GC_MultiCover_lgbt artists.jpg

LGBTQ+ Artists You Should Know ฉลองให้กับความหลากหลายทางเพศกับ 8 ศิลปิน LGBTQ+ ในประวัติศาสตร์ศิลปะ

Post on 1 June

เดือนมิถุนายนของทุกปีถือเป็นเดือนแห่งการฉลองให้กับความหลากหลายทางเพศของมนุษยชาติ หรือ Pride Month เทศกาลนี้จัดขึ้นครั้งแรกในปี 1970 เพื่อรำลึกและเป็นเกียรติแก่การจลาจลสโตนวอลล์เมื่อปี 1969 ในแมนฮัตตัน ที่ตำรวจเข้าจับกุมกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศที่รวมตัวกันจนเกิดการประท้วงต่อต้านเพื่อเรียกร้องความเท่าเทียมทางเพศ

เหตุการณ์ครั้งนั้นถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญให้กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศมีอิสรภาพและเสรีภาพเช่นเดียวกับเพศหญิงและชายอย่างเท่าเทียม นอกจากผู้คนทั่วไปจะแสดงออกถึงเพศวิถีของตนเองได้อย่างอิสระมากขึ้น กฎหมายต่าง ๆ ก็เริ่มได้รับการแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม

ในโอกาสแห่งความเท่าเทียมนี้เอง GroundControl จึงอยากชวนทุกคนรู้จักกับศิลปินในประวัติศาสตร์ศิลปะที่ทั้งเปิดเผยอย่างตรงไปตรงมาและเก็บงำเป็นความลับว่าพวกเขาเป็นผู้มีความหลากหลายทางเพศ หลายคนใช้ความพร่าเลือนและความเลื่อนไหลของเพศเป็นวัตถุดิบสำคัญในการสร้างผลงาน ขณะที่หลายคนก็ใช้อัตลักษณ์ของพวกเขาค้นหาความหมายของตัวตนและเพศหลากหลายในสังคม

Kieth Haring

Kieth Haring คือศิลปินป๊อปอาร์ตชาวอเมริกันที่พัฒนาผลงานจากจากวัฒนธรรมย่อยของกราฟฟิตีในนิวยอร์กช่วงปี 1980 จะว่าไป เขาคือศิลปินของผู้คนแท้ ๆ เพราะหลังจากเข้าเรียนเพื่อเป็นศิลปินเชิงพาณิชย์ในพิตต์สเบิร์กตามคำขอของพ่อได้ไม่นาน เขาก็ลาออกเพื่อมาเรียนจิตรกรรมที่ School of Visual Arts ซึ่งเขาได้รู้จักกับชุมชนศิลปะใต้ดิน

Haring เริ่มพัฒนาสไตล์งานของตัวเองในระบบรถไฟใต้ดิน เขาใช้ชอล์กสีขาววาดทับพื้นที่โฆษณาว่างเปล่าเพราะเห็นถึงข้อดีของพื้นที่สาธารณะในการสื่อสารประเด็นที่ตั้งใจไม่ว่าจะการต่อต้านการแบ่งแยกสีผิว ประเด็นเรื่องเพศ กระทั่งการทำให้ศิลปะเป็นของทุกคนอย่างแท้จริง

น่าเสียดายที่เขาสร้างสรรค์ผลงานให้โลกใบนี้ได้เพียงไม่นาน เพราะในปี 1988 Haring ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคเอดส์ ตั้งแต่ที่เขารับรู้อาการของตัวเอง Haring ก็เน้นสร้างสรรค์งานศิลปะเกี่ยวกับการมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัย การตระหนักรู้เกี่ยวกับเอชไอวีและเอดส์ ทั้งหนึ่งปีก่อนที่เขาจะเสียชีวิต Haring ก็ยังก่อตั้งมูลนิธิ Keith Haring เพื่อสนับสนุนเด็กด้อยโอกาสและองค์กรด้านโรคเอดส์ซึ่งยังคงดำเนินการถึงปัจจุบัน

Tove Jansson

“ฉันตกหลุมรักคนๆ หนึ่งเสมอ บางครั้งคนนั้นก็เป็นผู้ชาย และบางครั้งก็เป็นผู้หญิง แต่สิ่งสำคัญคือฉันตกหลุมรักคนๆ นั้น” – Tove Jansson

ถ้าใครเป็นแฟนคลับหนังสือเด็กชื่อดังอย่าง Moomins ก็คงจะรู้จักชื่อของ Tove Jansson เป็นอย่างดี เพราะเธอคือนักเขียนและนักวาดภาพประกอบชาวฟินแลนด์ผู้ให้กำเนิดหนังสือเด็กเล่มนี้

พ่อและแม่ของเธอต่างก็เป็นศิลปินด้วยกันทั้งคู่ จึงไม่แปลกใจหาก Jansson จะได้เข้าเรียนในสถาบันศิลปะหลายแห่ง ในห้วงเวลาที่ร่ำเรียนนี้เองที่ทำให้เธอได้พบกับ Ida Helmi Tuulikki Pietilä ศิลปินหญิงที่กลายมาเป็นคู่ชีวิตของเธอ ทั้งยังเป็นคนแนะนำให้ Jansson วาดตัวละคร Too-Ticky สาวน้อยลักษณะทอมบอยที่เป็นเพื่อนแสนดีของครอบครัว Moomins

นอกจากนั้น ตัวละครอย่าง Thingumy และ Bob ใน Moomins ก็ยังว่ากันว่าเป็นตัวละครที่แสดงให้เห็นถึงความรักระหว่างเธอและ Vivica คู่รักในความลับช่วงแรกของชีวิต เพราะตัวละครทั้งสองมักจะพูดภาษาลับของตัวเอง ซึ่งเป็นสิ่งที่ Tove และ Vivica ทำในจดหมายที่เขียนถึงกัน

David Hockney

คนที่จะไม่พูดถึงไม่ได้เลยคือ David Hockney ศิลปินป๊อปอาร์ตชาวอังกฤษที่ปัจจุบันอาศัยอยู่ที่นอร์มังดี และยังคงสร้างสรรค์งานศิลปะอย่างไม่หยุดหย่อน

Hockney เปิดเผยตัวเองมาตลอดตั้งแต่เด็กว่าเขาเป็นเกย์ ผลงานของเขาหลายชิ้นทีเดียวที่แสดงให้เห็นถึงความพร่าเลือนเรื่องเพศของเขา โดยเฉพาะในยุคก่อนที่เขาจะวาดภาพทิวทัศน์แสนสดใสที่คนหลงใหลในปัจจุบัน ช่วงนั้นเขาวาดภาพคู่รักผู้ชายอาบน้ำด้วยกัน บ้างก็วาดภาพชายร่างเปลือยในสระว่ายน้ำในแคลิฟอร์เนียที่ซึ่งเขาเป็นอิสระจากคำนิยามของสังคมทั้งปวง และภาพที่ดังสุด ๆ ก็คือภาพที่เขาและแฟนหนุ่มที่เพิ่งเลิกรากันไปอยู่ในสระน้ำเดียวกัน แต่ต่างคนต่างก็มีเส้นทางที่ไม่เหมือนกัน

คนรักในปัจจุบันของ Hockney คือ Jean-Pierre Gonçalves de Lima ซึ่งยังคงทำงานร่วมกับ Hockney ในสตูดิโอของเขาอยู่

Andy Warhol

Andy Warhol เกิดในครอบครัวผู้อพยพชาวสโลวาเกีย ตั้งแต่เด็กเขามักสวมใส่เสื้อผ้าของแม่และไม่ออกไปเล่นแบบเด็กผู้ชายคนไหนแต่มักหลงใหลการวาดรูปผีเสื้อและดอกไม้ที่บ้านมากกว่า เขาจึงถูกพ่อและพี่ชายล้อเลียนเรื่องเพศตั้งแต่ยังเด็กและดูเหมือนว่าการถูกกดทับตรงนี้จะทำให้ Warhol ไม่เคยออกมาบอกตรง ๆ ถึงเพศวิถีของตนเอง

แต่ถึงอย่างนั้น ใคร ๆ ต่างก็รู้ว่าเขาเข้าร่วมชุมชนเกย์ในนิวยอร์กมาตั้งแต่เริ่มต้นการทำงาน ภาพวาดจำนวนมากในช่วงทศวรรษแรก ๆ ก็พรรณนาถึงรูปร่างผู้ชายแสนเย้ายวน เรียกได้ว่าผลงานของเขาไม่เพียงแสดงออกให้เห็นความเป็นเควียร์ในตัว Warhol อย่างหลากหลายมิติ แต่เขายังใช้ความเป็นเควียร์และสิ่งที่พบเห็นจากชุมชนที่คลุกตัวอยู่มาสร้างสรรค์เป็นศิลปะ

ในแง่หนึ่ง เราอาจจะมองว่า Warhol เป็นตัวแทนของศิลปิน LGBTQ+ ที่พยายามทดลองสร้างงานเพื่อชุมชนของตนเองก็ได้ แต่อีกหลายคนก็กล่าวว่า Warhol รับบทเป็นผู้ที่ได้รับการปลดปล่อยจากเหตุจลาจลสโตนวอลล์มากกว่าที่จะเป็นนักเคลื่อนไหว เพราะหลายครั้งทีเดียวที่เขาปฏิเสธการสร้างงานศิลปะเพื่อรณรงค์โรคเอดส์ แม้ว่าเพื่อนศิลปินของเขาหลายคนจะเสียชีวิตไปด้วยโรคนี้

บ้างก็ว่าเพราะเขามีศรัทธาในคาธอลิกมากและก็กลัวโรคเอดส์ที่เขาเรียกว่า ‘มะเร็งเกย์’ มาก เพราะคนรักคนสุดท้ายในชีวิตของ Warhol อย่าง Jay Gould ก็เสียด้วยโรคนี้ ซึ่ง Warhol ก็ยังบอกสาวใช้ให้ซักล้างเสื้อผ้าและของใช้ของเขาแยกจากคนรัก

ถึงอย่างนั้น นักวิจารณ์หลายคนก็บอกว่าอาจจะเพราะว่า Warhol ก็ต้องการเป็นเพียงศิลปินคนหนึ่งที่สร้างสรรค์งานศิลปะเช่นเดียวกับศิลปินทั่วไป เขาไม่ได้อยากถูกจำกัดและจัดวางไว้ให้อยู่แต่ในศิลปิน LGBTQ+ นั่นเอง

Gilbert & George

ก่อนที่ทั้ง 2 คนจะมาเจอกันจนเป็นคู่รักศิลปินที่อยู่ร่วมกันยาวนานหลายทศวรรษ Gilbert Prousch เริ่มศึกษาศิลปะที่ Sëlva School of Art ในอิตาลี Hallein School of Art ในออสเตรียและ Akademie der Kunst ประเทศเยอรมันก่อนจะย้ายไปอังกฤษ ส่วน George Passmore เกิดที่อังกฤษและเข้าเรียนศิลปะที่ Dartington College of Arts และ Oxford School of Art

ทั้งสองพบกันครั้งแรกเมื่อวันที่ 25 กันยายน 1967 จากวิชาประติมากรรมที่ Saint Martin's School of Art เพราะ George เป็นคนเดียวที่เข้าใจภาษาอังกฤษที่ค่อนข้างแย่ของ Gilbert ก่อนที่จะย้ายมาอยู่ร่วมกันในบ้านสมัยศตวรรษที่ 18 ใน 1 ปีต่อมา แต่เพิ่งจะแต่งงานกันเมื่อปี 2008

นอกจากทั้งคู่จะแต่งตัวเหมือนกันและหลงใหลการเดินชมวิวด้วยกันแถบลอนดอนตะวันออกอยู่เสมอ พวกเขายังทำงานศิลปะร่วมกันในนามศิลปินเดี่ยว Gilbert & George ที่มีสีสันฉูดฉาดและมักจะใช้ภาพตัวเองหรือชายหนุ่มแถวละแวกนั้นมาสร้างสรรค์เป็นผลงานที่เป็นรูปธรรมมากขึ้นเพื่อสื่อสารประเด็นที่ขัดกับบรรทัดฐานสังคม โดยมักจะเป็นศิลปะที่ต่อต้านชนชั้นสูงเพราะพวกเขาเชื่อว่าศิลปะเป็นของทุกคน และไม่ว่าใครก็ตามก็ชื่นชมงานศิลปะได้

ศิลปะและชีวิตกลายเป็นหนึ่งเดียว และเราเป็นผู้ส่งสารแห่งวิสัยทัศน์ใหม่ ในตอนนั้นเองที่เราตัดสินใจว่าเราเป็นศิลปะและชีวิต ทุกการสนทนากับผู้คนกลายเป็นศิลปะ และยังคงเป็นอยู่

Marie Høeg & Bolette Berg

Marie Høeg คือช่างภาพชาวนอร์เวย์เจียนที่มีส่วนสำคัญในการเรียกร้องสิทธิ์ของผู้หญิง เธอร่วมกับคนรักอย่างช่างภาพหญิงที่มีอายุน้อยกว่า 5 ปี ที่ไม่ค่อยจะออกกล้องเท่าไหร่อย่าง Bolette Berg ก่อตั้งสตูดิโอโฆษณา Berg & Høeg ในปี 1895 ที่ซึ่งถูกใช้เป็นสถานที่พบปะของนักเคลื่อนไหวเพื่อผลักดันให้ผู้หญิงได้รับสิทธิ์ให้ออกเสียงเลือกตั้ง

ในช่วง 1980 มีการค้นพบกล่องใบหนึ่งที่บ้านฟาร์มที่ทั้งคู่เคยอาศัยอยู่ร่วมกัน โดยมีการระบุคำว่า Private ไว้บนหน้ากล่อง ซึ่งเมื่อเปิดดูก็พบภาพถ่ายกระจกสะท้อนภาพช่วงเวลาส่วนตัวที่ทั้งคู่ถ่ายกันเอง โดยหนึ่งในนั้นก็คือภาพทั้งคู่ขณะสูบบุหรี่ ซึ่งในช่วงยุคสมัยที่ทั้งคู่มีชีวิตอยู่นั้น สังคมยังไม่ยอมรับการที่ผู้หญิงสูบบุหรี่

หลังจากย้ายไปอีกเมืองหนึ่ง ทั้งคู่ยังก่อตั้งสำนักพิมพ์เพื่อตัดพิมพ์หนังสือ 3 เล่มที่ว่าด้วยประวัติศาสตร์

Salvador Dali

ช่วงที่ Salvador Dalí ยังเป็นเพียงนักเรียนที่อาศัยอยู่ในชุมชนนักเรียนศิลปิน หรือ Residencia de Estudiantes แห่งกรุงมาดริด เขามีกลุ่มแก๊งเพื่อนศิลปินที่ร่วมหัวจมท้ายในแวดวงด้วยกัน นั่นคือกวีอย่าง Federico García Lorca ผู้กำกับ Luis Buñuel และนักเขียนชื่อดัง Pepín Bello

ในบรรดาเพื่อนทั้ง 4 คน ความสัมพันธ์ระหว่าง Dalí กับ Lorca กลับมีความพิเศษบางอย่าง Lorca ไม่เคยปกปิดความรู้สึกที่เขามีต่อ Dalí แต่ Dalí ก็ไม่เคยแสดงออกอย่างชัดเจนว่าอยากขยับความสัมพันธ์ให้มากกว่าเดิมยกเว้นแต่จดหมายที่เขาเคยเขียนถึง Lorca ที่ดูเหมือนว่าทั้งสองคนจะมีความสัมพันธ์อันลึกซึ้ง

แม้สุดท้ายเพื่อนสนิทคิดไม่ซื่อจะไม่ได้ขยับขยายความสัมพันธ์ไปไหนในที่สาธารณะ ทั้ง Dalí ก็ยังแต่งงานกับภรรยานาม Gala และย้ำชัดว่าเขาไม่ชอบผู้ชาย แต่ในบั้นปลายของชีวิต ก่อนที่เขาจะเกิดอาการหัวใจล้มเหลว เขาก็ได้กล่าวคำสุดท้ายของชีวิตว่า “My friend Lorca.”

Claude Cahun

Claude Cahun คือชื่อของ Lucy Renee Mathilde Schwob ที่เธอตั้งใจเปลี่ยนตั้งแต่อายุได้ 25 ปี เธอคือช่างภาพ ประติมากร และนักเขียนแนวเหนือจริงชาวฝรั่งเศสซึ่งมักจะใช้ตนเองในงานศิลปะเพื่อสื่อสารถึงบุคลิกที่หลากหลายของเธอเพื่อแสวงหาอิสระจากกรอบหรือคำนิยามใด ๆ ของสังคม

ในช่วงยุค 1920 - 1930 Cahun ใช้การถ่ายภาพเพื่อค้นหาตัวตนพร้อม ๆ กับเพื่อแสดงออกถึงความเป็นตัวเอง ภาพถ่ายของเธอมักเป็นภาพตัวเธอเองในลักษณะแบบ ‘ไร้เพศ’ หรือ Androgyne เพื่อพูดถึงเส้นแบ่งของเพศที่สังคมนิยามว่ามันพร่าเลือนเพียงใด

แม้ผลงานจะสุดปัง แต่ก็ถือว่าล้ำสมัยไปหน่อยในยุคนั้น ผลงานของ Cahun เลือนหายไปจากหน้าประวัติศาสตร์เพราะส่วนใหญ่ถูกกองทัพนาซีทำลายไปในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ส่วนที่หลงเหลือมาถึงปัจจุบันก็ได้ถูกนำไปจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ต่าง ๆ ทั่วโลกในฐานะ Queer Photograph ยุคแรก ๆ ของประวัติศาสตร์

อ้างอิง : 

haring
queerportraits
dailyartmagazine
warhol
nypost
steemit
makingqueerhistory
theartstory