GC - Free Content_Frida-02.jpg

สำรวจสิงสาราสัตว์ของผู้สาวสู้ชีวิตแต่ชีวิตสู้กลับ Frida Kahlo

Art
Post on 6 July

ศิลปินส่วนใหญ่มักหยิบเอาความเศร้าโศกและสารพัดปัญหาในชีวิตมาเป็นวัตถุดิบสำคัญในการสร้างงานทั้งเพื่อระบายความในใจของตนเองและเพื่อตั้งคำถามถึงบางสิ่งบางอย่าง หนึ่งในศิลปินที่สู้ชีวิตแต่ชีวิตสู้กลับ ทั้งยังเอาความล่มสลายของการต่อสู้ตรงนี้มาสร้างงานได้อย่างงดงามและเจ็บปวดก็คือ Frida Kahlo

แฟนคลับ Frida Kahlo คงรู้กันดีว่าภาพวาดของเธอนั้นมีความหมายแฝงอยู่เสมอซึ่งส่วนใหญ่มักสัมพันธ์กับชีวิตของเธออย่างแยกไม่ขาด ไม่ว่าจะชีวิตส่วนตัวในฐานะหญิงสาว ชีวิตรัก หรือชีวิตครอบครัว ส่วนใหญ่แล้ว ความหมายเหล่านี้มักส่งผ่านสัญลักษณ์หลากหลายแบบที่ Kahlo หยิบจับจากคริสตศาสนาผสมรวมเข้ากับความเชื่อพื้นถิ่นของเม็กซิกันและจินตนาการความฝันส่วนตัว

หนึ่งในสัญลักษณ์เหล่านั้น (และก็เป็นหนึ่งในรูปภาพครึ่งหนึ่งของเธอด้วย) คือเหล่าสัตว์เลี้ยวของเธอเองหลายครั้งมีความหมายเช่นเดียวกับที่สังคมกำหนด แต่ก็อีกหลายครั้งเช่นกันที่สัญลักษณ์เหล่านี้มีความหมายเฉพาะตัวตามที่ศิลปินหญิงกำหนดขึ้นเองเพื่อสื่อสารอารมณ์ความรู้สึกของเธอในช่วงนั้น

เวียนมาถึงวันเกิดปีที่ 115 ของ Frida Kahlo ศิลปินเหนือจริงชาวเม็กซิกันในดวงใจใครหลายคนอีกครั้ง GroundControl ขอพาทุกคนไปสำรวจสิงสาราสัตว์ในภาพวาดของเธอว่าแท้จริงแล้วมีความหมายถึงอะไรกันบ้าง

ลิงแมงมุม

ในหลายวัฒนธรรม ลิงเป็นสัตว์ที่มีความหมายในเชิงลบ บ้างเป็นสัญลักษณ์ของความใคร่ ความนอกรีต มาร และความล่มสลายของชาติพันธุ์มนุษย์ แต่กับ Kahlo สาวผู้เลี้ยงลิงแมงมุมเป็นสัตว์เลี้ยง เจ้าลิงชนิดนี้ไม่ได้น่ากลัวแบบนั้น

<p>Self Portrait with Monkeys, 1943</p><p><br>&nbsp;</p>

Self Portrait with Monkeys, 1943


 

ย้อนกลับไปถึงชีวิตของเธอเอง Kahlo นั้นป่วยเป็นโรคโปลิโอตั้งแต่อายุ 6 ขวบ แถมเธอยังประสบอุบัติเหตุรถชนจนต้องผ่าตัดกว่า 35 ครั้ง จนทำให้เธอไม่สามารถตั้งครรภ์ได้ตามใจหวังและแท้งลูกถึง 2 ครั้ง เรียกว่าอะไรที่สุดจะทน เธอรับมาหมด

ว่ากันว่าลิงแมงมุมในหลายๆ ภาพที่เธอวาดขึ้นนั้นดูอ่อนโยนมากกว่าดุร้าย ดูปลอบประโลมมากกว่าทำร้าย ความหมายแรกๆ ของสัตว์ทั้งสองจึงคือตัวแทนของลูกของเธอที่เธอไม่สามารถมีได้ นอกจากนั้น จุดร่วมของสัตว์ทั้งสองนี้ยังคือแขนและขาที่ยาวไม่สมส่วน หลายคนจึงตีความว่านี่คือสัญลักษณ์ถึงร่างกายของเธอเองที่เป็นโปลิโอ

นกแก้ว

Frida Kahlo แต่งงานใหม่กับรักแรกอย่าง Diego Rivera ในปี 1940 หลังจากที่แยกทางกันไปก่อนหน้านั้นไม่นาน แต่ทั้งคู่ก็ไม่ได้ใช้ชีวิตร่วมกันฉันสามีภรรยา ทั้งความสัมพันธ์ก็ยังไม่ได้หวานชื่นขนาดนั้นเพราะต่างฝ่ายต่างมีเล็กมีน้อย โดยที่ Kahlo นั้นมีความสัมพันธ์กับ Nickolas Muray ช่างภาพพอร์ตเทรตที่มีชื่อเสียงในนิวยอร์ก

<p>Me and My Parrot, 1941</p>

Me and My Parrot, 1941

ในภาพนี้ซึ่งนกแก้วเด่นเป็นสง่าสุดๆ เป็นภาพที่เธอวาดขึ้นหลังจากแต่งงานใหม่ ทั้งยังเป็นภาพที่วาดขึ้นหลังจากที่พ่อของเธอเสียชีวิตไป นกแก้วที่ดูสวยงามโดดเด่นและน่าเกรงขามนี้สื่อถึงความสงบ ความปลอดภัยซึ่งนั่นก็อาจสื่อได้ถึง Muray นั่นเอง เพราะว่ากันว่า Kahlo ได้แรงบันดาลใจในการวาดนกแก้วนี้จากความเชื่อในศาสนาฮินดูที่ว่านกแก้วคือกามเทพนั่นเอง

กวาง

ในภาพ The Wounded Deer (1946) Kahlo หยิบเอา Granizo กวางที่เธอเลี้ยงมาเป็นแบบ แต่เธอวาด Granizo ให้เป็นกวางตัวผู้มีเขาใหญ่ ทั้งยังไม่ได้มีใบหน้าแบบกวางทั่วไปแต่เป็นใบหน้าของเธอเอง

นักวิจารณ์บอกว่าการที่กวางตัวนี้ถูกธนูกระหน่ำยิงเข้ามาทำให้นึกถึงบุคคลสำคัญทางศาสนาคริสต์ในภาพ Saint Sebastian (1480) ของ Andrea Mantegna และยังสื่อถึงการตรึงกางเขนและการฟื้นคืนพระชนม์ชีพของเยซูได้เช่นกัน

<p>The Wounded Deer, 1946</p>

The Wounded Deer, 1946

การตีความหมายของภาพนี้นั้นหลากหลายมาก บ้างก็ว่าเธอสื่อถึงการต่อสู้ภายในจิตใจของเธอที่ต้องประสบกับโรคโปลิโอจนเธอต้องสวมเดรสปกคลุมโรคนี้ตลอดเวลา บ้างก็ว่าเป็นภาพแสดงความผิดหวังจากการผ่าตัดกระดูกสันหลังของเธอในนิวยอร์ก แต่มันกลับไม่ดีขึ้น บ้างก็ว่าเป็นการแสดงความเคารพต่อชนพื้นเมืองเม็กซิโกที่ถูกข่มเหงโดยชาวยุโรปในสงครามปี 1492

และบ้างก็ว่านี่คือภาพที่พูดถึงอิสระของหญิงสาวในสังคมเพราะกวางนั้นมีอิสระเสรีในป่า ทว่าก็ถูกจองจำเพราะถือเป็นสัตว์ที่ถูกมนุษย์ล่ามากที่สุด การที่เธอเป็นกวางเสียเองจึงอาจหมายถึงความรู้สึกของเธอในฐานะผู้หญิงที่ต้องการอิสระเสรีแต่สังคมกลับไม่มีพื้นที่ให้ได้ใช้ชีวิตตามปรารถนา สังเกตว่ากวางของเธอนั้นไม่ได้อ่อนแอ ไม่ได้เป็นกวางเพศหญิงที่ไร้เขา แต่เป็นกวางเพศผู้ที่ไม่ได้สะทกสะท้านต่อธนูที่ยิงเข้ามา นั่นก็อาจสื่อถึงว่าแม้เธอจะมีชีวิตในสังคมได้ แต่จิตใจของเธอจะค่อยๆ ตายลงไปอย่างช้าๆ

สุนัข

นอกจากสัตว์ป่าที่ Kahlo เลี้ยงเช่นลูก สุนัขไร้ขนแสนแพงนาม Xolotl ที่เธอตั้งชื่อตามเทพเจ้าตัวแทนของสายฟ้าและความตายในตำนานของชาวแอซเท็กก็เป็นสัตว์เลี้ยงแสนรักของเธอเช่นกัน และ Kahlo มักจะวาดภาพ Xolotl ในหลายภาพด้วย

<p>The Love Embrace of the Universe,the Earth,Myself,Diego and Senor Xolotl’, 1949</p>

The Love Embrace of the Universe,the Earth,Myself,Diego and Senor Xolotl’, 1949

Kahlo รักสุนัขของเธอมาก ภาพหนึ่งที่แสดงให้เห็นความรักระหว่างเธอและมันได้อย่างแนบแน่นคือ ‘The Love Embrace of the Universe,the Earth,Myself,Diego and Senor Xolotl’ (1949) ที่เธอใช้อธิบายความสัมพันธ์ระหว่างเธอและสามีอย่างริเวร่าว่าเธอจัดการความสัมพันธ์ครั้งนี้ด้วยการทำตัวเป็นแม่มากกว่าเมีย เธอหัวเราะเยาะเวลาสามีทำตัวเหมือนเด็ก และเธอก็อยากจะอุ้มเขาไว้ในแขน

ภาพนี้ Kahlo จึงเป็นเหมือนพระแม่ธรณีที่โอบอุ้มตัวเอง สามีและเจ้าหมาไร้ขนไว้ ความรักของทั้งสามคนจะไม่แยกจากกันเพราะความสัมพันธ์ครั้งนี้นั้นหยั่งรากลึกในตัวเธอ

หอยทาก

Frida Kahlo นั้นเป็นหญิงสาวที่ปรารถนาจะเป็นแม่คนอยู่ตลอด แต่ด้วยร่างกายที่ไม่แข็งแรงมากนัก เธอจึงแท้งลูกไปถึง 2 ครั้ง ซึ่งในครั้งที่สองนี้เองที่เธอได้วาดภาพ Henry Ford Hospital (1932) ขึ้นเพื่อสะท้อนความรู้สึกเจ็บปวดจากการแท้งของเธอ

ในภาพมีสัญลักษณ์มากมายแทนความรู้สึกของเธอ แต่ละสัญลักษณ์ล้วนเชื่อมโยงกันด้วยสายสะดือของแม่ที่ปกติควรจะต้องเชื่อมเข้ากับเด็กน้อยในครรภ์เพื่อเลี้ยงดูให้พวกเขาเติบใหญ่ก่อนออกมาสู่โลกกว้างภายนอก

<p>Henry Ford Hospital, 1932</p>

Henry Ford Hospital, 1932

หนึ่งในสัญลักษณ์ที่เธอวาดขึ้นคือ ‘หอยทาก’ ซึ่งเป็นสัตว์ที่เชื่องช้าพอๆ กับเต่าในความรับรู้ของคน หอยทากในภาพนี้จึงเปรียบเสมือนกับความเจ็บปวดทั้งทางกายและใจอันแสนยาวนานที่เธอต้องเผชิญ

ผีเสื้อ

จากภาพ Self-Portrait with Thorn Necklace and Hummingbird (1940) ศิลปินผู้ขึ้นชื่อเรื่องความกล้าในการแสดงความรู้สึกอย่างเธอได้พูดถึงความปวดร้าวที่เธอได้รับจากความรักที่ไม่สมหวังกับรักแรก

<p>Self-Portrait with Thorn Necklace and Hummingbird, 1940</p>

Self-Portrait with Thorn Necklace and Hummingbird, 1940

ความรักครั้งนี้ของเธอนั้นเจ็บปวดชนิดที่เธอเทียบกับความเจ็บปวดของพระเยซูที่ถูกตรึงกางเขนเห็นได้จากสร้อยคอหนามที่คล้ายกับมงกุฎหนามของพระเยซู

ในภาพนี้ จะเห็นว่ามีผีเสื้ออยู่ที่หัวของเธอ ว่ากันว่าถ้าเธอคือพระเยซู ผีเสื้อนี้ก็หมายถึงการเกิดฟื้นคืนชีพและอาจหมายถึงชีวิตใหม่หลังเกิดอุบัติเหตุ

อ้างอิง
artdependence
artradarjournal
dailyartmagazine
fridakahlo
artnsketch