KAWS:HOLIDAY สนามหลวง – ถอดรหัส 'การพักผ่อน' และความหมายเบื้องหลังประติมากรรม COMPANION

Post on 21 May 2025

“เราได้พักผ่อนจริง ๆ ครั้งสุดท้ายเมื่อไรกันนะ?"

ถ้ามีคำถามนี้วนเวียนอยู่ในหัวขึ้นแล้ว หยุดทุกอย่างแล้วออกไปพักผ่อนทันที ตอนนี้เป็นโอกาสดีที่มีโปรเจกต์ KAWS:HOLIDAY THAILAND มาแลนดิ้งที่สนามหลวงแล้ว! เพราะล่าสุดทาง KAWS, AllRightsReserved (ARR) และ เซ็นทรัล เอ็มบาสซี ในฐานะพันธมิตรในประเทศไทย เนรมิตรแลนด์มาร์กแห่งประวัติศาสตร์สุดยิ่งใหญ่อย่าง ‘สนามหลวง’ ให้กลายเป็นพื้นที่ศิลปะกลางแจ้งสำหรับทุกคน พร้อมยกเจ้า ‘COMPANION’ ขนาดมหึมา สูง 18 เมตร มาชวนทุกคนให้ออกมาพักผ่อนไปด้วยกัน

โปรเจกต์ KAWS:HOLIDAY คือโปรเจกต์ศิลปะสาธารณะที่เริ่มต้นขึ้นในปี 2018 ด้วยความร่วมมือระหว่าง KAWS กับ AllRightsReserved โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างพื้นที่แห่งการพักใจ ทบทวนตนเอง และเชื่อมโยงผู้คนเข้ากับศิลปะในบริบทใหม่ ๆ ผ่านการพา ‘COMPANION’ คาแรกเตอร์ ที่มีเอกลักษณ์เป็นหัวเป็นรูปกะโหลก มีหูคล้ายมิกกี้เมาส์ แต่ดูผอมบางและใส่กางเกงติดกระดุม มักแสดงท่าทางที่ดูเศร้าและโดดเดี่ยว เช่น นั่งกอดเข่า และปิดใบหน้า ไปปรากฏในสถานที่สำคัญกว่า 13 แห่งทั่วโลก เช่น โซล ฮ่องกง ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย และล่าสุดประเทศไทยของเรานั่นเอง

นอกเหนือจากเรื่องการเดินทาง อีกสิ่งที่ทุกคนโฟกัสกันเมื่อพูดถึงโปรเจกต์นี้ก็คือรูปลักษณ์ของ COMPANION ที่ไม่ได้เหมือนกันทุกครั้ง ซึ่งการมาเยือนเมืองไทยครั้งนี้ เจ้า COMPANION เขาก็ไม่ได้มาแค่ตัวเดียว แต่ยังพาเจ้า ‘SMALLER COMPANION’ มาด้วย โดยคอนเซปต์ของประติมากรรมชิ้นนี้คือการสะท้อนถึงการส่งต่อความรู้ คุณค่า และความใส่ใจจากรุ่นสู่รุ่น ตอกย้ำสายใยอันยั่งยืนที่เชื่อมโยงอดีต ปัจจุบัน และอนาคตเข้าด้วยกัน เมื่อรวมกับความหมายของพื้นที่อย่างสนามหลวงที่เชื่อมโยงกับหลักจักรวาลวิทยาในระบบความเชื่อแบบมันดาลาโบราณ สื่อถึงศูนย์กลางแห่งจักรวาล และเคยเป็นพื้นที่ประกอบพิธีกรรมสำคัญของแผ่นดิน แน่นอนว่าย่อมต้องมีความหมายอะไรให้เราได้ตีความกันแน่นอน!

ในบทความนี้ GroundControl เลยอยากชวนทุกคนมาทำความรู้จักกับโปรเจกต์ ศิลปิน และเจ้า COMPANION กันให้มากขึ้น พร้อมถอดรหัสวิเคราะห์สัญญะ ที่จะเชื่อมโยงให้ทุกคนเห็นภาพง่ายขึ้นว่า องค์ประกอบทุกอย่างนั้นเกี่ยวข้องกันในแง่ไหน และสะท้อนให้เราเห็นถึงเรื่องราวใดนอกจากศิลปะอีกบ้าง

เครดิตภาพถ่าย: @Chuttup

เครดิตภาพถ่าย: @Chuttup

สำรวจจักรวาล ‘KAWS’ ศิลปินวงการสตรีทอาร์ต ต้นกำเนิด COMPANION ผู้เชื่อว่าศิลปะไม่ควรอยู่แค่ในแกลเลอรี!

KAWS’ หรือ ‘ไบรอัน ดอนเนลลี’ เริ่มต้นสร้างชื่อจากการพ่นกราฟฟิตี้บนกำแพงตั้งแต่อายุ 12 ปี โดยใช้นามแฝงว่า ‘KAWS’ ซึ่งเป็นตัวอักษรที่เขาคิดว่าดูสวยเมื่อเรียงรวมกัน โดย KAWS เริ่มสร้างคาแรกเตอร์เฉพาะตัวอย่าง ‘Companion’ ขึ้นในปี 1999 โดยได้แรงบันดาลใจมาจากมิกกี้เมาส์ ที่มีหัวเป็นรูปกะโหลกไขว้และดวงตาเป็นรูปตัว X ซึ่งเป็นสัญลักษณ์จากงานกราฟฟิตี้ในยุคแรก ๆ ของเขา

Companion มักถูกตีความว่าเป็นตัวแทนของความเหงา ความเปราะบาง และความรู้สึกแปลกแยกในโลกยุคใหม่ ทั้งที่มีรูปลักษณ์น่ารักคล้ายของเล่น แต่กลับแฝงอารมณ์เศร้า และความว่างเปล่าทางจิตใจเอาไว้ภายใน Companion จึงกลายเป็นสัญลักษณ์ร่วมสมัยของมนุษย์ที่ต้องดิ้นรนกับอารมณ์อันซับซ้อนภายใต้เปลือกนอกที่ดูสดใส จึงไม่น่าแปลกใจเลยที่น้องได้กลายมาเป็นตัวเอกของโปรเจกต์แห่งการพักผ่อนครั้งนี้

นอกเหนือจาก COMPANION เขายังสร้างคาแรกเตอร์อื่น ๆ ขึ้นมาด้วยเหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็น Accomplice ที่มีหน้าตาเป็นกระต่ายผอมสูงที่ดูขี้เล่นแต่หม่นเศร้า, Chum ที่มีลักษณะคล้ายกับคล้าย Michelin Man สื่อถึงมิตรภาพ, Bendy มีลักษณะผอมยาวคล้ายงู หน้าตาเหมือนการ์ตูนยุคเก่า ตาเป็นรูป X ดูขี้เล่นแต่แฝงความหลอนนิด ๆ และ BFF คาแรกเตอร์ขนฟู ตาโปน จมูกกลมสีเหลือง

KAWS สร้างสรรค์ผลงานที่ก้าวข้ามขอบเขตของพิพิธภัณฑ์และแกลเลอรี เพื่อเข้าถึงผู้ชมในวงกว้าง ผลงานอันโดดเด่นของเขาผสานโลกศิลปะและการออกแบบเข้าด้วยกันอย่างลงตัว ครอบคลุมทั้งจิตรกรรม ภาพจิตรกรรมฝาผนัง การออกแบบกราฟิกและผลิตภัณฑ์ ไปจนถึงประติมากรรมขนาดใหญ่ ตลอดสามทศวรรษที่ผ่านมา KAWS ได้สร้างสรรค์ผลงานที่ประสบความสำเร็จอย่างต่อเนื่อง แสดงให้เห็นถึงความเชี่ยวชาญทางศิลปะในฐานะศิลปิน รวมถึงไหวพริบ อารมณ์ขัน แรงเสียดสี และความผูกพันกับวัฒนธรรมร่วมสมัย

เครดิตภาพถ่าย: @Boatlogo

เครดิตภาพถ่าย: @Boatlogo

‘KAWS:HOLIDAY’ โปรเจกต์ที่ทำให้ศิลปะร่วมสมัยเข้าถึงได้ในทุกที่

อีกหนึ่งหัวใจสำคัญของโปรเจกต์ KAWS:HOLIDAY คือการเชื่อมโยงวัฒนธรรมท้องถิ่นกับศิลปะระดับโลก ไม่ว่าจะเป็นการนำผลงานไปจัดแสดงในพื้นที่ที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์หรือมีเอกลักษณ์ทางธรรมชาติ เช่น สวนสาธารณะ Seokchon Lake Park ในกรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้, อนุสรณ์สถานเจียงไคเชกในไทเป ประเทศไต้หวัน, อ่าววิกตอเรียในฮ่องกง, ภูเขาไฟฟูจิในประเทศญี่ปุ่น, วัดพรัมบานันในอินโดนีเซีย และทุ่งหญ้าในย่าน Marina Bay ประเทศสิงคโปร์

นอกจากนี้ยังมีโปรเจกต์พิเศษที่ COMPANION ถูกส่งขึ้นสู่อวกาศ ราวกับเป็นการขยายบทสนทนาระหว่างศิลปะกับสิ่งแวดล้อมออกไปไกลเกินขอบเขตของโลก จะเห็นได้เลยว่าการเลือกสถานที่แต่ละครั้งล้วนสะท้อนความตั้งใจในการสื่อสารกับผู้ชมในบริบทเฉพาะ ขณะที่ยังเชื่อมโยงกับประเด็นสากลว่าด้วยความรู้สึกของมนุษย์และบทบาทของศิลปะร่วมสมัยในสังคมโลกด้วย

สำหรับเรา การเดินทางของ COMPANION ในโปรเจกต์ KAWS:HOLIDAY จึงไม่ใช่แค่การเคลื่อนย้ายประติมากรรมไปยังพื้นที่ต่าง ๆ เท่านั้นแต่เป็นการพาศิลปะร่วมสมัยออกจากขอบเขตของแกลเลอรีหรือพิพิธภัณฑ์สู่ชีวิตประจำวันของผู้คนจริง ๆ KAWS: HOLIDAY เลยเป็นโปรเจกต์พักผ่อนที่ไม่ใช่แค่ของ COMPANION เท่านั้น แต่ยังเป็นของ ‘พวกเรา’ ที่จะได้หยุดพักจากความวุ่นวาย มองศิลปะในบริบทใหม่ และสำรวจความรู้สึกของตัวเองผ่านคาแรกเตอร์ที่เรียบง่ายแต่ทรงพลังนี้ และในขณะเดียวกันมันก็เป็นการเน้นย้ำว่าศิลปะสามารถเกิดขึ้นได้ทุกที่ และเป็นของทุกคน

และอย่างที่เราได้เกริ่นไปในตอนต้นว่า นอกจากโปรเจกต์ KAWS:HOLIDAY จะเปลี่ยนสถานที่ เจ้า COMPANION ก็มักจะเปลี่ยนท่าทางให้เหมาะกับสถานที่นั้น ๆ ซึ่ง COMPANION ที่เราจะได้เจอที่สนามหลวง ก็มาพร้อมกับ SMALLER COMPANION นั่งอยู่บนตัก โดยทั้งสองตัวได้ถือพระจันทร์ดงใหญ่ไว้บนมือ โดยมีลูกโลกเป็นฐานรองนั่ง และตั้งอยู่บนพื้นที่สนามหลวง ก็ทำให้ COMPANION เหล่านี้มีความหมายเฉพาะตัวที่ต่างไปจากพื้นที่อื่น ๆ

COMPANION ที่มาเยือนเมืองไทยและสนามหลวงครั้งนี้ เลยไม่เพียงตั้งอยู่ในพื้นที่สำคัญทางประวัติศาสตร์เท่านั้น แต่ยังกลมกลืนไปกับความเชื่อเรื่องระเบียบของสรรพสิ่ง และสื่อถึงกระแสภูมิปัญญาที่หมุนเวียนอย่างต่อเนื่องในทุกห้วงกาลเวลา

เครดิตภาพถ่าย: @Boatlogo

เครดิตภาพถ่าย: @Boatlogo

‘สนามหลวง’ พื้นที่สาธารณะแห่งประวัติศาสตร์และการพักผ่อนของคนไทย

เพราะโปรเจกต์ KAWS:HOLIDAY คือโปรเจกต์ที่ว่าด้วยการพักผ่อน ดังนั้น สถานที่ที่ตรงคอนเซปต์นี้สุด ๆ ก็ต้องเป็น ‘สนามหลวง’ พื้นที่สาธารณะที่คนไทยใช้พักผ่อนหย่อนใจร่วมกันมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 นั่นเอง

ตามประวัติศาสตร์ สนามหลวงเป็นพื้นที่สำคัญมาตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ เคยใช้ประกอบพระราชพิธีสำคัญจนได้ชื่อว่าทุ่งพระเมรุ ก่อนจะเปลี่ยนเป็น ‘สนามหลวง’ ในรัชกาลที่ 4 และเปิดให้ประชาชนใช้งานมากขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 นับแต่นั้น สถานที่แห่งนี้ก็กลายเป็นพื้นที่ของการละเล่น งานรื่นเริง และกีฬาพื้นบ้าน เช่น โขนกลางแปลง งานสงครามบุปผาชาติ แข่งว่าว แข่งม้า ตลาดนัดกลางแจ้ง ไปจนถึงงานวัดกลางกรุง แม้ในปัจจุบันจะไม่ได้มีการจัดกิจกรรมบ่อยเหมือนในอดีต แต่สนามหลวงก็ยังเป็นพื้นที่พักผ่อนของคนไทย และถูกใช้ในการจัดงานสำคัญต่าง ๆ เสมอ อย่างล่าสุดในปี 2568 นี้ ก็เพิ่งมีการจัดเทศกาลสงกรานต์กลางสนามหลวงด้วยเหมือนกัน

ด้วยเหตุนี้ ‘สนามหลวง’ ที่เป็นสัญลักษณ์แห่งการพักผ่อนของคนไทยจึงเชื่อมโยงกับความหมายของโปรเจกต์ KAWS:HOLIDAY THAILAND ที่พูดถึงเรื่องการพักผ่อนได้อย่างชัดเจนที่สุด เป็นการจัดแสดง ‘ศิลปะสาธารณะ’ ที่ยิ่งใหญ่ บน ‘พื้นที่สาธารณะ’ ของประชาชนไทยที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนาน ทั้งหมดนี้ทำให้ทั้งตัวโปรเจกต์ คาแรกเตอร์ COMPANION และสถานที่ตั้งอย่างสนามหลวง เชื่อมโยงความหมายกันอย่างสมบูรณ์ และยังส่งเสริมความหมายให้กันและกันแบบเต็มพลัง ที่ทำให้เราในฐานะผู้ชมมองเห็นว่า ศิลปะคือสาธารณะ เป็นสิ่งที่พวกเราเข้าถึงได้ และสามารถเข้าใจได้ทุกคน

เพื่อตอบคำถามข้างบนว่า “เราพักผ่อนกันครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่” ก็ไม่ควรพลาดที่จะออกไปพักผ่อน และใช้เวลาปล่อยให้ตัวเองได้หยุดพักกับงาน KAWS:HOLIDAY THAILAND ณ ใจกลางสนามหลวง สถานที่เต็มไปด้วยความทรงจำทางวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ ดื่มด่ำกับภูมิทัศน์อันงดงามของประเทศของเรา