The Unfaithful Octopus เรื่องของปลาหมึกไม่ซื่อตรง ในนิทรรศการกลุ่มแบบแฟนฟิคที่ MAIIAM เชียงใหม่

Post on 25 March

ร่างของปลาหมึกยักษ์ที่ฉันเลี้ยงประกอบขึ้นจากแง่มุมเฉพาะกาล การจัดกลุ่ม หรือความคิด…: ความร่วมสมัย

ถ้อยความข้างต้นเป็นส่วนหนึ่งของบทบรรยายออนไลน์โดย มีเกล บัล (Mieke Bal) ศิลปิน นักเขียน และอาจารย์ด้านทฤษฎีวรรณกรรม มหาวิทยาลัยอัมสเตอร์ดัม ว่าด้วยอุปมาของการสร้างสรรค์งานศิลปะร่วมสมัยในปัจจุบัน ซึ่ง โรเจอร์ เนลสัน (Roger Nelson) นักประวัติศาสตร์ศิลปะ และอาจารย์มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนันยาง สิงคโปร์ ได้นำแนวคิดดังกล่าวมาขยายความ จนเกิดเป็นนิทรรศการ The Unfaithful Octopus นิทรรศการที่เรากำลังรับชมอยู่นี้ซึ่งกำลังจัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยใหม่เอี่ยม เชียงใหม่ ถึงวันที่ 3 มิถุนายน 2024

ว่าแต่ปลาหมึกยักษ์เกี่ยวอะไรกับการสร้างสรรค์ศิลปะร่วมสมัย? ข้อนี้ มีเกลบอกว่าจริง ๆ แล้วศิลปินก็ไม่ต่างอะไรกับปลาหมึกยักษ์ (octopus) ที่มีหนวดมากมายรายล้อมตัว พัลวันรัดเกี่ยว และคลึงเคล้าแรงบันดาลใจมากมาย ไปจนถึงการฉกเข้ามากลืนกิน แปรรูปสิ่งต่าง ๆ ในแบบฉบับของตัวเอง

และใช่ เราไม่เคยเห็นศิลปินคนไหนแปรรูปแรงบันดาลใจอย่างซื่อตรง (unfaithful) ต่อต้นฉบับ

นั่นล่ะ The Unfaithful Octopus คือนิทรรศการกลุ่มของมีเกล บัล, อารยา ราษฎร์จำเริญสุข, จุฬญานนท์ ศิริผล ร่วมด้วยศิลปินจากสิงคโปร์ อินเดีย เวียดนาม และสเปน ที่ต่างนำเสนอกระบวนการดัดแปลงงานศิลปะ วรรณกรรม หรืองานสร้างสรรค์อื่น ๆ ที่เกิดเคยเกิดขึ้นมาก่อน สู่จินตภาพใหม่ที่บ้างอาจยังคงเค้าลางดั้งเดิมของสิ่งที่หนวดปลาหมึกเหนี่ยวรัด และบ้างก็แทบไม่เหลือหลักฐานใด ๆ ให้เราได้ย้อนรอย

ส่วนตัวเราคิดว่ามันไม่ต่างจากการเขียนนิยายแฟนฟิคชั่น (fan fiction) ของนักเขียน คุณมีนิยายสักเล่มที่ชอบ จึงนำพวกมันมาเป็นสารตั้งต้น สร้างสรรค์เรื่องราวที่ประทับใจเหล่านั้นด้วยน้ำเสียงหรือเรื่องเล่าของคุณ และนี่คือ 8 ผลงานของเหล่าปลาหมึกยักษ์

“ท่านพ่อ ข้าเลาะกระดูกคืนพ่อ แล่เนื้อคืนท่าน” คือข้อความจากปกรณัมโบราณของจีนที่หลายคนรู้จักกันดีอย่าง ‘นาจา’ ข้อความดังกล่าวเป็นคำพูดของนาจาหลังจากที่เขาได้เข้าไปก่อกวนโลกบาดาลจนทำให้เจ้าสมุทรพิโรธ และขู่กับพ่อของนาจาว่าจะถล่มโลกมนุษย์ พ่อของนาจาจึงดุด่าลูกชายอย่างหนัก นาจาน้อยใจ จึงทำการแล่เนื้อและกระดูกของตัวเองคืนพ่อและแม่

ถ้อยคำนี้ปรากฏอยู่บริเวณทางเข้าโถงนิทรรศการ เป็นส่วนหนึ่ง (รวมถึงเป็นชื่อภาษาไทย) ของผลงาน 爹爹,我把骨肉还给 (2023) โดย เอียนที (Ian Tee) ศิลปินชาวสิงคโปร์ ที่นำเรื่องราวของนาจามาต่อยอดเป็นงานศิลปะอีกระลอก จนเกิดเป็นชุดตัวอักษรภาษาไทยและจีน รวมถึงงานจิตรกรรมขูดเส้นบนพื้นผิวอลูมิเนียมจำนวนสองรูป หนึ่งคือรูปเจ้าสมุทร (ในรูปลักษณ์ของมังกร) และอีกหนึ่งคือนาจา ซึ่งศิลปินได้นำลายเส้นมาจากภาพยนตร์อนิเมชั่นเรื่อง Nezha Conquer the Dragon King ที่ออกฉายในปี 1979 มาเป็นต้นแบบ

ไม่เพียงการแปรรูปเรื่องเล่าจากลายเส้นในงานอนิเมชันที่ดัดแปลงอีกต่อหนึ่งมาจากปกรณัม หากเมื่อพิจารณาจากข้อสันนิษฐานของ เมเอร์ ซาฮาร์ (Meir Shahar) นักวิชาการชาวอิสราเอลที่ศึกษาเรื่องปกรณัมจีน โดยมองว่านาจาน่าจะเป็นตัวละครที่พ้องกับ นลกุเวร (Nalakuvara) บุตรของท้าวเวสสุวรรณ ตัวละครหนึ่งในมหาภารตะของอินเดีย เรื่องราวของนาจาจึงตอกย้ำแนวคิดการดัดแปลงต้นฉบับสู่การสร้างสรรค์ในรูปรอยใหม่ของนิทรรศการครั้งนี้ได้ดี

Forget Me Not (2018) คืองานวิดีโอสุดเฮี้ยนความยาว 90 นาที ของ จุฬญาณนนท์ ศิริผล ที่เขานำภาพยนตร์เรื่อง ‘ข้างหลังภาพ’ ที่สร้างจากนวนิยายขึ้นหิ้งในปี 1937 ของ ศรีบูรพา มาทำใหม่ (ภาพยนตร์เวอร์ชั่นปี 2001 กำกับโดย เชิด ทรงศรี) ด้วยความคารพต้นฉบับเกือบทุกฉาก ที่ไม่เคารพอย่างเดียวคือตัวละคร เพราะไม่ว่าจะพระเอกอย่างนพพร หรือคุณหญิงกีรติที่เป็นนางเอก จุฬญานนท์แสดงเองทั้งหมด

นอกจากมิติของความยียวนในท่าทีการเล่าเรื่องแบบเรียบนิ่งจริงจังที่เป็นดังลายเซ็นของศิลปิน งานชุดนี้ยังสะท้อนความเป็นปลาหมึกไม่ซื่อตรงตามแนวคิดของมีเกล บัล อย่างมีนัยสำคัญ จากการที่ศิลปินต่อเติมเรื่องราวเบื้องหลังในช่วงท้ายของตัวหนังอย่างไม่ยอมจบ เพราะภายหลังจากที่มันถูกจัดแสดงใน Museum of Kirati นิทรรศการเดี่ยวของศิลปินที่ Bangkok City City Gallery ในปี 2017 จุฬญาณนนท์ยังได้นำฟุตเทจอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง (อาทิฟุตเทจในงานทำบุญวันเปิดนิทรรศการ และภาพในนิทรรศการที่ Bangkok City City Gallery) มาตัดต่อเพิ่มในตอนท้ายตลอดหลายปีหลังที่วิดีโอชิ้นนี้ออกฉายในที่ต่าง ๆ ด้วย

ผลงานชุดนี้จึงไม่เพียงพาผู้ชมย้อนไปสำรวจวรรณกรรมระดับคลาสสิกของไทยด้วยมุมมองชวนเหวอ หากยังเป็นบทบันทึกส่วนตัวของศิลปินที่ถูกต่อเติมต่อไปเรื่อย ๆ และบทสะท้อนพลวัตของการดัดแปลงและซ้อนทับที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในโลกของศิลปะ

Pathfinder (2013) โดย เฟย์รู ดาร์มา (Fyerool Darma) ร่วมกับ Aleezon, Sharmini Aphrodite, berukera featuring Erik Flower คืองานวิดีโอจัดวาง ความยาว 13 นาที ของศิลปินชาวสิงคโปร์และเพื่อน ต้นธารของงานชุดนี้คือเสียงในรูปแบบของ sound archive ที่บันทึกโดยอีริค ฟลาวเวอร์ (Erik Flower) อดีตนักโทษการเมืองชาวมาเลย์ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 1 ซึ่งเขาได้อพยพไปตั้งรกรากที่เยอรมนี โดยในขณะที่ฟลาวเวอร์ถูกคุมขังอยู่ที่ค่ายกักกัน Halfmoon Camp ในเมืองวุนด์สตอฟต์ ประเทศเยอรมนี ในปี 1917 เขาได้บันทึกเสียงการอ่านบทกวีและเสียงไวโอลินลงบนแผ่นครั่ง แม้เราแทบไม่รู้ชะตากรรมหลังจากนั้นของฟลาวเวอร์ หากเสียงที่เขาบันทึกดังกล่าวได้ถูกสะสมเป็นซาวด์อาร์ไคฟ์ชุดแรกๆ ที่มาจากภูมิภาคนูซันตารา ใน Berliner Phonogramm-Archiv หรือ Berlin Sound Archive ห้องสมุดเสียงที่เก่าแก่ที่สุดในโลกของเยอรมนี

เฟย์รูได้ทราบเรื่องราวของฟลาวเวอร์มาจากบทความชิ้นหนึ่งที่เขียนถึงต้นกำเนิดของ Berlin Sound Archive อย่างไรก็ดี เนื่องจากเขาไม่สามารถเข้าถึงเสียงต้นฉบับที่เจ้าตัวบันทึกไว้จากค่ายกักกัน เขาจึงรวบรวมข้อมูลที่พอจะหาได้ทั้งหมด และร่วมกับเพื่อนศิลปินและนักเขียน สร้างงานศิลปะจัดวางเกี่ยวกับเสียงดังกล่าว ผลงานประกอบด้วยภาพไอเอที่เจเนอเรทภาพถ่ายจำลองรูปลักษณ์ของฟลาวเวอร์ วิดีโอ เสียง บทกวี ภาพถ่ายบนฝาผนัง รวมถึงบทความที่เป็นต้นกำเนิดของแรงบันดาลใจ ทั้งหมดอุทิศให้บุคคลในประวัติศาสตร์ที่ถูกลืมอย่างเปี่ยมสีสัน

It’s About Time! Reflections of Urgency (2020) โดย มีเกล บัล (Mieke Bal) ศิลปินชาวเนเธอร์แลนด์ นำเสนอวิดีโอความยาว 31 นาที ที่ศิลปินนำแนวคิด Pre-Posterous History จากหนังสือ Quoting Caravaggio: Contemporary Art, Preposterous History (1999) ของเธอเอง มาพัฒนาเป็นภาพเคลื่อนไหวแบบความเรียง (Essay Film) เล่าถึงกระแสของเวลากับการพิจารณางานศิลปะ ซึ่งยังได้นำเรื่องราวของอีเนียสและคาสซันดราจากปกรณัมกรีก รวมถึงงานของคาราวัจจโจ และศิลปะบาโรกจากอิตาลี มาดัดแปลงจนเป็นองค์ประกอบสำคัญในเรื่องด้วย

แตกต่างจาก Don Jaun Tenerio (1908) โดย ริคาโด้ เดอ บาโนส (Ricardo de Baños) และอัลเบอร์โต มาร์โร (Alberto Marro) ภาพยนตร์เงียบที่ทำขึ้นจากบทละครระดับตำนานในศตวรรษที่ 17 อย่าง ดอน ฆวน (Don Juan) ที่การแปรรูปแรงบันดาลใจค่อนข้างมีความตรงไปตรงมา

แตกต่างจาก Don Jaun Tenerio (1908) โดย ริคาโด้ เดอ บาโนส (Ricardo de Baños) และอัลเบอร์โต มาร์โร (Alberto Marro) ภาพยนตร์เงียบที่ทำขึ้นจากบทละครระดับตำนานในศตวรรษที่ 17 อย่าง ดอน ฆวน (Don Juan) ที่การแปรรูปแรงบันดาลใจค่อนข้างมีความตรงไปตรงมา

เริ่มจากบทละครที่จัดแสดงในสเปน ก่อนจะมีการแพร่กระจายไปแสดงตามโรงละครต่าง ๆ ในยุโรป จนในที่สุดเรื่องราวของดอน ฆวน ก็ถูกบันทึกลงบนแผ่นฟิล์มโดยสองผู้กำกับ ริคาโด เดอ บาโนส และอัลเบอร์โต มาร์โร ในยุครุ่งอรุณของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ การที่ โรเจอร์ เนลสัน ภัณฑารักษ์ของนิทรรศการ เลือกภาพยนตร์ขาวดำเรื่องนี้ มาจัดวางบริเวณทางเข้าหลักของพื้นที่จัดแสดง ก็เป็นเหมือนการนำเสนอหนึ่งในวัตถุที่บ่งชี้ถึงจุดเปลี่ยนสำคัญของการดัดแปลงศิลปะในประวัติศาสตร์โลกไปอย่างสิ้นเชิง

Capital Circus (2008) โดย Camp กลุ่มศิลปินจากอินเดีย นำฟุตเทจจากกล้องวงจรปิด 208 ตัว ที่บันทึกภาพเคลื่อนไหวของผู้คนกว่า 100 คน (ศิลปินได้ทำสัญญาขออนุญาตบุคคลที่ปรากฏในกล้องวงจรปิดทั้งหมดแล้ว) ที่มาเดินช้อปปิ้งหรือทำธุระในศูนย์การค้า Arndale แห่งเมืองแมนเชสเตอร์ ประเทศอังกฤษ มาตัดต่อรวมกันเป็นภาพเคลื่อนไหวความยาว 14 นาที บอกเล่าเรื่องราวใหม่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของศูนย์การค้าแห่งนี้

นอกจากแง่มุมของการรวบรวมฟุตเทจและเปลี่ยนความหมายดั้งเดิมของมัน (การบันทึกภาพเพื่อความปลอดภัย) สู่เรื่องเล่าใหม่ ความน่าสนใจของงานชิ้นนี้ยังอยู่ที่ตัวศูนย์การค้าที่ถูกสร้างขึ้นใหม่บนพื้นที่ที่เคยมีเหตุระเบิดโดยกลุ่ม IRA เมื่อปี 1992 อีกด้วย เป็นการดัดแปลงที่เปลี่ยนความหมายจากดั้งเดิมแบบพลิกฝ่ามือเลยทีเดียว

ในขณะที่ Capital Circus ดัดแปลงจากพื้นที่ที่สงครามกลางเมืองสิ้นสุดลงแล้ว 2020.3 and 2020.4 (2022) โดย อารยา ราษฎร์จำเริญสุข กลับพูดถึงสงครามที่ยังคงไม่จบสิ้นอย่างสงครามรัสเซีย-ยูเครน ด้วยน้ำเสียงที่ต่างออกไป ศิลปินรวบรวมภาพข่าวสงครามในปี 2020 มาปริ้นท์ลงบนผ้าใบ ก่อนปักดอกไม้ทับลงบนภาพถ่ายเหล่านั้น เป็นการหยิบยืมเรื่องเล่าที่เกิดขึ้นจริงมาเติมความหมายใหม่ ที่อาจมองได้ว่าเป็นการแย้มพรายให้เห็นถึงความหวังสู่สันติภาพ การระลึกถึงผู้จากไป ไปจนถึงมรณานุสติ

นอกจากนี้ ตลอดทุกพื้นที่ของนิทรรศการ ยังมีการจัดวางที่นั่งแบบเลานจ์แชร์สีเขียว ซึ่งเป็นผลงานศิลปะอีกหนึ่งชุด (Seating, 2023) โดยศิลปินชาวเวียดนาม เถา เหงียนฟาน (Thao Nguyen Phan) ซึ่งนำรูปลักษณ์มาจากงานออกแบบที่นั่งรูปทรงนามธรรมสำหรับใช้ในห้องสมุดของ Bayeux Museum ฝรั่งเศส ซึ่งออกแบบในทศวรรษ 1970sโดย เตียม ผึง ตรี (Diem Phung Thi) ศิลปินชาวฝรั่งเศสเชื้อสายเวียดนามผู้ล่วงลับ

ม่เพียงที่นั่งจะเป็นสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้ชม เนื่องจากผลงานที่จัดแสดงกว่าครึ่งเป็นงานภาพเคลื่อนไหวที่ต้องใช้เวลาในการรับชม พวกมันยังเป็นสื่อในการทำความเข้าใจงานศิลปะอย่างมีนัยสำคัญ ดังความเห็นของ มีเกล บัล ที่ว่า “ฉันยืนยันว่าที่นั่ง จะเป็นม้านั่งหรือเก้าอี้ก็ตามแต่เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการสร้างจินตภาพ มันคือวัตถุที่เชื่อมพื้นที่ระหว่างร่างกายและความคิด เพื่อให้ผู้ชมเข้าถึงกระบวนการดัดแปลงทางศิลปะ”

โดยสรุป ชุดที่นั่งเหล่านี้มีไว้ให้ผู้ชมนั่งทำความเข้าใจปลาหมึกยักษ์นั่นเอง

ดังที่กล่าวตอนต้น ทั้งจิตรกรรม ภาพเคลื่อนไหว ศิลปะจัดวาง ไปจนถึงที่นั่งในนิทรรศการชุดนี้ จะว่าไปแล้วก็เหมือนแฟนฟิคชั่นที่นักเขียนแต่ละคนสร้างสรรค์ผลงานจากพื้นเพความสนใจและต้นฉบับที่แตกต่างกัน ซึ่งพวกมันยังเต็มไปด้วยอรรถรสอันหลากหลาย ทั้งอารมณ์ขัน ความขี้เล่น ขรึมขลัง ไปจนถึงการตีหัวให้คนดูงงงวยหรือคิดไม่ตก ความสนุกของการชมงานชุดนี้จึงไม่ใช่แค่สื่อที่เห็นตรงหน้า แต่ยังรวมถึงการสืบสาวเรื่องราวต้นธาร และกระบวนการดัดแปลงระหว่างทางของศิลปินผู้ไม่ยอมซื่อสัตย์กับต้นฉบับ จนมาสู่ผลลัพธ์สุดท้ายดังที่เห็น และแน่นอน พวกมันก็พร้อมจะถูกปลาหมึกตัวอื่น ๆ ฉกฉวยและกลืนกิน เพื่อแปรรูปไปสู่ผลงานในพรมแดนใหม่ๆ ต่อไปได้เรื่อยๆ ในอนาคต - ความร่วมสมัยก็อย่างนี้

The Unfaithful Octopus จัดแสดงถึงวันที่ 3 มิถุนายน 2024 ชั้น 2 พิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยใหม่เอี่ยม (MAIIAM Contemporary Art Museum) เชียงใหม่ เปิดทุกวัน (ยกเว้นวันอังคาร) 10.00 – 18.00 น. facebook.com/MAIIAMchiangmai

เรื่อง: จิรัฏฐ์ ประเสริฐทรัพย์
ภาพ: ภูพิงค์ ตันเกษม และ MAIIAM Contemporary Art Museum