Give.me.museums ศิลปินผู้สร้างพื้นที่สบายใจให้ตัวเอง (และถ้าดีกับคนอื่นด้วยก็ยินดีแบ่งปัน)

Post on 24 January

ไม่ต้องรู้ก็ได้ว่าภาพข้างหน้าคือศิลปะแนวไหน หรือพยายามพูดเรื่องอะไร เพราะแค่เห็นผลงานของ Give.me.museums เราก็ ‘รู้สึกสบายใจ’ แล้ว 

Give.me.museums หรือ ออย–คนธรัตน์ เตชะไตรศร คือศิลปินผู้เป็นเจ้าของภาพวาดดอกไม้ ทุ่งหญ้า และป่าเขาสีสันสดใส เธอโตมาในครอบครัวที่พ่อวาดรูปเป็นงานอดิเรก ส่วนแม่ก็ให้อิสระเธอในการขีดเขียนผนังตั้งแต่เด็ก ทำให้เมื่อเติบโตขึ้น เส้นทางศิลปะจึงเป็นทางเดียวที่เธอเลือก และการเข้าเรียนในสาขานฤมิตศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยก็ทำให้เธอได้รู้จักกับศิลปะแบบอิมเพรสชั่นนิสม์ซึ่งส่งผลต่องานของเธอแบบเต็มๆ

“ศิลปะยุคอิมเพรสชั่นนิสม์ป็นยุคที่ศิลปินเริ่มขยายกรอบความงามและบริบทของศิลปะออกไป ไม่ใช่แค่การวาดภาพเหมือน หรือต้องพูดถึงประเด็นใหญ่ๆ เท่านั้น แต่สามารถเล่าเรื่องราวที่เรียบง่ายผ่านศิลปะได้เช่นกัน เน้นบรรยากาศและความรู้สึกเพื่อให้คนเข้าถึง สิ่งนี้ค่อนข้างเชื่อมโยงกับแนวคิดและไลฟ์สไตล์เรา ดังนั้นถึงไม่ได้ตั้งใจว่าต้องถูกจำกัดความ แต่ถ้าต้องจัดหมวดหมู่ อิมเพรสชั่นนิสม์คงตรงกับเราที่สุด” 

สำหรับขั้นตอนการทำงาน ออยเล่าให้เราฟังว่าในการเริ่มงานแต่ละครั้ง เธอมักจากตั้งต้นจาก ‘ความอยากที่จะวาด’ ไว้ก่อน ออยมักป้ายสีไปก่อนตามอารมณ์และความรู้สึก แล้วค่อยๆ แต่งเติมให้เป็นรูปร่างมากขึ้น ดังนั้นจึงไม่แปลกที่ในอีกแง่ การงานของออยจึงเป็นการสร้างพื้นที่แห่งความสบายใจให้ตัวเธอเอง 

“งานส่วนใหญ่ของเรามักเป็นภาพสถานที่ที่ไม่ได้มีอยู่จริง สบายตา ดูมีชีวิตชีวาแม้ไม่มีคน ดูสงบและอุดมสมบูรณ์เกินจริง ซึ่งทั้งหมดเป็นเพราะเรารู้สึกได้รับการเยียวยาจิตใจระหว่างที่ทำงานศิลปะ เราสบายใจและสงบขึ้น ความรู้สึกเหล่านี้จึงสะท้อนออกมาผ่านงานที่ทำ

“ภาพของเราเลยเหมือนเป็นพื้นที่พักพิง ฟื้นฟูจิตใจและสายตายามเหนื่อยล้าก่อนจะต้องกลับไปใช้ชีวิตต่อสู้กับชีวิตจริงที่หลีกหนีได้ยาก พูดง่ายๆ ว่าการสร้างงานของเราเหมือนเป็นการสร้างพื้นที่สบายใจให้ตัวเอง และหากผู้ชมเห็นว่าผลงานของเราคือพื้นที่สบายใจของเขา เราก็ยินดีจะแบ่งปันค่ะ” 

ปัจจุบันถ้าใครอยากแบ่งปันพื้นที่ความสบายใจร่วมกันกับออย ผลงานของ Give.me.museums นั้นมีทั้งในรูปแบบของออนไลน์ นิทรรศการ และ Merchandise ใครที่อยากปลดปล่อยอารมณ์จากโลกที่เหนื่อยล้าก็สามารถเข้าไปสัมผัสกันได้ ซึ่งเรื่องนี้เป็นอีกหนึ่งประเด็นที่เธอทิ้งท้ายไว้กับเราเช่นกัน

“ทุกคนควรเข้าถึงศิลปะได้อย่างเท่าเทียม การเข้าถึงสิ่งที่ทำให้จรรโลงใจหรือการได้รับความสบายใจควรเป็นสิ่งที่ทุกคนได้รับ ถึงศิลปะจะไม่ใช่หนึ่งในปัจจัยหลักที่ทำให้คนสามารถดำรงชีวิตอยู่ แต่ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้คนมีชีวิตอยู่ด้วยสุขภาพจิตและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และคุณภาพชีวิตที่ดีก็เป็นสิ่งที่ทุกคนควรเข้าถึงได้โดยง่ายค่ะ”

ติดตามผลงานของ Give.me.museums ได้ที่ 

givememuseums.com/th 

facebook.com/give.me.museums 

instagram.com/give.me.museums 

twitter.com/givemuseums