30 ปีที่แล้ว ศิลปินคนหนึ่งเล็งไรเฟิลไปที่คนดู Mel Chin กับเพอร์ฟอร์แมนซ์อาร์ตที่ปลุกโลกศิลปะด้วยปลายปืน

Art
Post on 19 April

(บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของการร่วมมือระหว่าง GroundControl และพันธมิตรสื่อทางศิลปะ Protocinema ผู้เผยแพร่สื่อดิจิทัลด้านศิลปะรายเดือน เพื่อนำเสนอมุมมของของศิลปินที่มีต่อสังคมร่วมสมัย การเมือง วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจ โดยดำเนินการผ่าน Protodispatch ผู้เป็นตัวกลางเผยแพร่ข่าวประจำเดือนให้แก่พันธมิตรในเครือ โดย GroundControl ได้รับเกียรติให้เป็นพันธมิตรสื่อเพื่อเผยแพร่บทความในภาษาไทย ร่วมกับ Artnet.com จากนิวยอร์ก และ Argonotlar.com จากอิสตันบูล เพื่อร่วมกันสร้างโครงข่ายของระบบนิเวศน์ทางศิลปะที่เข้มแข็ง และเพื่อให้ผู้สนใจศิลปะชาวไทยสามารถเข้าถึงได้โดยปราศจากกำแพงด้านภาษา)

ย้อนกลับไปในวันที่ 25 เมษายน 1993 เวลา 1400 (เขียนตามแบบทหาร) ผู้ชมซึ่งประกอบไปด้วยศิลปิน นักวิชาการ และผู้สนใจศิลปะ ได้มารวมตัวกัน ณ แกลเลอรี Dia Center แห่งกรุงนิวยอร์ก เพื่อเข้ารับฟังการบรรยายของ เมล ชิน (Mel Chin) ศิลปินคอนเซปชวลตัวพ่อ ผู้ใช้งานศิลปะในการวิพากษ์ประเด็นสังคมได้อย่างเฉียบแหลมเสมอมา

แต่เพียงไม่กี่วินาทีหลังจากที่ชินเดินขึ้นมาประจำที่โพเดียม เขาก็ก้มลงหยิบปืนไรเฟิล Remington M700 .30-06 ขึ้นมา แล้วเล็งไปยังผู้เข้าร่วมการบรรยายที่ล้วนแต่เป็นปูชนียบุคคลในโลกศิลปะ พร้อมสวมบทบาทเป็นสไนเปอร์จากกองทัพที่ถูกไวรัสที่ชื่อว่า ‘อำนาจ’ เข้าครอบงำร่างกาย ก่อนจะประกาศสารที่ชวนให้เหล่าผู้คนแห่งโลกศิลปะ ไม่ว่าจะเป็น สถาปนิก ศิลปิน หรือนักวิชาการ ให้หันมารับบทเป็นสายลับสองหน้า และทำงานแทรกซึมองคาพยพของสังคมแบบเดียวกับไวรัส ด้วยการหาโอกาสพาตัวเองออกไปเสียจากโลกศิลปะที่คร่ำเคร่งกับกระบวนการทำงานอันซับซ้อนซ่อนความหมาย และการล่ารางวัล แล้วออกไปทำงานศิลปะร่วมกันกับสังคม

ชินเชื่อว่า การรับบทเป็นสายลับสองหน้าของเหล่าศิลปินด้วยการทำงานทั้งในโลกศิลปะชั้นสูงกับพื้นที่ทางสังคมนี่แหละ จะเป็นวิถีทางใหม่ในการต่อสู้กับกระบวนการ ‘จัดระเบียบโลกใหม่’* ซึ่งในอีกแง่หนึ่งได้คืนชีพให้แก่แนวคิดเผด็จการ และทำงานอย่างเงียบงันผ่านฝ่ายการเมืองที่เป็นภัยต่อระบอบประชาธิปไตย

ในวันที่ชินชี้ปืนไปยังผู้ชมนั้น คือวันที่สังคมอเมริกันเพิ่งตระหนักว่า พวกเขากำลังจะเผชิญหน้ากับการกลับมาของไวรัสร้ายที่ชื่อว่า ‘อำนาจ’ ซึ่งมีผู้แพร่เชื้อเป็นรัฐบาลฝ่ายขวาที่เป็นดังร่างทรงกลับมาเกิดใหม่ของลัทธิเผด็จการ (เหตุการณ์ที่ชินยกมาเป็นตัวอย่างของความ ‘บ้าอำนาจ’ ของรัฐบาลอเมริกัน คือเหตุการณ์ ‘การล้อมเวโก’ ที่รัฐบาลส่งกองกำลังเจ้าหน้าที่ไปปิดล้อมอาคารของกลุ่มลัทธิแบรนช์ดาวิเดียนส์ในเมืองเวโก รัฐเท็กซัส ก่อนจะใช้กำลังเข้าจู่โจมจนทำให้มีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก โดยส่วนใหญ่เป็นเด็กและผู้หญิง)

และเพียงเจ็ดปีหลังจากเมล ชิน จ่อหัวผู้ชมด้วยลำปืน สัญลักษณ์แห่งโลกทุนนิยมอเมริกันอย่าง World Trade Center ก็ถูกทำลายลง อันเป็นการส่งสัญญาณให้เชื้อร้ายที่ชื่อว่าเผด็จการกลับมาทำงานอีกครั้งในรูปแบบแนวคิด ‘เสรีนิยมใหม่’ (Neoliberalism) โดยมีตัวอย่างผู้ติดเชื้อรุนแรงคือ จอร์จ ดับเบิลยู. บุช ผู้เปิดฉากสงครามต่อต้านการก่อการร้าย และพากองทัพอเมริกาเดินหน้าสู่สงครามอิรัก

30 ปีหลังจากเพอร์ฟอร์แมนซ์อาร์ตในวันนั้น เมล ชิน กลับมาพร้อมประกาศว่า “นี่คือปี 2023 และเราทุกคนล้วนถูกจ่อหัวด้วยปืนที่มองไม่เห็น” พร้อมส่งข้อความถึงเหล่าสายลับสองหน้าที่เป็นเหล่าศิลปิน ให้ร่วมกันเปลี่ยนกระบวนรบใหม่ เพราะสงครามที่เราต้องต่อสู้ในวันนี้คือสิ่งที่เรามองไม่เห็น เป็นสิ่งที่แทรกซึมอยู่ในตัวเรา และคืบคลานอย่างเงียบงันเข้ามาในชีวิตประจำวันแบบที่เราไม่รู้ตัว

และต่อไปนี้คือสารจากเมล ชิน ที่เราได้รับเกียรติให้นำมาแปลเพื่อเผยแพร่ให้ทุกคนได้รับรู้ร่วมกัน

(*New World Order หรือ การจัดระเบียบโลกโดยประเทศมหาอำนาจ เป็นคำศัพท์ที่เกิดขึ้นในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 โดยมีตัวอย่างชัดเจนเป็นการแทรกแซงการจัดการในประเทศญี่ปุ่น ผู้เป็นผู้แพ้ในสงครามโลกครั้งที่ 2 และอีกครั้งในช่วงสงครามเย็นที่สหรัฐอเมริกาเข้าไปทำสงครามในประเทศแถบเอเชีย เช่น เวียดนาม เพื่อยับยั้งการเติบโตของอุดมการณ์คอมมิวนิสต์ โดยหลังจากที่โซเวียตล่มสลาย New World Order จึงหมายถึงความพยายามของสหรัฐอเมริกาในฐานะมหาอำนาจเพียงหนึ่งเดียว ที่เข้าไปแทรกแซงและควบคุมดินแดนต่าง ๆ ทั่วโลก ทั้งในด้านกองทัพ เศรษฐกิจ และการเมือง โดยความพยายามจัดระเบียบโลกของสหรัฐอเมริกามีความเข้มข้นขึ้นหลังเหตุการณ์ 9/11 ที่ทำให้สหรัฐอเมริกาอ้างความชอบธรรมในการเข้าไปแทรกแซงการเมืองและรุกรานประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะในประเทศแถบตะวันออกกลาง)

Mel Chin

ในปี ค.ศ. 1993 ปืนทางการเมืองที่ไม่มีใครมองเห็น เล็งมาที่หัวของพวกเราทุกคน ผลักดันพวกเราเข้าสู่อนาคตที่ไม่อาจคาดเดา พ่นคำสัญญาตลบแตลงน้ำลายย้อยใส่หน้าคนจน (เมล ชิน ใช้คำว่า
trickle down ซึ่งมีความหมายตรงตัวว่าการไหลย้อย และยังเป็นคำเรียกแนวคิดเศรษฐกิจไหลจากบนลงล่าง หรือ ‘Trickle-down Economics’ ที่เอื้อประโยชน์บางอย่างให้คนรวย เช่น การลดภาษี โดยหวังว่าคนรวยจะลงทุนมากขึ้น จนส่งผลให้เกิดการจ้างงานมากขึ้น) เป็นเวลาเจ็ดปีแล้วนับจากที่ แฟรงก์ แซปปา เตือนเราถึงภัยคุกคามต่อประชาธิปไตยที่มาพร้อมกับการเกิดใหม่ของลัทธิฟาสซิสต์ เวิลด์เทรดเซ็นเตอร์เพิ่งถูกถล่ม และเหตุการณ์ปิดล้อมเวโกกลายเป็นน้ำมันราดกองไฟที่นำมาสู่กลุ่มเมฆทะมึน ลอยอยู่เหนือหัวของพวกเราในรูปของปัญหาการครอบครองปืน การทำสงครามเพื่อศาสนา และการก่อการร้ายในประเทศ เดือนแรกของปี 1993 ยังเป็นจุดเริ่มต้นของรัฐบาลคลินตัน ที่นำมาสู่การลุกฮือของลัทธิเสรีนิยมใหม่

วันที่ 25 เมษายน ค.ศ. 1993 เวลา 1400 น. ผมเล็งปืนไรเฟิลไปที่ผู้ชมที่มารวมตัวกันที่ Dia Center ในเชลซี

ผมพูดกับผู้ชมในฐานะนักลอบสังหารจากกองทัพผู้พยายามทำภารกิจให้ลุล่วง ก่อนที่ผมจะก้มลงหยิบปืนไรเฟิลออกมา ปลดกล้องเล็งกลางคืนออกจากตัวไรเฟิล แล้วกระซิบถ้อยคำใส่ไมโครโฟนซึ่งติดอยู่ที่ลำกล้อง ผมเปล่งเสียงออกไปในฐานะของไวรัส HIV ที่กำลังเคลื่อนตัวผ่านเยื่อบุผิวในร่างของผู้ติดเชื้อซึ่งหาได้รู้ตัวว่ากำลังเกิดอะไรขึ้น ก่อนจะพูดบทที่ผมเพิ่งเขียนเพียงไม่กี่ชั่วโมงก่อนขึ้นทำการแสดงนี้

บทที่ผมเขียนขึ้นมานั้นเป็นการสอดแทรกรหัสนัยและการนำเสนอวิถีทางใหม่ เพื่อให้เหล่าเพื่อนสถาปนิก ศิลปิน และนักวิชาการ ได้พิจารณา ผมขอชักชวนให้พวกเราร่วมกันรับบทเป็นสายลับสองหน้า ที่ในบางครั้งก็ละทิ้งรางวัลและกระบวนการทำงานศิลปะแสนเข้าใจยาก แล้วร่วมกันปฏิบัติภารกิจในฐานะหน่วยปฏิบัติการลับที่ทำงานร่วมกับสังคม ในฐานะหน่วยสไนเปอร์ที่ทำงานแทรกซึมแบบเดียวกับไวรัส เราสามารถเข้าถึงหนทางใหม่ในการโต้ตอบกับ "ระเบียบโลกใหม่" ที่ทำงานอย่างลับ ๆ ผ่านการอำพรางตัวในรูปแบบของปฏิบัติการต่อต้านความไม่สงบของรัฐได้
.
นี่คือปี 2023 และปืนที่มองไม่เห็นได้กลับมาจ่อหัวเราอีกครั้ง

(ด้านล่างคือบทพูดในการแสดงครั้งนั้น)

ถอดเสียงและบันทึกการปฏิบัติงานสำหรับการประชุม ECO-TEC New York ที่จัดขึ้นที่ Dia Center for the Arts, 25 เมษายน ค.ศ. 1993

ส่วนที่ 1

  1. หลังช่วงแนะนำตัวจบลง คุณมีเวลา 30 วินาทีในการ… หยิบปืนไรเฟิลเรมิงตัน M700 .30-06 โบลต์แอคชั่น ดัดแปลง (ด้วยการติดไมโครโฟนไร้สาย) กล้องเล็งกลางคืน Raytheon Night Vision ที่ซ่อนอยู่ใต้โต๊ะ โหลดปืนไรเฟิลด้วยกระสุนเปล่า เดินขึ้นโพเดียมและเข้าประจำตำแหน่ง เล็งไปที่เหนือศีรษะของผู้ชมเล็กน้อย และกวาดไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ

  2. กระจายเสียงข้อความเหล่านี้ซ้ำ ๆ ผ่านเทปบันทึกเสียงอันเล็กที่คุณซ่อนไว้ในกระเป๋าเสื้อสูทของคุณ…

ฉันเห็นคุณ และฉันซ่อนตัวเองไว้ใต้เนื้อหนังของฉัน

เดือนเมษายน — เครื่องปรับอากาศและสายลมที่ไม่มีอยู่จริง

ไฟดับทั่วภูมิภาคตอนเหนือเป็นเวลา 5 วัน

เวลา 2 นาฬิกา

ปฏิบัติการที่ความสูง 27 เมตร

กองกำลัง 25 กอง

มีเวลาเพื่อไปให้ถึงหน้าต่าง 43 วินาที

เข้าประจำตำแหน่ง 25 นาที

เล็งไปที่ 3 องศา

ทางออกอยู่ทางทิศตะวันตก

IBS บนแม่น้ำฮัดสัน

แฉลบไปทาง 8 นาฬิกาทางทิศตะวันออก

อุณหภูมิของเครื่องทำความร้อนสำรองสูงขึ้น

ปฏิบัติการแบบไร้หลักฐาน

สภาพแวดล้อมเงียบ

พร้อมปฏิบัติการ

ทำใจให้สงบ

ภารกิจดำเนินต่อไป

  1. ดึงไกปืนไรเฟิล ได้ยินเสียง: “คลิก” เสียงคนพูด: “ยิง”

  2. ปืนถีบตัว

  3. a. ดึง "ปืน" อีกอันออกมา (สว่านมาทิกาไร้สายขนาดเล็กที่ทาสีดำด้านให้ดูเหมือนปืน) ...คลายสกรูที่เชื่อมต่อกล้องเล็งกับปืนไรเฟิล

b. เปิดไมโครโฟน/กล้องเล็ง แล้วพูดตามเสียงจากเทปคลาสเซตต์

ฉันเห็นคุณ ซ่อนอยู่ภายใต้เนื้อหนังของตัวเอง ฉันพร้อมที่จะแทรกซึมเข้าไป

ความหลงใหลของคุณคือเชื้อแพร่ระบาด

ของเหลวเดินทาง

ผ่านเข้าสู่เยื่อเมือก…

เรียงตัวกับเกล็ดเลือดในเส้นเลือดฝอย

และไหลเข้าสู่เส้นเลือดใหญ่

บางส่วนถูกกลืนกินโดยเซลจากภูมิคุ้มกัน

เม็ดเลือดขาวนำทางฉันไป

สู่ข้อต่อเชื่อม

เปลือยเปล่า… ตัวฉันไม่มีอยู่อีกต่อไป

ไวรัสเพิ่มจำนวน

ไซโทพลาซึมเปิดทางต้อนรับ

ไรโบนิวคลีอิกเกี่ยวกระหวัดรัดเป็นริบบิ้นรับขวัญ

ก่อตัวเป็นสารระบบนิวคลีอิก

ก่อร่าง ควบตัว

กลายเป็นโมเลกุลแห่งชีวิต

โครงสร้างโปรตีน

พื้นผิวแยกออก

ผูกมัดและแยกตัวออกจากเซลล์

ความทรงจำของฟาโกไซติกและแอนติบอดีหวนคืนกลับมา…

ภารกิจดำเนินต่อไป

  1. วางไมโครโฟนหรือกล้องเล็งทางไกลลง… อ่านข้อความจากโพเดียม

ข้อความ:
ฉันเห็น (… การทำงานของโรคระบาดแห่งการต่อต้าน)

ผมเริ่มทำการแสดงด้วยการสร้างสองตัวละครที่ล้วนมีความสามารถจบชีวิตของเป้าหมายด้วยความแม่นยำไร้ข้อผิดพลาดเช่นเดียวกัน — หนึ่งคือนักแม่นปืนนาวิกโยธินแปรพักที่หันมาเข้าข้างความสันติ (ผู้มีความแม่นยำในการสังหารเป้าหมายที่ 98% ในระยะ 1,000 เมตร) และอีกตัวละครหนึ่งคือการจำลองเสียงพากย์การเดินทางของไวรัสที่กำลังเข้าครอบงำร่างกายของผู้ติดเชื้อ ทั้งสองตัวละครล้วนเป็นภาพจำลองการครอบงำของ ‘อำนาจ’ ที่มีผู้รับคำสั่งแตกต่างกัน — หนึ่งคือเจ้าหน้าผู้บังคับใช้อำนาจผ่านกองทัพ ในขณะที่อีกหนึ่งคือเชื้อร้าย ที่ก็ใช้วิธีการครอบงำร่างพาหะด้วยลักษณะเดียวกัน ทั้งสองล้วนเข้าครอบงำมนุษย์ภายใต้ความชอบธรรมแห่งการพัฒนาและวิวัฒนาการ นาวิกโยธินมือปืนผู้พร้อมปฏิบัติหน้าที่ และเหล่าสิ่งมีชีวิตเซลเดียว (เช่น ไวรัส แบคทีเรีย) ล้วนทำงานอย่างมีประสิทธิภาพเป็นเลิศเช่นเดียวกัน ทั้งสองล้วนเป็นผู้สร้างสภาพแวดล้อม ที่จะกลายเป็นส่วนหนึ่งและเป็นผลผลิตของโครงสร้างทางจิตวิทยาที่ใหญ่กว่าของสังคม

ผมเขียนถ้อยประกาศเหล่านี้จากการย้อนกลับไปมองผลงานของตัวเอง ซึ่งยังคงทำหน้าที่เป็นทั้งการวิพากษ์การเมืองและเป็นประจักษ์พยานทางเมือง ผมยังเขียนสิ่งนี้จากความล้มเหลวของตัวผมเอง ในการที่จะเรียกร้องให้ผู้กระทำออกมาแสดงความรับผิดชอบ ทั้งในแง่ของการแสดงอารมณ์และการกระทำ ต่อโศกนาฏกรรมและสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในสังคม ผมอยากชวนทุกคนให้มาร่วมกันสอดแนม และร่วมกันพิจารณาหาหนทางในการ ‘ปลุกระดม’ มากกว่าที่จะเป็นผู้เริ่มก่อสงคราม และเพื่อสร้างกระจกสะท้อน มากกว่าที่จะมอบบทสรุปแบบกำปั้นทุบดิน ความปรารถนานี้เองที่ทำให้เป้าหมายของผมยังมั่นคงเสมอมา

อาโตต์ (อาแอนโตนิน อาร์โตด์ — นักเขียน กวี และศิลปินชาวฝรั่งเศสคนสำคัญของขบวนการอาวองการ์ด) ให้ความเห็นไว้ในรวมข้อเขียนชื่อ The Theater and Its Double ว่า

ในงานเขียน City of God นักบุญออกัสตินได้วิจารณ์ถึงความคล้ายคลึงกันระหว่างการทำงานของโรคระบาดซึ่งค่อย ๆ คร่าชีวิตโดยหาได้ทำลายอวัยวะในตัวของผู้ติดเชื้อ เช่นเดียวกับการแสดงละครซึ่งมีอานุภาพในการสร้างความเปลี่ยนแปลงอันลึกลับในห้วงความคิด ที่หาได้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในคนแค่คนเดียว แต่สามารถเปลี่ยนความคิดคนทั้งอาณาจักรได้ โดยไม่ต้องสังหารชีวิตผู้ใด

ในบทละครกรีก Ion โดยยูริพีเดส กล่าวถึง เลือดของปีศาจกอร์กอนสองหยด ที่ "พุ่งออกมาจากเส้นเลือดใหญ่” หยดหนึ่งมีอานุภาพในการรักษาโรคทั้งปวง ในขณะที่อีกหยดคร่าชีวิตมนุษย์ทั้งหมดได้

การที่แพทย์กองทัพของโรงพยาบาล Walter Reed มีมติให้ฉีด GP160 (น้ำหนักโมเลกุลของโปรตีนกลูโค 160 — เป็นความพยายามของกองทัพทหารในการนำวัคซีนต้านเอดส์มาทดลองใช้ในกองทัพ) มาใช้ในคนไข้ทหาร นับเป็นสิ่งที่ต้องยกย่อง (แต่การบังคับฉีดวัคซีนเพื่อจุดประสงค์ด้านการทดลองทางการแพทย์นั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง) แต่การที่ผมก้มหน้าก้มตาบากบั่นทำงานเหมือนลาถึกได้พิสูจน์แล้วว่า ความเปลี่ยนแปลงไม่อาจเกิดขึ้นได้โดยเร็วอย่างใจที่นึก การเปลี่ยนแปลงแบบ Punctuated Equilibrium (‘ดุลยภาพเป็นพัก ๆ’ คือทฤษฎีวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตที่เห็นแย้งกับข้อเสนอของ ชาร์ลส์ ดาร์วิน ที่เชื่อว่าวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตเกิดจากการค่อย ๆ เปลี่ยนแปลงทีละน้อยให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อม และอาศัยระยะเวลาต่อเนื่องยาวนาน แต่ทฤษฎีดุลยภาพเป็นพัก ๆ เชื่อว่า การเปลี่ยนแปลงของสิ่งมีชีวิตเกิดขึ้นอย่างฉับพลันครั้งใหญ่ และการเปลี่ยนแปลงแต่ละครั้งจะสร้างสปีชีส์ใหม่ ๆ ขึ้นมา) ที่เสนอโดยนักบรรพชีวินวิทยาโกลด์และเอลดริดจ์จะไม่มีทางเกิดขึ้นอย่างฉับพลันทันที ตราบใดที่กลุ่มอุตสาหกรรมทหารยังคง “เปิดทำการตามปกติ” จริงอยู่ว่าความพยายามในการเปลี่ยนแปลงของกองทัพในครั้งนี้ถือเป็นเรื่องน่ายกย่อง แต่ในอนาคต มันจะกลายเป็นเพียงเครื่องมือของกลุ่มอนุรักษ์นิยมสุดโต่งรึเปล่า? หรือการแสดงความเปลี่ยนแปลงเพียงครั้งเดียวนี้จะถูกยกขึ้นมาใช้เป็นข้ออ้างซ้ำ ๆ เพื่อบอกว่าพวกเขาเปลี่ยนไปแล้ว แต่ที่จริงก็ไม่ใช่ เหมือนกับตอนที่ริบบิ้นสีเหลืองถูกนำไปผูกบนต้นโอ้ค แล้วสุดท้ายมันกลับค่อย ๆ กลายเป็นสัญลักษณ์ของกลุ่มฟาสซิสต์ หากวัคซีนต้านไวรัสนี้คือสัญญาณแรกของความเปลี่ยนแปลงจริง ๆ เราจะได้เห็นยาฆ่าเชื้อไวรัสที่มีประสิทธิภาพในการต่อสู้กับโรคที่ร้ายแรงกว่านี้ในอนาคตหรือไม่? การเสแสร้งทำเป็นเปลี่ยนแปลงนี้จะได้รับการสนับสนุนโดยสัญญาประชาคมปลอม ๆ อีกหรือเปล่า?

สุดท้ายแล้ว ผมคงได้แต่คาดเดา และในขณะเดียวกันก็กำหนดตั้งมาตรฐานใหม่ให้กับระเบียบการทำงานของตัวเอง ผมไม่ได้กำลังจะบอกให้ศิลปินเลิกทำงานศิลปะลึก ๆ ชวนขบคิด แม้ว่างานของผมหนึ่งหรือสองชิ้นก็ไม่ได้ลึกซึ้งอะไรมากนักก็ตาม แต่สิ่งที่ผมอยากตั้งข้อสังเกตก็คือ ตอนนี้บรรดาพิพิธภัณฑ์และแกลเลอรีต่างทำตัวเป็นผู้นำลัทธิติดอาวุธสุดคลั่งกันทั้งหมด เป็นไปได้รึเปล่าว่า ตัวผมเองก็ได้กลายเป็นเพียงหนวดฝั่งซ้ายของหมึกยักษ์ที่ชื่อว่าสถาบันศิลปะอันสูงส่ง ถูกเก็บไว้ใช้ประดับบารมีโดยที่ผมไม่รู้ตัว? เป็นไปได้หรือเปล่าที่คำประกาศนิทรรศการที่ผมเขียนได้กลายเป็นเพียงเหยื่อล่อในการประชาสัมพันธ์ให้กับองค์กรไร้หัวจิตหัวใจที่เป็นเหมือนกับอาณานิคมปรสิตที่ลุกลามไปทั่วท้องทะเล? ทุกอย่างง่ายไปหมดถ้าคุณเป็นหนวดที่ผลิตหมึกให้มันได้ มีงานศิลปะมากมายที่ผมชื่นชมในแง่ของการแหกกรอบพื้นที่ศิลปะ และสามารถตั้งคำถามวิพากษ์วิจารณ์พื้นที่ศิลปะอันสูงส่ง แต่เอาจริง ๆ แล้ว เราเป็นเพียงเหยื่อล่อรึเปล่า? - เป็นที่รักเพียงชั่วคราว ถูกเล้าโลมและลูบไล้ด้วยหนวดของปลาหมึกซึ่งที่จริงแล้วกำลังค่อยๆ ดึงเราไปที่จงอยปากของมัน? การขบถของเราย้อนกลับไปช่วยสร้างน้ำหมึกที่มันใช้พ่นออกมาทั่วท้องทะเล และสิ่งที่มันพ่นออกมาก็ถูกปกปิดไว้ภายใต้ฉากหน้าของข่าวประชาสัมพันธ์ (Press Release) ที่อ่านแล้วคลุมเครือยากจะเข้าใจ

ในหนังสือที่พูดถึงโรคเอดส์ The Plague Years ผู้เขียน เดวิด แบล็ก ปิดท้ายด้วยสิ่งที่เขาอธิบายว่าเป็นนิทานเตือนใจ

กาฬโรคมีจุดเริ่มต้นที่เชิงเขาหิมาลัยในบริเวณที่เรียกว่าการ์วาลห์และกุมาน จักรวรรดิแซระเซ็นทำหน้าที่เป็นเกราะป้องกันยุโรปจากโรคร้าย ด้วยเหตุนี้ เมื่อชาวยุโรปรบกับพวกแซระเซ็นในช่วงสงครามครูเสด ยิ่งพวกเขาประสบความสำเร็จในสนามรบมากเท่าไหร่ พวกเขาก็ยิ่งเสี่ยงที่จะนำโรคติดต่อกลับไปยังบ้านเกิดมากขึ้นเท่านั้น จงระวังการต่อสู้ที่คุณชนะ

การวางแผนการรบเพื่อทำสงครามเบ็ดเสร็จ (การทำสงครามที่ประเทศคู่สงครามทุ่มทรัพยากรทั้งหมดเพื่อใช้ในการทำสงคราม เพื่อที่จะทำลายประเทศคู่สงครามให้ราบคาบ) กับฝ่ายตรงข้ามที่มีระบบมั่นคงมายาวนานอย่างกองทัพนั้นไม่ใช่ยุทธวิธีที่ปลอดภัย สงครามที่ยืดเยื้อให้ผลตอบแทนเพียงเล็กน้อย หากผมลองต่อสู้แบบตัวต่อตัว สิ่งที่เหลืออยู่ก็คงเป็นแค่ต่อไม้หรือร่างไร้แขนขาที่ทำอะไรก็ไม่ได้ เราจะสามารถสั่นคลอนอำนาจพร้อม ๆ ไปกับการสู้กับสิ่งที่ฟูโกต์เรียกว่า “...ลัทธิฟาสซิสต์ในตัวเรา ในหัวเรา และในชีวิตประจำวันลัทธิฟาสซิสต์ที่เป็นต้นเหตุให้เราหลงรักในอำนาจได้อย่างไร เราจะต่อสู้กับความปรารถนาที่ทั้งครอบงำและเอาเปรียบเราได้อย่างไร?”

กวีชาวม้ง เสงสือหยาง ได้ให้ตัวอย่างไว้ว่า…

เพื่อจะข้ามแม่น้ำ ฉันจำต้องถอดรองเท้าออก
เพื่อจะข้ามแผ่นดิน ฉันจำต้องสละหัวออกจากบ่า

ดังนั้นแล้ว ผมจึงนั่งอยู่ในที่ซ่อนของผม พร้อมกับข้อสังเกตที่ชวนกลัดกลุ้ม ในฐานะศิลปินที่ไม่พอใจกับสิ่งที่ผมคิดว่าเป็นการแบ่งแยกอัตลักษณ์ บางทีการทำสงครามอาจไม่ใช่สิ่งที่ผมควรทำ แต่กลไกของการทำงานแบบสไนเปอร์/ไวรัส อาจเป็นหนทางการต่อสู้ที่ควรค่าแก่การลองสักตั้ง เพื่อปักหมุดจุดเริ่มต้นของยุคใหม่ หรือเพื่อหล่อเลี้ยงความคิดเสรีให้ยังคงอยู่ต่อไป โดยไม่ติดกับดักของการถูกลอกว่ามีทางเลือก ซึ่งแท้จริงแล้วกลับกำลังนำพาเราไปสู่ระบบที่ปิดตาย

งานศิลปะที่ปรารถนาจะหาเส้นทางอื่น เพื่อพาตัวเองหลบหนีไปสู่โครงสร้างที่เชื่อมร้อยด้วยวัฒนธรรมของเรา แทนที่จะพาเราไปสู่แค่แกลเลอรี พิพิธภัณฑ์ หรืองานอิเวนต์และพื้นที่ศิลปะนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องคำนึงถึงการสวมบทบาทเป็นสไนเปอร์/ไวรัส

เช่นเดียวกับสไนเปอร์และไวรัส เราต้องเลือกที่จะแฝงตัวในพาหะที่เหมาะสม และเป้าหมายควรเป็นแหล่งที่พร้อมแพร่เชื้อในวงกว้าง แหล่งเพาะเชื้อของระบบทุนนิยมสมัยใหม่ตอนปลายที่เหมาะสมที่สุด เช่น เชนบริษัทอาหารฟาสต์ฟู้ด สำนักงานศาสนานิกายฟันดาเมนทัลลิสม์ บริษัทโฆษณาที่ทำงานให้กับบริษัทยาสูบ รวมไปถึงบรรดาต่อมไร้ท่อที่ที่อาจเล็กลงมา ซึ่งก็คือร้านค้าในห้างสรรพสินค้าที่เป็นที่นิยม ล้วนเป็นเป้าหมายชั้นดีสำหรับการปฏิบัติภารกิจการของไวรัส

ผมมีความอิหลักอิเหลื่อที่จะวิพากษ์วิจารณ์องค์กรเหล่านี้ หรือแม้แต่ลงมือทำอะไรสักอย่างกับพวกเขา เพราะหากมองว่าสังคมคือร่างกายขนาดใหญ่ เราทุกคนล้วนเป็นเชื้อร้ายที่ไม่ส่งผลดีต่อร่างกายเฉกเช่นเดียวกัน แต่สิ่งที่ผมปรารถนาเหนือไปกว่าการวิพากษ์วิจารณ์ ก็คือความปรารถนาที่จะเชื่อมต่อ ซึ่งความปรารถนาในการเชื่อมต่อนี้จะสามารถขับเคลื่อนวิถีทางแห่งสไนเปอร์ / ไวรัส ต่อไปได้

ในยุคศิลปะหลังสมัยใหม่ มีโครงสร้างโปรตีนมากมายที่สามารถถูกหยิบมาใช้ หรือแม้กระทั่งประดิษฐ์ขึ้นใหม่ เพื่อสามารถแพร่ระบาดสู่ร่างของพาหะที่ยังไม่รู้ตัวว่ากำลังได้รับเชื้อ แต่ความพยายามในการเชื่อมต่อกับร่างพาหะที่เหมาะสมกลับเห็นได้น้อยลง กระทั่งแค่จะถอดหัวโขนแล้ววางอัตตาของตัวเองลง เพื่อแฝงตัวแทรกซึมเข้าไปในเยื่อหุ้มเซลล์ของสังคม ก็ยิ่งเห็นได้น้อยลงไปอีก

ความน่าสะพรึงกลัวของมือปืนที่อาจแอบซุ่มโจมตีเรา หาได้อยู่ในประวัติศาสสงครามยุคใหม่อีกต่อไป เพราะตอนนี้พวกเขาได้หันปลายกระบอกปืนมาจ่อหน้าเราแบบซึ่ง ๆ หน้า เพียงแต่เรามองไม่เห็นเท่านั้น เราไม่ควรมองโมเดลการใช้อำนาจเช่นนี้ในทางลบ แต่ควรมองมันในฐานะต้นแบบปฏิบัติการที่ประสบความสำเร็จ ซึ่งเราควรศึกษาอย่างจริงจัง การสำรวจเส้นทางใหม่ที่หาได้ยึดติดกับกรอบแบบเดิม ๆ คือพันธกิจสำคัญของศิลปะ แน่นอนว่าหากเป้าหมายรู้ตัวขึ้นมา… การวางแผนหาทางหนีทีไล่ก็เป็นสิ่งจำเป็น ซึ่งเป็นอีกครั้งที่เราต้องคิดในวิถีทางของชีววิทยา… กลายพันธุ์ให้เร็ว แล้วเข้าควบคุมเซลถัดไป

ความหวาดระแวง ความระแวดระวัง บทบาทของผมในฐานะประจักษ์พยาน การเปิดโปงแผนการสมรู้ร่วมคิด ล้วนไม่เพียงพออีกต่อไป ผมต้องลงมือทำมากกว่านี้ ดังที่คุณป้า E. McRedmond อายุ 80 กว่าปีแห่งแนชวิลล์ รัฐเทนเนสซี กล่าวว่า “งานที่เริ่มขึ้นนั้นสำเร็จไปแล้วครึ่งหนึ่ง” ผมสนใจในครึ่งหนึ่งที่ว่านั้น ผมสนใจสถานะการอยู่ระหว่างกลาง การสร้างครึ่งหนึ่ง หรือการก่อร่างพาหนะที่จะพาเราไปสู่เป้าหมายซึ่งเพิ่งสร้างเสร็จแค่ครึ่งเดียว จึงมีความจำเป็นมากกว่าในช่วงเวลาไหน ๆ การเรียนรู้จากไวรัสที่ยังพัฒนาโครงสร้างไม่สมบูรณ์ ทำให้เราได้เบาะแสอะไรบางอย่าง พวกมันอาศัยข้อจำกัดในสิ่งแวดล้อมเพื่อเพิ่มจำนวนประชากรสายพันธุ์ของมัน ในฐานะศิลปิน ผมจำเป็นต้องสร้างข้อจำกัดที่คล้ายกันนี้ขึ้นมา เพื่อไม่ปล่อยให้สิ่งที่สำคัญที่สุดคือความคิดของศิลปินซึ่งถือเป็นที่สิ้นสุด แต่ให้สิ่งที่สำคัญที่สุดอยู่ที่การชักชวน หรือร่วมกันสร้างจุดเริ่มต้น ร่วมกันลงมือทำ

อย่างไรก็ดี ทั้งหมดทั้งมวลนี้ก็ยังมีบางแง่มุมที่เราไม่สามารถคาดเดาได้ การโจมตีกลุ่มลัทธิส่งผลให้เกิดความวุ่นวายและผลกระทบที่คาดไม่ถึง ซึ่งนำมาสู่การตั้งคำถามถึงรูปแบบพฤติกรรมของมนุษย์ที่ยอมรับได้ เพราะทั้ง เดวิด โคเรช์ และ ATF (Bureau of Alcohol, Tobacco, Firearms and Explosives– หน่วยปราบปรามคดี เหล้า บุหรี่ อาวุธปืน และระเบิด คือหน่วยงานที่เข้าไปล้อมปราบที่ทำการลัทธิของเดวิด โคเรช์ ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก) ล้วนมีเป้าหมายสุดท้ายและต่างก็ปฏิบัติการอย่างรัดกุม หากมองโลกในแง่ดี ผมหวังว่าเป้าหมายของผมจะไม่เกิดความผิดพลาดที่ไม่อาจควบคุมได้เช่นนั้น ผมหันไปให้ความสนใจกับกลไกการทำงานของสไนเปอร์และไวรัส เพราะไม่ต้องการให้เกิดการทำลายชีวิต แต่เพื่อนำไปสู่ทางเลือกที่หลากหลายมากขึ้น การขีดเส้นตายและยื่นคำขาดล้วนนำไปสู่ความไม่มั่นคงและชีวิตที่ถูกบังคับ หวาดกลัว และการต่อต้านวาทกรรม โดยที่สุดท้ายแล้วเราก็ไม่ได้เชื่อมโยงกันอยู่ดี

และโดยธรรมชาติของการประกอบสร้าง การเปิดโปงแบบหมดเปลือกถึงแก่นนั้นไม่เคยมีอยู่จริง เพราะมีเพียงเปลือกนอกของเราเท่านั้นที่ถูกประกอบสร้างขึ้นมา

และหากผมถอดเปลือกนั้นออกไป ผมก็จะไม่มีตัวตน

อีกต่อไป

อ่านบทความต้นฉบับได้ที่ https://www.protocinema.org/protodispatch/mel-chin