สายใยของความเหลื่อมล้ำและการปลอบประโลม ในนิทรรศการ SUTURE โดย มรกต เกษเกล้า

Post on 14 January

เรื่อง: จิรัฏฐ์ ประเสริฐทรัพย์
ภาพ: Jing Jai Gallery

ภายใต้ความละมุนตา เมื่อพินิจลึกลงไปในรายละเอียด เราจะพบว่าผลงานของมรกต เกษเกล้า แฝงนัยของความพยายามที่จะปลอบประโลมบางสิ่ง หากก็เสียดแทงบางอย่างไปพร้อมกัน

Suture คือนิทรรศการเดี่ยวครั้งล่าสุดของศิลปินและอาจารย์ประจำคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ผู้นี้ คัดสรรโดยภัณฑารักษ์ ชล เจนประภาพันธ์ จัดแสดงที่ จริงใจแกลเลอรี่ เชียงใหม่ ถึงวันที่ 19 มกราคม 2568

นิทรรศการประกอบด้วยจิตรกรรมและประติมากรรมจัดวางกว่า 50 ชิ้น ผลงานเกือบทั้งหมดเป็นสื่อผสมระหว่างงานจิตรกรรมกึ่งนามธรรม กับเทคนิคการใช้ด้ายปักชุนรอยปริแตกบนผืนผ้าใบ โดยศิลปินนำแรงบันดาลใจในเนื้อหาของงานชุดนี้มาจากการได้รับเชิญจาก Abu Dhabi Art Hub ไปบรรยายแก่นักศึกษาศิลปะบนเกาะโซโคตรา (Socotra Island) ประเทศเยเมน เมื่อช่วงกลางปี 2567 ที่ผ่านมา

ตั้งอยู่ในทะเลอาราเบียน มหาสมุทรอินเดีย เกาะโซโคตราเป็นดินแดนที่มีภูมิทัศน์แปลกตาที่สุดแห่งหนึ่งของโลก โดดเด่นด้วยต้นเลือดมังกร (Dragon's Blood) อันเป็นพืชประจำถิ่น แต่ภายใต้ความงดงามทางธรรมชาติ ศิลปินกลับพบความเหลื่อมล้ำที่ฝังรากลึก ผ่านภาพบ้านพักตากอากาศสุดหรูของคนต่างชาติ กับวิถีชีวิตอันอัตคัดของคนท้องถิ่น ที่ไม่มีแม้แต่ไฟฟ้าและน้ำสะอาด

“ธรรมชาติบนเกาะงดงามมาก ๆ แต่ขณะเดียวกัน เรากลับรู้สึกเศร้าอย่างบอกไม่ถูก มันไม่ใช่แค่เพราะที่นั่นยังขาดสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐาน แต่มาจากการได้พบว่าคนท้องถิ่นหลายคนไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองเป็นเจ้าของเกาะนี้ พวกเขารู้สึกเหมือนเป็นคนมาเฝ้าบ้านให้คนอื่น” มรกต กล่าว

ภายหลังจากการเกิดสงครามเยเมนในปี 2558 สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) ร่วมกับซาอุดีอาระเบียเข้าแทรกแซงเยเมน ก่อนที่ในอีก 3 ปีต่อมา ยูเออีก็ได้ส่งกำลังทหารเข้าควบคุมเกาะโซโคตราโดยอ้างเหตุผลด้านความมั่นคง พร้อมทั้งได้เข้ามาพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และกอบโกยผลประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและการท่องเที่ยว เปลี่ยนสถานะของผู้คนบนเกาะให้เป็นเพียงผู้อาศัยบนดินแดนของตัวเอง

“เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเยเมน ไม่ต่างจากความขัดแย้งในปาเลสไตน์ หรือภูมิภาคอื่น ๆ มันเป็นภาพสะท้อนของการที่ประเทศที่มีอำนาจมากกว่าพยายามสรรหาความชอบธรรม เพื่อเข้ามาแทรกแซงและกอบโกยผลประโยชน์จากดินแดนอื่น และผลลัพธ์ของมันก็ปรากฏชัดผ่านคุณภาพชีวิตของคนท้องถิ่น” มรกต กล่าว

ภายหลังที่ใช้ชีวิตอยู่บนเกาะราวครึ่งเดือน มรกตก็ได้กลับเชียงใหม่ และใช้เทคนิคการปะชุนบนงานจิตรกรรม เพื่อสะท้อน "เส้นแบ่ง" ของความขัดแย้งและความเหลื่อมล้ำที่เพิ่งได้สัมผัส

ไม่ว่าเจ้าตัวจะตั้งใจหรือไม่ ผู้เขียนก็พบว่าในความมุ่งมั่นของมรกตที่จะภาพเขียนภูมิทัศน์อันงดงามเพื่อการปลอบประโลม กลับปรากฏนัยของการเสียดเย้ยผู้ที่มีส่วนสำคัญที่ทำให้ดินแดนนี้เป็นอย่างที่เห็นอยู่ในที ซึ่งก็เป็นเรื่องย้อนแย้งอย่างน่าสนใจดี เนื่องจากสถาบันที่เชิญเธอมาพำนักบนเกาะดังกล่าวอย่าง Abu Dhabi Art Hub นั้น มาจากยูเออี

เทคนิคการปักชุนบนงานจิตรกรรมเป็นเอกลักษณ์ที่ศิลปินพัฒนามาเมื่อเกือบ 10 ปีที่แล้ว มรกตนำความทรงจำสมัยที่แม่สอนให้เธอซ่อมเสื้อผ้าด้วยตนเองมาใช้กับงานชุด Anthropocene Era (2559) นิทรรศการเดี่ยวที่ Gallery Seescape (ภัณฑารักษ์โดย เซบาสเตียน ตายัค) เพื่อสะท้อนการเยียวยาและซ่อมแซมตัวเองจากมรสุมชีวิต โดยเทียบเคียงกับความพยายามของมนุษย์คนหนึ่งที่จะทำบางอย่างเพื่อชดเชยให้ธรรมชาติในยุคแอนโทรโพซีน (ยุคสมัยที่มนุษยชาติรุ่งเรืองถึงขีดสุดจนสร้างผลกระทบอันใหญ่หลวงต่อสิ่งแวดล้อม)

เทคนิคดังกล่าวยังปรากฏในผลงานต่อมาอีกหลายชิ้น รวมถึงนิทรรศการก่อนหน้า SEAM-less (แสดงร่วมกับ คัตเทีย พรินส์ ศิลปินชาวเนเธอร์แลนด์ ที่ ATTA Gallery กรุงเทพฯ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ – เมษายน 2567 ที่ผ่านมา) ซึ่งมรกตเปลี่ยนทิศทางการเล่าเรื่อง มาพูดถึงภูมิรัฐศาสตร์ว่าด้วยดินแดนที่ถูกครอบครอง ไม่ว่าจะเป็นการวาดกำแพงคอนกรีตในปาเลสไตน์ หรือกำแพงบนชายแดนสหรัฐฯ - เม็กซิโก และใช้การปักชุนเน้นย้ำถึง “เส้นแบ่ง” ความแตกต่าง และสร้างความหมายบางอย่างบนกำแพง

แน่นอน ภายหลังที่เธอไปเยือนเกาะโซโคตรา โครงความคิดนี้จึงได้รับการตอกย้ำอีกครั้งผ่านเทคนิคที่เธอคุ้นมือ ในนิทรรศการ Suture ชุดนี้

Illumination on the Shore (2567)

Illumination on the Shore (2567)

Illumination on the Shore (2567) คือหนึ่งในจิตรกรรมที่บอกเล่าความเหลื่อมล้ำในโซโคตราอย่างชัดเจน ศิลปินวาดรูปเนินเขาสีเขียวที่สะท้อนความชุ่มชื่นที่มีอยู่น้อยนิดบนเกาะ ตัดกับท้องฟ้าสีครามในยามค่ำคืนที่ดูเศร้าสร้อย บริเวณกลางภาพคืออาคารขนาดใหญ่ที่มีแสงไฟเจิดจ้าซึ่งเกิดจากการปักชุนด้ายสีเหลืองลงไป ภาพดังกล่าวมาจากการที่เธอได้เห็นบ้านพักตากอากาศสุดหรูที่ใช้แผงโซลาร์เซลล์กักเก็บประกายแดดเพื่อให้แสงสว่างยามค่ำคืน ในขณะที่บ้านเรือนของชาวบ้านส่วนใหญ่กลับตกอยู่ในความมืดมิด เพราะขาดไร้ซึ่งไฟฟ้า

Beside Socotra Market (2567)

Beside Socotra Market (2567)

Beside Socotra Market (2567) คือภาพทิวทัศน์ของตลาดบนเกาะ ที่มองเผิน ๆ ดูคล้ายศิลปินจะวาดภาพเงาของสิ่งปลูกสร้างกลับหัว แต่แท้จริงแล้วเบื้องล่างของรูปทรงอาคารกลางภาพ คือกองขยะที่สุมทุมเรี่ยราดบนทางเท้า ขาดไร้ซึ่งการจัดการ

Reconstituted (2567)

Reconstituted (2567)

Reconstituted (2567) คือประติมากรรมจัดวาง - ซากอิฐที่ศิลปินเก็บมาจากอาคารที่ถูกรื้อละแวกบ้าน ก่อนจะแปะทับด้วยรูปจากหน้านิตยสาร และปักชุนบางส่วนของรูป ประหนึ่งชิ้นส่วนของอาคารที่บรรจุเรื่องราวเฉพาะตัว แต่ถูกทำให้กระจัดกระจายจากภาวะสงคราม

อย่างไรก็ดี ใช่ว่านิทรรศการชุดนี้จะนำเสนอความหม่นหมองเสียทีเดียว ผลงานหลายชิ้นก็สะท้อนภาพความหวังของการมีชีวิต ผ่านการนำเสนอนิยามของคำว่า “บ้าน” ไม่น้อยไปกว่ากัน

Remembrance (2567) จิตรกรรมรูปแพะใต้ต้นเลือดมังกรบนแผงกั้นไม้สักจำนวน 4 ช่อง ที่ศิลปินนำแรงบันดาลใจมาจากการได้เห็นตู้ในค่ายอพยพในปาเลสไตน์ ที่ผู้คนในนั้นเปลี่ยนเต็นท์พักพิงชั่วคราวให้กลายเป็นพื้นที่ปลอดภัย มาสวมทับกับรูปที่เป็นสัญลักษณ์ของเกาะโซโคตรา เธอมองว่า “บ้าน” ไม่ได้ถูกนิยามจากสิ่งปลูกสร้างถาวร แต่เป็นความรู้สึกของการได้พักพิงและปรับตัวเพื่อการอยู่รอด

Remembrance (2567)

Remembrance (2567)

Round Table (2567) จิตรกรรมบนโต๊ะทรงกลม ที่สะท้อนถึงการพูดคุยและรับฟังของผู้คนรอบโต๊ะทรงกลมภายใต้สถานะที่เท่าเทียมกัน หรือ Sky Fall (2567) ชุดภาพท้องฟ้าอันแปรปรวนที่ศิลปินนำชิ้นงานมาประกบกันเป็นรูปทรงของจั่วบ้าน ประหนึ่งการจัดการความยุ่งเหยิง ด้วยรูปฟอร์มที่สื่อนัยอบอุ่นจากสัณฐานที่เราคุ้ยเคย

Round Table (2567)

Round Table (2567)

“เราไปเยือนเกาะโซโคตราในช่วงเดือนรอมฎอนพอดี ซึ่งผู้คนส่วนใหญ่ต่างอยู่กันแต่ในบ้าน บรรยากาศรอบเกาะจึงเงียบมาก ภูมิทัศน์ที่ของทะเลทรายที่เวิ้งว้างจึงยิ่งถูกขับเน้นด้วยความเงียบสงบ เหมือนเวลามันหยุดนิ่ง” มรกต กล่าว

“อย่างที่บอก ในขณะที่ธรรมชาติมันงดงาม แต่ชีวิตผู้คนส่วนใหญ่ที่นี่กลับไม่ได้สวยงามแบบนั้น บางครั้งเราก็ถามตัวเอง คนนอกอย่างเราอาจคิดแทนเขามากไปไหม เพราะชาวบ้านเขาอาจจะสามารถปรับตัวจนมีความสุขจากข้อจำกัดที่มีก็ได้ แต่ในฐานะศิลปิน เราก็ตั้งใจทำงานชุดนี้เพื่อบอกเล่าความรู้สึกที่ได้สัมผัส”

เช่นเดียวกับเทคนิคในการสร้างสรรค์ - การผสมผสานระหว่างเส้นสายของธรรมชาติกับสิ่งที่มนุษย์ปลูกสร้าง การลงสีที่ศิลปินทั้งจงใจควบคุมกับการปล่อยไปตามธรรมชาติอย่างอิสระ หรือความพิถีพิถันในการรังสรรค์เพื่อทำลายกับการซ่อมแซมมันกลับขึ้นมาใหม่ Suture คละเคล้าไปด้วยอารมณ์อันหลากหลาย ซึ่งงานหลายชิ้นก็ทำงานกับความรู้สึกของเราได้ไกลเกินกว่าความตั้งใจของศิลปิน หรือการจำกัดความใด ๆ

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าการปักชุนบนงานจิตรกรรมของศิลปินจะสื่อถึงการแบ่งแยก เสียดแทง หรือปลอบประโลม บางที สิ่งที่ว่ามา อาจไม่ใช่ประเด็นสำคัญในการดื่มด่ำผลงานชุดนี้ก็เป็นได้

นิทรรศการ Suture โดย มรกต เกษเกล้า จากความร่วมมือระหว่าง Jing Jai Gallery และ ATTA Gallery จัดแสดงถึงวันที่ 19 มกราคม 2568

Jing Jai Gallery เชียงใหม่ | เปิดให้เข้าชมทุกวัน วันจันทร์ - วันศุกร์ เวลา 10.00 – 17.00 น. วันเสาร์และวันอาทิตย์ เวลา 08.00 – 17.00 น.