45 นาทีบรรลุธรรม – สรุปคลาสศิลปะจาก Tony Cragg ศิลปินวัตถุนิยมจากอังกฤษที่ทำประติมากรรมสะท้อนกับธรรมชาติ

Art
Post on 9 October

ก่อนที่เทศกาลศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ BAB2024 ที่ปีนี้ขนขบวน 76 ศิลปินชั้นนำทั่วโลก มาจัดแสดงผลงานใน 11 โลเคชั่นทั่วกรุงเทพฯ ในสัปดาห์ที่แล้ว กรุงเทพฯ ก็ได้อุ่นเครื่องต้อนรับศิลปินเชื้อสายอังกฤษผู้ได้ชื่อว่าเป็นผู้วางรากฐานให้งานประติมากรรมมินิมัลอย่าง โทนี แคร็กก์ (Tony Cragg) ที่มาเปิดเซสชันชวนคุยสบาย ๆ แต่กลับกลายเป็นเหมือนคลาสเรียนประวัติศาสตร์ศิลปะร่วมสมัย 45 นาทีที่เอาคนฟังทั้งฮอลอยู่หมัด แม้ว่าจะไม่มีภาพหรือสไลด์ประกอบเลย! จนทำให้ GroundControl ต้องรีบเปิดสมุดโน้ต จดบทเรียนที่น่าสนใจในประเด็นเรื่องศิลปะกับงาน ‘วัตถุนิยม’ (materialism) ที่ไม่ได้หมายถึงความฟุ้งเฟ้อคลั่งของแบรนด์เนม แต่หมายถึงแง่มุมทางศิลปะที่มองหาความหมายใน ‘สสาร’ หรือวัสดุที่เห็นด้วยตา สัมผัสได้ด้วยมือ แต่ข้างในยังบรรจุโลกแห่งความหมายและประวัติศาสตร์ที่อาจต้องใช้หัวใจและสมองในการทำความเข้าใจ

ก่อนจะไปเปิดบทเรียน 45 นาทีกับอาจารย์โทนี แคร็กก์ เราอยากชวนทุกคนมาลองทำความรู้จักเขากันก่อน โทนี แคร็กก์ เป็นเหมือนประจักษ์พยานของการเปลี่ยนผ่านยุคสมัยทางศิลปะ โดยเพิ่มทำงานตั้งแต่ช่วง 1950s - 60s โดยได้แรงบันดาลใจจากศิลปินหัวขบอย่าง โยเซฟ บอยส์ หรือ มาร์เซล ดูชองป์ ที่พาศิลปะออกจากพรมแดนของความงดงาม การใช้สีสัน และการลอกเลียนธรรมชาติ ไปสู่พรมแดนที่ศิลปะเป็นเรื่องของความหมายและการสะท้อนความเปลี่ยนแปลงของสังคม โดยแคร็กก์ยังผสานศิลปะแห่งการสำรวจความหมายสังคมเข้ากับความสนใจทางด้านวิทยาศาสตร์ที่มีมาตั้งแต่เด็ก ทำให้เขามองตัวเองเป็นศิลปินวัตถุนิยมที่สนใจโครงสร้างภายในของวัตถุที่สื่อสารและมีปฏิกิริยาโต้ตอบทางความหมายต่อโลกโดยรอบ ผลงานของเขาชวนให้นึกถึงรูปทรงจากธรรมชาติ แต่ก็เต็มไปด้วยแรงดึงจากวัสดุเชิงอุตสาหกรรมสมัยใหม่ด้วย งานของเขาจึงมักเป็นเรื่องของการทำงานกับวัสดุหรือวัตถุต่าง ๆ เพื่อสำรวจบทสนทนาระหว่างวัตถุกับความหมายที่อยู่ทั้งในตัวมัน และเหนือพ้นไปจากตัวมันเอง

ใน BAB2024 นี้ ผลงานของแคร็กก์จะถูกเปิดตัวและติดตั้งถาวรอยู่ที่ One Bangkok Park โดยแคร็กกล่าวว่า ความตั้งใจในผลงานชิ้นนี้คือการใช้ประติมากรรมสะท้อนเงาเพื่อเปลี่ยนประสบการณ์ของทุก ๆ คนกับพื้นที่โดยรอบไปโดยสิ้นเชิง ส่วนแนวคิดของเขามีความพิเศษอย่างไร ทำไมเขาถึงสนใจวัตถุขนาดนั้น และทำไมเขาถึงมองว่าปัญหาของงานศิลปะทุกวันนี้คือการแสดงข้อความทางการเมือง ลองอ่านจากที่เราสรุปย่อยมาแล้วลองมาคุยกัน

วิทยาศาสตร์ให้เราเข้าใจ ศิลปะให้ได้รู้สึก

แคร็กเริ่มต้นพาทุกคนในห้องประชุม ณ ศูนย์สิริกิติ์"ออกเดินทางสู่ประวัติศาสตร์ศิลปะด้วยการย้อนกลับไปยังจุดเริ่มต้นในการทำงานศิลปะของเขาในช่วงยุค 60s อันเป็นช่วงเวลาแห่งการตามหาความหมายและการท้าทายแนวคิดค่านิยมดั้งเดิมที่เคยมีมา ซึ่งแคร็กก์พูดอย่างติดตลกว่า เป็นช่วงเวลาที่น่าตื่นเต้นที่สุดในประวัติศาสตร์สำหรับการเป็นวัยรุ่น

“พ่อของผมเป็นวิศวกรที่ทำพวกชิ้นส่วนเครื่องบิน ผมก็เลยต้องย้ายบ้านอยู่เรื่อยตามสถานที่ที่เขาสร้างเครื่องบินกัน แล้วพอคุณต้องย้ายโรงเรียนบ่อย ๆ สิ่งหนึ่งที่คุณจะพอตามทันได้อยู่ในโรงเรียนคือพวกวิชาคณิตศาสตร์หรือฟิสิกส์ เรื่องภาษาหรือประวัติศาสตร์อะไรมันจะตามได้ยากกว่าหน่อย

“ผมเคยคิดว่าวิทยาศาสตร์กับเทคโนโลยีคือทุกสิ่ง ตอนผมเรียนจบผมก็ไปทำงานในห้องแล็บทดลอง ช่วงปี 1968-69 อันเป็นยุคสมัยแห่ง ‘ความรักล่องลอยอยู่ในอากาศ’ (Love is in the Air) ช่วงที่มีเพลงร็อกดี ๆ เต็มไปหมด แล้วช่วงนั้นแหละ พอเบื่อ ๆ ผมก็เริ่มวาดภาพ

“ชีวิตของพวกเราในภาพใหญ่นั้นถูกควบคุมด้วยวิทยาศาสตร์ วิทยาศาสตร์คือหลักการที่อธิบายเรื่องความเป็นจริงที่เราใช้ชีวิตอยู่ มันอธิบายเรื่องจักรวาล เรื่องการเป็นสิ่งมีชีวิต แต่ในขณะเดียวกัน ผมคิดว่าวิทยาศาสตร์ไม่มีความหมายใด ๆ เลยถ้าไร้ซึ่งศิลปะ วิทยาศาสตร์อธิบายให้เราเข้าใจเรื่องกฎเกณฑ์ของสิ่งต่าง ๆ แต่ศิลปะต่างหากที่ให้ความหมายต่อสิ่งเหล่านั้น มันบอกเราว่าคุณค่าของสิ่งเหล่านั้นคืออะไร คุณอาจจะพูดแบบวิทยาศาสตร์ก็ได้ว่าร่างกายของมนุษย์โดยทั่วไปแล้วประกอบขึ้นจากกี่ล้านเซลล์ในนั้น แต่ในแง่อารมณ์แล้ว ไม่มีใครมาร้องไห้ ไม่มีใครมาตกตะลึงกับมัน แต่ถ้าคุณบอกใครสักคนว่าเซลล์แต่ละเซลล์ในร่างกายของคุณมันซับซ้อนยิ่งกว่ากรุงเทพฯ ทั้งเมืองเสียอีก คุณถึงเริ่มตกตะลึงกับความซับซ้อนของตัวคุณเอง อาการอัศจรรย์ใจตรงนั้นมันล้นทะลัก แล้วศิลปะก็ทำงานกับสิ่งเหล่านี้ มันไม่ได้อธิบายโลก แต่มันอธิบายว่ามนุษย์มีชีวิตอย่างไรในความเป็นจริงนี้ที่รายล้อมอยู่ด้วย “วัตถุ”

ประติมากรรมกับความสัมพันธ์ที่มากกว่าภาพวาด

“เวลาคุณเอาวัตถุเรียบง่ายมาจัดไว้ด้วยกัน ลองขยับปรับแต่งมัน สมองคุณได้เริ่มทำงาน แล้วทันใดนั้น คุณก็ได้สร้างภาพและไอเดีย แล้วจินตนาการกับอารมณ์ก็เคลื่อนวัตถุนั้นให้ไปไกลกว่าตัวมันเอง จังหวะนั้นมันทำให้ผมคิดว่า การทำงานศิลปะแบบสามมิติมันสร้างความปลาบปลื้มสุดซึ้งจริง ๆ

“ในระหว่างที่คุณเปลี่ยนปริมาตรของบางสิ่ง เปลี่ยนรูปทรงของบางสิ่ง หรือเปลี่ยนพื้นผิวของบางสิ่ง ตลอดเวลาเหล่านั้น คุณได้เข้าไปอยู่ในความสัมพันธ์กับวัตถุแล้ว และไอเดียก็วิ่งไปวิ่งมา ผ่านร่างกายของคุณ สำนึกของคุณ อารมณ์ของคุณ ในแง่หนึ่ง การทำงานศิลปะมันออกฤทธิ์ราวกับสิ่งหลอนประสาทเลยนะ

“และนั่นมันเกิดขึ้นตั้งแต่ 55 ปีที่แล้ว และผมยังรู้สึกอย่างนั้นอยู่เลย นี่แหละชีวิตของผม”

จากรากประติมากรรมจารีต สู่ประติมากรรมทางความคิด

“ในตอนเริ่มผมสนใจประวัติศาสตร์ศิลปะในยุโรป ซึ่งเป็นงานเชิงรูปลักษณ์ที่แสดงสิ่งต่าง ๆ ตามรูปของมันมาจนถึงช่วงศตวรรษที่ 19 ที่เป็นพวกหุ่นคน รูปแทนตัวคน หรือถึงจะเป็นสัตว์ก็ยังสื่อถึงคน แล้วหลังจากนั้นก็มีศิลปินอย่าง อริสตีด ไมญอล (Aristide Maillol) ที่เล่นกับองค์ประกอบแบบเรขาคณิตจากประติมากรรมคน แล้วก็มีคนอย่าง ออกุสต์ โรแด็ง (Auguste Rodin) ที่มุ่งสร้างผลกระทบแง่อารมณ์กับผู้ชมมากกว่า ดังนั้นมันเลยเป็นเรื่องของผลกระทบเชิงอารมณ์จากวัตถุของเขามากกว่า

“จังหวะนั้นมันสำคัญมาก มันทำให้คนคิดว่าประติมากรรมมันไม่ใช่แค่เรื่องอุดมคติหรือแนวความคิด มันเป็นเรื่องของการแสดงออกทางอารมณ์ ไม่ใช่การนำเสนอภาพของชนชั้นนำ มันเป็นเรื่องการนำเสนอความเป็นมนุษย์ในรูปแบบของมัน ในใบหน้าต่าง ๆ

“แล้วก็มี คอนสตานติน บรังกูซี (Brancusi) ที่นำประเพณีประติมากรรมไม้แบบไบเซนไทน์เข้ามา รวมไปถึง วลาดีมีร์ ตัตลิน (Tatlin) ที่ทำงานจากเหล็ก เหล็กแผ่น สร้างอาคารของเขาที่เป็นเพียงโครงสร้างของวัตถุ แล้วก็มาถึง มาร์เซล ดูชองป์ (Marcel Duchamp)

“ดูชองป์แค่ต้องการกวนส้นพวกชนชั้นกลางฝรั่งเศสนั่นแหละ ตอนที่เขาเอาโถฉี่มาวางเป็นประติมากรรม อาจจะทะลึ่งอยู่ด้วย แต่ผลลัพธ์ของมันคือการทำให้คนเห็นว่า สิ่งใด ๆ ก็ตาม แม้แต่โถฉี่ ก้อนสบู่ เก้าอี้ แว่น พรม หรือทุกสิ่งทุกอย่าง มีความหมายต่อเรา และไม่ใช่เพียงแค่สิ่งที่เรียกว่าประติมากรรมเท่านั้น แต่เขาทำให้เราระลึกได้ว่า เราอยู่ในบทสนทนากับวัตถุมากมายอยู่ตลอดเวลา เราอยู่ในโครงข่ายอันซับซ้อนของวัตถุ ราวกับเมทริกซ์”

“โลกของวัตถุส่งผลกระทบต่อเราอยู่เสมอ ความดันอากาศ สีสัน ชายคนนี้ที่ยืนอยู่หน้าคุณ เก้าอี้ที่คุณนั่งอยู่ เราอยู่ในจักรวาลของวัตถุ แล้วเราก็ตอบสนองต่อมัน ร่างกายของเรา ทุก ๆ อย่างเป็นผลต่อเนื่องจากบทสนทนากับวัตถุเหล่านี้ แล้วคุณจะรู้ได้ทันทีว่านี่แหละคือความหมายของประติมากรรม

“อย่างแก้วใบหนึ่ง มันก็เป็นวัตถุธรรมดา มีเทคโนโลยีอยู่ในนั้น มีตำนานอยู่ในนั้น มีเรื่องราว มีประวัติศาสตร์ศิลปะ มีความหมายมากมายอยู่รายรอบมันเต็มไปหมด บางอย่างก็เป็นเรื่องเชิงเทคนิค บางอย่างก็เป็นดังบทกวี ดังนั้นเมื่อเรามองแก้ว แก้วใบนั้นก็ดำรงอยู่ในจิตใจเราด้วย แล้วคุณจะพบว่ารอบ ๆ แก้วใบนั้นมันมีคำนิยาม (terms) มากมายเกี่ยวข้องด้วยเต็มไปหมด

“แต่คุณสามารถหยิบซุปมาทำให้มันเป็นวัตถุที่เซ็กซี่ขึ้นได้ หยิบตีนกระต่ายมาเป็นสัญลักษณ์ของบางสิ่งได้ ไม่มีอะไรที่เราไม่สามารถคิดกับมันและพูดถึงมันได้ เพียงแค่เรามีคลังแห่งความหมาย หรือคลังคำ (terminology) ในการทำความเข้าใจมัน”

รูปแบบธรรมชาติกับรูปแบบจากมนุษย์

“ระหว่างธรรมชาติที่มีรูปแบบหลากหลายมหาศาล กับโลกอันน่าเบื่อซ้ำซากที่เราสร้างอยู่ในปัจจุบัน ประติมากรรมคือใช้การใช้วัสดุอย่างล้ำสมัย ประติมากรรมเป็นหนึ่งในไม่กี่วิธีที่เราจะใช้วัตถุมาทำสิ่งของที่ไม่ได้เพื่อการใช้งานเป็นหลัก อย่างของที่จะเอามานั่งได้ กินบนนั้นได้หรืออะไรอย่างนั้น มันเป็นของสำหรับการใคร่ครวญ เพื่อคิดกับมัน สำหรับประสบการณ์การสร้าางสรรค์มัน ผมไม่สร้างอะไรที่มันมีประโยชน์ด้วยอะไรอย่างนั้น ผมคิดว่าการทำอย่างนั้นนั่นแหละ ทำให้ประติมากรรมเป็นการพัฒนาวัตถุที่ล้ำสมัยจริง ๆ ด้วยทุกรูปร่างใหม่ ๆ ของมัน มันสร้างความคิดใหม่ ๆ สร้างอารมณ์ใหม่ ๆ สร้างคำใหม่ แล้วเราก็ได้เสรีภาพใหม่ ๆ และชีวิตที่เต็มเปี่ยมความหมายยิ่งขึ้นด้วย

“ถ้าเราไม่ระวัง เราจะใช้ทรัพยากรธรรมชาติทั้งหมดไปสร้างรูปแบบที่ไม่มีความหมายและซ้ำซาก การจะต่อสู้กับสิ่งเหล่านั้นได้ก็คือต้องผ่านศิลปะ”

ศิลปะในฐานะสารทางการเมือง

“เรามีงานศิลปะที่ต้องถูกต้องทางการเมืองมากมายในยุคนี้ งานที่เรียกร้องเรื่องเช่นให้โอกาสสำหรับผู้หญิง อย่ารังแกเด็ก ๆ รักษาสภาพแวดล้อมด้วย แต่นั่นมันไม่ใช่เรื่องที่เพิ่งเกิด 10 - 15 ปีนี้ แต่ศิลปินตั้งแต่ยุค 50s ก็คิดเรื่องพวกนี้มาอยู่แล้วเหมือนกัน

ศิลปินอย่าง โยเซฟ บอยส์ (Joseph Beuys) หรือกลุ่มอาร์เต้ โพเวร่า (Arte Povera – ขบวนการศิลปะที่เกิดขึ้นในช่วงทศวรรษ 1960 ในประเทศอิตาลี มุ่งเน้นการใช้วัสดุพื้นฐานที่หาได้ง่าย เช่น ดิน ทราย ไม้ กระดาษ หิน โลหะ และเศษซากวัสดุต่าง ๆ เพื่อท้าทายการใช้วัสดุที่หรูหราหรือสื่อสิ่งแวดล้อมเชิงอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นที่นิยมในวงการศิลปะยุคนั้น) ก็ทำงานเกี่ยวกับความสัมพันธ์ที่เปลี่ยนไปของมนุษย์กับธรรมชาติ พวกเขาพยายามจัดการกับปัญหาเหล่านั้นผ่านวิธีการทางปรัชญาในสิ่งสร้างสรรค์ต่าง ๆ เดวิด ฮอกนีย์ (David Hockney) เองก็ทำงานเกี่ยวกับเรื่องเพศ รูปแบบของเพศในแง่มุมต่าง ๆ พวกศิลปินยุคนั้นก็ทำงานกับประเด็นเหล่านี้มาตั้งนานแล้ว

แต่ว่าความถูกต้องทางการเมืองมันเป็นอีกเรื่องหนึ่งเลย ปัญหาอย่างหนึ่งของศิลปะทุกวันนี้ คือมันมีแนวโน้มที่จะกลายไปเป็นแค่ข้อความหรือสารทางการเมือง เป็นข้อความทางสังคม ซึ่งมันย่อลงมาแบบทื่อ ๆ สั้น ๆ ซึ่งไม่ได้น่าสนใจไปกว่ารายงานข่าวทางทีวีเลย มันเข้ารหัสทุกอย่างไปอย่างรวดเร็วสุด ๆ จนกลายเป็นแค่รูปผลึกที่หยุดนิ่ง”

ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีกับความก้าวหน้าทางความคิด

“เด็กรุ่นใหม่มักจะถามผมว่า ใช้โปรแกรมอะไรในการทำงาน ในช่วงปี 1980 และ 1990 คอมพิวเตอร์ที่ผมมีมันช้ามาก เราเลยสร้างมันอย่างที่เราเคยสร้าง [ก่อนมีคอมพิวเตอร์] แต่ทุกวันนี้เรามีเทคโนโลยีที่ใช้สร้างงานศิลปะได้น่าสนใจมาก ๆ แต่ส่วนตัวแล้ว ผมไม่ได้ใช้ เพราะผมไม่รู้วิธีใช้คอมพิวเตอร์จริง ๆ นอกจากส่งเมลหรืออะไรอย่างนั้น ผลงานทั้งหมดของผมเกิดขึ้นจากภาพวาด ซึ่งวาดขึ้นนานเลยแหละก่อนคอมพิวเตอร์จะเข้ามาช่วยได้

“เมื่อประมาณปี 2012-13 ผมสร้างงานที่มีความสูงมากขึ้นมาชิ้นหนึ่ง แล้วปัญหาคือ เวลาตั้งงานไว้ด้านนอกอาคาร คุณต้องมีวิศวกรคอยบอกคุณว่ามันต้องสูงแค่ไหน หนักแค่ไหน ซึ่งผมมีวิศวกรคนหนึ่งซึ่งมีประกาศนียบัตรด้านการก่อสร้างทำงานพวกนี้สำหรับผม เขาก็เรียกผมไป แล้วโชว์หน้าจอคอมให้ดู ในนั้นมีภาพจำลองที่โชว์ให้เห็นว่า ถ้ามีลมพัดมา 200 กิโลเมตรต่อชั่วโมง งานของผมจะเป็นอย่างไร แล้วผมก็คิดว่าให้ตายเหอะ นี่จะเป็นอนาคตของการสร้างสรรค์เลยล่ะ

“แต่ผมไม่สามารถทำมันได้ แล้วก็ไม่อยากด้วย ผมชอบวาดรูป ทำงานเล็ก ๆ แล้วก็สแกนงาน ใช้เวลาก่อสร้างรูปแบบขึ้นมา สร้างแบบจำลองก่อนทำงานจริง ทุกวันนี้คุณอาจจะพิมพ์วัตถุต่าง ๆ ออกมาได้แล้ว แล้วมันก็เป็นเรื่องที่ดีมาก ๆ ผมคิดว่าเรื่องที่ดีของเทคโนโลยีคือมันช่วยให้ทำงานง่ายขึ้น ประหยัดขึ้น แล้วผมก็รอชมประติมากรรมรุ่นใหม่ ๆ จากเด็ก ๆ ที่จะสร้างขึ้นมาจากคอมพิวเตอร์อยู่”