Living Another Future เรื่องเล่าชายขอบกับความมัวเมาของคนในขอบที่พาโลกมาถึงจุดนี้

Post on 1 July

ผู้หญิงมุสลิมสวมคอร์เซ็ต คนจรที่มีปีก ทาสแอฟริกันในเหมืองร้าง พระพุทธรูปที่มีใบหน้าเป็นแรด ศพชาวเมียนมานับร้อยที่ซ้อนทับไปกับภาพ Guernica ของปาโบล ปิกาโซ ไปจนถึง ‘โซฟอน’ ตัวละครซูเปอร์คอมพิวเตอร์จากซีรีส์ 3 Body Problem ฯลฯ คือบางส่วนที่เราจะได้พบจากนิทรรศการ ดำรงในการณ์อื่น (Living Another Future) ที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยใหม่เอี่ยม เชียงใหม่ นิทรรศการที่เล่าถึงตัวละครของทั้งคนวงในและวงนอกของสังคม (และนอกโลก) จากในอดีตและปัจจุบัน ซึ่งพวกเขาเหล่านี้เป็นภาพแทนของกิจกรรมของมนุษย์อันหลากหลายที่มีส่วนในการกำหนดอนาคตที่พวกเราอาจเดินไปเจอในไม่ช้า และใช่ ถ้าอ่านจากน้ำเสียงส่วนใหญ่ของตัวละคร, มันไม่ใช่อนาคตที่ชวนให้รื่นรมย์สักเท่าไหร่

จัดแสดงบริเวณชั้น 1 ของพิพิธภัณฑ์ นิทรรศการประกอบไปด้วยผลงานของศิลปิน 8 ท่าน จากในอาเซียน จีน แอฟริกา และยุโรป คัดสรรโดยภัณฑารักษ์ โซอี้ บัต (Zoe Butt) ร่วมกับอารียนา ชัยวาระนนท์ และกมลพรรณ ทิวาวงค์ นี่เป็นนิทรรศการที่มีท่าทีตรงไปตรงมาในการพูดถึงสังคมการเมืองตั้งแต่ระดับชนเผ่าไปจนถึงมหภาค ซึ่งบรรจุมวลของเรื่องเล่าอันหนักอึ้งที่อาจต้องใช้เวลาพอสมควรในการรับรส และอาจจะนานกว่านั้นในการใคร่ครวญ แต่นั่นล่ะ ถึงจะเจือด้วยรสขม เรื่องเล่าหลายเรื่องในนี้ก็ฟังสนุกและตรึงเราอยู่หมัดไม่น้อย

โซอี้ บัต ได้แบ่งเรื่องเล่าในนิทรรศการนี้ออกเป็นสองแนวทาง คือ หนึ่ง. เรื่องจากมุมมองของคนชายขอบ และสอง. บทบาทของเรื่องเล่า (เช่น ตำนาน นิทานพื้นบ้าน และความเชื่อทางศาสนา) ที่มีส่วนในการหล่อหลอมวัฒนธรรมและสังคมภาพรวมในปัจจุบัน อย่างไรก็ดี ความที่หลายผลงานมีความเหลื่อมซ้อนในสองประเด็นนี้อยู่ เราจึงขอจัดหมวดหมู่ใหม่ตามความเข้าใจส่วนตัว เพื่อให้เห็นรายละเอียดอันหลากหลายของนิทรรศการ ดังต่อไปนี้

เสียงตะโกนแผ่วเบาของคนชายขอบ

เริ่มที่เมียนมา ดินแดนที่หลากหลายไปด้วยชนเผ่าที่ซึ่งแนวทางการปกครองของรัฐบาลกลางผลักดันให้พวกเขาเป็นคนชายขอบในประเทศตัวเอง ขณะที่ความขัดแย้งทางการเมืองภายในก็เป็นส่วนสำคัญที่ขับไล่ให้ผู้คนหลายคนต้องลี้ภัยและกลายมาเป็นคนชายขอบในประเทศอื่น ขณะเดียวกันด้วยบทบาทของการเป็นเผด็จการทหารของรัฐ ก็ดูเหมือนว่าประเทศทั้งประเทศก็ตกไปอยู่ในพื้นที่ชายขอบของสังคมโลกโดยปริยาย

Burmica (2022) คือผลงานจิตรกรรมขนาดใหญ่ของอุบัติสัตย์ ศิลปินชาวไทยที่หยิบยืมลายเส้น Cubism ใน Guernica หนึ่งในจิตรกรรมมาสเตอร์พีชของ ปาโบล ปิกาโซ มาใช้เล่าเรื่องในมุมมองตัวเองอย่างแหลมคม ในขณะที่ปิกาโซวาด Guernica ในปี 1937 เพื่อตีแผ่ความเหี้ยมโหดจากการสังหารหมู่ชาวเมืองเกร์นิกาในแคว้นบาสก์ระหว่างสงครามกลางเมืองสเปน อุบัติสัตย์ก็วาดเบอร์มิก้า (Burmica) เพื่อบอกเล่าความขัดแย้งอันเรื้อรังกว่า 1,000 ปีของประเทศเพื่อนบ้านอย่างเมียนมา เขาใช้ภาพเขียนในประวัติศาสตร์และภาพข่าวในดินแดนเพื่อนบ้านมาเป็นต้นแบบ ความตายจากการสังหารหมู่ต่างเวลาและวาระถูกซ้อนทับกันพัลวันและแยกไม่ออก จากสงครามในอาณาจักรโบราณ สู่ยุคอาณานิคมอังกฤษ และวัฏจักรความขัดแย้งจากรัฐประหารในรัฐสมัยใหม่ของเมียนมา ฯลฯ Burmica ทำหน้าที่ประหนึ่งอนุสรณ์แห่งความทรงจำอันขมขื่น การละเมิดสิทธิมนุษยชน และความรุนแรงที่ไร้เหตุผลในภาพใหญ่ ซึ่งเป็นเรื่องน่าเศร้า ที่มันกลายเป็นเรื่องสามัญอันขำขื่นที่ยังคงเกิดขึ้นในปัจจุบัน

มาต่อกันที่คนชายขอบจากโลกทุนนิยม Winged (2020) คือผลงานของศิลปินไทยอีกคนที่ถูกเลือกมาจัดแสดง นี่เป็นซีรีส์ภาพถ่ายของ แดนสรวง สังวรเวชภัณฑ์ ที่พาไปสำรวจชีวิตของกลุ่มคนที่ถูกการพัฒนาสมัยใหม่ในกรุงเทพฯ ทิ้งไว้ข้างหลัง และบีบให้พวกเขาต้องย้ายจากพื้นที่ใจกลางเมืองไปหารายได้ประทังชีวิตตามพื้นที่ชายขอบนอกเมือง แดนสรวงถ่ายรูปของกลุ่มคนไร้บ้าน - อดีตนักกีฬาพาราลิมปิกที่ยังชีพด้วยการเก็บขยะ ชายชาวมุสลิมที่เลี้ยงชีพด้วยการเลี้ยงวัวในพื้นที่ชานเมือง ไปจนถึงหญิงสาวสวมหน้ากากออกซิเจนท่ามกลางกองขยะและซากศาลพระภูมิ เป็นอาทิ โดยตัวละครทั้งหมดถูกประดับด้วยโครงสร้างที่ประกอบขึ้นจากกิ่งไม้รูปร่างคล้ายปีก สร้างภาพสะท้อนของการโผบินสู่อิสระ - เทวดาที่มีปีกแต่ไร้ขนผู้เฝ้าฝันถึงคุณภาพชีวิตที่ดีท่ามกลางโลกที่ไม่เคยใจดีกับพวกเขา

Preah Kunlong (2017 - 2019) ของ คไว สัมนาง (Khvay Samnang) ศิลปินชาวกัมพูชา คืองานจัดวางหน้ากากวิญญาณสรรพสัตว์ 11 อัน คู่กับวิดีโอ 2 จอความยาว 18 นาที ถ่ายทอดการร่ายรำในป่าลึกของศิลปินนาฏศิลป์ผู้สวมหน้าหน้ากากวิญญาณสัตว์ นี่คือผลงานที่นำเสนอทั้งภูมิทัศน์ของผืนป่าอันอุดมสมบูรณ์ในหุบเขาอาเรง จังหวัดเกาะกง และจิตวิญญาณของชาวชอง ชนเผ่าที่อาศัยอยู่ในผืนป่าแห่งนี้มาหลายชั่วอายุ ในปี 2017 คไวมีโอกาสไปใช้ชีวิตร่วมกับชาวชอง พร้อมกับเรียนรู้วิธีการใช้ชีวิตและความเชื่อที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อให้ชนเผ่าสามารถอยู่กับผืนป่าอย่างยั่งยืน ภายใต้เงื้อมเงาคุกคามจากโครงการจัดสร้างเขื่อนพลังน้ำเชยอเร็ง (Cheay Areng Hydropower Dam) ของรัฐบาล ที่แม้จะถูกระงับไว้ชั่วคราวจากเสียงต่อต้านของภาคประชาชน แต่หากเขื่อนนี้ถูกสร้างขึ้น ชาวชองนับพันชีวิตเหล่านี้ก็ต้องย้ายถิ่นฐาน เช่นเดียวกับผืนป่าที่นับว่าเป็นหนึ่งในป่าที่มีความหลากหลายทางชีวภาพมากที่สุดในภูมิภาคอาเซียนที่จะไม่มีวันเหมือนเดิม

ไวรัสจากความเชื่อของเรา

เรื่องเล่าอีกชุดที่ปรากฏชัดในนิทรรศการนี้ คือเรื่องเล่าอันเกิดจากความเชื่อหรือความคิดอันมัวเมาของผู้มีอำนาจ ซึ่งส่งผลกระทบอันเลวร้ายต่อทั้งคนหมู่มากและทรัพยากรธรรมชาติ Empty Forest (2017) ของ ตวน แอนดรูว์ เหงวียน (Tuấn Andrew Nguyễn) ศิลปินชาวเวียดนาม มีประเด็นว่าด้วยผลกระทบจากกิจกรรมของมนุษย์ที่เกิดขึ้นในธรรมชาติเช่นเดียวกับงานของคไว สัมนาง หากมีต้นตอที่ต่างออกไป ตวนพูดถึงค่านิยมอันป่วยไข้ของชาวเวียดนามและชาวจีนที่เชื่อว่า “นอแรด” มีสรรพคุณในการรักษาโรคครอบจักรวาล จนนำมาสู่การรุกล้ำผืนป่าเพื่อไล่ล่าแรดชวาเพื่อนำนอไปทำยา จนพวกมันใกล้สูญพันธุ์ My Ailing Beliefs Can Cure Your Wretched Desires คือวิดีโอสารคดีกึ่งเรื่องแต่งที่บอกเล่าบทสนทนาระหว่างวิญญาณของแรดชวาและตะพาบยักษ์แยงซีเกียงตัวสุดท้ายของเวียดนามว่าด้วยแผนการร่วมมือของผองสัตว์สายพันธุ์ในการยุติการกวาดล้างสังหารของพวกมนุษย์

ขณะที่ประติมากรรม The Virus of Our Beliefs หยิบยกรูปแบบมาจากแท่นบูชาเทียมและหัวของแรดชวาที่ไร้นอ (มันถูกตัดออกเพื่อทำเป็นถาดปักธูป) ภายในหัวที่ถูกขุดเป็นโพรงถูกเปลี่ยนให้เป็นที่ตั้งศาลเจ้าขนาดเล็กพร้อมไฟนีออน และมีหัวแรดทองคำมาแทนที่ใบหน้าของพระพุทธรูป ด้วยการวางรูปเคารพปลอมภายในหัวแรด ตวนแสดงให้เห็นว่าความเชื่อของผู้คนต่อนอแรดในฐานะยารักษาโรคนั้นเป็นเรื่องกลวงเปล่า และแทนที่จะเป็นการสักการะบูชาอย่างแท้จริง ความเชื่อเหล่านี้ได้กลายร่างเป็นไวรัสชนิดใหม่ที่กำลังแพร่ระบาดสู่มวลมนุษยชาติ และส่งผลต่อทรัพยากรธรรมชาติอันเป็นหลักประกันของความยั่งยืนของทุกชีวิต

Memory (2023) คือซีรีส์ภาพถ่ายของ แซมมี่ บาโลจี้ (Sammy Baloji) ศิลปินชาวคองโก-เบลเยี่ยม บอกเล่าถึงความขมขื่นของบรรพบุรุษชาวคองโกที่ถูกเจ้าอาณานิคมกดขี่และแสวงหาประโยชน์อย่างไม่เป็นธรรม บาโลจี้รวบรวมภาพถ่ายของเหล่าคนงานเหมืองชาวคองโกในช่วงศตวรรษที่ 19 มาไดคัทและแปะทับลงบนทัศนียภาพของเหมืองและโรงงานทองแดงอันร้างไร้ในยุคปัจจุบัน เรื่องเล่ามุ่งเน้นไปยังกิจการของเจ้าอาณานิคมเบลเยี่ยมที่บังคับให้ชาวคองโกขุดสินแร่จากผืนแผ่นดินมาตุภูมิของพวกเขาเองก่อนจะกอบโกยทรัพยากรทั้งหมดกลับประเทศ เหลือทิ้งไว้เพียงผืนดินว่างเปล่าและไร้ค่า ผลงานชุดนี้ใช่เพียงสะท้อนความละโมบของจักรวรรดินิยมในอดีต แต่ยังสื่อนัยถึงพล็อทที่คล้ายคลึงกันในโลกสมัยใหม่

พล็อทอันคล้ายคลึงดังกล่าวปรากฏอยู่ในงาน Lithium Lake and the Island of Polyphony II (2023) ของ หลิว ชวง (Liu Chuang) ที่พาไปสำรวจผลกระทบจากพฤติกรรมอันไม่รู้จักพอของมนุษย์ในยุคปัจจุบัน โดยหยิบยืมตัวละคร “โซฟอน” (Sophon) จากนิยายไตรภาค Remembrance of Earth’s Past ของ หลิว ฉือซิน (Liu Cixin) นักเขียนชาวจีน (นิยายเล่มแรกในชุดนี้ถูกสร้างเป็นซีรีส์ 3 Body Problem ใน Netflix) ซึ่งหากใครเคยดูซีรีส์นี้จะรู้ว่าโซฟอนคือซูเปอร์คอมพิวเตอร์ที่มนุษย์ต่างดาวส่งมาเพื่อขัดขวางความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ของมนุษย์ ในขณะเดียวกันโซฟอนก็ได้เรียนรู้เรื่องราวของมนุษย์ผ่านสื่อต่างๆ ตลอดประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ และมันได้ตั้งคำถามว่าหากวิวัฒนาการของพวกเราดำเนินไปเช่นนี้ ไม่ช้านานโลกใบนี้ก็จะถึงคราวสูญพันธุ์

วิดีโอ 3 จอภาพ ความยาวเกือบชั่วโมงของหลิว ชวง นำเสนอเหตุการณ์คู่ขนานระหว่างปัจจุบันและอนาคต บอกเล่าถึงกิจกรรมของมนุษย์ในการรีดเค้นทรัพยากรธรรมชาติอย่างหน้ามืดตามัว โดยเฉพาะการขุดแร่ลิเทียมอันเป็นทรัพยากรสำคัญในการผลิตแบตเตอรี่จนส่งผลกระทบต่อแหล่งธรรมชาติขนานใหญ่ ขณะเดียวกันหลิวยังเล่นกับประเด็นชนชายขอบ ด้วยการใช้ภาษาและบทเพลงพื้นบ้านที่ใกล้จะสูญหายของชนเผ่าในประเทศจีน (ชาวมูยา และชาวเย้าฟ้า) มาเป็นเสียงบรรยาย ซึ่งเมื่อพิจารณาว่าภาษาและบทเพลงที่หลิวใช้มาจากชนเผ่าที่ไม่เคยมีอักขระภาษา หากใช้บทเพลงที่มีเนื้อหาสะท้อนวิถีชีวิตที่ผูกโยงกับธรรมชาติเป็นสื่อในการส่งสาร ก็สร้างมิติแห่งความย้อนแย้งกับภูมิทัศน์ของการพัฒนาเทคโนโลยีและกิจกรรมที่แสดงออกถึงวิถีอันก้าวล้ำของมนุษย์ในปัจจุบันได้อย่างน่าสนใจ

การคัดง้างของผู้ไร้อำนาจ

หลิว ชวง ไม่ใช่ศิลปินคนเดียวที่นำมุขปาฐะของคนชายขอบมาเป็นสื่อในนิทรรศการชุดนี้ ผลงานจากหมึกซิลค์สกรีนขนาดใหญ่อย่าง Oriental and African Ceramics (2020) และ Kiln with Islamic Technology (2020) ของ ซาร่า อูฮัดดู (Sara Ouhaddou) ศิลปินชาวโมร็อกโก-ฝรั่งเศส ยังนำเสนอประเด็นนี้อย่างน่าสนใจ ว่าด้วยการคัดง้างการนิยามทางวัฒนธรรมโดยผู้มีอำนาจที่เหนือกว่า ซาร่าได้แรงบันดาลใจในงานชุดนี้มาจากการไปเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ในเมืองมาร์แซย์ และได้เห็นเครื่องปั้นดินเผาที่จัดแสดงในนั้นพร้อมคำบรรยายว่า “เครื่องถ้วยชามแบบตะวันออกและแอฟริกัน” และ “เครื่องถ้วยชามแบบอิสลาม” ซึ่งแตกต่างจากวัตถุจัดแสดงชิ้นอื่น ๆ ที่มาจากยุโรปอันครบถ้วนด้วยข้อมูลอย่างละเอียด

ใช่ว่าการที่ชนเผ่าสักชนเผ่าหนึ่งไม่มีภาษาเขียนจะแปลว่ามรดกจากชนเผ่านั้นๆ ไร้ความหมาย ซาร่าตั้งคำถามถึงบทบาทของพิพิธภัณฑ์ที่มักหมางเมินข้อมูลที่เกิดจากมุขปาฐะ เพลงพื้นบ้าน รอยสัก หรือลวดลายที่ถูกถักทอของชนพื้นถิ่น โดยให้ความสำคัญแต่เฉพาะกับข้อมูลด้านตัวอักษร อย่ากระนั้นเลย ศิลปินจึงประดิษฐ์อักษรขึ้นมาใหม่มาใช้เสีย นั่นจึงเป็นที่มาของผลงานจิตรกรรมขนาดใหญ่ 2 ชิ้นนี้ ที่เธอออกแบบตัวอักษรขึ้นมาใหม่เพื่อตั้งชื่อให้กับเครื่องปั้นดินเผาเก่าแก่ที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์มาร์แซย์ ซึ่งไม่เพียงเป็นการเสียดเย้ยอำนาจที่ผูกขาดองค์ความรู้และเรื่องเล่าจากพิพิธภัณฑ์ แต่ยังเป็นการชวนให้ผู้ชมคิดถึงผลกระทบจากการนิยามความหมายทางวัฒนธรรมโดยกลุ่มผู้ทรงคุณวุฒิกระแสหลักที่แทบไม่ลงทุนเรียนรู้อะไรเกี่ยวกับขนบประเพณีของคนอื่น

ปิดท้ายที่ Bullet-Proof Vest (2007) ของ ไนซ่า ข่าน (Naiza Khan) ศิลปินชาวปากีสถาน-อังกฤษ ที่ชวนสำรวจอำนาจหลักของสังคมผ่านเครื่องแต่งกาย ไนซ่าเติบโตที่การาจีในชุมชนอิสลามอันเคร่งครัด ซึ่งตรึงรัดบทบาทของการเป็นผู้หญิงด้วยฮิญาบและคู่มือ Bahishit Zewar (ข้อปฏิบัติของผู้หญิงอิสลามที่ต้องมีหน้าที่รับใช้สามีเป็นอันดับแรก) ศิลปินนำเสนอชุดรูปถ่ายขาว-ดำของเธอที่สวมฮิญาบทับด้วยคอร์เซ็ตอันเป็นเครื่องแต่งกายสะท้อนความยั่วยวนทางเพศของยุโรปในอดีต รวมถึงสวมชุดเกราะที่ใช้ในการรบในบางภาพ เครื่องแต่งกายที่ขัดแย้งกันอย่างสุดทางสองแบบนี้ ยังถูกผสานเข้าด้วยกันจนเกิดเป็นประติมากรรมชุดเกราะกันกระสุนที่มีรูปแบบคล้ายคอร์เซ็ตจัดแสดงอยู่กลางห้อง อาจมองได้ว่าความลักลั่นของเครื่องแต่งกาย (และวิธีการแต่งกายในรูปถ่ายของซาร่า) สะท้อนมิติอันแตกต่างหลากหลายที่ผู้หญิงสักคนจะสามารถจินตนาการถึงการหลุดพ้นจากกรอบความเชื่อและค่านิยมทางสังคม

To Another Future

เมื่อพิจารณาจากผลงานแต่ละชิ้น จะพบว่าทั้งหมดล้วนสะท้อนพื้นเพและความท้าทายในภูมิภาคที่ศิลปินกำลังเผชิญ ไม่ว่าจะเป็นประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมในกัมพูชาและเวียดนาม ของคไว สัมนาง และตวน แอนดรูว์ เหงวียน บาดแผลจากยุคอาณานิคมที่ยังคงหลอกหลอนชาวคองโกจนถึงทุกวันนี้ของแซมมี่ บาโลจี้ ผลกระทบจากการพัฒนาอย่างไม่สนหมีสนแดดของจีนโดยหลิว ชวง หรือชีวิตของคนชายขอบชานกรุงเทพฯ ของแดนสรวง รวมถึงประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนในเมียนมาที่มีความคล้ายคลึงกับไทยของอุบัติสัตย์ อย่างไรก็ดี ทั้งหมดที่กล่าวมาดูเหมือนว่าศิลปินตั้งใจจะเสียดเย้ยความเพิกเฉยของผู้คนในสังคมหรือสถานการณ์ปัจจุบัน และคล้ายเป็นการแย้มพรายถึงอนาคตที่ดูไม่สดใสเท่าใดนัก อย่างไรก็ดีเมื่อพิจารณาผลงานสองชิ้นที่เหลือของ ซาร่า อูฮัดดู และไนซ่า ข่าน ซึ่งต่างเปล่งน้ำเสียงของการแข็งขืนอย่างมีอารมณ์ขันในพื้นที่ของพวกเธอเอง ไม่แน่ใจว่าเป็นความตั้งใจของภัณฑารักษ์หรือไม่ แต่เมื่องานสองชิ้นนี้ถูกจัดวางในพื้นที่จัดแสดงสองจุดสุดท้ายของนิทรรศการ ก็กลับเติมเต็มเรื่องเล่าที่ภัณฑารักษ์สร้างขึ้นใหม่อย่างน่าสนใจ…

เรื่องเล่าที่ว่าด้วยทางแพร่งระหว่างการที่เราจะอยู่กันไปแบบนี้ กับการลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่างเพื่อการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกในอนาคต และเราคิดว่านี่คือสิ่งที่นิทรรศการนี้ได้ตั้งคำถามกับเราไว้

เรื่อง: จิรัฏฐ์ ประเสริฐทรัพย์
ภาพ: กรินทร์ มงคลพันธุ์