GC_MultiCover_cover web.jpg

R u gud boi? ความสัมพันธ์ ความทรงจำ และหมา 8 ตัว สำรวจตัวตนในรอยแตกหักกับ ‘บิ๋ม–อภิชญา วรรณกิจ’

Post on 26 August

ถ้าให้ย้อนคิดถึงความทรงจำวัยเด็กที่ยากสลัด ทุกคนคิดถึงอะไรกันบ้าง? ถ้าถาม ‘บิ๋ม–อภิชญา วรรณกิจ’ ศิลปินรุ่นใหม่เจ้าของนิทรรศการ R u gud boi? ที่เรามาพบวันนี้ เธอจะตอบว่า ‘หมา’ 

คำว่า ‘หมา’ 1 คำ ประกอบสร้างขึ้นจาก ‘หมา’ 8 ตัวที่ผ่านเข้ามาในชีวิตวัยเด็กของเธอ ทั้ง 8 ตัวมีจุดร่วมเดียวกันคือพวกมันเข้ามาทางพ่อเพื่อเป็นเพื่อนแก้เหงาให้ลูกสาว ก่อนจะจากเป็นหรือไม่ก็จากตายไปจากเธอตัวแล้วตัวเล่า แน่นอนว่ากับคนรักหมา พวกมันไม่เพียงเป็น ‘หมา’ ที่เธอมีหน้าที่เพียงให้อาหาร แต่พวกมันเปรียบเสมือนเพื่อนและครอบครัวที่ช่วยให้วัยเด็กของเธอสมบูรณ์และเป็นเธออย่างทุกวันนี้

ถ้ามองปราดเดียว หลายคนอาจจะรู้สึกว่านิทรรศการครั้งนี้ก็เป็นเพียงเรื่องของหมา และถูกวาดขึ้นอย่างง่ายๆ แต่แท้จริงแล้วเรื่องหมาๆ เหล่านี้นี่แหละที่ชวนให้เราได้กลับไปสำรวจวัยเด็กของเราอีกครั้ง และความน่าสนใจมากกว่านั้นคือลายเส้นแบบไร้เดียงสาเหมือนเด็กวาดตรงนี้เกิดจากความตั้งใจของบิ๋มเอง ทั้งที่เธอก็เคยล่ารางวัลด้วยลายเส้นจริงจังในระดับประเทศมาแล้ว

อะไรทำให้เธอเลือกนำเสนอความทรงจำระหว่างเธอกับหมาในนิทรรศการเดี่ยวครั้งแรก? อะไรทำให้เธอเลือกที่จะวาด Naive Art มากกว่า Realistic Art แบบที่เธอถนัด บิ๋มรอให้คำตอบของเราท่ามกลางหมาทั้ง 8 ตัวของเธอในห้องนิทรรศการแล้ว

ความทรงจำ

“ตั้งแต่จำความได้ เราก็วาดรูปมาโดยตลอด” บิ๋มเกริ่นเมื่อเราหาที่ทางในการสนทนาครั้งนี้เรียบร้อย

“เพราะแม่ไม่มีเวลาดูแลเรามากขนาดนั้น เวลาเขาทำงานบ้าน เขาก็จะมัดขาเราไว้กับโต๊ะไม่ให้ไปโดนพวกแก๊สหรือสิ่งของอันตราย แล้วก็ปล่อยให้เราอยู่กับดินสอสีและกระดาษ”

ความที่ศิลปะและตัวเธอเองนั้นแยกไม่ขาด ในวันนี้เธอจึงกลายเป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะจิตรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และได้มีโอกาสเป็นศิลปินรุ่นใหม่ในโปรเจกต์ ‘I know your great grand aunty’ โดยพื้นที่ศิลปะทางเลือก Speedy Grandma ของ ‘ลี–อัญชลี อนันตวัฒน์’ ที่ชวนคนรู้จักกลับมาร่วมกันสร้างผลงานกันอีกครั้ง

“พอดีช่วงที่พี่ลีมาชวนทำนิทรรศการ เรากำลังอินกับประเด็นความทรงจำในวัยเด็กของเราที่ไม่เคยถ่ายทอดออกมาเป็นงานศิลปะและไม่เคยเปิดเผยที่ไหนอย่างจริงจัง ทั้งที่จริงแล้วมันเป็นส่วนประกอบสำคัญต่อการประกอบสร้างตัวเรามากๆ” 

และ ‘หมา’ ทั้ง 8 ตัวที่ผ่านเข้ามาในชีวิตวัยเด็กของเธอนั้นเองที่เป็นความทรงจำที่สลัดยังไงก็ไม่เคยหายไปจากใจ

“เขาไม่ใช่พ่อแม่หรือเพื่อนหรือน้องหรือญาติหรือมนุษย์ ความทรงจำวัยเด็กของเรามันไม่ได้มีแค่นั้นแต่คือสัตว์เลี้ยงที่อยู่กับเรา เราไม่เคยกลับไปสำรวจมันอย่างจริงจังเลยอยากลองนำความทรงจำตรงนี้มาทำให้เป็นภาพที่ชัดเจนขึ้น”

ความสัมพันธ์

เพื่อนวัยเด็กของหลายคนอาจจะเป็นเด็กข้างบ้าน ไม่ก็พ่อแม่ของตัวเอง หรือไม่ก็ของเล่นชิ้นโปรดที่ช่วยปลอบประโลมจิตใจยามเหงา แต่สำหรับบิ๋ม ทั้งหมาพันธุ์และหมาบ้านที่พ่อเลือกซื้อเข้ามาให้เธอเลี้ยงถือเป็นเพื่อนที่ไปไหนไปกัน

“หมาตัวแรกที่เราจำได้คือซิเด๋อหรือหมาพุดเดิ้ลสีน้ำตาลที่อยู่บนโต๊ะหินอ่อนตารางหมากรุก” เธอชี้ไปยังภาพหนึ่ง “แต่ละตัวจะอยู่ในสถานที่ต่างๆ ตามช่วงเวลาในชีวิตของเรา อย่างคอกเกอร์ตัวนี้ชื่อบราวก็อยู่ในสวนหลังบ้าน ส่วนลาบาดอตัวนี้ที่ชื่อบราวเหมือนกันเขาไม่ค่อยนิ่ง เราเลยวาดเขาในฟอร์มแบบนี้ซึ่งกำลังเล่นสปริงเกอร์อยู่”

แต่ด้วยความที่เธอยังเด็ก เธอจึงเลี้ยงพวกมันเหมือนเพื่อนโดยไม่รู้ว่าการเลี้ยงหมาที่ถูกต้องเป็นแบบไหน เช่น หมาห้ามกินอะไร หรือหมาควรจะกินอะไร กระทั่งเธอได้รู้จักกับความตายครั้งแรกก็ตอนที่พุดเดิ้ลตัวแรกของเธอเสียชีวิตด้วยโรคลำไส้

“ตอนเช้าวันหนึ่งช่วงที่เราอายุได้ประมาณ 3-4 ขวบ เราเดินไปจิ้มพุดเดิ้ลที่นอนอยู่หน้าบ้านแต่เขาตัวแข็งไปแล้ว เราเลยไปบอกแม่แม่ก็ตกใจแล้วพูดว่าเขาตายแล้ว เราสงสัยว่าตายแล้วคืออะไร แม่ไม่รู้จะอธิบายยังไงก็บอกว่าเราจะไม่เจอกันอีกแล้ว เราก็ถามอีกว่า ไม่เจอกันจนถึงเมื่อไหร่ แม่เลยตอบว่าก็จนกว่าเราจะตาย เราก็เริ่มคิดแล้วว่าสิ่งที่เรียกว่า ‘ความตาย’ มันน่ากลัวเหมือนกันนะ”

<p>บิ๋มเล่าว่าเป็นภาพตอนเธอนำซิเด๋อไปฝัง</p>

บิ๋มเล่าว่าเป็นภาพตอนเธอนำซิเด๋อไปฝัง

นอกจากบิ๋มจะได้รู้จักกับความตายเป็นครั้งแรก เธอก็ยังได้เรียนรู้ที่จะเป็นผู้ใหญ่ในมุมมองอื่นๆ จากการที่หมาพันธุ์ไทยนามว่าเตี้ยหายไปจากบ้าน บ้างก็หมาบลูด็อกที่พ่อซื้อมาเพื่อผสมพันธุ์ถูกขายต่อ และวนกลับมาเรียนรู้เรื่องความตายอีกครั้งเมื่อคอกเกอร์ของเธอเสียชีวิตด้วยโรคลำไส้เช่นเดียวกับพุดเดิ้ลตัวแรก

“คืนหลังจากที่เราพาเขาไปหาหมอ เราบอกว่าพรุ่งนี้เจอกันใหม่นะแล้วก็เข้านอนไป แต่พอตื่นเช้าขึ้นมาเจอหน้าเขา เขาหายใจเร็วมากเหมือนตื่นเต้นที่ได้เจอเรา แต่จากนั้นเขาก็เสียไปเหมือนกัน เหมือนกับว่าเขารอจนเช้าเพื่อที่จะเจอกัน หลังจากนั้นเราก็ไม่ได้เลี้ยงหมาอีกเลย”

น่าแปลกใจที่เธอเลือกนำเสนอนิทรรศการครั้งแรกในชีวิตด้วยเรื่องที่เศร้า เราจึงอยากรู้จากปากว่าเธอวาดภาพทั้งหมดนี้จนนำมาจัดแสดงด้วยความรู้สึกแบบไหน

“เราคงคิดถึงมั้ง เรานึกถึงเรื่องนี้มาตลอดแต่ไม่เคยคิดถึงอย่างจริงจัง พอต้องมาทำนิทรรศการ เราเลยต้องค่อยๆ นึกภาพที่หลงเหลือในความทรงจำ ถ้าให้พ่อกับแม่นึก เขาก็อาจจะนึกถึงหมาในรูปแบบที่ต่างจากเรา การทำนิทรรศการครั้งนี้มันเลยเหมือนให้เราได้สำรวจมุมมองของตัวเองที่มีต่อพวกเขา”

ชื่อนิทรรศการว่า R u gud boi? และชื่อ zine ประกอบนิทรรศการว่า Wil we meet again? ก็คงเป็นข้อสรุปของความสัมพันธ์ครั้งนี้ซึ่งไม่ได้เป็นเพียงความทรงจำเปล่าเปลือยแต่เป็นส่วนประกอบหนึ่งในตัวตน


 

การแตกหัก

ถ้าไล่ดูภาพแต่ละภาพในทั้ง 2 ห้องนิทรรศการ เราจะเห็นว่าภาพเหล่านั้นวาดขึ้นมาด้วยลายเส้นง่ายๆ ไร้เดียงสา แตกต่างห่างไกลจากความเป็นนักศึกษาวิชาศิลปะที่หลายคนคุ้นชิน แต่ภายใต้ลายเส้นเหล่านี้ล้วนมีความหมายบางอย่างซ่อนอยู่ มันเป็นความหมายที่สื่อถึงการแตกหักและการออกจากขนบประเพณี

“เมื่อก่อนเราเป็นเด็กสายประกวดเลยนะ เคยได้รับรางวัลระดับประเทศมาแล้ว เคยแข่งวาดภาพภายใน 3 ชั่วโมง แต่พอถึงจุดหนึ่งเรารู้สึกว่าการประกวดเหล่านี้มันค่อนข้างมีแบบแผนมากเลย เราเริ่มตั้งคำถามกับตัวเองว่าเป้าหมายของการประกวดคืออะไร แล้วเป้าหมายของเราคืออะไร เราอยากเป็นศิลปินแบบไหน งานของเรามันจะนำเสนออะไรพิเศษไหม 

“เราเลยพยายามตามหาสิ่งใหม่ๆ ให้ตัวเองไม่จมอยู่กับคอมฟอร์ตโซนอย่างงานแบบ academic และ realistic จนได้มาลองวาดแบบ naive art ในนิทรรศการนี้อย่างจริงจังนั่นแหละ”

<p>ภาพสีน้ำมันชุดแรก</p>

ภาพสีน้ำมันชุดแรก

บิ๋มบอกความตั้งใจของเธอในการเป็นศิลปินซึ่งสัมพันธ์กับงานครั้งนี้ไม่น้อย เพราะแรกเริ่มเดิมทีบิ๋มเลือกวาดภาพหลายชิ้นในนิทรรศการครั้งนี้ด้วยสีน้ำมันบนแคนวาสแต่เธอกลับพบว่าภาพเหล่านั้นยังไม่ใช่ภาพที่เธออยากเห็นในนิทรรศการครั้งนี้

“สีน้ำมันมันทำให้งานดูหนักแน่นและจริงจังเกินไป ขัดจากสิ่งที่เราอยากนำเสนออย่างประเด็นความทรงจำซึ่งมันพร่าเลือน เราเลยลองกลับมาสเก็ตช์ภาพง่ายๆ บนกระดาษ ก่อนจะลองตามหาเท็กซ์เจอร์ของกระดาษที่สื่อถึงความทรงจำจนเจอกระดาษสา 

“สุดท้ายเราจึงเลือกใช้สีกวอชในการวาด มันเป็นการวาดแบบง่ายๆ ไม่มีแสงเงา ไม่สมมาตร ซึ่งตอนแรก เราเคยดูถูกงานวาดแบบนี้ แต่พอเราได้มาวาดเอง เรากลับพบว่ามันไม่ง่ายเลยนะ และคนที่วาดงานแบบนี้เขาก็วาดได้ดีมากๆ แต่ทำไมมันไม่เคยปรากฏในวงการศิลปะเท่าไหร่”

“เราจึงได้รู้ว่าการแตกหักกับตัวเองมันเป็นอะไรที่สำคัญเหมือนกัน เพราะพอเราแตกหักกับตัวเองเราจะเจอสิ่งใหม่ๆ อย่างตอนทำงานนี้เราสนุกกับ naive art ก็จริง แต่เราก็อยากจะทดลองเทคนิคใหม่ๆ แล้ว มันคือการทดลองเพื่อดูว่าเราสามารถเป็นแบบไหนได้อีกบ้าง”

สำหรับเรา นิทรรศการครั้งนี้จึงเหมาะนักกับคนรักหมา หรือกระทั่งแมวและสัตว์เลี้ยงอื่นๆ แต่ขณะเดียวกัน R u gud boi? ก็สำคัญต่อคนทั่วไปไม่น้อยเพราะเรื่องราวของมันคอยย้ำเตือนให้เราได้กลับไปเป็นเด็กอีกครั้ง ส่วนลายเส้นของบิ๋มก็จะเป็นเครื่องเตือนใจให้เราได้สำรวจรอยแตกหักในใจเพื่อค้นหาตัวตนใหม่ๆ ของตัวเองอยู่เสมอ

ถ้าใครจะถามเราในคำถามเดียวกับที่คิวเรเตอร์สงสัยในครั้งแรกว่า ‘ถ้าเนื้อหาของนิทรรศการมันมีแค่นี้เลยได้มั้ย’ เราก็ได้คำตอบในใจแล้ว