คุยกับ พันเลิศ ศรีสร้อย ว่าด้วยการออกแบบ Key Visual เทศกาลดนตรีด้วยแรงบันดาลใจจากไฟงานวัด

Post on 22 November

ไม่ว่าจะรู้หรือไม่ แต่เราเชื่อเหลือเกินว่า คุณน่าจะเคยมีโอกาสได้เห็นผลงานการออกแบบโปสเตอร์คอนเสิร์ตและเทศกาลดนตรีโดยฝีมือของ เบ๊น-พันเลิศ ศรีสร้อย หรือที่หลาย ๆ รู้จักกันดีในชื่อ ‘Bent Panlert’ ผ่านตากันมาบ้างแน่นอน

เพราะในช่วงหลายปีที่ผ่านมา นักออกแบบสุดเฟี้ยวคนนี้ มีโอกาสได้เข้าไปร่วมทำงานสร้างสรรค์ Key Visual ให้กับหลากหลายกิจกรรมทางดนตรี โดยเฉพาะกับเทศกาลระดับอินเตอร์ในประเทศไทยอย่าง Wonderfruit Festival 2022 - 2023, Diage Festival 2023 และล่าสุดกับ Maho Rasop Festival 2024 เทศกาลดนตรีสุดยิ่งใหญ่ที่กำลังจะเกิดขึ้นในช่วงสุดสัปดาห์นี้

แต่นอกจากจะได้เข้ามาทำงานออกแบบให้กับ Maho Rasop ในปีนี้แล้ว ก่อนหน้านี้เบ๊น-พันเลิศในฐานะดีเจเอง ก็เคยมีโอกาสได้มาเปิดการแสดงมัน ๆ บนเวที Sawan Club ในชื่อ ‘Club Mascot’ ร่วมกับ ‘WINKIEB’ ในงาน Maho Rasop 2023 มาแล้วด้วยเช่นกัน เพราะนอกจากการทำงานในสายออกแบบแล้ว อีกด้านหนึ่ง เขายังเป็นดีเจที่ขยันทำงานสร้างสรรค์ในอีกหลากหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็น ‘YOU SAID YOU LIKE DANCING’ กลุ่มคอลเลคทีฟที่ผสมผสานดนตรีเข้ากับงานดีไซน์ ที่เขาทำร่วมกับเพื่อนนักออกแบบชาวโปแลนด์ หรือ ‘555’ การรวมกลุ่มแสดงผลงานของคนสร้างสรรค์ในแถบอาเซียน แถมก่อนหน้านี้ เขายังเคยทำงานเขียนบทความด้านดนตรีให้กับสื่อต่าง ๆ มาแล้วด้วย เรียกได้ว่า เสียงดนตรีแทบจะอยู่ในทุกวินาทีชีวิตของเขาเลยก็ว่าได้

ก่อนที่เราจะได้เห็นผลงานการออกแบบของเบ๊น-พันเลิศด้วยตาตัวเองที่งาน Maho Rasop 2024 ในวันที่ 23 - 24 พฤศจิกายนที่จะถึงนี้ ที่ ESC Park เราอยากชวนทุกคนมาอ่านแนวคิดและกระบวนการพัฒนาผลงานของเขา ตั้งแต่เมื่อครั้งยังตั้งไข่ จนถึงวันนี้ ที่ผลงานการออกแบบของเขากำลังจะได้ออกมาโลดแล่นให้ผู้ชมได้สัมผัสในชีวิตจริงเป็นครั้งแรก

📍 ดนตรีกับดีไซน์ อะไรเกิดก่อนกัน?

“จริง ๆ แล้ว พื้นฐานของผมมาจากการที่ตอนเด็กเป็นคนชอบฟังเพลงมาก เป็นคนเป็นคนฟังเพลงตลอดเวลา แล้วเพลงเนี่ยแหละที่มันพาผมไปเจอพวกงานดีไซน์หรืองานศิลปะแขนงอื่น ๆ เพราะผมชอบดูพวกอาร์ตเวิร์คปกอัลบั้ม โปสเตอร์ มิวสิกวิดีโอของศิลปิน รวมถึงการอ่านนิตยสารอะไรอย่างงี้ด้วย มันก็ทําให้เรารู้ว่า อ๋อ พวกศิลปินที่ทำดนตรีเนี่ย เขาก็มันไม่ได้มีแค่ส่วนของดนตรีอย่างเดียวที่อยากนำเสนอ มันก็ยังมีพวกศาสตร์ศิลปะหลายอย่างซ่อนอยู่ในนั้น ซึ่งมันก็เลยทําให้ผมรู้สึกว่า เฮ้ย งานพวกนี้มันน่าสนใจนะ เราก็เลยเริ่มอยากลงมือทํา”

📍 ต้นกำเนิดไอเดียมัน ๆ กับความ ‘มหรสพ’ แบบไทย ๆ

“จุดเริ่มต้นคือทาง Maho Rasop เขาเห็นผลงานผมที่เคยทํามาก่อน เขาก็เลยลองให้ผมลองส่งพอร์ตโฟลิโอไปให้ดู โดยที่ตอนนั้นเขาก็จะมีโจทย์คร่าว ๆ ให้ผมลองนําเสนอเพื่อพิทชิง (pitching) แล้วสุดท้ายเขาก็อยากให้เราเป็นคนลองทําดู ซึ่งเขาก็ค่อนข้างเปิดกว้างกับเรามาก ๆ

“ซึ่งจริง ๆ ตอนแรกที่ผมขายไปเนี่ยก็เป็นอีกไอเดียหนึ่งเลย (หัวเราะ) ตอนนั้นผมก็ลองคิดไปหลาย ๆ ไอเดียแหละว่า เราอยากทําอะไร ตอนแรกก็คิดว่า เฮ้ย หรือว่าเราจะเล่นกับเรื่องความน่าสนใจของตัวดนตรีว่า ดนตรีมันส่งผลอะไรกับคนฟังบ้าง"

“แต่ตอนหลังผมก็รู้สึกว่า เฮ้ย เราอยากทําอะไรที่มันมีความเป็น Maho Rasop เป็น DNA ความเป็นไทยที่มันค่อนข้างมีความบ้าประมาณหนึ่ง คือผมก็เคยไปเทศกาลมาหลายที่เนาะ คือถ้าในเอเชียเนี่ย ผมว่า คนไทยเนี่ยมีความบ้าเป็นอันดับต้น ๆ เลย คือมันจะมี DNA แบบนี้อยู่ในแทบทุกงานเทศกาลของไทยเลย ผมก็เลยอยากหยิบเอากลิ่นอายความเป็นงานเทศกาลของไทย ไม่ว่าจะเป็นงานวัด งานบวช งานลอยกระทงอะไรอย่างงี้ เอาองค์ประกอบพวกนี้มาตีความเป็นแนวคิดในการออกแบบ แต่ผมก็ไม่อยากจะให้มันดูออกมาเป็นวัดอะไรแบบนั้น เพราะปกติผมมักจะชอบทดลองตีความและตัดทอนรูปทรงอะไรอยู่ประมาณหนึ่งอยู่แล้ว

“ซึ่งพอเราไปสังเกตพวกงานวัดหรืองานเทศกาลแบบไทย ๆ เนี่ย มันมีองค์ประกอบที่เราชอบซ่อนอยู่ เช่น พวกการจับคู่สี LED ที่มันประหลาด ๆ การเอาสีจัด ๆ มาจับคู่กัน การวางแท่งไฟให้มันเป็นแฉก ๆ ที่เวลาเราไปงานไหน เราก็จะเจอไอ้ไฟอันนี้ตลอด ผมเลยอยากหยิบของพวกนี้มาลองตีความใหม่ โดยที่คนดูไม่จําเป็นต้องดูออกว่ามันเป็นงาน ‘ไท๊ยไทย’ อยู่ อยากให้มันมีรูปทรงที่มันดูร่วมสมัยอยู่ แต่ถ้าเราพูดถึงที่มาแล้ว คนก็ยังแบบ เฮ้ย เออว่ะ อะไรอย่างงี้"

“จริง ๆ ในดีไซน์มันจะมีหลายองค์ประกอบที่เราตัดทอนมาจากลวดลายสไตล์ไทย ๆ อยู่ อย่างพวกแพทเทิร์นที่ใช้ตกแต่งโรงลิเก หรือชุดลิเกอะไรแบบนี้ แต่เราอาจจะไม่ได้เอามันมาใช้ตรง ๆ เลย แต่เอามันมาปรับเป็นรูปทรงที่มันมีความกราฟฟิคมินิมอลหน่อย แล้วผมก็เอาอะไรพวกนี้มาผสมกับพวกตัวคลื่นเวฟเสียง ที่มันจะมีรูปทรงหลากหลายด้วย”

📍 คาแรกเตอร์ชื่อไทย หัวใจ Maho Rasop

แล้วก็จะมีส่วนที่เป็นคาแรกเตอร์ ที่มันมาจากไอเดียแรกที่เราเคยคิดไว้ด้วย คือด้วยความที่ทาง Maho Rasop เองเขาก็มีตัวคาแรกเตอร์อยู่แล้ว เขาก็รู้สึกว่ายังอยากรักษาความเป็น Maho Rasop บางอย่างไว้อยู่ ผมก็เลยลองคิดโจทย์ขึ้นมาว่า ถ้าเราจะสร้างคาแรกเตอร์ เราอยากสร้างให้มันให้มันสื่ออะไรถึงตัว เทศกาลบ้าง ผมก็ไปนึกถึงวลี ‘what music makes you’ ก็เลยลองคิดดูว่า เวลาเราไปเทศกาลดนตรีเนี่ย มันให้ความรู้สึกอะไรกับเราบ้าง แล้วเราก็ตีความคาแรกเตอร์นั้นออกมาให้มันเป็นตัวแทนของประสบการณ์ของคนที่อยู่ในเทศกาล เหมือนว่า ดนตรีจะให้ความรู้สึกอะไรกับคุณในตอนนั้น ซึ่งทางทีม Maho Rasop ก็เป็นคนเข้ามาช่วยคิดชื่อ เป็นการทํางานร่วมกัน

📍 การเดินทางของดีไซน์

จริง ๆ ดีไซน์ตอนแรกก็ทํามาประมาณ 3 ดราฟต์เลย อย่างอันแรกอย่างแรกๆเนี่ยสีมันจะจัดจ้านกว่านี้ แล้วผมก็พยายามวางเลย์เอาท์ให้มันดูมีความเท่ากันทั้งสองด้าน ให้มันมีความเชื่อมโยงกัน มีกลิ่นอายความไซคีเดลิก ดูสะกดจิตหน่อย ๆ แต่ตอนหลังเราก็เปลี่ยนจากสีสันที่มันเด่นมาก ๆ ให้สีพื้นหลังมันอ่อนลงมา แล้วเราก็ค่อยมาเล่นกับสีของตัวองค์ประกอบที่จะจัดจ้านแทน ซึ่งมันก็เป็นผลลัพธ์ที่น่าสนใจ แล้วเราก็ค่อนข้างแฮปปี้

📍 การหาสมดุลย์ในการออกแบบ

คือจริง ๆ แล้ว ผมไม่เคยคิดว่า ผมมีสไตล์ที่มันชัดเจนนะ แต่คนรอบข้างก็จะบอกว่า เวลาเห็นงานเราก็จะรู้ว่าเราเป็นคนทํา ซึ่งผมค่อนข้างให้ความสําคัญกับเรื่องการคิดพอ ๆ กับเรื่องการดีไซน์เลย

บางทีงานดีไซน์เราอาจจะทําแบบไม่ได้นานมากก็ได้ ถ้าเรามีภาพในหัวที่ค่อนข้างชัด ซึ่งผมรู้สึกว่าอย่างตัวงานแต่ละงานเอง มันก็จะมีคาแรกเตอร์ของมันที่ที่ค่อนข้างที่ค่อนข้างชัดอยู่แล้ว ซึ่งนั่นคือโจทย์ที่เราจะต้องมาตีความฝั่งดีไซน์ต่อ

อย่างบางคนเขาก็จะรู้สึกว่า งานออกแบบของผมมันเข้าใจยาก และไม่ค่อยประนีประนอม แต่จริง ๆ เราก็จะดูกลุ่มเป้าหมายของงานด้วยว่า มันเป็นกลุ่มคนที่ค่อนข้างมีความศิลปะสูง เป็นพวกคนหัวสมัยใหม่ หรือว่ามันเป็นงานสําหรับคนหมู่มาก ซึ่งไอ้ความที่เป็นคนหมู่มากอย่างเนี่ย ยังไงเราก็ต้องทำให้มันมีความเข้าใจง่ายประมาณหนึ่ง อย่าง Maho Rasop เองเป็นงานที่สื่อสารกับกลุ่มคนหลากหลายเหมือนกัน ซึ่งการออกแบบก็ต้องทำให้มันเข้าใจง่าย และไม่ควรจะดุดันมาก

📍 คนออกแบบที่สามารถ ‘หาปลา’ ในแบบคนดนตรี และคนดนตรีที่สามารถ ‘หาปลา’ ในแบบคนออกแบบ

พอเราชอบฟังเพลงเนี่ย มันก็ทําให้เรารู้ถึงความหลากหลาย มันพาเราไปรู้จักกับศาสตร์ศิลปะอีกมากมาย ผมว่า มันก็เหมือนการจับปลา การเสพศิลปะหลาย ๆ แขนงมันทำให้เรารู้จักแหล่งน้ําที่มันมีความหลากหลายมากขึ้น เรารู้ว่า ถ้าเราจะมีจับปลาประเภทนี้ เราควรไปที่ทะเล มหาสมุทร หรืออ่าวน้ําตื้น น้ําลึก

จริง ๆ ไอเดียพวกนี้มันมีอยู่แล้วรอบตัวเรา ถ้าพูดแบบตรง ๆ คือเราไม่ใช่เป็นคนคิดไอเดียพวกนี้คือออกมาเป็นคนแรกหรอก แต่มันอยู่ที่ ถ้าเราเห็นแล้วเราสามารถจับมันได้เหมือนกับการจับปลารึเปล่า