GC - Free Content_food in art-01.jpg

‘Food in Art’ มากกว่าความแซ่บคือความหมายที่ซ่อนอยู่

Art
Post on 30 June

มนุษย์เราดำรงชีวิตได้ด้วยน้ำ อากาศ และอาหาร ยิ่งกับคนไทย อาหารถือเป็นกาวสมานใจให้คนได้รู้จักกัน แต่นอกจากอาหารจะทำให้เรารู้สึกฟินเหมือนขึ้นสวรรค์และแปรเป็นพลังงานเพื่อใช้ชีวิตในแต่ละวันแล้ว อาหารยังมีความหมายที่ลึกซึ้งกว่านั้นในโลกศิลปะ

อาหารสื่อถึงสถานะทางอำนาจ บ้างก็เป็นเครื่องมือวิพากษ์สังคม ทั้งยังเป็นเครื่องมือสร้างความหมายใหม่ๆ ให้กับวงการศิลปะอยู่เสมอ เรียกได้ว่าศิลปินตั้งแต่อดีตจนปัจจุบันล้วนใช้อาหารในงานศิลปะทั้งสิ้น

GroundControl จึงอยากชวนทุกคนไปท่องโลกแห่งอาหารในงานศิลป์ ว่ามากกว่าความแซ่บอีหลี อาหารซ่อนความหมายอะไรที่เราคาดไม่ถึงบ้าง

ฉันรวย ฉันกินดี ฉันมั่งคั่ง

นอกจากจำนวนเงินที่เข้ากระเป๋าจะเป็นเครื่องมือแสดงสถานะทางการเงินและชนชั้นในสังคม ‘อาหาร’ ที่เราถ่ายลงโซเชียลมีเดียว่าวันนี้กินอะไรไปบ้างก็เป็นอีกหนึ่งตัวชี้วัดสำคัญ ศิลปินและผู้คนในยุคก่อนก็ไม่ต่างจากเราเท่าไหร่ พวกเขาใช้อาหารเป็นตัวแสดงความมีอันจะกินของตัวเอง

ขณะที่ภาพวาดขวดไวน์และผลไม้สดสื่อถึงกระยาหารมื้อเลิศของราชวงศ์หรือครอบครัวที่ร่ำรวย แต่ขนมปังและปลากลับสื่อถึงความยากลำบากและภาวะขาดแคลนอาหารในสังคม ที่เห็นได้ชัดเจนก็ภาพวาดแบบ ‘Still Life’ ในยุคทองของดัตช์หรือประเทศเนเธอแลนด์นั่นเอง

แล้วยุคทองมันหมายความว่าอีหยัง? ในช่วงศตวรรษที่ 17 ชาวดัตช์ที่ได้ชื่อว่าเป็นประเทศแห่งการเดินเรือนั้นเริ่มร่ำรวยอย่างก้าวกระโดดจากการค้าทางเรือรอบโลก จนนักประวัติศาสตร์ขนานนามว่าเป็น 'ยุคทองของชาวดัตช์' เลยทีเดียว

<p>Jan Davidsz. de Heem, Still Life with Lobster, 1643</p>

Jan Davidsz. de Heem, Still Life with Lobster, 1643

ภาพวาดในยุคนี้มักเป็นภาพบุคคลสำคัญ ภาพชีวิตประจำวัน และภาพอาหารที่เรียกว่า ‘Pronkstilleven’ แปลว่าชีวิตที่โอ้อวดหรูหราซึ่งมักนำเสนอโต๊ะตัวงามที่เต็มไปด้วยผลไม้ สัตว์ที่ถูกล่า ชีส และดอกไม้อย่างหรูหราและเกินจริง แต่ความดูเกินจริงและการจัดวางอย่างตั้งใจเหล่านี้ล้วนมีความหมาย

นั่นคือนอกจากศิลปินจะต้องการแสดงความสามารถในการสร้างสรรค์งานศิลปะที่ละเอียดอ่อนแล้ว ก็ยังต้องการสะท้อนถึงสถานะทางสังคม บ่งบอกถึงความมั่งคั่งและเป็นสัญลักษณ์ถึงอำนาจ วัตถุดิบต่างๆ ที่มักเห็นในภาพวาดเหล่านี้คือล็อบสเตอร์ ผลไม้รสเปรี้ยวอย่างเลม่อน และเนื้อสัตว์เพื่อนำเสนอวิถีชีวิตแสนหรูหราของชนชั้นสูงชาวฝรั่งเศสและชาวดัตช์

<p style="margin-left:0px;">Jan Davidsz. de Heem, Still-life with fruit, 1640</p>

Jan Davidsz. de Heem, Still-life with fruit, 1640

นอกจากอาหารโดยรวมจะสื่อถึงความมั่งคั่งแล้ว ว่ากันว่าวัตถุดิบแต่ละอย่างยังมีควาหมายแฝงด้วย เช่น เลม่อนที่ปอกเปลือกแล้วเป็นสัญลักษณ์แทนกาลเวลาและสะท้อนความสามารถของชาวดัตช์ที่สามารถส่งสินค้าข้ามทะเลได้ หรือล็อปสเตอร์ที่หมายถึงชีวิตแสนคลาสสิก ขณะเดียวกันก็สื่อถึงความตายได้ด้วย เพราะกุ้งเหล่านี้จะสีสวยสดได้ก็ต่อเมื่อพวกมันถูกปรุงสุกจนเด๊ดสะมอเร่ไปแล้ว 

ทุนนิยมจงพินาศ!

เมื่อทุนนิยมเรืองอำนาจ ศิลปะซึ่งมีหน้าที่เป็นตัวสะท้อนสังคมก็ทำงาน ‘Pop Art’ ขบวนการศิลปะที่เกิดขึ้นในอังกฤษและอเมริกาช่วงกลางถึงปลายทศวรรษ 1950 จึงเกิดขึ้นด้วยหตุผลนั้น

จุดร่วมของงานศิลปะประเภทนี้คือการหยิบเอาวัฒนธรรมสมัยนิยมอย่างโฆษณา หนังสือการ์ตูน และข้าวของเครื่องใช้ที่ผลิตขึ้นจำนวนมากหรือที่เรียกว่า Mass Production มาเรียบเรียงแบบซ้ำซากจำเจเพื่อวิพากษ์วิจารณ์ลัทธิบริโภคนิยมในสมัยนั้นที่นอกจากจะไม่ส่งผลดีต่อคนทั่วไป ก็ยังทำให้เงินกระจุกตัวแค่พวกนายทุนรายใหญ่

<p>Andy Warhol, Campbell's Soup Cans, 1962</p>

Andy Warhol, Campbell's Soup Cans, 1962

หนึ่งในวัตถุดิบสำคัญของศิลปะป๊อปอาร์ตที่ว่าก็คือ ‘อาหาร’ ตัวอย่างที่หลายคนน่าจะจำขึ้นใจคือผลงานของ Andy Warhol อย่าง Campbell's Soup Cans (1962) ที่เขาเอากระป๋องซอสมะเขือเทศมาต่อติดกันจำนวนมากเพื่อวิจารณ์ว่าการผลิตจำนวนมากและการบริโภคนิยมได้ครอบงำชีวิตและวัฒนธรรมอเมริกันแค่ไหน

“ฉันเคยทานซุปแคมป์เบลล์” เขาว่า “ฉันทานอาหารกลางวันแบบเดิมทุกวันมา 20 ปีแล้ว”

เครื่องมือตีชายเป็นใหญ่

ในอดีต ศิลปินชายมักหยิบจับอาหารโดยเฉพาะผลไม้เชื่อมโยงกับเพศหญิงที่ทั้งยั่วยวนและชั่วร้าย ในศาสนาคริสต์ แอปเปิลในสวนเอเดนสื่อถึงสิ่งล่อใจสอดคล้องกับภาษาละตินของแอปเปิ้ลว่า ‘malum’ ซึ่งแปลว่าชั่วร้าย ส่วนในเทพปกรณัม ทับทิมก็หมายถึงสิ่งล่อใจและความบาปซึ่งเชื่อมโยงกับเพศหญิง

เมื่อสังคมเปิดกว้างเรื่องความเท่าเทียมทางเพศมากขึ้น ศิลปินสตรีนิยมในวงการศิลปะสมัยใหม่จึงเริ่มใช้อาหารในงานศิลปะเพื่อพูดถึงบทบาทของเพศหญิงที่สังคมชายเป็นใหญ่จำกัดไว้ให้เป็นเพียงเมียและแม่

ตัวอย่างการใช้อาหารในงานศิลปะที่แตกต่างกันสิ้นเชิงระหว่างชายและหญิงคือ Melvin John Ramos จิตรกรชาวอเมริกันเจ้าของภาพนู้ดหญิงสาวจำนวนมากมักหยิบอาหารและอารมณ์ทางเพศมาเชื่อมกัน เช่น หยิบภาพนู้ดผู้หญิงผสมกับกระดาษห่อบัตเตอร์ฟิงเกอร์ แฮมเบอร์เกอร์ และอาหารขยะอื่นๆ แต่ศิลปินหญิงชาวเบลเยี่ยมอย่าง Evelyne Axell กลับสร้างภาพหญิงสาวเลียโคนไอศกรีมขึ้นแต่เธอไม่ได้โฟกัสไปที่ความแซ่บซ่านของหุ่น แต่โฟกัสไปที่ความสุขของหญิงสาวที่ได้ทานไอศกรีมมากกว่า

<p>Melvin John Ramos, Díonus, 2000</p>

Melvin John Ramos, Díonus, 2000

<p>Evelyne Axell, Ice Cream, 1964</p>

Evelyne Axell, Ice Cream, 1964

นอกจากนั้น ผลงานที่เห็นได้อย่างชัดเจนก็คงเป็นงานชุดที่ชื่อว่า The Dinner Party ของ Judy Chicago ที่เธอเล่าเรื่องราวของสตรี 39 คน ผ่านจานอาหารจากดอกไม้ ผัก และผลไม้ที่ดูคล้ายช่องคลอดกำลังฟื้นและลอยขึ้นจากโต๊ะ เพื่อปลุกให้เรื่องราวของสตรีที่ถูกลืมกลับมามีชีวิตอีกครั้ง ถือเป็นการชวนให้สังคมหันกลับมาคิดถึงความเป็นสตรีและบทบาททางเพศอย่างจริงจัง

<p>Judy Chicago, The Dinner Party, 1974–1979</p>

Judy Chicago, The Dinner Party, 1974–1979

ฉันมาเพื่อทลายกำแพงความสูงส่ง

ก่อนหน้านี้อาหารถูกนำเสนอในผลงานศิลปะผ่านกระบวนการทางศิลปะพื้นฐานอย่างการวาด เขียน พิมพ์ ระบาย แต่เมื่อเกิด Eat Art ขึ้นในทศวรรษที่ 1960 อาหารที่เคยอยู่บนกระดาษและแคนวาสก็กลับกลายเป็นอาหารหลายมิติที่ใช้เป็นเครื่องมือสร้างงานศิลปะแทนดินสอ ปากกา พู่กัน

เช่นศิลปินไทยเลื่องชื่ออย่าง ‘ฤกษ์ฤทธิ์ ตีระวนิช’ ผู้ที่ทำผัดไทยในหอศิลป์ แกงเขียวหวานในแกลลอรี่ และสารพัดอาหารหลายเมนูเพื่อให้คนได้ปฏิสัมพันธ์กันและสร้างความหมายของงานศิลปะด้วยกัน ผู้เข้าร่วมก็จะได้สนทนากับคนแปลกหน้าและอยู่ในสถานที่ไม่คุ้นชินเพื่อตระหนักถึงตัวตนและปฏิสัมพันธ์ต่อสังคม ทั้งยังท้าทายความหมายของศิลปะ และเบลอขอบเขตความหมายของศิลปินด้วย

อ้างอิง :

phoode
history
widewalls
theculturetrip
sybariscollection
artsandculture
artsy