เรื่อง: จิรัฏฐ์ ประเสริฐทรัพย์
ภาพ: Warateep Juntakool, Photo Courtsey of Head High Second Floor
ผมรู้จัก วัลลภ หาญสันเทียะ ครั้งแรก ผ่านกระสุนปืน
มันคืองาน Because We Breathe the Same Air (2021) ประติมากรรมลูกกระสุนสูงเมตรเศษ ที่ส่วนปลายของมันมีรูปทรงข้าวโพด
งานชิ้นดังกล่าวจัดแสดงในเทศกาล Chiang Mai Art For Air 2021 เทศกาลที่ชวนศิลปินสร้างสรรค์ผลงานเพื่อสะท้อนปัญหาหมอกควันอันเรื้อรังในเชียงใหม่และภาคเหนือ ซึ่งในจำนวนงานนับร้อยชิ้นที่จัดแสดง ผมชอบท่าทีอันตรงไปตรงมาและยียวน ในการชวนให้คนดูใคร่ครวญถึงหนึ่งในต้นตอของปัญหาแบบที่วัลลภนำเสนอออกมามากที่สุด
กระสุนปืนนัดนั้นทำให้ผมติดตามผลงานเขาเรื่อยมา ไม่ว่าจะชุดงานจิตรกรรมที่บอกเล่าถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศอย่าง Clouds (จัดแสดงที่ The Golden Triangle Gallery ปี 2021) ถ้อยวลีที่เป็นทั้งต้นตอและผลพวงจากสงครามใน Against the Wall (จัดแสดงที่ Numthong Art Gallery ปี 2022) ไปจนถึงก้อนหินมีขาและภาพเขียนที่ศิลปินชี้ชวนให้เห็นถึงสภาวะการณ์ของการโยกย้ายของมนุษย์และธรรมชาติใน The Presence of Silence (2023 จัดแสดงที่ Gallery Seescape) เป็นอาทิ
งานของวัลลภเกือบทั้งหมดเป็นไฟน์อาร์ทที่พิถีพิถันในด้านเทคนิค มาพร้อมกับเรื่องเล่าที่สะท้อนหรือวิพากษ์สถานการณ์ที่เกิดขึ้นรอบตัว ในขณะเดียวกัน งานเหล่านี้กลับมีอารมณ์ขันร้ายแฝงอยู่อย่างแยบยล ไม่ว่าตัวเขาจะตั้งใจหรือไม่
คลาดไปคลาดมาอยู่หลายครั้ง ในที่สุด ผมก็มีโอกาสได้คุยกับวัลลภตัวเป็น ๆ ในนิทรรศการเดี่ยวครั้งล่าสุดของเขา Survival Sphere (2024) จัดแสดงที่ Head High Second Floor เชียงใหม่ (ภัณฑารักษ์โดย จิรารัตน์ ไชยราช / ร่วมจัดแสดงกับชุดงานเซรามิกของ สุรสิทธิ์ มั่นคง) อีกหนึ่งผลงานที่ - เช่นเดียวกับกระสุนปืน - วัลลภพาผู้ชมไปพิจารณาถึง ‘ต้นตอ’ ของปัญหานานาประการบนโลกใบนี้ แต่ต่างก็ตรง ในขณะที่งานชิ้นแรก ศิลปินพยายามเล่าเรื่องอย่างเรียบและนิ่งที่สุด งานชุดใหม่ที่ศิลปินบอกเล่าผ่านจิตรกรรม primitive นี้ กลับมีความจัดจ้าน จริงจัง บ้าคลั่ง และที่สำคัญ, มันไม่ตลก
Survival Sphere เป็นงานจิตรกรรม ภาพสเก็ต และประติมากรรมที่ทำให้ผมนึกถึงภาพเขียนยุคก่อนประวัติศาสตร์บนผนังถ้ำ แตกต่างก็ตรงที่งานเกือบทั้งหมด กลับมีรูปลักษณ์คล้ายสัตว์ประหลาดหรือปีศาจ เลยอยากรู้ถึงที่มาในการเชื่อมโยงสองสิ่งนี้เข้าด้วยกัน
ผมสนใจเรื่องความสัมพันธ์ของมนุษย์ต่อมนุษย์ และมนุษย์กับธรรมชาติเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ความสนใจนี้มันเกิดจากประสบการณ์ที่ผมเห็นมองเห็นความขัดแย้งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นตลอดชีวิต รัฐประหารในบ้านเรา การชุมนุมประท้วง ปัญหาเศรษฐกิจ ความขัดแย้งทางความเชื่อ สงครามในต่างแดน ไปจนถึงภัยพิบัติจากธรรมชาติ สิ่งทั้งหมดล้วนมีผลกระทบต่อการดำรงอยู่และใช้ชีวิตของพวกเราอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง งานชุดนี้มันเหมือนเป็นการที่ผมพยายามย้อนกลับไปสำรวจต้นตอของปัญหาทั้งหมด
ต้นตอมาจากภาพเขียนบนผนังถ้ำ?
มันเป็นภาพจำลองสังคมมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ สังคมที่มนุษย์ยังไม่ได้สร้างอารยธรรม และเราจำเป็นต้องเอาชีวิตให้รอดจากภยันอันตรายในแต่ละวัน นั่นทำให้สุดท้ายมนุษย์จำต้องรวมกลุ่มกันเพื่อจัดสรรทรัพยากร ซึ่งสิ่งที่มนุษย์จะสามารถรวมกลุ่มกันได้ มันคือเรื่องเล่า หรือความเชื่อที่มีร่วมกัน
ภาพร่างของสัตว์ประหลาดหรือปีศาจในงานของคุณคือเรื่องเล่าแบบที่ว่า
มนุษย์เป็นสัตว์ชนิดเดียวที่มีแนวคิดโลกหลังความตาย ในสมัยก่อน เราสร้างความเชื่อที่เหนือไปกว่าชีวิตเพื่อทำให้เราอยู่ภายใต้กติการ่วมกัน ขณะเดียวกัน เราก็ต้องรับมือกับภัยธรรมชาติที่เราไม่รู้ที่มาของมัน ผมจึงมองว่าเราจำเป็นต้องสร้างความเชื่อบางอย่างขึ้นด้วยความไม่รู้ แล้วเราก็มีการตั้งถิ่นฐาน มีชุมชน มีสังคมเมือง มีการปกครอง มีศาสนา ลัทธิ และพิธีกรรม และมีการสร้างศีลธรรม จนถึงทุกวันนี้ มันปฏิเสธไม่ได้ว่าบางครั้งมนุษย์ใช้ความเชื่อที่เราสร้างมันขึ้นมาโดยไม่อาจรู้ที่มาตั้งแต่แรก เพื่อสร้างความชอบธรรม กีดกันคนที่แตกต่าง ไปจนถึงการก่อสงครามเพื่อแย่งชิงทรัพยากร
พอจะเห็นภาพ เพราะงานหลายชิ้นของคุณในชุดนี้มันเป็นภาพเปรียบของการหลอมร่างของมนุษย์จนเกิดเป็นรูปร่างใหม่
ผมชอบ Leviathan งานเขียนของ Thomas Hobbes ที่เขาพูดถึงเรื่อง สัตว์ประหลาดบางอย่างที่มีอำนาจ นี่เป็นที่มาของสัญญาประชาคม ทุกอย่างแม้แต่ความเชื่อ ผู้ที่อยู่เหนืออำนาจอะไรก็ช่างต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย สัญญาประชาคมที่เป็นตัวควบคุม แล้วตัวโทมัสเนี่ยพูดถึงเรื่องความเป็นจริงของมนุษย์ก่อนที่มีอารยธรรม ซึ่งผมก็เห็นด้วย ถ้ามนุษย์ไม่มีสิ่งที่ใดควบคุมศีลธรรม มนุษย์จะกลับไปสู่ภาวะสงคราม ก็คือการแย่งชิง
แต่ทุกวันนี้เราก็มีอารยธรรมกันแล้ว แต่ก็ยังมีสงครามอยู่
ผมคิดว่าความขัดแย้งมันเป็นวัฏจักร เคยเกิดขึ้นแล้ว เกิดขึ้นอีก และจะยังเกิดขึ้นต่อไป แม้จะมีบริบทที่ต่างกันออกไป แต่ต้นตอมันก็เหมือนกัน มนุษย์เราจำเป็นต้องเข้าถึงทรัพยากร และบ่อยครั้ง เราก็สร้างความชอบธรรมให้กับพวกเราเองเพื่อจะได้แย่งชิงทรัพยากรคนอื่น
พูดถึงเทคนิค คุณใช้สีน้ำมันตำผสมกับฟางข้าวในงานจิตรกรรม ส่วนประติมากรรมก็เหมือนจะใช้ฟางข้าวด้วย รวมถึงการใช้เมล็ดข้าวมาจัดเรียงรอบงานประติมากรรม วัตถุดิบนี้มันเป็นภาพแทนของทรัพยากรในความคิดของคุณด้วยหรือเปล่า
ในแถบเอเชีย ในบริบทของทรัพยากร ประวัติศาสตร์ข้าวน่าจะนานที่สุด มีการค้นพบเศษข้าวติดมากับกระเบื้องที่ไหม้ในเมืองจีนซึ่งมีอายุราว 9,000 ปีก่อน ใช่ ผมมองว่าข้าวคือทรัพยากรสำคัญของคนในอดีต เราต้องสร้างความเชื่อและกฎเกณฑ์ขึ้นมาเพื่อจัดสรรพื้นที่ปลูกข้าวของชนเผ่า เป็นพื้นที่เพื่อปากท้อง ข้าวจึงเป็นภาพแทนของผลลัพธ์ในการที่มนุษย์ต้องสร้างความเชื่อเหนือชีวิตพวกเราขึ้นมา
อีกอย่าง ผมเติบโตมาในครอบครัวที่ทำเกษตรกรรมในโคราชด้วย ข้าวจึงมีความสำคัญอย่างมาก ผมเริ่มทำงานชุดนี้เมื่อปีที่แล้ว ภาพสเก็ตภาพแรกที่ผมวาดมันคือภาพ top view ของทุ่งนา ที่ผมค่อยๆ เปลี่ยนรายละเอียดจนเป็นฝูงคนและภาพนามธรรมอย่างที่เห็น ว่าไปมันก็เกิดขึ้นอย่างเป็นอัตโนมัติเหมือนกัน
นิทรรศการชุดนี้คุณยังได้ชวน สุรสิทธิ์ มั่นคง ศิลปินจากอุดรธานีมาจัดแสดงงานเซรามิกที่มีภาพจำลองภาพเขียนก่อนประวัติศาสตร์ด้วย นอกจากความสอดคล้องกันในเชิงรูปลักษณ์ คุณมองเห็นเรื่องเล่าอะไรในงานของสุรสิทธิ์
สุรสิทธิ์ทำรีเสิร์ชเรื่องเครื่องปั้นดินเผาของบ้านเชียง พื้นที่ของความขัดแย้งในค่ายรามสูร และตำนานพญานาคที่คำชะโนด เขาสร้างผลงานชุดนี้อยู่แล้ว ชุดงานเซรามิกของเขามีการจำลองภาพเขียนของผู้คนยุคก่อนประวัติศาสตร์และพญานาคบนผนังถ้ำภูพระบาท ผมเห็นว่าแนวคิดเรื่องพญานาคมันล้อไปกับการประดิษฐ์ความเชื่อในงานชุดนี้ของผม ก็เลยชวนเขามาจัดแสดงด้วย ซึ่งก็ช่วยเสริมแนวคิดของเรื่องเล่าในนิทรรศการได้อย่างดีเลย
สัตว์ประหลาดของวัลลภ และพญานาคของสุรสิทธิ์?
เปรียบว่ามันเป็นรูปธรรมของการหล่อหลอมความเชื่อมากกว่า รูปธรรมของผมมันคือจินตนาการ ส่วนของสุรสิทธิ์… ในความเชื่อของผู้คน พญานาคเป็นตัวกำหนดให้เกิดปรากฏการณ์ธรรมชาติ เป็นภาพแทนของความศักดิ์สิทธิ์ และความหวาดกลัว ไปจนถึงเครื่องมือเชื่อมร้อยกับอำนาจในการปกครองของคนยุคหนึ่งด้วย
**ไม่แน่ใจว่าคุณตั้งใจหรือไม่ แต่เท่าที่ดูงานหลายๆ ชิ้นก่อนหน้า งานของคุณมันมีท่าทีแฝงด้วยความยียวนในความขลึมขลัง มีความตลกร้ายบางอย่างอยู่ แต่ผมไม่พบในงานชุดนี้เลย
**
ผมไม่ได้ตั้งใจในประเด็นนี้นะ มันขึ้นอยู่กับมุมมองของคนดู เหมือนงานชุดนี้ หลายคนก็อาจมองว่ามันเป็นงานที่ชี้นิ้วหาคนผิด หาต้นตอของความผิดพลาดที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน แต่ผมมองว่ามันเป็นแค่การพาไปสำรวจแง่มุมหนึ่งในเชิงศิลปะมากกว่า จะรัฐประหารเอย ระบอบการปกครองที่ไม่เป็นธรรม สงคราม ภัยพิบัติจากธรรมชาติที่เป็นผลจากการกระทำของมนุษย์ และอื่นๆ ผมว่าทั้งหมดมันเป็นผลจากการที่มนุษย์แต่ละยุคต้องแก่งแย่งแข่งขันเพื่อเอาชีวิตให้รอดในแต่ละวันแบบในสังคมยุคก่อนประวัติศาสตร์
ขณะเดียวกัน ผมวาดรูปโดยนำแรงบันดาลใจมาจากสังคม primitive ผมคิดว่าผู้คนในยุคนั้นคงไม่มีใครสนุกสักเท่าไหร่กับการเอาตัวให้รอด ถ้าจะหาแง่มุมของความตลกร้ายจากมัน ก็อาจเป็นที่ว่า จนถึงทุกวันนี้ แม้มนุษย์จะสร้างอารยธรรม เราสร้างกฎกติกา และความร่วมมือระดับนานาชาติมาแล้วก็ตาม แต่เราก็ยังรบกันเหมือนเมื่อก่อนอยู่ดี
นิทรรศการ Survival Sphere โดยวัลลภ หาญสันเทียะ ภัณฑารักษ์โดย จิรารัตน์ ไชยราช จัดแสดงที่ Head High Second Floor ถึงวันที่ 30 พฤษจิกายน 2567 (นัดหมายล่วงหน้าที่เพจก่อนเข้าชม) / ติดตามผลงานของวัลลภได้ทาง wanlophansunthai