1stStage: “Reality on my POV : ความจริงจากมุมฉัน” ธีสิสบันทึกภาพความเหลื่อมล้ำ จากสายตาของพิมพ์ลภัส จันทร์คง

Art
Post on 30 June

คุณเริ่มรู้จักคำว่า ‘ความเหลื่อมล้ำ’ ตั้งแต่ตอนไหน? ตอนที่เห็นกล่องดินสอหลาย ๆ ชั้นของเพื่อน? ตอนที่รู้ว่าเพื่อนมีคอลเลกชันสีไม้มากกว่า 64 สี? หรือตอนที่คุณได้รู้ว่าในวันหยุดเพื่อน ๆ หลายคนสามารถเล่นสนุกได้อย่างสะดวกสบาย ไปเรียนพิเศษกันได้เต็มที่ แต่คุณต้องช่วยงานที่บ้านหรือหางานพาร์ตไทม์ทำอยู่ตลอดเวลา?

แม้ว่าเราจะไม่สามารถฟังคำตอบได้ครบทุกคน แต่เราเชื่อเหลือเกินว่าหลาย ๆ คนต้องเคยสัมผัสกับเรื่องราวเหล่านี้กันแน่นอน และ ‘แก๊ป-พิมพ์ลภัส จันทร์คง’ นักศึกษาปี 5 จาก คณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ก็เป็นอีกคนที่เลือกจะนำภาพจำในวัยเด็ก มานำเสนอเป็นธีสิสเรื่อง ‘Reality on my POV : ความจริงจากมุมฉัน’ เพื่อถ่ายทอดภาพชีวิตประจำวันของตัวเองในกรุงเทพมหานคร ที่มองไปมองมา ความธรรมดาเหล่านั้นกลับดูน่ากลัวขึ้นมาอย่างน่าประหลาด เพราะคนดูอย่างเราสามารถ ‘เคยชิน’ กับเรื่องที่ไม่ปกติแบบนี้ได้อย่างหน้าตาเฉย

ในฐานะคนที่นำเรื่องความเหลื่อมล้ำมาทำเป็นธีสิส พิมพ์ลภัสก็ได้เกริ่นให้เราฟังถึงความรู้สึกแรกที่เธอได้สัมผัสกับคำคำนี้ จนกลายมาเป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างงานศิลปะของเธอว่า ทุกอย่างมันเริ่มต้นมาจากวันธรรมดา ๆ วันหนึ่งระหว่างเดินทางไปโรงเรียน วันนั้นไม่ได้มีอะไรเป็นพิเศษ มีเพียงตัวเธอเองที่เริ่มมองโลกต่างออกไป พร้อมกับตระหนักได้ว่า โลกที่เธอมองเห็นนั้นมันสามารถดีกว่าเดิมได้อีก ถ้าการเมืองดีกว่านี้

พิมพ์ลภัสเล่า “เราเป็นเด็กที่มาจากครอบครัวธรรมดา ๆ ในต่างจังหวัด และไม่ได้มีกําลังทรัพย์มากมายอะไร พ่อกับแม่ของเราก็เลยตัดสินใจย้ายเข้ามาทำงานในกรุงเทพ เพราะเชื่อว่าที่นี่เป็นแหล่งทำเงินที่ดีที่สุดของไทย เราก็เลยได้อาศัยอยู่ในกรุงเทพตามไปด้วย”

“ความทรงจำในวัยเด็กที่เราจำได้เสมอ คือทุก ๆ เช้า เราจะนั่งรถมอเตอร์ไซค์ไปโรงเรียนพร้อมกับพ่อและแม่ที่เตรียมตัวไปทำงานเหมือนกัน ในรถมอเตอร์ไซค์หนึ่งคันจะมีพ่อเป็นคนขับ มีเรานั่งตรงกลาง และมีแม่นั่งซ้อนท้าย และเนื่องจากโรงเรียนกับที่ทำงานของพ่อแม่อยู่ใกล้กับเขตสาทร ซึ่งรถติดมาก ๆ ระหว่างทางเราเลยมีโอกาสได้มองสถานที่รอบ ๆ อยู่ตลอด ทำให้เราสังเกตเห็นสายไฟรุงรัง เห็นการเดินทางของครอบครัวอื่น ๆ เห็นภาพคนไร้บ้าน เห็นฟุธบาธที่พังเป็นหลุม ๆ พอตกเย็น เราก็เห็นผู้คนยืนเบียดเสียดกันบนรถสองแถว เรียกว่าตั้งแต่เด็กจนโตเราก็ได้เห็นภาพพวกนี้ตลอดจนชาชินไปเอง”

“จนกระทั่งเริ่มโตขึ้น เราก็เริ่มมองย้อนกลับไปยังภาพธรรมดา ๆ เหล่านั้น แล้วคิดได้ว่ามันไม่ใช่ภาพธรรมดาอีกต่อไป เพราะเราได้รู้แล้วว่า ภาพที่เราเห็นเป็นผลพวงมาจากการบริหารจัดการบ้านเมืองที่ไม่ดี และมันยังคงวนลูปอยู่แบบนี้ตั้งแต่อดีตมาจนถึงปัจจุบัน”

หลังจากรวบรวมความคิดได้ครบถ้วน พิมพ์ลภัสก็ได้ถ่ายทอด ‘ภาพจำ’ ทั้งหมดเป็นวิดีโออาร์ตความยาว 5 นาที เริ่มตั้งแต่ตอนเกิด เติบโต ไปจนถึงการมองเรื่องราวต่าง ๆ อีกทั้งยังมีการเพิ่มตัวละครที่เป็น ‘ผี’ เข้ามาภายในเรื่องราวด้วย

เธอค่อย ๆ อธิบายถึงฉากและเรื่องราวภายในวิดีโอให้เราฟังว่า “เราอยากรวบรวมภาพหรือเหตุการณ์ที่คนในสังคมเห็นกันซ้ํา ๆ บ่อย ๆ เช่น ภาพการใช้ชีวิตอยู่ริมถนนของคนไร้บ้าน ภาพของคนเดินลุยน้ำหลังเลิกงานในวันที่ฝนตกหนัก โดยเฉพาะภาพป้ายหาเสียงกับนโยบายชวนเชื่อมากมายจากพรรคการเมืองต่าง ๆ ที่พยายามซื้อใจประชาชนในช่วงใกล้เลือกตั้ง ที่เห็นได้ชัดเจนเลยว่าประเทศของเรายังขาดความเจริญไปมากแค่ไหน ซึ่งนโยบายเลือกตั้งนี่แหละที่เป็นเครื่องตอกย้ําให้ประชาชนรู้สึกได้ชัดเจนยิ่งขึ้นว่า วิถีชีวิตที่เราเป็นอยู่ทุกวันนี้ มันยังห่างไกลจากคำว่าสะดวกสบายมากนัก และมันไม่ใช่เรื่องปกติที่ทุกคนต้องทนอยู่ให้ชิน แต่เราควรตระหนักได้แล้วว่ามันเป็นเรื่องของความเหลื่อมล้ําที่เกิดมาจากการบริหารจัดการบ้านเมืองที่ไม่ดี และสิ่งนี้ไม่ควรเกิดขึ้นในสังคมไหน ๆ ทั้งนั้น”

“นี่เลยเป็นสิ่งที่ผลักดันให้เราทํางานชิ้นนี้ขึ้นมาค่ะ เพราะเราอยากชวนให้ทุกคนลองมองย้อนกลับไปถึงต้นตอของปัญหาให้มากขึ้น” พิมพ์ลภัสสรุป

เมื่อจับจุดแนวคิดในการทำธีสิสได้แล้ว ลำดับต่อไปก็คือการวางแผน ค้นคว้าเรียบเรียงข้อมูล และลงมือทำจริง ซึ่งวิดีโออาร์ตของพิมพ์ลภัสไม่ได้ใช้เทคนิคการทำแอนิเมชันมาสร้างภาพเท่านั้น แต่เธอยังสอดแทรกภาพฟุตเทจที่บันทึกมาจากเหตุการณ์จริงและสถานที่จริงผสมลงไปด้วย

เธอเริ่มเล่าให้เราฟังถึงขั้นตอนการทำงานว่า “หลังจากเราค้นคว้าข้อมูลผ่านการอ่านหนังสือ งานวิจัย การดูหนัง และการฟังพอดแคสต์ต่าง ๆ (วิธีนี้ช่วยได้เยอะมาก) เราก็เริ่มกลับมากำหนดขอบเขตการทำงานว่า เราจะพูดถึงประเด็นนี้ออกมาอย่างไร ซึ่งในท้ายที่สุดเราก็เลือกถ่ายทอดภาพชีวิตประจำวันของคนในสังคมเป็นแกนเรื่องหลักของวิดีโอ”

“ขั้นตอนแรกของการทํางาน คือการวางโครงเรื่องก่อนว่าจะให้ตัวละครออกมาเป็นยังไง ซึ่งเราไม่อยากทำให้เรื่องมันไกลตัวจนเกินไป เพราะอยากถ่ายทอดเรื่องราวที่เรารู้จริงที่สุด เลยวางโครงเรื่องทุกอย่างให้มันมีพื้นฐานมาจากตัวเราเองทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นตัวละครเด็กผู้หญิงที่ทุกคนเห็น มุมกล้องต่าง ๆ รวมไปตัวละคร “ผี” ที่ปรากฏออกมาเป็นระยะ ๆ ในวิดีโอ ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่แทนถึงตัวเราทั้งหมดเลย”

“สิ่งที่ทุกคนเห็นคือมุมมองผ่านสายตาของเราที่มองไปยังเรื่องราวต่าง ๆ เริ่มตั้งแต่เราเกิด มีเพื่อน ได้รู้จักความสัมพันธ์ จนถึงวัยหนึ่งที่เราโตขึ้น ก็เลยต้องแยกย้ายจากเพื่อนสนิทวัยเด็ก วัยที่เริ่มเห็นความแตกต่างของสถานะในสังคม ช่วงเวลาเหล่านี้เองที่นําพาโอกาสมาให้ และในขณะเดียวกันก็พรากโอกาสสําคัญ ๆ ในชีวิตหลายอย่างไปด้วย ซึ่งมันเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นกับเราและอ่อนไหวกับ มันมาก ๆ”

“ในส่วนของเทคนิคที่ใช้ในการทำวิดีโอครั้งนี้ เราจะใช้ 3 เทคนิคด้วยกัน เพื่อให้การบอกเล่ามันครบถ้วนอย่างที่เราต้องการ เทคนิคแรกคือแอนิเมชัน (Drawn animation) ที่จะนําเสนอเรื่องราวต่าง ๆ ให้ผู้ชมได้รับรู้ เริ่มตั้งแต่ฉากที่มนุษย์เราเกิดขึ้นมา จนเติบโตไปพร้อม ๆ กัน ซึ่งมนุษย์ในเรื่องนั้นก็คือตัวเราเอง”

“ต้องบอกก่อนว่า โดยส่วนตัวเราเป็นคนชอบวาดรูปอยู่แล้ว และลายเส้นของเราจะค่อนข้างเรียบง่าย ตรงไปตรงมา แต่ในขั้นตอนการทำแอนิเมชัน เราเลือกที่จะดีไซน์ฉากหลาย ๆ ฉากผ่านการใช้สัญญะ ให้มันมีความเหนือจริงอยู่ (Surrealist) เพื่อพูดถึงสภาวะความรู้สึกของตัวละครที่มันรู้สึกได้แต่ไม่สามารถเห็นได้โลกในความจริง ซึ่งต้องอาศัยการตีความจากคนดูด้วยว่าจะมองมันออกมาอย่างไร และมีความหมายว่าอย่างไรในสายตาของผู้ชม”

“เทคนิคต่อมาคือใช้ภาพฟุตเทจจากโลกความจริง โดยเราได้เดินทางไปเก็บข้อมูลและภาพฟุตเทจต่าง ๆ จากหลายสถานที่ มีทั้งใกล้และไกลบ้านในกรุงเทพฯ เพื่อที่จะนํามาถ่ายทอดแทนสายตาของเราในชีวิตจริง และพูดถึงความจริงที่เด็กทุกคนต้องเติบโตมาและพบเจอกับสิ่งเหล่านี้”

“เทคนิคสุดท้าย คือการแสดงเพอร์ฟอร์แมนซ์อาร์ต (Performance Arts) ส่วนตัวเราชอบใช้เทคนิคนี้มาก ๆ เพราะเวลาแสดงเราจะรู้สึกราวกับว่ามันมีความรู้สึกเจ็บปวดและติดขัดบางอย่าง อัดอั้นอยู่ข้างในอย่างบอกไม่ถูก เป็นความรู้สึกมากมายที่เราว่ามันพูดยากมาก ๆ เลย ซึ่งการแสดงครั้งนี้ เรามีคาแรกเตอร์เป็น ‘ผี’ เพื่อแทนถึงสิ่งที่คนในสังคมเลือกที่จะเมินเฉย หรือแทนการไม่มีตัวตน โดยเรานำชุดนักเรียนหลาย ๆ ตัวมาตัดเย็บเป็นชุดของผี เพื่อสื่อถึงวัยเยาว์ของเราที่สูญเสียไปกับชีวิตและรัฐสวัสดิการที่ไม่มีคุณภาพ”

พิมพ์ลภัสเล่าต่อว่า “สุดท้ายนี้เราตั้งใจให้ภาพจากทั้ง 3 เทคนิคมาอยู่ร่วมกัน ซึ่งเราต้องการให้ภาพมันขัดแย้งกันอยู่หน่อย ๆ เพื่อที่จะส่งความรู้สึกกึ่งโลกความจริงกับโลกของการ์ตูน คล้ายกับจะยอมเผชิญหน้ากับความจริง แต่ก็ไม่กล้าเผชิญหน้าสักทีออกมา”

เรียกว่าทั้งหัวข้อที่เลือกทำ วิธีการเก็บข้อมูลที่เลือกใช้ และการลงมือทำงานที่ต้องใช้ถึง 3 เทคนิค จะต้องใช้เวลาและพลังในการทำเป็นอย่างมาก แน่นอนว่าต้องมีอุปสรรคมากมายเข้ามาเป็นแน่ ซึ่งพิมพ์ลภัสก็พยักหน้าเห็นด้วยอย่างรวดเร็ว พร้อมกระซิบบอกเราว่า “มีอุปสรรคมาเรื่อย ๆ เลยค่ะ”

“เรื่องแรกเลยคือเรื่องเวลา ด้วยความที่มันเป็นธีสิส ก็เลยต้องแข่งกับเดดไลน์ไปในตัว เราเลยมีปัญหาเรื่องความต่อเนื่องในการทำงานตามมาด้วย เพราะการทําธีสิสในระยะเวลาเกือบปีบางทีไอเดียมันก็หยุดชะงัก จึงต้องพยายามควบคุมเรื่องความต่อเนื่องให้ได้ค่ะ”

“แต่ถ้าถามว่าเหนื่อยกับเรื่องไหนมากที่สุด ก็คงเป็นเรื่องหัวข้อที่ทําอยู่ค่ะ เพราะเรื่องที่เราทําอยู่มันเป็นเรื่องความเหลื่อมล้ํา และเรายังใส่ตัวเองลงไปในงานด้วย ก็เลยรู้สึกอินและสะเทือนใจเป็นพิเศษ เนื่องจากเราหยุดคิดไม่ได้ว่าทําไมสังคมเรามันถึงแย่ต่อคนที่ใช้ชีวิตอยู่ได้ขนาดนี้นะ และชีวิตของเราก็ไม่ต่างจากวิดีโอในงานที่ทำเลย ทำให้คิดเป็นลูปวนไปวนมาอยู่แบบนั้น บางครั้งก็รู้สึกอ่อนไหวและสิ้นหวังกับเรื่องที่ทําอยู่มาก ๆ จนต้องถอยออกมาพักก่อน พอมีแรงถึงจะกลับไปทําต่อได้”

เห็นความเหนื่อยขนาดนี้แล้ว เราเลยอยากให้ศิลปินช่วยปิดท้ายสั้น ๆ ถึงความรู้สึกของตัวเองในตอนนี้เสียหน่อย ว่าเมื่อทุกอย่างสำเร็จแล้วและมองย้อนกลับไปในตอนนั้น เธอรู้สึกอย่างไรบ้าง

พิมพ์ลภัสกล่าวยิ้ม ๆ ว่า “พอมองกลับไปแล้ว เรารู้สึกดีกับตัวเองที่สามารถปะติดปะต่อความรู้สึกที่มากมายเหล่านี้ออกมาให้เป็นเรื่องราวได้ค่ะ”

สามารถรับชมวิดีโออาร์ตฉบับเต็มของพิมพ์ลภัส จันทร์คงได้ที่: https://youtu.be/dxjdz6BseeA

หรือติดตามผลงานอื่น ๆ ของศิลปินได้ที่: https://www.instagram.com/p/CrBJv05BWIQ/?igshid=YmMyMTA2M2Y%3D