‘แฟชั่นและ Kitsch art’ เมื่อศิลปะ การลอกเลียน และอารมณ์ขัน มารวมกันเป็นแฟชั่นในแบบของ Primshalyn

Post on 23 July

หากนึกถึงคำว่า ‘แฟชั่น’ เชื่อว่าภาพของสินค้าแบรนด์เนมชื่อดังมากมายแบบไม่ซ้ำยี่ห้อ น่าจะไหลเวียนเข้ามาในความทรงจำของทุกคนได้ทันที พร้อมกับภาพของผู้มีอันจะกินมากมาย ที่สามารถจับจ่ายแฟชั่นเปี่ยมรสนิยมเหล่านั้นได้แบบง่าย ๆ ผุดขึ้นมา แต่จะเป็นอย่างไร ถ้าคำว่า ‘แฟชั่น’ ไม่ใช่ของมีราคา ไร้รสนิยม ตื้นเขิน และบางทีก็มาจากสิ่งที่เป็น ‘ขยะ’

และแล้ว ณ วันธรรมดาวันหนึ่งบนโลก X (อดีตทวิตเตอร์) ทีม GroundControl ก็บังเอิญพบกับภาพผลงานแฟชั่นสุดไวรัล ที่สร้างมาจากสิ่งธรรมดา ๆ อย่างกิ๊บหนีบผม ขี้กบเหลาดินสอ โบว์ ไฟแช็ก และเก้าอี้พลาสติกทั่วไป ให้ออกมาเป็นแฟชั่นที่ไม่ธรรมดาและน่าสนใจมาก แถมยังจุดประกายให้เรามองเห็นแฟชั่นในรูปแบบที่ต่างไปจากเดิม และหลังจากสืบไปค้นมา เราก็พบว่าเธอคือ ‘Primshalyn’ หรือ ‘ปริม-ภาณุมาศ จันทรา’ บัณฑิตจบใหม่หมาด ๆ จากคณะมัณฑนศิลป์ สาขาออกแบบเครื่องแต่งกาย มหาวิทยาลัยศิลปากร นั่นเอง

เมื่อพบศิลปินในเรดาร์แล้วแบบนี้ ก็ถึงเวลาที่เราจะกระโจนเข้าไปพูดคุย เพื่อค้นลึกถึงเบื้องหลังการทำงานตามสไตล์คอลัมน์ Artist on Our Radar ในทันที ซึ่งปริมก็ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี พร้อมกับแนะนำให้เรารู้จักคำศัพท์คำแรก ที่เป็นน้ำพุแห่งแรงบันดาลใจของเธอ นั่นก็คือคำว่า ‘kitsch art’

ปริมเริ่มเล่า “ชุดต่าง ๆ ที่ทุกคนเห็นกัน เป็นคอลเลคชันแรกของเราเลย และเราได้แรงบันดาลใจมาจากการเดินชมงานต่าง ๆ ในพิพิธภัณฑ์ลูฟว์ โดยเฉพาะภาพโมนาลิซา คือพอเราเห็นภาพนั้นเราก็มาคิดต่อว่า ภาพนี้ถูกนำมาลอกเลียนแบบและผลิตเป็นสินค้ากระจายไปทั่วโลกเยอะมาก มันเลยทำให้เรานึกถึงสิ่งที่เรียกว่า kitsch art อ่านว่า คิทช์อาร์ต มาจากคำว่า ‘verkitschen’ ในภาษาเยอรมันที่แปลว่า ‘ทำให้(ราคา)ถูก’ หรือผลงานที่ไปลอกเลียนแบบคนอื่นมาแล้วยังดูเชย ราคาถูก หรือมีคุณค่าน้อย จึงทำให้คิดย้อนกลับกันว่า ถ้าหากเรานำสิ่งของที่เป็น kitsch art มาใช้กับการออกแบบเสื้อผ้าบ้าง มันคงจะสนุกดี”

“ในการทำคอลเลคชันนี้เราเลยนำคำว่า ‘kitsch’ มาใช้ หมายถึงสิ่งที่ไม่มีรสนิยมที่ดี ราคาถูก และพบเห็นได้ทั่วไป แต่ในทางกลับกัน มันยังบ่งบอกถึงความนิยมกระแสหลักในด้านสุนทรียภาพของผู้คนหมู่มาก แนวคิดนี้จึงเกี่ยวกับการเสียดสีเรื่องรสนิยมและคุณค่าในงานศิลปะ เราเลยหยิบของต่าง ๆ รอบตัวที่ผู้คนน่าจะคุ้นเคยกับมันอย่างเช่น กิ๊บหนีบผม , ขี้กบเหลาดินสอ ,โบว์ และไฟแช็ค มาสร้างสรรค์เป็นเครื่องเเต่งกาย และเเรงบันดาลใจอีกอย่างคือ ศิลปิน เจฟฟ์ คูนส์ (Jeff Koons) ด้วยความชื่นชอบวิธีการคิดในการสร้างสรรค์ผลงาน และการเข้าถึงจิตใจผู้คน ทั้งหมดจึงหลอมรวมออกมาเป็นคอลเลคชันนี้”

“ปกติแล้วเมื่อจะทำคอลเลคชันขึ้นมาสักอันหนึ่ง เราต้องค้นคว้าทั้งหัวข้อ เนื้อหา และแรงบันดาลใจอย่างลึกซึ้ง ก่อนจะนำมาวิเคราะห์ตีความออกมาเป็นเค้าโครงดีเทลต่าง ๆ และทำขึ้นเป็นเสื้อผ้า ซึ่งบางครั้งเนื้อหาที่ต้องจะสื่อสารมันก็หายไปในระหว่างทาง เหลือเพียงเต่ความสวยงามของเสื้อผ้า ยิ่งเราเอาคอนเซปต์แบบ kitsch art มาใช้ ก็จะยิ่งทำให้คนรู้สึกว่ามันดูไร้เดียงสา ไม่แพง ซ้ำซาก ตื้นเขิน และดูเหมือนเราคิดน้อยเกินไป ดูง่ายเกินไป”

“ด้วยเหตุนี้ เราเลยดึงเค้าโครงจากความคิดแรกเริ่มมาแบบดิบ ๆ เลย แล้วเอามาทำเสื้อผ้าโดยปราศจากการปรุงแต่งทางความคิดใด ๆ เป็นการตัดความซับซ้อนของกระบวนการวิเคราะห์และการตีความ แต่มาเน้นในเรื่องของวัสดุที่แปลกใหม่และเล่นกับจิตวิทยาในการดึงดูดสายตาผู้คน”

“เราเริ่มจากการหาแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงาน ผ่านความสนใจและประสบการณ์ส่วนตัว จากนั้นก็ทำการค้นคว้า โดยขั้นตอนนี้มีทั้งการอ่านหนังสือ สัมภาษณ์ศิลปิน ทำแบบสอบถาม และหาความรู้เพิ่มเติมจากบทความต่าง ๆ โดยนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์และทำเป็นมู้ดบอร์ดเพื่อให้ทราบภาพรวมและดีเทลต่าง ๆ ของชุดที่จะออกแบบ อย่างโครงชุด ดีเทล การเลือกใช้ วัสดุ โทนสี เทคนิค และก่อนที่จะนำวัสดุเทคนิคต่าง ๆ มาลงในชิ้นงาน เราจะทดลองวัสดุต่าง ๆ ก่อนเสมอ” เธออธิบาย

“อย่างในคอลเลคชั่นนี้ เราต้องการให้ชุดมีโครงสร้างที่แข็งแรง ผิวเรียบ และมันวาว จึงเลือกใช้ ลาเท็กซ์ หนังแก้ว และ ไฟเบอร์กลาส มาใช้ในการทำงาน และบางชิ้นเราก็อยากให้ดูพิเศษและมีความสมจริงมากขึ้น เลยเลือกใช้วัสดุที่มีความโดดเด่น อย่างแผ่นไม้วีเนียร์และเส้นผม เมื่อทุกอย่างลงตัวแล้ว ก็จะมีการทำม็อกอัพเพื่อดูภาพรวมในผลงานเพื่อสามารถแก้ไขดีเทลต่าง ๆ ในขั้นตอนนี้ ก่อนจะนำมาทำเป็นชุดจริง”

อีกหนึ่งเอกลักษณ์ในผลงานของปริม คือเรื่องของอารมณ์ขัน ซึ่งเธอก็ได้บอกกับเราว่า “สำหรับเรื่องอารมณ์ขัน เราตั้งใจใส่ความรู้สึกนี้ลงไปในผลงานเพราะอยากให้มันดูสนุกสนาน และเมื่อมันมาผสมกับแนวความคิดอื่น ๆ สีสันที่มีความฉูดฉาด และรูปลักษณ์ที่แปลกใหม่ แต่ในขณะเดียวกันก็ยังมีความสวยงามโดยภาพรวม ก็จะทำให้เกิดเป็นผลงานที่น่าสนใจขึ้นได้”

The demons inside (2022)

จากภาพวาดของ พอลลี่ นอร์ (Polly Nor) ศิลปินผู้ถ่ายทอดเรื่องราวของหญิงสาวและปีศาจที่ซ่อนอยู่ในตัวเธอ ปีศาจเปรียบเสมือนตัณหาของหญิงสาว ปีศาจมักจะโลดแล่นอยู่ในธรรมชาติและเป็นอิสระ ซึ่งแตกต่างกับหญิงสาวที่ต้องใช้ชีวิตอยู่ในกรอบ ชุดนี้จึงสื่อถึงการปลดปล่อยความปรารถนาในตัวเองออกมา โดยใช้ดอกไม้เป็นตัวแทนของปีศาจหรือความปรารถนาลึก ๆ ในใจของเราที่แอบซ่อนมันไว้เพื่อให้เราสามารถดำรงชีวิตอยู่ภายใต้กรอบศีลธรรมอันดีงาม

เราชื่นชอบผลงานชิ้นนี้เพราะรู้สึกว่ามันเป็นงานออกแบบชิ้นแรกที่ค้นพบสไตล์งานของตัวเอง

The blue chair (2023)

ชุดนี้เป็นชุดจาก Pre-thesis collection แรงบัลดาจใจมาจากคอนเซ็ปเรื่อง Kitsch art เราตั้งใจออกแบบให้เป็นงานแนวคอนเซปต์ชวลอาร์ต เลยหยิบเค้าโครงของเก้าอี้พลาสติก ซึ่งเป็นไอเท็มที่เน้นย้ำความเป็น kitsch ตามท้องถนน และสามารถสื่อสารคอนเซ็ปต์ได้ดี ชุดนี้มีการเพิ่มฟังก์ชั่นการนั่งในตัวชุดและการพับเก็บในส่วนของขาเก้าอี้ ชุดนี้ต้องใช้ทักษะความรู้ความชำนาญหลายแขนง ต้องทำงานกับช่างฝีมือหลายคน เพื่อให้ลุคนี้ออกมาเสร็จสมบูรณ์

Hair clip (2024)

อันนี้ก็เป็นชุดจาก Thesis collection แรงบัลดาจใจก็มาจากคอนเซ็ปเรื่อง Kitsch art อีกเช่นกัน โดยการที่เอากิ๊บหนีบผมมาทำ เพราะเราคิดว่ามันเป็นไอเท็มที่ทุกคนเข้าถึง และไอเท็มชิ้นนี้เป็นไอเท็มที่ย้ำความเป็น kitsch ตามท้องถนน และสามารถสื่อสารคอนเซ็ปได้ดี

เราเลือกใช้กิ๊บหนีบผมมาทำเป็นคอร์เซต โดยเลือกที่จะคงความเป็นกิ๊บหนีบผมแบบเพียว ๆ โดยไม่ปรับแต่งใด ๆ เพื่อให้ผู้ชมเกิดความรู้สึกคุ้นเคย และรับรู้ได้ในทันทีตั้งแต่แรกเห็น

ความพิเศษของผลงานชิ้นนี้ คือการมาคู่กันกับเดรสที่สร้างมาจากเส้นผมจริง และเหตุผลที่เราเลือกใช้เส้นผมมาทำเพราะอยากขับเน้นไอเท็มตั้งต้นอย่างกิ๊บหนีบผมให้มีความโดดเด่นมากขึ้น โดยการใช้เส้นผมมาทำเป็นเดรสจะช่วยให้เกิดความคอนทราส และยังได้สัมผัสที่พริ้วไหวผ่านพื้นผิวของเส้นผมสำหรับเรา งานชิ้นนี้เลยเป็นผลงานอีกหนึ่งชุดที่มีความโดดเด่นและความสนุนสนาน

ปริมยังฝากให้เราติดตามผลงานในอนาคตของเธอด้วยว่า “เราอยากลองทำเสื้อผ้าประเภท creative ready to wear แต่ยังคงความเป็นเอกลักษณ์ของเราในงาน ความสนุกสนานขี้เล่นในการออกแบบ การใช้เค้าโครงที่แปลกตา การใช้วัสดุและเทคนิคที่หลากหลาย แต่ปรับให้อยู่ในรูปแบบที่สวมใส่ได้ในชีวิตประจำวัน และจะพยายามนำเสนอแนวคิดใหม่ ๆ ต่อไป”

สามารถติดตามผลงานอื่น ๆ ของ Primshalyn ได้ที่: primshalyn