เมื่อนึกถึง ‘ศิลปะสาธารณะ’ หรือ ‘Public Art’ ตัวอย่างดั้งเดิมที่ทุกคนน่าจะคุ้นเคยกันดีก็คงจะเป็นอนุสาวรีย์ตามแลนด์มาร์กชื่อดัง สถาปัตยกรรมสวย ๆ และภาพจิตรกรรมฝาผนังในวัดหรือในโบสถ์ แต่ถ้าเราจะพูดถึงศิลปะสาธารณะในบริบทของโลกศิลปะร่วมสมัย นอกจากจะต้องเป็นงานที่เข้าถึงง่าย อยู่นอกกรอบพิพิธภัณฑ์และแกลเลอรีแล้ว ยังต้องสะท้อนถึงปัญหาสังคมและมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คนด้วย ซึ่งขบวนการศิลปะที่ว่านี้ เพิ่งเริ่มเข้ามามีบทบาทในโลกศิลปะช่วงศตวรรษที่ 20 หรือราว ๆ ยุค 60 ที่ผ่านมานี่เอง
สำหรับประเทศไทย นอกเหนือจากเทศกาลศิลปะที่มีการจัดแสดงศิลปะสาธารณะตามโอกาส หนึ่งในพื้นที่ล่าสุดที่ชูโรงเรื่องการสร้างพื้นที่สาธารณะให้ทุกคนเข้ามาเสพงานศิลปะระดับโลกได้ง่าย ๆ ก็คือ ‘One Bangkok’ โครงการอสังหาริมทรัพย์ยักษ์ใหญ่ใจกลางกรุง ที่รวมเอา ศูนย์การค้า ออฟฟิศ คอนโด และโรงแรมห้าดาวไว้ในพื้นที่เดียว โดยพวกเขาได้เปิดตัว One Bangkok Public Art Collection คอลเลกชันศิลปะสาธารณะจากศิลปินดังระดับโลก ที่เปิดให้ทุกคนสามารถเข้าไปชมได้อย่างบนพื้นที่สาธารณะที่สามารถเข้าถึงได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายตามคอนเซปต์ ‘Open Up Art to Life’ ที่จะทำให้ศิลปะสามารถเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตทุกคน
หลังจากที่ GroundControl ได้เห็นลิสต์รายชื่องานศิลปะในคอลเลกชันนี้ ที่รวมเอาเหล่าตัวพ่อแห่งวงการศิลปะสาธารณะอย่าง Tony Cragg, Anish Kapoor, Alex face, Choi Jeong-Hwa, Elmgreen & Dragset, BIGDEL และ MRKREME ฯลฯ มาแบบจัดเต็ม ก็รู้สึกครั่นเนื้อครั่นตัวอยากจะเห็นของจริง จนต้องรีบพุ่งตัวไปที่ One Bangkok แบบด่วน ๆ พร้อมกางแผนที่ปักหมุดชิ้นงานดี ๆ กลับมาฝากทุกคนด้วยเสียเลย
ดังนั้น ถ้าเหล่าอาร์ตเลิฟเวอร์คนไหนอยากไปทัวร์ชมงานศิลปะสาธารณะระดับโลกแต่กลัวหลง ก็ตามมาเก็บลิสต์รายชื่อพร้อมพิกัดที่ตั้งงานแต่ละชิ้นในโพสต์นี้ แล้วออกไปตามรอยกันได้เลย!
ผลงาน: S-Curve
ศิลปิน: Anish Kapoor
ตำแหน่ง: One Bangkok Park
เมื่อเดินเท้ามาถึงพื้นที่สาธารณะอย่าง One Bangkok Park ผลงานชิ้นแรกที่เห็นปุ๊ปก็ต้องเดินเข้าไปดูทันที ก็คือ ‘S-Curve’ ของ ‘Anish Kapoor’ (อนิช คาพัวร์) ศิลปินชาวอังกฤษเชื้อสายอินเดีย ผู้ขึ้นชื่อเรื่องการใช้วัสดุและเทคนิคที่ท้าทายการรับรู้ของผู้ชมมาสร้างงานศิลปะ และการเล่นกับมิติของรูปทรงและพื้นที่
หนึ่งในตัวอย่างงานชิ้นสำคัญที่โด่งดังสุด ๆ ก็คือ ‘Cloud Gate’ หรือ ‘The Bean’ ประติมากรรมผิวมันวาวที่ได้แรงบันดาลใจจากปรอทเหลว ที่ดูดกลืนสภาพแวดล้อมรอบตัวให้กลายเป็นลวดลายของตัวเอง พร้อมกับเชิญชวนให้ผู้ชมได้ลองเข้ามาเล่นกับภาพสะท้อนตรงหน้าที่จะมีการเปลี่ยนแปลงไปทุกวัน ตามธรรมชาติของพื้นที่สวนสาธารณะอย่าง Millenmium Park ที่มีคนพลุกพล่าน ทำให้ผู้ชมสามารถรับรู้ถึงการเปลี่ยนแปลงได้ง่าย ๆ งานชิ้นนี้ถือว่าไอคอนิกสุด ๆ และเคยปรากฏตัวในหนังดังหลายเรื่องเช่น Source Code (2011), The Break-Up (2006), The Vow (2012) และ Transformers: Age of Extinction (2014) เป็นต้น
อีกหนึ่งผลงานชื่อดังของกาปูร์ก็คือ S-Curve ที่ใช้เทคนิคคล้ายกับ Cloud Gate ในแง่ของการเป็นประติมากรรมพื้นผิวสเตนเลสมันวาวที่สามารถสะท้อนสภาพแวดล้อมรอบตัวได้ เมื่อประกอบเข้ากับการเลือกที่ติดตั้งให้เป็นสวนสาธารณะของ One Bangkok ที่ฉากหลังมักจะมีกิจกรรมและอีเวนต์สร้างสรรค์ในหลากหลายรูปแบบ รวมถึงมีผู้คนมากมายเข้ามาเดินเล่นพักผ่อนหย่อนใจกันเป็นประจำ ก็ทำให้ภาพที่สะท้อนออกมาจาก S - Curve ไม่เคยเหมือนเดิมเลย งานชิ้นนี้จึงเรียกร้องการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้ชมสุด ๆ เรียกว่าถ้าอยากดูให้สนุกก็ต้องเดินวนให้รอบจริง ๆ
และในระหว่างเดินรอบงาน ด้วยความที่ศิลปินออกแบบงานชิ้นนี้ให้เป็นรูปทรงตัว S ทำให้เวลาเราเปลี่ยนมุมมอง แม้จะเป็นภาพในระนาบเดียวกัน แต่ก็จะให้วิวแบบกลับหัวกลับหาง เบลอ ไม่ชัดเจน ชวนให้เรารู้สึกว่าโลกโลกที่เราคุ้นเคยเริ่มหลุดลอยออกไปไกล กระตุ้นความรับรู้ทั้งในแง่สายตาและแง่จิตใจ ที่ชวนให้คิดถึงมุมมองของเราที่มีต่อโลกในความเป็นจริงที่ไม่ได้มีแค่ด้านเดียวเสมอไป
ผลงาน: Fly
ศิลปิน: Alex Face
ตำแหน่ง: Wireless Park
Alex Face (อเล็ก เฟซ) คือศิลปินกราฟฟิตี้ชื่อดังชาวไทยที่ได้รับการยอมรับในวงการศิลปะสตรีททั่วโลก เขามีสไตล์เฉพาะตัวที่ผสมผสานความเป็นไทยกับองค์ประกอบทางศิลปะร่วมสมัย และมักจะใช้ภาพของเด็กเป็นสัญลักษณ์ที่สะท้อนถึงประเด็นทางสังคม เช่น ความไร้เดียงสา, ความเปลี่ยนแปลงทางสังคม และความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสิ่งแวดล้อม โดยเมื่อช่วงเดือนตุลาคมที่ผ่านมา เขาเพิ่งนำผลงานศิลปะชุดใหม่ของตัวเองไปจัดแสดงเป็นนิทรรศการเดี่ยวภายใต้ชื่อ ‘Impression: Unrest’ โดย Vertical Gallery ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากชีวิตและงานศิลปะของ Claude Monet ( โคลด โมเนต์) ที่ ถนน 247 Elizabeth Street ในนิวยอร์ก มาด้วย
สำหรับชิ้นงานที่ Alex Face นำมาจัดแสดงที่ One Bangkok ครั้งนี้ เขาก็ได้นำเจ้าหนูสามตามาปรากฏตัวบนโลกความจริงในรูปแบบประติมากรรมลอยตัวหนึ่งเดียวในประเทศไทยในชื่อ ‘Fly’ ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากการก้าวข้ามอุปสรรคของมนุษย์ที่มีวิทยาการการบินเป็นก้าวสำคัญ โดยพัฒนาต่อมาจากภาพสเก็ตช์ในกระดาษ ที่ศิลปินเคยจัดแสดงในนิทรรศการครบรอบ 20 ปี ของการทำงาน 20TH YEAR ALEX FACE
องค์ประกอบที่เราชอบมาก ๆ ในงานชิ้นนี้ คือการเลือกใช้การ ‘พ่นสี’ แทนภาพของ ‘ควัน’ เพราะมันทำให้เรารู้สึกว่า ในขณะที่ควันของเครื่องบินนำพามนุษยชาติบินขึ้นสู่ท้องฟ้า ควันจากการพ่นสีและการสร้างงานกราฟฟิตี้ ก็เป็นสิ่งที่ทำให้วงการศิลปะร่วมสมัยพัฒนาต่อไปข้างหน้าและเชื่อมศิลปะกับสาธารณชนเข้าด้วยกัน เพราะก่อนหน้านั้น ศิลปะมักจะเป็นสิ่งที่อยู่ภายในพิพิธภัณฑ์และแกลเลอรี จนกระทั่งช่วงปี 1960 ที่นิวยอร์ก ก็ได้เกิดกระแสสร้างงานกราฟฟิตี้ ผ่านการ ‘แท็ก’ ชื่อบนกำแพง สถานีรถไฟใต้ดิน และพื้นที่สาธารณะ เพื่อสร้างอัตลักษณ์ แม้งานกราฟฟิตี้จะถูกมองว่าเป็นการทำลายทรัพย์สินในตอนแรก แต่ปัจจุบันกราฟฟิตี้ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของศิลปะสตรีทอาร์ตที่ได้รับการยอมรับและสนับสนุนในหลายเมืองทั่วโลกไปแล้ว
การใช้กระป๋องสีมาพ่นควัน และเทียบเคียงเข้ากับควันเครื่องบิน เลยเป็นไอเดียที่เราชอบในงานชิ้นนี้ และรู้สึกว่าเป็นชิ้นงานที่เสริมให้เห็นถึงความสำคัญของ ‘ศิลปะสาธารณะ’ ตามแบบฉบับ One Bangkok ได้ชัดเจนดี
ผลงาน: It is, It isn’t
ศิลปิน: Tony Cragg
ตำแหน่ง: One Bangkok Park
หากจะพูดถึงตัวพ่อแห่งวงการศิลปะสาธารณะ การันตีเลยว่าชื่อของ ‘Tony Cragg’ (โทนี แคร็กก์) จะต้องได้รับการกล่าวถึงอย่างแน่นอน เพราะนอกจากเขาจะเป็นศิลปินนักทดลองที่เริ่มต้นเส้นทางศิลปินด้วยการทำงานแบบไม่จำกัดเทคนิค เขายังเป็นที่จดจำในฐานะผู้สร้างงานประติมากรรมสาธารณะที่ติดตั้งอยู่ในสวนสาธารณะ อาคาร รวมถึงพื้นที่สำคัญทางประวัติศาสตร์มากมายทั่วยุโรปอีกด้วย
สำหรับเอกลักษณ์ในการทำงานของ Cragg นั้น คือเรื่องของแรงบันดาลใจที่เกิดมาจากความหลงใหลในวิทยาศาสตร์ วัสดุ รูปทรงเรขาคณิต รูปทรงธรรมชาติ และการสำรวจโครงสร้างภายในของร่างกายมนุษย์ด้วย สิ่งนี้ส่งผลให้งานประติมากรรมของ Cragg มีลักษณะเป็นประติมากรรมไร้รูปแบบ ไม่มีรูปทรงที่แน่ชัด มีความนามธรรม แต่ในขณะเดียวกันก็ทำให้ทุกองศาในการมองชิ้นงานมีความสำคัญต่อการตีความ เพราะเมื่อมุมเปลี่ยน ภาพที่เราเห็นก็จะกลายเป็นอีกอย่างหนึ่งไปเลย
ล่าสุด ผลงานของประติมากรตัวพ่ออย่าง Cragg อย่าง ‘It is, It isn’t’ ก็ได้แลนดิ้งมาติดตั้งถาวรอยู่ในพื้นที่สาธารณะ One Bangkok Park ให้เราได้ตามไปเช็กอินกันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยงานชิ้นนี้จะมีลักษณะเป็นงานประติมากรรมสเตนเลสสูง 7.8 เมตร ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากรูปร่างของมนุษย์ ก่อนจะแปรเปลี่ยนให้เป็นรูปทรงนามธรรมที่เมื่อเปลี่ยนมุมในการมอง ก็จะเห็นรูปร่างของมนุษย์ที่ต่างออกไปด้วย ซึ่งสิ่งนี้ก็ได้สะท้อนถึงมุมมองที่เราใช้ในการมองสิ่งต่าง ๆ ที่ไม่ได้มีด้านเดียว
ดังนั้น ถ้าใครได้ไปเห็นงานนี้กับตาก็อย่าลืมมองดูตัวงานให้รอบ ทั้งระยะใกล้และไกล เพราะทุกองศาที่เปลี่ยนไป อาจจะเผยแรงบันดาลใจใหม่ ๆ ให้ทุกคนได้เก็บเกี่ยวกัน
ผลงาน: Zero
ศิลปิน: Elmgreen & Dragset
ตำแหน่ง: Parade Park
Elmgreen & Dragset (เอล์มกรีน & แดรกเซท) คือดูโอ้อาร์ตติสสุดโด่งดังที่ทำงานร่วมกันมาตั้งแต่ปี 1995 ในฐานะผู้สร้างงานศิลปะ การออกแบบ และสถาปัตยกรรม ที่สะท้อนเรื่องราวทางสังคม การเมือง และวัฒนธรรม โดยพวกเขามักจะตั้งคำถามต่อความหมายของพื้นที่สาธารณะ และบทบาทของศิลปะในสังคม
และถ้าใครเคยเดินเที่ยวเทศกาล Bangkok Art Biennale 2018 ก็น่าจะจำหนึ่งในชิ้นงานสุดไอคอนิกของพวกเขาอย่างงาน ‘Zero’ ที่ตั้งอยู่บริเวณด้านหน้าอาคาร อีสต์ เอเชียติก กันได้ ซึ่งเวลาที่เรามองงานชิ้นนี้ เราก็จะเห็นแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นฉากหลัง ทำให้ส่วนที่ควรจะเป็นน้ำในสระว่ายน้ำได้ถูกแทนที่ด้วยแม่น้ำเจ้าพระยาไป สิ่งนี้เลยแสดงให้เห็นถึงความเชื่อมโยงเกี่ยวกับวิถีชีวิตริมน้ำของคนไทย กับการพักผ่อนหย่อนใจในสระว่ายน้ำของชาวตะวันตก ซึ่งในปัจจุบัน ผลงานชิ้นนี้ก็ได้ย้ายเข้ามาอยู่ในคอลเลกชันศิลปะสาธารณะของ One Bangkok และย้ายมาตั้งที่ Parade Park ฝั่งถนนพระราม 4 แล้ว
งาน Zero ในบริบทของพื้นที่ One Bangkok ยังชวนให้เราตั้งคำถามถึงความสัมพันธ์ระหว่างชีวิตคนเมืองกับพื้นที่สาธารณะในเมืองใหญ่ ผ่านการนำวัตถุที่ใช้งานได้หลายคนแต่ก็มีความเป็นส่วนตัวอย่างสระว่ายน้ำ มาตั้งอยู่กลางสวนสาธารณะที่คนพลุกพล่าน โดยปราศจากฟังก์ชันในการใช้งานจริง เมื่อประกอบเข้ากับการจัดวางในรูปลักษณ์ที่ผิดแผกไปจากความเป็นจริง ก็สะท้อนให้เห็นถึงความไม่ปกติระหว่างผู้คนจำนวนมากกับพื้นที่สาธารณะที่อาจไม่เพียงพอในเมืองใหญ่ สัญลักษณ์ดังกล่าวเปรียบเหมือนสัญญาณเล็ก ๆ ที่กระตุ้นให้ผู้ชมสำรวจเบื้องหลังความสัมพันธ์ระหว่างตัวเรา พื้นที่ และสังคมรอบตัว พร้อมเปิดโอกาสให้ทบทวนบทบาทของตนในชีวิตคนเมือง
ผลงาน: Ribbon Flow
ศิลปิน: Ribbon Flow
ตำแหน่ง: One Bangkok Boulevard
นอกจากงานศิลปะที่ตั้งอยู่ตามจุดต่าง ๆ ในพื้นที่ One Bangkok เขาก็ยังมีเฟอร์นิเจอร์สาธารณะตั้งให้เราได้เข้าไปนั่งพักผ่อนหย่อนใจกันด้วย โดยเก้าอี้แนวยาวตัวนี้มีชื่อว่า ‘Ribbon Flow’ ผลงานออกแบบของ ฐิฌาพร โลหุตางกูร, ณรงค์ฤทธิ์ รักไทย และ ณัฐวัฒน์ ปานนิยม นักศึกษาคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี หนึ่งในทีมที่เข้าร่วมการประกวด One Bangkok Urban Furniture Competition 2022 ‘Seatscape & Beyond’ การประกวดออกแบบเฟอร์นิเจอร์สาธารณะของ One Bangkok
ศิลปินได้รับแรงบันดาลใจในการออกแบบเก้าอี้ตัวนี้มาจากเส้นสายของริบบิ้นที่เปรียบเสมือนตัวแทนของการเชื่อมโยงและผูกสัมพันธ์ โดยนำฟอร์มโค้งเวียนของริบบิ้นมาสร้างเป็นพื้นที่ใช้งานหลากหลาย เช่น เส้นตั้งที่ทำหน้าที่กั้นพื้นที่และสร้างร่มเงา และเส้นนอนที่ออกแบบให้เป็นที่นั่ง สำหรับเรา Ribbon Flow ถือว่าเป็นอีกหนึ่งแลนด์มาร์กที่ควรแวะไปนั่งเล่นสักครั้ง หรือถ่ายรูปอาร์ต ๆ เก็บไว้ก็เหมาะ
ผลงาน: B3X
ศิลปิน: B3X
ตำแหน่ง: Shuttle Bus Stop - The Storeys
B3X ก็เป็นเฟอร์นิเจาร์สาธารณะอีกหนึ่งเซ็ทที่เดินผ่านที่ไรก็มีคนจองคิวนั่งกันเต็มไปหมด โดยเก้าอี้เหล่านี้เป็นผลงานออกแบบของอีกหนึ่งทีมในการประกวด One Bangkok Urban Furniture Competition 2022 ‘Seatscape & Beyond’ ของ One Bangkok ประกอบไปด้วย พันธวิรา เงาประเสริฐ, ทันตะวัน ทัศน์กระแส และ รัตนาภรณ์ เลิศวิบูลย์กิจ ที่ตั้งใจออกแบบสำหรับการนั่งชั่วคราวก่อนเดินทางต่อ เข้ากับพื้นที่ Shuttle Bus Stop บริเวณที่พร้อมที่จะเป็นทั้งการต้อนรับและบอกลา
ลวดลายของเก้าอี้เหล่านี้สะท้อนถึงอัตลักษณ์วัยรุ่นสามแบบ ได้แก่ Freedom, Explore และ Exciting โดยทีมปรับดีไซน์ให้เหมาะกับพื้นที่หน้าศูนย์การค้า เพิ่มสีสันและลวดลายให้ดึงดูดใจ โดยได้แรงบันดาลใจจากการลงพื้นที่ใช้งานจริง และเรียนรู้จากเวิร์กชอปกับสตูดิโอมืออาชีพ
ผลงาน: Happy Happy Project : Flower Gun
ศิลปิน: Choi Jeong-Hwa
ตำแหน่ง: Parade
เชื่อว่าชื่อของ Choi Jeong-Hwa (ชเว จอง-ฮวา) น่าจะคุ้นหูหลาย ๆ คนในช่วงนี้ เพราะเหล่าประติมากรรมดอกบัว ผัก ผลไม้ และ Golden Girl ที่เขานำมาจัดแสดงใน Bangkok Art Biennale 2024 ครั้งนี้ ได้กลายเป็นภาพจำของเทศกาลไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งถ้าใครชอบดูงานสนุก ๆ คัลเลอร์ฟูลในแบบ Choi แต่เพิ่มความหมายอันตรายเข้าไป ก็ต้องห้ามพลาดผลงาน Happy Happy Project : Flower Gun ที่ตั้งอยู่ตรงบริเวนโซนศูนย์การค้า Parade ชั้น 2 ใน One Bangkok เด็ดขาด
ผลงานชุด Happy Happy Project : Flower Gun คืองานประติมากรรมรูปดอกไม้จากหมู่ปืนพลาสติกสีสันสดใส ผลงานชิ้นนี้ได้เชิญชวนให้เราตั้งคำถามถึงมุมมองที่เรามีต่อสังคม โลก และเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นตรงหน้า เพราะแม้ว่าภาพที่เห็นจะเป็นสิ่งที่งดงาม ดูดี แต่ทั้งหมดที่เราเห็นเป็นเรื่องจริงมากแค่ไหน และมีเบื้องหลังแบบใดรอคอยเราอยู่บ้างกันแน่
ผลงาน: Bangkok Beats
ศิลปิน: BIGDEL & MRKREME
ตำแหน่ง: The Storeys Underground Wall (B1F)
Bangkok Beats ถือว่าเป็นงานคอลแลปครั้งสำคัญของสองขาใหญ่แห่งวงการกราฟฟิตี้ไทยอย่าง ‘BIGDEL’ หนึ่งในศิลปินกลุ่มแรกที่นำกราฟฟิตี้เข้าสู่สังคมไทย เขามองว่าการนำสตรีทอาร์ตมาอยู่ในแกลเลอรี่อย่างถูกต้องเป็นสิ่งที่ดี และเชื่อว่าผลงานศิลปะสามารถเติบโตไปในหลายรูปแบบได้ ตราบใดที่ยังไม่ลืมจุดเริ่มต้นของตัวเอง และ ‘MRKREME’ ศิลปินสตรีทอาร์ตผู้โดดเด่นในการทำงานศิลปะสไตล์ป๊อปเซอร์เรียล (Pop Surreal) โดยมีคาแร็กเตอร์มอนสเตอร์ขนฟูสีสันสดใสที่เป็นที่รู้จักและได้รับความนิยมทั้งในไทยและต่างประเทศ
ในงานชิ้นนี้ พวกเขาได้รับแรงบันดาลใจจากจังหวะชีวิตในกรุงเทพฯ แล้วถ่ายทอดออกมาผ่านคาแรกเตอร์สุดหลากหลาย เช่น สัตว์ประหลาดหมวกทหารไทย โน้ตดนตรีมีชีวิต ขวดสเปรย์มีแขนขา และวิทยุสไตล์ฮิปฮอป โดยต่อยอดมาจากเทศกาลออกแบบกรุงเทพฯ 2567 ที่ One Bangkok Pavilion ถ่ายทอดจังหวะสนุกสนานและเอกลักษณ์ของกรุงเทพฯ ผ่านการผสมผสานสไตล์เฉพาะตัวของทั้งสองศิลปิน ให้กลายเป็นลายเส้นโอลด์สคูลสีสดใส ตัดกับโทนสีหม่นและเส้นขนสัตว์ที่ดูนุ่มนวล
ผลงาน: PintONE
ศิลปิน: Wasinburee Supanichvoraparch
ตำแหน่ง: The Wireless House One Bangkok
The Wireless House One Bangkok คืออีกหนึ่งโซนที่เราชอบมาก ๆ เพราะเป็นอาคารสร้างใหม่โดยอิงจากแบบแปลนและภาพถ่ายในอดีตของสถานีวิทยุโทรเลขแห่งแรกของประเทศไทยที่เคยตั้งอยู่ในพื้นที่นี้มาก่อน ซึ่งภายในอาคารก็จะมีการจัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของพื้นที่นี้ รวมถึงมีการนำวัตถุโบราณที่ขุดพบจากใต้พื้นดินระหว่างทำการก่อสร้าง One Bangkok มาจัดแสดงที่นี่ด้วย
ซึ่ง ‘PintONE’ หรือ ‘ปิ่นโทน’ คือผลงานศิลปะเซรามิกสร้างใหม่ฝีมือ Wasinburee Supanichvoraparch (วศินบุรี สุพานิชวรภาชน์) ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากเศษกระเบื้องและไหน้ำปลาที่ขุดพบในพื้นที่โครงการ One Bangkok ผลงานชิ้นนี้สะท้อนการเปลี่ยนแปลงและความทรงจำที่ทับถมในพื้นที่ โดยชื่อ ‘ปิ่นโทน’ มาจากการผสมคำว่า ‘ปิ่นโต’ ภาชนะในวิถีชีวิตดั้งเดิม กับ ‘Ton’ ซึ่งแปลว่า ‘ดิน’ ในภาษาเยอรมัน
ศิลปินออกแบบลวดลายและสีเคลือบที่เชื่อมโยงกับอดีต พร้อมเสริมเรื่องราวร่วมสมัย เพื่อถ่ายทอดทั้งอดีตและปัจจุบันอย่างกลมกลืน ปิ่นโตจึงไม่เพียงสะท้อนคุณค่าแห่งความทรงจำและภูมิปัญญา แต่ยังแฝงแนวคิดเรื่องความยั่งยืนและการแบ่งปันที่เหมาะสมกับอนาคต
ผลงาน: Greeting of Times
ศิลปิน: Nakrob Moonmanas
ตำแหน่ง: The Wireless House One Bangkok
Greeting of Times (2024) หรือ กาละปฏิสันถาร (2567) คืออีกหนึ่งผลงานไฮไลต์ในอาคาร The Wireless House สร้างโดย Nakrob Moonmanas (นักรบ มูลมานัส) ศิลปินชาวไทยที่มีชื่อเสียงจากการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะในรูปแบบคอลลาจที่ผสมผสานภาพประวัติศาสตร์ สัญลักษณ์ และองค์ประกอบจากศิลปะและวัฒนธรรมอื่น ๆ เข้าไว้ด้วยกัน
ผลงานชิ้นนี้ ศิลปินได้นำเสนอความทรงจำในย่านวิทยุ-พระรามที่ 4 ผ่านการเรียบเรียงภาพผู้คน สิ่งของ และเหตุการณ์ในอดีตด้วยเทคนิคคอลลาจ ศิลปินสะท้อนการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่จากจุดเริ่มต้นในยุคสถานีวิทยุโทรเลขศาลาแดง ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของความเป็นสมัยใหม่ที่แผ่ขยายทั้งในเชิงพื้นที่และเวลา
ผลงานใช้แม่พิมพ์ทองแดง สื่อถึงความถาวรและต้นแบบของวิวัฒนาการสื่อสาร โดยภาพเหล่านี้ปรากฏขึ้นจากดินที่ขุดมาจากพื้นที่โครงการวัน แบงค็อก สะท้อนการรวมความทรงจำของผู้คนหลากยุคสมัยที่ถักทอกันจนเกิดเป็นความหมายใหม่
ในส่วนของหน้าจอ LCD จะแสดงข้อความจากการส่งวิทยุโทรเลขครั้งแรกของสยาม เรียบเรียงใหม่ด้วย AI ในรูปแบบบทกวีไร้ฉันทลักษณ์ สร้างบทสนทนาระหว่างอดีต ปัจจุบัน และอนาคต ผ่านสัญญาณที่ไม่เคยหยุดส่งต่อ
ถือว่าเป็นงานอีกหนึ่งชิ้นที่แฟนคลับของพี่นักรบต้องตามไปดูจริง ๆ