GC_MultiCover_Keith haring 2 copy.jpg

ไม่ใช่ ‘สามเหลี่ยมทองคำ’ แต่เป็น ‘สามเหลี่ยมชมพู’ สำรวจหนึ่งในสัญลักษณ์ LGBTQ+ ในงานของ Keith Haring

Art
Post on 16 June

นอกจากธงสีรุ้งจะเป็นสัญลักษณ์แห่งความหลากหลายทางเพศที่เราคุ้นเคยกันดีแล้ว ในเส้นทางของศิลปะก็ยังมีสัญลักษณ์แทนความหมายแห่งความหลากหลายนี้อีกไม่น้อย หนึ่งในนั้นคือ ‘สามเหลี่ยมสีชมพู’ ที่แรกเริ่มเดิมทีมีความหมายในทางลบ แต่ปัจจุบันนี่คือหนึ่งในสัญลักษณ์แห่งความภูมิใจ

ถึงอย่างนั้นบางคนก็ไม่ใคร่ชอบสัญลักษณ์นี้เท่าไหร่ (ก็เพราะความหมายลบในตอนแรกนั่นแหละ) แต่บางคนก็ไม่ได้ถือสาอะไร กลับคิดว่านี่คือสัญลักษณ์แห่งชัยชนะของการต่อสู้มากกว่า ตัวอย่างที่ดีของสัญลักษณ์ที่ว่านี้ก็ปรากฏในผลงานของศิลปินสตรีทอาร์ตชาวอเมริกันอย่าง Keith Haring ผู้ที่คอมมูนิตี้ LGBTQ+ ยกย่องให้เป็นไอคอนในตำนาน

เพื่อร่วมฉลองให้กับความหลากหลายทางเพศในเดือนนี้ เราจึงจะพาทุกคนไปสำรวจความหมายของสามเหลี่ยมสีชมพูที่มีเรื่องราวแตกต่างแบบกลับขั้วกัน

ภาพ 2 ภาพนี้ของ Keith Haring มีจุดร่วมเดียวกันหลายประการ หนึ่งในจุดร่วมที่เห็นได้ชัดเจนคือสามเหลี่ยมสีชมพูที่ในภาพแรกนั้นเป็นส่วนหนึ่งของภาพ อีกภาพหนึ่งเป็นองค์ประกอบหลักที่ทั้งช่วยนำสายตาและเพิ่มความสวยงาม

แล้วที่มาของสามเหลี่ยมสีชมพูดคืออะไร มันสัมพันธ์ยังไงกับภาพสองภาพนี้กันแน่?

รูปทรง สีสันแห่งการกดขี่

ย้อนกลับไปสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ในช่วงที่นาซีเยอรมันกำลังกวาดล้างผู้คนจำนวนมากไปกักขังในพื้นที่ต่าง ๆ นอกจากชาวยิวที่ถูกควบคุมตัวไปแล้ว ยังมีคนพิการ ชาวยิปซี คนเมา รวมถึงกลุ่มคนรักเพศเดียวกันทั้งเลสเบี้ยนและชายรักชายที่กลายเป็นเหยื่อในสงครามครั้งนี้ด้วย

การจับกุมเหล่านี้เริ่มจากบาร์และคลับที่เป็นมิตรกับกลุ่มชายรักชายเริ่มปิดตัวลง หนังสือที่สถาบันวิจัยที่อุทิศให้กับการศึกษาเรื่องเพศถูกเผาทิ้ง และองค์กรภราดรภาพเกย์ถูกสั่งปิด กระทั่งเริ่มจับกุมเป็นจริงเป็นจัง

พิพิธภัณฑ์อนุสรณ์สถานการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์แห่งสหรัฐอเมริกาประมาณการณ์ว่ากลุ่มชายรักชาย 100,000 คนถูกจับกุมในช่วงนี้ และในจำนวนนั้นมีชายรักชาย 5,000 - 15,000 คนถูกส่งไปยังค่ายกักกัน เหตุผลก็เพราะดูผิดแปลกและไม่สามารถดำรงเผ่าพันธุ์มนุษย์ต่อไปได้นั่นเอง

อย่างที่รู้กันว่าสัญลักษณ์ดาวสีเหลืองนั้นสื่อสารถึงชาติพันธุ์ยิวที่นาซีควบคุม แน่นอนว่ากลุ่มอื่น ๆ ก็มีสัญลักษณ์เป็นของตนเอง อย่างนักโทษการเมืองนั้นคือสามเหลี่ยมสีแดง สีเขียวสำหรับอาชญากร สีน้ำเงินสำหรับผู้อพยพ สีม่วงสำหรับพยานพระยะโฮวา และสามเหลี่ยมสีดำหมายถึงผู้ป่วยทางจิต คนติดยา โสเภณี และเลสเบี้ยน ส่วนกลุ่มชายรักชายนั้นถูกปักอกด้วย ‘สามเหลี่ยมสีชมพู’ ที่เราจะพูดถึงวันนี้

แม้ทุกคนที่ถูกกวาดล้างไปยังค่ายกักกกันจะถูกมองว่าเป็น ‘ชายขอบ’ ของสังคมนาซี แต่ว่ากันว่ากลุ่มชายรักชายถือเป็นชายขอบในชายขอบในค่ายกักกันนั้น เพราะ Pierre Seel ผู้รอดชีวิตเขียนในไดอารี่ ‘ I, Pierre Seel, รักร่วมเพศที่ถูกเนรเทศ: A Memoir of Nazi Terror’ ว่าเกย์คือชนชั้นที่ต่ำที่สุดในค่ายเลยทีเดียว

น่าแปลกใจที่เมื่อนาซีเยอรมันถูกล้มล้างได้แล้ว กลุ่มคนรักเพศเดียวกันอย่างชายรักชายก็ยังถูกจับกุมตัวอยู่ เพราะกฎหมายที่ว่าด้วยการรักร่วมเพศระหว่างผู้ชายเป็นอาชญากรรมยังไม่ถูกยกเลิกไป อันที่จริงกฎหมายฉบับนี้ตราขึ้นเมื่อปี 1871 แต่ไม่ค่อยมีการบังคับใช้อย่างเป็นรูปธรรมเท่าไหร่กระทั่งพรรคนาซีเข้ามาปกครอง

เชื่อมั้ยว่ากฎหมายมาตรานี้ยังเพิ่งจะยกเลิกอย่างเป็นทางการเมื่อปี 1994 นี้เอง

รูปทรง สีสันแห่งการปลดแอกลุกขึ้นสู้

แล้วสามเหลี่ยมสีชมพูกลายเป็นที่มาของความสามัคคี อำนาจ การต่อต้านและการเอาชนะความทุกข์ยากของชาว LGBTQ+ ตอนไหน?

ขยับเครื่องไทม์แมชชีนของเรากลับมาที่ต้นทศวรรษ 1970 ขบวนการสิทธิเกย์เริ่มเกิดขึ้นจากการตีพิมพ์หนังสืออัตชีวประวัติของชายรักชายในค่ายกักกันผู้รอดชีวิตอย่าง ‘The Men with the Pink Triangle’ และในปีต่อมาขบวนการเหล่านี้ก็ได้พัฒนาเป็น ‘Homosexuelle Aktion Westberlin (HAW)’ ซึ่งถือเป็นองค์กรสิทธิเกย์แห่งแรกของเยอรมนีหลังสงคราม พวกเขาได้กล่าวว่าต่อไปนี้สามเหลี่ยมสีชมพูจะไม่ใช่สามเหลี่ยมแห่งความอัปยศอีกต่อไป แต่จะคือสามเหลี่ยมแห่งการปลดแอกต่างหาก

ส่วนทางฝั่งอเมริกาในช่วงทศวรรษ 1980 และ 1990 โรคเอดส์ก็กำลังระบาดหนักโดยเฉพาะในกลุ่มคนรักร่วมเพศ คอมมูนิตี้ LGBTQ+ จึงเริ่มรณรงค์ให้ผู้คนในสังคมตระหนักถึงประเด็นความรุนแรงของโรคเอดส์ที่ว่าเพื่อลดการสูญเสียขอผู้คนมากขึ้น หนึ่งในสิ่งสำคัญของการรณรงค์ครั้งนี้คือกลุ่มแก๊งเพื่อน 6 คนได้แก่ Avram Finkelstein, Brian Howard, Oliver Johnston, Charles Kreloff, Chris Lione และ Jorge Soccarás ซึ่ง 5 คนในนั้นเป็นอาร์ตไดเรกเตอร์จึงหยิบสามเหลี่ยมสีชมพูของนาซีเยอรมันมาทำเป็นโปสเตอร์สร้างความตระหนักรู้

ความน่าสนใจคือสามเหลี่ยมสีชมพูของทั้ง 6 คนไม่ได้กลับหัวกลับหางแบบสามเหลี่ยมสีขมพูของนาซีเยอรมัน

It’s nice that ผู้สัมภาษณ์ทีมออกแบบโปสเตอร์กล่าวว่านี่คือสัญลักษณ์ของการพลิกหน้าประวัติศาสตร์ของชุมชน การประท้วงและการบุกเบิกสิ่งใหม่ ซึ่งกว่าจะตกลงกันได้ว่าจะพลิกขึ้นหรือพลิกลงก็ใช้เวลานานกว่า 9 เดือนเพื่อออกแบบ และด้วยความที่ทีมออกแบบมีความรู้ด้านนี้ดี พวกเขาจึงอาศัยความแมสในวงการโฆษณา หนัง แฟชั่นอย่างการเลือกใช้พื้นหลังสีดำมาเป็นหลัก ส่วนสีชมพูทีก็เลือกให้ออกอมม่วงมากกว่าที่จะเป็นชมพูซีดแบบนาซี

ในโปสเตอร์นั้นมีคำว่า ‘Silence = Death’ หรือ ‘ความเงียบ = ความตาย’ สลักอยู่ เพื่อสื่อสารกับชุมชนของพวกเขาให้ตระหนักถึงประเด็นรุนแรงนี้และเรียกร้องต่อรัฐบาลที่นิ่งเฉยต่อโรคที่คร่าชีวิตผู้คน

ในช่วงที่เกิดการประท้วงและการรณรงค์นี้แหละที่ Keith Haring ศิลปินผู้ใช้งานศิลปะเพื่อการเคลื่อนไหวทางสังคมก็มีส่วนร่วมในครั้งนี้ด้วย เพราะเขาได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคเอดส์ในปี 1988 อีกหนึ่งปีต่อมา เขาจึงก่อตั้งมูลนิธิ Keith Haring เพื่อสนับสนุนเงินทุนแก่องค์กรโรคเอดส์และโครงการสำหรับเด็ก

ช่วงปีสุดท้ายของชีวิต Haring ยังกล่าวถึงความเจ็บป่วยจากโรคนี้ ทั้งยังเคลื่อนไหวเพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับโรคเอดส์ หนึ่งในนั้นคือการวาดภาพตามแบบฉบับนั่นเอง และ 2 ภาพของเขา ก็ได้หยิบเอาสามเหลี่ยมสีชมพูมาเป็นองค์ประกอบสำคัญด้วย

งานแรกคือ ‘Silence Equals Death (1989)’ ซึ่งเป็นภาพที่เขาหยิบโปสเตอร์อันโด่งดังในช่วงนั้นมาเป็นองค์ประกอบหลัก ในสามเหลี่ยมสีชมพูนั้นประกอบด้วยคาแรกเตอร์ประจำตัวของเขาที่กำลังทำท่าทางปิดหู ปิดตา ปิดปากตามสุภาษิตญี่ปุ่นที่ว่า “hear no evil, see no evil, speak no evil”

อีกงานคือ ‘Ignorance = Fear / Silence = Death (1989)’ ที่มีสามเหลี่ยมสีชมพูอยู่ใต้ภาพ พร้อมกับชื่อองค์กร Act Up ของผู้ออกแบบโปสเตอร์ 6 คน ในภาพแสดงคาร์แรกเตอร์ประจำของเขาที่ทำท่าทางตามสุภาษิตเดิม แต่มีกากบาทสีชมพูที่คาร์แรกเตอร์แต่ละตัวด้วย เพื่อสะท้อนถึงการที่คนจำนวนมากปฏิเสธการมีอยู่ของวิกฤตที่คร่าชุมชน LGBTQ+ ซึ่งก็คล้ายกับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ของนาซีเยอรมันนั่นเอง

ทั้งสองงานสร้างสรรค์ขึ้นเพื่อแสดงความไม่พอใจต่อความเงียบของฝ่ายบริหารในการควบคุมและรณรงค์วิกฤตโรคเอดส์จนทำให้คนในชุมชนเพศทางเลือกเสียชีวิตหลายพันคน

ภาพของเขาเสร็จสมบูรณ์หนึ่งปีหลังจากการวินิจฉัยโรคเอดส์และเพียงไม่กี่เดือนก่อนที่เขาจะเสียชีวิตจากโรคแทรกซ้อนที่เกี่ยวข้องกับโรคเอดส์ในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 1990 ด้วยอายุเพียง 31 ปี และในวันที่ 4 พฤษภาคม 1990 ก็มีการจัดพิธีรำลึกที่มหาวิหารเซนต์จอห์นผู้ศักดิ์สิทธิ์ในนิวยอร์ก โดยมีผู้เข้าร่วมกว่า 1,000 คน

รูปทรง สีสันแห่งความภาคภูมิใจ

ตลอดสายธารการต่อสู้ของชุมชน LGBTQ+ สามเหลี่ยมสีชมพูนั้นมีหลากหลายความหมายตามการใช้งาน รื้อ และสร้างความหมายใหม่ เพราะตั้งแต่ปี 1990 เป็นต้นมา สามเหลี่ยมสีชมพูที่ล้อมรอบด้วยวงกลมสีเขียวก็ใช้เป็นสัญลักษณ์สำหรับ “พื้นที่ปลอดภัย” ของเพศหลากหลาย ทั้งยังมีอนุสรณ์สถานสามเหลี่ยมสีชมพูในซานฟรานซิสโกและซิดนีย์เพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อ LGBTQ+ จากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์

นอกจากนั้น สามเหลี่ยมสีชมพูยังเริ่มปรากฏใช้ในการประท้วง การสื่อสาร และการเดินขบวนในเดือนมิถุนายนแห่งความภูมิใจมากขึ้น อย่างการติดตั้งงานศิลปะ LED ขนาด 1 เอเคอร์ ที่ส่องแสงตั้งแต่ 1 มิถุนายนถึง 30 มิถุนายนบน Twin Peaks ของซานฟรานซิสโกซึ่งเริ่มต้นในปี 1996 โดย Patrick Carney จนปัจจุบันก็ยังคงมีโปรเจกจ์นี้อยู่เพื่อสร้างความหมายใหม่ให้สามเหลี่ยมสีชมพูนี้

ไม่ใช่ในความหมายของสามเหลี่ยมแห่งการกดขี่ แต่เป็นสามเหลี่ยมที่ชุมชนความหลากหลายตีความขึ้นใหม่ในแบบฉบับของตนเอง มันคือสามเหลี่ยมแห่งการต่อสู้ สามเหลี่ยมแห่งความภาคภูมิใจ และสามเหลี่ยมของการเตือนใจว่าความหลากหลายทางเพศจะต้องเป็นเรื่องที่ทุกสังคมยอมรับในเร็ววัน

เพราะไม่ว่าจะเป็นเพศใดก็ตาม เราทั้งหมดล้วนเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกัน

อ้างอิง :

itsnicethat
history
wherecreativityworks
design.
thequeerness
time