ไม่ว่าจะปีไหน ๆ ชื่อของกรุงโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์กก็มักจะติดอันดับการเป็นเมืองเมืองคุณภาพชีวิตที่ประชาชนมีความสุขที่สุดในโลกอยู่เสมอ แถมล่าสุด คณะกรรมการ UNESCO และสมัชชาใหญ่แห่งสหภาพสถาปนิกนานาชาติ (UIA) ยังได้ประกาศให้โคเปนเฮเกนเป็นเมืองหลวงแห่งสถาปัตยกรรมโลก (World Capital of Architecture) ประจำปี 2023 อย่างเป็นทางการด้วย เรียกได้ว่า ในเมือง ๆ เดียวมีครบจบ ตั้งแต่ความชีวิตดี ไปจนถึงการออกแบบเมืองที่งดงามกันเลยทีเดียว
ซึ่งสังคมดีของโคเปนเฮเกนก็ไม่ได้ถือกำเนิดขึ้นมาเฉย ๆ แต่เป็นการมองหาความหวังในภาวะวิกฤตและสร้างความร่วมมือร่วมใจของภาคประชาชนที่เชื่อในความเป็นไปได้ของการเป็นเมืองที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลางในการพัฒนา ค่อย ๆ ก่อร่างสร้างเป็นเมืองต้นแบบในฝันของคนทั่วทั้งโลก โดยเฉพาะในด้านการจัดการพื้นที่สาธารณะ การขนส่งมวลชน และการวางผังเมือง
GroundControl ขอเชิญทุกคนมาร่วมออกสำรวจ และไขความลับที่ทำให้เมืองแห่งนี้กลายมาเป็นเมืองชีวิตดีที่มีผู้คนมีความสุขที่สุดในโลก อีกทั้งยังเป็นการจุดประกายไฟแห่งความหวัง เพื่อนำแนวคิดการพัฒนาเมืองของโคเปนเฮเกนกลับมาสร้างสังคมดีให้กับประเทศไทยของเราด้วย
📍 Superkilen
เสียงของทุกคนมีค่า เพราะนี่คือสถานที่ที่ประชาชนเป็น ‘เจ้าของ’
ถ้าจะให้พูดถึงความชีวิตดี สังคมดี ของกรุงโคเปนเฮเกน สิ่งที่หลายคนจะนึกถึงเป็นอย่างแรก ๆ ก็จะคงหนีไม่พ้นการสร้างพื้นที่สาธารณะในเมืองที่ประชาชนสามารถเข้าถึงได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียมโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
คงจะไม่มีสถานที่แห่งไหนจะได้รับการยอมรับในด้านการออกแบบการใช้พื้นที่ รวมไปถึงการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนมากไปกว่า Superkilen สวนสาธารณะหน้าตาทันสมัยที่ได้รับการออกแบบโดย Bjarke Ingels Group (BIG) บริษัทที่ก่อตั้งโดย Bjarke Ingels สถาปนิกชาวแดนิชรุ่นใหม่ไฟแรง ที่ไปจับมือกับ Superflex และ Topotek 1 ในการเนรมิตสวนสาธารณะดีไซน์เก๋แห่งนี้จนเกิดเป็นพื้นที่กิจกรรมของประชาชนที่ครบครันทั้งความสวยงามและประโยชน์ใช้สอย
ไม่เพียงการออกแบบที่แปลกตา ดูน่าดึงดูดสำหรับกลุ่มคนทุกเพศ ทุกวัย แต่สวนสาธารณะ Superkilen ยังเชื่อในความสวยงามของความหลากหลาย และคอยทำหน้าที่ผสมผสานวัฒนธรรมที่แตกต่างจากทั่วโลกไว้ในพื้นที่เดียว โดยนอกจากจะมีการเปิดพื้นที่ให้ประชาชนได้ร่วมลงเสียงโหวตในขั้นตอนการออกแบบและคัดเลือกพันธุ์ไม้กว่า 100 ชนิดที่จะนำมาปลูกภายในสวนแห่งนี้แล้ว สวนสาธารณะ Superkilen ยังแอบสอดแทรกกิมมิคเล็ก ๆ ด้วยการนำเอาของดี ของเด็ด ภาพจำของแต่ละประเทศมาใช้ตกแต่งสวนแห่งนี้ด้วยมากมาย แม้แต่เวทีมวยไทยของบ้านเราก็ยังไปปรากฏตัวแสดงศักดาความยิ่งใหญ่ของศิลปะการต่อสู้จากแดนไกลอยู่ในสวนสาธารณะแห่งนี้ด้วยเช่นกัน
ปัจจุบัน สวนสาธารณะ Superkilen ถูกแบ่งออกเป็น 3 โซนตามวัตถุประสงค์การใช้งานที่แตกต่างกันคือ The Red Square, The Black Market และ The Green Park ซึ่งแต่ละโซนก็ได้รับความสนใจจากประชาชนชาวเมืองเป็นอย่างดี กลายเป็นจุดนัดพบและลานกิจกรรมของผู้คนของประชาชนอย่างแท้จริง
📍 CopenHill
งบสามพันห้าร้อยล้านที่ไม่ได้เรือดำน้ำ แต่ได้โรงงานผลิตพลังงานไฟฟ้าจากขยะที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และยังเป็นลานกิจกรรมของชาวเมืองทุกคน
ถ้าวันหนึ่งจะมีโรงงานเผาขยะมาเปิดทำการในเมืองสักแห่ง เชื่อว่าคงมีเสียงคัดค้านจากประชาชนในเมืองนั้น ๆ ไม่น้อยแน่นอน เพราะสิ่งที่จะตามมาพร้อม ๆ กับการมาถึงของมันคงจะหนีไม่พ้นปัญหามลภาวะมากมายหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นทางน้ำ ทางอากาศ และทางเสียง แต่โคเปนเฮเกนสามารถพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส เปลี่ยนโรงงานสุดยี้ในสายตาชาวเมืองให้กลายเป็นพื้นที่สาธารณะสำหรับชาวเมืองทุกคน
โครงการดังกล่าวได้รับการออกแบบและพัฒนาโดยบริษัท Bjarke Ingels Group (BIG) เจ้าเก่า ภายใต้ชื่อ CopenHill ซึ่งก็ดูจะเป็นชื่อที่บรรยายความเป็นโครงการแห่งนี้ได้อย่างตรงตามตัว เพราะด้านบนดาดฟ้าของโรงงานผลิตพลังงานไฟฟ้าจากขยะที่ตั้งอยู่บนเกาะอาแมเยอร์ ในเมืองโคเปนเฮเกนแห่งนี้ ถูกออกแบบให้กลายเป็นสวนเขียวที่มีความลาดเอียงจนดูคล้ายกับเนินเขาสูงกลางเมืองยังไงยังงั้น
นอกจากการนำเทคโนโลยีล้ำสมัยมาช่วยบำบัดน้ำเสียจนแทบจะไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมบริเวณพื้นที่โดยรอบโรงงานแล้ว CopenHill ยังสร้างลานนันทนาการบนดาดฟ้า และเชื้อเชิญผู้คนให้มาทำกิจกรรมร่วมกันได้โดยไม่ต้องกังวลถึงมลภาวะต่าง ๆ ที่อาจจะตามมา โดยพื้นที่ดังกล่าวเน้นไปที่กีฬาเอ็กซ์ตรีมประเภทต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นลานสกี สนามโกคาร์ท เส้นทางเดินป่า พื้นที่ปีนหน้าผา และอื่น ๆ อีกมาก
ถึงแม้จะต้องทุ่มเงินก่อสร้างไปถึงสามพันห้าร้อยล้านโครนเดนมาร์ก แต่โครงการ CopenHill ก็ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี เพราะในปัจจุบัน มันไม่ได้ทำหน้าที่เป็นเพียงพื้นที่กิจกรรมของประชาชนชาวโคเปนเฮเกนเท่านั้น แต่ยังกลายมาเป็นจุดชมวิวและแลนด์มาร์กแห่งใหม่ของเมืองที่นักท่องเที่ยวหลาย ๆ คนต่างมาแวะเยี่ยมชมความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ระหว่างเทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อมที่สามารถอยู่ร่วมกันได้ภายใต้บริบทเมือง
📍 Cykelslangen / Bicycle Snake
ใคร ๆ ก็สามารถขี่จักรยานไปไหนมาไหนในชีวิตประจำวันได้ ถ้ามีเลนจักรยานที่สะดวก ปลอดภัย และไม่ใช่ที่จอดรถเมล์
ปฏิเสธไม่ได้ว่า เราทุกคนต่างใฝ่ฝันถึงเมืองจักรยานที่ผู้คนสามารถสัญจรไปมาด้วยพาหนะสองล้อนี้อย่างอิสระและปลอดภัย ทั้งได้ออกกำลังกาย การจราจรติดขัดน้อยลง ลดการใช้พลังงาน และยังช่วยทำให้มลภาวะต่าง ๆ จากการใช้รถยนต์ลดลงอย่างเห็นได้ชัด แต่ด้วยปัจจัยที่จำกัดหลาย ๆ ด้าน ทำให้แนวคิดดังกล่าวเป็นได้เพียงฝันที่กล้าฝันของหลาย ๆ เมืองทั่วโลก
แต่ไม่ใช่กับโคเปนเฮเกน เมืองชีวิตดีที่เปลี่ยนความแออัดของรถยนต์ในท้องถนนในช่วงยุค 1970s ให้กลายเป็นเมืองจักรยานที่ผู้คนส่วนใหญ่สามารถเดินทางสัญจรได้อย่างสะดวกและปลอดภัยจากการสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่มารองรับการพัฒนาเมืองในรูปแบบดังกล่าวได้อย่างครบครัน โดยเฉพาะกับการออกแบบ
Cykelslangen หรือที่เรียกกันง่าย ๆ ว่า Bicycle Snake เส้นทางจักรยานลอยฟ้าที่พาเหล่านักปั่นข้ามฝั่งไปยังตัวเมืองใหม่ของโคเปนเฮเกน โดยเป็นเส้นทางลัดเลาะหลีกเลี่ยงถนนที่มีการจราจรหนาแน่น อีกทั้งยังทำหน้าที่เพิ่มความปลอดภัยและทำให้ผู้ขับขี่จักรยานสามารถปั่นด้วยความเร็วแบบไม่ต้องกลัวเฉี่ยวชนผู้คนเดินเท้าตามท้องถนนด้วย
Cykelslangen ได้รับการออกแบบโดย DISSING+WEITLING Architecture ในปี 2014 มีลักษณะเป็นสะพานลอยสำหรับจักรยานสูงกว่า 7 เมตร ยาวร่วม 200 เมตร ตัดผ่านทะลุย่านเศรษฐกิจและศูนย์การค้าพุ่งตรงข้ามแม่น้ำแบบไม่ต้องเสียเวลา ซึ่งด้วยความสวยงามของวิวทิวทัศน์ในบริเวณนี้ ก็ทำให้ Cykelslangen กลายมาเป็นเส้นทางสุดฮอตที่มีนักปั่นจักรยานมาใช้บริการมากถึง 13,000 คนโดยประมาณทุกวัน
📍 Strøget Pedestrian Street
สภาพอากาศไม่ใช่ปัจจัยที่ทำให้เมืองน่าเดิน แต่การจัดผังเมืองและทางเท้าที่ดีต่างหากที่ทำให้มันเกิดขึ้นจริง
อีกหนึ่งสิ่งสำคัญที่มีส่วนอย่างมากในการผลักดันโคเปนเฮเกนให้กลายเป็นต้นแบบให้กับเมืองอื่น ๆ ทั่วโลกคงหนีไม่พ้นการวางผังเมืองที่ดีที่เอื้อให้เกิดสาธารณูปโภคที่สะดวกสบายและคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างที่กล่าวมา โดยหนึ่งในบุคคลสำคัญที่เข้ามาพัฒนาผังเมืองโคเปนเฮเกนให้เข้าถึงผู้คนได้มากยิ่งขึ้นคือ Jan Gehl สถาปนิก นักวางผังเมือง และผู้ก่อตั้งบริษัท Gehl Architects ที่ผลักดันเรื่องพื้นที่สาธารณะที่คำนึงความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของผู้คนมานานหลายสิบปี
หนึ่งในผลงานที่น่าจดจำที่สุดที่ Gehl เคยลงมือพัฒนาจนพลิกหน้าประวัติศาสตร์ของโคเปนเฮเกนไปตลอดกาลคือการเปลี่ยนถนนความยาว 1.15 กิโลเมตรอย่าง Strøget จากการเป็นถนนที่เคยมีรถยนต์สัญจรหนาแน่น มาสู่การเป็นถนนคนเดินปลอดรถยนต์ในปี 1962 จนในที่สุด ถนนสายประวัติศาสตร์แห่งนี้ก็กลายมาเป็นถนนชอปปิงเส้นที่ยาวที่สุดในยุโรป และยังเป็นจุดหมายปลายทางสำคัญของเหล่านักท่องเที่ยวจากทั่วสารทิศด้วย
แต่เมื่อมองย้อนกลับไป ก่อนที่ถนน Strøget จะเดินทางมาถึงวันนี้ มันก็ต้องฝ่าฝันอะไรมาไม่น้อย โดยสาเหตุหลัก ๆ ที่ชาวเมืองในยุคนั้นต่อต้านการเปลี่ยนแปลงถนน Strøget เป็นถนนคนเดินคือความเชื่อที่ว่า สภาพอากาศของโคเปนเฮเกนหนาวเย็นจนไม่เหมาะแก่การเดินเล่นนอกบ้าน อีกทั้งการงดใช้รถยนต์ก็จะทำให้ธุรกิจในย่านนั้นตายตามไปด้วย
อย่างไรก็ดี ภายในระยะเวลาไม่กี่ปี ถนน Strøget ก็ประสบความสำเร็จให้ประชาชนชาวเมืองเห็นอย่างเป็นรูปธรรม จากการมีห้างร้านน้อยใหญ่ถือกำเนิดเพิ่มมากขึ้นตลอดเส้นทาง จนเศรษฐกิจในระแวกนั้นเติบโตยิ่งกว่าเดิมหลายเท่าตัว ถือเป็นทั้งการเสริมสร้างสุขภาพกายและใจที่ดีขึ้นให้กับชาวเมือง และยังช่วยก่อให้เกิดการจับจ่ายจนมีเม็ดเงินหมุนเวียนในเมืองมากมาย
Good Society Summit 2021 - Hope in Crisis ในวิกฤตยังมีหวัง
แม้วันนี้การพัฒนาในบ้านเราจะกำลังขับเคลื่อนไปอย่างช้า ๆ ในขั้นเริ่มต้น แต่ความหวังในการสร้างสังคมดีก็ยังมีอยู่เต็มเปี่ยม เพราะสังคมที่ทุกคนอยู่ดีมีสุขอย่างยั่งยืนเป็นสิ่งที่ต้องร่วมกันสร้างจึงจะเกิดขึ้นจริง
ใครที่ได้เห็นตัวอย่างการพัฒนาเมืองที่คำนึงถึงประชาชนเป็นศูนย์กลางในการออกแบบตามแบบฉบับของชาวโคเปนเฮเกนแล้วคันไม้คันมือ อยากลองลงมือสร้างชีวิตดี สังคมดีในแบบของตัวเอง ก็สามารถมาจอยกันได้ในงาน ‘Good Society Summit 2021 - Hope in Crisis ในวิกฤตยังมีหวัง’ งาน Online Virtual Summit ที่ผสานความร่วมมือของทุกคนเพื่อสร้างสังคมไทยในทางที่ดีมากยิ่งขึ้น ชวนทุกคนมาร่วมมือสร้างการเปลี่ยนแปลงให้สังคมไทยกับ 50 Speakers, 36 กิจกรรม และภาคีภาคสังคมกว่า 100 ภาคี
ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่:
www.goodsociety.network
รับชมรายการ Self-Quarantour EP. Good Society in Copenhagen เต็ม ๆ ได้ที่: