สิ่งหนึ่งที่หลายคนตั้งตารอที่สุดหลังมีการจัดตั้งรัฐบาลที่นำโดยนายเศรษฐา ทวีสินเมื่อปีที่แล้ว คงเป็นเรื่องนโยบายเกี่ยวกับศิลปะ-วัฒนธรรม โดยเฉพาะสิ่งที่เรียกกันว่า ‘THACCA’ หรือทักก้า หน่วยงานเพื่อ “ซอฟต์พาวเวอร์” หรือเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ที่ตอนนี้ก็มีร่างกฎหมายออกมาเป็นรูปเป็นร่างแล้ว โดยได้ผู้คนในวงการที่คุ้นหน้าคุ้นตากันเป็นอย่างดีมาร่วมคิดร่วมเสนอความคิดเห็นในประเด็นต่าง ๆ ที่แต่ละวงการก็มีความเฉพาะของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นวงการศิลปะ ภาพยนตร์ แฟชั่น หนังสือ หรือสาขาอื่น ๆ
และเมื่อวันเสาร์ที่ 11 พฤษภาคม 2567 ที่ผ่านมา ทางหอศิลปกรุงเทพฯ ก็ได้เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็น ความต้องการ และแนวทางที่เป็นประโยชน์ต่อวงการศิลปะ ในกิจกรรม ฟัง คิด และเสนอความเห็น หัวข้อ “คนศิลปะได้อะไรจาก(ร่าง)พระราชบัญญัติส่งเสริมวัฒนธรรมสร้างสรรค์ (พ.ร.บ. THACCA) และ มาตรการภาษีที่เกี่ยวข้อง” ซึ่งก็ได้คนทำงานมากมายมาแสดงความคิดเห็นและให้ความกระจ่าง ในเรื่องที่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อไป ใช้เวลานานแค่ไหน และความเปลี่ยนแปลงที่ว่านี่จะส่งผลต่อเราอย่างไรบ้าง GroundControl จึงขอสรุปประเด็นสั้น ๆ จากเวทีพูดคุยมา เพราะเรามั่นใจเลยว่า ยังไงเรื่องนี้ก็เกี่ยวข้องกับทุกคนที่อ่านอยู่แน่นอน ไม่ว่าจะเป็นผู้เสพหรือผู้สร้างงานศิลปะสาขาไหนก็ตาม
“โครงการการสร้างรายได้ครั้งใหญ่ของประเทศไทย”
ก่อนอื่นเลย หมอเลี้ยบ — นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี ในฐานะกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ จะมาอธิบายภารกิจ ความสำคัญ และสาระสำคัญของกรรมการซอฟต์พาวเวอร์ฯ และเจ้าทักก้านี้กันก่อน โดยเขาสรุปสั้น ๆ ว่าซอฟต์พาวเวอร์คือ ‘Engine of Growth’ หรือเครื่องมือหรือกลไกที่จะมาขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สร้างรายได้ของคนไทย ด้วยการพัฒนาทักษะฝีมือ ใช้ความคิดสร้างสรรค์ ความปราณีต เพิ่มคุณค่าทางเศรษฐกิจ เป็นโครงการสร้างรายได้ครั้งใหญ่ของประเทศไทยที่ตั้งเป้าหมายจะให้คนไทยทุก ๆ ครอบครัวได้มีโอกาสหลุดพ้นจากความยากจน แทนที่จะต้องพึ่งตาแต่งานแบบ “หยาดเหงื่อและน้ำตา” เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างที่เชื่อกัน
โดยสาระสำคัญของ (ร่าง) พระราชบัญญัติส่งเสริมวัฒนธรรมสร้างสรรค์ (พ.ร.บ. THACCA) และมาตรการที่เกี่ยวข้อง ก็คือการทำให้เกิดการคิดเชิงยุทธศาสตร์ มีการบริหารจัดการแบบภาพรวม เพราะว่ายุคที่ผ่าน ๆ มา จะเห็นว่าไทยเราก็เคยมีการใช้งบประมาณคล้ายกันนี้ แต่เรียกในชื่อว่า “เศรษฐกิจสร้างสรรค์” ก่อนจะได้ชื่อว่าซอฟต์พาวเวอร์ในปีที่ผ่านมา ซึ่งเขาตั้งข้อสังเกตว่า อาจจะเป็นการใช้งบแบบไม่มียุทธศาสตร์ และกระจัดกระจายไปตามหน่วยงานต่าง ๆ ซึ่งก็มีวิธีคิดเกี่ยวกับเศรษฐกิจสร้างสรรค์ตามกรอบบทบาทหน้าที่ของแต่ละหน่วยงานเอง ทำให้ไม่เห็นผลลัพธ์ที่ออกมาชัดเจน จึงตั้งเป้าหมายว่าจะให้มีการบูรณาการงบประมาณที่ตั้งตามงบที่ใช้กันมาในปีก่อน ๆ
และจากหลักการที่ว่า ก็มาปรากฏเป็น “คณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ” (ซึ่งมีนายก เศรษฐา ทวีสิน เป็นประธานกรรมการ) และ “คณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ” (แพทองธาร ชินวัตร เป็นประธาน) พร้อมด้วยอนุกรรมการจากอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ให้มีการศึกษาปัญหาเรื่องระบบนิเวศ กฎหมาย เงินทุน รวมไปถึงการติดต่อกับทางราชการ พร้อมโจทย์ในเรื่องการฝึกฝนทักษะสำหรับคนส่วนใหญ่ ให้คนที่ไม่มีทักษะเลยได้เรียนรู้ และทำให้คนที่มีทักษะอยู่แล้วพัฒนาฝีมือขึ้นอีก
เขาสรุปว่า THACCA ก็คือโครงสร้าง เป็นหน่วยงานที่ส่งเสริมวัฒนธรรมสร้างสรรค์ เป็นโครงสร้าง ที่อาจจะมีหน่วยงานเฉพาะด้านขึ้นมาอีกก็ได้ เช่นสภาภาพยนตร์ สภาศิลปะ สถาบัน กองทุน ฯลฯ ซึ่งจะมีบทบาทในการส่งเสริม ไม่ใช่บังคับ โดยกระบวนการทั้งหมดถ้าทุกอย่างเป็นไปตามแผน คาดว่าประมาณกลางปี 2568 เราจะเห็นกฎหมายนี้เกิดขึ้น
คนทำงานศิลปะจะได้อะไร? ระบบนิเวศโฉมใหม่หลังการเปลี่ยนแปลง
เชื่อว่าคนทำงานศิลปะหลายคนก็คิด ว่าการพัฒนาเกี่ยวกับศิลปะในบ้านเราเป็นเรื่องที่เกี่ยวพันกันไปหมดตั้งแต่เรื่องของรุ่นใหม่ยันรุ่นใหญ่ ตั้งแต่ผู้เสพยันผู้ผลิต ในแง่นี้ เสริมคุณ คุณาวงศ์ ประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรม ด้านศิลปะ ได้ยกตัวอย่างเรื่องการศึกษาศิลปะ เป็นตัวอย่างมิติหนึ่งที่ช่วยให้เห็นภาพรวมที่จะเกิดขึ้นในระบบนิเวศศิลปะไทยไว้ว่า จะมีการปรับปรุงหลักสูตรการศึกษาศิลปะไทยในระยะยาว และในระยะใกล้ก็จะมีการอบรมครูศิลปะอีกด้วย ทั้งนี้ก็เพื่อเป็นการกล่อมเกลาจิตใจมหาชน สร้างรสนิยม สร้างผู้บริโภค ซึ่งเป็นเหมือนขั้นที่หนึ่งสำหรับการเปลี่ยนแปลงระดับรากฐานการศึกษา จากที่เดิมวิชาศิลปะอาจไม่ได้รับความสำคัญเท่าที่ควร ทั้งในแง่ครูศิลปะที่ไม่ได้มีพื้นฐานมาจากด้านศิลปะโดยตรง หรือเรื่องการสอนให้มีเรื่องการชมงานศิลปะ (Art Appreciation) มากขึ้นกว่าครึ่งของโครงสร้าง และลดเรื่องการปฏิบัติลง จากที่ก่อนหน้านี้เป็นเรื่องการปฏิบัติหมดเลย รวมทั้งเรื่องพื้นที่ศิลปะ ที่จะเป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับเด็กด้วย โดยแก้ไขนิยาม “แหล่งเรียนรู้” เพื่อแก้ไขปัญหาที่เบิกค่าเดินทางเวลาไปชมศิลปะที่ต่าง ๆ ไม่ได้ ซึ่งทั้งหมดนี้ก็จะนำไปสู่ผู้เสพงานศิลปะที่เยอะขึ้น และผู้สร้างงานศิลปะที่เยอะขึ้นทั้งระบบ
ลักขณา คุณาวิชยานนท์ คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรม ด้านศิลปะ ก็เสนอในรูปแบบคล้ายกัน ว่าที่ผ่านมาผู้ที่อยู่ในวงการต่างก็เห็นปัญหา และก็มีความพยายามแก้ไขกัน แต่สิ่งที่ยังขาดคือโครงสร้างและนโยบายที่ชัดเจน ทำให้เป็นการทำแบบเอกชนส่วนมาก ที่ต่างคนต่างทำ การมีหน่วยงาน มีคณะกรรมการก็จะทำให้เกิดการพูดคุยขึ้น และทำให้เกิดการบูรณาการ มีการแก้ไขปัญหาได้จริง และมีการสนับสนุนจากรัฐ ก็จะจัดการสิ่งที่เอกชนทำไม่ได้ด้วย เช่นเรื่องภาษี เช่นเดียวกับ ศ.พรรัตน์ ดำรุง คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรม ด้านศิลปะ ภายในศิลปะการแสดง ที่กล่าวว่ากฎหมายนี้จะทำให้ทุกคนเข้าถึงวัฒนธรรม เพราะวัฒนธรรมก็เป็นของคนทุกคน เป็นการเคลื่อนที่ไปข้างหน้าได้ ให้ทุกคนได้ดู ได้ฝึกฝน และสกัดความเป็นศิลปะไปสู่ความเป็นสากลได้ ซึ่งเจน สงสมพันธุ์ คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรม ในด้านหนังสือเอง ก็เล่าสิ่งที่เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมหนังสือว่ามีความเปราะบางอยู่เหมือนกัน การสนับสนุนที่เป็นพลังและเป็นระบบระเบียบแบบนี้ก็เป็นเรื่องจำเป็นอยู่ด้วย โดยยกตัวอย่างศักยภาพในวงการหนังสือว่าสามารถไปต่างประเทศได้ เช่นหนังสือวาย หรือวรรณกรรมจำนวนมากที่ได้รับเงินสนับสนุนจากต่างประเทศแทน เช่นจากสำนักพิมพ์เพนกวิน แทนที่จะเป็นการสนับสนุนจากประเทศไทย
ท้ายที่สุดของเวทีสนทนา ชลิดา เอื้อบำรุงจิต คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรม ด้านภาพยนตร์ เล่ามุมมองของตนในฐานะที่ก็ทำงานภาครัฐมา ว่าระบบราชการเป็นเหมือนเครื่องจักรที่ใหญ่มาก ซึ่งมีปัญหา แต่ยังไม่ได้รับการซ่อมแซม ทำให้จริง ๆ แล้วถ้ามันทำงานได้ดี ก็อาจมีพลังขับเคลื่อนมหาศาลในระดับประเทศ
เขายกข้อจำกัดเช่นเรื่องการจัดซื้อจัดจ้าง ที่ระบุประเภทอย่างจำกัด หรือเรื่องแผน ที่กำหนดกันล่วงหน้าเป็นปี ทำให้ศิลปินที่จะไปต่างประเทศก็ไม่สามารถรับทุนสนับสนุนได้ ถ้าไม่รู้ก่อนล่วงหน้า และเรื่องปีงบประมาณที่อาจจะไม่สอดคล้องกับการทำงานภาพยนตร์ซึ่งใช้เวลาข้ามปี และประเด็นที่น่าสนใจคือเรื่องทุนสนับสนุน สำหรับคนที่คิดจะทำอะไรแตกต่างจากแนวทางเดิม ๆ หรือมีลักษณะทดลองแบบยังไม่มีให้เห็นมาก่อน ซึ่งยากที่จะมองจากในมุมธุรกิจ หรือเรื่องการลงทุนหรือเรื่องขาดทุน/กำไรเพียงเท่านั้น ซึ่งเขาเห็นว่าภาครัฐก็ควรทำหน้าที่ตรงนี้ด้วย
สำหรับเขา เรื่องเม็ดเงินเป็นปัญหาที่สำคัญสำหรับการพัฒนาคุณภาพหนังให้แข่งขันกับต่างประเทศได้ แล้วยังเกี่ยวจ้องกับเรื่องสวัสดิการคนทำงานอีกด้วย เพราะการที่คนทำงานเยอะ ค่าแรงถูก ก็เป็นเพราะเรื่องเม็ดเงินด้วยเหมือนกัน และด้านบุคลากรก็ต้องมีการพัฒนาหลักสูตรตั้งแต่เด็กเช่นกัน ด้านการไปต่างประเทศเองก็ต้องมีการสนับสนุนเช่นกัน และสุดท้าย คือระบบนิเวศที่หลากหลาย คนอาจมองว่าภาพยนตร์เป็นสินค้า ในเชิงวัฒนธรรม ที่มีมูลค่าทางการตลาด แต่ความ “เฮลตี้” ของอุตสาหกรรมก็คือความหลากหลายอยู่ดี
หลังจบบนเวทีแล้วยังมีผู้ร่วมแสดงความคิดเห็นที่น่าสนใจอีกมาก เช่น ผศ.สรรเสริญ มิลินทสูต คณะกรรมการมูลนิธิหอศิลปกรุงเทพฯ และมานิต ศรีวานิชภูมิ ศิลปินภาพถ่าย/ผู้กำกับภาพยนตร์/คณะกรรมการบริหารหอศิลปกรุงเทพฯ ยังไงเรื่องที่เป็นประเด็นสาธารณะอย่างนี้ เราทุกคนก็มีส่วนได้ส่วนเสียกันทั้งนั้น ถ้าว่างก็ลองกดเข้าไปฟังกันต่อได้ที่ไลฟ์ทางเพจ BACC (ลิงก์ในคอมเมนต์) หรือถ้ามีความคิดเห็นอะไรก็อย่าลืมส่งเสียงออกมาด้วย!
https://www.facebook.com/watch/live/?ref=watch_permalink&v=814255537307958