105683882_155846722725377_1870819963597166372_n.jpg

ไขปริศนาความอินเดีย แก้ปมเรื่องชวนฉงนให้ได้เข้าใจคนอินเดีย

Post on 15 March

เอกลักษณ์ความอินเดียยืนหนึ่งไม่เหมือนใครในโลก GroundControl ขอมาเล่าสู่กันฟัง เหตุผลเบื้องหลังธรรมเนียมและกริยาที่เราอาจไม่คุ้นเคย ให้เราได้รู้จักกันมากยิ่งขึ้น

ทำไมคนอินเดีย.. “มีจุดกลางหน้าผาก”

จุดแดงนี้ มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า “บินดิ” “ติกะ” “พอตตู” และ “ติลากัม” (ทำไมชื่อเยอะจัง!) เป็นส่วนหนึ่งของการแต่งกายของฮินดู ซึ่งมีความหมายระหว่างชายหญิงไม่เหมือนกัน

สำหรับผู้หญิง การเจิมจุดแดง "บินดิ" คือเพื่อความสวยงาม เปรียบเหมือนเครื่องสำอางชิ้นนึง และยังเป็นการถือเคล็ดสิริมงคลอีกด้วย ปัจจุบันก็พัฒนากลายเป็นแฟชั่น ให้เลือกสรรกันหลายแบบ ทั้งสีสัน หรือเป็นจิวเวอรี่ประกายเพชรเป็นรูปพระอาทิตย์ ไม่ก็หยดน้ำ

ถ้าแอดวานซ์ขึ้นไปอีก ตามธรรมเนียมฮินดูแล้ว หากผู้หญิงมีแต้มจากโคนผมกลางหน้าผากลากยาวไปที่ผม แบบนั้นจะหมายถึงพันธะการแต่งงาน เรียกว่า Sindoor (ซินดูร์) โดยเจ้าบ่าวจะเป็นคนเจิมให้ในวันวิวาห์

ผู้ชายก็เจิมหน้าได้เช่นกัน โดยจะเจิมตรงบริเวณกลางหน้าผากที่เป็นศูนย์กลางสมอง เปรียบเหมือนเป็นสัญลักษณ์เตือนใจให้เรามีสมาธิ มีปัญญา เหมือนตาดวงที่สามให้เราได้สติปัญญาตลอดเวลา

ส่วนเวลาที่เราไปวัดแขกแล้วโดนเจิมจุดหลังไหว้ แบบนั้นเรียกว่า Tikka (ติกา) นั่นก็เปรียบเหมือนว่าคุณแสดงตัวตนเป็นสาวกศาสนาฮินดูนั่นเอง

ทำไมคนอินเดีย.. “ส่ายหัว”

กับท่าทางที่ จะเรียกส่ายหัวก็ไม่เชิง จะโยกหัวก็ไม่ใช่ เอาเป็นว่าการทำกริยาคอยึกยักส่ายไปส่ายมาประกอบการคิดการพูด สร้างความไม่มั่นใจให้กับชาวต่างชาติอย่างเราๆ สรุปมันแปลว่าอะไรกันแน่ ใช่ไม่ใช่? มีไม่มี? นี่พี่เงียบไปแล้วส่ายหัวอย่างเดียว นี่มันยังไงกันนะ

ความพิเศษในท่วงท่านี้ จริงๆ แล้วมันไม่ใช่การปฏิเสธแบบที่สากลโลกใช่กัน แต่ความหมายของการส่ายหัวนั้นกว้างมากๆ เลยทีเดียว โดยส่วนมากจะเกิดขึ้นเพื่อหมายถึงการยินยอม ยืนยัน โอเคแหละ หรือขอบคุณก็มี แต่ในขณะเดียวกันการส่ายหัวก็อาจหมายถึงการปฏิเสธได้เหมือนกัน เพราะว่าการบอกปฏิเสธตรงๆ จะดูไม่สุภาพ เลยขอปฏิเสธอ้อมๆ ด้วยการส่ายหัว ดังนั้นการส่ายหัวจึงเป็นส่วนนึงของการสนทนาในทุกๆ รูปแบบ เราจึงเห็นกันบ่อยๆ นั่นเอง

เอาเป็นว่าให้ดูจากมู๊ดสีหน้าของเขาประกอบท่าทางการส่ายหัวด้วยก็แล้วกัน น่าจะทำให้เข้าใจความหมายมากยิ่งขึ้น

ทำไมคนอินเดีย.. “เต้นในหนัง”

พูดชื่อวงการ Bollywood ปุ๊ป ภาพฉากการร้องเพลง เต้นระบำข้ามภูเขา หลบต้นไม้ เป็นต้องโผล่ตามมาเป็นระบบออโต้ทุกครั้ง กลายเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ต้องมีแทบทุกเรื่อง ไม่เหมือนวงการหนังประเทศใดๆ ในโลก

แล้วทำไมถึงมีเต้นในหนังเยอะจังเลยล่ะ? ก็เขาทำให้คนอินเดียดูน่ะสิ และการร้องเพลงเต้นระบำนั้นอยู่ในสายเลือดของคนอินเดียมาช้านานแล้ว ฉากเต้นนี่แหละคือที่สุดแห่งความเร้าใจไฮไลท์ของหนังเลยทีเดียว โดยช่วงการร้องเพลงมันจะเป็นเพื่อการเล่าถึงความรู้สึก และช่วยให้เรื่องเดินหน้าได้อย่างสนุกสนานมากยิ่งขึ้น

และสิ่งสำคัญที่สุดคือโลกมายาแห่งภาพยนตร์ ในชีวิตที่ยากเย็นของแต่ละวัน การดูหนังเหล่านี้มีไว้เพือผ่อนคลาย หนังอินเดียเหล่านี้จึงมีความฟุ้งชวนฝัน หนุ่มหล่อสาวสวยในบรรยากาศสวยงาม ที่พวกเขาเหล่าคนดูน้อยนักจะเคยได้สัมผัสด้วยตัวเอง การดูหนังให้ในสิ่งที่เขาไม่มีในชีวิตจริง จึงมีการใส่ฉากฝันๆ ผสมเพลงและการเต้นให้เป็นจุดขายของหนังไปด้วย

ทำไมคนอินเดีย.. “ชอบบีบแตร”

นี่น่าจะเป็นหนึ่งในเรื่องเล่าขานในตำนานทำให้ใครหลายๆ คนขยาดการไปเยือนอินเดีย มโนภาพความปวดเศียรเวียนเกล้าถึงความปี๊ดๆ จากทั่วทุกสารทิศ

แต่ก่อนจะมาวิเคราะห์ทำถึงบีบแตร เราต้องเข้าใจก่อนว่าการชับรถหรือแม้กระทั่งเดินถนนในอินเดียเป็นเรื่องที่อันตรายมากๆ ทุกคนล้วนขับตามใจ ไฟเลี้ยวไม่มีความหมาย ไฟเบรคมีแตะเบาๆ ให้พอหายคิดถึง 

พอเจอมรสุมความมะรุมมะตุ้มรุมหักพวงมาลัยกลางถนน ณ จุดนึงอารมณ์โมโหพุ่งพล่านคุณจะทะลุปรอด และสิ่งเดียวที่จะเป็นการระบายอารมณ์ได้ดีที่สุด ก็คือการบีบแตร ยิ่งอยู่บนถนนที่พลุกพล่าน โอกาสที่จะเจอคนขับรถเสี่ยงชนคุณยิ่งมากขึ้น การบีบแตรก็ยิ่งเกิดถี่ขึ้นๆ จนกลายเป็นความเคยชิน ไฟเขียวก็บีบ รถติดก็บีบ คนจะเดินก็บีบ

Anand Damani จาก Briefcase เคยวิเคราะห์เรื่องการบีบแตรใน TEDxGateway ว่ามันเกิดขึ้นจากนิสัยที่เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ จนแทบกลายเป็นการกระทำที่เกิดขึ้นโดยไม่ได้รู้ตัว เราถูกกระตุ้นจากความวุ่นวายบนถนนอย่างทุกวี่ทุกวันในชีวิต การบีบแตรที่อยู่เพียงแค่นิ้วโป้งกดจึงเกิดขึ้นได้ง่ายมากๆ โดยไม่ต้องคิด

ถึงแม้การบีบแตรอาจจะดีกว่าการลงไปด่ากันซึ่งๆ หน้า หรือต่อยกันคาถนน แต่ประเพณีการบีบแตรเกิดขึ้นจากการสะท้อนความไร้ความเคารพในกฏจราจร และลำดับชั้นการใช้ถนนอันไม่เป็นธรรม เมื่อรถใหญ่ได้รับสิทธิพิเศษด้วยเสียงแตร ให้คนเดินและจักรยานคันเล็กต้องหลบให้เสียงแตร

ทำไมคนอินเดีย.. “ชอบถ่ายรูป”

ใครอยากเป็นเซเลป ไม่ต้องเป็นดาราดังให้ยากเย็น เพียงตีตั๋วบินไปอินเดีย แล้วคุณจะพบกับความป๊อปปูล่าร์แบบที่ไม่เคยได้รับจากที่ไหนมาก่อน เกิดเป็นประเพณีชวนฉงน ทำไมหนอชาวอินเดียชอบถ่ายรูปกับชาวต่างชาติ แถมยังรุมล้อมเข้ามาถ่ายคู่กันเรียงตัวเป็นกลุ่มใหญ่โต !

ทั้งหมดนี้เป็นเพราะว่าคนอินเดียส่วนมากยังมองว่าชาวต่างชาติเป็นของแปลกใหม่ที่ไม่ได้เห็นในชีวิตประจำวัน และถึงแม้คุณจะไปเที่ยวเมืองใหญ่ก็ตาม สถานที่ท่องเที่ยวเหล่านั้นยังเต็มไปด้วยคนที่มาจากหลากหลายเมืองทั่วประเทศที่ไม่มีโอกาสเห็นชาวต่างชาติเป็นๆ มาก่อนนอกจากในสื่อต่างๆ การได้เจอตัวเป็นๆ ย่อมสร้างความตื่นเต้นเป็นอย่างมาก

แต่ข้อดีก็คือถ้าคุณไปขอคนอินเดียถ่ายภาพ คุณก็จะได้รับความร่วมมืออย่างดีมาก พร้อมยืนยิ้มแฉ่งให้คุณได้กดชัตเตอร์เช่นกัน