อะไรเอ่ย มากับความชื้น เป็นด่างเป็นด่วง แถมอันตราย เฉลย เชื้อราตัวเล็กแต่แฝงความร้าย!
หลายคนอาจมองว่าเชื้อราเป็นสิ่งเล็กๆ ที่ร้ายไม่เบา แถมยังน่าขยะแขยงจนอยากมองข้ามไป แต่เชื่อมั้ยว่านอกจากนักวิทยาศาสตร์แล้ว ยังมีคนที่สนใจเชื้อราตัวเล็กแสนร้ายอีกมาก หนึ่งในนั้นคือ ‘เม็ดทราย–ศุภพิชญ์ มนัสศิริวิทยา’ บัณฑิตป้ายแดงจากสาขานฤมิตศิลป์ เอกเรขศิลป์ (graphic design) คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เจ้าของ A book of moldy illustration หนังสือรวมงานออกแบบที่รังสรรค์จากการเติบโตของเชื้อรา
ความน่าสนใจของหนังสือเล่มนี้คือเม็ดทรายสามารถหยิบเอาเชื้อราที่มีรูปแบบหลากหลายมาย่อยให้เราเข้าใจง่ายเหมือนกำลังอ่านสารานุกรมวิทยาศาสตร์สนุกๆ ของนักวิทย์โบราณ มันไม่ได้ดูยากและชวนง่วง แต่กลับทำให้เราสนุกไปกับความหลากหลายของเชื้อราและตื่นเต้นไปกับความเป็นไปได้ใหม่ๆ ในการออกแบบ
เราจึงชวนเธอมาเล่าถึงกระบวนการทำหนังสือขนาดย่อมเล่มนี้ให้ฟังว่าทฤษฎีการออกแบบ 5 ทฤษฎีซึ่งอิงจากการเจริญเติบโตของเชื้อราเล่มนี้เกิดขึ้นมาได้ยังไง
Spore
รูปแบบการทำธีสิสในสาขาที่เม็ดทรายเรียนนั้นแบ่งออกเป็น 2 แบบด้วยกัน นั่นคือ Design Project และ Academic Project ซึ่งเธอเลือกทำธีสิสจบการศึกษาแบบ Academic Project เพราะเป็นรูปแบบที่เปิดโอกาสให้นิสิตหยิบเรื่องที่สนใจมาพัฒนาเป็นแนวทางการสร้างงานออกแบบ
“เราสนใจสิ่งที่ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าเพราะมองว่าเป็นเรื่องราวที่น่าค้นหาดี การศึกษาสิ่งที่มองไม่เห็นและการตีความภาพที่ไม่เคยมีในหัวให้ออกมาเป็นภาพมันคงน่าสนุก เราจึงเริ่มจากศึกษากลุ่มสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กอย่างโปรโตซัว แพลงก์ตอน เเละอีกหลายกลุ่ม แต่สุดท้าย เราพบว่าเชื้อราเป็นสิ่งมีชีวิตชนิดหนึ่งที่เราสนใจที่สุด
“เชื้อเรามันมีความหลากหลายมาก ทั้งประเภท ลักษณะการเกิดและการเติบโต แถมยังมีวิธีการกระจายตัวในเเต่ละช่วงเวลาของมันที่น่าสนใจ เราคิดว่ามันดูเป็นหัวข้อที่มีโอกาสในการพัฒนาเป็นเเนวทางการออกเเบบได้หลากหลาย”
Mycelium
ความสนุกและน่าสนใจของเชื้อราอยู่ที่ความหลากหลายก็จริง แต่ขณะเดียวกัน ความหลากหลายของมันก็เป็นเรื่องยากไม่เบา!
เทอมแรกของการทำธีสิส เม็ดทรายใช้เวลาไปกับการศึกษาข้อมูล จำเเนกประเภท ทำเเบบสอบถามเพื่อพิสูจน์ข้อมูลต่างๆ ทั้งในเชิงการออกเเบบเเละเชิงข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ ทั้งหมดนี้ก็เพื่อทดลองหาวิธีการทำให้เชื้อราที่คนเราขยะแขยงและมองข้ามไปมาสร้างเป็นงานออกเเบบที่เเตกต่างและน่าสนใจ
“ข้อมูลของเชื้อรามันเยอะมากๆ และเป็นสิ่งมีชีวิตที่ถูกค้นคว้าเพิ่มเรื่อยๆ ทำเอาเราซัฟเฟอร์กับงานนี้ไปช่วงหนึ่งเลย แต่สุดท้ายก็เลือกที่จะเล่าและแบ่งเนื้อหาของมันตามช่วงเวลาการเติบโต”
Colony
ช่วงเวลาที่ว่าถูกแบ่งออกเป็น 5 ขั้นตอนด้วยกัน เริ่มจากช่วง spore หรือช่วงที่ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าซึ่งเป็นการกระจายตัวเพื่อหาพื้นที่เติบโตของมัน ก่อนจะขยับมาที่ช่วงที่สองอย่าง mycelium หรือช่วงที่เจ้าราเหล่านี้ลงหลักปักฐานและเริ่มเติบโตในขั้นพื้นผิวคล้ายรากแล้ว
ขั้นที่สามคือ colony ซึ่งเป็นช่วงที่สิ่งมีชีวิตขนาดใหญ่อย่างคนคุ้นเคย เพราะมันเป็นช่วงที่เราเริ่มเห็นมันขึ้นที่พื้นผิวสิ่งของและอาหารเป็นด่างเป็นดวงก่อนจะขยายตัวเองไปยังขั้นที่สี่หรือ covering ซึ่งเจ้าราตัวร้ายในสายตาเราได้ขยายจนครอบคลุมทั่วทุกพื้นที่ หลังจากนั้นจึงถึงจุดสูงสุดอย่าง decompose ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มันเริ่มกัดกินเเละย่อยสลายพื้นผิวที่มันเกาะจนสิ่งของเหล่านั้นขาดแหว่งไป
Covering
เมื่อไอเดียการทำงานเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปเป็นร่าง เม็ดทรายจึงนำระยะเวลาการเติบโตทั้ง 5 ช่วงของเจ้าเชื้อรานี้มาแปลงเป็น เเนวทางการสร้างงานออกเเบบ 5 เเนวทาง ตามลักษณะการเติบโตเเละลักษณะทางกายภาพที่น่าสนใจของเเต่ละช่วง จนได้เป็น ‘A Book of Moldy Illustration’ หนังสือรวมแนวทางการออกแบบที่ปรับแปลงจากการเติบโตของสิ่งที่มองไม่เห็นอย่างเชื้อรา!
“ในเเต่ละเเนวทางหรือทฤษฏีการออกเเบบ เราจะอธิบายวิธีการสร้างงานผ่านไดอะแกรมและคอลเลกชั่นงานภาพประกอบที่ได้จากเเต่ละทฤษฏี เช่น อย่างบทแรกที่ชื่อ spore เราก็จะเริ่มเล่าว่า spore นั้นมีรูปร่างกี่แบบ จากนั้นก็นำเอารูปร่างเหล่านั้นมาวางซ้อนทับกันเพื่อดูว่ามันจะเกิดเป็นภาพประกอบแบบไหนได้บ้าง”
และเมื่อถึงบท mycelium ซึ่งเป็นช่วงที่เจ้าราน้อยเริ่มแตกรากและเชื่อต่อกัน เม็ดทรายก็จะหยิบวิธีการปักรากและเชื่อมต่อกันของพวกมันมาแตกแยกย่อยให้ดูว่ามีการแตกรากแบบไหนบ้าง ก่อนจะนำวิธีการเหล่านั้นมาซ้อนทับกันอีกครั้งเพื่อหาความเป็นไปได้ของภาพประกอบของเธอ
แค่ฟังก็รู้สึกสนุกแล้ว! (และปวดหัวแทนมากๆ เช่นกัน)
Decompose
ที่เล่ามาทั้งหมดนี้ ไม่ได้เข้าใจยากแต่อย่างใด เพราะเม็ดทรายนำกระบวนการทั้ง 5 ขั้นของชีวิตเจ้าเชื้อรามานำเสนอเลียนแบบสารานุกรมวิทยาศาสตร์โบราณที่ดูสวยและขลัง ชวนให้เรารู้สึกเหมือนแอบเปิดสมุดทดลองของใครสักคน
“เรารู้สึกว่าไหนๆ ก็ต้องทำหนังสืออยู่เเล้ว ถ้าทำออกมาในรูปเเบบของสารานุกรมวิทยาศาสตร์ก็น่าสนใจดี เเต่อีกเหตุผลคือ จริงๆ เราชอบดูสารานุกรมทางวิทยาศาสตร์มากๆ เป็นการส่วนตัวด้วย เพราะภาพประกอบในนั้นมักจะสวยเสมอ โดยเฉพาะสารานุกรมสมัยก่อน วิธีการนำเสนอในรูปแบบนี้เลยปิ๊งขึ้นมาในหัวแบบอัตโนมัติเลย”
แต่ภายใต้ความสนุกที่เราในฐานะคนอ่านและคนฟังได้ยินจากเธอ เม็ดทรายบอกว่าที่จริงแล้วมันเต็มไปด้วยความยาก ทั้งเพราะเธอไม่ใช่เด็กสายวิทยาศาสตร์ ช่วงแรก เธอจึงทำมันขึ้นมาด้วยความกังวลว่าจะบาลานซ์งานออกแบบและงานศิลปะให้พอดีและถูกต้อง
“ช่วงเเรก เราจมกับข้อมูลที่เยอะเเละลึกเกินไป พอนำมาต่อยอดเป็นงานออกเเบบเเล้วมันดูไม่ออกเลย เราจึงต้องกลั่นกรองข้อมูลให้พอดีซึ่งเป็นพาร์ทที่ยากที่สุด แต่ในความยากมันก็สนุกนะ เพราะเราชอบทดลอง ธีสิสนี้ก็เปิดให้เราได้ทดลองโปรเจกต์เล็กๆ ระหว่างทางหลายชิ้น เช่น ลองเพาะเชื้อราเล่น เเล้วทำหนังสือเล็กๆ ที่เเปลงการทดลองมาเป็น typo เรียกว่าเราทดลองไปเรื่อยด้วยความเชื่อว่าเราต้องทำธีสิสนี้ให้ได้”
เข้าไปอ่านสารานุกรมสุดน่ารักของเธอแบบเต็มเล่มได้ใน https://fliphtml5.com/klfna/cgkk
*‘1st Stage’ คือคอลัมน์ใหม่แกะกล่องที่เปรียบเสมือนเวทีแรกของนักเรียนศิลปะก่อนลงสู่สนามจริงเพื่อเปิดให้นักเรียนและนักศึกษาศิลปะทุกคนแสดงผลงานศิลปะได้เต็มที่ ทั้งโปรเจกต์เล็กๆ ในวิชาย่อย หรือจะเป็นโปรเจกต์ใหญ่อย่างธีสิสจบการศึกษาก็ยังได้!
หากใครมีผลงานเจ๋งๆ เก็บไว้กับตัว อย่าลืมส่งมาอวดเรากันได้ที่ [email protected]