ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา สังคมไทยเกิดคำถามถึงความเป็นพื้นที่สาธารณะของคนเมืองที่ถูกยึดหายและกลายร่างเป็นพื้นที่ของนายทุนอยู่หลายต่อหลายครั้ง โดยเฉพาะกับเหล่าห้างสรรพสินค้าจากนานาบริษัทที่ผุดขึ้นมาเป็นดอกเห็ด สวนทางกับพื้นที่สาธารณะของประชาชนที่นับวันก็ยิ่งจะมองหาได้ยากมากขึ้นทุกวัน
นี่เป็นเครื่องพิสูจน์ที่แสดงให้เห็นว่า ‘ผู้คน’ ไม่ได้อยู่ในสมการการออกแบบพัฒนาเมืองของบ้านเราเลยแม้แต่น้อย เพราะหากเรามุ่งเน้นการพัฒนาเมืองโดยคำนึงการใช้สอยของประชาชนเป็นสำคัญ พื้นที่สาธารณะเป็นสิ่งจำเป็นต่อการสร้างชุมชมที่แข็งแรงอย่างขาดไม่ได้ ทั้งในแง่ร่างกาย จิตใจ และสังคม เพราะมันจะเปิดโอกาสให้ประชาชนได้มีพื้นที่ทำกิจกรรมและปฏิสัมพันธ์ร่วมกันอย่างหลากหลาย รวมทั้งยังช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตในองค์รวมที่ดีขึ้นด้วย
วันนี้ GroundControl ขอทำหน้าที่รวบรวมพื้นที่สาธารณะจากหลากประเทศทั่วโลกที่นอกจากจะ ‘ปัง’ ในแง่การออกแบบแล้ว ยังช่วยสร้างพื้นที่ของประชาชนเพื่อ ‘ประชาชน’ จริง ๆ โดยการเปิดใจรับฟังเสียงและความต้องการของสังคมเป็นสำคัญ และนำมาลงมือพัฒนาให้เหล่าคนเมืองได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นในทุก ๆ ด้าน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ก็ไม่ได้อยู่ไกลเกินเอื้อม แต่สามารถเกิดขึ้นได้จริงจากการรวมพลังกันสร้างสังคมดีของทุกคนในสังคม
สวนสาธารณะดีไซน์เก๋ที่รับฟังเสียงของทุกคน
📍 Superkilen Park
Copenhagen, Denmark
สวนสาธารณะ Superkilen Park ตั้งอยู่ในย่าน Norrebro ทางตอนเหนือของเมืองโคเปนเฮเกน ซึ่งขึ้นชื่อในด้านความหลากหลายของผู้คนจากนานาประเทศที่มารวมตัวกันสร้างสีสันให้ย่านนี้มีความโดดเด่นและน่าสนใจไม่แพ้ใคร และเมื่อย่านที่เต็มไปด้วยความหลากหลายของวัฒนธรรมและชาติพันธุ์แห่งนี้จะมีสวนสาธารณะเกิดขึ้นทั้งทีย่อมไม่ใช่สวนสีเขียวธรรมดา ๆ แน่นอน
ทีมสถาปนิกและนักออกแบบจาก Bjarke Ingels Group (BIG), Superflex และ Topotek 1 จับมือร่วมกันออกแบบสวนสาธารณะความยาวเกือบ 1 กิโลเมตรแห่งนี้ภายใต้แนวคิดการผสมผสานวัฒนธรรมที่แตกต่างของแต่ละพื้นที่ทั่วโลกเข้ามาอยู่ร่วมกันในพื้นที่เดียว ซึ่งในขั้นตอนการออกแบบ พวกเขาก็เปิดพื้นที่ให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการออกแบบและเลือกพืชพรรณกว่า 100 ชนิดที่จะถูกนำมาปลูกในสวนแห่งนี้ โดยในท้ายที่สุด เมื่อ Superkilen Park ถูกเปิดให้ใช้งานในปี 2012 มันก็ถูกแบ่งออกเป็น 3 โซนหลัก ๆ คือ The Red Square - จตุรัสสีแดงสุดจี๊ดใจที่ทำหน้าที่เป็นสนามเด็กเล่นและลานกิจกรรมของชาวเมืองทุกคน, The Black Market - จุดนัดพบที่บริเวณศูนย์กลางของสวนที่โดดเด่นด้วยเส้นกราฟฟิกสีขาวบนพื้นดำ และ The Green Park - พื้นที่สีเขียวชวนพักผ่อนที่เต็มไปด้วยลานกีฬาและสถานที่ออกกำลังกาย
โดยนอกจาก Superkilen Park จะถูกออกแบบมาอย่างสวยงามทันสมัยโดนใจคนรุ่นใหม่แล้ว มันยังสะท้อนให้เห็นถึงความหลากหลายทางวัฒนธรรมของผู้คนผ่านรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ถูกเติมแต่งเข้ามาเพื่อเป็นตัวแทนของคนในแต่ละประเทศ เช่น ต้นซากุระภาพจำของญี่ปุ่น น้ำพุยักษ์ตามสไตล์โมร็อกโก ถังขยะเหล็กแบบเมืองผู้ดี หรือแม้แต่เวทีมวยไทยของเราก็ยังไปอวดโฉมอยู่ที่นั่นด้วย
เปลี่ยนดาดฟ้าโล่ง ๆ ให้กลายเป็นสถานที่ออกกำลังกายของคนเมือง
📍 Park ‘n’ Play - Konditaget Lüders
Copenhagen, Denmark
จากการจัดอันดับที่เคยบอกไว้ว่า โคเปนเฮเกนคือเมืองที่ประชาชนมีสุขภาพดีเป็นอันดับต้น ๆ ของยุโรปคงไม่เกินจริงนัก เพราะนอกจากเมืองอันแสนสงบแห่งนี้จะมีสวนสาธารณะ Superkilen Park แล้ว ยังมีอีกหนึ่งพื้นที่สาธารณะที่มาช่วยเชิดหน้าชูตาให้กับชาวเมืองไม่แพ้กัน สถานที่แห่งนั้นคือ Park ‘n’ Play - Konditaget Lüders สนามเด็กเล่นสุดฮิป ผลงานการออกแบบของ JAJA Architects ที่ถูกเปิดให้ประชาชนคนทั่วไปได้เข้ามาใช้บริการเมื่อปี 2016 นี้เอง
Konditaget Lüders ไม่ใช่สนามเด็กเล่นบ้าน ๆ ทั่วไป แต่มันคือลานกีฬาเอนกประสงค์บนดาดฟ้าของอาคารจอดรถ 7 ชั้นสไตล์ industrial สีแดงก่ำที่บริเวณท่าเรือเก่าของย่าน Århusgade แหล่งที่พักอาศัยของกรุงโคเปนเฮเกน โดยมีไอเดียที่ต้องการจะสร้างประโยชน์ใช้สอยให้กับดาดฟ้าของอาคารจอดรถโล่ง ๆ ให้กลายเป็นพื้นที่เชื่อมโยงผู้คนและส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนกับพื้นที่เข้าด้วยกัน ซึ่งนอกจากมันจะมีชิงช้า เครื่องเล่น และลู่วิ่งที่สนุกสนานโดนใจเด็ก ๆ แล้ว การออกแบบที่ใช้สีแดงล้อไปกับอาคารด้านล่างยังโดดเด่นโดนใจชาวเมืองเข้าอย่างจัง จนต้องคอยผลัดเปลี่ยนกันมาใช้บริการยืดเส้นยืดสายกันอยู่เสมอ ถือเป็นตัวอย่างที่ดีมาก ๆ ของการอยู่ร่วมกันระหว่างผู้คนกับอาคารในเมืองสมัยใหม่
จากโศกนาฏกรรมเรือไททานิกสู่พื้นที่ชีวิตของคนเมือง
📍 Little Island - Floating Park
Pier 55, NYC, New York, USA
ในอดีตกาลท่าเรือริมแม่น้ำฮัดสันแห่งนี้ไม่ได้ถูกเรียกว่า Pier 55 อย่างที่เราเข้าใจกัน แต่ความจริงแล้วมันเคยเป็นท่าเรือ Pier 54 สถานที่เทียบท่าของ White Star Line บริษัทเจ้าของเรือไททานิกที่ถูกจดจำจากโศกนาฏกรรมครั้งยิ่งใหญ่ที่คร่าชีวิตผู้คนกว่า 1,500 คนหลังชนภูเขาน้ำแข็งขนาดยักษ์ ซึ่งเมื่อมีการออกช่วยเหลือเหตุการณ์เรืออับปางในครั้งนั้น เหล่าผู้รอดชีวิตก็ถูกลำเลียงส่งขึ้นบกกันที่ท่าเรือ Pier 54 แห่งนี้เช่นกัน และด้วยประวัติศาสตร์แสนเศร้าตรงนี้เอง ภายหลังจึงมีการเปลี่ยนชื่อเป็น Pier 55 เพื่อแก้เคล็ดแบบในปัจจุบัน
ถึงแม้จะต้องเผชิญกับเรื่องราวความเจ็บปวดมามากมายจนทำให้ท่าเรือนี้มีสภาพรกร้างอยู่นานหลายสิบปี แต่ในที่สุดมันก็ถูกนำกลับมาพัฒนาใหม่เป็น Little Island สวนหย่อมลอยน้ำที่ถูกออกแบบมาอย่างสวยงามด้วยโครงสร้างคอนกรีตขนาดใหญ่ลักษณะคล้ายดอกทิวลิป และพรรณไม้น้อยใหญ่หลายร้อยชนิดที่ Thomas Heatherwick จาก Heatherwick Studio และ Mathews Nielsen จาก MNLA ร่วมกันออกแบบและพัฒนาจนมันกลายเป็นพื้นที่แลนด์มาร์กแห่งใหม่ของนิวยอร์กที่รวบรวมผู้คนให้ได้มาพักผ่อนหย่อนใจริมน้ำกันแบบชิลล์ ๆ นอกจากนั้น Little Island ยังเป็นพื้นที่จัดกิจกรรมและแสดงผลงานศิลปะที่น่าสนใจและร้อนแรงมาก ๆ อีกแห่งหนึ่งของเกาะแมนฮัตตันในขณะนี้ด้วย
ร่มเงาของโครงสร้างไม้ขนาดยักษ์ที่เชื่อมต่อผู้คนเข้าด้วยกันอีกครั้ง
📍 Metropol Parasol
Sevilla, Spain
หลังจากที่ Plaza de la Encarnacion จตุรัสกลางเมืองเซบีย่า ต้องกลายเป็นพื้นที่เงียบเหงาทั้งในเชิงเศรฐษกิจและการใช้ชีวิตของผู้คนอยู่นานหลายปี จึงได้กฤษ์ชุบชีวิตเมืองแห่งประวัติศาสตร์แห่งนี้ให้กลับมาสดใสมีชีวิตชีวาอีกครั้ง โดยสถาปนิกที่ได้โอกาสในการพลิกโฉมสถานที่แห่งนี้ก็คือ J. Mayer H. Architects บริษัทสถาปนิกจากเยอรมันที่นำการออกแบบโครงไม้ขนาดยักษ์หน้าตาล้ำสมัยมาใช้พัฒนาลานกลางเมืองแห่งนี้ให้ทำหน้าที่เชื่อมต่อผู้คนและสังคมเข้าด้วยกันอีกครั้ง
นอกจาก Metropol Parasol จะเป็นสถานที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ที่มีความสวยงาม และมีโครงสร้างไม้ให้ร่มเงาที่ (ว่ากันว่า) มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกแล้ว มันยังเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยทำให้ผู้คนสามารถกลับมาสัญจรผ่านไปผ่านมาอีกครั้ง จนทำให้กิจการห้างร้านต่าง ๆ ได้กลับมาเปิดทำการอย่างคึกคัก งานนี้ได้ทั้งแลนด์มาร์กแห่งใหม่ ทั้งการกระตุ้นเศรษฐกิจในท้องถิ่นไปพร้อม ๆ กัน เรียกได้ว่า ยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัวแท้ ๆ เลย
ท่ามกลางตึกแถวน้อยใหญ่ยังมีสนามบาสเกตบอลดีไซน์สวยซ่อนตัวอยู่
📍 Pigalle Duperré
Paris, France
ใครว่าลานกีฬาต้องดูน่าเบื่อ Pigalle Duperré เป็นตัวอย่างที่ดีมาก ๆ ที่แสดงให้เห็นแล้วว่า กีฬาและศิลปะสามารถไปด้วยกันได้อย่างดีเยี่ยม
โปรเจกต์ปรับเปลี่ยนภูมิทัศน์ลานจอดรถที่ถูกทิ้งร้างท่ามกลางตึกแถวน้อยใหญ่ของกรุงปารีสมาสู่ลานบาสเกตบอลสีสันสดใสโดนใจวัยรุ่นในครั้งนี้ เกิดขึ้นได้จากความร่วมมือของสตูออกแบบสัญชาติฝรั่งเศส Ill Studio และ Stéphane Ashpool เจ้าของ Pigalle แบรนด์แฟชั่นชื่อดังที่มาร่วมกันเนรมิตให้พื้นที่ไร้ประโยชน์ใช้สอยแห่งนี้กลับมาดูดีมีสไตล์ ดึงดูดคนทุกรุ่นแบบไม่มีเบื่อ
หากใครกำลังกังวลว่า ยังไงใช้งานไปเรื่อย ๆ หลายปีก็ต้องรู้สึกเบื่อกับหน้าตาสนามแบบเดิม ๆ อยู่ดี บอกเลยว่า ทีมผู้สร้างเขาคิดมาแล้ว! เพราะดีไซน์ของสนามบาสเกตบอลแห่งนี้จะถูกปรับเปลี่ยนใหม่ทุก ๆ รอบ 2 ปี โดยเมื่อปีที่แล้วก็เพิ่งมีการเปิดตัวดีไซน์ใหม่ไปเพื่อป้องกันความซ้ำซากจำเจ โดยนี่ถือเป็นแบบที่ 5 แล้วตั้งแต่มีการเปิดให้สาธารณชนเข้าใช้บริการ
เก่าแต่เก๋า... ไม่ต้องทุบทิ้งก็สามารถอยู่ร่วมกับความเป็นเมืองสมัยใหม่ได้
📍 Paddington Reservoir Gardens
Sydney, Australia
แต่เดิมสถานที่แห่งนี้ถูกใช้งานเป็นอ่างกักเก็บน้ำมาตั้งแต่ช่วงยุคศตวรรษที่ 19 ภายหลังในปี 1899 มันก็ถูกเลิกใช้บริการไป และถูกนำมาดัดแปลงการใช้งานไปในรูปแบบต่าง ๆ รวมถึงการเป็นโรงรถและปั๊มน้ำมันด้วย ซึ่งมันก็เป็นเรื่องน่าเสียดายที่โครงสร้างอันสวยงามและคุณค่าทางประวัติศาสตร์ของมันจะถูกปล่อยปละละเลยไปเช่นนั้น
ในปี 2006 สถาปนิก Tonkin Zulaikha Greer และบริษัทภูมิสถาปัตย์อย่าง JMD Design จึงเริ่มต้นลงมือปรับเปลี่ยนฟื้นฟูอ่างกักเก็บน้ำแห่งนี้ให้กลายเป็นสวนลอยฟ้าที่เอื้อให้ประชาชนสามารถมาเดินเล่น พักผ่อนหย่อนใจในวันสบาย ๆ รวมทั้งมาศึกษาพืชพันธุ์นานาชนิดที่ถูกปลูกรอบ ๆ สวนแห่งนี้ โดยในขั้นตอนการออกแบบและก่อสร้างทั้งหมดยังคำนึงถึงการอนุรักษ์โครงสร้างอิฐเก่าของอ่างกักเก็บน้ำแต่เดิม โดยเน้นรักษาร่องรอยสถาปัตยกรรมโบราณและนำไปผสมผสานกับการใช้สอยที่ตอบโจทย์รูปแบบการใช้ชีวิตยุคใหม่เป็นสำคัญ
พลังความร่วมมือของชุนชนที่ก่อให้เกิดพื้นที่สาธารณะของทุกคน
📍 พาสาน
นครสวรรค์ ประเทศไทย
ในช่วงปีที่ผ่านมาคงจะไม่มีสถานที่ท่องเที่ยวในไทยที่ไหนจะมาแรงและเป็นที่พูดถึง (ในทางบวก) บนโลกโซเชียลมากไปกว่า พาสาน แลนด์มาร์กแห่งใหม่ของจังหวัดนครสวรรค์ ที่เกิดจากความร่วมมือของคนในหลายภาคส่วน ทั้งเทศบาลนครสวรรค์ ภาคประชาชน และภาคเอกชน โดยกินเวลายาวนานถึง 12 ปีกว่าจะสำเร็จเสร็จสิ้นแบบในปัจจุบัน มีบริษัทสถาปนิกอย่าง บริษัท เอ-เซเว่น คอร์ปอเรชั่น จำกัด, บริษัท ดีพิคต์ จำกัด และบริษัท องศา สถาปนิก จำกัด มาร่วมกันสุมหัวพัฒนาให้แลนด์มาร์กแห่งปากน้ำโพแห่งนี้สามารถสะท้อนเอกลักษณ์และตัวตนของนครสวรรค์ได้ดีที่สุด
ปัจจุบันพาสานกลายเป็นพื้นที่สาธารณะเปิดให้ประชาชนได้เข้ามาใช้บริการพักผ่อนหย่อนใจ มีทั้งจุดชมวิว ส่วนพิพิธภัณฑ์ให้ความรู้ ลานออกกำลังกาย เลนจักรยาน ทางเท้าที่สะดวกสบาย โดยนอกจากมันจะถูกออกแบบมาอย่างสวยงามทันสมัยแล้ว มันยังเกิดขึ้นได้จากการเสียงของประชาชนในพื้นที่ในแทบทุกกระบวนการ ตั้งแต่การระดมเงินบริจาค ไปจนถึงการร่วมหารือและฟังเสียงคนในพื้นที่ถึงความต้องการจริง ๆ ถือเป็นตัวอย่างที่น่าสนใจว่า ประเทศไทยของสามารถรวมพลังประชาชนและร่วมกันสร้างสังคมที่ดีขึ้นได้ไม่ต่างกัน
รับชมรายการ Self-Quarantour EP. Good Society in Copenhagen เต็ม ๆ ได้ที่:
แหล่งข้อมูล:
https://www.archdaily.com/
https://www.dezeen.com/
https://www.designboom.com/