ถอดสัญลักษณ์ทางศาสนาและศิลปะแห่งอิสตรี ในเอ็มวี Easy ของ LE SSERAFIM

Art
Post on 21 February

แม้ว่าเสียงของของเหล่า ‘เฟียร์น็อท’ (ชื่อแฟนคลับของวง LE SSERAFIM) และเหล่าพี่สาวจะเทยจะแตกออกเป็นสองฝั่ง จะรักหรือชังน้อง Easy ที่เป็นเพลงใหม่ล่าสุดของวงเกิร์ลกรุ๊ปดื่มเนเจอร์กิ๊ฟ LE SSERAFIM แต่สิ่งหนึ่งที่ทุกคนคงเห็นตรงกันก็คือความเปรี้ยวเย่วไหลปิ๊ดของสาว ๆ ทั้งห้าในเอ็มวีนี้

แต่สิ่งที่ทำให้ Easy เป็นเอ็มวีสุดเปรี้ยว ก็ไม่ใช่แค่เฉพาะความเลิศของสาว ๆ แต่ยังรวมไปถึงองค์ประกอบต่าง ๆ ที่ซ่อนอยู่ในเอ็มวีที่ทำให้แมสเสจเรื่อง ‘พลังหญิงแกร่ง’ ซึ่งเป็นคอนเซปต์หลักของวงมาตลอดแข็งแรงขึ้น โดยเฉพาะในเอ็มวีนี้ที่เรื่องราวการประกาศพลังหญิงของสาว ๆ ดูจะขยับขึ้นไปอีกขั้น จากการที่สาว ๆ เหล่า ‘นางฟ้าบริวารของพระเจ้า’ (ชื่อวงมาจาก Seraph เทวทูตผู้เป็นบริวารของพระเจ้าในคัมภีร์ยูดาห์โบราณ) อหังการยึดโบสถ์ของพระผู้เป็นเจ้า และตั้งตัวเป็นพระเจ้าใหม่ในโลกใหม่ที่ผู้หญิงเป็นใหญ่!

สัญลักษณ์และงานศิลปะชิ้นใดที่ซ่อนอยู่ในเอ็มวีนี้ ไปดูกันเลย

Seraph บริวารแห่งสรวงสวรรค์ของพระผู้เป็นเจ้า

ก่อนที่จะไปถอดสัญลักษณ์ใด ๆ ในเอ็มวีนี้ เราต้องย้อนกลับไปที่ต้นเรื่องหรือที่มาที่ไปของชื่อวง LE SSERAFIM เสียก่อน เพราะเรื่องราวในเอ็มวี Easy ก็เป็นการขยายเรื่องต่อจากคอนเซปต์ตั้งต้นของวงนี่ล่ะ
.
ชื่อวง LE SSERAFIM ไม่เพียงเป็นการนำตัวอักษรในประโยคมอตโต้ประจำวงอย่าง ‘I’M FEARLESS’ มาสลับตำแหน่งแต่ยังมีที่มาจากเทวทูตในคัมภีร์ยูดาห์อย่าง ‘Seraphʼ ซึ่งหากอยู่ในรูปพหูพจน์จะเขียนว่า ‘Seraphim’
.
แม้จะบอกว่าเป็นเทวทูต (Angel) แต่ Seraph หาได้มีรูปร่างหน้าตาเป็นนางฟ้าที่มาพร้อมปีกแสนสวยเหมือนที่เราคุ้นเคยกัน โดยคัมภีร์ทางศาสนาทั้งยิว คริสต์ และอิสลาม ต่างบรรยาย Seraph ว่าเป็นสิ่งมีชีวิตแห่งสรวงสวรรค์ที่มีปีกหกปีกล้อมรอบดวงตาอันใหญ่ บินวนรอบบัลลังก์ที่ประทับของพระผู้เป็นเจ้าในแดนสวรรค์ คอยดูแลรักษาที่ประทับของพระอง์พร้อมเปล่งเสียงคำว่า ‘Holy! Holy! Holy!’

(ภาพจินตนาการถึง Seraphim ตามที่บรรยายในคัมภีร์ โดยศิลปิน 3D Jonas Pfeiffer)

(ภาพจินตนาการถึง Seraphim ตามที่บรรยายในคัมภีร์ โดยศิลปิน 3D Jonas Pfeiffer)

ตามความเชื่อของศาสนาคริสต์ Seraph เป็นเทวทูตที่มีสถานะสูงสุดในบรรดาเทวทูตทั้งหมด ในขณะที่ในศาสนายิวนั้น Seraph มีลำดับอยู่ที่ห้าจากบรรดาทูตสวรรค์ทั้งสิบ

Seraph ยังเป็นเทวทูตที่เกี่ยวข้องกับไฟและแสงสว่าง เพราะคำว่า Seraph ในภาษาฮีบรูมีความหมายว่า ‘ลุกไหม้’ ซึ่งก็ทำให้ภาพคอนเซปต์และโลโก้ของวงเกี่ยวข้องกับไฟและการมอดไหม้ด้วย

อย่างไรก็ตาม นักวิชาการทางศาสนาบางส่วนยังตีความว่า คำว่า Seraph ที่ปรากฏในพระคัมภีร์เก่าอาจเชื่อมโยงกับ ‘งู’ (Serpent) เพราะคำว่า Seraph ที่มีความหมายว่าลุกไหม้นั้นอาจหมายถึงสีฉูดฉาดของงูพิษ หรืออาจหมายถึงฤทธิ์ความเจ็บปวดเหมือนโดนไฟไหม้ที่เกิดจากพิษงูก็ได้ แต่นั่นก็เป็นเพียงการตีความของนักวิชาการบางส่วนเท่านั้น แต่สิ่งที่ปรากฏตรงกันในคัมภีร์หลายเวอร์ชันก็คือการที่ Seraph เป็นบริวารของพระเจ้า และเทวทูตแห่งแสงสว่าง การรู้แจ้ง และการมองเห็นความงามที่แท้จริง ซึ่งก็มาจากสัญลักษณ์ดวงตาและแสงสว่างนั่นเอง

(ภาพปกอัลบั้ม LE SSERAFIM)

(ภาพปกอัลบั้ม LE SSERAFIM)

โบส์นี้ของพี่สาว!

ในภาพถ่ายคอนเซปต์ของวง LE SseRAFIM รวมไปถึ 'หลาย ๆ ฉากในเอ็มวีที่ผ่านมา สมาชิกสาว ๆ ทั้งห้ามักปรากฏตัวในลักษณะที่ทำให้ผู้ชมนึกถึง ‘นางไม้’, ‘ภูติพราย’ หรือ ‘เทพีแห่งแรงบันดาลใจ’ (Muses) ซึ่งล้วนมีสถานะเป็นนางบริวารของเทพในตำนานปกรณัมกรีก คล้ายกับเทวทูตรับใช้พระเจ้าตามความเชื่อศาสนายิวและคริสต์อย่าง Seraph ซึ่งก็สะท้อนให้เห็นว่า ‘ฟิมมี่’ หรือวง LE SSRAFIM ยังคงเล่นกับคอนเซปต์นางฟ้าหรือเทพธิดาผู้รับใช้พระเจ้าหรือสิ่งมีชีวิตเบื้องบนมาโดยตลอด

(ภาพจากเอ็มวี Easy)

(ภาพจากเอ็มวี Easy)

แต่ในเอ็มวี Easy ตั้งแต่ฉากแรกที่เราเห็นพืชพรรณที่ค่อย ๆ เลื้อยครอบคลุมพื้นที่โบสถ์อันศักสิทธิ์ของพระผู้เป็นเจ้า ตามมาด้วยการเปิดตัวของห้าสาวที่เดินเข้ามาในโบสถ์ด้วยท่าทางสุด Swag แถมที่ยืนรอพวกเธออยู่ในโบสถ์ก็คือเหล่าแม่ชีผู้ถือไม้อาญาสิทธิ์ (Crosier) อันเป็นสัญลักษณ์ของผู้นำของโบสถ์คาทอลิกอย่างบิชอปหรือโป๊ป แต่สัญลักษณ์ที่อยู่บนไม้อาญาสิทธิ์เหล่านั้นหาใช่สัญลักษณ์ทางศาสนาทั่วไปอย่าง งู วงโค้ง หรือกางเขน แต่กลับเป็นสัญลักษณ์อักษรไขว้ประจำวง LE SSERAFIM ราวกับจะเป็นการประกาศการยึดครอง ‘บ้านของพระเจ้า’ โดยสาว ๆ ผู้เคยเป็นบริวารของพระเจ้ามาก่อน!

(ภาพจากเอ็มวี Easy)

(ภาพจากเอ็มวี Easy)

crosier หรือไม้อาญาสิทธิ์ที่ใช้ในโบสถ์

crosier หรือไม้อาญาสิทธิ์ที่ใช้ในโบสถ์

แถมที่อยู่ ณ ใจกลางโบส์ก็หาใช่กางเขนหรือรูปพระเยซู แต่กลับเป็นรูป ‘ดวงตา’ ที่เป็นสัญลักษณ์ของเทวทูตอย่าง Seraph เหมือนเป็นการประกาศอย่างเป็นทางการว่า พวกเธอหาใช่บริวารของพระเจ้าอีกต่อไป และพระเจ้าองค์ใหม่ได้มาถึงแล้ว!

GOD IS A WOMAN

ที่เห็นชัด ๆ คือฉากที่น้องเร้ก ‘อึนแช’ ประคอง ‘ยุนจิน’ ในลักษณะที่ดูคล้ายกับท่า Pietà (ภาษาอิตาเลียนแปลว่า ความสงสาร) ที่ถอดแบบมาจากฉากพระแม่มารีย์ประคองร่างพระเยซูที่ถูกอัญเชิญลงจากกางเขน อันเป็นฉากและท่าทางที่เห็นได้ทั่วไปในงานศิลปะ แต่ความน่าสนใจของ Pietà แบบ LE SSARAFIM ก็คือ ผู้ที่ถูกประคองร่างไว้กลับเป็นพระแม่มารีย์

ฉากนี้อาจบอกเป็นนัยถึงการโฟกัสไปที่ผู้หญิงซึ่งเคยเป็นเพียงบทบาทรองในเรื่องราวความยิ่งใหญ่ของพระเจ้า พระแม่มารีย์ที่ถูกประคองโอบกอดไว้ก็อาจหมายถึงการที่เธอได้รับการปลอบประโลมโอบอุ้มจากผู้หญิงด้วยกัน รวมไปถึงการซาบซึ้งและเห็นคุณค่าในการเสียสละของเธอ ไม่ว่าจะเป็นการเป็นผู้ให้กำเนิดพระเยซูทั้งที่เป็นหญิงพรหมจรรย์ รวมไปถึงการต้องทนเห็นลูกของตัวเองถูกทรมานจนสิ้นใจบนกางเขน

Pietà (Michelangelo)

Pietà (Michelangelo)

พระแม่มารีย์ที่ถูกนำเสนอในฉากนี้ยังมีลักษณะเป็น ‘Weeping Mary’ หรือมารีย์ร่ำไห้ ซึ่งเป็นภาพที่ถูกนำเสนออยู่เสมอในศิลปะของฝั่งคาทอลิก และทางฝั่งตะวันตกก็ยังมีตำนานเมืองเรื่องรูปปั้นพระแม่มารีย์ที่มีน้ำตาไหลออกมา (คล้าย ๆ กับเสาตกน้ำมันบ้านเรา) ซึ่งน้ำตาของพระแม่มารีย์ก็มักถูกตีความว่าเป็นน้ำตาที่หลั่งให้กับบาปของมนุษยชาติ นอกจากนี้ในคัมภีร์ไบเบิลยังมีการระบุถึง The Seven Sorrows of Mary หรือ ‘ความโศกเศร้าเจ็ดประการของพระแม่มารีย์’ ซึ่งกล่าวถึงเจ็ดเหตุการณ์ในชีวิตบนโลกมนุษย์ที่ทำให้พระแม่มารีย์ต้องหลั่งน้ำตา โดยหนึ่งในนั้นคือเหตุการณ์ตรึงกางเขนของพระเยซู ทำให้พระแม่มารีย์มีอีกชื่อหนึ่งว่า ‘Our Lady of Sorrows’ หรือพระแม่แห่งความทุกข์

การโอบอุ้มพระแม่มารีย์ผู้โศกเศร้าในฉากนี้ ในแง่หนึ่ง จึงอาจสื่อถึงแมสเสจเรื่องเพื่อนหญิงพลังหญิงหรือ ‘Women Supporting Women’ เราเห็นถึงความทุกข์ของเพื่อนสาว และเราจะไม่ปล่อยให้เพื่อนสาว (ต่อให้เป็นถึงพระแม่มารีย์ก็ตาม) ต้องโศกเศร้าเพียงลำพัง

จับมือเหล่าเพื่อนสาว เพื่อนจะเทย เพื่อนแซฟฟิก สร้างโลกใหม่ที่ปลอดชายแทร่!

ดังที่กล่าวไปแล้วว่าแมสเสจสำคัญของเอ็มวีนี้คือการประกาศความอหังการของเหล่านางฟ้าเซราฟิมผู้เป็นบริวารของพระเจ้า และการลุกขึ้นมายึดครองโลกที่พระเจ้าเพศชายเป็นใหญ่ สร้างศาสนาใหม่ที่ผู้หญิงเป็นพระเจ้าองค์ใหม่ หากแต่โลกใหม่ที่ผู้หญิงครอบครองนี้ก็ไม่ใช่แค่โลกของหญิงแท้ หญิงสเตรจ แต่ในโลกนี้ยังรวมคอมมูนิตี LGBTQ+ เข้ามาด้วย โดยเฉพาะเหล่าแซฟฟิกหรือเลสเบียนทั้งหลาย!

สัญลักษณ์แซฟฟิกหรือเลสเบียนปรากฏให้เห็นได้ทั่วไปในเอ็มวีนี้ ตั้งแค่พืชพรรณที่เลื้อยเข้าครอบครองพื้นที่โบสถ์ในตอนต้น ดังที่รู้กันดีว่าสัญลักษณ์สำคัญที่มักถูกใช้นำเสนอตัวตนหรือพื้นที่ของชาว LGBTQ+ ก็คือพื้นที่ป่าและธรรมชาติที่ห่างไกลจากสายตาจับจ้องจากกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ของพื้นที่เมือง ดูได้จากหนังและวรรณกรรม LGBTQ+ หลายเรื่ิองที่มักใช้พื้นที่ป่าและธรรมชาติเป็นพื้นที่ฉากหลังในการเปิดเผยตัวตนของตัวละครเกย์และเลสเบียน เช่น Brokback Mountain, When Marnie Was there, Portrait of A Lady on Fire, Call Me By Your Name ฯลฯ

(ภาพ Nymphs Listening to the Songs of Orpheus โดย Charles François Jalabert)

(ภาพ Nymphs Listening to the Songs of Orpheus โดย Charles François Jalabert)

หรือแม้กระทั่งเทพีแห่งการล่าสัตว์อย่าง อะธีนา ก็ถูกมองว่าเป็นเทพีแห่งความเป็นหญิง เพื่อนหญิงพลังหญิง และอาจรวมถึงความสัมพันธ์แบบหญิงรักหญิงด้วย เพราะนอกจากจะเป็นเทพีแห่งพรหมจรรย์ที่ไม่ยอมแต่งงานมีคู่ครองแล้ว เธอยังมักท่องไปในป่าพร้อมกับบริวารและนางไม้แห่งพงไพรอย่างอิสรเสรี

(ภาพ Diana and her nymphs โดย Peter paul rubens - jan brueghel the elder)

(ภาพ Diana and her nymphs โดย Peter paul rubens - jan brueghel the elder)

ยังไม่รวมถึงฉากท้าทายระบบแซฟฟิกอย่างฉากการหวีผมของคู่ซากุระและคาซึฮะ ซึ่งแค่การหวีผมก็เป็นสัญลักษณ์สื่อนัยถึงความสัมพันธ์ของคู่หญิงรักหญิงอยู่แล้ว เพราะตั้งแค่อดีตมา การให้หวีเป็นของขวัญระหว่างเพื่อนหญิงไม่เพียงถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ที่สื่อถึงความผูกพัน (bonding) ระหว่างผู้หญิงด้วยกัน แต่ในทางวรรณกรรม การปล่อยผมยังถูกตีความถึงเรื่องความเย้ายวนและการปลดปล่อยทางเพศ อีกทั้งการหวีผม (ไม่ว่าจะเป็นในคู่ชายหญิงหรือหญิงหญิง) ก็ยังสื่อถึงการการกระตุ้นเร้าทางเพศ ไปจนถึงการเล้าโลม (Foreplay) ด้วย

การจัดองค์ประกอบในฉากของซากุระกับคาซึฮะ รวมไปถึงฉากเล่นผ้าและฉากโล้ชิงช้าของน้องอึนแช ยังทำให้นึกถึงภาพวาดของเหล่านางไม้และนางพราย (nymph) ซึ่งก็เป็นกลุ่มผู้หญิงที่ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันในป่าและธรรมชาติ อีกทั้งยังชวนให้นึกถึงบรรดาภาพวาดเหล่าหญิงสาวบนเกาะเลสบอส (Lesbos) ที่เหล่าจิตรกรยุค Pre-Raphaelite ถ่ายทอดผ่านการจินตนาการถึงชุมชนบนเกาะห่างไกล ที่ผู้หญิงในยุคกรีกโบราณได้มาใช้ชีวิตอยู่ร่วมกัน โดยศิลปินในยุคนั้นก็ได้แรงบันดาลใจในการวาดภาพเหล่านั้นมาจากบทกวีของ ‘แซฟโฟแห่งเกาะเลบอส’ (Sappho Of Lesbos) กวีหญิงยุคกรีกโบราณผู้แต่งบทกวีพรรณาความงามของสตรี รวมไปถึงการนำเสนอภาพชีวิตประจำวันของสาว ๆ บนเกาะ และการแสดงออกถึงความรักที่เธอมีให้กับพวกนาง เช่น ในบทกวี ‘Ode to Aphrodite’ ที่เธอเล่าถึงเรื่องราวของหญิงสาวนางหนึ่งผู้กำลังอ้อนวอนขอพรต่อเทพีอโฟรไดที เพื่อให้พระนางช่วยดลบันดาลให้เธอสมหวังในความรักกับหญิงสาวที่เธอหลงใหล (อ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://groundcontrolth.com/blogs/sappho-of-lesbos)

(ภาพ Sappho and Erinna in a Garden at Mytilene โดย Simeon Solomon)

(ภาพ Sappho and Erinna in a Garden at Mytilene โดย Simeon Solomon)

(ภาพ Sappho โดย Amanda Brewster Sewell)

(ภาพ Sappho โดย Amanda Brewster Sewell)

ในฉากท้าย ๆ ที่อึนแชนั่งอยู่บนชิงช้าดอกกุหลาบ และถูกหนามกุหลาบบาดมืดจนเลือดไหล ยังทำให้นึกถึงตำนานเกี่ยวกับเลือดและดอกกุหลาบในปกรณัมกรีก นั่นก็คือตำนานความรักระหว่างเทพบุตร อะโดนิส และเทพีแห่งความรักอย่างอะโฟรไดที เมื่ออะโดนิสถูกหมูป่าขวิดจนถึงแก่ชีวิตและสิ้นใจในอ้อมแขนของอะโฟรไดที เลือดของเทพบุตรรูปงามและน้ำตาของเทพีแห่งความรักได้ตกลงสู่พื้นและก่อเกิดเป็นดอกกุหลาบสีแดง ซึ่งกวีที่แต่งเรื่องราวเกี่ยวกับอะโดนิสและอะโฟรไดทีก็ไม่ใช่ใครอื่นนอกจากแซฟโฟแห่งเกาะเลสบอส จนทำให้อะโฟรไดทีถือเป็นเทพีแห่งชาวเควียร์ด้วย

และหากมองว่าฉากอึนแชบนชิงช้านี้ได้แรงบันดาลใจมาจากหนึ่งในภาพวาดที่ดังที่สุดในโลกอย่าง The Swing (Fragonard) โดย Jean-Honoré Fragonard ฉากนี้ก็อาจสื่อนัยถึงการที่ศาสนาใหม่ที่สาว ๆ LE SSERAFIM นำมาเผยแพร่นั้นก็คือ ‘อิสระแห่งใจปรารถนา’ เพราะภาพ The Swing มักถูกหยิบยกมาตีความหมายเรื่องความปรารถนาและอิสระทางเพศ เนื่องจากหญิงสาวในภาพกำลังปล่อยตัวปล่อยใจให้กับความสนุกสนานจนไม่สนว่ารองเท้าจะหลุด ซึ่งการที่หญิงสาวเผยข้อเท้าถือเป็นเรื่องที่ฉาวโฉ่มากในยุคนั้น

ในฉากสุดท้ายที่สาว ๆ เต้นอยู่ในซากโบสถ์ที่มีหิมะโปรยปราย โดยที่ข้างบนคือท้องฟ้าดำทะมึนและสายฟ้าฟาด นี่อาจเป็นฉากที่บ่งบอกถึงบทสรุปการทำลายโลกเก่าเพื่อสร้างโลกใหม่ …โลกที่ชายแท้ไม่ใช่พระเจ้าอีกต่อไป โลกที่พระเจ้าองค์ใหม่คือผู้หญิง

และหากจะมองว่า ฉากนี้คือฉากวันสิ้นโลกและฉากวันพิพากษาลงทัณฑ์จากพระเจ้า สาว ๆ ที่กำลังวาดลวดลายหลังทำลายโบสถ์ของพระเจ้าไปแล้วก็ดูจะหาแคร์ไม่ เพราะไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ต่อให้ต้องเผชิญหน้ากับความพิโรธของพระเจ้า เราก็ไม่หวั่น เพราะ “Damn, I really make it look easy”