วันที่ 16 มิถุนายน ที่ผ่านมา คือวันครบรอบ 26 ปีที่ เจสซี และ เซลีน ตัดสินใจลงรถไฟที่สถานีรถไฟกรุงเวียนนา เพื่อใช้เวลาไม่กี่ชั่วโมงก่อนพระอาทิตย์ขึ้นร่วมกัน อันเป็นจุดเริ่มต้นของเรื่องราวไตรภาค ‘Before Trilogy’ ที่เวียนกลับมาหาคนดูทุก ๆ เก้าปี และพาผู้ชมไปสำรวจเรื่องราวความรัก ความสัมพันธ์ การเติบโต และการเผชิญหน้ากับชีวิตจริง ของสองคู่รักตั้งแต่วัยหนุ่มสาวอันเป็นช่วงเวลาของการตามหาตัวตนและความฝัน จนถึงวันที่ก้าวเข้าสู่วัยกลางคนที่พวกเขาต้องวนกลับมาตั้งคำถามถึงชีวิตกันอีกครั้ง
Before Sunrise สร้างมาจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในชีวิตจริงของผู้กำกับ ริชาร์ด ลิงเคลเทอร์ ที่เขาได้ใช้เวลาหนึ่งคืนร่วมกับหญิงสาวแปลกหน้า โดยหลังจากนั้นเขาก็ไม่ได้พบกับเธออีกเลย จึงนำมาสู่ไอเดียการสร้างหนังที่เล่าเรื่องราวช่วงเวลาต้องมนต์ที่ไม่อยู่ยั้งยืนนาน แต่กลับหอมหวานและเต็มไปด้วยความโรแมนติกฟุ้งฝัน
ด้วยความที่อ้างอิงมาจากเหตุการณ์ในชีวิตจริง ตัวละครหนุ่มอเมริกันช่างฝันอย่างเจสซีจึงสะท้อนภาพความคิด ความฝัน และความชอบของลิงเคลเทอร์เมื่อครั้งยังเยาว์วัย และเมื่อได้ อีธาน ฮอว์ค และ จูลี เดลพี มาช่วยเขียนบทด้วย ทุกสิ่งที่ปรากฏไดอะล็อกและในฉากต่าง ๆ จึงล้วนมาจากการอ้างอิงความชอบส่วนตัวของผู้กำกับและนักแสดงทั้งสาม ไม่ว่าจะเป็นหนังสือที่ตัวละครอ่าน บทกวีที่ตัวละครพูด หรือการตีความงานจิตรกรรมที่ตัวละครพบเห็น
แล้วมีงานศิลปะหรือวรรณกรรมใดที่แอบซ่อนอยู่ในโลกในฝันของ Before Sunrise บ้าง? ลองไปดูกันเลย!
หนังสือสื่อตัวตน
ในฉากเปิดเรื่องบนรถไฟที่เจสซีกับเซลีนพบกันเป็นครั้งแรกบนรถไฟ ทั้งสองโชว์หนังสือที่ตัวเองกำลังอ่านให้อีกฝ่ายดู ซึ่งหนังสือที่ตัวละครทั้งสองอ่านก็สะท้อนตัวตนและเรื่องราวของแต่ละคนในเรื่องได้เป็นอย่างดี
หนังสือที่เซลีนอ่านคือ My Mother, Madame Edwarda, The Dead Man โดยนักเขียนและนักปรัชญาชาวฝรั่งเศส ฌอร์จส์ บาตาย (George Bataille) ผู้โด่งดังในด้านของงานเขียนที่สะท้อนกามารมณ์ จิตวิญญาณ และความตาย โดยหนังสือเล่มนี้คือการรวบรวมเรื่องสั้นแนวอีโรติกสามเรื่องของบาตายที่ใช้แก่นเรื่องกามารมณ์ในการสำรวจสารัตถะของตัวตนของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวที่เล่าจินตนาการทางเพศของชายหนุ่มซึ่งสัมพันธ์กับแม่ของเขา, เรื่องราวของหญิงโสเภณีที่เรียกตัวเองว่า ‘พระเจ้า’, และเรื่องสุดท้ายที่ตีพิมพ์หลังการตายของบาตายที่พูดถึงความรุนแรงและความปรารถนาของมนุษย์
หนังสือที่เล่าเรื่องราวการล่วงล้ำเส้นแบ่งทางศีลธรรมจรรยาในสังคมด้วยพลังอำนาจทางเพศเล่มนี้สะท้อนแคแรกเตอร์ของตัวละครเซลีนที่เป็นหญิงสาวซึ่งกำลังค้นหาตัวตนของตนเอง เซลีนมาจากครอบครัวที่อบอุ่นซึ่งพ่อแม่ที่ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน แต่ก็มีความคาดหวังให้เซลีนทำอาชีพตามขนบ เช่น นักข่าว ผู้ประกาศข่าว หรือสัตวแพทย์ ซึ่งก็ทำให้เซลีนมีความปรารถนาที่จะขบถต่อพ่อแม่หรือแหกกฎสังคมบางอย่าง เห็นได้จากในฉากที่เธอเล่าเรื่องราวครอบครัวให้เจสซีฟัง แล้วเธอก็กล่าวว่า การทะลายกรอบที่เราเติบโตขึ้นมาเป็นกระบวนการเติบโตที่ดี “I just think it‘s a healthy process to rebel against everything that came before” ซึ่งก็สอดคล้องกับที่หมอดูยิปซีทำนายว่า เซลีนเป็นนักผจญภัยกำลังอยู่บนเส้นทางการเดินทางเพื่อค้นหาตัวตนข้างในตัวเอง นอกจากนี้เธอยังเป็นผู้หญิงที่สนใจในพลังอำนาจของเพศหญิง และมีความปรารถนาที่จะก้าวเข้าไปสู่ด้านที่ไร้กรอบเกณฑ์ของชีวิต
ในขณะที่หนังสือที่เจสซีอ่านคือ All I need is Love ซึ่งเป็นหนังสืออัตชีวประวัติสุดฉาวของนักแสดงชื่อเสียชาวเยอรมัน เคลาส์ คินสกี ที่เล่าเรื่องราวในชีวิตตั้งแต่การเติบโตขึ้นมาอย่างยากลำบากในครอบครัวยากจน การถูกเกณฑ์ไปรบในสงคราม การเติมเต็มความกระหายทางเพศ ไปจนถึงการที่เขาต้องเข้าไปอยู่ในโรงพยาบาลจิตเวช (ซึ่งในภายหลังก็มีผู้เกี่ยวข้องกับคินสกีออกมากอธิบายว่าเจ้าตัวเขียนเกินจริง เช่น เรื่องการเติบโตมาในครอบครัวยากจน ซึ่งเพื่อนผู้กำกับชาวเยอรมัน แวร์เนอร์ เฮอร์ซอก ก็ออกมาบอกว่าไม่เป็นความจริง)
ที่จริงแล้วคินสกีได้ชื่อว่าเป็นนักแสดงผู้มีชื่อเสียงฉาวโฉ่จากอารมณ์รุนแรง โมโหร้าย และมีประวัติการใช้ความรุนแรงในครอบครัว โดยหลังจากที่หนังสือถูกตีพิมพ์ บรรดาลูก ๆ ของคินสกีก็ออกมาฟ้องร้องและอ้างว่าถูกพ่อล่วงละเมิดทางเพศด้วย! ซึ่งการที่เจสซีอ่านหนังสือเล่มนี้ก็ดูเหมือนว่าจะเป็นการอ่านเพื่อจัดการกับปมที่เขามีต่อพ่อผู้เคยบอกแม่ของเขาว่าไม่ได้อยากให้เขาเกิดขึ้นมา และการมีเขาคือความผิดพลาด ด้วยเหตุนี้จึงอาจกล่าวได้ว่า การอ่านอัตชีวประวัติของพ่อผู้เหลวแหลกจึงเป็นเหมือนกับการพยายามทำความเข้าใจพ่อผู้ใจร้ายของตัวเขาเอง
แฟนบอย James Joyce หมายเลขหนึ่ง
ผู้กำกับริชาร์ด ลิงเคลเทอร์ ไม่เคยปดปิดว่าเขาเป็นแฟนตัวยงของ เจมส์ จอยซ์ นักเขียนชาวไอริชคนสำคัญแห่งศตวรรษที่ 20 หนึ่งในผู้วางรากฐานการเขียนเขียนด้วยกระแสสำนึก (Stream of Conciousness) ซึ่งเป็นกลวิธีการเขียนที่บอกเล่าความในใจของตัวละครแบบพรั่งพรูหลั่งไหล ที่สุดท้ายแล้วจะสะท้อนตัวตนและความคิดที่ซ่อนอยู่ในจิตใจของตัวละคร …ซึ่งก็ไม่ต้องไปหาแล้วว่าบทพูดยาวยืดของเจสซีกับเซลีนใน Before Sunrise ได้แรงบันดาลใจมาจากใคร
ใน Before Sunrise ลิงเคลเทอร์ก็ได้สอดแทรกแรงบันดาลใจจากจอยซ์ไว้มากมาย โดยเฉพาะจากงานเขียนขึ้นหิ้งอมตะของจอยซ์อย่าง Ulysses ที่เล่าเรื่องราวชีวิตหนึ่งวันของตัวละครชาวเมืองดับลินอย่าง เลโอโพลด์ บลูม ซึ่งดำเนินไปในวันที่ 16 มิถุนายน ค.ศ. 1904 (ที่ในภายหลังแฟน ๆ ของจอยซ์จะเรียกวันนี้ว่า วัน Bloomsday) ซึ่งวันที่ 16 มิถุนายนก็คือวันที่เจสซีกับเซลีนลงจากรถไฟที่สถานีรถไฟกรุงเวียนนาและใช้เวลาร่วมกันหนึ่งวัน ซึ่งเวลาหนึ่งวันก็คือช่วงเวลาที่เกิดขึ้นในนวนิยาย Ulysses นอกจากนี้เรื่องราวยังเล่าถึงการที่ตัวละครอย่างบลูมเดินทางไปยังสถานที่ต่าง ๆ รอบเมือง โดยหนึ่งในสถานที่ที่บลูมไปเยือนก็คือสุสาน ซึ่งก็ตรงกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นใน Before Sunrise เช่นกัน
ในโลกความจริง วันที่ 16 มิถุนายนซึ่งเป็นวันที่เรื่องราวใน Ulysses และ Before Sunrise ดำเนินไปนั้นยังเป็นวันที่จอยซ์ได้ชักชวนคนรัก นอรา บาร์เนซล์ ที่ในเวลานั้นเพิ่งรู้จักกันได้ไม่ถึงหนึ่งอาทิตย์ ให้หนีไปยังปารีสด้วยกัน ซึ่งปารีสก็จะเป็นฉากหลังใน Before Sunset ที่เป็นภาคต่อของ Before Sunrise นั่นเอง
และจะเป็นเรื่องบังเอิญเกินไปรึเปล่า ถ้าเราจะบอกว่า ในสมัยที่เจมส์ จอยซ์ ยังเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยนั้น เขาเคยแปลบทละครภาษาเยอรมันของนักเขียน แกร์ฮาร์ท เฮาพท์มัน (Gerhart Hauptmann) ที่มีชื่อว่า Vor Sonnenaufgang ซึ่งแปลเป็นภาษาอังกฤษได้ว่า ‘Before Sunrise’
La voie ferrée (1881–82), Georges Seurat
ในฉากที่เจสซีกับเซลีนเดินเล่นไปมาบนถนนยามค่ำคืน พวกเขาก็พบกับโปสเตอร์ประชาสัมพันธ์นิทรรศการที่จัดแสดงผลงานของ ฌอร์ฌ เซอรา (Georges Seurat) ที่จะจัดขึ้นที่พิพิธภัณฑ์ Kunst Haus Wien museum โดยเซอราได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในศิลปินลัทธิหลังประทับใจ (Post-impressionism) คนสำคัญของศตวรรษที่ 19 และเป็นผู้ริเริ่มเทคนิคทางศิลปะที่เรียกว่า Pointillism ที่เป็นการผสานจุดสีหลาย ๆ จุดเข้าด้วยกันเพื่อให้สายตาของผู้ชมผสมสีจนสร้างรูปฟอร์มบนภาพขึ้นมา
ในฉากนี้เซลีนได้บอกกับเจสซีว่า เธอรู้สึกจับใจกับภาพ La voie ferrée (1881–82) โดยเธอเคยเห็นภาพนี้ในพิพิธภัณฑ์ แล้วก็ยืนจ้องอยู่นานถึง 45 นาทีเลยทีเดียว โดยภาพ La voie ferrée เป็นภาพรางรถไฟที่เซอราสเกตช์ด้วยดินสอ และหากใครช่างโยงหน่อยก็อาจอนุมานได้ว่า ผู้กำกับเขาตั้งใจใส่กิมมิกเกี่ยวกับรถไฟซึ่งเป็นที่ที่เจสซีกับเซลีนพบกันครั้งแรกนั่นเอง โดยฉากเปิดเรื่องของ Before Sunrise ก็เป็นภาพโคลสอัพทางรถไฟด้วย
La nourrice (1882–83) / Anaïs Faivre Haumonté sur son lit de mort (1887)
แต่ภาพสเกตช์ที่ดูเลือนลางนี้ก็อาจบอกเป็นนัยน์ถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคต หลังจากเล่าเรื่องราวความประทับใจเกี่ยวกับภาพทางรถไฟแล้ว เซลีนก็ชวนให้เจสซีดูภาพต่อไปอย่าง La nourrice (1882–83) ที่เป็นภาพสเกตช์คนไร้หน้าที่ดูเลือนลาง เรื่อยต่อไปถึงภาพ Anaïs Faivre Haumonté sur son lit de mort (1887) ซึ่งเป็นภาพของผู้หญิงใกล้สิ้นใจที่นอนอยู่บนเตียงพร้อมใบหน้าเลือนลางที่ไม้กางเขนข้างหลังยังดูชัดกว่า โดยเซลีนก็บอกเหตุผลที่ทำให้เธอประทับใจภาพวาดที่ดูเลือนลางเหล่านี้ว่า “ฉันชอบที่คนในภาพดูราวกับจะกลืนหายไปในฉากหลัง” ซึ่งฉากนี้จะสัมพันธ์กับฉากใน Before Sunset ที่เซลีนเข้าไปกอดเจสซีพร้อมกับกระซิบบอกว่า “ต้องดูให้แน่ใจว่าคุณจะยังอยู่ตรงนี้หรือสลายหายไปเป็นโมเลกุล” (“if you stay together or if you dissolve into molecules.”)
ภาพที่นำเสนอความเลือนลางราวกับจะหายไปและความไม่แน่นอนของผู้คนและสรรพสิ่งโดย ฌอร์ฌ เซอรา ก็ช่วยไฮไลต์แมสเสจสำคัญในไตรภาค Before Trilogy และรวมไปถึงหนังทั้งหมดของลิงเคลเทอร์ ...ความไม่แน่นอนของกาลเวลาและความทรงจำ ซึ่งทั้งสวยงามและแสนเศร้าในคราวเดียวกัน