ถึงช้าก็จะครองโลก! สำรวจ ‘สลอธ’ ในงานศิลปะ เมื่อสลอธไม่ใช่แค่สัตว์ แต่คือหนึ่งในเจ็ดบาปสุดอันตราย!
เคยคิดเล่น ๆ ไหมว่าสลอธสุดเชื่องช้า แถมหน้าตาซื่อ ๆ แบบนี้ เคยไปทำวีรกรรมอะไรไว้ถึงทำให้นักสำรวจในยุคเรเนซองส์ตัดสินใจตั้งชื่อว่า ‘สลอธ’ ชื่อเดียวกับ ‘บาปแห่งความเกรียจคร้าน’ สุดร้ายกาจตามความเชื่อทางศาสนาคริสต์ ซึ่งไหน ๆ สลอธก็ยึดครองเพจศิลปะแห่งนี้ (เป็นการชั่วคราว) ไปแล้ว ทุกคนก็ควรจะได้รู้จักกับต้าวน่ารักเหล่านี้ในงานศิลปะให้มากขึ้น ทั้งในฐานะบาปเจ็ดประการสุดอันตราย และสัตว์ชนิดใหม่แห่งยุคเรเนซองส์ที่ศิลปินและนักสำรวจในยุคแรก ๆ ต้องหาทางไขปริศนา ถ้าพร้อมแล้วก็ตามเรามาแบบช้า ๆ รับรองว่าจะได้เจอข้อมูลที่เป็นพร้าเล่มงามแน่นอน!
📌Sloth ในงานศิลปะ เมื่อการ ‘นอนหลับ’ คือสัญญะของบาปแห่งความขี้เกียจ
คำว่า ‘sloth’ มาจากคำว่า ‘acadia’ ในภาษาละติน หมายถึง ‘ปราศจากความใส่ใจ’ ซึ่งเป็นรูปแบบหนึ่งของความเกียจคร้านทางจิตวิญญาณ อันเกิดมาจากการไม่เคร่งครัดในศาสนา จนนำไปสู่ความท้อแท้และการถูกล่อลวง มักใช้อธิบายถึงอาการที่นักบวช (ยุคแรก ๆ มักมองว่าบาปนี้จะเกิดกับนักบวชหญิงเป็นส่วนใหญ่) หรือผู้ที่อุทิศตนให้กับศาสนา โดยมีปีศาจ ‘เบลเฟกอร์’ ที่มีรูปร่างเป็นแพะ เป็นตัวแทนบาปนี้ อย่างไรก็ตาม คำคำนี้ไม่ได้ใช้อธิบายถึงอาการเกรียจคร้านทางกายเท่านั้น แต่ยังรวมถึงความเหนื่อยล้าและเฉื่อยชาทางจิตวิญญาณด้วย ซึ่งการที่เรามีอาการเหล่านี้ จะทำให้ใจออกห่างจากศาสนา ห่างไกลจากการสร้างสัมพันธ์กับพระเจ้า ที่อาจจะนำพามนุษย์ไปสู่การทำบาปอื่น ๆ ได้ในอนาคต
ในโลกศิลปะ บาปแห่งความเกรียจคร้านได้ปรากฏตัวในผลงานต่าง ๆ มาตั้งแต่ช่วงยุคกลางแล้ว และมักจะถูกตีความออกไปอย่างหลากหลาย โดยเฉพาะภาพ ‘คนนอนหลับ’ เช่น ภาพ ‘The seven deadly sins’ ของ ฮีเยโรนีมึส โบส (Hiëronymus Bosch), ภาพของ An Old Woman Asleep (1657–1662) ของ กาเบรียล เม็ทซู (Gabriel Metsu) และ The Dissolute Household (1660) ของ ยัน สเตน (Jan Steen) เป็นต้น เพราะการหลับเป็นสัญลักษณ์ที่สื่อให้เห็นจิตใจที่หยุดนิ่ง ไม่กระตือรือร้นในการพัฒนาตนเองหรือแสวงหาพระเจ้า แถมยังสื่อถึงความเฉยเมยและการหลีกหนีจากภาระหน้าที่ทางศีลธรรมกับศาสนาด้วย
การตีความความเกียจคร้านผ่านงานศิลปะ ยังสามารถสะท้อนผ่านภาพการยอมแพ้ หรือภาวะจิตใจที่อ่อนล้าได้ด้วย อย่างเช่นในภาพ ‘Adam and Eve (1526)’ ของ ลูคัส ครานัค (Lucas Cranach) ที่สะท้อนให้เห็นถึงความอ่อนแอทางจิตใจของมนุษย์ผ่านการกระทำของอดัมและอีฟที่ยอมแพ้ต่อการล่อลวง นั่นหมายความว่าพวกเขามีบาปแห่งความเกรียจคร้าน จึงไม่ใส่ใจในหน้าที่ทางศาสนา ไม่ยึดมั่นในคำพูดของพระเจ้า เลยนำไปสู่การทำบาปอื่น ๆ นั่นเอง
หรือในงานของ วิลเลียม โฮการ์ธ (William Hogarth) ในซีรีส์ Marriage A-la-Mode ภาพ The Tête à Tête (1748) บาปแห่งความเกียจคร้านได้ถูกนำเสนอในบริบทที่เกี่ยวข้องกับชีวิตของผู้คนในสังคมมากขึ้น กล่าวคือศิลปินไม่ได้ยึดโยงอยู่กับเรื่องราวของนักบวชหรือเรื่องราวในศาสนาเพียงอย่างเดียว แต่รวมถึงคนธรรมดาด้วย สังเกตได้จากการวาดฉากหลังในภาพให้เป็นบ้านที่เต็มไปด้วยความยุ่งเหยิง ไร้ระเบียบ ที่มาพร้อมกับ และการละเลย เราจึงเห็นสภาพของวิสเคานต์ที่เหนื่อยล้า ไม่สนใจสภาพแวดล้อมรอบตัว ส่วนผู้เป็นภรรยาก็มีท่าทางไร้ชีวิตชีวา ดูว่างเปล่า และไร้จุดหมาย เหมือนกับคนที่ไม่อยากทำอะไรเลย ทั้งหมดนี้จึงสามารถสื่อถึงการถูกครอบงำโดยบาปแห่งความเกรียจคร้านได้อย่างชัดเจน
📌เรเนซองส์ ยุคทองของนักสำรวจ และการปรากฏตัวครั้งแรกของสลอธตัวเป็น ๆ ในงานศิลปะ
แล้วจาก ‘สลอธ’ ตามความเชื่อทางศาสนา มาสู่ ‘สลอธ’ ตัวเป็น ๆ แบบเราได้ไง? ก่อนอื่นก็คงต้องอธิบายก่อนว่า สลอธที่เป็นสัตว์ตัวเป็น ๆ ไม่ได้มาทีหลังบาปแห่งความเกรียจคร้าน เพราะตามประวัติศาสตร์แล้ว สลอธเป็นที่รู้จักในหมู่มนุษย์มาก่อนความเชื่อทางศาสนาคริสต์เสียอีก และยังเป็นที่รู้จักกันดีในหมู่ชนพื้นเมืองชาวอเมริกาใต้ในชื่อ ‘Ai’ (สลอธสามนิ้ว) และ ‘Unaü’ (สลอธสองนิ้ว) ก่อนจะเป็นที่รู้จักในชื่อสลอธเมื่อนักสำรวจชาวตะวันตกมาพบเจอ
ย้อนกลับไปในศตวรรษที่ 16 ช่วงที่ชาวตะวันตกได้เจอกับสลอธครั้งแรก ตอนนั้นพวกเขาไม่ได้เรียกมันว่าสลอธในทันที เช่น ในบันทึกของ กอนซาโล เฟอร์นันเดซ เด โอเวียโด อี วัลเดส (Gonzalo Fernández de Oviedo y Valdés) นักประวัติศาสตร์ นักสำรวจ และนักเขียนชาวสเปน ผู้เป็นชาวตะวันตกคนแรกที่กล่าวถึงสัตว์ชนิดนี้ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 16 ก็เรียกมันว่า ‘perico ligèro’ โดยคำว่า ligèro ในภาษาสเปนมีความหมายว่า ‘เร็ว’ จึงเป็นไปได้ว่าเขาตั้งชื่อเรียกมันให้ตรงข้ามกับลักษณะนิสัยที่แท้จริง (เชิงประชด หยอกเอินนิด ๆ ก็สลอธมันน่าเอ็นดู)
ยังมี คอนราด เกสเนอร์ (Conrad Gesner) แพทย์ นักธรรมชาติวิทยา นักบรรณานุกรม และนักภาษาศาสตร์ชาวสวิสเซอร์แลนด์ ก็ได้มีการพูดถึงสลอธไว้ในหนังสือ ‘Historia animalium’ ของตัวเองที่ตีพิมพ์ไว้ในช่วงปี 1551 - 1556 เช่นกัน โดยสันนิษฐานว่าเขาน่าจะศึกษาเกี่ยวกับสลอธจากซากของมัน มากกว่าการได้พบกับมันด้วยตัวจริง ๆ เราจึงเห็นขีดจำกัดบางอย่างในงานเขียนของเขา ที่มีการอธิบายเกี่ยวกับสลอธได้ไม่สมบูรณ์นัก เพราะแม้ว่าเขาจะจัดหมวดหมู่ให้สลอธเป็นสัตว์สี่เท้าที่ออกลูกเป็นตัว อาศัยอยู่บนต้นไม้ แต่ก็ดันมองว่ามันเป็นลิงมากกว่า เลยตั้งชื่อให้ว่า ‘Arctopithecus’ ที่แปลว่าลิงหมีนั่นเอง
ในช่วงเวลาไม่ใกล้ไม่ไกลกับเกสเนอร์ ก็มีนักบวชควบตำแหน่งนักสำรวจจากฝรั่งเศสอีกคนหนึ่ง นามว่า อ็องเดร เธเวท (André Thevet) ได้พบกับสลอธในระหว่างเดินทางด้วยเหมือนกัน และเขาก็บันทึกถึงมันเอาไว้ในหนังสือเรื่อง ‘Les Singularitez de la France Antarctique’ หนึ่งในหนังสือฝรั่งเศสเล่มแรก ๆ ที่บรรยายถึงทวีปอเมริกาใต้ โดยเฉพาะประเทศบราซิล โดยเขาเองก็มองว่าสลอธเหมือนลิงเช่นกัน เรียกได้ว่ากว่าทุกคนในฝากตะวันตกจะเข้าใจว่าสลอธเป็นตัวอะไร มีชีวิตแบบไหน และเรียกมันว่าสลอธอย่างจริงจัง ก็เข้าสู่ช่วงศตวรรษที่ 17 - 18 ไปแล้ว (ไม่มีบันทึกระบุว่าใครเริ่มเรียกคนแรก)
สำหรับเหตุผลที่ใครเห็นสัตว์ตัวนี้แล้วนึกถึงบาปแห่งความเกรียจคร้านขึ้นมาก็คงจะเดาไม่ยาก นั่นก็เป็นเพราะว่าเหล่าสลอธเป็นพวกที่มีพฤติกรรมเชื่องช้าและรักการนอนเป็นชีวิตจิตใจ ซึ่งเป็นลักษณะเด่นของบาปแห่งความเกรียจคร้านนั่นเอง
The seven deadly sins (1505–1510) โดย Hieronymous Bosch
ฮีเยโรนีมึส โบส (Hieronymus Bosch) คือศิลปินชื่อดังแห่งยุคเรอเนสซองส์ จากเนเธอร์แลนด์ ผู้มีเบื้องหลังชีวิตที่ค่อนข้างเป็นปริศนา และหาคำตอบที่เปิดเผยทั้งหมดได้ไม่ครบ แต่ด้วยผลงานที่ยังหลงเหลืออยู่ ก็สามารถมองเห็นลายเซ็นความเป็นศิลปิน ในฐานะคนที่ถ่ายทอดจักรวาลของศาสนาคริสต์ได้อย่างเหนือจริง ที่พาคนท่องนรกและขึ้นสวรรค์ได้อย่างถึงเครื่องมากที่สุดคนหนึ่งของประวัติศาสตร์ และด้วยดีไซน์และลายเส้นที่ล้ำยุคล้ำสมัย ก็ทำให้เขากลายเป็นแรงบันดาลใจให้ศิลปินแนวเซอร์เรียลยุคหลังด้วย
The seven deadly sins ก็เป็นภาพวาดชิ้นสำคัญที่โบสได้ถ่ายทอดภาพของเหล่าเจ็ดบาปเอาไว้ และในขณะที่ศิลปินคนอื่นมักจะวาดภาพเกี่ยวกับเรื่องนี้ออกมาเป็นตอน ๆ แล้วรวมเป็นซีรีส์เดียว บอร์ชกลับเลือกที่จะจัดวางภาพนี้ ให้อยู่ในรูปแบบของ ‘ดวงตาพระเจ้า’ ที่ทำให้รู้สึกราวกับถูกจับตามองจากพระเจ้าอยู่ ซึ่งชวนให้ผู้ชมหันกลับมาสำรวจและคิดทบทวนการกระทำของตัวเองว่าเกี่ยวข้องกับบาปใดหรือไม่ อีกทั้งการวางบาปทั้งเจ็ดรอบดวงตานั้น ยังสามารถตีความได้ว่า เป็นการเชื่อมโยงบาปต่าง ๆ เข้าด้วยกัน เหมือนเป็นวัฏจักรที่ไม่มีวันจบสิ้นได้ด้วย โดยในภาพนี้ บาปแห่งความเกรียจคร้านจะมาในรูปแบบของหญิงสาวที่กำลังนอนหลับ
An Old Woman Asleep (1657–1662)
โดย Gabriel Metsu
ภาพนี้ชื่อว่า ‘An Old Woman Asleep’ วาดขึ้นระหว่างปี 1657–1662 โดย กาเบรียล เม็ทซู (Gabriel Metsu) ศิลปินชาวดัตช์ผู้มีชื่อเสียงในศตวรรษที่ 17 เม็ทซูโดดเด่นในด้านการวาดภาพฉากชีวิตประจำวันหรือ ‘genre scenes’ ซึ่งสะท้อนภาพชนชั้นกลางในยุคนั้น โดยผลงานของเขาไม่เพียงแสดงถึงความงดงามของชีวิตประจำวัน แต่ยังซ่อนนัยทางศีลธรรมและสังคมไว้ด้วย ดังที่เห็นได้จากภาพนี้
สำหรับเรื่องราวใน An Old Woman Asleep Metsu ก็ได้ถ่ายทอดบาปแห่งความเกียจคร้านออกมาผ่านภาพหญิงชราที่กำลังหลับใหลขณะอ่านพระคัมภีร์ ความเกียจคร้านนี้ถูกสื่อผ่านสัญลักษณ์ต่าง ๆ เช่น แมวที่หิวโหยซึ่งกำลังจะกระโจนเข้าหาจานปลาที่ถูกทิ้งไว้ สัญลักษณ์เหล่านี้แสดงถึงความประมาทเลินเล่อและการปล่อยปละละเลยต่อหน้าที่ที่ควรทำ ซึ่งถือว่าเป็นสัญญะที่ตรงตัวตามความหมายดั้งเดิมของบาปประเภทนี้ ที่โฟกัสไปที่เพศหญิงและการละเลยการสวดภาวนา โดยการกระทำของเธอในภาพนี้ได้แสดงถึงผลลัพธ์ของการมีบาปแห่งความเกรียจคร้านนั่นเอง
Marriage A-la-Mode: 2, The Tête à Tête
โดย William Hogarth (1697–1764)
The Tête à Tête (1748) คือผลงานในซีรีส์ Marriage A-la-Mode ของ วิลเลียม โฮการ์ธ (William Hogarth) จิตรกรชาวอังกฤษคนสำคัญ ผู้นิยมเขียนภาพเกี่ยวกับศีลธรรม เหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ และชีวิตชวนขันของผู้คนในสังคม โดยในภาพนี้โฮการ์ธได้ถ่ายทอดภาพของบาปแห่งความเกียจคร้านผ่านชีวิตประจำวันของผู้คนในสังคม โดยเขาไม่ได้ตีความเรื่องราวของบาปนี้ตามสเต็ปคุ้นตา ที่มักจะเชื่อมโยงบาปแห่งความเกรียจคร้านเข้ากับนักบวช พระคัมภีร์ หรือเรื่องราวในศาสนา สังเกตได้จากบริบทของภาพนี้ที่เกิดขึ้นในบ้านของครอบครัวขุนนาง ไม่ใช่ศาสนสถาน และตัวละครหลักก็ไม่ใช่นักบวชแต่เป็นครอบครัวขุนนาง
โฮการ์ธได้วาดฉากหลังในภาพนี้ให้เป็นบ้านที่เต็มไปด้วยความยุ่งเหยิง ไร้ระเบียบ อันเกิดมาจากการละเลยหน้าที่ของตัวเอง เราจึงเห็นสภาพของวิสเคานต์ที่เหนื่อยล้า ไม่สนใจสภาพแวดล้อมรอบตัว ส่วนผู้เป็นภรรยาก็มีท่าทางไร้ชีวิตชีวา ดูว่างเปล่า และไร้จุดหมาย เหมือนกับคนที่ไม่อยากทำอะไรเลย ทั้งหมดนี้จึงสามารถสื่อถึงการถูกครอบงำโดยบาปแห่งความเกรียจคร้านได้อย่างชัดเจน
ภาพร่างสลอธยุคแรก โดย Gonzalo Fernández de Oviedo y Valdés (1526)
ภาพนี้คือภาพร่างแรก ๆ ของสลอธ ร่างโดย กอนซาโล เฟอร์นันเดซ เด โอเวียโด อี วัลเดส นักประวัติศาสตร์ นักสำรวจ และนักเขียนชาวสเปน ผู้เป็นชาวตะวันตกคนแรกที่กล่าวถึงสัตว์ชนิดนี้ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 16 โดยเขาเป็นหนึ่งในบุคคลแรก ๆ ที่บันทึกเกี่ยวกับสัตว์หลายชนิดที่ไม่เคยเห็นในยุโรปมาก่อน รวมถึงสลอธ โดยเขาได้ใช้ชื่อเรียกมันว่า perico ligero หรือ periquito ligero
เขาได้ใช้เวลาหลายปีในทวีปอเมริกาใต้ และเขียนงานสำคัญชื่อ ‘Historia general y natural de las Indias’ (ประวัติศาสตร์ทั่วไปและธรรมชาติของอินดีส) ขึ้นมา แต่ได้ตีพิมพ์หลังจากเขาเสียชีวิตไปแล้วในช่วงศตวรรษที่ 18 ซึ่งเป็นหนังสือที่บรรยายถึงธรรมชาติ วัฒนธรรม และวิถีชีวิตของผู้คนในดินแดนอเมริกา โดยโอวิดิโอถือว่าเป็นผู้เขียนคนแรก ๆ ที่บันทึกเกี่ยวกับสัตว์หลายชนิดที่ไม่เคยเห็นในยุโรปมาก่อน
สลอธหน้าลุง ในหนังสือ Historia animalium โดย Conrad Gesner (1551 - 1558)
นักสำรวจรุ่นต่อมาที่ศึกษาเกี่ยวกับสลอธก็คือ คอนราด เกสเนอร์ โดยเขาได้บันทึกภาพไว้ในหนังสือ ‘Historia animalium’ เล่มที่หนึ่ง ที่ว่าด้วยสัตว์สี่เท้า มีการสันนิษฐานว่าเขาน่าจะศึกษาสลอธจากซากที่ตายแล้ว ไม่ใช่การพบเจอด้วยตัวเองจริง ๆ ด้วยเหตุนี้การศึกษาของเขาจึงค่อนข้างมีขอบเขตที่จำกัด ส่งผลให้คำอธิบายและการบรรยายลักษณะนิสัยไม่สมบูรณ์นัก และมองว่าสลอธเป็นสัตว์สี่เท้าที่ออกลูกเป็นตัว อาศัยอยู่บนต้นไม้ ก็เลยตั้งชื่อให้ว่า ‘Arctopithecus’ ที่แปลว่าลิงหมี
สลอธหุ่นหมีหน้าคน ในหนังสือ Les Singularitez de la France Antarctique (1557) โดย Jean Cousin
สลอธยังปรากฏตัวในหนังสือ ‘Les Singularitez de la France Antarctique (1557)’ ของ อองเดร เทอเวต์ (André Thevet) มิชชันนารีชาวฝรั่งเศสที่เดินทางไปบราซิลและกลับมาพร้อมข้อมูลที่มาจากการสังเกตการณ์โดยตรงและการเล่าขานจากผู้อื่น ก่อนจะรวบรวมรายละเอียดทั้งหมดมาทำเป็นหนังสือ ซึ่งศิลปินที่เขาเลือกให้มาวาดภาพประกอบก็คือ ฌอง คูแซง (Jean Cousin) จิตรกร ประติมากร และนักเรขาคณิตชาวฝรั่งเศส โดยเขาได้วาดภาพสลอธตามบรีฟจากเทอเวต์ด้วยเทคนิคภาพพิมพ์แกะไม้ (Wood Cut) ให้มีลักษณะเป็นกึ่งหมีกึ่งลิง สัตว์สี่เท้าขนฟูที่มีส่วนหัวและหน้าเหมือนกับเด็กทารก
ถึงแม้ว่าเทอเวต์จะบรรยายลักษณะของสลอธได้ใกล้เคียงกับความจริงมากกว่านักสำรวจคนอื่น ๆ ในยุคเดียวกัน แต่เขาก็ยังเข้าใจผิดเกี่ยวกับพฤติกรรมของมัน เช่น การที่เขาบันทึกว่าสลอธไม่กินหรือดื่มอะไร ซึ่งนำไปสู่ความเชื่อที่ว่าสลอธอาจดำรงชีวิตด้วยการกินอากาศ ซึ่งเป็นความเชื่อที่ถูกหักล้างในภายหลัง แต่ยังคงแพร่หลายอยู่ช่วงหนึ่งเนื่องจากความไม่เข้าใจในพฤติกรรมของสลอธ
หนังสือเล่มนี้ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของสิ่งใหม่ ๆ หลายอย่างที่ชาวยุโรปได้พบเจอในโลกใหม่ โดยไม่ใช่แค่สลอธเท่านั้น แต่ยังมีสัตว์หายากอื่น ๆ อย่างทูแคนและเทเปียร์ด้วย ซึ่งการที่พวกเขาได้พบกับโลกที่แปลกใหม่ ไม่คุ้นเคย และเต็มไปด้วยสิ่งมีชีวิตที่ดูเหมือนสัตว์ในตำนาน จึงยิ่งเพิ่มความลึกลับและเสน่ห์ให้กับทวีปอเมริกาใต้ในสายตาของชาวยุโรป
สลอธแบบสมจริง ในหนังสือ Historia Naturalis Brasiliae (1648) โดย Willem Piso และ Georg Marcgraf
Historia Naturalis Brasiliae (1648) คือหนังสือประวัติศาสตร์ธรรมชาติของบราซิลเล่มแรกที่เน้นการสำรวจธรรมชาติและระบบนิเวศในเขตชายฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือของบราซิล ซึ่งอยู่ภายใต้การควบคุมของบริษัท Dutch West India Company งานนี้ยังเป็นหนึ่งในความพยายามของชาวยุโรปยุคแรกในการทำความเข้าใจโลกใหม่ ทั้งด้านพืชพันธุ์ สัตว์ป่า และวัฒนธรรมของชนพื้นเมือง โดยมีการบันทึกเกี่ยวกับพืชอย่างละเอียด รวมถึงสรรพคุณของพืชสมุนไพรที่ชนพื้นเมืองใช้ในการรักษาโรค
ผู้สร้างหนังสือเล่มนี้ ประกอบไปด้วย วิลเลม ปีโซ (Willem Piso) นักธรรมชาติวิทยาชาวดัตช์ ผู้เขียนหลักของหนังสือ โดยมีบทบาทสำคัญในการศึกษาเกี่ยวกับการแพทย์และโรคเขตร้อนในบราซิล เขาได้ทำการศึกษาเกี่ยวกับวิธีการรักษาโรคของชนพื้นเมืองและพืชสมุนไพรที่ใช้ในท้องถิ่น ส่วนจอร์จ มาร์คกราฟ (Georg Marcgraf) นักวิทยาศาสตร์ชาวเยอรมัน เป็นผู้ร่วมวิจัย โดยเฉพาะในด้านพืชและสัตว์ของบราซิล รวมถึงการทำแผนที่ ซึ่งทำให้ผลงานของเขาเป็นที่รู้จักในด้านประวัติศาสตร์ธรรมชาติ
นอกจากนี้ยังมี H. Gralitzio นักธรรมชาติวิทยาชาวเยอรมันที่มีส่วนร่วมในงานสังเกตการณ์ธรรมชาติที่บันทึกไว้ในหนังสือ และโยฮันเนส เดอ ลาเอต (Johannes de Laet) นักมนุษยนิยมชาวดัตช์ ซึ่งช่วยในการจัดระเบียบข้อมูลและทำการศึกษาด้านประวัติศาสตร์และภูมิศาสตร์ที่รวมอยู่ในงานนี้ โครงการนี้ได้รับการสนับสนุนโดยโยฮัน เมาริทส์ (Johan Maurits, Count of Nassau) ผู้ซึ่งเป็นผู้อุปถัมภ์หลักในช่วงที่บราซิลอยู่ภายใต้การปกครองของดัตช์
ไฮไลต์สำคัญอยู่ที่ภาพประกอบ เพราะนอกจากภาพปกหนังสือจะแสดงภาพความอุดมสมบูรณ์ในเขตร้อน และชาวอเมรินเดียนสองคนท่ามกลางต้นไม้อันเขียวชอุ่มและพืชผลท้องถิ่น ก็ยังมีสัตว์อีกหลายชนิด เช่น ตัวกินมด งู และสลอธ แถมสลอธในภาพนี้ยังมีความสมจริงมากขึ้น เพราะคนวาดกับคนสำรวจเป็นทีมเดียวกัน ไปด้วยกันนั่นเอง
The Sloth (1758) โดย George Edwards
The Sloth (1758) คือภาพวาดของ จอร์จ เอ็ดเวิร์ด (George Edwards) นักธรรมชาติวิทยาและนักปักษีวิทยาชาวอังกฤษ ผู้ได้รับการยกย่องว่าเป็น ‘บิดาแห่งปักษีวิทยาของอังกฤษ’ โดยเขาได้ออกเดินทางไปทั่วยุโรปเพื่อศึกษาประวัติศาสตร์ธรรมชาติ และมีชื่อเสียงจากการวาดภาพนกและสัตว์ที่มีสีสัน
หนึ่งในภาพสัตว์ที่โดดเด่นภาพหนึ่งของเอ็ดเวิร์ดส์ก็คือ ‘สลอธ’ หากสังเกตเราจะพบเลยว่าเอ็ดวาร์ดมองสลอธต่างออกไป เขาไม่ได้วาดมันเหมือนหมี หรือวาดมันเกาะอยู่บนต้นไม้ แต่กลับออกแบบให้มีลักษณะคล้ายกับคนที่มีใบหน้าเปื้อนยิ้ม ซึ่งแม้ว่าเราจะรู้สึกว่านี่ไม่เหมือนสลอธที่คุ้นตา แต่เราก็รู้สึกได้ว่าสัตว์ตัวนี้มีท่าทีที่สงบ สะท้อนให้เห็นถึงมุมมองของเอ็ดเวิร์ด ที่นอกจากจะบันทึกภาพสัตว์ต่าง ๆ แล้ว ก็ยังพยายามนำเสนอลักษณะนิสัยเฉพาะตัวของสัตว์แต่ละชนิดในผลงานของตัวเองด้วย
หรือถ้าใครอยากซึมซับกับลัทธิสลอธให้มากกว่านี้ ก็สามารถมาอินกันต่อได้ที่เพลง The Other Side ของ Phum Viphurit หรือ Paul Vibhavadi แบบสบาย ๆ ได้เลย
อ้างอิง
The Discovery of Sloths: Strange Animals in a Strange New Land.
The Mammoth Site of Hot Springs
The Strange Nature of the First Printed Illustration of a Sloth.Smithsonian Magazine Logo in Black
The ‘Sufficiently Strange’ Sloth.epoch-magazine
Willem Piso and Georg Marggraf's 'Historia naturalis Brasiliae' (1648).Cabinet
George Edwards. Seaside Art Gallery
Sloths of the Atlantic Forest in the sixteenth and seventeenth centuries