เวลาคนไทยเห็นคนอินเดีย เรามักจะเรียกกันติดปากว่า “แขก” โดยคละหมดไม่ว่าจะศาสนาไหน แต่ความจริงแล้วคำว่า "แขก" นั่นเริ่มต้นการใช้จนติดปากมาจากการเป็นแขกบ้านแขกเรือนแรกๆ ในประวัติศาสตร์ไทย แต่ในความแขกนั้นยังสามารถจำแนกแยกออกมาตามศาสนาโดยผ่านการสังเกตจากการแต่งตัวและวิถีชีวิตที่มีความแตกต่างกัน
GroundControl ขอสรุปกระชับสั้น (มากๆ) พอเป็นอินโทร ว่าด้วยการแยกระหว่าง 3 ศาสนายอดฮิตของอินเดียที่เจอบ่อยๆ ในประเทศไทย ก่อนจะไปทัวร์กันในพฤหัสที่จะถึงนี้
Hinduism
ศาสนาฮินดูฉบับย่อ (1)
• ศาสนาฮินดูถือว่าเป็นศาสนาที่เก่าแก่ที่สุดในโลกลากยาวกลับไปถึง 4,000 ปี
• รวบรวมประเพณีและปรัชญาความเชื่อแตกออกไปอีกมากมายหลายสาขา เยอะขนาดมีพระเจ้าให้นับถือถึง 33 ล้านองค์ (!!) เรียกมีพระเจ้าให้กับทุกอย่างในโลก
• แต่หลักๆ ที่เรามักพบเห็นคือพระพรหม พระศิวะ พระนารายณ์ หรือสายมูเตลูก็ต้องมีพระพิฆเนศ และพระอุมา
• ตัวอย่างของความฮินดูในไทย ก็คือที่วัดแขกย่านสีลมนั่นเอง
• 80% ของประชากรอินเดียนับถือศาสนาฮินดู
• หากต้องออกไปกินข้าวกับชาวฮินดู ปลอดภัยสุดให้สั่งมังสวิรัติ หรืออย่างน้อยต้องไม่มีเนื้อวัว เพราะวัวถือว่าเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์มีตำแหน่งเป็นพาหนะของพระเจ้า ถึงขั้นบูชากันเลยทีเดียว
• ดังนั้นหากไปอินเดียอย่าตกใจ ว่าทำไมพี่วัวเดินกันกลางถนน ส่วนคนขับรถต้องหลีกทางให้เดินกันอย่างสบายใจเฉิบ เพราะเขาไม่ฆ่าวัวกัน
Hinduism
ศาสนาฮินดูฉบับย่อ (2)
• การแต่งองค์ทรงเครื่องของชาวฮินดูก็จะเต็มเครื่อง ผู้หญิงมีความเอวลอย กระโปรงยาว พาดส่าหรี่สีสดใส ประกอบด้วยเครื่องประดับพ่วงตรงนู้นตรงนี้
• ที่ชัดมากๆ คือจุดบนหน้าผาก อย่างที่เราเห็นกันบ่อยๆ ของผู้หญิงจะมีจุดแดง เพื่อความสวยงามและสิริมงคล
• การเขียนเฮนน่าบนผิวหนังก็เป็นแฟชั่นฝั่งฮินดูเหมือนกัน โดยเป็นพิธีการเขียนก่อนงานแต่งงาน
• สำหรับผู้ชายถ้าตามประเพณีแล้ว แบบสบายๆ ก็ใส่ชุด Kurta เสื้อตัวยาวและกางเกง แต่ถ้าออกงานก็ต้องเปลี่ยนเป็น Sherwani แบบที่เราเห็นเขาใส่กันในงานแต่ง เป้นเสื้อโค้ทยาวทำจากผ้าที่หนาขึ้นมา ประดับประดาด้วยสัญลักษณ์ฮินดู
Islam
ศาสนาอิสลามฉบับย่อ (1)
• อิสลาม - มุสลิม สองคำนี้จำให้แม่นแยกให้ดี “อิสลาม” คือชื่อศาสนา ส่วน “มุสลิม” คือคนที่นับถือศาสนาอิสลาม
• เป็นศาสนาที่มีผู้นับถือมากที่สุดเป็นอันดับสองของโลก (ต่อจากคริสต์)
• นับถือพระเจ้าองค์เดียวเท่านั้น ซึ่งก็คือ ‘พระอัลลอฮ์’
• ด้วยความเชื่อพระเจ้าเป็นหนึ่งและหาที่เปรียบไม่ได้ เราจึงไม่เคยเห็นภาพวาด หรือการมโนภาพพระเจ้าเหมือนกับศาสนาอื่นๆ เพราะภาพใดๆ ล้วนเป็นเรื่องงมงาย ไม่คู่ควรความเป็นที่สุดของพระอัลลอฮ์
• การปฏิบัติพิธีกรรมทางศาสนา จะเกิดขึ้นที่ “มัสยิด” หรือ “สุเหร่า” มีตัวอย่างสวยๆ ทั่วประเทศไทย
• การนับถือศาสนาอิสลามไม่ใช่แค่ความเชื่ออย่างเดียว แต่ต้องเรียกว่าเป็นไลฟ์สไตล์ด้วยน่าจะครบกว่า การกินอาหาต้องผ่านหลักฮาลาล ต้องมีการละหมาดวันละ 5 ครั้ง มีกฏหมายศาสนา ฯลฯ
• และมุสลิมนี่แหละที่ไม่กินหมู เพราะว่าพระเจ้าสั่งห้ามเนื่องจากหมูนั้นสกปรก และถึงแม้จะมีวิทยาศาสตร์ทำให้เนื้อหมูสะอาดมากยิ่งขึ้น คนมุสลิมก็ไม่กินอยู่ดี เพราะมันเป็นการขัดคำสั่งของพระเจ้า
Islam
ศาสนาอิสลามฉบับย่อ (2)
• สำหรับการแต่งตัวนั้น ฝั่งผู้หญิงต้องแต่งตัวมิดชิด ใส่ผ้าคลุมทั้งตัว คลุมฮิญาบ (ผ้าคลุมหัว) ซึ่งเลเวลการปกปิดก็ขึ้นอยู่กับประเพณีของแต่ละประเทศ มีตั้งแต่เห็นหน้าปกติ จนปิดครบเหลือแค่ตรงบริเวณดวงตาที่มีตาข่ายบางๆ ที่ต้องปิดกันขนาดนี้ เพราะเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดการกระตุ้นอารมณ์ทางเพศของผู้ชาย
• ส่วนการแต่งตัวผู้ชายก็มาจากแนวคิดคล้ายๆ กัน คือปกปิดให้มิดชิด การคลุมหัวก็ต่างกันไปแล้วแต่ประเพณีเช่นกัน อย่างที่เห็นชัดๆ ฝั่งอาหรับต้องมีหมวกตะกียะห์ หรือไม่ก็ผ้าซาราบั่น (ที่เป็นขาวแดงๆ น่ะ) ฝั่งไทยก็จะมีหมวกกะปิเยาะฮ์ที่จะเห็นบ่อยๆ ในภาคใต้
Sikhism
ศาสนาซิกข์ฉบับย่อ (1)
• ถือว่าเป็นศาสนาอายุไม่มากนัก เพิ่งเริ่มเมื่อประมาณศตวรรษที่ 15
• เกิดมาในยุคที่ฮินดูกับอิสลามปะทะกันอย่างรุนแรงในอินเดีย ไร้ความสงบสุขเป็นเวลานาน จึงเกิดเป็นศาสนาซิกข์ที่ประนีประนอมระหว่างทั้งสองศาสนา ศรัทธาในพระเจ้าองค์เดียว
• ปฏิบัติอย่างเคร่งครัดตามหลัก 5 ประการ ไม่ตัดผม ต้องมีหวีติดผม สวมกางเกงขาสั้นชั้นใน สวมกำไรเหล็กที่ข้อมือข้างขวา และพกกริชติดตัว
• นามสกุลแขกที่เรามักเห็นบ่อยครั้งอย่าง Singh (สิงห์) และ Kaur (กอร์) ก็มาจากศาสนานี้ โดยจะนำมาใช้หลังจากผ่านพิธีปาหุล (ล้างบาป) แล้ว โดย ‘สิงห์’ ก็คือเข้มแข็งดุจสิงโต ส่วน ‘กอร์’ ก็คือเจ้าหญิง
• สำหรับอาหารการกิน จริงๆ แล้วศาสนาซิกข์ไม่ได้ห้ามการกินเนื้อสัตว์อย่างเป็นทางการ แต่ด้วยความเชื่อว่าทุกสิ่งมีชีวิตต่างมีสิทธิ์ในการมีชีวิต การกินเนื้อสัตว์ก็เหมือนไปริดรอนสิทธิ์เขา ทำให้สัตว์ทรมาน ดังนั้นส่วนมากจึงกินอาหารมังสวิรัติ
Sikhism
ศาสนาซิกข์ฉบับย่อ (2)
• การแต่งตัวนั้นโดยรวมไม่ได้เคร่ง แต่เอกลักษณ์สำคัญการแต่งกายอยู่ที่การโพกหัว โดยเฉพาะของผู้ชายที่ต้องโพกผ้าแบบ “ดัสตาร์” หนวดเคราเฟิ้มเต็มที่ ขนยาวไม่มีการตัดการเล็ม
• การสวมดัสตาร์ยังเป็นเหมือนเครื่องเตือนใจไม่ให้ทำผิด เพราะเป็นการแสดงออกในความเชื่อทางศาสนา ก็ต้องไม่ทำผิดอันใดที่ให้เกิดการเสื่อมเสียทางศาสนา
• สำหรับผู้หญิงนั้นจะเห็นชัดๆ จากการแต่งชุดแบบซัลวาร์-กามีซ เสื้อมีแขนที่ยาวมากถึงประมาณเข่า และมีการเกงสวมใส่ด้านใน และดูบัตตาผ้าคลุมหัว