่างของตัวศิลปินเองแทนที่วัตถุต่าง ๆ ในผลงานชุด Work แพรว-กวิตาพาเราไปสำรวจการใช้แรงงานในชีวิตประจำวันของชาวไทย โดยเฉพาะกับผู้หญิงที่ต้องอดทนแบกรับความเจ็บปวด ทั้งทางกายภาพ และทางความรู้สึกนึกคิดในทุกวัน ๆ ผ่านท่าทางผาดโผนชวนปวดเกร็ง จนดูแทบไม่ต่างกับท่าโยคะหรือการทำสมาธิที่ต้องท้าทายขีดจำกัดของร่างกายในทุก ๆ ส่วน

Field Work (2020)

ในผลงานชุด Field Work แพรว-กวิตาขยับมาพูดถึงแรงงานในภาพที่กว้างขึ้น เธอพาเราไปเฝ้ามองชีวิตของผู้คนผู้อยู่เบื้องหลังการผลิตจำนวนมาก (Mass Production) ภายในอุตสาหกรรมเกษตร ที่แม้จะเป็นกระดูกสันหลังสำคัญที่คอยหล่อเลี้ยงผู้คนในชาติ แต่กลับต้องแลกมาด้วยคุณภาพชีวิตที่แร้นแค้น ในผลงานผลงานภาพถ่ายและวิดีโอชุดนี้ เธอเปลี่ยนตัวเองเป็นเครื่องจักรไร้ชีวิตที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อแทนที่แรงงานมนุษย์

Performing Textiles (2018 - 2019)

Performing Textiles คือชุดผลงานที่แพรว-กวิตาตั้งใจสร้างสรรค์เพื่อสะท้อนภาพความยากลำบากของแรงงานหญิงในอุตสาหกรรมสิ่งทอในยุค Fast Fashion ที่คุณค่าของเม็ดเงินมีความหมายมากกว่าสิทธิของผู้คน โดยนอกจากจะมีผลงานภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหวแล้ว ในผลงานชุด Performing Textiles ยังมีการแสดงสดในชื่อ Knit ที่เธอใช้ร่างกายของตัวเองค่อย ๆ ถักทอเส้นไหมพรมขึ้นมาอย่างทุลักทุเลแทนเครื่องจักรในการเปิดนิทรรศการ Unveil Escape ที่ Gallery Seescape ในเชียงใหม่ด้วย

Cyber Labour (2022 - ปัจจุบัน) 

สานต่อจากผลงาน Knit แพรว-กวิตา กลับมาพร้อมกับ Mental Machine: Labour in the Self Economy การแสดงสดส่วนหนึ่งของผลงานชุด Cyber Labour ที่เธอไปจับมือทำงานร่วมกับ พีพี-พัทน์ ภัทรนุธาพร นักเทคโนโลยี และนักวิจัยชาวไทยจาก MIT Media Lab รังสรรค์ผลงานศิลปะที่ผนวกรวมศิลปะการแสดงเข้ากับบทสนทนาที่มีร่วมกับปัญญาประดิษฐ์ ผ่าน Alter Ego ของตัวศิลปินเองที่อาศัยนวัตกรรม AI Deepfake มาช่วยสื่อสาร โดยนอกจาก Mental Machine: Labour in the Self Economy แล้ว พวกเขายังเตรียมตัวจัดแสดง Voice of the Oppressed อีกหนึ่งผลงานจากชุด Cyber Labour ที่จะเปิดตัวเป็นครั้งแรกในงาน Bangkok Art Biennale 2022 ที่จะถึงนี้ด้วย

ทำความรู้จักกับแนวคิดและผลงานของพวกเขาแบบเจาะลึกได้ที่:
When Art Meets Technology
สำรวจความหมายของศิลปะในมุมมองของนักเทคโนโลยี
Exclusive Talk ร่วมกับ พีพี-พัทน์ ภัทรนุธาพร นักเทคโนโลยีจาก MIT Media Lab ผู้อยู่เบื้องหลังผลงานศิลปะร่วมสมัยมากมาย และ แพรว-กวิตา วัฒนะชยังกูร ศิลปิน Media และ Performance Art ผู้ใช้การเคลื่อนไหวของร่างกายบอกเล่าความเป็นไปในสังคม
ดำเนินรายการโดย ผ้าป่าน-สิริมา ไชยปรีชาวิทย์ จาก GroundControl 
ร่วมพูดคุยกันแบบสด ๆ ในวันเสาร์ที่ 17 กันยายนนี้
ทางเพจ Facebook : FAAMAI Digital Arts Hub & GroundControl 
และช่อง YouTube : GroundControl 
ตั้งแต่เวลา 10:00 น. เป็นต้นไป